แหล่งเรียนรู้สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช
สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชหรือแหล่งสงวนชีวมณฑลสะแกราช ได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2510 โดยมีภารกิจการวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา จนถึงขณะนี้มีผลงานวิจัยในพื้นที่แห่งนี้มากกว่า 200 เรื่องขณะเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2519 สถานีฯ สะแกราชได้รับการรับรองจาก UNESCO ภายใต้โครงการ MAB (Man and Biosphere Program) ให้เป็นแหล่งสงวนชีวมณฑลแห่งหนึ่งของโลกซึ่งเป็นแห่งแรก ของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 7 แห่งของเอเซียในขณะนั้น ขณะนี้แหล่งสงวนชีวมณฑลมีจำนวน 529 แห่ง ใน 105 ประเทศ (ข้อมูล 23 พฤศจิกายน ปี 2550)
กลับไปที่เนื้อหา
สาระ มาตรฐานและตัวชี้วัดชั้นปี ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1 – ม.3 ) และช่วงชั้นที่ 4 (ม. 4 – ม.6)
สาระที่ 1 สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต
มาตรฐาน ว 1. 2 เข้าใจกระบวนการและความสำคัญของการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่มีผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด
(ม.3) 4. สำรวจและอธิบายความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นที่ทำให้สิ่งมีชีวิตดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสมดุล
5. อธิบายผลของความหลากหลายทางชีวภาพที่มีต่อมนุษย์ สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม
( ม.4 – 6) 3. สืบค้นข้อมูลและอภิปรายผลของความหลากหลายทางชีวภาพที่มีต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
สาระที่ 2 ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
มาตรฐาน ว 2. 1 เข้าใจสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในระบบนิเวศ มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด
( ม.3) 1. สำรวจระบบนิเวศต่างๆในท้องถิ่นและอธิบายความสัมพันธ์ขององค์ประกอบภายในระบบนิเวศ
(ม.4 – 6) 1. อธิบายดุลยภาพของระบบนิเวศ
3. อธิบายความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และเสนอแนะแนวทางในการดูแลและรักษา
มาตรฐาน ว 2.2 เข้าใจความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในระดับท้องถิ่น ประเทศและโลก นำความรู้ไปใช้ในในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ตัวชี้วัด
( ม.3 ) 1. วิเคราะห์สภาพปัญหาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นและเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา
2. อธิบายแนวทางการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ
3. อภิปรายการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
4. วิเคราะห์และอธิบายการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
5. อภิปรายปัญหาสิ่งแวดล้อมและเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหา
6. อภิปรายและมีส่วนร่วมในการดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
( ม.4-6 ) 1. วิเคราะห์สภาพปัญหา สาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในระดับ ท้องถิ่น ระดับประเทศและระดับโลก
2. อภิปรายแนวทางในการป้องกันแก้ไข ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
3. วางแผนและดำเนินการเฝ้าระวัง อนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
สาระที่ 4 แรงและการเคลื่อนที่
มาตรฐาน ว 4.2 เข้าใจลักษณะการเคลื่อนที่แบบต่างๆ ของวัตถุในธรรมชาติ มีกระบวนการ สืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด
( ม.3 ) 3. สังเกตและอธิบายการเคลื่อนที่ของวัตถุที่เป็นแนวตรง และแนวโค้ง
สาระที่ 5 พลังงาน
มาตรฐาน ว 5. 1 เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานกับการดำรงชีวิต การเปลี่ยนรูปพลังงาน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสารและพลังงาน ผลของการใช้พลังงานต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด
( ม.3 ) 1. อธิบายงาน พลังงานจลน์ พลังงานศักย์โน้มถ่วง กฎการอนุรักษ์พลังงานและความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณเหล่านี้ รวมทั้งนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
จุดประสงค์การเรียนรู้
1. บอกความหมายของ ชีวมณฑล และบอกความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศของป่าสะแกราชได้
2. อธิบายความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในระบบนิเวศของป่าสะแกราชได้
3. เสนอแนวทางการักษาสมดุลของระบบนิเวศได้
4. เสนอแนวทางในการดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นได้
5. อธิบายการเคลื่อนที่ของผลไม้มีปีกที่ตกจากต้นโดยอาศัยกฎการอนุรักษ์พลังงานได้
กลับไปที่เนื้อหา
สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชอยู่ในสังกัดของศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ศลช.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ 9 ตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชได้รับการรับรองจาก UNESCO ภายใต้โครงการ MAB (Man and Biosphere Program) ให้เป็นเป็นแหล่งสงวนชีวมณฑลแห่งหนึ่งของโลก ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 48,800 ไร่ มีพื้นที่อยู่ในเขตตำบลภูหลวง อำเภอปักธงชัย ตำบลวังน้ำเขียวและตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมาโดยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองนครราชสีมา ห่างจากตัวเมืองประมาณ 60 กิโลเมตร
ภูมิประเทศภายในพื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชเป็นขอบด้านใต้ของที่ราบสูงโคราช มีความสูงอยู่ระหว่าง 280-762 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง มียอดเขาสูงที่อยู่ทางด้านใต้ของพื้นที่สถานี ได้แก่ เขาเคลียด (สูง 762 เมตร) เขาเขียว (สูง729 เมตร) และเขาสูง (สูง725 เมตร) ส่วนความลาดชันอยู่ระหว่าง 10-30 และ 30-45 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับจากแผนที่ภูมิประเทศ จะเห็นสภาพพื้นที่ในส่วนของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชเป็นดังภาพ และเมื่อดูจากภาพถ่ายดาวเทียม ลักษณะภูมิประเทศที่เห็นเป็นดังนี้
ภาพอ้างอิง
ภาพขอบเขตสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จาก http://www.tistr.or.th/sakaerat/Map_GIS/Map001.htm
แผนที่จาก https://maps.google.com/maps?client=safari&q=สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช&oe=UTF-8&ie=UTF-8&hl=th
กลับไปที่เนื้อหา
เราสามารถเดินทางไปยังสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชโดยรถยนต์ จากกรุงเทพมหานคร จะไปได้ หลายเส้นทาง เส้นทางแรกจากกรุงเทพฯ ไปทางสระบุรี เข้าถนนมิตรภาพผ่านอำเภอมวกเหล็ก ตรงไปอำเภอปากช่อง มุ่งไปทางจังหวัดนครราชสีมา แล้วเลี้ยวขวาเข้าอำเภอปักธงชัยตรงไปทางอำเภอวังน้ำเขียว จะเห็นสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชอยู่ทางขวามือ เส้นทางนี้จะมีระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร เส้นทางที่สอง จากกรุงเทพไปทางรังสิต เดินทางไปตามถนนสายรังสิต-นครนายก ผ่านตัวจังหวัดนครนายกแล้วเลี้ยวขวาไปทางจังหวัดปราจีนบุรี ผ่านอำเภอประจันตคาม อำเภอกบินทร์บุรี เลี้ยวซ้ายไปทางอำเภอวังน้ำเขียว ผ่านตัวอำเภอวังน้ำเขียวไม่ไกลนักจะถึงสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชซึ่งอยู่ทางซ้ายมือ เส้นทางนี้จะมีระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร แต่ทางหลวงจากจังหวัดนครนายกไปถึงกบินทร์บุรี แคบ เป็นการจราจรสองช่องทางเส้นทางที่สามใช้ถนนวงแหวนตะวันออกหรือถนนกาญจนาภิเษกหรือมอเตอร์เวย์ จากกรุงเทพมหานครตามเส้นทางไปจังหวัดชลบุรี ถึงทางออกไปจังหวัดฉะเชิงเทราก็เลี้ยวซ้ายเข้าจังหวัดฉะเชิงเทราไปจนถึงถนนเลี่ยงเมืองจึงเลี้ยวขวา จากนั้นตรงไปจนถึงอำเภอพนมสารคาม อำเภอกบินทร์บุรี ผ่านอำเภอวังน้ำเขียว จะถึงสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชซึ่งอยู่ทางซ้ายมือ เส้นทางนี้มีระยะทางประมาณ 230 กิโลเมตร
