แหล่งเรียนรู้สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง ตั้งอยู่บนเทือกเขาตะนาวศรี ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีความสูงจากระดับน้ำทะ 1,400 เมตร และมียอดดอยสูงถึง 1,928 เมตร พื้นที่รับผิดชอบประมาณ 26.52 ตารางกิโลเมตร หรือ 16,577 ไร่ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า “ให้เขาช่วยตัวเอง” เปลี่ยนพื้นที่จากไร่ฝิ่นมาเป็นแปลงเกษตรเมืองหนาวที่สร้างรายได้ดีกว่าเก่าก่อน
กลับไปที่เนื้อหา
สาระ มาตรฐานและตัวชี้วัดชั้นปี ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1 – ม.3) และช่วงชั้นที่ 4 (ม. 4 – ม.6)
สาระที่ 1 สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต
มาตรฐาน ว 1. 1 เข้าใจหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ของโครงสร้าง และหน้าที่ของระบบต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตที่ทำงานสัมพันธ์กัน มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตของตนเองและดูแลสิ่งมีชีวิต
ตัวชี้วัด (ม. 1)
1. อธิบายกระบวนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของพืชดอกและการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศของพืชโดยใช้ส่วนต่างๆ ของพืชเพื่อช่วยในการขยายพันธุ์
มาตรฐาน ว 1.2 เข้าใจกระบวนการและความสำคัญของการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่มีผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด (ม. 3)
1. สำรวจและอธิบายความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นที่ทำให้สิ่งมีชีวิตดำรงชีวิตอยู่ได้อย่าง สมดุล
2. อธิบายผลของความหลากหลายทางชีวภาพที่มีต่อมนุษย์ สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อม
ตัวชี้วัด (ม.4 – ม. 6)
1. สืบค้นข้อมูลและอภิปรายผลของความหลากหลายทางชีวภาพที่มีต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม
สาระที่ 2 ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
มาตรฐาน ว 2.1 เข้าใจสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในระบบนิเวศ มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด (ม. 3)
1. สำรวจระบบนิเวศต่างๆในท้องถิ่นและอธิบายความสัมพันธ์ขององค์ประกอบภายในระบบนิเวศ
ตัวชี้วัด (ม. 4 – ม.6)
1. อธิบายกระบวนการเปลี่ยนแปลงแทนที่ของสิ่งมีชีวิต
2. อธิบายความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ และเสนอแนะแนวทางในการดูแลและรักษา
มาตรฐาน ว 2.2 เข้าใจความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในระดับท้องถิ่น ประเทศ และโลกนำความรู้ไปใช้ในในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ตัวชี้วัด (ม.3)
1. วิเคราะห์สภาพปัญหาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นและเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา
2. อธิบายแนวทางการรักษาสมดุลของระบบนิเวศ
3. อภิปรายการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
4. วิเคราะห์และอธิบายการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
5. อภิปรายปัญหาสิ่งแวดล้อมและเสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหา
6. อภิปรายและมีส่วนร่วมในการดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
ตัวชี้วัด (ม.4 – ม.6)
1. วิเคราะห์สภาพปัญหา สาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในระดับท้องถิ่นระดับประเทศและระดับโลก
2. อภิปรายแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
3. วางแผนและดำเนินการเฝ้าระวัง อนุรักษ์ และพัฒนาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
จุดประสงค์การเรียนรู้
1. อธิบายลักษณะที่เหมาะสมของพื้นที่สูงซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชเมืองหนาวได้
2. เข้าใจวิธีการขยายพันธุ์พืชเมืองหนาวชนิดต่าง ๆ
3. เข้าใจความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ของระบบนิเวศพื้นที่สูง
