ชีววิทยาของเซลล์ (Cell Biology)
โดย :
อติโรจน์ ปพัฒน์เปรมสิริ
เมื่อ :
วันศุกร์, 11 สิงหาคม 2560
Hits
484032
เซลล์และองค์ประกอบของเซลล์
(Cell and cell components)
เซลล์เป็นหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตที่สามารถแสดงคุณสมบัติและความเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างสมบูรณ์
การค้นพบและทฤษฎีของเซลล์
- ปี ค.ศ.1655 ได้มีการประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ชนิดเลนส์ขึ้นมา
- เมื่อมีการส่องดูชิ้นไม้คอร์คที่ฝานบาง
- พบโครงสร้างที่มีรูปร่างเป็นช่องเหลี่ยมเล็ก ๆ จึงเรียกว่า เซลล์ (Cell) หมายถึง ห้องเล็ก ๆ
- ซึ่งโครงสร้างที่พบนี้เป็นเพียงผนังเซลล์ของพืชที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากที่เซลล์ตายแล้ว
ทฤษฎีเซลล์ (Cell Theory)
Schleiden และ Schwan ได้ร่วมกันตั้งทฤษฎีเซลล์ (Cell Theory) มีสาระสำคัญ คือ “สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ประกอบด้วย เซลล์ และผลิตภัณฑ์ของเซลล์” (All animal and plant are composed of cell and products) Rudolf Virchow ได้ศึกษาการเจริญเติบโตของเซลล์และการเพิ่มจำนวนเซลล์จากเซลล์ที่เจริญเติบโต จึงเพิ่มเติมทฤษฎีเซลล์ว่า “เซลล์ทุกชนิดย่อมมีกำเนิดมาจากเซลล์ที่มีอยู่ก่อน”
ประเภทของเซลล์แบ่งได้เป็น 2 ชนิด
ลักษณะ Prokaryote |
ลักษณะ Eukaryote |
1.ไม่มีออร์แกเนลล์ชนิดที่มีเยื่อหุ้ม,ไม่มี Centrioles และ Microtubules2. ไรโบโซมขนาดเล็ก (70 S)*3. ผนังเซลล์ (Cell Wall) ประกอบด้วยสารเคมีเรียก Peptidoglycan, ไม่มี Cellylose4. แฟลเจลลาประกอบด้วยโปรตีน Flagellin5. การแบ่งเซลล์เป็นแบบโดยตรง, ไม่มี Spindle6.การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเกิดน้อยมากและไม่มีการแบ่ง Meiosis7.ส่วนใหญ่หายใจแบบไม่ใช้ O2 |
1. มีออร์แกเนลล์ชนิดที่มีเยื่อหุ้มและมี Centrioles,Microtubules2. ไรโบโซมขนาดใหญ่ (80 S)*3. ไม่มีผนังเซลล์ยกเว้นในเซลล์พืชและเห็ด รา โดยผนังเซลล์ประกอบด้วยสาร Cellulose4. แฟลเจลลาและซีเลีย มีโปรตีน Tubulin เป็นองค์ประกอบ (9+2)5. มีการแบ่งเซลล์แบบ Mitosis และมี Spindle6.การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ อาศัยการแบ่ง Meiosis และมีการปฏิสนธิ7. ส่วนใหญ่หายใจแบบใช้ O2 |
โครงสร้างของเซลล์ (Structure of Cell)
เยื่อหุ้มเซลล์ (Cell Membrane)
-
เป็นส่วนที่ห่อหุ้มส่วนต่าง ๆ ของเซลล์ไว้ทั้งหมด
-
มีความหนาประมาณ 75-100 อังสตรอม
-
ประกอบด้วย ไขมัน กลุ่มฟอสโฟลิปิด กับ โปรตีน
