แหล่งเรียนรู้สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช
ป่าเต็งรังเป็นป่าผลัดใบที่มีไม้วงศ์ยางบางชนิดเป็นไม้เด่น ได้แก่ เต็ง รัง เหียง พลวง และยางกราด โดยทั่วไปความหนาแน่นของต้นไม้ในป่าเต่งรังจะน้อยกว่าป่าเบญจพรรณ เพราะดินตื้นกักเก็บน้ำได้น้อย มีหินบนผิวดินมาก ก่อให้เกิดความแห้งแล้ง ป่าเต็งรังเป็นสังคมพืชเด่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกิดขึ้นที่ระดับความสูงประมาณ 50-1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีช่วงแห้งแล้งจัดเกิน 4 เดือนต่อปี ประกอบกับปริมาณน้ำฝนตกน้อยคือ 900-1,200 มิลลิเมตรต่อปีเท่านั้น
ปัจจัยสำคัญที่สุดที่กำหนดการคงอยู่ของป่าเต็งรังคือ ไฟป่า ซึ่งมักเกิดขึ้นระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม เนื่องจากไฟเป็นตัวจัดการโครงสร้างป่าและคัดเลือกพันธุ์ไม้ ต้นฤดูแล้งใบไม้ในป่าเต็งรังจะพร้อมใจกันผลัดใบเป็นสีแดง เหลือง ส้ม อย่างสวยงาม แล้วจะสลัดใบทิ้งจนหมดกลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี หลังจากไฟผ่านไปพื้นป่าจะโล่งเตียน แต่เมื่อได้รับน้ำฝน ป่าเต็งรังก็จะกลับเขียวสดขึ้นอีกครั้งด้วยหญ้าระบัด ดึงดูดสัตว์กินพืชหลายชนิดเข้ามาสู่ป่าเต็งรัง อาทิ วัวแดง กวางป่า เก้ง กระทิง กระต่ายป่า ความร้อนจากไฟยังช่วยไล่แมลงบนพื้นดินหรือใต้เปลือกไม้ให้เผยตัวออกมา กลายเป็นอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของเหล่านกกินแมลงนานาชนิดอีกด้วย ปัจจุบัน ป่าเต็งรังในประเทศไทยมีความเสื่อมโทรมลงมาก เพราะการตัดไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจออกไปใช้งาน สัตว์เลี้ยงพวกวัวควายเข้าไปหากินในป่าเหยียบย่ำทำลายพันธุ์ไม้ต่าง ๆ รวมทั้งผลกระทบจากไฟป่าที่เกิดขึ้นมักรุนแรงเกินกว่าป่าจะฟื้นตัวได้ทัน
พื้นที่ซึ่งเป็นป่าเต็งรังส่วนใหญ่จะมีลักษณะทางกายภาพที่เป็นข้อจำกัดในการเจริญเติบโตของพืชหลายประการอาทิเช่น
1. เนื้อดินเป็นทราย
2. ชั้นดินมีการชะล้างรุนแรง (albic horizon) ชั้นดินถูกน้ำชะล้างเอาอนุภาคดินเหนียว ธาตุอาหาร
อินทรีย์วัตถุลงไปสะสมในดินชั้นล่าง ธาตุอาหารอยู่ลึกเกินไป รากพืชไม่สามารถแพร่ะกระจายผ่านชั้นดินนี้ลง
ไปยังชั้นดินล่างที่มีความอุดมสมบูรณ์ได้่
3. ความลึกที่พบชั้นดานแข็งหรือก้อนกรวดมาก (consolidated layer or gravel)
4. มีหินโผล่ (rock out crop)
5. มีก้อนหินโผล่ (stoniness)
6. ความอุดมสมบูรณ์ของดินน้อย (nutrient status)
7. การกร่อนของดิน (soil erosion) สูงข้อจำกัดทางด้านกายภาพดังกล่าวมีผลทำให้การเจริญเติบโตของต้นไม้ด้านความโตและความสูงไม่ดีเท่าที่ควร ประกอบมีหินโผล่และก้อนหินโผล่มากมาย ต้นไม้ใหญ่ไม่สามารถขึ้นได้ ความหนาแน่นของป่าเต็งรังจึงต่ำกว่าป่าชนิดอื่น พื้นที่ส่วนใหญ่จึงเป็นลานเตียนโล่ง พืชที่ต้องการแสงมากเช่น พวกหญ้าและไผ่เพ็ก แผ่คลุมพื้นที่ได้อย่างกว้างขวาง ต้นไม้ในป่าเต็งรังจึงไม่จำเป็นต้องแย่งแสงสว่างกันแบบบป่าดงดิบ
ต้นไม้ในป่าเต็งรังจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีไฟป่า โดยมีการปรับตัวดังนี้
1. การมีเปลือกหนา เพื่อไม่ให้ไฟไหม้เข้าไปถึงเนื้อไม้
2. จัดช่วงเวลาการออกดอกและโปรยเมล็ดให้ปลอดอันตรายจากไฟป่า
3. อาศัยไฟป่าช่วยในการงอกของเมล็ด เช่น มะค่าแต้ มะค่าโมง
