แหล่งเรียนรู้วนอุทยานถ้ำแก้วโกมล
- 1. การแนะนำ
- 2. ตัวชี้วัดและจุดประสงค์การเรียนรู้
- 3. ที่ตั้งและภูมิประเทศ
- 4. การเดินทาง
- 5. ความเป็นมา
- 6. ห้องที่ 1 พระทัยธาร
- 7. ห้องที่ 2 วิมานเมฆ
- 8. ห้องที่ 3 เฉกหิมพานต์
- 9. ห้องที่ 4 ม่านผาแก้ว
- 10. ห้องที่ 5 เพริศแพร้วมณีบุบผา
- 11. ถ้ำเกิดได้อย่างไร
- 12. หินงอกและหินย้อย เกิดได้อย่างไร
- 13. การตกผลึกของแร่แคลไซต์
- 14. กิจกรรม : การละลายหินปูน
- - ทุกหน้า -
การค้นพบถ้ำแก้วโกมล เกิดด้วยความบังเอิญ โดยนายช่างสนั่น บุญทองใหม่ วิศวกรเหมืองแร่ ประจำสำนักงานทรัพยากรธรณี จังหวัดแม่ฮ่องสอน ดำเนินการตรวจสอบประทานบัตรเหมืองแร่ฟลูออไรต์ในเขตประทานบัตร ของห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.วี.ซัพพลายส์ (ไทยแลนด์) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2536ทำให้พบว่าจากการขุดอุโมงค์เพื่อค้นหาแร่ฟลูออไรต์ กลับพบถ้ำที่เต็มไปด้วยผลึกแคลไซต์ที่มีความบริสุทธิ์อยู่ภายใน โดยไม่พบแร่ฟลูออไรต์ ที่ตั้งใจค้นหา การขุดอุโมงค์เพื่อทำเหมืองจึงหยุดลง
ระยะแรกของการตรวจพบถ้ำผลึกแคลไซต์ สภาพทางเข้าถ้ำไม่ได้มีความมั่นคงแข็งแรง เสี่ยงต่อการพังทลาย ในปี พ.ศ.2538 ทางกรมทรัพยากรธรณี ได้ปรับปรุงทางเข้าถ้ำใหม่ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
กลับไปที่เนื้อหา
ตัวชี้วัดชั้นปี (ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ชั้น ม. 2 ) ตรวจสอบและอธิบายลักษณะทางกายภาพของแร่และการนำไปใช้ประโยชน์
จุดประสงค์การเรียนรู้
1. ตรวจสอบและบอกความหมายของแร่ประกอบหินได้
2. เข้าใจและอธิบายการเกิดถ้ำในภูเขาหินปูนและการเกิดหินงอกหินย้อยได้
3. ทดลองและบอกลักษณะของผลึกแร่ประกอบหินปูนได้
4. สืบค้นข้อมูลและบอกประโยชน์ของแร่แคลไซต์ได้
กลับไปที่เนื้อหา
กลับไปที่เนื้อหา
การเดินทางไปถ้ำแก้วโกมล ใช้การเดินทางโดยรถยนต์ เริ่มต้นจากจังหวัดเชียงใหม่ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 สายเชียงใหม่ - ฮอด - แม่สะเรียง ซึ่งเป็นถนน ลาดยางขนาด 2 เลน ผ่านอำเภอหางดง อำเภอดอยหล่อ อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่เข้าสู่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามลำดับ เป็นเส้นทางที่คดเคี้ยวไปตามไหล่เขาและสันเขา ระยะทางรวมประมาณ 230กิโลเมตร เมื่อถึงถนนที่ติดกับโรงพยาบาลอำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เลี้ยวขวาเข้าทางไปบ้านห้วยมะไฟ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามถนนคอนกรีตกว้าง 4 เมตร ประมาณ 4 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการของวนอุทยานแก้วโกมล จะต้องมีการเปลี่ยนรถที่จุดนี้เพื่อขึ้นรถสองแถวที่ขับโดยคนท้องถิ่นที่ชำนาญเส้นทางบนภูเขา เดินทางต่อไปตามทางถนนซึ่งลัดเลาะตามไหล่เขาที่มีสภาพสูงชันอีกประมาณ 500 เมตร จะถึงปากถ้ำแก้วโกมล