4. ตระหนักถึงสาเหตุการเกิดปัญหาสภาพแวดล้อมจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และวิธีป้องกัน แก้ไข
5. วิเคราะห์การแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมโดยการใช้ทรัพยากรธรรมชาติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
กลับไปที่เนื้อหา
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ตั้งอยู่ที่ บ้านคุ้ม เลขที่ 1 หมู่ที่ 5 ถนนแม่งอน-อ่างขาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณ 1400 เมตร อยู่ในหุบเขาบนดอยอ่างขาง บนเทือกเขาตระนาวศรี ติดกับชายแดนของสหภาพเมียนมาร์ มีความชื้นสัมพัทธ์สูงและอากาศหนาวเย็นตลอดปี
ลักษณะของอ่างขางนั้นเป็นหุบเขารูปร่างยาว ล้อมรอบไปด้วยเขาสูงทุกด้าน ตรงกลางของอ่างขางเดิมเป็นเขาสูง และเป็นเขาหินปูน เมื่อถูกน้ำฝนชะก็จะค่อยๆ ละลายเป็นโพรง แล้วยุบตัวลงกลายเป็นหลุมจนมีลักษณะเป็นแอ่งในที่สุด
กลับไปที่เนื้อหา
ในอดีตดอยอ่างขางเคยมีหมู่บ้านชาวเขาทั้งม้ง เย้าและมูเซออาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก พื้นที่นี้ปลูกฝิ่นได้งาม เนื่องจากดินมีโครงสร้างที่เหมาะสม ลักษณะอากาศและภูมิประเทศก็เอื้ออำนวย ดอยอ่างขางมีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปีโดยเฉพาะตอนกลางคืนจะหนาวเย็นจัดที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ประกอบกับมีการทำไร่เลื่อนลอยของชาวไทยภูเขา ในที่สุดก่อให้เกิดผลกระทบขึ้น เมื่อป่าไม้บนภูเขาเหลือน้อย ฝนตกลงมา น้ำฝนก็ชะหน้าดินไหลลงสู่หุบเขา ดินไม่สามารถอุ้มน้ำเอาไว้ได้ ทำให้ธาตุอาหารในดินลดน้อยลง เมื่อความอุดมสมบูรณ์ของดินหมดไปชาวไทยภูเขาก็หาพื้นที่ทำไร่ใหม่ต่อไป ซึ่งได้ส่งผลให้ดอยอ่างขางมีสภาพเป็นดอยหัวโล้นมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน
คำถาม
- การทำไร่เลื่อนลอยและการปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขาในอดีต ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร
- จะมีแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติในบริเวณดอยอ่างขางได้อย่างไร
จากการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ไปเยี่ยมพสกนิกรและชาวไทยภูเขาหลายหมู่บ้าน ทรงทอดพระเนตรเห็นว่าชาวเขาส่วนใหญ่ปลูกฝิ่นแต่ยากจน ทั้งยังทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญต่อระบบนิเวศโดยรวมของประเทศชาติ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติในอนาคตได้ ดอยอ่างขางก็เกิดปัญหาดังกล่าวที่จำเป็นต้องเข้ามาดำเนินการแก้ไขด้วยเช่นกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงสละพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นจำนวน ๑,๕๐๐ บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่ส่วนหนึ่งจากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขาง ทรงมอบหมายให้ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ดำเนินการใช้เป็นสถานีทดลองปลูกไม้เมืองหนาว ให้เป็นตัวอย่างแก่ชาวเขา เพื่อชาวเขาจะได้นำวิธีการไปใช้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังที่ทรงพระราชทานไว้ว่า “ ช่วยเขาให้ช่วยตัวเอง” งานพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวเขาและพัฒนาการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้เริ่มต้นขึ้นด้วยโครงการในพระบรมราชานุเคราะห์ชาวเขา ตั้งแต่เมื่อได้โปรดเกล้าฯ จัดตั้งโครงการหลวงเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ การดำเนินงานของดอยอ่างขางก็ได้พัฒนามาเป็นสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
ทุกวันนี้ ดอยอ่างขางมีสีสันของสภาพพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนาด้วยการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม บางส่วนที่เคยโล่งเตียน อันเป็นผลมาจากถูกทำลายในอดีตก็ได้กลับกลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ในส่วนพื้นที่ที่เคยเป็นป่าก็ได้รับการฟื้นฟูทั้งด้วยการปลูกป่าด้วยไม้โตเร็วและปล่อยทิ้งพื้นที่ที่เคยเป็นป่าให้เกิดเป็นป่าใหม่โดยวิธีธรรมชาติ
สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ถูกใช้เป็นสถานที่ทดลอง ค้นคว้าวิจัยพืชผลเมืองหนาวที่สามารถปลูกได้ดีในพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อนำผลการทดลอง ค้นคว้าและวิจัยไปส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาในพื้นที่ไปปลูกเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น เพื่อชาวเขาจะได้ตั้งหลักแหล่งที่อยู่ที่แน่นอนไม่ต้องอพยพเคลื่อนย้ายไปที่อื่น อันเป็นแนวทางหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และต้นน้ำลำธาร
วีดิทัศน์ เรื่อง ดอกไม้เมืองหนาว
เอกสารอ้างอิง
http://www.king60.mbu.ac.th/
กลับไปที่เนื้อหา
จากตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ จะเดินทางโดยใช้เส้นทางเชียงใหม่-ฝาง หรือทางหลวงหมายเลข 107 เดินทางจนถึงอำเภอเชียงดาว บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 79 จะพบทางแยกไปอำเภอฝาง ก็เลี้ยวซ้ายผ่าน ต.เมืองงายไปอีกประมาณ 39 กิโลเมตร ถึงแยกบ้านอรุโณทัย ผ่านบ้านผาแดงไปอีกประมาณ 41 กิโลเมตรจะถึงสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
เอกสารอ้างอิง
http://www.angkhangstation.com/public/img/Map.jpg
กลับไปที่เนื้อหา
ดอยอ่างขาง เป็นพื้นที่ “ที่สูง” และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของประเทศ อากาศค่อนข้างหนาวเย็นและมีความชื้นสัมพัทธ์สูง เหมาะสมที่จะปลูกพืชเมืองหนาวที่มีค่าสูงทางเศรษฐกิจ สถานีเกษตรหลวงอ่างขางจึงได้มีการศึกษาวิจัยและทดลองการปลูกพืชเมืองหนาวขึ้นในประเทศไทย โดยคัดเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสมที่จะนำมาปลูกบนพื้นที่สูง ทั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สถานีเกษตรหลวงอ่างขางจึงพัฒนาพืชได้หลายประเภทมากขึ้นตามลำดับ และได้นำผลการวิจัยไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรเพาะปลูก จนสามารถส่งผลผลิตออกสู่ตลาดภายใต้เครื่องหมายการค้า “ดอยคำ” ในหลายรูปแบบ
วัตถุประสงค์ของการทดลองและวิจัยการปลูกพืชเมืองหนาวของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ต่อไปนี้ คือ
1. สามารถปลูกพืชเมืองหนาวที่ไม่สามารถปลูกที่อื่นได้
2. ให้ได้คุณภาพของผลิตผลและผลประโยชน์จากการปลูกพืชดีขึ้น
3. สามารถปลูกพืชนอกฤดู ซึ่งทำให้จำหน่ายได้ราคาสูงขึ้น
4. ผลิตเมล็ดพันธุ์หรือหัวพันธุ์ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรได้
ผลของการดำเนินภารกิจต่าง ๆ ทำให้ชาวไทยภูเขามีอาชีพที่ดีขึ้น หยุดการทำลายป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอยและเลิกการปลูกฝิ่น เป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ และต้นน้ำลำธารตลอดจนแก้ปัญหาเรื่องของสารเสพติดได้ดี
วีดิทัศน์ เรื่อง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
วีดิทัศน์ เรื่อง ลักษณะอากาศบนสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
คำถาม
- ถ้าไม่มีการส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขามีการปลูกพืชเมืองหนาวบนดอยอ่างขาง นักเรียนคิดว่า ผลจะเป็นอย่างไร
กลับไปที่เนื้อหา
จากสภาพในอดีตที่ดอยอ่างขางถูกบุกรุกตัดไม้ ทำไร่เลื่อนลอยจนกลายเป็นภูเขาหัวโล้น จึงต้องมีการฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับคืนมาก่อน เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้แผ่นดินและก่อกำเนิดต้นน้ำลำธาร การฟื้นฟูสภาพป่าทำได้โดยตรงทั้งด้วยการปลูกป่าด้วยพรรณไม้หลากหลายพันธุ์ ตลอดจนการทิ้งพื้นที่ป่า ให้พันธุ์ไม้เกิดและเติบโตเองโดยธรรมชาติ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานาน ดังนั้น ในพื้นที่ดอยอ่างขางจึงดำเนินการปลูกป่าด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งในการฟื้นฟูสภาพพื้นที่นั้น ดำเนินการโดยกรมป่าไม้ ส่วนงานด้านป่าไม้ของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางจะเป็นการศึกษาปลูกพันธุ์ไม้ท้องถิ่นและพันธุ์ไม้โตเร็วจากต่างประเทศ เน้นการปลูกป่าสาธิตในพื้นที่รอบๆ สถานี พันธุ์ไม้ชนิดใดที่ได้ผล หน่วยอนุรักษ์ต้นน้ำก็จะนำไปปลูกป่าในพื้นที่ต้นน้ำลำธาร
ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลไต้หวัน สามารถคัดเลือกพันธุ์ที่เหมาะสมในการปลูกที่ดอยอ่างขางและพื้นที่สูงอื่นๆ เป็นไม้โตเร็ว รวม ๕ ชนิดพันธุ์ ดังนี้
1. กระถินดอย ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia confusa Merr. ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE-MIMOSOIDEAE ชื่ออื่น ๆ ที่เรียกกัน คือ กระถินไต้หวัน เป็นไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ ขนาดกลาง สูงประมาณ ๑๕ เมตร เมล็ดออกเป็นฝักคล้ายถั่วแต่แบน ปลายทั้งสองด้านแหลมเป็นไม้พื้นเมืองของไต้หวัน เนื้อไม้มีน้ำหนักมาก แข็ง และแน่น เหมาะสำหรับทำเครื่องมือการเกษตร การก่อสร้าง ฟืน และเฟอร์นิเจอร์
2. เมเปิ้ลหอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Liquidambar formosana Hance ชื่อวงศ์ HAMAMELIDACEA มีต้นกำเนิดอยู่ในประเทศไต้หวัน เป็นไม้ต้น ผลัดใบ ขนาดใหญ่ สูง ๘ - ๑๒ เมตร ยางมีกลิ่นหอม ดอก สีเหลืองอ่อน มีขนเนื้อไม้สีแดงอมเหลือง ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้าน ลำต้นสามารถนำมา เพาะเห็ดได้
3. การบูร ชื่อวิทยาศาสตร์ Cinnamomum camphora (L.) J.Presl ชื่อวงศ์ LAURACEAE เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน เป็นไม้ต้นขนาดกลางสูงประมาณ 10 - 15 ม. ลำต้นและกิ่งเรียบ ทุกส่วนมีกลิ่นหอม โดยเฉพาะที่รากและโคนต้น มีกลิ่นหอมมากกว่าส่วนอื่นๆ ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ
4. จันทร์ทอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Fraxinus floribunda Wall. ชื่อวงศ์ OLEACEAE เป็นไม้ต้น สูงประมาณ 15 ม.ดอกสีขาว ออกเป็นช่อตามง่ามใบ ยาว 10–15 เซนติเมตร ผลแบนเป็นปีกบาง รูปใบหอกกลับ หรือกึ่งรูปช้อนปลายมน ยาวประมาณ 3.5 เซนติเมตร มี 1 เมล็ด พบในป่าดิบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 800–1,800 เมตร ในต่างประเทศพบที่เนปาล พม่า จีนตอนใต้ ลาว และเวียดนาม ปลูกเป็นไม้ประดับ
5. เพาโลเนีย ชื่อวิทยาศาสตร์ Poulownia spp.ชื่อวงศ์ SCROPHULARIACEAE เพาโลเนียเป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของจีนเป็นส่วนใหญ่มีมากกว่า 30 สายพันธุ์ เป็นพันธุ์ไม้ในเขตอากาศอบอุ่น ที่มีปริมาณน้ำฝน 500-2,600 มิลลิเมตร /ปี มีความชื้นในอากาศสูง อุณหภูมิอยู่ระหว่าง -10 ถึง 42 องศา ปัจจุบันมีความนิยมปลูกกันในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น แคนนาดา อิตาลี อังกฤษ อินโดนีเซีย ไทย เพาโลเนียเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางสูง 10-20 เมตร ผลัดใบ มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วมาก ต้นอ่อนมีเปลือกสีเขียว มีปุ่มหรือรอยแผลใบทั่วลำต้น ต้นแก่(อายุมากกว่า 5 ปี) เปลือกเป็นสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่อง เปลือกบางฉีกขาดง่ายไม่ทนไฟ ทำให้ต้นไม้ตายได้ถ้าถูกไฟไหม้ มีรากแก้วตรงและยาวได้ถึง 40 ฟุต รากแขนงและรากฝอยจะอยู่ต่ำกว่าผิวดินประมาณ 4 ฟุต ไม้เพาโลว์เนียไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง เช่น ใช้ทำเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย อันได้แก่ เปียโน กีตาร์ ไวโอลิน และขิม ซึ่งให้คลื่นเสียงที่ก้องกังวานอย่างสม่ำเสมอ ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ตู้เสื้อผ้า ลิ้นชัก เกี๊ยะไม้ กล่องโสม กล่องอัญมณี และเครื่องแกะสลัก งานฝีมือต่างๆ นอกจากนี้ ไม้เพาโลว์เนียยังใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ทำเครื่องมือเครื่องใช้ได้เช่นเดียวกับไม้โตเร็วอื่นๆ นอกจากนี้ เปลือก ใบ ดอก ผล และเนื้อไม้ ยังมีคุณค่าในเชิงสมุนไพรอีกด้วย โดยสามารถนำไปใช้ในการผลิตยาแก้ไอ หอบหืด ขับเสมหะ ลดความดันโลหิต ฯลฯ ใบและดอกมีโปรตีนสูง จึงเหมาะสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ จำพวกหมู แกะ และกระต่าย รวมทั้งใช้ทำปุ๋ยคอกชั้นดีอีกด้วย
