แหล่งเรียนรู้ศูนย์วิจัยยางพารา
ศูนย์วิจัยยางสงขลา จัดตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2508 โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Program UNDP) ชื่อเดิม ศูนย์วิจัยการยาง เป็นหน่วยงานอยู่ในความรับผิดชอบของกองการยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อกรมวิชาการเกษตรได้มีการแบ่งส่วนราชการใหม่ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์วิจัยยางสงขลา เมื่อ พ.ศ. 2527
ศูนย์วิจัยยางสงขลา มีหน้าที่ความรับผิดชอบด้านค้นคว้าวิจัย และพัฒนายาง สำหรับท้องถิ่นในภาคใต้ ในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวกับยางพารา ด้านพืชศาสตร์ ด้านอารักขาพืช ด้านอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยาง ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยียาง บริการทดสอบคุณภาพยาง ควบคุมยางตามพระราชบัญญัติ
กลับไปที่เนื้อหา
สาระ มาตรฐานและตัวชี้วัดชั้นปี ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1 – ม.3 ) และช่วงชั้นที่ 4 (ม. 4 – ม.6)
สาระที่ 1 สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต
มาตรฐาน ว 1. 1 เข้าใจหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ของโครงสร้าง และหน้าที่ของระบบต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตที่ทำงานสัมพันธ์กัน มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตของตนเองและดูแลสิ่งมีชีวิต
ตัวชี้วัด
(ม.1) - สังเกตและอธิบายโครงสร้างที่เกี่ยวกับระบบลำเลียงน้ำและอาหารของพืช
- อธิบายกระบวนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของพืชดอกและการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศของพืช โดยใช้ส่วนต่างๆ ของพืชเพื่อช่วยในการขยายพันธุ์
มาตรฐาน ว 1.2 เข้าใจกระบวนการและความสำคัญของการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่มีผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด
(ม.3) - อธิบายความสำคัญของสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอ และกระบวนการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม
มาตรฐาน ว 2.2 เข้าใจความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในระดับท้องถิ่น ประเทศ และโลกนำความรู้ไปใช้ในในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ตัวชี้วัด
( ม.3 ) - อภิปรายการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
- วิเคราะห์และอธิบายการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สาระที่ 3 สารและสมบัติของสาร
มาตรฐาน ว 3. 1 เข้าใจสมบัติของสาร ความสัมพันธ์ระหว่างสมบัติของสารกับโครงสร้างและแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาค มีกระบวนการสืบเสาะ หาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ นำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด
( ม.1 ) - ตรวจสอบค่า pH ของสารละลายและนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
มาตรฐาน ว 3.2 เข้าใจหลักการและธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงสถานะของสาร การเกิดสารละลาย การเกิดปฏิกิริยา มีกระบวนการสืบเสาะ หาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด
( ม.2 ) - ทดลอง อธิบายและเขียนสมการเคมีของปฏิกิริยาของสารต่าง ๆ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
- สืบค้นข้อมูลและอภิปรายผลของสารเคมี ปฏิกิริยาเคมีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
สาระที่ 5 พลังงาน
มาตรฐาน ว 5. 1 เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานกับการดำรงชีวิต การเปลี่ยนรูปพลังงาน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสารและพลังงาน ผลของการใช้พลังงานต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม มีกระบวน การสืบเสาะหาความรู้ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด
( ม. 1 ) - สังเกตและอธิบายการถ่ายโอนความร้อน และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
- อธิบายการดูดกลืน การคายความร้อน โดยการแผ่รังสี และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
สาระที่ 6 กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก
มาตรฐาน ว 6. 1 เข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนผิวโลกและภายในโลก ความสัมพันธ์ของกระบวนการต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ภูมิประเทศ และสัณฐานของโลกมีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด
( ม.2 ) - สำรวจ ทดลองและอธิบายลักษณะของชั้นหน้าตัดดิน สมบัติของดิน และกระบวนการเกิดดิน
- สำรวจ วิเคราะห์และอธิบายการใช้ประโยชน์และการปรับปรุงคุณภาพของดิน
จุดประสงค์การเรียนรู้
- อธิบายวิธีการและบอกผลการถ่ายทอดพันธุกรรมของการขยายพันธุ์แบบอาศัยเพศและไม่อาศัย
เพศของยางพาราได้
- บอกระบบการลำเลียงอาหารของยางพาราได้
- บอกการทดสอบสมบัติของยางพาราบางประการได้
- อธิบายผลของสารเคมีเช่นกรดฟอร์มิกและแอมโมเนียมไฮดรอกไซด์ที่มีต่อน้ำยางพาราได้
- อธิบายกระบวนการในการใช้ความร้อนจากแหล่งต่าง ๆ ไปอบแห้งยางพารา
- อธิบายสมบัติของดินและการปรับปรุงคุณภาพดินให้เหมาะสมต่อการปลูกยางพารา
- อภิปราย วิเคราะห์และอธิบายการใช้ประโยชน์จากยางพารา
กลับไปที่เนื้อหา
ศูนย์วิจัยยางสงขลาสังกัดกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งอยู่เลขที่ 9 ถนนกาญจนวนิช ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พื้นที่ส่วนมากเป็นที่ราบเชิงเขาทางทิศตะวันตกของเขาคอหงส์ เนื้อที่ทั้งหมดมีประมาณ 800 ไร่
กลับไปที่เนื้อหา
เริ่มต้นการเดินทางจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ไปตามทางหลวงหมายเลข 4135 เป็นระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ก็เลี้ยวเข้าทางหลวงสาย 430 เดินทางไปอีก 6 กิโลเมตร เข้าถนนกาญจนวนิช เดินทางต่อไปไม่ไกลนัก จะเห็นศูนย์วิจัยยางสงขลาอยู่ทางขวามือ
วิดีทัศน์ เรื่อง ยางพาราสำคัญอย่างไร
กลับไปที่เนื้อหา
ศูนย์วิจัยยางสงขลา เดิมชื่อ ศูนย์วิจัยการยาง ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ 18 มกราคม 2508 โดยได้รับความร่วมมือจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nation Development Program UNDP) เป็นหน่วยงานอยู่ในความรับผิดชอบของกองการยาง กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อกรมวิชาการเกษตรได้มีการแบ่งส่วนราชการใหม่ ศูนย์วิจัยการยางจึงเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์วิจัยยางสงขลา เมื่อ พ.ศ. 2527 ศูนย์วิจัยยางสงขลา ได้รับความช่วยเหลือจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ และมีผู้เชี่ยวชาญยางพาราในสาขาต่างๆ มาช่วยวางรากฐานการวิจัยและพัฒนา ร่วมกับนักวิจัยของไทยในระยะเริ่มแรก มีการวิจัยยางด้านต่างๆ เช่น ด้านพันธุ์ยาง โรคและศัตรูยาง ด้านดินและปุ๋ย การดูแลรักษาสวนยาง การกำจัดวัชพืช การปลูกพืชคลุม การปลูกพืชแซมเพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ชาวสวนยาง ด้านอุตสาหกรรมยางและเศรษฐกิจยางและมีการพัฒนายางโดยเน้นการพัฒนาสวนยางขนาดเล็ก เช่น การกรีดยางหน้าสูง การใช้ยาเร่งน้ำยาง การส่งเสริมการแปลงเพาะและขยายพันธุ์ยางของภาคเอกชน การรวมกลุ่มขายยางและการปรับปรุงคุณภาพยางและการใช้ประโยชน์ไม้ยางพารา มีการออกวารสารยางพาราเพื่อเผยแพร่ความรู้ไปสู่ชาวสวนยางและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดหลักสูตรการฝึกอบรมและการจัดสัมมนายางเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น
ศูนย์วิจัยยางสงขลา มีหน้าที่ความรับผิดชอบด้านค้นคว้าวิจัย และพัฒนายาง สำหรับท้องถิ่นในภาคใต้ ในสาขาต่างๆ ที่เกี่ยวกับยางพารา ด้านพืชศาสตร์ ด้านอารักขาพืช ด้านอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปยาง ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยียาง บริการทดสอบคุณภาพยาง ควบคุมยางตามพระราชบัญญัติ โดยให้บริการแก่เอกชนและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง มีการให้บริการการทดสอบ ทั้งยางแท่ง น้ำยางข้น และผลิตภัณฑ์ยางบางส่วนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมทางภาคใต้ ให้บริการเกี่ยวกับการฝึกอบรมเกี่ยวกับยาง เช่น การฝึกอบรมการทดสอบสมบัติของน้ำยาง การฝึกอบรมการทดสอบสมบัติของยางแท่งเอสทีอาร์ และการทดสอบสมบัติทางกายภาพของยางคงรูป เป็นต้น
วิดีทัศน์ เรื่อง ศูนย์วิจัยยางสงขลา
กลับไปที่เนื้อหา