วิดีทัศน์ เรื่อง การเดินทางไปถ้ำแก้วโกมล
กลับไปที่เนื้อหา
การค้นพบถ้ำแก้วโกมล เกิดด้วยความบังเอิญ โดยนายช่างสนั่น บุญทองใหม่ วิศวกรเหมืองแร่ ประจำสำนักงานทรัพยากรธรณี จังหวัดแม่ฮ่องสอน ดำเนินการตรวจสอบประทานบัตรเหมืองแร่ฟลูออไรต์ในเขตประทานบัตร ของห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.วี.ซัพพลายส์ (ไทยแลนด์) เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2536ทำให้พบว่าจากการขุดอุโมงค์เพื่อค้นหาแร่ฟลูออไรต์ กลับพบถ้ำที่เต็มไปด้วยผลึกแคลไซต์ที่มีความบริสุทธิ์อยู่ภายใน โดยไม่พบแร่ฟลูออไรต์ ที่ตั้งใจค้นหา การขุดอุโมงค์เพื่อทำเหมืองจึงหยุดลง
ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรถ้ำแห่งนี้ พร้อมๆกับได้พระราชทานนามให้ใหม่ว่า "แก้วโกมล" นอกจากนี้พระองค์ท่านยังได้พระราชทานนามห้องต่างๆ ใน ถ้ำแก้วโกมลซึ่งมีอยู่ภายในถ้ำ จำนวน 5 ห้องให้อีกด้วย
กลับไปที่เนื้อหา
ห้องแรกมีชื่อพระราชทานว่า "พระทัยธาร" มีที่มาจากการที่น้ำในถ้ำ ละลายกับหินปูนทำให้ เกิดภาพน้ำไหลเหมือนเป็นธารน้ำตก ห้องพระทัยธารซึ่งเป็นห้องแรกนี้ เป็นห้องที่ได้รับความเสียหายจากการระเบิดอุโมงค์มากที่สุด สังเกตได้จากเศษหินที่กระจัดกระจายอยู่ภายใน มีโพรงที่จากการทำเหมืองตามสายแร่ฟลูออไรต์ หินงอก หินย้อยต่างๆได้รับความเสียหายจากการสำรวจไปมาก จึงไม่งดงามมากนัก มีเพียงร่องรอยลวดลายสายน้ำตกอันเป็นที่มาของชื่อห้องเท่านั้น
วิดีทัศน์ เรื่อง ห้องพระทัยธาร
กลับไปที่เนื้อหา
ถัดมาเป็นห้องที่ 2 มีชื่อพระราชทานว่า "วิมานเมฆ" ตั้งตามลักษณะของแร่ที่อยู่ตามเพดาน ซึ่งดูคล้ายปุยเมฆ ห้องนี้มีลักษณะเป็นช่องยาว บางช่วงเป็นรูแคบ ๆ ซึ่งเป็นลักษณะของโพรงน้ำไหลในอดีต ทำให้มีความลำบากในการเดินสำรวจ มีหินงอก หินย้อย และบางจุดมีผลึกแร่แคลไซต์เกาะอยู่ ผลึกบางส่วนได้แตกหักเสียหายและมีรอยเปื้อนจากการถูกจับต้องระหว่างการเข้าสำรวจ
วิดีทัศน์ เรื่อง ห้องวิมานเมฆ
กลับไปที่เนื้อหา
ลึกเข้าไปเป็นห้องที่ 3 ชื่อพระราชทานว่า"เฉกหิมพานต์" เกิดจากจินตนาการขององค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ที่ทรงทอดพระเนตรแล้วเหมือนอยู่ในป่าหิมพานต์ตามวรรณคดีไทย ห้องนี้เป็นห้องขนาดใหญ่มีผลึกแร่แคลไซต์ สีขาวขุ่นถึงสีน้ำตาล
วิดีทัศน์ เรื่อง ห้องเฉกหิมพานต์
กลับไปที่เนื้อหา