แสดงโครงสร้างฟอสโฟลิปิด (Phospholipid) ของเยื่อหุ้มเซลล์
http://bio1151.nicerweb.com/Locked/media/ch05/phospholipid.html
โครงสร้างของเยื้อหุ้มเซลล์
-
The Davson-Daniell Model
-
Fluid mosaic model (ยอมรับในปัจจุบัน)
โครงสร้างเยื้อหุ้มเซลล์แบบ Fluid Mosaic Model
-
Singer และ Nicolson ได้เสนอ Fluid Mosaic Model
-
มีการจัดเรียงตัวของไขมัน 2 ชั้น (Lipid Bilayer) โดยโมเลกุลของไขมันหันเอาด้านห่าง
-
กรดไขมันชนิดไม่มีประจุ (Non-Polar) ไม่ชอบนํ้า (Hydrophobic) จะหันเข้าหากัน
-
หัวเป็นกลีเซอรอล มีประจุ (Polar) ชอบนํ้า (Hydrophilic) จะหันเข้าสู่ด้านนอกและในเซลล์
แสดงโครงสร้างของเยื่อหุ้มเซลล์ซึ่งประกอบด้วยฟอสโฟลิปิดและโปรตีน
*ไกลโคลิปิด (Glycolipid) หรือ ไกลโคโปรตีน (Glycoprotein) ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยความจำให้กับเซลล์ โดยเป็นตัวรับที่มีความจำเพาะต่อสารเคมีบางชนิด
* เยื่อหุ้มเซลล์มีรูขนาดเล็กที่อนุภาคขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 อังสตรอม แพร่ผ่านได้ เยื่อเซลล์จึงมีคุณสมบัติเป็นเยื่อเลือกผ่าน (Semipermeable Membrane) ทำให้สาร บางชนิดผ่านเข้าออกได้ เกิดการแลกเปลี่ยนสารระหว่างเซลล์กับสิ่งแวดล้อมและการกระจายของประจุไฟฟ้าระหว่างภายในกับภายนอกเซลล์
โปรตีนบริเวณเยื่อหุ้มเซลล์
-
โปรตีนภายใน (Integral Protein)
-
เป็นโปรตีนที่โมเลกุลแทรกอยู่ในชั้นของไขมัน
-
ส่วนที่ไม่มีประจุ (Non Polar) อยู่ด้านใน ส่วนที่มีประจุ (Polar) ทะลุออกมาด้านนอก
-
เป็นโปรตีนตัวพา (Carier Protein) ทำให้ นํ้า ไอออน (Ions) หรือสารที่มีอนุภาคขนาดใหญ่เข้าสู่เซลล์ได้
-
-
โปรตีนภายนอก (Peripheral Protein)
-
เป็นโปรตีนที่วางตัวอยู่นอกชั้นไขมัน ส่วนใหญ่อยู่ด้านไซโตพลาสซึม
-
ทำหน้าที่แตกต่างกัน ได้แก่ ลำเลียงสาร (Transport Protein) เอนไซม์ (Enzyme) โปรตีนตัวรับ (Receptor Protein) เชื่อมต่อระหว่างเซลล์ (Intercellular Junctions) การจำกันได้ของเซลล์ (Cell-Cell recognition) ยึดโครงสร้างของเซลล์และของเหลวภายในเซลล์ (Attachment to the cytoskeleton and extracellular matrix (ECM))
-
สารเคลือบเซลล์ (Cell Coat)
-
เซลล์สัตว์พบไกลโคโปรตีน ถ้าถูกทำลายจะทำให้เซลล์จำกันไม่ได้มีแต่การเจริญ (Growth) แต่ไม่เปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่เฉพาะ (Differentiation) เช่น เซลล์มะเร็ง
-
เซลล์พืชอาศัยผนังเซลล์ (Cell Wall) โดยมี cellulose เป็นแกนกลางและมี Lignin Cutin Pectin และ Suberin อยู่ด้านนอก มีช่องติดต่อระหว่างเซลล์ คือ พลาสโมเดสมาตา (Plasmodesmata)
