แหล่งเรียนรู้เหมืองถ่านหินแม่เมาะ
- 1. การแนะนำ
- 2. ตัวชี้วัดและจุดประสงค์การเรียนรู้
- 3. ที่ตั้งและการเดินทาง
- 4. ประวัติความเป็นมา
- 5. การเกิดถ่านหิน
- 6. ชนิดของถ่านหิน
- 7. แหล่งถ่านหินของประเทศไทย
- 8. ธรณีวิทยาของแหล่งถ่านหินแม่เมาะ
- 9. การทำเหมืองถ่านหิน
- 10. ความปลอดภัยในการทำเหมืองถ่านหิน
- 11. การทำเหมืองและสิ่งแวดล้อม
- 12. การนำถ่านหินไปใช้ประโยชน์
- 13. กิจกรรม : การติดไฟของถ่านหิน
- 14. กิจกรรม : ความร้อนจากถ่านหิน
- - ทุกหน้า -
เหมืองลิกไนต์ หรือ เหมืองถ่านหิน เป็นแหล่งถ่านหินซึ่งค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2460 มีปริมาณถึง 630 ล้านตัน และมีอายุประมาณ 40 ล้านปี พื้นที่เหมืองทั้งหมดเป็นของกรมป่าไม้ มีประมาณ 20,000 ไร่ สามารถใช้ได้อีกประมาณ 50 ปี บริเวณเหมืองมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินชนิดนี้เป็นเชื้อเพลิงตั้งอยู่หลายโรง
อยู่ในเขตอำเภอแม่เมาะ ซึ่งห่างจากตัวเมืองไปตามถนนสายลำปาง-เด่นชัย (จ. แพร่) เป็นระยะทาง 26 กม. สามารถเช่ารถสองแถวซึ่งจอดอยู่บริเวณตลาดบริบูรณ์ในตัวเมือง ใช้เวลาเดินทาง ประมาณ 30 นาที "ลิกไนต์" เป็นถ่านหินประเภทหนึ่งที่
นักท่องเที่ยวจะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงไปบริเวณขุดเจาะถ่านหิน เพราะมีอันตรายจากวัตถุระเบิดที่ใช้ทำเหมือง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้จัดทำจุดชมวิวสำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นสวนหย่อม ตกแต่งปลูกไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ ที่มีสีสันสวยงามสงบ และร่มรื่น ไว้ด้วย ณ จุดนี้ นอกจากจะได้ชมความงดงามของภูมิประเทศแล้ว ยังสามารถมองเห็นการทำงานของรถขุดตักแร่ซึ่ง อยู่ลึกลงไปในมุมกว้างได้อีกด้วย
กลับไปที่เนื้อหา
แหล่งเรียนรู้ออนไลน์เหมืองถ่านหิน และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีจุดประสงค์ด้านเนื้อหา สำหรับนักเรียนมัธยมปีที่ 2 ที่กำลังเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ในสาระที่ 6 กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนี้
- เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจถึงสมบัติทางกายภาพ และสมบัติทางเคมีของถ่านหินชนิดต่างๆ ตลอดจนถึงการนำถ่านหินไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะค่าความร้อน และสมบัติในการติดไฟของถ่านหิน
- เพื่อให้นักเรียนสามารถที่จะเข้าใจถึงปัจจัยที่สำคัญในการเกิดถ่านหิน สามารถอธิบาย และฝึกเขียนแผนผังการเกิดถ่านหินได้
- เพื่อให้นักเรียนเข้าใจถึงวิธีการทำเหมือง บนผิวดิน และการทำเหมืองใต้ดิน โดยใช้เหมืองถ่านหินแม่เมาะเป็นตัวอย่าง ตลอดจนถึงประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมือง ในด้านอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองถ่านหิน
- เพื่อให้นักเรียนทราบถึงขั้นตอนหลัก และเทคโนโลยีในการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง โดยอาศัยโรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นตัวอย่าง