วีดิทัศน์ เรื่อง แปลงปลูกป่า
คำถาม
- สืบค้นชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อวงศ์ของพืชที่มีอยู่ในโรงเรียน
เอกสารอ้างอิง
http://www.qsbg.org/
อาจารย์บุญวงศ์ ไทยอุตส่าห์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
กลับไปที่เนื้อหา
ไม้ดอกที่ปลูกไว้บนสถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นไม้ดอกที่เจริญเติบโตได้ดีบนที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางไม่น้อยกว่า 1,000 เมตรขึ้นไป มีอากาศเย็นตลอดปีและมีความชื้นสูง สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง มีการจัดสวนไม้ดอกเมืองหนาวไว้ให้ชมและเข้าศึกษาไว้หลายที่ ได้แก่ เรือนดอกไม้ ที่เป็นเรือนในร่ม มีกล้วยไม้ชนิดต่าง ๆ รองเท้านารี โคมญี่ปุ่น และอื่น ๆ อีกหลายชนิด
วีดิทัศน์ เรื่อง เรือนดอกไม้
ไม้เมืองหนาวที่ปลูกไว้กลางแจ้งมีทั้งไม้ดอก ไม้พุ่มและไม้ยืนต้น ทางสถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้จัดเป็นสวนรวบรวมพันธุ์ไม้ไว้เป็นสวนต่าง ๆ ดังนี้
สวน 80 ปลูกไม้ดอกเมืองหนาว ที่ออกดอกในฤดูต่าง ๆ บางชนิดออกดอกในฤดูหนาว เช่น เจอราเนียม บีโกเนีย เดลฟีเนียม อาเจอราตุ้ม กาซาเนีย พริมูลา เดซี
เจอราเนียม บีโกเนีย
เดลฟิเนียม อาเจอราตุ้ม
กาซาเนีย เดซี
ไม้ดอกบางชนิดออกดอกในฤดูร้อน และฤดูฝน เช่น ดอกซัลเวีย อากาแพนธัส ตาเลีย ดอกไม้ที่กล่าวมาแล้วส่วนมากเป็นไม้ล้มลุก มีไม้ดอกบางชนิดที่เป็นไม้ดอกเจริญข้ามปี และไม้พุ่ม ก็มีปลูกในสวนนี้ด้วย เช่น ปักษาสวรรค์ แคล่าลิลี่ ลาเวนเดอร์ ไฮเดรนเยีย อาซาเลีย เป็นต้น
ซัลเวีย อากาแพนธัส
ปักษาสวรรค์ ลาเวนเดอร์
ไฮเดรนเยีย อาซาเลีย
วีดิทัศน์ เรื่อง สวน 80
สวนคำดอย เป็นสวนที่รวบรวมพันธุ์ไม้ตระกูลโรโดเดนดรอนสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ พันธุ์ไม้ตระกูลนี้ในประเทศไทยรู้จักกันในชื่อของ กุหลาบพันธุ์ปี นั่นเอง
โรโดเดนดรอน โรโดเดนดรอน
วีดิทัศน์ เรื่อง สวนคำดอย
สวนสมเด็จ เป็นสวนหินธรรมชาติที่สามารถมองเห็นลักษณะของภูมิประเทศโดยรอบที่เป็นภูเขาล้อมรอบได้ ภายในสวนนี้จะรวบรวมพันธุ์ไม้ประเภทดอกป๊อปปี้และฝิ่นประดับ มีการปลูกด้วยวิธีหว่านเมล็ดตามฤดูกาล
ป็อปปี้ ฝิ่นประดับ
วีดิทัศน์ เรื่อง สวนสมเด็จ
คำถาม
- หินที่มีในธรรมชาติบริเวณสวนสมเด็จ เป็นหินชนิดใด สังเกตได้จากอะไร
เอกสารอ้างอิง
รองเท้านารี จาก http://www.thaigoodview.com/node/22004
ซิมบิเดียมหรือ กะเรกะร่อน จาก http://orchid1234.comyr.com/06_(Cymbidium).htm
กลับไปที่เนื้อหา
เรามักจะเข้าใจกันว่า กลิ่นหอมของพืชมาจากดอกไม้เท่านั้น ดอกไม้ส่วนมากส่งกลิ่นหอมได้ก็จริง แต่พืชบางชนิดกลิ่นอาจมาจากส่วนอื่น ๆ เช่น ใบ ลำต้น หรือเมล็ดได้ด้วย ไม้หอมมีทั้งไม้ยืนต้น ไม้เลื้อยและไม้ล้มลุก สถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้รวบรวมไม้หอมชนิดต่าง ๆ ปลูกไว้ใน สวนหอม ในสถานีฯ ซึ่งมีพันธุ์ไม้หอมหลายชนิด เช่น วานิลลา เจอราเนียม ลาเวนเดอร์ หอมหมื่นลี้ มะโฮเนีย มิชิเลีย มะลิเลื้อย เพลาโกเนียม เป็นต้น
วานิลลา เจอราเนียม
ลาเวนเดอร์ หอมหมื่นลี้
มะลิเลื้อย เพลาโกเนียม
วีดิทัศน์ เรื่อง สวนหอม
คำถาม
- สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับพันธุ์ไม้หอมในประเทศไทยที่รู้จัก ระบุด้วยว่า กลิ่นหอมจากพันธุ์ไม้แต่ละชนิดมาจากส่วนใดของพืช
- สืบค้นข้อมูลวิธีสกัดน้ำมันหอมระเหยจากพืช
เอกสารอ้างอิง
วานิลลา จาก http://www.oknation.net/
เจอราเนียม http://www.afmgroup.com/
ลาเวนเดอร์ http://www.teaatall.com/
หอมหมื่นลี้ http://www.baanlaesuan.com/
มะลิเลื้อย http://www.siamsouth.com/
เพลาโกเนียม http://www.thairoyalprojecttour.com/