4. ไม้บางชนิดจะโปรยเมล็ดหลังฤดูไฟป่าเนื่องจากเมล็ดสามารถตกลงถึงพื้นดินโดยไม่ได้ค้างอยู่บนยอดไผ่เพ็ก
5. กล้าไม้ของพันธุ์ไม้ในป่าเต็งรังและป่าผสมผลัดใบส่วนใหญ่มักจะสร้างรากให้แข็งแรงในดินก่อนการ
สร้างลำต้นที่เรียกกันว่า “burn back phenomina” ตลอดจนการทำให้ต้นแกร่ง (hardenning)ป่าเต็งรังกับไฟป่าจึงเป็นของคู่กันเสมอ
วิดีทัศน์เรื่อง รู้จักป่าเต็งรัง
คำถาม
- ต้นเต็งกับต้นรังมีลักษณะที่แตกต่างกันอย่างไร
- ไฟป่ามีประโยชน์หรือโทษต่อป่าเต็งรังอย่างไร
อ้างอิงจาก
ข้อมูลจาก http://www.tropicalforest.or.th/p49.htm
ข้อมูลจาก http://royal.rid.go.th/phuphan/parmai/DripterocarpForest.htm
กลับไปที่เนื้อหา
ในอดีต เราใช้ประโยชน์จากป่าดิบแล้งและป่าเต็งรังโดยไม่ได้คำนึงถึงอนาคต นอกเหนือจากการเก็บผลผลิตจากป่าทั้งสมุนไพร ไม้ที่ให้สีสัน กลิ่นหอมแล้ว เรายังตัดไม้จากป่านำมาใช้สอย ทั้งนำมาปลูกบ้านอยู่อาศัย ทำเครื่องใช้ เครื่องเรือน สิ่งประดับตกแต่งบ้าน ทำไม้หมอนรางรถไฟ แม้แต่ทำฟืน จนปัจจุบันเราต้องนำเข้าไม้เนื้อแข็งเหล่านี้จากต่างประเทศ เพราะสงวนไม้เหล่านี้ไว้โดยห้ามไม่ให้ตัดไม้เหล่านี้จากป่าต่าง ๆ อีก แต่ก็ยังมีการลักลอบตัดไม้อยู่ทั่วไปในทุกป่า โดยเฉพาะไม้คุณภาพสูงจากป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง
ไม้ต้นที่พบทั่วไปในป่าดิบแล้ง ได้แก่ ตะเคียนหิน Hopea ferrea, ตะเคียนทอง H. odorata, เคี่ยมคะนอง Shorea henryana, พะยอม S. roxburghii, ยางแดง Dipterocarpus turbinatus, ยางนา D. alatus, ยางปาย D. costatus, กระบาก Anisoptera costata, กระบากขาว A. scaphula, ซีหรือเต็งแดง Vatica harmandiana, ยางหนู V. odorata , มะปิน Pterygota alata , กะบก Irvingia เป็นต้น
ส่วนไม้เด่น ๆ ที่พบทั่วไปในป่าเต็งรัง เช่น กราด Dipterocarpus intricatus, เหียง D. obtusifolius, พลวง D. tuberculatus, เต็ง Shorea obtusa, และรัง S. siamensis เป็นต้น
ทั้งต้นไม้ในป่าดิบแล้งและป่าเต็งรังที่มีขนาดใหญ่ จะมีอายุนับร้อยปี ซึ่งเราทราบได้จากการนับวงปีของต้นไม้นั้น วงปี (annual ring) เกิดขึ้นจากการเจริญเติบโตของต้นไม้ในรอบปีไม่เท่ากัน เนื้อไม้ที่เกิดขึ้นในฤดูฝนจะมีความหนาแน่นต่ำและค่อนข้างที่มีรูพรุนมากเห็นเป็นสีอ่อน เราเรียกเนื้อไม้ต้นฤดู (Early wood หรือ spring wood) ไม้ที่เจริญเติบโตในช่วงฤดูนี้จะโตอย่างรวดเร็วจึงทำให้เป็นสาเหตุที่เนื้อไม้ไม่หนาแน่นและมีสีที่อ่อน ขณะที่เนื้อไม้ที่เกิดขึ้นในปลายฤดูฝนต่อฤดูแล้งจะมีความแน่นสูงเห็นเป็นสีเข้ม เราเรียกเนื้อไม้ปลายฤดู (Late wood หรือ summer wood) เพราะไม้ที่โตในช่วงฤดูนี้จะมีการเติบโตช้าทำให้เนื้อไม้ความหนาแน่นสูงและมีสีเข้ม ในปีต่อไปการเจริญเติบโตของเนื้อไม้ก็จะเป็นเช่นนี้อีก ทำให้เกิดเนื้อไม้ที่มีสีอ่อนละสีเข้มสลับกันเป็นช่วงๆ เป็นวง เราเรียกว่า วงปี โดยไม้สีอ่อน 1 ชั้นรวมกับไม้สีเข้ม 1 ชั้นคืออายุ 1 ปีของไม้นั้นเอง
คำถาม
- เราจะมีวิธีการสงวนรักษาป่าไม้ได้อย่างไรบ้าง
อ้างอิงจาก
ภาพวงปี http://www.baannatura.com/public/images/real_wood/small_red_pine.jpg
ข้อมูลจากhttp://www.baannatura.com/th/mat/content/detail/112.html
กลับไปที่เนื้อหา