- เพื่อให้นักเรียนทราบ และเข้าใจการทำงานของเครื่องดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิตย์ และระบบกำจัดแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์หลังจากที่มีแก๊สเกิดขึ้นแล้ว ที่ดำเนินการอยู่ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ
กลับไปที่เนื้อหา
เหมืองถ่านหินลิกไนต์ และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตั้งอยู่บริเวณ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ห่างจากอำเภอเมืองจังหวัดลำปาง ทางทิศตะวันออกประมาณ 25 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศบริเวณเหมือง และโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และพื้นที่โดยรอบ เป็นแอ่งระหว่างเขา นิยมเรียกว่า “แอ่งแม่เมาะ(Mae Moh basin)” คลุมพื้นที่ประมาณ 150 ตารางกิโลเมตร รูปร่างของแอ่งเป็นรูปคล้ายวงรี มีแนวยาวในทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกฉียงใต้ ความกว้างในทิศทางตะวันออก-ตะวันตก ประมาณ 9 กิโลเมตร และมีความยาวในทิศทางเหนือ-ใต้ ประมาณ 17 กิโลเมตร
การเดินทางเริ่มจาก อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โดยอาศัยทางหลวงหมายเลข 11 ช่วงจังหวัดลำปาง – อำเภอเด่นชัย ประมาณกิโลเมตรที่ 10 ใช้เส้นทาง"บ้านผาลาด –เหมืองแม่เมาะ"เป็นระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร
กลับไปที่เนื้อหา
ประวัติและความเป็นมาของเหมืองถ่านหินแม่เมาะ
ประวัติและความเป็นมาของเหมืองถ่านหินลิกไนต์-โรงไฟฟ้าแม่เมาะ สรุปได้ดังนี้
พ.ศ. | เหตุการณ์สำคัญ |
2460 | ในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยพลเอกพระเจ้าบรมวงค์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน (อธิบดีกรมรถไฟหลวงในขณะนั้น) ทรงมีพระประสงค์การสำรวจเชื้อเพลิงถ่านหินในประเทศ เพื่อใช้แทนฟืน ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหัวรถจักรไอน้ำ ของรถไฟ โดยจ้างชาวต่างประเทศเข้ามาดำเนินการสำรวจในระยะแรก |
2464-2466 | มีการสำรวจพบถ่านหินลิไนต์ ที่ แม่เมาะ จังหวัดลำปาง และ คลองขนาน จังหวัดกระบี่ |
2503 | รัฐบาลในขณะนั้น ได้อนุมัติให้ก่อสร้างโรงจักรแม่เมาะ เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 12,500 กิโลวัตต์ โดยใช้ถ่านหินลิกไนต์ เป็นเชื้อเพลิง |
2512 | รัฐบาลในขณะนั้นได้จัดตั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จากการรวมกิจการ และภาระหน้าที่ ของ หน่วยงาน การลิกไนต์ การไฟฟ้ายันฮี และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าไว้ด้วยกัน |
2512-2550 | การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้ดำเนินงานสำรวจปริมาณสำรอง คุณภาพของถ่านหินลิกไนต์ ที่แม่เมาะ และขยายกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบัน มีหน่วยกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า 9 หน่วย และกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 2,400เมกกะวัตต์ และใช้ถ่านหินลิกไนต์ ประมาณปีละ 15 – 17 ล้านตันต่อปี |