-
ผนังเซลล์ของสาหร่าย ประกอบด้วย Pectin เป็นส่วนใหญ่ กับ Cellulose
-
ผนังเซลล์ของฟังไจ เป็น Chitin
-
ผนังเซลล์ของแบคทีเรียคือ Peptidoglycan ทำให้แบคทีเรียสามารถทนต่อสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดี
หน้าที่ของเยื่อเซลล์ (Function of Cell Membrane)
-
เยื่อเซลล์ทำหน้าที่เป็นเสมือนรั้วบ้าน กั้นเซลล์ออกจากกัน และสิ่งแวดล้อม
-
ควบคุมการเคลื่อนย้ายสารผ่านเข้าออกเซลล์
-
รักษาสมดุลของสภาพแวดล้อมภายในเซลล์
-
มีโปรตีนตัวรับ (Receptor Protein) เป็นตัวรับสาร ทำให้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน
ไซโตพลาสซึม (Cytoplasm)
-
ประกอบด้วย ไซโตซอล (Cytosal หรือ Cytoplasmic Matrix) เป็นของเหลวที่ประกอบด้วย สารอินทรีย์ และ สารอนินทรีย์ รวมถึงสารแขวนลอยต่าง ๆ มีลักษณะคล้ายวุ้น
-
เป็นแหล่งของปฏิกิริยาเคมี
-
มีออร์แกเนลล์ (Organelles) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ทำหน้าที่เป็นอวัยวะของเซลล์
-
นอกจากนี้ยังมีสิ่งไร้ชีวิต (Inclusion Body) ซึ่งเป็นสารที่เซลล์สร้างและสะสมไว้ในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะพบได้เฉพาะเซลล์บางชนิด และบางเวลาเท่านั้น เช่น สารที่มีโครงสร้างเป็นเม็ดหรือแกรนูลเพื่อการส่งออกไปนอกเซลล์ เช่น สารคัดหลั่ง สารสื่อประสาทพวกฮอร์โมน หยดไขมัน (Lipid Droplet) ไกลโคเจน (Glycogen) และสารสีพวกเมลานิน (Melanin) ซึ่งทำให้เกิดสีผิวเข้ม เป็นต้น
กลับไปที่เนื้อหา
ออร์แกเนลล์ (Organelles) มีโครงสร้าง (Structure) และหน้าที่ (Function) ที่แน่นอน อยู่ในไซโตซอล
แสดงรูปร่างของออร์แกเนลล์ต่างๆที่สามารถพบได้ภายในเซลล์ยูคาริโอต
http://namrataheda.blogspot.com/2013/01/cell-organelles-dicoverers.html
-
ร่างแหเอนโดพลาสซึม (Endoplasmic Reticulum, ER)
มีลักษณะเป็นท่อกลวงทรงกระบอก หรือ แบน เรียงตัวเป็นร่างแห เป็นเยื่อชั้นเดียว มีองค์ประกอบเช่นเดียวกับเยื่อหุ้มเซลล์ มี 2 ชนิด คือ ชนิดหยาบและชนิดเรียบ
1.1 ร่างแหเอนโดพลาสซึมชนิดหยาบ (Rough Endoplasmic Reticulum, RER)
- เป็นท่อแบนเรียงทับซ้อนกันเป็นชั้น
- มีไรโบโซม (Ribosome) เกาะที่ผิวด้านนอกทำให้มีผิวขรุขระ
- ทำหน้าที่ลำเลียงโปรตีนที่สร้างจากไรโบโซม เพื่อส่งออกไปใช้นอกเซลล์ เช่น อิมมูโนโกลบุลิน (Immunoglobulin) เอนไซม์ (Enzyme) และฮอร์โมน (Hormone)
- ทำงานร่วมกับกอลจิ คอมเพล็กซ์ (Golgi Complex) ทำหน้าที่สะสมให้มีความเข้มข้นก่อนส่งออก
1.2 ร่างแหเอนโดพลาสซึมชนิดเรียบ (Smooth Endoplasmic Reticulum, SER)
- มีผิวเรียบเป็นท่อทรงกระบอกโค้งงอ