ยางพารา ( Para rubber ) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hevea brasiliensis ยางพาราเป็นไม้ต้นในวงศ์ EUPHORBIACEAE วงศ์เดียวกับมันสำปะหลัง ละหุ่ง โกสน เปล้าน้อย โป๊ยเซียนและชวนชม มีท่อน้ำยางในเปลือกไม้ ยางพาราเป็นไม้ต้นผลัดใบ มีน้ำยางสีขาว ใบอ่อนสีออกม่วงแดงเป็นมัน เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนส้ม หรือแดง ใบเรียงเวียน ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 5-7 ใบ รูปรีแกมรูปใบหอก หนาเหมือนแผ่นหนัง ดอกสีขาวปนเหลือง มีกลิ่นหอม ผลแห้งแตกขนาดใหญ่ รูปทรงกลม มี 3 เมล็ด เมื่อแก่เต็มที่ ผนังผลแตกดีดเมล็ดแรง กระเด็นไปไกล
ยางพาราเป็นพันธุ์ไม้ที่มาจากทวีปอเมริกาใต้ ชาวพื้นเมืองเรียกต้นไม้ที่ให้ยางว่า คาอุท์ชุค (Caoutchouc) แปลว่าต้นไม้ร้องไห้ จนถึงปีพศ. 2313 ( ค.ศ. 1770) โจเซฟ พริสลี่ พบว่ายางสามารถลบรอยดำของดินสอได้โดยที่กระดาษไม่เสีย จึงเรียกยางว่า ยางลบหรือตัวลบ (Rubber) สมัยที่มีการปลูกยางกันมากในประเทศแถบอเมริกาใต้นั้น ค้นพบว่า พันธุ์ยางที่มีคุณภาพดีที่สุด คือยางพันธุ์ Hevea Brasiliensis และศูนย์กลางของการซื้อขายยางก็อยู่ที่เมืองท่าชื่อ พารา (Para) บนฝั่งแม่น้ำอเมซอน ประเทศบราซิล ด้วยเหตุดังกล่าว ยางพันธุ์ Hevea Brasiliensis จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ยางพารา (para rubber) และเป็นชื่อที่ใช้เรียกกันแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้
มีการพัฒนาเทคนิคต่าง ๆ จนสามารถนำยางไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย เช่น ผ้ายางกันน้ำ เสื้อกันฝน ลูกบอล รองเท้า ยางรถยนต์ สายไฟ สายเคเบิ้ล เป็นต้น ประมาณปี พ.ศ. 2398 ช่วงเวลานั้นยางเริ่มมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้น จึงมีความต้องการใช้ยางเป็นจำนวนมาก ชาวสวนยางในอเมริกาใต้ เช่นโคลัมเบียและปานามาจึงโหมกรีดยางกันอย่างหนัก จนในที่สุด ต้นยางในประเทศเหล่านั้นได้รับความบอบช้ำมากและตายหมดจนไม่มีต้นยางเหลืออยู่ในแถบนั้นอีกเลย ระหว่างนั้นมีความพยายามที่จะนำยางมาปลูกในเอเชียเป็นครั้งแรก มีการทดลองปลูกยางในดินแดนต่างๆ ที่เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในที่สุดก็พบว่า ในดินแดนแหลมมลายูเป็นที่ที่ยางจะเจริญเติบโตได้ดีที่สุด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2425 เป็นต้นมา ยางพาราจึงเป็นที่นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายในแหลมมลายู เพราะมีองค์ประกอบต่างๆที่เหมาะสมต่อการปลูกยางพารา ทั้งสภาพดินฟ้าอากาศ ภูมิประเทศ สภาพดินและปริมาณฝน
การปลูกยางพาราในประเทศไทย มีหลักฐานเด่นชัดว่า เมื่อปี พ.ศ. 2442 พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นผู้เหมือนหนึ่ง "บิดาแห่งยาง" เป็นผู้ที่ได้นำต้นยางพารามาปลูกที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นครั้งแรกและได้ส่งคนไปเรียนวิธีปลูกยาง มีการนำพันธุ์ยางไปแจกจ่ายและส่งเสริมให้ราษฎรปลูกทั่วไป ต่อมาราษฎรได้นำเข้ามาปลูกเป็นสวนยางมากขึ้นและได้มีการขยายพื้นที่ปลูกยางไปในจังหวัดภาคใต้รวม 14 จังหวัด ตั้งแต่ชุมพรลงไปถึงจังหวัดที่ติดชายแดนประเทศมาเลเซีย จนถึงปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยางทั้งประเทศประมาณ 12 ล้านไร่ กระจายกันอยู่ในภาคใต้ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นแหล่งปลูกยางใหม่ การพัฒนาอุตสาหกรรมยางของประเทศได้เจริญรุดหน้าเรื่อยมาจนทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกยางได้มากที่สุดในโลก
คำถาม
- สืบค้นข้อมูล มีการนำยางพารามาใช้ประโยชน์อย่างไรบ้างในปัจจุบัน
เอกสารอ้างอิง
http://www.reothai.co.th/para1.htm
กลับไปที่เนื้อหา
การขยายพันธุ์ยางสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการติดตา เป็นต้นแต่การขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด (แบบอาศัยเพศ)ในประเทศไทยไม่นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีนี้ ทั้งนี้เพราะไม่มีสวนยางสำหรับเก็บเมล็ดโดยตรงประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งคือเมล็ดยางที่นำไปปลูกมีการกลายพันธุ์มาก ดังนั้น เมล็ดยางจึงนิยมนำไปใช้เพาะเป็นต้นกล้าเพื่อใช้ในการทำเป็นต้นตอ (Stock) สำหรับติดตาต่อไป
