แหล่งเรียนรู้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- 1. การแนะนำ
- 2. ตัวชี้วัดชั้นปีและจุดประสงค์การเรียนรู้
- 3. ที่ตั้งและภูมิประเทศ
- 4. การเดินทาง
- 5. ความเป็นมา
- 6. บทบาทและหน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- 7. บทนำกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
- 8. สารบอแรกซ์และวิธีตรวจสอบ
- 9. ฟอร์มาลิน
- 10. สารตกค้างพวกยาฆ่าแมลง
- 11. โคลิฟอร์มในน้ำและน้ำแข็ง
- 12. เตาไมโครเวฟ
- 13. ถุงยางอนามัย
- - ทุกหน้า -
เรามักจะได้ยินอยู่เสมอเกี่ยวกับผลการ ตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือที่เกี่ยวกับอาหาร ยา ยาเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท สารระเหย เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ รังสี และวัตถุอันตรายทางสาธารณสุข ชีววัตถุ สมุนไพร และการชันสูตรโรค ที่ได้รับการประกาศจากกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เพื่อแจ้งเตือนภัยสุขภาพให้ประชาชนได้ทราบด้านคุ้มครองผู้บริโภคและเฝ้าระวังโรค มีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดต่อสำคัญต่างๆ เช่น วัตซีนป้องกันโรคเอดส์และไข้หวัดนก มีการตรวจวิเคราะห์อาหารหรือวัตถุดิบว่ามีการปนสารห้ามใช้หรือมีการ ปนเปื้อน สารพิษต่างๆ เช่น (Dioxin) หรือมีการตัดแต่งทางพันธุกรรม (GMO) หรือไม่ เป็นต้น กิจกรรมต่าง ๆ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในทุก ๆ สาขา
กลับไปที่เนื้อหา
สาระ มาตรฐานและตัวชี้วัดชั้นปี ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1 – ม.3 ) และช่วงชั้นที่ 4 (ม. 4 – ม.6)
สาระที่ 3 สารและสมบัติของสาร
มาตรฐาน ว 3. 2 เข้าใจหลักการและธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงสถานะของสาร การเกิดสารละลาย การเกิดปฏิกิริยา มีกระบวนการสืบเสาะ หาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด
( ม.1) ทดลองและอธิบายวิธีเตรียมสารละลายที่มีความเข้มข้นเป็นร้อยละ และอภิปรายการนำความรู้เกี่ยวกับสารละลายไปใช้ประโยชน์
( ม.2 ) สืบค้นข้อมูลและอภิปรายผลของสารเคมี ปฏิกิริยาเคมีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
( ม.4 – ม.6 ) ทดลอง อธิบายและเขียนสมการของปฏิกิริยาเคมีทั่วไปที่พบในชีวิตประจำวัน รวมทั้งอธิบายผลของสารเคมีที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
สาระที่ 5 พลังงาน
มาตรฐาน ว 5. 1 เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานกับการดำรงชีวิต การเปลี่ยนรูปพลังงาน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสารและพลังงาน ผลของการใช้พลังงานต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม มีกระบวน การสืบเสาะหาความรู้ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด
( ม.4 – ม.6 ) อธิบายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สเปกตรัมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และนำเสนอผลการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ และการป้องกันอันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
จุดประสงค์การเรียนรู้
- ตระหนักถึงอันตรายจากการรับประทานอาหารที่มีสารเคมีที่เป็นพิษปนเปื้อน
- บอกวิธีการตรวจสอบสารเคมีพิษบางชนิด ที่มักจะปนเปื้อนอยู่ในอาหารได้
- รู้วิธีสังเกตลักษณะของอาหารที่มีสารปนเปื้อนเพื่อหลีกเลี่ยงได้
- บอกลักษณะอาการขั้นต้นของผู้ที่รับประทานอาหารที่มีสารปนเปื้อนบางชนิดได้
- บอกหลักการทำงานของเตาไมโครเวฟและวิธีตรวจสอบการรั่วของคลื่นไมโครเวฟได้
- บอกวิธีการตรวจสอบคุณภาพของถุงยางอนามัยให้ได้มาตรฐาน มอก.ได้
กลับไปที่เนื้อหา
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เดิม ตั้งอยู่ที่ถนนบำรุงเมือง ยศเส ต่อมาในปี พ.ศ. 2529 จึงได้ย้ายมาอยู่ที่ อาคารสถาบันวิจัย ทางวิทยาศาสตร์สาธารณสุขแห่งชาติ จ.นนทบุรี ในกระทรวงสาธารณสุขปัจจุบัน ตั้งอยู่เลขที่ 88/7 บำราศนราดูร ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จ.นนทบุรี