- ทำหน้าที่สังเคราะห์และหลั่งสาร สเตอรอยด์ฮอร์โมน จึงพบมากในเซลล์ต่อมหมวกไต เซลล์เลย์ดิกในอัณฑะ และเซลล์ในรังไข่
- สังเคราะห์โปรตีน กำจัดสารพิษที่เซลล์ตับ
- เผาผลาญโคเลสเตอรอล และไกลโคเจน
- ในเซลล์กล้ามเนื้อ (Sarcoplasmic Reticulum) ทำหน้าที่ส่งถ่ายแคลเซียม ซึ่งควบคุมการทำงานของเซลล์กล้ามเนื้อ
-
ถุงกอลจิ คอมเพล็กซ์ (Golgi complex)
- เป็นออร์แกเนลล์ที่ติดต่อกับ ER มีลักษณะเป็นถุงแบนที่มีเยื่อ 2 ชั้น เรียกว่า Cisterna
- บรรจุโปรตีนที่รับมาจาก RER เพื่อสังเคราะห์เป็นสารหลายชนิดที่พร้อมจะใช้งานได้ใน Vacuole Sac
- หน้าที่สร้าง ไลโซโซม อะโครโซม (Acrosome) สร้างเมือกในเซลล์พืชและเซลล์สัตว์ สร้างแผ่นเซลล์ (Cell Plate) ในการแบ่งเซลล์ของพืช
-
ไรโบโซม (Ribosome)
- พบในไซโตพลาสซึมของเซลล์ทุกชนิด และยังพบในไมโตคอนเดรีย และคลอโรพลาสต์
- เป็นออร์แกเนลล์ที่มีขนาดเล็กที่สุด คือ 0.015-0.025 ไมครอน
- ประกอบด้วย โปรตีน และ rRNA
- ไม่มีเยื่อหุ้ม มี 2 หน่วยย่อย (2 Sub Unit)
- ไรโบโซม เกาะติดกับสาร mRNA (Free Poly Ribosome) ทำหน้าที่สร้างโปรตีนเพื่อใช้เป็นเอนไซม์ในเซลล์
- ไรโบโซม (Poly Ribosome) เกาะติดกับผนังด้านนอกของ RER ทำหน้าที่สังเคราะห์โปรตีนเพื่อส่งออกนอกเซลล์
-
ไมโตคอนเดรีย (Mitochondria)
- พบในเซลล์ยูคาริโอตทุกชนิด
- มีรูปร่างเป็นแท่งยาว กลมหรือรี ยาวประมาณ 2-6 ไมโครเมตร
- มีเยื่อ 2 ชั้น ชั้นนอกเรียบ ชั้นในพับทบเป็นท่อเรียกว่า คริสตี้ (Cristae) ด้านในเป็นของเหลวเรียก Matrix
- เยื่อชั้นนอกทำหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างฟอสโฟลิปิด เยื่อชั้นในเป็นที่เกาะของเอนไซม์ที่
- ทำหน้าที่ผลิตสารพันธะพลังงานสูง คือ ATP (Adenosine Triphosphate)
- สามารถแบ่งตัวได้เนื่องจากมี DNA และ ไรโบโซม และมีวงจรชีวิตอยู่ได้ 10-12 วัน
-
พลาสติด (Plastid)
- พบเฉพาะในเซลล์พืชและสาหร่าย มีรูปร่างเป็นแท่งกลมรี มีเยื่อ 2 ชั้น มี DNA จึงแบ่งตัวได้
- แบ่งออกเป็น 3 ชนิด
คลอโรพลาสต์ (Chloroplast) โครโมพลาสต์ (Chromoplast) และลิวโคพลาสต์ (Leucoplast)
-
คลอโรพลาสต์ (Chloroplast)
-
มีเยื่อ 2 ชั้น
-
ทำหน้าที่จับพลังงานแสง เพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงในปฏิกิริยาการใช้แสง (Light Reaction)
-
คลอโมพลาสต์ (Chromoplast)
-
เป็นพลาสติดที่ไม่มีคลอโรฟิล แต่มีสารชนิดอื่น เช่น คาโรตีนอยด์ (Carotenoid) ทำให้เกิดสีส้ม ไฟโคบิลิน (Phycobilin)
-
จับพลังงานแสงได้ ในช่วงคลื่นแสงต่าง ๆ ที่คลอโรฟิลไม่สามารถจับได้ คลอโมพลาสต์จึงช่วยคลอโรพลาสต์ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง
-
ลิวโคพลาสต์ (Leucoplast)
-
ทำหน้าที่เก็บสะสมอาหารพวกคาร์โบไฮเดรต พบมากในส่วนที่สะสมอาหาร
-
ไลโซโซม (Lysosome)
- มีเยื่อชั้นเดียว
- ภายในจะบรรจุเอนไซม์ซึ่งย่อยสลายด้วยนํ้า (Hydrolytic Enzyme) ชนิดต่าง ๆ มากกว่า 40 ชนิด
- สร้างมาจากกอลจิ คอมเพล็กซ์ แบ่งเป็น 4 ชนิด คือ
1) Primary (Vergin) Lysosome เป็นไลโซโซมแรกสร้าง มีหน้าที่เกี่ยวกับการย่อยอาหารภายในเซลล์
2) Secondary Lysosome หรือ Phagosome เป็นไลโซโซมที่ทำลายสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกที่เข้าสู่เซลล์
3) Residual Body เป็นไลโซโซมที่บรรจุกากที่เหลือจากการย่อย และดูดซึมกลับของเซลล์ ซึ่งรอการกำจัดออกทางเยื่อเซลล์โดยกระบวนการ Exocytosis
4) Autophagic Vacuole หรือ Auto phagosome เป็นไลโซโซมที่ทำลายองค์ประกอบหรือออร์แกเนลล์ของเซลล์ที่หมดอายุ
หรือมีพยาธิสภาพเป็นการย่อยส่วนต่าง ๆ ของเซลล์ตัวเอง เรียกว่า Autolysis
-
เพอร์รอกซิโซม หรือไมโครบอดี (Peroxisome or Micro Body)
- มีเยื่อหุ้มชั้นเดียว
- เก็บเอนไซม์พวก Catalase Dehydrogenase พบในเซลล์สัตว์เช่น เซลล์ตับ เซลล์ท่อไต และเซลล์พืช
- หน้าที่ทำลายสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และ ออกซิเจนที่มากเกินพอในเซลล์
-
เซนตริโอล (Centriole)
- เป็นออร์แกเนลล์ที่พบในเซลล์สัตว์ แต่ไม่พบในเซลล์พืช
- มีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกไม่มีเยื่อหุ้ม 2 อัน วางตัวในแนวตั้งฉากซึ่งกันและกัน
- ทำหน้าที่สร้างเส้นใยสปินเดิล (Spindle Fiber) เพื่อยึดติดกับโครโมโซม เพื่อดึงโครโมโซมไปอยู่คนละขั้วของเซลล์
- เซลล์พืชไม่มีเซนตริโอล จะมีโพลาร์ แคพ (Polar Cap) เพื่อทำหน้าที่สร้างเส้นใยสปินเดิลในเซลล์
-
แวคิวโอล (Vacuole)
1) Sap Vacuole เป็นแวคิวโอลในเซลล์พืช สะสมสารต่าง ๆ ที่พืชสร้างขึ้นในเซลล์ที่เกิดใหม่ ๆ
2) Contractile Vacuole พบในพวกโปรโตซัวนํ้าจืด เช่น อะมีบา พารามีเซียม ทำหน้าที่เก็บและขับถ่ายของเหลวส่วนเกินออกจากเซลล์
3) Food Vacuole พบในโปรโตซัวบางชนิดและเซลล์สัตว์ชั้นสูง ที่กินสิ่งแปลกปลอม
กลับไปที่เนื้อหา
โครงสร้างหลักของเซลล์ (Cell Cytoskeleton)
-
ไมโครทูบูล (Microtubule)
- ทำหน้าที่รักษารูปทรงของเซลล์ ช่วยในการขนส่งภายในเซลล์ โดยการยืดหยุ่นของโปรตีน
- ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของไซโตพลาสซึม (Cytoplasmic Streaming หรือ Cyclosis)
- ช่วยในการเคลื่อนไหวของออร์แกเนลล์
- เป็นส่วนประกอบของเซนตริโอล ซีเลีย
-