กลับไปที่เนื้อหา
กุหลาบ มีชื่อสามัญคือ Rose ชื่อวิทยาศาสตร์ Rose hybrida Rosa. chinensis. วงศ์ ROSACEAE กุหลาบเป็นไม้ตัดดอกที่น่าสนใจ เนื่องจากใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งการปลูกเป็นไม้ประดับและการปลูกตัดดอกขาย กุหลาบเป็นที่นิยมของคนทั่วไป นอกจากนี้ผู้ปลูกกุหลาบยังสามารถหารายได้จากการขยายพันธุ์กิ่งตอน กิ่งติดตา และต้นล้างรากอีกด้วย
กุหลาบจะปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิดทั้งในดินที่เป็นกรดหรือด่างที่เป็นดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย ร่วนเหนียว มีความชื้นปานกลาง ระบายน้ำได้ดี แต่เจริญได้ดีในดินที่ค่อนข้างเป็นกรดเล็กน้อย มี pH ประมาณ 4.5 - 6.5 กุหลาบต้องการแสงแดดจัดกลางแจ้ง ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง และอุณหภูมิต่ำ กุหลาบที่ปลูกในประเทศไทยจึงเจริญเติบโตได้ดีในฤดูหนาว โดยเฉพาะบริเวณที่สูงซึ่งมีอากาศเย็น ความชื้นสูงและแสงแดดจัด
การขยายพันธุ์กุหลาบ ทำได้ทั้งการตอน การตัดชำและการติดตา การตัดชำกิ่งเป็นวิธีที่นิยมทำกันมากในปัจจุบันเพราะได้จำนวนต้นมากในระยะเวลาสั้น เสียค่าใช้จ่ายน้อย แต่กิ่งชำนี้เมื่อนำไปปลูกต้นจะโทรมเร็วภายใน 3- 4 ปี กุหลาบไม่นิยมขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เพราะอัตราการงอกน้อย ใช้เวลานานและกลายพันธุ์ได้ง่าย
คำถาม
- ผลกุหลาบลักษณะอย่างไร
- สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับผลกุหลาบว่านำมาใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง อย่างไร
สถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้ทดลองปลูกและขยายพันธุ์กุหลาบตัดดอก โดยใช้สายพันธุ์จากประเทศฮอลแลนด์และได้มีการปรับปรุงพันธุ์จนได้ดอกกุหลาบที่มีดอกใหญ่ กิ่งยาวกลีบหนา เพื่อส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาได้นำไปปลูก ซึ่งได้ผลดีสามารถส่งจำหน่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
วีดิทัศน์ เรื่อง โรงเรือนกุหลาบตัดดอก
นอกจากกุหลาบตัดดอกแล้วสถานีเกษตรหลวงอ่างขางยังได้นำพันธุ์กุหลาบจากประเทศอังกฤษจำนวน 240 สายพันธุ์ มาปลูกไว้ในสถานีฯด้วย และยังมีกุหลาบไทยดั้งเดิมทั้งกุหลาบเลื้อย กุหลาบพุ่ม กุหลาบหนูรวมอยู่ด้วยโดยแยกปลูกไว้เป็นกลุ่ม ๆ
วีดิทัศน์ เรื่อง กุหลาบอังกฤษ
คำถาม
- ลักษณะของกุหลาบอังกฤษ แตกต่างจากกุหลาบตัดดอกที่นักเรียนรู้จักอย่างไร
เอกสารอ้างอิง
http://www.weloveshopping.com/
http://cambreenotes.com/
http://thaikasetsart.com
http://www.learners.in.th/
กลับไปที่เนื้อหา
สตรอว์เบอร์รี่ บ๊วยหรือพลัม
กีวี พลับ
สถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้นำไม้ผลเมืองหนาวมาทดลองปลูกและขยายพันธุ์ เพื่อส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขานำไปปลูกทดแทนการปลูกฝิ่น และลดการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ พันธุ์ไม้ผลส่วนมากได้รับพันธุ์มาจากไต้หวัน จีนและประเทศอื่น ๆ บ้าง ตัวอย่างของไม้ผลที่ทดลองปลูกจนประสบผลสำเร็จและขยายพันธุ์แล้ว เช่น
6.1 สตรอเบอรี่ (strawberry) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Fragaria ananassa วงศ์ ROSACEAE เป็นพืชที่ต้องปลูกในดินร่วนที่อุดมสมบูรณ์ พื้นที่มีระดับความสูงจากน้ำทะเลตั้งแต่ 800 เมตรขึ้นไปมีอุณหภูมิ 10-25 องศาเซลเซียส และมีอากาศเย็นตลอดปี พันธุ์ที่ส่งเสริมให้ปลูกในปัจจุบัน เช่น พันธุ์พระราชทาน 70 ซึ่งเป็นสายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น ใบมีลักษณะกลมใหญ่ และสีเขียวเข้มไม่ทนต่อราแป้ง แต่ทนต่อโรคเหี่ยว ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง น้ำหนักต่อผล 11.5 - 13.0 กรัม ผลมีลักษณะทรงกลมหรือทรงกรวย สีแดงสดใสแต่ไม่สม่ำเสมอ เนื้อและผลค่อนข้างแข็ง มีกลิ่นหอม มีความฉ่ำและรสชาติหวาน พันธุ์พระราชทาน 72 ก็เป็นสายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น ชื่อพันธุ์ TOCHIOTOME น้ำหนักต่อผล 14 กรัม เนื้อผลแข็งกว่าพันธุ์พระราชทาน 70 แต่มีความหวานน้อยกว่า มีกลิ่นหอมเมื่อเริ่มสุก เนื้อภายในผลมีสีขาว ผิวผลเมื่อสุกเต็มที่จะมีสีแดงถึงแดงจัด เงาเป็นมันที่ผิวผล ทนต่อการขนส่งมากกว่าพันธุ์อื่น