เอกสารอ้างอิง http://maemohmine.egat.co.th/aboutus/index.html
กลับไปที่เนื้อหา
ซากพืชเมื่อตายทับถมซึ่งกันและกัน และถูกปิดทับด้วยชั้นตะกอน จะจมตัวอย่างช้าๆ ภายในเวลาค่อนข้างสั้น (เช่น 5,000 ปี) ซากพืชจะเปลี่ยนเป็นพีท(peat) ต่อมาพีทได้รับความร้อน ความดันที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับตะกอน ทำให้พีทแปรสภาพไปเป็นถ่านหิน กระบวนดังกล่าวเรียกว่า การแปรสภาพไปเป็นถ่านหิน
ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการแปรสภาพ ไปเป็นถ่านหิน คือ อุณหภูมิ ความดัน (ความลึกของพีทที่จมตัว) และช่วงเวลาในการเกิดถ่านหิน ในระยะแรกซากพืชจะเปลี่ยนไปเป็นพีท และเมื่อเวลาผ่านไป พีท จะเปลี่ยนไปเป็น ลิกไนต์ หรือถ่านหินสีน้ำตาล ลิกไนต์จัดเป็นถ่านหินที่มีค่าชั้นคุณภาพต่ำสุด เมื่อเปรียบเทียบกับถ่านหินประเภทอื่น ช่วงเวลาในการเกิดพีท จะเกิดในหน่วยพันปี แต่ช่วงเวลาในการเกิดลิกไนต์ จะใช้เวลาหลายล้านปี เมื่อเวลาผ่านไป (หลายล้านปี) ลิกไนต์(lignite) ที่เกิดใต้ผิวโลกจะได้รับอุณหภูมิ และความดันมากขึ้น ลิกไนต์ จะเปลี่ยนสภาพไปเป็น ซับบิทูมินัส(subbituminous) บิทูมินัส(bituminous) และแอนทราไซต์(antracite) ตามลำดับ
การแปรสภาพจากพีท ไปเป็นถ่านหิน คือ ลิกไนต์ ซับบิทูมินัส บิทูมินัส ซึ่งจัดเป็นการเกิดในช่วงของการเกิดหินตะกอน เนื่องจากช่วงเกิดใต้ผิวโลกของถ่านหินที่กล่าวมา เกิดที่ความลึกไม่เกิน 6 กิโลเมตรจากผิวโลก และความร้อนไม่เกิน 180 องศาเซลเซียส ถ้าความลึกและอุณหภูมิมากกว่านี้ บิทูมินัส จะแปรสภาพไปเป็น แอนทราไซต์ และแกรไฟต์ ซึ่งจัดเป็นสภาพแวดล้อมของการเกิดหินแปร
กลับไปที่เนื้อหา
ลิกไนต์
![]() |
สมบัติทางกายภาพ เป็นถ่านหินชั้นคุณภาพต่ำ มีสีน้ำตาลจาง-เข้ม จนถึงสีดำ ในบางครั้งเรียกลิกไนต์ว่าถ่านหินสีน้ำตาล ลิกไนต์โดยทั่วไปมีความวาวด้านเหมือนดิน มีความแข็งไม่มาก และแตกร่วนได้ง่าย ในบางครั้งพบซากพืชหลงเหลืออยู่บ้าง สมบัติทางเคมี ค่าความชื้นรวม 50 – 70 % โดยน้ำหนัก |
ซับบิทูมินัส
![]() |
สมบัติทางกายภาพ จัดเป็นถ่านหินชั้นคุณภาพต่ำ มีสีดำ มีความวาวบางครั้งด้านเหมือนดินแต่บางครั้งวาวเหมือนแก้ว มีความแข็งไม่มากนัก และแตกร่วนได้แต่จะสูงกว่าลิกไนต์ ไม่สามารถแยกจากลิกไนต์สีดำได้อย่างแม่นยำโดยอาศัยสมบัติทางกายภาพ สมบัติทางเคมี ค่าความชื้นรวม = 28 - 30 % โดยน้ำหนัก |
บิทูมินัส
![]() |
สมบัติทางกายภาพ จัดเป็นถ่านหินชั้นคุณภาพสูง มีสีดำ แต่บางครั้งอาจมีสีน้ำตาลเข้ม มักพบแถบของถ่านที่มีความวาวแบบแก้ว กับความวาวด้านเหมือนดินสลับกันชัดเจน ซึ่งสมบัติดังกล่าวบางครั้งพบในถ่านหินซับบิทูมินัสเช่นกัน เนื่องจากเป็นถ่านหินที่มีความแข็งมาก ในการนำไปใช้ประโยชน์เรียกถ่านหินประเภทนี้ว่าถ่านแข็ง(hard coal) สมบัติทางเคมี ค่าความชื้นรวม 5 - 10 % โดยน้ำหนัก |