ไมโครฟิลาเมนต์ (Microfilament)
- ประกอบด้วยโปรตีน แอคติน (Actin) ทำงานร่วมกับโปรตีนมัยโอซิน (Myosin Filament)
- ช่วยในการเคลื่อนย้ายออร์แกเนลล์ การหดตัวและการแบ่งเซลล์
-
อินเตอร์มีเดียทฟิลาเมนต์ (Intermediate Filament)
-โครงสร้างเสริมเซลล์ มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามชนิดของเซลล์
นิวเคลียส (Nucleus)
- นิวเคลียสเป็นออร์แกเนลล์ขนาดใหญ่ รูปร่างกลมรี เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-10 ไมโครเมตร
ประกอบด้วย
-
เยื่อหุ้มนิวเคลียส (Nuclear Membrane) เป็น Unit Membrane 2 ชั้น
-
นิวคลีโอพลาสซึม (Nucleoplasm)
-
นิวคลีโอลัส (Nucleolus) เป็นโมเลกุลของ DNA ที่ขดตัวเป็นก้อน ฝังตัวอยู่ในนิวคลีโอพลาสซึม สามารถเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ภายในนิวเคลียส สามารถรวมตัวและแบ่งตัวได้ ทำหน้าที่สังเคราะห์ RNA
การลำเลียงสารเข้าและออกจากเซลล์
เซลล์ที่มีชีวิตจะลำเลียงสารเข้าออกเซลล์ตลอดเวลา โดยการลำเลียงสารเกิดได้ 2 แบบ คือ
-
ลำเลียงโดยไม่ใช้พลังงาน (Passive Transportation)
-
การลำเลียงโดยใช้พลังงาน (Active Transportation)
(การนำสารเข้าออกเซลล์อาจทำโดยทะลุผ่านเยื่อเซลล์ หรือใช้วิธีการสร้างถุงหุ้มสาร (Vesicle))
แสดงรูปแบบการลำเลียงสารแบบ Passive transport และ Active transport
http://www.chegg.com/homework-help/questions-and-answers/reviewing-passive-active-transport-passive-active-transport-used-move-molecules-cells-show-q12399141
การลำเลียงโดยไม่ใช้พลังงาน (Passive Transportation)
การแพร่ (Diffusion)
เคลื่อนที่ของอนุภาคของสารจากบริเวณที่มีความเข้มข้นสูงไปยังบริเวณที่มีความเข้มข้นตํ่า เพื่อการกระจายอนุภาคของสารอย่างสมํ่าเสมอ การแพร่จะหยุดและที่สภาวะสมดุลการแพร่อนุภาคของสารยังคงเคลื่อนที่ด้วยความเข้มข้นที่เฉลี่ยเท่ากันทุกบริเวณ
การแพร่มีหลายวิธี ได้แก่
-
การแพร่ธรรมดา (Simple Diffusion)
-
เป็นการแพร่ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์โดยละลายตัวในเยื่อหุ้มเซลล์ และผ่านทางรูหรือช่องของเยื่อหุ้มเซลล์
-
สารชนิดที่ละลายในไขมัน เช่น อัลกอฮอล์ ฮอร์โมนสเตอรอยด์ จะแพร่ผ่านเยื่อเซลล์ได้ดี
-
รูหรือช่องว่างของเซลล์เกิดจากโมเลกุลของโปรตีนที่มีประจุที่แทรกอยู่ในชั้นของไขมัน เป็นช่องให้โมเลกุลของนํ้าและสารโมเลกุลขนาดเล็กผ่านเข้าออกได้ สารที่แพร่ผ่านทางช่องนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกไม่ละลายในไขมัน
-
สารที่มีประจุลบจะแพร่ผ่านได้ดีเพราะโปรตีนมีประจุบวก
-