ถัดเข้าไปเป็นห้องที่ 4 ที่มีชื่อพระราชทานอันเพราะพริ้งว่า "ม่านผาแก้ว" ภายในห้องนี้เราจะเห็นความงดงามที่เต็มไปด้วยผลึกแร่แคลไซต์ สีขาวใสเหมือนแก้วเกาะอยู่ราวกับม่านเต็มถ้ำ มีทั้งลักษณะที่คล้ายปะการัง คล้ายเข็ม และเกล็ดน้ำแข็ง ผลึกทั้งสามแบบมีความเปราะบางที่สุด ได้รับผลกระทบจากอากาศภายนอกจนลดน้อยลงไปมาก ส่วนผลึกรูปปะการังเป็นผลึกขนาดเล็กละเอียด จับตัวต่อเนื่องเป็นผืนจนเต็มผนังอย่างสวยงาม พบตอนในสุดของห้อง
วิดีทัศน์ เรื่อง ห้องม่านผาแก้ว
กลับไปที่เนื้อหา
ชั้นในสุดคือห้องที่ 5 มีชื่อพระราชทานว่า "เพริศแพร้วมณีบุบผา" ซึ่งโดดเด่นไปด้วยผลึกแร่แคลไซต์ที่มีความละเอียดเป็นรูปเข็มคล้ายเกล็ดน้ำแข็ง เปราะบาง แตกหักง่าย จัดเป็นผลึกที่ สวยงามและเด่นที่สุดของถ้ำ ห้องนี้เป็นห้องสุดท้ายโดยพบอยู่ด้านในสุด เป็นห้องที่สวยงามที่สุดของถ้ำ เนื่องจากมีผลึกแร่แคลไซต์ที่มีความสมบูรณ์เป็นจำนวนมากและมีรูปแบบหลากหลาย โดยเฉพาะผลึกแร่แคลไซต์รูปเข็มและคล้ายปะการัง ห้องนี้นอกจากอยู่ลึกที่สุด สวยงามที่สุดแล้ว อากาศยังน้อยด้วย ไม่ถ่ายเทตามจุดต่างๆของถ้ำ มี การติดตั้งไฟสปอตไลท์ส่องตามจุดต่าง ๆ แต่จะเปิดเฉพาะเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมเท่านั้น เพื่อไม่ให้ความร้อนจากหลอดไฟส่งผลกระทบต่อผลึกแคลไซต์ที่สร้างความงามให้แก่ถ้ำ
วิดีทัศน์ เรื่อง ห้องเพริศแพร้วมณีบุบผา
กลับไปที่เนื้อหา
ถ้ำ (cave) กับโพรง (cavity) นั้นมีความหมายแตกต่างกัน พจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ. 2544 ให้ความหมายไว้ดังนี้
ถ้ำ หมายถึง ช่องที่เป็นโพรงลึกเข้าไปในพื้นดินหรือภูเขา มีขนาดใหญ่พอที่มนุษย์สามารถเข้าไปได้ เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยทั่วไป ถ้ำเกิดในหินปูนที่มีน้ำใต้ดินไหลผ่านกัดเซาะ พบมีอยู่ตามภูเขาหินปูนหรือเกิดตามภูเขาชายฝั่งทะเล หรือโพรงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์
โพรง หมายถึง ช่องว่าง หรือโพรงที่เกิดตามธรรมชาติใต้ผิวดิน มีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ หรือเกิดจากฟองอากาศในเนื้อหิน โดยเฉพาะหินภูเขาไฟ
ภูเขาหินปูนซึ่งเป็นหินที่มีความแข็งไม่มาก และละลายในกรดอ่อน ๆ ได้ เมื่อฝนตก น้ำฝน (H2O)จะรวมกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ (CO2) เกิดเป็นกรดคาร์บอนิก (H2 CO3) ดังสมการ
H2O + CO2 ------> H2 CO3