ในประเทศไทยนิยมใช้การขยายพันธุ์โดยวิธีการติดตาซึ่งเป็นการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ และใช้การติดตาเขียว เพราะทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็วและมีเปอร์เซ็นต์การติดสูงมากกว่า 90 % กิ่งตาที่นำมาใช้ต้องเป็นกิ่งตาพันธุ์ดีจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้นและมีอายุ 45-50 วัน สภาพกิ่งสมบูรณ์ ใบยอดเขียว ส่วนต้นตอก็ต้องเป็นต้นที่สมบูรณ์ เปลือกลอกง่าย มีอายุประมาณ 4 เดือนครึ่งถึง 8 เดือน เส้นผ่านศูนย์กลางของลำต้นตอยาว 1-1.2 ซม. (วัดที่ความสูงจากพื้นดิน 10 ซม.) ลำต้นตรง รากไม่คดงอ วิธีติดตาทำได้ไม่ยากนักตามขั้นตอนดังนี้
1. ใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดต้นตอบริเวณที่จะติดตา
2. ใช้มีดกรีดต้นตอส่วนที่มีสีน้ำตาลจากโคนต้นให้ต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ขึ้นไปข้างบนสองรอยยาวเท่ากัน รอยละประมาณ 7-8 ซม.ให้รอยทั้งสองนี้ห่างกันประมาณ 1 ซม.หรือ1ใน 3 ของความยาวรอบลำต้น
3. ตัดขวางรอยกรีดทั้งสองที่ปลายสุดด้านบนให้ต่อถึงกัน จากนั้นค่อยๆ ลอกเปลือกต้นตอที่ตัดออกเบาๆ ลอกลงข้างล่างจนสุดรอยกรีด ตัดเปลือกที่ดึงออกให้เหลือลิ้นสั้นๆ ประมาณ 0.5 -1 ซม. ในขณะที่ลอกเปลือกระวังอย่าให้เปลือกขาด อย่าให้ดินหรือสิ่งสกปรกเข้าไปได้ เพราะจะทำให้เยื่อเสียและติดตาไม่ติด
4. เตรียมแผ่นตาจากกิ่งตาเขียวโดยใช้มีดคมๆ ค่อยๆ เฉือนออก เริ่มจากด้านปลายไปหาโคนให้ติดเนื้อไม้บางๆ สม่ำเสมอตลอดแนว ยาวประมาณ 8-9 ซม. ให้ตาอยู่ตรงกลาง แผ่นความกว้างของแผ่นตาควรจะพอดีกับความกว้างของรอยกรีดเปลือกบนต้นตอหรือใหญ่กว่าเล็กน้อย การเฉือนแผ่นตาหนาเกินไปจะลอกยาก เนื่องจากแผ่นตาเขียวช้ำได้ง่าย ฉะนั้น ก่อนเฉือนตาต้องแน่ใจว่ามีดมีความคมและสะอาด แต่งแผ่นตา 2 ข้าง บางๆ พอให้แผ่นตาเข้ากับรอยเปิดกรีดบนต้อตอได้ แล้วตัดปลายด้านล่างของแผ่นตาออก ลอกแผ่นตาออกจากเนื้อไม้ โดยใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้าง จับปลายด้านบนของแผ่นตา ใช้นิ้วกลางประคองแผ่นตาส่วนล่างค่อยๆ ลอกเนื้อไม้ออกจากเปลือกแผ่นตา พยายามอย่าให้ส่วนที่เป็นเปลือกเกิดการโค้งงอ
5. รีบสอดแผ่นตาที่ลอกเนื้อไม้ออกแล้วนี้ ลงในลิ้นเปลือกของต้นตอเบาๆ ค่อยๆ แนบแผ่นตาเข้ากับรอยเปิดของต้นตอ พยายามอย่าให้แผ่นตาถูกับเนื้อไม้ เพราะจะทำให้เยื่อเจริญช้ำ ก่อนใส่แผ่นตาต้องดูให้แน่เสียก่อนว่าตาอยู่ในตำแหน่งถูกต้อง คือ อยู่ด้านบนของรอยก้านใบ
6. ใช้พลาสติกใสยาวประมาณ 12 นิ้ว พันจากด้านล่างสุดโดยเริ่มพันต่ำกว่าลิ้นเล็กน้อย พันขึ้นข้างบนเบาๆ พันให้แน่น แต่ละรอบที่พันต้องให้ส่วนของพลาสติกทับกัน พันขึ้นไปประมาณครึ่งหนึ่งของแผ่นตาแล้วหยุดไว้ชั่วขณะใช้มีดตัดส่วนเกินของเปลือกตาด้านบนออกให้พอดีกับรอยเปิดของต้นตอและพันต่อจนเลยแผ่นตาไปสัก 2-3 รอบแล้วจึงทำเงื่อนผูกให้แน่น ตรวจดูรอยพันอีกครั้งว่าแต่ละรอบแผ่นพลาสติกพันทับกันแน่นดีหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อกันน้ำไหลเข้าสู่แผ่นตาเมื่อฝนตก
7. หลังจากติดตาแล้ว 21 วัน ถ้าแผ่นตายังเขียวและสดอยู่ แสดงว่าการติดตาประสบผลสำเร็จถ้าการติดตาไม่ประสบผลสำเร็จ คือ หลังจากติดตาแล้ว 2 วัน แผ่นตาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลให้ใช้มีดกรีดพลาสติกทางด้านแผ่นตาที่ติดนั้นออกแล้วทำการติดตาซ้ำอีกครั้งทางด้านตรงข้าม
เมื่อตาติดแล้ว ใช้มีดกรีดแผ่นพลาสติกออก โดยกรีดด้านตรงข้ามกับแผ่นตาในแนวดิ่ง ปล่อยให้ต้นตอที่ติดตาแล้วอยู่ในแปลงเรื่อยไปจนกว่าจะถึงเวลานำไปปลูก จึงถอนต้นขึ้นมาเพื่อทำการปักชำก่อนนำไปปลูกต่อไป
วิดีทัศน์ เรื่อง พันธุ์ยางพารา
กลับไปที่เนื้อหา
ปัจจุบันการปลูกยางพาราในประเทศไทยได้ขยายออกไปในทุกภาค แต่จากข้อมูลของสถาบัน วิจัยยาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่า ผลผลิตยางโดยเฉลี่ยที่ได้จากแต่ละภาคแตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะการให้ผลผลิตของต้นยาง ไม่ว่าผลผลิตน้ำยางและหรือเนื้อไม้ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ คือ พันธุ์ยาง ความเหมาะสมของพื้นที่ และการจัดการสวนยาง ดังนั้น ในการปลูกสร้างสวนยางนอกจากพิจารณาเลือกพันธุ์ยางและการจัดการสวนยางที่ถูกต้องแล้ว ยังต้องพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่สำหรับปลูกยางด้วย โดยมีปัจจัยทางดินและปัจจัยทางภูมิอากาศ ดังนี้
ปัจจัยทางดิน สภาพพื้นที่และลักษณะดินที่เหมาะต่อการปลูกยางพารามีดังนี้
1. เป็นพื้นที่ที่ความลาดชันไม่เกิน 35 องศา ถ้าความลาดชันเกินกว่า 15 องศาการปลูกต้องทำแบบขั้นบันได
2. หน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร มีการระบายน้ำดี ไม่มีชั้นหินหรือชั้นดินดาน