เรามักจะได้ยินอยู่เสมอเกี่ยวกับผลการ ตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือที่เกี่ยวกับอาหาร ยา ยาเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท สารระเหย เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ รังสี และวัตถุอันตรายทางสาธารณสุข ชีววัตถุ สมุนไพร และการชันสูตรโรค ที่ได้รับการประกาศจากกรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์ เพื่อแจ้งเตือนภัยสุขภาพให้ประชาชนได้ทราบด้านคุ้มครองผู้บริโภคและเฝ้าระวังโรค มีการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดต่อสำคัญต่างๆ เช่น วัตซีนป้องกันโรคเอดส์และไข้หวัดนก มีการตรวจวิเคราะห์อาหารหรือวัตถุดิบว่ามีการปนสารห้ามใช้หรือมีการ ปนเปื้อน สารพิษต่างๆ เช่น (Dioxin) หรือมีการตัดแต่งทางพันธุกรรม (GMO) หรือไม่ เป็นต้น กิจกรรมต่าง ๆ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต้องใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในทุก ๆ สาขา
กลับไปที่เนื้อหา
การเดินทางไปกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไปได้ทางรถยนต์ โดยมุ่งไปตามถนนติวานนท์ ถึงช่วงระหว่างสี่แยกแครายกับสะพานพระราม 5 ก็จะถึงซอยติวานนท์ 14 หรือ ซอยเข้าโรงพยาบาลบำราศนราดูร ตรงเข้าไปในกระทรวงสาธารณสุข เข้าซอยสาธารณสุข 4 ก็จะถึงกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
วิดีทัศน์ เรื่อง ไปกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กันเถอะ
กลับไปที่เนื้อหา
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2485 พร้อม ๆ กับการจัดตั้งกระทรวงสาธารณสุขมี การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลายครั้ง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับภาระหน้าที่ และให้ทันต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี สังคมและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ 24 หน่วยงาน เป็นศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง และกองหรือสถาบันต่าง ๆในส่วนกลาง อีก 10 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานเลขานุการกรม กองเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กองชีววัตถุ กองแผนงานและวิชาการ กองรังสีและเครื่องมือแพทย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข สถาบันวิจัยสมุนไพร สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร สำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ สำนักยาและวัตถุเสพติด และ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ชลบุรี ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรัง ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สุราษฎร์ธานี ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์นครราชสีมา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุดรธานี ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์อุบลราชธานี ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์นครสวรรค์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์พิษณุโลก ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สมุทรสงคราม ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงราย และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ภูเก็ต
กลับไปที่เนื้อหา
4.1 กำหนดและพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานของระบบและวิธีการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือที่เกี่ยวกับอาหาร ยา ยาเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท สารระเหย เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ รังสี และวัตถุอันตรายทางสาธารณสุข ชีววัตถุ สมุนไพร และการชันสูตรโรค
4.2 ดำเนินการตามกฏหมายว่าด้วยเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ และกฏหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
4.3 ศึกษา วิจัย พัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ประเมินความเสี่ยงและแจ้งเตือนภัยสุขภาพ
4.4 ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือที่เกี่ยวกับอาหาร ยา ยาเสพติด วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท สารระเหย ชีววัตถุ สมุนไพร และการชันสูตรโรค เพื่อควบคุมคุณภาพประสิทธิภาพและมาตรฐานให้เป็นไปตามกฎหมายและเป็นหลักฐานทางคดี รวมทั้งเพื่อสนับสนุนการป้องกันและควบคุมโรค
4.5 เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ชีววัตถุ สมุนไพร ยาเสพติด และการชันสูตรโรค เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข และเป็นห้องปฏิบัติการสอบเทียบเครื่องมือทางการแพทย์และสาธารณสุข
4.6 สนับสนุนและพัฒนาระบบการประกันคุณภาพ ดำเนินการรับรองคุณภาพทางห้องปฏิบัติการด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ชีววัตถุ สมุนไพร และการชันสูตรโรค ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
4.7 พัฒนาระบบและกลไกการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฏหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบ
4.8 ถ่ายทอดองค์ความรู้และผลผลิตที่ได้จากการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยสู่ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4.9 ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่กรม หรือตามที่รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
วิดีทัศน์ เรื่อง หน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กลับไปที่เนื้อหา
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่พัฒนาและให้การรับรองคุณภาพ มาตรฐานของห้องปฏิบัติการด้านชันสูตรสาธารณสุขในโรงพยาบาลต่างๆ ห้องปฏิบัติการตรวจสุขภาพคนที่จะเดินทางไปต่างประเทศ และห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมทั้งการรับรองระบบตรวจสอบ สารพิษในผักสด ผลไม้สด เพื่อให้ทุกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความ ปลอดภัยต่อสุขภาพและมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังตรวจ วิเคราะห์ด้านอาหาร ยา สารเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท สารระเหย เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ รังสี ชีววัตถุ และวัตถุอันตรายทางสาธารณสุข อีกด้วย
อาหารเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตและสุขภาพของประชาชน กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์จึงได้จัดตั้งสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร เพื่อตรวจและทดสอบอาหารประเภทต่าง ๆ เพื่อหาสารปนเปื้อนที่อาจจะมีในอาหารและส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน
วิดีทัศน์ เรื่อง สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร
สารปนเปื้อนในอาหาร (Contaminants) หมายถึง สารที่ปนเปื้อนมากับอาหารโดยซึ่งอาจมาจากกระบวนการผลิต ทั้งในกรรมวิธีการผลิต โรงงาน การดูแลรักษา การบรรจุ ตลอดจนการขนส่งและการเก็บรักษา หรือเกิดจากการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันในการผลิตอาหาร ผู้ผลิตบางแห่งมีการนำสารเคมี ผสมในอาหาร สารเคมีบางอย่างเป็นอันตรายต่อร่างกาย บางชนิดหากบริโภคเข้าไปในปริมาณมากอาจถึงแก่ชีวิตได้ สารเคมีที่เป็นอันตรายแต่มักพบว่ามีการปนเปื้อนในอาหารและสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร มีการเก็บตัวอย่างนำมาทดสอบอยู่เสมอ ได้แก่
- บอแรกซ์
- สารกันรา (กรดซาลิซิลิค)
- สารฟอกขาว(โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์)
- ฟอร์มาลิน
- สารตกค้างพวกยาฆ่าแมลง
- โคลิฟอร์มในน้ำและน้ำแข็ง
กลับไปที่เนื้อหา
บอแรกซ์ (Borax) เป็นสารเคมีสังเคราะห์ มีสูตรทางเคมีว่า Na2B4O7 ลักษณะเป็นผงสีขาว ไม่มีกลิ่น มีชื่อที่เรียกกันทั่วไปหลายชื่อ เช่น ผงน้ำประสานทอง ผงกรอบ เพ่งแซ เป็นต้น ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับบอแรกซ์ไว้ สรุปได้ว่า โดยทั่วไปบอแรกซ์ใช้ในอุตสาหกรรมทำแก้ว ล้างหม้อขนาดใหญ่ ใช้ป้องกันวัชพืชในการเกษตร ใช้ป้องกันเชื้อราขึ้นตามต้นไม้ ใช้เป็นยาเบื่อแมลงสาบ และใช้เป็นตัวเชื่อมทองเส้นเข้าด้วยกัน แต่ปัญหาการใช้บอแรกซ์เกิดจากมีผู้นำมาใช้ผสมอาหาร เพื่อทำให้อาหารมีความเหนียวหรือกรุบกรอบทำให้อาหารชวนรับประทาน อาหารที่มักพบว่ามีบอแรกซ์ผสม เช่น ลูกชิ้น หมูยอ อาหารชุบแป้งทอด พวกกล้วยทอด มันทอด ผัก/ผลไม้ดอง เป็นต้น ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536) กำหนดให้บอแรกซ์ เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร หากบริโภคเข้าไป จะเกิดอันตรายต่อร่างกาย การบริโภคขนาด 0.1-0.5 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมอาจทำให้เสียชีวิตได้ ถ้าผู้ใหญ่ได้รับสารบอแรกซ์ 15 กรัม หรือเด็กได้รับ 5 กรัม จะทำให้อาเจียนเป็นเลือดและอาจตายได้ บอแรกซ์เป็นพิษต่อไตและสมอง ทำให้ระบบทางเดินอาหารเกิดการระคายเคือง โดยเฉพาะไตเป็นอวัยวะที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ทำให้เกิดกรวยไตอักเสบ เนื่องจากการสะสมของบอแรกซ์ และหากร่างกายได้รับสารบอแรกซ์ในปริมาณมาก จะทำให้เกิดกระเพาะอาหาร และลำไส้อักเสบ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อุจจาระร่วง ตับถูกทำลาย อาจชัก หมดสติ โดยเฉพาะในเด็กและคนชราอาจถึงตายได้
สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีวิธีการตรวจสอบว่าในอาหารมีสารบอแรกซ์ปนเปื้อนอยู่หรือไม่ โดยมีชุดทดสอบบอแรกซ์ในอาหารที่สามารถนำไปตรวจสอบเองได้