สารที่ไม่มีประจุ แต่มีขนาดเล็ก ก็จะแพร่ผ่านทางรูหรือช่องเยื่อเซลล์ได้ดี
-
การแพร่โดยอาศัยตัวพา (Facilitated Diffusion)
-
สารขนาดใหญ่บางชนิดไม่สามารถผ่านช่องของเยื่อหุ้มเซลล์ เช่น กรดอะมิโน นํ้าตาล กลีเซอรอล
-
จะแพร่ผ่านเข้าสู่เซลล์โดยอาศัยโปรตีนตัวพา (Carier Protein) ในชั้นไขมัน
-
การแพร่แบบอาศัยตัวพาจะมีอัตราการแพร่เร็วกว่าการแพร่ธรรมดาหลายเท่าตัว
ออสโมซิส (Osmosis)
-
การแพร่ของนํ้าผ่านเยื่อกั้น (Membrane) โดยมีทิศทางการแพร่จากสารละลายที่มีความเข้มข้นน้อยไปยังด้านที่มีความเข้มข้นมาก
-
นํ้าแพร่ผ่านถุงจะทำให้เกิดแรงดันรอบ ๆ ถุง ทำให้ถุงเต่ง (Turgid) เรียกแรงดันเต่ง (Turgor Pressure)
สารละลายกับการออสโมซิส
แสดงผลของสารละลายกับการออสโมซิส โดยสารละลายไฮเพอร์โทนิคมีผลให้เซลล์เหี่ยว
สารละลายไอโซนิคทำให้เซลล์มีสภาพปกติ สารละลายไฮโพโทนิคทำให้เซลล์เต่งจนแตก
https://en.wikipedia.org/wiki/Osmosis
-
Hypotonic Solution ภายนอกเซลล์มีความเข้มข้นต่ำกว่าภายในเซลล์
-
นํ้าจากสารละลายจะแพร่เข้าสู่เซลล์ทำให้เซลล์เต่ง
-
เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า พลาสมอพไทซิส (Plasmoptysis)
-
ถ้าเป็นเซลล์พืช เซลล์จะไม่แตก แต่ในเซลล์สัตว์จะทำให้บวมและแตกได้
-
Hypertonic Solution สารละลายภายนอกมีความเข้มข้นสูงกว่าภายในเซลล์
-
นํ้าจะแพร่ออกจากเซลล์ทำให้เซลล์เหี่ยว เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า พลาสโมลิซิส (Plasmolysis)
-
เห็นได้ชัดเจนในเซลล์สัตว์
-
Isotonic Solution สารละลายมีความเข้มข้นเท่ากับภายในเซลล์
Dialysis เป็นเทคนิคที่ใช้ในการแยกอนุภาคขนาดเล็กซึ่งมีขนาดแตกต่างกันออกจากกัน โดยการแพร่ (diffusion) ผ่านเยื่อ (permeable membrane) ตัวอย่างเช่น ในสารละลายที่มีทั้งโปรตีนและเกลือ จะสามารถแยกเกลือออกจากโปรตีนได้โดยให้สารละลายแพร่ผ่านเยื่อที่ยอมให้อนุภาคของเกลือผ่านได้เท่านั้น กระบวนการดังกล่าวเป็นลักษณธที่คล้ายกับการแพร่และการออสโมซิส
การลำเลียงโดยใช้พลังงาน (Active Transportation)
-
สารจากบริเวณที่มีความเข้มข้นของสารตํ่าเคลื่อนที่ไปสู่บริเวณที่มีความเข้มข้นของสารสูงโดยใช้พลังงาน ATP
-
เช่น การลำเลียงสาร Na+ และ K+ ในการเกิดกระแสประสาท
การลำเลียงสารโดยการสร้างถุง (Vesicular or Bulk Transportation)
แสดงกระบวนการลำเลียงสารออกนอกเซลล์ (Exocytosis) และ การลำเลียงสารเข้าสู่เซลล์ (Endocytosis)
http://lifeofplant.blogspot.com/2011/04/endocytosis-and-exocytosis.html
-