3. ระดับน้ำใต้ดินต่ำกว่าระดับผิวดินมากกว่า 1 เมตร
4. เนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวถึงร่วนทราย ไม่เป็นดินเกลือหรือดินเค็ม
5. ไม่เป็นพื้นที่นาหรือที่ลุ่มน้ำขัง สีของดินควรมีสีสม่ำเสมอตลอดหน้าตัดดิน
6. ดินไม่มีชั้นกรวดอัดแน่นหรือแผ่นหินแข็งในระดับต่ำกว่าหน้าดินไม่ถึง 1 เมตร เพราะจะทำให้ต้นยางไม่สามารถใช้น้ำในระดับรากแขนงในฤดูแล้งได้ และหากช่วงแล้งยาวนานจะทำให้ต้นยางตายจากยอดลงไป
7. ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 600 เมตร ถ้าสูงกว่านี้อัตราการเจริญเติบโตของต้นยางจะลดลง
8. มีค่า pH ระหว่าง 4.5-5.5 ไม่เป็นดินด่าง
ปัจจัยทางภูมิอากาศ
1. ปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 1,250 มิลลิเมตรต่อปี
2. มีจำนวนวันฝนตก 120-150 วันต่อปี
บางพื้นที่ซึ่งมีลักษณะดินและภูมิอากาศไม่เหมาะสมจำเป็นต้องมีการจัดการสวนยางอย่างถูกต้องจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่งแต่เกษตรกรต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอันเป็นการเพิ่มต้นทุน ซึ่งมีหลายวิธีดังนี้
1. ปรับปรุงดินเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดินโดยการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อช่วยให้โครงสร้างของดินดีขึ้น มีความร่วนซุย สามารถอุ้มน้ำและรักษาความชื้นในดินได้ดี
2. ดูแลรักษาสวนยางก่อนเข้าฤดูแล้ง โดยการใช้วัสดุคลุมดินรอบโคนต้นยางในช่วงอายุ 2 ปีแรกหลังจากปลูก จะช่วยให้ดินเก็บรักษาความชื้นไว้ได้ในช่วงฤดูแล้งและทาปูนขาวบริเวณลำต้นเพื่อป้องกันลำต้นไหม้จากแสงแดด
3. ใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางด้วยปุ๋ยเคมีร่วมปุ๋ยอินทรีย์ตามคำแนะนำเพื่อให้ต้นยางสมบูรณ์แข็งแรง
4. สวนยางที่เปิดกรีดแล้ว ไม่ควรไถพรวนในระหว่างแถวยาง
5. กรณีที่ปลูกยางในดินที่มีการระบายน้ำไม่ดี หรือเกิดน้ำท่วมขัง ควรขุดคูระบายน้ำ โดยขุดคูระบายน้ำให้ระดับน้ำใต้ดินอยู่ลึกจากระดับผิวดินมากกว่า 2 เมตร
ต้นยางที่ปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม จะมีผลทำให้เจริญเติบโตช้า ไม่ต้านทานโรคและผลผลิตต่ำและยังอาจมีผลกระทบตามมาจากภัยธรรมชาติได้อีกด้วย ดังนั้น ในการตัดสินใจปลูกยางพารา เกษตรกรควรพิจารณาตามหลักเกณฑ์สำหรับการปลูกยางพาราให้เหมาะสม เช่น การเลือกพื้นที่ปลูก พันธุ์ยางที่เหมาะสมกับพื้นที่และการจัดการสวนยางที่ถูกต้อง เพื่อช่วยให้ต้นยางสมบูรณ์ แข็งแรง สามารถทนต่อภาวะที่เกิดขึ้นจากความแห้งแล้งและภัยธรรมชาติอื่นๆได้
การเตรียมพื้นที่ปลูกสร้างสวนยาง จะต้องปรับพื้นที่ให้มีสภาพเหมาะสม ทั้งด้านการปฏิบัติงานในสวนยางและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ต้องวางแผนการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความสะดวกในการดูแลบำรุงรักษาต้นยาง ได้แก่ การทำความสะอาดพื้นที่ การวางแนวปลูก การขุดหลุม และการจัดทำขั้นบันไดเป็นต้น
การวางแนวปลูกในพื้นที่ราบ เริ่มจากการวางแถวหลักห่างจากแนวเขตสวนไม่น้อยกว่า 1.5 เมตรตามแนวตะวันออก-ตะวันตกไม่ขวางทิศทางลมในแต่ละแถวห่างกันแถวละ 7 เมตร และการปลูกยางแต่ละต้นในแถวควรมีระยะในการปลูกห่างกัน 3 เมตร ดังนั้นในพื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 80 ต้น เกษตรกรควรมีพื้นที่ปลูกไม่น้อยกว่า 15 ไร่ จึงจะคุ้มทุน
เมื่อปลูกยางแล้ว เกษตรกรต้องคอยดูแล กำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ย ปลูกพืชคลุมดิน ตลอดจนคอยตัดแต่งกิ่งที่อยู่ส่วนล่างของต้นจนกิ่งที่เหลืออยู่สูงกว่า 250 เซนติเมตร เมื่อต้นยางมีเส้นรอบวง 50 เซนติเมตรขึ้นไป (วัดที่ความสูงจากพื้นดิน 1 เมตร) ก็สามารถกรีดยางได้ นั่นคือ อายุของต้นยางจะอยู่ประมาณ 7 ปีขึ้นไป
วิดีทัศน์ เรื่อง การปลูกยางพารา
วิดีทัศน์ เรื่อง ต้นยางพารา
คำถาม
- ลักษณะเด่นของสวนยางพาราที่เห็นทั่วไป เป็นอย่างไร
- ทำไมต้องตัดแต่งกิ่งด้านล่างของลำต้นจนเหลือสูงกว่า 250 เซนติเมตร
กลับไปที่เนื้อหา
การกรีดยางที่ดีและถูกต้อง ต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ได้แก่ พันธุ์ยาง อายุต้นยาง ฤดูกาล การเปิดกรีด วิธีการกรีด ระบบกรีด ตลอดจนความชำนาญของคนกรีด โดยทั่วไปต้นยางเปิดกรีดได้เมื่อมีอายุประมาณ 7 ปีครึ่ง และต้นยางในสวนนั้นต้องมีขนาดที่เปิดกรีดได้มากกว่าร้อยละ 70 ของยางทั้งหมด คือเมื่อวัดที่ระดับความสูง 150 เซนติเมตร เส้นรอบวงลำต้นต้องยาวไม่ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร การกรีดยางต้องยึดหลักที่ว่า เมื่อกรีดแล้วต้องได้น้ำยางมาก เปลือกเสียหายน้อยที่สุด จะช่วยให้กรีดได้นานประมาณ 25-30 ปี