ในชุดทดสอบจะมีน้ำยาทดสอบบอแรกซ์ ซึ่งเป็น สารละลาย HCl เจือจาง และกระดาษขมิ้น ซึ่งมี สารเคอร์คูมิน (Cercumin) เป็นส่วนประกอบ การทดสอบทำได้ไม่ยากโดยการหั่นหรือบดอาหารที่จะตรวจใส่ในภาชนะ เติมน้ำยาทดสอบลงไปจนเปียกชุ่ม แล้วใช้กระดาษขมิ้นจุ่มลงไปครึ่งแผ่น ตากให้แห้ง ถ้ากระดาษขมิ้นเปลี่ยนสีจากสีเหลืองไปป็นสีแดง แสดงว่าอาหารนั้นมีสารบอแรกซ์ปนเปื้อนอยู่+
วิดีทัศน์ เรื่อง ทดสอบได้อย่างไรว่าในอาหารมีบอแรกซ์
คำถาม
- อาหารที่มีจำหน่ายในตลาดทั่วไป คิดว่ามีอาหารชนิดใดที่อาจใส่สารบอแรกซ์บ้าง
สารกันราหรือ กรดซาลิซิลิค salicylic acid เป็นกรดอินทรีย์ชนิดหนึ่ง ที่ใช้เป็นวัสดุในการทำเครื่องสำอาง และการผลิตยาบางชนิด สูตรเคมีคือ C6H4OH.COOH มีลักษณะเป็นผลึกสีขาวมีจุดหลอมเหลว 159 องศาเซลเซียส มีสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดี แต่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เป็นสารที่ห้ามใช้ในอาหาร แต่มีการนำสารชนิดนี้ใส่ในน้ำดองผักผลไม้เพื่อให้ดูใสเหมือนใหม่อยู่เสมอ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดห้ามนำมาใส่เจือปนในอาหาร ปัจจุบันยังตรวจพบกรดซาลิซิลิคในอาหารหลายชนิด เช่น แหนม หมูยอ ผักผลไม้ดองจำพวก มะม่วงดอง ผักกาดดอง มะกอกดอง มะดันดอง ขิงดอง ก๊งฉ่าย เกี๊ยมฉ่าย ไชโป้ และหน่อไม้อัดปี๊บถ้าผู้บริโภคได้รับสารกันราหรือกรดซาลิซิลิคจนมีความเข้มข้นในเลือดปริมาณ 25ถึง 35 มิลลิกรัม ต่อเลือด 100 มิลลิลิตร จะมีอาการอาเจียน หูอื้อ มีไข้และอาจถึงตายได้
ในเมื่อมีการนำสารกันราหรือกรดซาลิซิลิคมาเจือปนในอาหารจึงต้องมีการตรวจสอบเพื่อดูว่าอาหารบางชนิดที่มีจำหน่ายทั่วไปมีการลักลอบใช้สารกันราหรือไม่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้จัดทำชุดทดสอบกรดซาลิซิลิค(สารกันรา)ในอาหาร เพื่อให้นำไปใช้ทดสอบได้เอง
ในชุดทดสอบจะมีน้ำยาทดสอบสองชนิด หลอดหยดและภาชนะที่ใส่ตัวอย่างสำหรับการทดสอบให้ครบถ้วน น้ำยาทดสอบ 1 คือ สารละลายกรดซาลิซิลิค น้ำยาทดสอบ 2 คือ สารละลายเฟอร์ริคคลอไรด์ (FeCl3) วิธีการทดสอบสามารถทำได้ตามคำแนะนำซึ่งมีขั้นตอนต่าง ๆ หลายขั้น แต่ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็จะทราบได้ว่า ผลไม้ดองหรือผักดองนั้นมีสารกันราหรือกรดซาลิซิลิคเจือปนอยู่หรือไม่
วิดีทัศน์ เรื่อง หาสารกันราในผลไม้ดอง
เอกสารอ้างอิง
ภาพจาก http://changshamayshine.en.made-in-china.com/offer/RbPEBIZMXLVY/Sell-Salicylic-Acid-Technical-Sublimate-Pharmaceutical-Grade.html
ข้อมูลจาก http://hpc4.anamai.moph.go.th/market/nana/rar21.pdf
ถั่วงอกที่ขาวอวบ ผ้าขี้ริ้วที่ดูขาวกรอบน่ารับประทานมักจะถูกฟอกขาวด้วยสารฟอกขาว นอกจาก จะมีการใช้สารฟอกขาวในถั่วงอกแล้วยังมีการใช้ในอาหารประเภท ทุเรียนกวน หน่อไม้ ขิงซอย ขนมจีน น้ำตาลทรายหรือสินค้าอาหารอื่นๆที่มีสีขาวให้ดูน่ารับประทานและดูใหม่อยู่เสมอ สารฟอกขาวหรือสารฟอกสีที่ใช้ในอาหารนั้นมีหลายชนิด ที่นิยมใช้กันในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารก็คือสารเคมีในกลุ่มซัลไฟต์ ได้แก่
สารประกอบซัลไฟต์ เช่น แคลเซียมซัลไฟต์ โซเดียมซัลไฟต์ โพแทสเซียมซัลไฟต์ สารประกอบไบซัลไฟต์ เช่น โพแทสเซียมไบซัลไฟต์ ซึ่งใช้ป้องกันการบูดเสียของอาหารได้ด้วยและสารประกอบเมตาไบซัลไฟต์ เช่น โซเดียมเมตาไบซัลไฟต์ สารฟอกสีเหล่านี้ เป็นสารเคมีที่อนุญาตให้ใช้เป็นวัตถุเจือปนในอาหารได้ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่กำหนดตามชนิดของอาหาร ถ้าใช้เกินปริมาณที่กำหนดจะเกิดอันตรายได้ เช่น โซเดียมซัลไฟต์ถ้าใช้ในปริมาณที่เกินกำหนด จะมีสารกำมะถันตกค้างในอาหารในปริมาณสูงและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคถึงแก่ชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคหอบ หืด อ่อนเพลีย และผู้ที่ออกกำลังมาก
ส่วนสารฟอกขาวที่เป็นอันตราย กระทรวงสาธารณสุขไม่อนุญาตให้ใช้เจือปนในอาหาร คือ สารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์(Sodium hydrosulfite) หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ผงซักมุ้ง ชื่ออื่นๆ ได้แก่ Dithionous acid, disodium salt; Sodium dithionite hydrate; Sodium sulfoxylate; Reductone; Sulfoxylate; Virtex L; Hydrolin; D-Ox; Vatrolite; มีสูตรโมเลกุล : Na2O4S2 สารโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์เป็นสารเคมีที่เป็น พิษ ลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว มีกลิ่นฉุนกำมะถันอ่อนๆ ละลายได้ในน้ำ ไม่ละลายในแอลกอฮอล์ เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการฟอกสี เช่น กระดาษ เส้นใยไหม แห อวน และเครื่องหนัง หากสัมผัสผิวหนังจะทำให้ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดง ถ้าบริโภคเข้าไปจะทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะที่สัมผัสอาหารเช่น ปาก ลำคอและกระเพาะอาหาร หากกินเข้าไปมากเกิน 30 กรัม จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง เวียนศีรษะ อาเจียน อุจจาระร่วง ความดันโลหิตลดต่ำลง แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หลอดลมหดตัว ทำให้หอบหืด ในผู้ที่เป็นโรคนี้อยู่แล้วอาจช็อก หมดสติและเสียชีวิตได้