กลับไปที่เนื้อหา
ข้อมูลจาก http://www.tistr.or.th/sakaerat ได้กล่าวถึงความเป็นมาของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชหรือแหล่งสงวนชีวมณฑลสะแกราชว่า สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชก่อตั้งมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2510 มีหน้าที่วิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ได้รับการรับรองจาก UNESCO ภายใต้โครงการ MAB (Man and Biosphere Program) ให้เป็นแหล่งสงวนชีวมณฑลแห่งหนึ่งของโลกซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 7 แห่งของเอเซียในขณะนั้น
ในปี พ.ศ. 2543 UNESCO/MAB ได้มีนโยบายที่จะเพิ่มจำนวนแหล่งสงวนชีวมณฑลพร้อมทั้งขยายพื้นที่แหล่งสงวนชีวมณฑลที่มีอยู่เดิม ด้วยเหตุดังกล่าว จึงมีการขยายพื้นที่ของแหล่งสงวนชีวมณฑลสะแกราช ออกไปจากเดิมที่มีอยู่ 48,800 ไร่ เป็น 481,969 ไร่ หรือประมาณ 771 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่11 ตำบล ของอำเภอวังน้ำเขียวและอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ในอำเภอวังน้ำเขียวได้แก่ ตำบลอุดมทรัพย์ ตำบลวังน้ำเขียว ตำบลวังหมี ตำบลไทยสามัคคีและตำบลระเริง ส่วนอำเภอปักธงชัยครอบคลุมพื้นที่ตำบลภูหลวง ตำบลตะขบ ตำบลตูม ตำบลสุขเกษม ตำบลลำนางแก้วและตำบลงิ้ว
ในพื้นที่แหล่งสงวนชีวมณฑสะแกราชตามที่ได้กำหนดใหม่ ครอบคลุมเนื้อที่ประมาณ 771ตารางกิโลเมตรนั้น มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาอยู่ทางด้านเหนือ ซึ่งรวมพื้นที่ของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชด้วย ภูเขาดังกล่าวจะวางตัวในแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ โดยยอดเขาสูงสุดได้แก่ เขาโซ่ ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกของเขื่อนลำพระเพลิงมีความสูงประมาณ 807 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่วนทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของพื้นที่แหล่งสงวนชีวมณฑลสะแกราช เป็นที่ราบระหว่างภูเขาหรือแอ่งวังน้ำเขียว มีความสูงเฉลี่ย 300 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง
แผนที่ภูมิประเทศของแหล่งสงวนชีวมณฑลสะแกราช
(บริเวณที่มีขอบสีแดงคือขอบเขตของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช)
สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชปกคลุมด้วยป่าไม้สำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ป่าดิบแล้ง (Dry Evergreen forest) และป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp forest) ป่าทั้งสองชนิดครอบคลุมเนื้อที่ประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช นอกนั้นเป็นป่าชนิดอื่น เช่น ป่าไผ่ ป่าปลูก ทุ่งหญ้า เป็นต้น
วีดิทัศน์ เรื่องเที่ยวไปในไพรพฤกษ์
คำถาม
- ชีวมณฑล คืออะไร
อ้างอิงจาก
ภาพขอบเขตแหล่งสงวนชีวมณฑลสะแกราชจาก http://www.tistr.or.th/sakaerat/Map_GIS/Map002.htm
-
คลังวิดีทัศน์
ตอน เที่ยวไปในไพรพฤกษ์
ตอน รู้จักป่าดิบแล้ง
ตอน นกในป่า...ตามดูไก่ฟ้าพญาลอ
ตอน แมลงในป่า
ตอน พืชกินได้ในป่า
ตอน ป่า...คลังยาของมนุษย์
ตอน สีสันจากป่า
ตอน ป่ากลิ่นหอม
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนนายธานี จันทร์นาง โรงเรียนบ้านท่ากลอย จ.ฉะเชิงเทราผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนนางพยงค์ สุหัตถาพร โรงเรียนบุญวัฒนา จ.นครราชสีมาผู้เขียนแผนการสอนนางสาวกิ่งกาญจน์ กลิ่นจันทน์ โรงเรียนบุญวัฒนา จ.นครราชสีมาผู้เขียนแผนการสอนนางพงศ์ผกา นิลแก้ว โรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษา จ.กาฬสินธุ์ผู้เขียนแผนการสอนนางสาวประภาศิริ คูนาคำ โรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษา จ.กาฬสินธุ์ผู้เขียนแผนการสอนเสกสรร คล้ายสุข โรงเรียนอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรีผู้เขียนแผนการสอน
-
คำที่เกี่ยวข้อง