6.2 พลับ (Persimmon) ชื่อวิทยาศาสตร์ Diospyros kaki วงศ์ EDENANEAE ขึ้นได้ดีในที่มีอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของพลับควรจะเฉลี่ย 14-15 องศาเซลเซียส
6.3 บ๊วย (Japanese apricot) ชื่อวิทยาศาสตร์ Prunus mume Sieb.et.Zicc. วงศ์ ROSACEAE บ๊วยที่ปลูกเป็นพันธุ์จากไต้หวัน บ๊วยต้องการช่วงสภาพอากาศที่หนาวเย็นในช่วงเวลาหนึ่งอุณหภูมิเฉลี่ยที่เหมาะสมของบ๊วยจะอยู่ที่ประมาณ 13 – 15 องศาเซลเซียส
6.4 กีวี (Kiwi fruit) ชื่อวิทยาศาสตร์ Actinidia deliciosa (A. Chev.) C.F.Liang et A.R.Ferguson var. deliciosa อยู่ในวงศ์ ACTINIDIACEAE กีวี เป็นไม้ผลเขตหนาว ถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเหนือของหุบเขาแยงซี ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน รู้จักกันมานานในชื่อ “ไชนิส กูสเบอรี่” (Chinese gooseberry) แต่ได้ถูกนำไปพัฒนาและปลูกเป็นการค้าที่ประเทศนิวซีแลนด์เป็นแห่งแรกและได้ เปลี่ยนเป็นชื่อ “กีวีฟรุต” เพราะนกกีวีเป็นสัญลักษณ์ของประเทศนิวซีแลนด์ กีวีต้องการความหนาวเย็นประมาณ 700-800 ชั่วโมง ดังนั้นพื้นที่ปลูกในประเทศไทยต้องมีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200 เมตรขึ้นไป ที่น่าสนใจคือ กีวีเป็นพืชที่มีดอกไม่สมบูรณ์เพศ ที่มีดอกเพศผู้และดอกเพศเมียแยกต้นกัน ในการปลูกจึงต้องปลูกต้นที่มีดอกเพศผู้และดอกเพศเมียในบริเวณเดียวกัน
6.5 สาลี่ (Asian pear) ชื่อวิทยาศาสตร์ Pyrus pyrifolia วงศ์ Rosaceae สาลี่เป็นไม้ผลเขตหนาว สาลี่ที่ปลูกในประเทศไทย เป็นชนิดสาลี่เอเชีย ซึ่งเนื้อผลจะกรอบและฉ่ำน้ำ ต่างจากสาลี่ยุโรปที่เนื้อผลจะอ่อนนิ่ม พันธุ์สาลี่ที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์ Yokoyama Wase, Xiang Sui และพันธุ์ใหม่ (SH-078 และSH-085)
วีดิทัศน์ เรื่อง แปลงไม้ผล(กีวี่ฟรุต)
วีดิทัศน์ เรื่อง แปลงไม้ผล(พีชและสาลี่)
คำถาม
- ไม้ผลเมืองหนาวใช้วิธีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีใด เทคนิคการโน้มกิ่งของพืช ทำเพื่อวัตถุประสงค์อะไร
เอกสารอ้างอิง
บ๊วยหรือ พลัม http://www.hort.purdue.edu/
กีวี http://lagnadan.exteen.com/
พลับ (persimmon) http://www.hrdi.or.th/
http://skilletchronicles.com
http://duke.edu
http://scottlouie.com
http://mmail.com.my
http://mis.hrdi.or.th
http://kanchanapisek.or.th
กลับไปที่เนื้อหา
ผักเมืองหนาวเป็นที่รู้จักกันในลักษณะของผักที่ใช้ทำสลัด ตลาดมีความต้องการมากในการใช้บริโภคทั้งภายในประเทศและส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ สถานีเกษตรหลวงอ่างขางซึ่งอยู่บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 1400 เมตรและอากาศหนาวเย็นตลอดปี ทำให้สามารถปลูกพืชผักเมืองหนาวได้หลายชนิดที่แตกต่างจากพื้นที่ราบทั่วไป ซึ่งการปลูกผักบนพื้นที่สูง มีข้อดีอยู่หลายประการ เช่น สามารถผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนปลูกพืชชนิดเดียวกันหรือหลายชนิด ในแต่ละสภาพพื้นที่ได้ตลอดปี ผักเมืองหนาวเป็นพืชเศรษฐกิจที่ เหมาะสมแก่การนำมาปลูกทดแทนฝิ่นของชาวไทยภูเขา แต่ผู้ปลูกจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับแต่ละชนิดพืช รวมทั้งปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ชนิดพืช พันธุ์พืช การเตรียมดิน การปฏิบัติดูแลรักษา โรคแมลง การให้น้ำให้ปุ๋ยในระยะต่างๆ ของการเจริญเติบโต การเก็บเกี่ยว ตลอดจนการนำเทคโนโลยี และวิธีการต่างๆ ที่ถูกต้องและเหมาะสมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ ผักเมืองหนาวยังสามารถปลูกด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ คือไม่ใช้ดินอีกด้วย