วิดีทัศน์ เรื่อง สารฟอกขาว
หากสงสัยว่า อาหารบางชนิด เช่น ถั่วงอก ผ้าขี้ริ้ว ตีนไก่ กระท้อนดอง ทุเรียนกวน ยอดมะพร้าวหรืออื่น ๆ มีสารฟอกขาว โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ ปนอยู่หรือไม่ สามารถใช้ชุดทดสอบโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์(สารฟอกขาว)ในอาหาร ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อทดสอบ น้ำยาที่ใช้ทดสอบโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ คือ สารละลายคอปเปอร์ซัลเฟต (CuSO4.5H2O) นั่นเอง ชุดทดสอบนี้สามารถตรวจสอบหาสารฟอกขาวที่เจือปนในอาหารทั้งที่เป็นของแข็งและของเหลว ซึ่งทำการทดสอบตามวิธีการง่าย ๆ ที่แนะนำไว้ในชุดทดสอบ
วิดีทัศน์ เรื่อง ในถั่วงอกมีสารฟอกขาวหรือไม่
คำถาม
- สำรวจอาหารที่มีจำหน่ายในโรงเรียนหรือในตลาด มีอาหารที่คิดว่าใส่สารฟอกขาวหรือไม่ อะไรบ้าง
เอกสารอ้างอิง
http://bbznet.pukpik.com/scripts3/view.php?p=5&board=6&user=greenbull&id=1061&c=1&order=
http://mixkaza.diaryclub.com/20090323/%E0%B9%D7%E9%CD%A1%D0%B7%D0-VS-%E0%C1%D5%E8%C2%A7%A1%EB%C7%C2%E0%B5%D5%EB%C2%C7-%E0%A1%D5%E8%C2%C7%A1%D1%B9%B5%C3%A7%E4%CB%B9%B9%D5%E8-%CE%D5%E8%E6
กลับไปที่เนื้อหา
ฟอร์มาลิน (Formalin) หรือสารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) มีสูตรเคมีว่า CH2O คนทั่วไปรู้จักกันว่าเป็นสารที่ใช้สำหรับดองศพเพื่อไม่ให้ศพเน่าเปื่อย ใช้ฆ่าเชื้อโรค ฆ่าเชื้อรา และทำความสะอาดห้องคนป่วย ลักษณะทั่วไปของฟอร์มาลินเป็นสารละลายใส ไม่มีสี มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว เป็นสารรีดิวซ์รุนแรง เมื่อสัมผัสกับอากาศจะถูกออกซิไดส์ช้า ๆ ไปเป็นกรดฟอร์มิกซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อน มีค่า pH ประมาณ 2.8-4.0 รวมตัวได้กับน้ำและแอลกอฮอล์ ชื่ออื่น ๆ ของฟอร์มาลิน คือ Methanal; Formic aldehyde; Methaldehyde
ฟอร์มาลินเป็นสารที่นิยมใช้กันในหลายด้าน ในด้านการแพทย์ ใช้ในการเก็บรักษาตัวอย่างทางกายวิภาค (anatomical specimens) เพื่อคงสภาพของเนื้อเยื่อไม่ให้เน่าเสีย ใช้ฆ่าเชื้อโรคในเครื่องมือต่าง ๆ เช่น เครื่องฟอกเลือด (เครื่องล้างไต) เครื่องมือเครื่องใช้ในการเตรียมและสังเคราะห์ผลิตภัณฑ์ยา วัคซีน ไอระเหยของฟอร์มาดีไฮด์สามารถนำมาอบห้องฆ่าเชื้อโรคตามโรงพยาบาล ในการทำเครื่องสำอางจะใช้สารฟอร์มาลินในยาสีฟัน ยาบ้วนปาก สบู่ ครีมโกนหนวดเพื่อฆ่าเชื้อโรค โดยใช้เป็นส่วนประกอบในความเข้มข้นที่ต่ำมาก ใช้ในน้ำยาดับกลิ่นตัว ใช้เป็นส่วนประกอบของแชมพูสำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ในด้านอุตสาหกรรม ฟอร์มาลินมีสมบัติทำให้ผ้าและกระดาษแข็งเกาะกัน จึงนำมาใช้ในการทำบอร์ดหรือไม้อัด อุตสาหกรรมสิ่งทอใช้ผลิตสารที่ใช้เปลี่ยนแปลงลักษณะน้ำหนักและความแข็งแรงของไหมสังเคราะห์ รักษาผ้าไม่ให้ยับหรือย่น ในอุตสาหกรรมกระดาษ ใช้เพื่อให้กระดาษลื่นและกันน้ำได้ เป็นต้น ส่วนในด้านการเกษตรใช้สารฟอร์มาลินทำลายและป้องกันจุลินทรีย์ที่ทำให้ต้นไม้เป็นโรค ใช้เก็บรักษาและป้องกันผลิตผลเกษตรจากการเสียหายระหว่างการขนส่ง ใช้ฆ่าเชื้อราในดิน ใช้เป็นส่วนผสมของสารละลายที่ใช้เคลือบผัก ผลไม้จำพวกส้มระหว่างการเก็บเกี่ยวเพื่อชะลอการเน่าเสีย เป็นต้น พ่อค้า แม่ค้า นิยมนำฟอร์มาลินมาแช่ผัก เนื้อสัตว์ และอาหารทะเลสด เพื่อทำให้อาหารต่างๆ สดอยู่ได้นานไม่เน่าเสียเร็ว แต่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค
ในกรณีที่ร่างกายได้รับฟอร์มาลินในปริมาณต่ำ ร่างกายสามารถกำจัดได้ แต่หากได้รับในปริมาณที่สูงขึ้นถึง 30 – 60 มิลลิลิตรหรือมีความเข้มข้นมากขึ้น ฟอร์มาลินจะเปลี่ยนรูปเป็นกรดฟอร์มิค (Formic acid) ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายการทำลายของเซลล์ในร่างกาย ทำให้เซลล์ตาย ฟอร์มาลินมีพิษต่อระบบต่างๆ เกือบทั่วทั้งร่างกาย เช่น ในระบบทางเดินหายใจ หากได้รับไอระเหยของฟอร์มัลดีไฮด์ แม้จะปริมาณต่ำจะทำให้หลอดลมบวม แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด ถ้าสูดดมเข้าไปมาก ๆ จะทำให้น้ำท่วมปอด จนหายใจไม่ออก แน่นหน้าอกและตายในที่สุด อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นหลายชั่วโมงหลังจากได้รับสารโดยไม่มีอาการเจ็บปวด เลยก็ได้ หากได้รับปริมาณน้อยเป็นเวลานาน จะมีอาการไอและหายใจติดขัดเพราะหลอดลมอักเสบ เป็นต้น ในระบบทางเดินอาหาร เมื่อรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลินในปริมาณมากถึง 60 -90 มิลลิลิตร จะทำให้ปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หากได้รับสารนี้โดยการบริโภค จะเกิดอาการพิษโดยเฉียบพลัน ซึ่งอาการมีตั้งแต่ปวดท้องอย่างรุนแรง อาเจียน อุจจาระร่วง ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว นอกจากนี้เมื่อสัมผัสจะเกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้เกิดผื่นคัน เป็นผื่นแดงเหมือนลมพิษ จนถึงผิวหนังไหม้เปลี่ยนเป็นสีขาวได้
ดังนั้นฟอร์มาลินหรือสารละลายฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหารตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข แหล่งอาหารที่มักพบฟอร์มาลินปนเปื้อน ได้แก่ อาหารทะเล เนื้อสัตว์ ผักสดและผลไม้ ถ้าผู้บริโภคสงสัยว่าอาหารที่บริโภคนั้นมีฟอร์มาลินไม่ควรซื้อมารับประทาน เพราะฟอร์มาลินเป็นสารที่มีกลิ่นฉุนมากเมื่อนำไปใส่ในอาหารดังกล่าว ผู้บริโภคจะได้กลิ่นฉุนแน่นอน ดังนั้นก่อนการรับประทานหรือประกอบอาหารควร ล้างให้สะอาดเสียก่อนเพื่อความมั่นใจและรับประทานได้อย่างปลอดภัย
วิดีทัศน์ เรื่อง ฟอร์มาลิน
วิธีการตรวจสอบว่าอาหารมีฟอร์มาลินปนเปื้อนอยู่หรือไม่ อาจใช้วิธีสังเกตง่ายๆ ได้ดังนี้ ถ้าเป็นเนื้อสัตว์ให้สังเกตว่า หากถูกแสงแดด หรือลมเป็นเวลานาน แล้วยังสดอยู่ก็ไม่ควรซื้อ ถ้าเป็นผัก ผลไม้ที่มีลักษณะแข็ง เขียว กรอบหรือสดผิดปกติ และถ้าเป็นปลา หรือกุ้งเนื้อแข็งแต่บางส่วน เปื่อยยุ่ย ไม่ควรซื้อมาประกอบอาหารเนื่องจากอาจจะได้รับอันตรายจากฟอร์มาลินที่ปน เปื้อนมาได้ ส่วนผักหรือผลไม้ ให้ดมที่ใบ หรือหักก้านดม หรือดมที่ผล ว่ามีกลิ่นแสบจมูกหรือไม่ ถ้ามีแสดงว่ามีฟอร์มาลินปนเปื้อน
สำหรับการเลือกอาหารให้ปลอดภัยจากอันตรายของฟอร์มาลิน ควรเลือกซื้อดังนี้ ถ้าเป็นเนื้อที่ไม่แช่ฟอร์มาลิน หากถูกแสงแดด หรือลม เป็นเวลานานๆ เนื้อจะมีลักษณะแห้ง และไม่เต่งตึงอยู่เหมือนเดิม ควรเลือกซื้อผักอนามัย หรือผักกางมุ้ง เลือกผักที่ไม่มีลักษณะแข็ง หรือกรอบจนเกินไป การเลือกอาหารทะเลควรเลือกอาหารที่สด เนื้อไม่เปื่อยยุ่ย สีไม่ผิดปกติ และอาหารทะเลต้องวางจำหน่ายในน้ำแข็งตลอดเวลา ที่สำคัญต้องล้างอาหารให้สะอาดก่อนการปรุงเสมอ
หากสงสัยและต้องการตรวจสอบว่าในอาหารมีฟอร์มาลินปนเปื้อนอยู่หรือไม่ ก็ทำการตรวจสอบได้โดยใช้ชุดทดสอบฟอร์มาลินในอาหาร ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งภายในจะมีสารเคมีสำหรับตรวจสอบ 3 ชนิดและหลอดสำหรับใช้บรรจุของเหลวที่แช่อาหาร หรือผักผลไม้ที่จะตรวจสอบ
สารเคมีที่ใช้เป็นน้ำยาสำหรับตรวจสอบ อาจใช้ น้ำยาฟอร์มาลิน 1เป็นสารละลาย Phynylhydrazine hydrochloride (C6H9ClN2) น้ำยาฟอร์มาลิน 2 ใช้สารละลาย Potassium hexacyanoferrate (K4Fe(CN6)) และน้ำยาฟอร์มาลิน 3 เป็นสารละลายกรดไฮโดรคลอริกเข้มข้น (HCl conc.) โดยทำการตรวจสอบตามคำแนะนำในชุดทดสอบ
เอกสารอ้างอิง
ถังฟอร์มาลิน จาก http://www-danshenplus.blogspot.com/2010/03/memilih-makanan-bebas-formalin.html
สมอง จาก http://www.britannica.com/EBchecked/media/141686/Human-brain-preserved-in-formalin
กลับไปที่เนื้อหา
ในพืชผักผลไม้ ตลอดจนอาหารแห้งหลายชนิดที่มีจำหน่ายในตลาด อาจมีสารพิษตกค้างพวกยาฆ่าแมลงที่เกษตรกรหรือผู้ผลิตใช้ฆ่าศัตรูพืชหรือป้องกันสัตว์ที่จะมาทำลายผลผลิต สารเหล่านี้จึงอาจตกค้างอยู่ในอาหาร ส่งผลถึงผู้บริโภคให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
อาหารที่มักตรวจพบว่ามีสารพิษตกค้างพวกยาฆ่าแมลงได้แก่ ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่างๆอาหารตากแห้งบางชนิด เช่น ปลาทูเค็ม ปลาแห้ง เนื้อแห้ง เป็นต้น เมื่อรับประทานเข้าไปสารพิษเหล่านี้จะสะสมในร่างกายนานเข้าก็จะเป็นปัญหาเรื้อรังเป็นอันตรายต่อระบบสมองและประสาท เช่น ความจำเสื่อม สมาธิสั้น ยาฆ่าแมลงที่ตกค้างในร่างกายเป็นพิษต่อตับ และ ไต รบกวนระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกระทบต่อต่อมไร้ท่อ (ฮอร์โมน)เป็นสารก่อมะเร็ง และสารก่อกลายพันธุ์และทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ด้วย สารพิษพวกยาฆ่าแมลงส่วนมากที่พบตกค้างในอาหาร เป็นสารพิษในกลุ่มฟอสเฟต และคาร์บาเมทซึ่งมีผลกระทบต่อระบบประสาท และถ้าได้รับพิษ 2 ชนิด รวมกันขึ้นไป จะยิ่งทำให้เกิดพิษสะสมเสริมกันสูงมากขึ้นนับ 1000 เท่า