ไม้ยืนต้นในป่าดิบแล้งและป่าเต็งรังใช้การขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เมื่อต้นไม้เหล่านี้ออกผลและผลแก่ก็จะหล่นจากต้น ตกสู่พื้นด้วยแรงดึงดูดของโลก เมื่อตกสู่พื้นดินที่มีความชื้นและมีความอุดมสมบูรณ์ก็จะงอกเป็นต้นใหม่ แต่ธรรมชาติได้ช่วยให้มีการกระจายพันธุ์ของต้นไม้เหล่านี้ให้ผลของต้นไม้เหล่านี้กระจายออกไปงอกยังที่อื่น ๆ ไกลจากต้นเดิม จนเกิดเป็นป่าโดยผลของต้นไม้อาจมีขนาดเล็ก เบา มีเยื่อขนาดใหญ่หุ้ม หรือมีปีก เมื่อหล่นจากต้นไม้ที่มีความสูงก็จะถูกลมพัด ให้ไปตกไกลจากต้น ผลที่มีปีกแทนที่จะตกลงมาในแนวดิ่งแบบเดียวกับการตกอิสระ ก็จะเกิดการหมุนทำให้ตกช้าลง และลมก็ช่วยพัดให้ไปตกยังที่ไกลออกไป เช่น เต็ง รัง พะยอม เหียง พลวง กราด เป็นต้น
ส่วนต้นไม้บางชนิดที่ผลไม่มีปีก เมื่อผลแก่อาจเป็นอาหารของสัตว์ทั้งนก กระรอก และสัตว์ป่าอื่น ๆ เมล็ดที่ปนอยู่ในมูลของสัตว์เหล่านี้ ทำให้เกิดการกระจายพันธุ์ได้มากและไกลออกไปอีก
วิดีทัศน์เรื่อง ลูกไม้ไกลต้นได้อย่างไร
คำถาม
- ถ้าผลของต้นไม้ในป่าทั้งหมดไม่มีปีก นักเรียนคิดว่าสภาพป่าในปัจจุบันจะเป็นอย่างไร
- เฮลิคอปเตอร์กระดาษหรือผลไม้มีปีกจำลอง มีการเคลื่อนที่อย่างไร เพราะเหตุใด
กลับไปที่เนื้อหา
สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช เป็นสถานที่เพื่อการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาป่าเขตร้อน โดยเฉพาะป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง มีนักวิจัยทั้งของไทยและต่างประเทศที่สนใจเข้ามาทำการศึกษา วิจัยและสำรวจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งพืช สัตว์และระบบนิเวศ นักเรียนที่เรียนทางวิทยาศาสตร์ จะต้องรู้จักใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และมีจิตวิทยาศาสตร์ในการสืบเสาะหาความรู้ การแก้ปัญหา รู้ว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มีรูปแบบที่แน่นอน สามารถอธิบายและตรวจสอบได้ ภายใต้ข้อมูลและเครื่องมือที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้นๆ และเข้าใจว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคม และสิ่งแวดล้อมมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้
วิดีทัศน์เรื่อง ติดตามนักวิจัยทางธรรมชาติ
คำถาม
- กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการหาความรู้มีอะไรบ้าง
- การมีจิตวิทยาศาสตร์ คือมีลักษณะอย่างไร
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังวิดีทัศน์
ตอน เที่ยวไปในไพรพฤกษ์
ตอน รู้จักป่าดิบแล้ง
ตอน นกในป่า...ตามดูไก่ฟ้าพญาลอ
ตอน แมลงในป่า
ตอน พืชกินได้ในป่า
ตอน ป่า...คลังยาของมนุษย์
ตอน สีสันจากป่า
ตอน ป่ากลิ่นหอม
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนนายธานี จันทร์นาง โรงเรียนบ้านท่ากลอย จ.ฉะเชิงเทราผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนนางพยงค์ สุหัตถาพร โรงเรียนบุญวัฒนา จ.นครราชสีมาผู้เขียนแผนการสอนนางสาวกิ่งกาญจน์ กลิ่นจันทน์ โรงเรียนบุญวัฒนา จ.นครราชสีมาผู้เขียนแผนการสอนนางพงศ์ผกา นิลแก้ว โรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษา จ.กาฬสินธุ์ผู้เขียนแผนการสอนนางสาวประภาศิริ คูนาคำ โรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษา จ.กาฬสินธุ์ผู้เขียนแผนการสอนเสกสรร คล้ายสุข โรงเรียนอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรีผู้เขียนแผนการสอน
-
คำที่เกี่ยวข้อง