น้ำฝนที่มีสภาพเป็นกรดคาร์บอนิกอ่อน ๆ นี้ จะไหลเข้าไปตามรอยแตกของหิน และละลายหินปูน (Ca CO3 ) เกิดเป็นสารละลายแคลเซียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต Ca (HCO3)2 สารละลายนี้ไหลไปตามรอยแตกในหิน จากที่สูงสู่ที่ต่ำด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้เกิดโพรงขึ้นในหิน เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น โพรงนั้นก็จะถูกกัดเซาะจนมีขนาดใหญ่ขึ้น ๆ จนเป็นถ้ำ
ภูเขาที่อยู่ริมฝั่งทะเลหรือบนเกาะต่าง ๆ น้ำทะเลและคลื่นจะกัดเซาะหินเชิงเขาที่น้ำทะเลขึ้นถึงจนเป็นโพรง โดยเกิดกับหินปูนเป็นส่วนใหญ่ ในขณะเดียวกันก็เกิดการกัดเซาะจากน้ำฝนที่เป็นกรดอ่อน ๆ ซึ่งไหลเข้าไปตามรอยแตกของหิน ทำให้โพรงขยายออก เกิดถ้ำริมทะเล ซึ่งมีอยู่หลายแห่งในประเทศไทย
คำถาม
1. สืบค้นข้อมูล บอกชื่อถ้ำที่รู้จัก 5 แห่ง
2. นอกจากกรดคาร์บอนิกจะละลายหินปูนได้ แล้ว น้ำฝนอาจรวมตัวกับก๊าซอื่นเช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นกรดซัลฟิวริก หรือรวมกับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์เป็นกรดไนตริก กรดที่เกิดขึ้นจะละลายหินปูนได้หรือไม่ จะมีวิธีที่ทำให้ทราบได้อย่างไร
กลับไปที่เนื้อหา
วิดีทัศน์ เรื่อง การปฏิบัติตัวในการชมถ้ำ
กลับไปที่เนื้อหา
กลับไปที่เนื้อหา
อุปกรณ์
1. หินปูน 1 ก้อน
2. หินแกรนิต 1 ก้อน
3. ตัวอย่างหินอื่นๆ ที่หาได้ในท้องถิ่น 2 – 3 ก้อน
4. กรดเกลือเจือจาง 1 โมล/ลิตร 20 cm3
5. หลอดหยด 1 อัน
วิธีทำกิจกรรม
1. สังเกตลักษณะของตัวอย่างหินแต่ละชนิด บันทึกผล
2. หยดกรดเกลือเจือจางลงบนหินปูนและหินแกรนิต สังเกตและบันทึกผล
3. หยดกรดเกลือเจือจางลงบนตัวอย่างหินที่หาได้ในท้องถิ่น สังเกตและบันทึกผล
คำถามท้ายกิจกรรม
1. เมื่อหยดกรดเกลือเจือจางลงบนหินปูน เกิดปฏิกิริยาเคมีหรือไม่ ทราบได้อย่างไร
2. ปฏิกิริยาเคมีระหว่างกรดเกลือกับหินปูน แตกต่างจากปฏิกิริยาเคมีระหว่างกรดเกลือกับหิน แกรนิตหรือไม่ อย่างไร
3. หินอื่น ๆ ในท้องถิ่น เกิดปฏิกิริยาเคมีกับกรดเกลือหรือไม่ ทราบได้อย่างไร
4. สรุปผลการทดลองได้ว่าอย่างไร
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังวิดีทัศน์
ตอน การเดินทางไปถ้ำแก้วโกมล
ตอน การเกิดถ้ำ
ตอน การค้นพบถ้ำแก้วโกมล
ตอน ห้องพระทัยธาร
ตอน ห้องวิมานเมฆ
ตอน ห้องเฉกหิมพานต์
ตอน ห้องม่านผาแก้ว
ตอน ห้องเพริศแพร้วมณีบุบผา
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนนายสราวุธ สุธีรวงศ์ โรงเรียนโพธาวัฒนาเสนีผู้เขียนแผนการสอนนางสนองภัทร สุธีรวงศ์ โรงเรียนโพธาวัฒนาเสนีผู้เขียนแผนการสอนนางสาวปรียานุช นิยมชาติ โรงเรียนศรียานุสรณ์ผู้เขียนแผนการสอนนางใกล้รุ่ง เจิมสุวรรณ โรงเรียนศรียานุสรณ์ผู้เขียนแผนการสอนนายเจษฏา เกิดแปลงทอง โรงเรียนวัฒนานครผู้เขียนแผนการสอนนายเฉลิมศักดิ์ พลราชม โรงเรียนวัฒนานคร
-
คำที่เกี่ยวข้อง