Exocytosis เป็นการลำเลียงสารโมเลกุลใหญ่ออกนอก เช่น เซลล์เยื่อบุผนังกระเพาะอาหารจะมีการคัดหลั่ง (Secretion) ของสารพวกเอนไซม์
-
Endocytosis เป็นการลำเลียงสารโมเลกุลใหญ่เข้าสู่เซลล์ โดยใช้ส่วนของเยื่อเซลล์โอบล้อมสารที่จะนำเข้าสู่เซลล์ให้เป็นถุงแล้วกลืนเข้าไปในไซโตพลาสซึม
1) Phagocytosis เป็นการกลืนสารที่เป็นของแข็งขนาดใหญ่ โดยการไหลของไซโตพลาสซึม ทำให้เยื่อเซลล์ยื่นออกไปเป็นขาเทียม (Pseudopodium) หุ้มล้อมสาร
2) Pinocytosis เป็นการกลืนสารขนาดใหญ่ที่อยู่ในรูปของสารละลาย โดยสร้างหลุมหรือถํ้าที่เยื่อเซลล์ โดยเยื่อเซลล์เว้าเข้าไปในไซโตพลาสซึม เมื่อสารตกลงไปแล้วเชื่อมปากหลุมให้ปิด เกิดเป็น Vesicle อยู่ในไซโตพลาสซึม
3) Receptor-Mediated Endocytosis เป็นการนำสารเข้าสู่เซลล์ โดยอาศัยโปรตีนตัวรับ (Receptor Protein) บนเยื่อเซลล์ทำหน้าที่จับกับสารก่อนที่เยื่อเซลล์จะเว้าเข้าไปในไซโตพลาสซึม แล้วสร้างเป็น Vesicle
แหล่งที่มา
จิรัสย์ เจนพาณิชย์. (2552). BIOLOGY for high school students (พิมพ์ครั้งที่ 19). กรุงเทพฯ:
บูมคัลเลอร์ไลน์.
สมาน แก้วไวยุทธ. (2551). 100 จุดเน้นชีววิทยา ม.4-5-6 (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ:
ไฮเอ็ดพับลิชชิ่ง.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2558). หนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา เล่ม 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6 (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ:
องค์การค้าของ สกสค.ลาดพร้าว.
Reece, J. B and Campbell, N. A. (2011). Campbell biology (10th). Boston, Benjamin Cummings: Pearson.
กลับไปที่เนื้อหา
คำสำคัญ
ชีววิทยา,เซลล์,Cell,Biology,การแบ่งเซลล์,โพรโทพลาซึม,นิวเคลียส,Nucleus,โครงสร้างของสิ่งมีชีวิต
ประเภท
Text
ลิขสิทธิ์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
ผู้แต่ง หรือ เจ้าของผลงาน
อติโรจน์ ปพัฒน์เปรมสิริ
วิชา
ชีววิทยา
ระดับชั้น
ม.4, ม.5, ม.6
กลุ่มเป้าหมาย
ครู, นักเรียน
-
7450 ชีววิทยาของเซลล์ (Cell Biology) /lesson-biology/item/7450-2017-08-11-07-37-33เพิ่มในรายการโปรด
คุณอาจจะสนใจ
Hits
(76640)

ให้คะแนน
การค้นพบกัมมันตภาพรังสี ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ในปี ค.ศ. 1896 Henri Becquerel ค้นพบว่า ...
Hits
(143322)

ให้คะแนน
ความหลากหลายทางชีวภาพสำคัญอย่างไร ความหลากหลายทางชีวภาพมีอยู่ระหว่าง 1. สายพันธุ์ 2. ชนิดพันธุ์ 3. ...
Hits
(19602)

ให้คะแนน
นักวิจัยเผยฉลามบางชนิดใช้ “แผนที่จิตใจ” นำทางกลับบ้าน ซึ่งช่วยให้ปลายักษ์ใหญ่ “ปักหมุด” ...