แอนทราไซต์
![]() |
สมบัติทางกายภาพ จัดเป็นถ่านหินชั้นคุณภาพสูงสุด มีสีดำ เนื้อแน่น และมีความวาวเหมือนแก้ว เป็นถ่านหินที่มีความแข็งมาก ทำให้มีชื่อทางการค้าว่า ถ่านหินแข็ง สมบัติทางเคมี ค่าความชื้นรวม 2 – 5 % โดยน้ำหนัก |
ที่มาของรูปภาพ
http://www.promma.ac.th/main/chemistry/boonrawd_site/images/lignite2.jpg
http://www.thaicapital.co.th/system/application/libraries/editer/ckfinder/userfiles/images/subbituminous.jpg
http://www.thaicapital.co.th/system/application/libraries/editer/ckfinder/userfiles/images/subbituminous.jpg
http://www.thaigoodview.com/library/contest2552/type2/science04/24/image/pic007.jpg
กลับไปที่เนื้อหา
ถ่านหินยุคคาร์บอนิเฟอรัส(Carboniferous Peroid)เป็นถ่านหินประเภทแอนทราไซต์ พบและมีการดำเนินการทำเหมือง 2 บริเวณ คือ บริเวณอำเภอนาด้วง จังหวัดเลย และบริเวณอำเภอนากลางจังหวัดอุดรธานี ปริมาณสำรองของแหล่งถ่านหินยุคนี้ไม่มีรายงานการประเมิน แต่แอนทราไซต์ที่ดำเนินการทำเหมืองไปแล้ว รวมกันประมาณ 1.6 แสนตัน (ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี 2544)
ถ่านหินที่พบในประเทศไทยส่วนมากเป็นถ่านหินที่เกิดในช่วงอายุของยุคเทอร์เชียรี(Tertiary Peroid) (ตามการแบ่งเวลาทางธรณีวิทยาแบบเก่า) หรือในช่วงยุคนีโอจีน(Neogene Peroid) (23 – 2.5 ล้านปีที่ผ่านมา ตามการแบ่งเวลาทางธรณีในปัจจุบัน) ถ่านหินที่พบส่วนมาก มีชั้นคุณภาพเป็น ลิกไนต์-ซับบิทูมินัส ที่เกิดร่วมสลับเป็นชั้นกับหินตะกอนกึ่งแข็งตัว(semi-consolidated sedimentary rock)ประเภท หินดินดาน(shale) หินโคลน(mudstone) หินทรายแป้ง(siltstone) หินทราย(sandstone) และหินกรวดมน(conglomerate)
ถ่านหินยุคเทอร์เชียรี พบแทบทุกภูมิภาคของประเทศ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ภาคเหนือ พบที่จังหวัดลำปาง ลำพูน และแพร่ ภาคกลางพบที่ จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และภาคใต้พบที่จังหวัดกระบี่ และสงขลา เป็นต้น (ดูเพิ่มเติมในตารางแหล่งถ่านหินของประเทศไทย) แหล่งถ่านหินแม่เมาะ เป็นแหล่งถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และในปัจจุบันมีการทำเหมืองโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พบปริมาณถ่านหินที่พิสูจน์แล้ว มากกว่า 1,000 ล้านตัน ในขณะที่แหล่งถ่านหินที่พบบริเวณ อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ส่วนมากเป็นลิกไนต์ เป็นแหล่งถ่านหินที่ยังไม่มีการดำเนินการทำเหมือง แต่ได้มีการสำรวจพบว่า ปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้ว ไม่น้อยกว่า 350 ล้านตัน ซึ่งจัดเป็นแหล่งถ่านหินลิกไนต์ ที่มีปริมาณสำรองเป็นอันดับสองรองจากแหล่งถ่านหินแม่เมาะ
เอกสารอ้างอิง
กรมทรัพยากรธรณี 2544 ธรณีวิทยาประเทศไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542, กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม, 556 หน้า.