วีดิทัศน์ เรื่อง โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผักเมืองหนาว
คำถาม
- ผักเมืองหนาวใช้ส่วนใดของพืชในการขยายพันธุ์
- พันธุ์ผักเมืองหนาวได้มาจากที่ใด สืบค้นข้อมูลการปลูกพืชโดยระบบไฮโดรโปนิกส์
เอกสารอ้างอิง
กรีนโอ๊ค จาก weloveshopping.com จาก weekendhobby.com
กลับไปที่เนื้อหา
ชาเป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่ปลูกได้เฉพาะบนพื้นที่สูง สถานีเกษตรหลวงอ่างขางก็มีการส่งเสริมให้ชาวไทยภูเขาปลูกชา และสถานีได้ตั้งโรงงานชาเพื่อรับซื้อผลผลิตใบชาสดมาทำเป็นชาที่พร้อมชงดื่ม สำหรับจำหน่ายต่อไป
วิกิพีเดีย เล่าไว้ว่าในการทำใบชา ใบสดของต้นชาจะถูกทิ้งให้สลด และ บ่มโดยทำให้เอนไซม์ในใบชาเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกับออกซิเจนในอากาศ ใบชาจะมีสีเข้มขึ้น คลอโรฟิลล์ในใบชาจะแตกตัว กลายเป็นสารแทนนินที่ให้รสฝาด ต่อจากนั้น ต้องหยุดการทำงานของเอนไซม์โดยใช้ความร้อนเพื่อให้หยุดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น โดยในชาดำกระบวนการนี้จะดำเนินคู่กันไปกับการทำให้แห้ง หากไม่ระมัดระวังในการควบคุมความชื้นและอุณหภูมิระหว่างกระบวนการผลิต ใบชาอาจขึ้นรา เกิดปฏิกิริยาสร้างสารพิษที่อาจเป็นสารก่อมะเร็งขึ้นได้ ทำให้รสชาติเสียไป และอันตรายต่อการบริโภค ชา สามารถจัดประเภทตามกระบวนการแปรรูปต่างๆ ได้ดังนี้ต่อไปนี้
ชาขาว | ตูมชาและยอดอ่อนชาที่ถูกทิ้งให้สลด แต่ไม่ได้บ่ม เมื่อชงชาแล้วจะได้ครื่องดื่มที่มีสีเหลืองอ่อน |
ชาเหลือง | ใบชาที่ไม่ได้ถูกทิ้งให้สลด และไม่ได้บ่ม แต่ทิ้งใบชาให้เป็นสีเหลือง |
ชาเขียว | ใบชาที่ไม่ได้ถูกทิ้งให้สลดและไม่ได้บ่ม เมื่อชงจะได้เครื่องดื่มสีเขียวอ่อน |
ชาแดง | ใบของชาเขียวที่ผ่านกระบวนการออกซิเดชั่นหรือการหมัก จนได้เป็นใบชาสีเข้ม เมื่อชงจะได้เครื่องดื่มสีน้ำตาลแดง |
ชาอูหลง | ใบชาที่ทิ้งให้สลด นวด และบ่มเล็กน้อย เครื่องดื่มที่ได้จะมีสีเขียวทอง |
ชาดำ | ใบชาที่ทิ้งให้สลด (อาจมีการนวดอย่างแรง) และผ่านการบ่มเต็มกระบวนการ เครื่องดื่มที่ได้มีสีแดงเข้มจนถึงสีดำ |
ชาหมัก | ชาเขียวที่ผ่านกระบวนการหมักนานนับปี |
วีดิทัศน์ เรื่อง โรงงานชา
คำถาม
- การผลิตชาของโรงงานชาในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางมีกระบวนการอย่างไร ชาที่ได้จากชาวไทยภูเขานำมาผลิตเป็นชาประเภทใดได้บ้าง
เอกสารอ้างอิง
http://gotoknow.org
กลับไปที่เนื้อหา
บอนไซถือกำเนิดมาจากจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์จิ้น ประมาณปีพุทธศักราช 800 ถึง 900 คำว่า ไม้แคระ ภาษาจีนออกเสียงว่า "บุ่งไช่" มีความหมายถึงการตัดแต่งต้นไม้ในกระถาง ส่วนการจัดสวนถาดหรือต้นไม้ย่อส่วนประดับทิวทัศน์นั้น มาเริ่มนิยมกันในสมัยราชวงศ์ถัง ประมาณปีพุทธศักราช 1160 และเป็นงานอดิเรกที่ขึ้นชื่อของคนในสมัยนั้น เมื่อญี่ปุ่นเข้ามามีความสัมพันธ์กับจีน ศิลปวัฒนธรรมจีนก็เริ่มเข้าไปมีอิทธิพลต่อประเทศญี่ปุ่นอย่างมาก มาจนสมัยราชวงศ์หยวน (พ.ศ.1823 - 1911) ญี่ปุ่นก็ได้นำเอาศิลปะของไม้ย่อส่วนหรือไม้แคระเข้าสู่ประเทศ และได้พัฒนาศิลปแขนงนี้เรื่อยมา
วีดิทัศน์ เรื่อง สวนบอนไซ
คำถาม
- สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการปลูกบอนไซ
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังวิดีทัศน์
ตอน ดอกไม้เมืองหนาว
ตอน สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง
ตอน สวนหอม
ตอน สวนสมเด็จ
ตอน สวนคำดอย
ตอน แปลงไม้ผล (พีชและสาลี่)
ตอน แปลงไม้ผล (กีวี่ฟรุต)
ตอน โรงเรือนรวบรวมพันธุ์ผักเมืองหนาว
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนนางสาวเบ็ญจมาศ รุ่งโรจน์ธีระ โรงเรียนบ่อกรุวิทยาผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนคุณครูสุนทร หอมหวล โรงเรียนมัธยมตระการพืชผลผู้เขียนแผนการสอนคุณครูดรรชนี ศรีธัญรัตน์ โรงเรียนมัธยมตระการพืชผลผู้เขียนแผนการสอนนายอนันต์ บุญมาก โรงเรียนพร้าววิทยาคมผู้เขียนแผนการสอนนางบุญศรี แสนศิริ โรงเรียนเทพศิรินทร์ เชียงใหม่
-
คำที่เกี่ยวข้อง