การเปิดกรีด จะมีไม้แบบทาบกับลำต้นที่ความสูงประมาณ 150 เซนติเมตรจากพื้น กรีดเป็นแนวตามแบบจากซ้ายไปขวาให้ได้ความยาวครึ่งหนึ่งของลำต้นโดย กรีดเอียงจากซ้ายไปขวา ทำมุม 30 -35 องศากับแนวขนานพื้นดิน ใช้มีดกรีดยางกรีดเบา ๆ เพื่อทำเป็นรอยเปิด โดยกรีดให้ลึกเกือบถึงเนื้อไม้ หลังจากเปิดกรีดแล้วให้กรีดลงในแนวดิ่ง ทำทางไหลของน้ำยางลงมา 30 เซนติเมตร แล้วตอกลิ้นรองรับน้ำยาง ใช้ลวดรัดรอบลำต้นใต้ลิ้นรองรับน้ำยางประมาณ 10 เซนติเมตร ทำที่วางถ้วยรับน้ำยาง
การกรีดยางควรจะทำในตอนเช้า ประมาณ 06.00-08.00 น. เพราะจะทำให้ปฏิบัติงานได้สะดวก เนื่องจากมองเห็นชัดเจนกว่ากลางคืนและผลผลิตที่ได้ใกล้เคียงกับการกรีดในตอนกลางคืน การกรีดยางในระยะ 3 ปีแรก ซึ่งเป็นช่วงที่ยางกำลังเจริญเติบโต ไม่ควรกรีดมากเกินไปเพราะจะทำให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโตและผลผลิตลดลงในภายหลัง ระบบกรีดที่เหมาะสมควรเป็นการกรีดครึ่งต้น วันเว้นสองวัน ระบบนี้ใช้กับยางทุกพันธุ์ โดยหยุดกรีดในฤดูผลัดใบ
ข้อควรระวังในการกรีดยาง
1. มีดกรีดยางต้องลับให้คมอยู่เสมอ เพื่อให้สามารถกรีดเปลือกได้บาง ไม่ต้องออกแรงมากและหลีกเลี่ยงบาดแผลที่จะทำให้หน้ายางเสีย
2. กรีดเปลือกให้บาง ความสิ้นเปลืองเปลือกไม่เกินเดือนละ 2.0-2.5 เซนติเมตร เพื่อให้กรีดได้นานที่สุด
3. หยุดกรีดยางต้นที่เป็นโรคเปลือกแห้ง และโรคหน้ายาง
4. หยุดกรีดเมื่อต้นยางผลัดใบ
5. อย่ากรีดลึกถึงเนื้อไม้ เพราะจะทำให้เปลือกที่งอกใหม่เป็นปุ่มปมจนไม่สามารถกรีดซ้ำได้
วิดีทัศน์ เรื่อง การกรีดยาง
วิดีทัศน์ เรื่อง น้ำยางสด
กลับไปที่เนื้อหา
น้ำยางสดที่กรีดได้จากสวนยาง สามารถนำไปแปรรูปได้หลากชนิดทั้งในรูปน้ำยางข้นและยางแห้ง ซึ่งได้แก่ ยางแท่ง ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควัน ยางก้อนถ้วย ยางเครพ เป็นต้น
5.1 น้ำยางข้น วิธีทำน้ำยาง นำน้ำยางสด (Latex) ที่ได้จากการกรีดต้นยางออกมาใหม่ๆ จะอยู่ในสภาพที่เรียกว่า Colloids ซึ่งประกอบด้วยส่วนที่เป็นน้ำอยู่ประมาณ 60 % ส่วนที่เป็นของแข็งแต่ไม่ใช่ยาง เช่น โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต มีอยู่ประมาณ 5% มีทั้งที่อยู่ในรูปสารละลายและสารแขวนลอย ส่วนที่เหลือจะเป็นส่วนที่เป็นยาง (Rubber Hydrocarbon) ในลักษณะของอนุภาคแขวนลอยอยู่ในส่วนที่เป็นของเหลว แต่ละอนุภาคจะมีประจุไฟฟ้าลบซึ่งผลักกันให้อนุภาคเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา และไม่จับตัวกันเป็นก้อน เพื่อให้คงสภาพน้ำยางไว้จะมีการเติมสารละลายแอมโมเนียเช่น แอมโมเนียมไฮดรอกไซด์ (NH4OH) ลงไป เพื่อให้ประจุลบของ OH ไปคลุมอนุภาคยางคอยป้องกันประจุบวกภายนอกไม่ให้รวมกับอนุภาคยางจนเป็นกลางและจับเป็นก้อน จากนั้นจึงแยกเอาส่วนที่ไม่ใช่ยางซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นน้ำและส่วนที่เป็นของแข็งอื่นออกจากส่วนที่เป็นยางโดยใช้การเข้าเครื่องปั่น ส่วนที่เหลือจะเป็นน้ำยางข้นที่สามารถส่งจำหน่ายได้ต่อไป
ส่วนยางแห้งซึ่งมีการแปรรูปหลายรูปแบบ ต้องทำให้อนุภาคยางจับตัวเป็นก้อน วิธีการคือใส่สารละลายกรดฟอร์มิกหรือกรดมด เพื่อให้ประจุบวกที่เกิดขึ้นไปทำให้ประจุไฟฟ้าของอนุภาคยางเป็นกลางจับตัวเป็นก้อนได้นั่นเอง
กรดฟอร์มิกมีสูตรโมเลกุล CH2O2 ในธรรมชาติพบในพวกมดและผึ้งซึ่งใช้ป้องกันตัวจากศัตรู
5.2 การทำยางแท่ง จากสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ให้เหตุผลในการผลิตยางแท่งไว้ว่าเพื่อความสะดวกในการขนส่งและพร้อมใช้ในการผลิตสินค้าของโรงงานอุตสาหกรรมแบบเดียวกับยางเทียม
การผลิตยางแท่งทำได้ง่ายและเร็วกว่าการทำยางแผ่นรมควันหรือยางเครพมาก หลักการคือ แทนที่จะทำเป็นยางแผ่นใหญ่ๆ จะใช้วิธีย่อยยางให้เป็นชิ้นเล็กๆ เสียก่อน นำไปอบด้วยความร้อน 100 - 110 องศาเซลเซียสให้ยางแห้ง แล้วจึงอัดเป็นแท่ง ใช้เวลาเพียง 4 - 5 ชั่วโมงก็เสร็จ ตามกรรมวิธีเป็นขั้นๆ ต่อ ไปนี้