กลับไปที่เนื้อหา
บริเวณภาคเหนือของประเทศไทย พบแอ่งสะสมตัวของตะกอนที่มีชื่อเรียกว่าแอ่งเทอร์เชียรี เนื่องจากเป็นแอ่งสะสมตัวของตะกอนที่เกิดในช่วงเวลาดังกล่าว แอ่งแม่เมาะ เป็นหนึ่งในแอ่งสะสมตัวของตะกอน ที่มีความสำคัญเนื่องจากมีการสำรวจพบถ่านหินที่มีปริมาณสำรองพิสูจน์แล้ว(measured reserve)มากที่สุดของประเทศ
แอ่งแม่เมาะ มีรูปร่างคล้ายวงรี โดยมีแกนยาว 16 กิโลเมตร วางตัวในทิศทางตะวันออกเฉียงเหนือ – ตะวันตกเฉียงใต้ โดยมีบริเวณกว้างสุด ประมาณ 9 กิโลเมตร หินตะกอนที่พบในแอ่งแม่เมาะ มีอายุในช่วงสมัยไมโอซีน(Miocene Epoch) (23.0 – 5.3 ล้านปีที่ผ่านมา) เป็นหินตะกอนกึ่งแข็งตัว มีความหนาของชั้นตะกอนรวมกันประมาณ 1,100 เมตร เรียกกลุ่มหินดังกล่าวว่า “กลุ่มหิน(lithological Group)แม่เมาะ” หินชนิดหลักที่พบในกลุ่มหินแม่เมาะ ประกอบ หินเคลย์ หินโคลน หินทรายแป้ง หินทราย และหินกรวดมน โดยมีชั้นถ่านหินที่สำคัญ 2 ชั้น มีความหนาแต่ละชั้นประมาณ 20 เมตร คือ ชั้น Q และ ชั้น K ที่แทรกสลับบริเวณส่วนกลางของกลุ่มหินแม่เมาะ
จากลักษณะชนิดหินตะกอน ชั้นถ่านหิน และซากบรรพชีวิน(fossil) ทำให้สามารถสรุปได้ว่า กลุ่มหินแม่เมาะ เกิดในสภาพแวดล้อมบริเวณทวีป(continent) โดยมีสภาพพื้นที่เป็นทะเลสาบน้ำจืด(fresh water lake) ที่ราบน้ำท่วมถึง(flood plain) และมีระบบทางน้ำประเภทต่างๆ
กลับไปที่เนื้อหา
การทำเหมือง(mining) เป็นวิธีต่างๆ ทางวิศวกรรมที่นำเอาแร่ หิน หรือทรัพยากรธรณีที่มีประโยชน์เป็นที่ต้องการของตลาดจากโลก โดยคำนึงต้นทุนในการดำเนินการ ด้วยถ่านหินเป็นทรัพยากรธรณีที่เกิดเป็นชั้นโผล่บริเวณพื้นโลกไปจนถึงอยู่ใต้ผิวโลกที่มีความลึกไม่มากนัก และเกิดเป็นชั้นลึกใต้ผิวโลก ดังนั้นวิธีการทำเหมืองถ่านหินที่ดำเนินการ แบ่งออกเป็นการทำใต้ดิน และการทำเหมืองบนผิวดินหรือการทำเหมืองเปิด
การทำเหมืองเปิด เป็นวิธีการทำเหมืองที่คุ้มทุน เมื่อชั้นถ่านหินเกิดใกล้กับผิวโลก วิธีการทำเหมืองทำโดยการเปิดดินเหนือชั้นแร่(overburden)ออก และสามารถขุดถ่านหินขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าการทำเหมืองใต้ดิน โดยอาจสูงถึง 90 % ของปริมาตรถ่านหินที่เกิดอยู่ การทำเหมืองแบบเมืองเปิดต้องใช้พื้นที่ หลายตารางกิโลเมตร ปริมาณสำรองแหล่งถ่านหินในการทำเหมืองเปิด เป็นข้อกำหนดในการทำในลักษณะเหมืองเปิดขนาดเล็ก ไปจนถึงเหมืองเปิดขนาดใหญ่ ซึ่งจะใช้ชุดของเครื่องจักรในการทำงานต่างชนิดกัน สำหรับเหมืองเปิดของแหล่งถ่านหินแม่เมาะ จัดเป็นเหมืองเปิดขนาดใหญ่ ซึ่งจะใช้ ชุดของรถขุด – รถบรรทุกเทหลัง ขนาดใหญ่ เป็นเครื่องจักรหลักที่ใช้ในการเปิดหน้าดินที่อยู่เหนือชั้นถ่านหิน และขุดตักถ่านหิน และอาจใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่อื่นๆ ประกอบการทำเหมือง ซึ่งขึ้นกับแต่ละช่วง และพื้นที่ของหน้าเหมือง สภาพเหมืองแม่เมาะ พื้นดินเดิม ลิกไนต์ (ชั้นสีดำ) ดินเหนือชั้นแร่ (สีจาง) รถตักถ่านบริเวณหน้างาน ถนนภายในบ่อเหมือง บ่อพักน้ำฝน เครื่องย่อยถ่านหิน เสาไฟฟ้าสำหรับเครื่องย่อย และระบบสายพานลำเลียงถ่านหิน
การแต่งถ่านหิน(coal dressing) ถ่านหินที่ตักได้จากหน้าเหมือง ไม่ว่าจะได้จากการทำเหมืองใต้ดิน หรือทำเหมืองบนผิวดิน มักจะมีเศษหิน-ดิน เศษโลหะ และมีขนาดที่ไม่เหมาะสมต่อการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปผู้นำถ่านหินไปใช้ (ลูกค้า) ต้องการถ่านหินที่มีสมบัติที่แปรเปลี่ยนน้อย ด้วยเหตุนี้ในการทำเหมืองถ่านหินจึงต้องมีการแต่งถ่านหิน ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้วิธีการแต่งถ่านหินแบบง่ายๆ คือการย่อย คัดขนาด และแยกเศษโลหะออกจากถ่านหิน แต่ในบางครั้งการแต่งถ่านหินจะทำโดยวิธีที่ซับซ้อน เพื่อลดมลทินที่เกิดในชั้นถ่านหิน
กลับไปที่เนื้อหา
อาชีพการทำเหมืองแร่จัดเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นในอันดับต้นๆ โดยเฉพาะการทำงานในเหมืองใต้ดิน อุบัติเหตุของการทำเหมืองถ่านหิน เกิดได้จากการทำเหมืองทั้งการทำเหมืองบนผิวดิน และจากการทำเหมืองใต้ดิน สรุปได้ดังนี้ อุบัติเหตุหลักที่พบจากการทำงานในทำเหมืองบนผิวดิน - อุบัติเหตุจากการจราจรจะเกิดได้ง่ายในฤดูฝน เนื่องจากถนนในบ่อเหมือง มีสภาพเป็นโคลน
- อุบัติเหตุจากการถล่มของผนังบ่อเหมือง เหมืองที่เปิดลึกมากขึ้นจากพื้นผิว มีสาเหตุมาจา
หลายปัจจัยรวมกัน คือ ความชันของบ่อเหมือง ชนิดหิน ปริมาณและความดันของน้ำใต้ดิน
และปริมาณน้ำฝนที่ตก อุบัติเหตุหลักที่พบจากการ ทำงานในเหมืองใต้ดิน
- การขาดอากาศหายใจ
- เสียชีวิตจากแก๊สพิษ แก๊สคาร์บอนมอนนอกไซด์ และไฮโดรเจนซัลไฟล์
- การถล่มของเหมือง
- การระเบิดจากแก๊สมีเทน และการระเบิดจากฝุ่นของถ่านหิน เป็นผลมาจากการติดไฟอย่าง
รวดเร็วของฝุ่นถ่านหินที่แขวนลอยในอากาศในพื้นที่ที่จำกัด
การทำเหมืองบนผิวดิน อาศัยพื้นที่ที่กว้าง ทำให้เกิดประเด็นทางสิ่งแวดล้อมหลายประเด็น ในการใช้พื้นที่ สภาพพื้นที่เดิม (ดิน พืช ป่า และสัตว์ป่า) รวมถึงที่ตั้ง และการใช้ประโยชน์ในที่ดินของประชาชนท้องถิ่น ประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมประกอบด้วย มลพิษทางน้ำ ฝุ่น และเสียง