การลดสารพิษตกค้างในพืชผักและผลไม้ ทำได้โดยการล้างให้สะอาดโดยวิธีล้างอาจทำได้โดยใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (ผงฟู) 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำอุ่น 1 กะละมัง (20 ลิตร) แช่ผักนาน 15 นาทีแล้วล้างด้วยน้ำสะอาดจะช่วยลดปริมาณสารพิษในผักลงได้ 90 – 92% หรือใช้น้ำส้มสายชู (5%) ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 1 กะละมัง แช่นาน 30 -45 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ปริมาณสารพิษที่ลดลงด้วยวิธีนี้คือ 60 – 84% หรืออาจล้างผักโดยให้น้ำไหลผ่าน ใช้มือช่วยคลี่ใบผัก นาน 2 นาที วิธีนี้ลดปริมาณสารพิษลงได้ 50 - 63% แต่ถ้าใช้การต้มหรือลวกผักด้วยน้ำร้อน ปริมาณสารพิษที่ลดลงคือ 48 – 50%
ถ้าเราต้องการตรวจสอบว่า ในผักหรือผลไม้มีสารพิษตกค้างพวกยาฆ่าแมลงปนเปื้อนอยู่หรือไม่ก็สามารถตรวจสอบได้โดยใช้ชุดทดสอบ เอ็ม เจ พี เค (MJPK) ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
วิดีทัศน์ เรื่อง การทดสอบหายาฆ่าแมลงในผักผลไม้
คำถาม
- ที่บ้านของนักเรียน และในโรงเรียน มีวิธีการลดสารพิษตกค้างในพืชผักก่อนประกอบอาหาร
ได้อย่างไร
เอกสารอ้างอิง
http://www.asamedia.org/
http://news.edtguide.com/
http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=18&chap=7&page=t18-7-suggestion.html
กลับไปที่เนื้อหา
โคลิฟอร์มแบคทีเรีย เป็นแบคทีเรียชี้แนะ(Bacteriological indicator) ซึ่งถ้าตรวจพบในน้ำ ก็แสดงว่าน้ำนั้นน่าจะไม่ปลอดภัย คืออาจมีเชื้อโรคอยู่ในน้ำหรือในน้ำแข็งนั้น โคลิฟอร์มแบ่งตามแหล่งที่มา จะแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. ฟีคัลโคลิฟอร์ม (Fecal coliform) อาศัยอยู่ในลำไส้ของคนและสัตว์เลือดอุ่น ถูกขับถ่ายออกมากับอุจจาระ เมื่อเกิดการระบาดของโรคระบบทางเดินอาหาร จะพบแบคทีเรียชี้แนะชนิดนี้ เช่น อี.โค.ไล (E.coli)
2. นันฟีคัลโคลิฟอร์ม (Non-fecal coliform) อาศัยอยู่ในดินและพืช มีอันตรายน้อยกว่าพวกแรก ใช้เป็นแบคทีเรียชี้แนะถึงความไม่สะอาดของน้ำได้ เช่น เอ. แอโรจิเนส (A. aerogenes)
น้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตซึ่งนอกเหนือจากมีการบริโภคน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติแล้ว เรายังบริโภคน้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำแข็งด้วย น้ำจากแหล่งต่าง ๆ ที่กล่าวถึงอาจมีเชื้อโรคที่ปะปนอยู่ซึ่งจะทราบได้จากการตรวจหาโคลิฟอร์ม น้ำและน้ำแข็งที่ตรวจพบโคลิฟอร์มอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีอาการท้องร่วง ท้องเสีย อาเจียน เป็นไข้ ปวดศีรษะ หรืออาจเสียชีวิตได้
วิดีทัศน์ เรื่อง โคลิฟอร์มคืออะไร
ในการตรวจสอบว่าในน้ำหรือน้ำแข็งมีโคลิฟอร์มแบคทีเรียหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ โดยใช้ชุดทดสอบโคลิฟอร์มในน้ำและน้ำแข็ง ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่เราตรวจสอบเองตามคำอธิบายได้ไม่ยาก
วิดีทัศน์ เรื่อง การทดสอบโคลิฟอร์มในน้ำ
คำถาม
- ถ้าทดสอบน้ำพบว่า ในน้ำ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร มีโคลิฟอร์มแบคทีเรียเพียง 1 ตัว
น้ำนั้นจะดื่มได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
เอกสารอ้างอิง
http://www.thairath.co.th/content/edu/216806
กลับไปที่เนื้อหา
นอกจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการทดสอบอาหารที่ใช้บริโภคว่ามีสารปนเปื้อนจนเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่แล้ว ยังมีการตรวจสอบอุปกรณ์ เครื่องใช้บางชนิดที่อาจมีอันตรายต่อผู้ใช้โดยผู้ใช้ไม่รู้ตัวด้วย เช่น เตาไมโครเวฟซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้กันอย่างแพร่หลาย
เตาไมโครเวฟใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าช่วงไมโครเวฟในการทำอาหาร แต่ปัจจุบันยังไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนในการใช้เตาไมโครเวฟจากผู้ผลิต การดูแลรักษาเพื่อให้ใช้งานได้ดี หรือวิธีป้องกันอันตรายจากคลื่นไมโครเวฟที่รั่วออกมาได้ เราจึงควรรู้สมบัติบางอย่างและข้อควรระวังในการใช้เตาไมโครเวฟ
ไมโครเวฟเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเช่นเดียวกับแสงสว่าง โดยอยู่ในช่วงของคลื่นวิทยุความถี่สูงวัตถุที่เป็นโลหะจะสะท้อนไมโครเวฟทั้งหมดที่ตกกระทบ ส่วนวัตถุที่ไม่ใช่โลหะ เช่น แก้ว หรือพลาสติก ไมโครเวฟจะเคลื่อนที่ผ่านไปได้บางส่วน วัตถุที่มีความชื้น เช่น ร่างกายคนเราหรืออาหารจะดูดกลืนพลังงานส่วนใหญ่ของไมโครเวฟไว้ได้
เตาไมโครเวฟมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เรียกว่า แมกนีตรอน (magnetron) ใช้ผลิตคลื่นไมโครเวฟที่มีความถี่ 2,450 MHz ปล่อยออกมาที่ช่องว่างภายในเตาที่มีผนังเป็นโลหะ คลื่นไมโครเวฟจะสะท้อนไปมาอยู่ภายในเตาและถูกดูดกลืนโดยอาหารหรือเครื่องดื่มที่เราใส่เข้าไป ไมโครเวฟที่ผ่านเข้าไปในอาหารหรือของเหลวจะทำให้โมเลกุลของน้ำเกิดการสั่นตามความถี่ของคลื่นไมโครเวฟ ทำให้เกิดการเสียดสีกันของโมเลกุล จึงเกิดความร้อนและทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เวลาที่ใช้ประกอบอาหารจึงสั้นกว่าการใช้เตาแบบธรรมดา ความร้อนจะเพิ่มขึ้นเร็วหรือช้าจะขึ้นกับปริมาณความชื้น รูปร่าง ปริมาตร และมวลของอาหารที่ใส่เข้าไป
ในกรณีที่เป็นเนื้อเยื่อของร่างกายถ้าได้รับไมโครเวฟปริมาณสูงจะทำให้เกิดความร้อนทำให้เป็นอันตราย เช่น เกิดการไหม้ของเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไป แต่ยังไม่มีการยืนยันที่แน่นอนถึงผลกระทบของการได้รับไมโครเวฟว่ามีปริมาณระดับใดที่จะส่งผลให้เกิดมะเร็ง ปกติพลังงานของคลื่นไมโครเวฟจะถูกดูดกลืนโดยน้ำในอาหาร แล้วเปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อนหมด จึงไม่มีคลื่นตกค้างหรือสะสมในอาหาร สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย แต่ถ้าตัวเตาไมโครเวฟเก่า มีรอยขูดขีด บุบหรือมีรอยชำรุดอาจมีคลื่นไมโครเวฟที่รั่วไหลออกมาขณะทำงานได้ หากสงสัยสามารถตรวจวัดได้ด้วยเครื่องมือวัดคลื่นไมโครเวฟที่กรมวิทยาศาสตร์ การแพทย์
วิดีทัศน์ เรื่อง การตรวจเตาไมโครเวฟ
คำถาม
- มาตรฐานในการตรวจเตาไมโครเวฟ มีคลื่นไมโครเวฟรั่วไหลออกมาได้ไม่เกินเท่าไร
กลับไปที่เนื้อหา
ในการป้องกันโรคติดต่อจากการมีความสัมพันธ์ทางเพศ โดยเฉพาะโรคติดต่อร้ายแรงเช่นโรคเอดส์ ตลอดจนการวางแผนครอบครัวจะได้รับการแนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัย ประเทศไทยผลิตถุงยางอนามัยจากยางพาราธรรมชาติหลายยี่ห้อวางจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ถุงยางอนามัยจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ คุณภาพของถุงยางอนามัยที่จะออกจำหน่ายในแต่ละรุ่นที่ผลิตต้องได้มาตรฐานอุตสาหกรรม คือ มอก.625 – 2548 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 122 ตอนที่ 121ง เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2548 ซึ่งระบุเกณฑ์มาตรฐานและกระบวนการทดสอบไว้อย่างชัดเจน
คำถาม
- สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับเกณฑ์มาตรฐานและวิธีการทดสอบถุงยางอนามัยจากหนังสือราชกิจจานุเบกษา
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดแสดงถุงยางอนามัยสมัยต่าง ๆ ไว้ในพิพิธภัณฑ์ถุงยางอนามัยและมีการตรวจสอบถุงยางอนามัยที่บริษัทต่าง ๆ มีการผลิตออกจำหน่ายในแต่ละงวดการผลิตว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ โดยวิธีการทดสอบจะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในมาตรฐาน มอก.625 – 2548
วิดีทัศน์ เรื่อง คุณภาพของถุงยางอนามัย
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังวิดีทัศน์
ตอน ไปกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กันเถอะ
ตอน หน้าที่ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ตอน สำนักคุณภาพแและความปลอดภัยอาหาร
ตอน ทดสอบอย่างไรว่าในอาหารมีบอแรกซ์
ตอน การทดสอบหายาฆ่าแมลงในผักผลไม้
ตอน ฟอร์มาลิน
ตอน การทดสอบฟอร์มาลินในอาหาร
ตอน โคลิฟอร์มคืออะไร
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนคุณครูอรวรรณ ศรีพล โรงเรียนหนองบัวแดงวิทยาผู้เขียนแผนการสอนคุณครูสุภาพร แสนแก้ว โรงเรียนหนองบัวแดงวิทยาผู้เขียนแผนการสอนนางสาวพัชรินทร์ พูลสวัสดิ์ โรงเรียนห้วยน้ำหอมวิทยาคารผู้เขียนแผนการสอนนางสาวสุภาภรณ์ พรสิงชัย โรงเรียนห้วยน้ำหอมวิทยาคารผู้เขียนแผนการสอนนางทิพวรรณ ยาวิลาศ โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคมผู้เขียนแผนการสอนนางลาวัณย์ แหวนเพชร โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคมผู้เขียนแผนการสอนนางทิพวรรณ ยาวิลาศ โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคมผู้เขียนแผนการสอนนางลาวัณย์ แหวนเพชร
-
คำที่เกี่ยวข้อง