เมื่อได้น้ำยางสดมาจากสวนยาง จะกรองให้สะอาด แล้วเติมน้ำกรดฟอร์มิกเพื่อให้ยางแข็งตัว ยางจะแข็งตัวภายในเวลา 2-3 ชั่วโมง เมื่อยางแข็งแล้วจึงนำเข้าเครื่องย่อย เพื่อฉีกหรือตัดยางออกเป็นชิ้นเล็กๆ แบนๆ ขนาดประมาณปลายนิ้วก้อย ยางที่ถูกย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนี้ จะถูกล้างทำความสะอาด แล้วใส่ลงในกระบะโลหะ เพื่อนำเข้าอบความร้อนในเตาอบ ซึ่งให้ความ ร้อนระหว่าง 100 - 110 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ½ - 4 ½ ชั่วโมง เมื่อยางสุกจะเห็นเนื้อยางใสและมีสีน้ำตาลอ่อนๆ จากนั้นจึงปล่อยให้ยางเย็นลงเหลือประมาณ 50 -60 องศาเซลเซียส จึงนำมาชั่งแล้วนำเข้าอัดเป็นแท่งด้วยเครื่องอัด แล้วจึงห่อด้วยถุงพลาสติกบรรจุในลังไม้โปร่ง เพื่อส่งไปจำหน่ายต่อไป
วิดีทัศน์ เรื่อง การทำยางแท่ง
5.3 การทำยางแผ่น การแปรรูปยางเพื่อส่งจำหน่ายที่นิยมกันมากคือ การทำเป็นยางแผ่น การผลิตยางแผ่นคุณภาพดีนั้น มีหลักการง่าย ๆ คือ ทำยางให้สะอาดรีดแผ่นยางให้บางในการผลิตต้องเติมน้ำและน้ำกรดให้ถูกส่วน ทุกขั้นตอนการผลิตต้องมีการควบคุมความสะอาด การเก็บรวบรวมน้ำยาง ถ้วยยาง และถังเก็บน้ำยางต้องสะอาดไม่มีขี้ยางหรือเศษไม้ปนจะทำให้ยางสกปรก จับตัวเป็นก้อนเร็ว กรองน้ำยางได้ยาก เครื่องมือทำยางแผ่นทุกชนิดต้องทำความสะอาดก่อนและหลังการใช้งาน
น้ำยางสดจะถูกนำมากรองด้วยตระแกรงลวดเบอร์40 และ 60 เพื่อเอาสิ่งสกปรกออก นำน้ำยางที่กรองเรียบร้อยแล้วใส่ภาชนะสะอาด เติมน้ำสะอาดโดยอัตราส่วนผสมระหว่างน้ำยางกับน้ำเป็น 3 : 2 กวนให้เข้ากัน เตรียมกรดฟอร์มิก ความเข้มข้น 90%โดยใช้กรดฟอร์มิก 2 ช้อนแกงใส่ลงในน้ำสะอาด 3กระป๋องนมที่อยู่ในภาชนะกระเบื้องเคลือบหรือพลาสติก แล้วกวนให้เข้ากัน ตวงน้ำกรดที่ผสมแล้วในอัตรา 1 กระป๋องนม ใส่ในน้ำยางที่ผสมน้ำแล้ว 5 ลิตร ใช้ใบพายกวนให้เข้ากัน (กรดฟอร์มิกชนิดความเข้มข้น 90 % 1 ลิตร ทำแผ่นยางได้ประมาณ 90-100 แผ่น) ขณะกวนน้ำยางจะมีฟองเกิดขึ้น ใช้ใบพายกวาดรวบรวมใส่ภาชนะเพื่อขายเป็นเศษยาง ถ้าไม่กวาดฟองน้ำยางออก เมื่อนำยางแผ่นไปรมควันจะทำให้เห็นเป็นรอยจุดฟองอากาศในแผ่นยาง ทำให้ยางที่ได้คุณภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อเติมกรดฟอร์มิกแล้ว ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 30-45 นาที ยางจะจับตัวเป็นก้อน เมื่อยางจับตัวแล้วจึงนำแผ่นยางไปนวดด้วยมือหรือไม้กลม นวดยางให้หนาประมาณ 1 เซนติเมตร แล้วนำเข้าเครื่องรีดเรียบ 3 – 4 เที่ยวจนแผ่นยางบางประมาณ 3-4 มิลลิเมตรจากนั้นนำแผ่นยางเข้าเครื่องรีดดอก ล้างทำความสะอาดอีกครั้งแล้วนำไปผึ่งในที่ร่มก่อนนำไปรมควัน เพื่อช่วยให้แผ่นยางแห้งเร็วขึ้น ขาวสวนยางอาจใช้การผึ่งหรือตากจนยางแห้งก็ได้แต่คุณภาพของยางจะต่ำลง
วิดีทัศน์ เรื่อง การทำยางแผ่น
วิดีทัศน์ เรื่อง การรมควันยาง
5.4 ยางเครพและยางก้อนถ้วย ยางที่แปรรูปเพื่อจำหน่ายชนิดหนึ่งซึ่งเราเคยได้ยินชื่อคือ ยางเครพ(Crepe Rubber) สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางได้ให้ความรู้ไว้ สรุปได้ว่า ยางเครพเป็นยางที่ได้จากการนำเศษยางไปรีดด้วยเครื่องรีดยางสองลูกกลิ้ง เรียกว่าเครื่องเครพ มีการใช้น้ำในการทำความสะอาดในระหว่างรีด เพื่อนำสิ่งสกปรกออกจากยาง เนื่องจากยางที่ใช้โดยมากเป็นยางที่มีมูลค่าต่ำ มีสิ่งสกปรกเจือปนค่อนข้างมาก เช่น เศษยางก้นถ้วย เศษยางที่ติดบนเปลือกไม้หรือติดบนดิน และเศษยางที่ได้จากการผลิตยางแผ่นรมควัน เป็นต้น หลังจากรีดในเครื่องเครพแล้วจะนำยางไปผึ่งแห้ง หรืออบแห้งด้วยลมร้อน ยางเครพที่ได้จะมีสีค่อนข้างเข้ม
ส่วนยางเครพขาวเป็นยางเครฟที่ได้มาจากน้ำยาง ที่มีการกำจัดสารเกิดสีในน้ำยาง คือ สารเบต้า แคโรทีน ซึ่งมีสีเหลืองอ่อน โดยใช้การฟอกสียางให้มีสีขาวด้วยสารเคมี เช่น xylyl mercaptane (0.05 %) หรือ totyl mercaptan (0.05 %) และ sodium bisulfide (0.5-0.75 %) ก่อนการทำให้ยางจับตัวกันเป็นก้อนด้วยกรดฟอร์มิก ยางเครพขาวเป็นยางที่มีคุณภาพและราคาค่อนข้างสูง
ยางแปรรูปอีกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรทำได้เองโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือใด ๆ ช่วยคือ ยางก้อนหรือยางก้อนถ้วย โดยยางก้อนถ้วยที่มีคุณภาพจะต้องมีลักษณะเป็นรูปถ้วย สะอาด สีสวย ไม่มีสิ่งปะปนและไม่มีกลิ่นเหม็น มีน้ำหนักประมาณ 80-500 กรัม
การผลิตยางก้อนถ้วย เริ่มจากเช็ดถ้วยยางให้สะอาดก่อนรองน้ำยาง กรีดยางตามปกติจนครบทั้งแปลง เมื่อน้ำยางหยุดไหลจึงหยอดน้ำกรดฟอร์มิคเจือจาง 10% ประมาณ 12-15 มิลลิลิตร คนให้เข้ากันปล่อยให้น้ำยางจับตัวเป็นก้อนถ้วย จากนั้นจึงมาเก็บในวันกรีดถัดไป
วิดีทัศน์ เรื่อง ยางเครพและยางก้อนถ้วย
เอกสารอ้างอิง