มลพิษทางน้ำ
ฝนที่ตกภายในเหมือง และสัมผัสกับถ่านหิน จะเกิดปฎิกิริยาเคมี ระหว่างไพไรต์ในถ่านหิน ทำปฎิกิริยากับน้ำฝน และอากาศ ทำให้เกิดกรดซัลฟูริก และประจุเหล็ก และโลหะอื่นๆ การจัดการทำได้โดยการแยกน้ำให้ไม่สัมผัสถ่านหินนานเกินไป และกรณีของกองถ่านหินบริเวณโรงไฟฟ้า มักแยกน้ำในส่วนที่สัมผัสถ่านหินไปผ่านระบบบำบัด
ฝุ่นและเสียง
ในระหว่างการทำเหมือง ฝุ่น และเสียงรบกวนที่เกิดจากรถบรรทุกจำนวนมาก และการย่อยถ่านหิน อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนข้างเคียงของพื้นที่ทำเหมือง สำหรับเหมืองขนาดใหญ่ปัญหาดังกล่าวจะพบน้อย อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำฉีดบนถนน การใช้ระบบสายพานลำเลียง และการปลูกต้นไม้โดยรอบบ่อเหมือง จะ ช่วยลดฝุ่น กับประชาชนข้างเคียง และคนทำงานในเหมือง สำหรับเสียงจากการทำเหมืองสามารถลดได้ โดยเลือกและบำรุงรักษาเครื่องจักร และหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางผ่านชุมชน
กลับไปที่เนื้อหา
ถ่านหิน(coal) จัดเป็นทรัพยากรใช้แล้วหมดไป(non-renewable resource) และเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของโลก ไม่เฉพาะที่ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่นำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ถ่านหินยังนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการถลุงและผลิตเหล็กประเภทต่างๆ การผลิตปูนซิเมนต์ และอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำร้อน (เช่น โรงงานผลิตน้ำตาล โรงงานผลิตใยสังเคราะห์ โรงงานผลิตน้ำมันพืช และโรงงานผลิตบะหมี่สำเร็จรูป เป็นต้น)
ข้อมูลตัวเลขกับถ่านหิน ที่เป็นแหล่งพลังงาน
จากข้อมูลของสถาบันพลังงานระหว่างประเทศ ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2547 ทั่วโลกใช้ถ่านหินเป็นพลังงานปฐมภูมิ คิดเป็น สัดส่วน 25.1 % เมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานปฐมภูมิ(primary energy) หรือพลังงานขั้นต้น ประเภทอื่นๆ และเป็นลำดับที่ 2 รองจากน้ำมัน (34.3 %) แต่ถ้านำมาศึกษาในส่วนของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า พบว่า ในปี พ.ศ. 2547 ทั่วโลกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า คิดเป็นสัดส่วน 39.8 % จัดเป็สัดส่วนที่มากสุด เมื่อเปรียบเทียบกับวัตถุดิบประเภทอื่นๆ
สำหรับประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2547 – 2549 สัดส่วนการใช้ถ่านหินเป็นพลังงานปฐมภูมิ อยู่ในช่วง 11 – 12% เป็นอันดับที่ 4 รองจากน้ำมัน (ประมาณ 41%) แก๊สธรรมชาติ (29 %) และพลังงาน-หมุนเวียนแบบเก่า(ฟืน และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร) ประมาณ 16 % และในช่วงเวลาเดียวกันจนถึงปัจจุบัน (2553) ประเทศไทยใช้ถ่านหิน (ในประเทศ และถ่านหินนำเข้า) เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ประมาณ 20 % ในขณะที่การใช้แก๊สธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า (แหล่งแก๊สธรรมชาติในประเทศ และแก๊สนำเข้า มีสูงมากกว่า 70 %)
กลับไปที่เนื้อหา
จุดประสงค์ของการทดลอง
เพื่อเปรียบเทียบความยากง่ายในการติดไฟของถ่านหินลิกไนต์กับถ่านไม้
อุปกรณ์
1. เตาถ่านขนาดเท่ากัน 2 เตา
2. ถ่านไม้ 200 กรัม
3. ถ่านหินลิกไนต์ 200 กรัม
4. ไต้ ก้อนละ 20 กรัม 2 ก้อน
5. ไม้ขีดไฟ
6. นาฬิกาจับเวลา
วิธีทำ
1. ตั้งเตาทั้ง 2 เตาในสภาพแวดล้อมเดียวกัน
2. วางไต้ที่กลางเตา เตาละ 1 ก้อน
3. จัดถ่านไม้ทับไต้ในเตาที่ 1 และจัดถ่านหินทับไต้ในเตาที่ 2 โดยพยายามจัดให้ความโปร่งและ
ทึบของถ่านใกล้เคียงกันทั้งสองเตา
4. จุดไฟที่ไต้พร้อมกันทั้งสองเตา จับเวลาแต่ละเตา ตั้งแต่จุดไต้จนไฟติดถ่านทั้งหมด
คำถาม
-การติดไฟของถ่านไม้และถ่านหิน มีความยากง่ายแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร
กลับไปที่เนื้อหา
จุดประสงค์ของการทดลอง
เพื่อเปรียบเทียบความร้อนจากถ่านหินลิกไนต์กับถ่านไม้
อุปกรณ์
1. เตาถ่านขนาดเท่ากัน 2 เตา
2. ถ่านไม้ 200 กรัม
3. ถ่านหินลิกไนต์ 200 กรัม
4. ไต้ ก้อนละ 20 กรัม 2 ก้อน
5. ไม้ขีดไฟ
6. นาฬิกาจับเวลา
7. หม้อโลหะ 2 ใบ ขนาดเท่ากัน บรรจุน้ำใบละ 500 ลูกบาศก์เซนติเมตร
วิธีทำ
1. ตั้งเตาทั้ง 2 เตาในสภาพแวดล้อมเดียวกัน
2. ก่อไฟด้วยถ่านไม้ในเตาที่ 1 และก่อไฟด้วยถ่านหินลิกไนต์ในเตาที่ 2
3. เมื่อไฟในแต่ละเตาติดเต็มที่ วางหม้อโลหะบรรจุน้ำแต่ละใบบนเตาไฟ จับเวลาตั้งแต่วางหม้อ
โลหะบนเตา จนถึงน้ำเริ่มเดือด สังเกตและบันทึกผล ( ไฟในแต่ละเตาติดไม่พร้อมกัน จึงไม่
จำเป็นต้องวางหม้อโลหะบนเตาพร้อมกัน )
คำถาม
- เมื่อใช้ถ่านไม้และถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำปริมาณเท่ากันจนเดือด จะใช้เวลาในการต้มน้ำแตก
ต่างกันหรือไม่ อย่างไร
- ถ่านไม้และถ่านหิน อย่างใดให้ปริมาณความร้อนมากกว่ากัน ทราบได้อย่างไร
- ในการทดลองนี้มีการควบคุมตัวแปรอะไรบ้าง อย่างไร
- สรุปผลการทดลองได้ว่าอย่างไร
กลับไปที่เนื้อหา
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอน
-
คำที่เกี่ยวข้อง