http://mrnainoy-myblog.blogspot.com/2012/05/blog-post_29.html#!/2012/05/blog-post_29.html
http://www.yangpara.com/Plant/rubbermethod.htm
http://kanchanapisek.or.th/kp6/New/sub/book/book.php?book=3&chap=4&page=t3-4-infodetail08.html
กลับไปที่เนื้อหา
ศูนย์วิจัยยางสงขลาได้ให้บริการการทดสอบคุณภาพยางแก่เอกชนและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง โดยให้บริการการทดสอบ ทั้งยางแท่ง น้ำยางข้น และผลิตภัณฑ์ยางบางส่วนให้กับโรงงานอุตสาหกรรมทางภาคใต้ นอกจากนั้นยังให้บริการเกี่ยวกับการฝึกอบรมเกี่ยวกับยาง เช่น การฝึกอบรมการทดสอบสมบัติของน้ำยาง การฝึกอบรมการทดสอบสมบัติของยางแท่งเอสทีอาร์ และการทดสอบสมบัติทางกายภาพของยางคงรูป เป็นต้น โดยห้องปฏิบัติการทดสอบ ที่สามารถให้บริการได้ มีดังนี้
1. ห้องปฏิบัติการทดสอบยางแท่ง
2. ห้องปฏิบัติการทดสอบน้ำยางข้น
3. ห้องปฏิบัติการทดสอบสมบัติทางกายภาพ
ห้องปฏิบัติการทดสอบต่าง ๆของกลุ่มวิจัยการแปรรูปและทดสอบยาง ศูนย์วิจัยยางสงขลา ให้บริการการทดสอบในเขตภาคใต้ตอนบน และตอนล่าง และออกใบรับรองคุณภาพยางแท่งในนาม สถาบันวิจัยยางนอกจากการทดสอบยางแท่งแล้ว ยังให้บริการการทดสอบยางดิบชนิดอื่นๆ เช่น ยางแผ่นผึ่งแห้ง ยางแผ่นรมควัน ยางเครพด้วยนอกจากนี้ยังทดสอบน้ำยางข้นและสมบัติทางกายภาพของยาง เช่น ความหนืดของยาง สมบัติการเริ่มคงรูปของยางแห้ง สมบัติการต้านแรงดึง ความเค้นดึง ความแข็ง ความทนต่อการขัดสี ความล้า การฉีกขาด เป็นต้น
วิดีทัศน์ เรื่อง การทดสอบยาง
กลับไปที่เนื้อหา
ต้นยางพาราเมื่อปลูกแล้วสามารถกรีดยางได้จนมีอายุ 25 – 30 ปี จึงจะให้ยางน้อยลงจนต้องโค่น เพื่อปลูกใหม่ ประโยชน์ที่ได้จากต้นยางพาราเมื่อโค่นแล้วนอกจากนำเนื้อไม้ไปใช้ทำเชื้อเพลิงในการรมควันยางแล้ว ยังสามารถนำๆไปใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นที่มีมูลค่าสูงได้อีก
ไม้ยางพาราส่วนใหญ่ถูกนำมาผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์และผลิตภัณฑ์ไม้อื่นๆ เพื่อการส่งออก ปัจจุบัน ทำรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้ยางพารา ปีละไม่ต่ำกว่าหมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมไม้ยางพารา ขยายตัวอย่างรวดเร็วและเป็นที่นิยมของตลาดผลิตภัณฑ์ไม้ทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วย
1. ผลิตภัณฑ์ไม้ยางพาราได้แก่ เครื่องเรือนไม้ ของเล่น แผ่นชิ้นไม้อัด (particle board) ไม้อัด แผ่นใยไม้อัดแข็งความหนาแน่นปานกลาง (MDF) พื้นไม้ปาร์เกต์ กรอบรูป เครื่องครัว เป็นต้น
2. ไม้เสาเข็มงานก่อสร้าง
3. ล้อไม้สำหรับม้วนสายไฟฟ้าขนาดใหญ่
4. เชื้อเพลิงในรูปแบบต่างๆ เช่น ฟืน ถ่าน
5. ทำลังใส่ปลา
ไม้ยางพาราเนื้อไม้ มีสีขาวนวล ความถ่วงจำเพาะระหว่าง 06.0 - 0.70 ที่ความชื้นในไม้ 12 % เนื้อไม้ค่อนข้างละเอียด เสี้ยนสนเล็กน้อยมาก ไม่เห็นวงปีเด่นชัด แต่ลายไม้มองเห็นได้ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ จากไม้ยางพาราเป็นที่ต้องการ ของต่างประเทศ ทำให้เกิดอาชีพการทำไม้ยางพาราขึ้นในพื้นที่ที่มีการปลูกยางพารา ทั้งในภาคใต้ ภาคตะวันออก และเกือบทุกภาคของประเทศ
วิดีทัศน์ เรื่อง ประโยชน์จากต้นยางพารา
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังรูปภาพ
ชื่อ Galleryการกรีดยาง+การเก็บน้ำยางGalleryชื่อ Galleryการขยายพันธุ์ยางGalleryชื่อ GalleryการทดสอบยางGalleryชื่อ Galleryการแปรรูปน้ำยางGalleryชื่อ Galleryบรรยากาศในศูนย์วิจัยยางGalleryชื่อ Galleryบรรยากาศหาดใหญ่Galleryชื่อ GalleryภาพพาโนรามาGallery
-
คลังวิดีทัศน์
ตอน ยางพาราสำคัญอย่างไร
ตอน ศูนย์วิจัยยางสงขลา
ตอน พันธุ์ยางพารา
ตอน การปลูกยางพารา
ตอน ต้นยางพารา
ตอน การกรีดยาง
ตอน น้ำยางสด
ตอน การทำยางแท่ง
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนนางจินตนา มาวิบูลย์วงษ์ โรงเรียนเทศบาลวัดไทรอารีรักษ์(มณีวิทยา) จ.ราชบุรีผู้เขียนแผนการสอนโรงเรียนเทศบาลวัดไทรอารีรักษ์(มณีวิทยา) จ.ราชบุรีผู้เขียนแผนการสอนนางสาวนุสรา หัวไผ่ โรงเรียนสิงห์บุรี จ.สิงห์บุรีผู้เขียนแผนการสอนนางมนต์ทิพย์ นาคประสม โรงเรียนสิงห์บุรี จ.สิงห์บุรีผู้เขียนแผนการสอนนางจันทร์ดาว แสงแก้ว โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพผู้เขียนแผนการสอนนายสิทธิสอน คาตุ้ย โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ
-
คำที่เกี่ยวข้อง