แหล่งเรียนรู้ภูผาม่าน
- 1. การแนะนำ
- 2. อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน
- 3. เส้นทางศึกษาธรรมชาติ
- 4. เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ป่าลาน
- 5. เส้นทางศึกษาธรรมชาติ สมุนไพร ไทร
- 6. อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ถ้ำภูตาหลอ
- 7. อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ถ้ำค้างคาว ค้างคาวปากย่น
- 8. อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ถ้ำค้างคาว พฤติกรรมการออกหากินของค้างคาว
- 9. อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ถ้ำค้างคาว ขี้ค้างคาว
- - ทุกหน้า -
อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน เรียกตามชื่อของภูเขาเทือกหนึ่งทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติที่มีหน้าผาสูงชันคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มองดูเหมือนกับผ้าม่านผืนใหญ่ อยู่ในท้องที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย มีเนื้อที่ประมาณ 350 ตารางกิโลเมตร หรือ 218,750 ไร่
กลับไปที่เนื้อหา
อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน เรียกตามชื่อของภูเขาเทือกหนึ่งทางตอนใต้ของอุทยานแห่งชาติที่มีหน้าผาสูงชันคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มองดูเหมือนกับผ้าม่านผืนใหญ่ อยู่ในท้องที่อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย มีเนื้อที่ประมาณ 350 ตารางกิโลเมตร หรือ 218,750 ไร่
จากการสำรวจพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน พบว่า เป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำลำธารและมีจุดเด่นทางธรรมชาติหลายแห่ง โดยเฉพาะถ้ำและน้ำตก ทางราชการจึงมีประกาศกฤษฎีกา กำหนดให้รวมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูเปือย อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เข้ากับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงลาน ท้องที่อำเภอชุมแพ กิ่งอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ในปี พ.ศ.2534 โดยได้พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าดงลานในท้องที่ตำบลนาหนองทุ่ม อำเภอชุมแพ และตำบลห้วยม่วง ตำบลวังสวาบ ตำบลนาฝาย ตำบลภูผาม่าน กิ่งอำเภอภูผาม่าน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และป่าภูเปือยในท้องที่ตำบลภูกระดึง ตำบลศรีฐาน อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย เนื้อที่โดยประมาณ 218,750 ไร่ หรือ 350 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 108 ตอนที่ 215 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2534 จัดเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 72 ของประเทศ
การเดินทาง
จากตัวเมืองขอนแก่นใช้ทางหลวงหมายเลข 12 จนถึงอำเภอชุมแพ จากนั้นเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 201 (ขอนแก่น-เลย) จนถึงบริเวณกิโลเมตรที่ 112-113 จะพบป้ายทางเข้าอุทยานฯ อยู่ซ้ายมือ มีถนนลาดยางเข้าไปอีกประมาณ 5 กิโลเมตร จนถึงที่ทำการอุทยานฯ
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติภูผาม่านมีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่ เป็นเทือกเขาหินปูนที่มีความสูงชันสลับซับซ้อนกันเป็นแนวยาวสลับกับที่ราบลุ่มเชิงเขาสูงจากระดับทะเลปานกลางประมาณ 200 - 1,000 เมตร เป็นแนวเทือกเขาทอดยาวจากอุทยานแห่งชาติน้ำหนาวเปรียบเสมือนปราการธรรมชาติกั้นแดนระหว่างอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และอำเภอผาม่าน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น โดยมี "ภูฮี" เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในพื้นที่โดยมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1,000 เมตร ด้านทิศเหนือมีลำห้วยที่สำคัญหลายสายไหลลงสู่ลำน้ำพองทางทิศเหนือ และไหลลงสู่ลำน้ำเชิญทางด้านทิศใต
บริเวณท้องที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเปือย ท้องที่อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงชัน และติดต่อกันเป็นเทือกเขายาวบางแห่งเป็นที่ราบกว้างและมีน้ำซึมตลอดปี
บริเวณท้องที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงลาน ท้องที่อำเภอชุมแพ และอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น พื้นที่ส่วนมากเป็นภูเขาหินปูน และภูเขาขนาดเล็กติดต่อกันหลายเทือก และมีบริเวณบางแห่งเป็นที่ราบ
ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาหินปูนทำให้อุทยานฯ แห่งนี้มีทิวทัศน์ที่สวยงาม มองเห็นเทือกเขายาวต่อเนื่องและหน้าผาหินปูนอย่างสวยงามเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีถ้ำมากมายหลายแห่งที่มีความสวยงามของหินงอกหินย้อย และยังมีความบริสุทธิ์อยู่มาก ถ้ำสวยๆ เหล่านี้ยังตั้งอยู่ไม่ไกลจากที่ทำการอุทยานฯ ซึ่งสามารถใช้เวลาเที่ยวได้หลายถ้ำในวันเดียวอย่างไม่รีบร้อน เช่น ถ้ำพญานาคราช ถ้ำขนาดใหญ่ที่สุดและสวยที่สุดของที่นี่ มีม่านหินและเสาหินต้นใหญ่ให้ชมความอลังการอยู่หลายต้น
นอกจากที่ภูผาม่านจะมีถ้ำต่างๆ ที่มีหินงอกหินย้อยที่สวยงามแล้ว ยังมีน้ำตกมากมายหลายแห่งด้วย น้ำตกที่เด่นๆ นั้นอยู่ในเขตป่าลึกซึ่งการเดินทางต้องลุยด้วยรถกระบะและรถขับเคลื่อนสี่ล้อ จึงอาจไม่สะดวกนัก แต่ก็มีความสวยงามน่าชม เช่น น้ำตกตาดฟ้า น้ำตกตาดใหญ่ น้ำตกตาดฮ้อง และน้ำตกพลาญทอง น้ำตกเหล่านี้จะสวยงามในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก หากเลยเดือนตุลาคมไปแล้วน้ำตกบางแห่งจะไม่มีน้ำ
นอกจากนี้ หากเดินจากลานจอดรถนี้เองยังมีทางแยกขึ้นเขาไปยังถ้ำเกร็ดแก้วด้วย เป็นถ้ำที่ตั้งอยู่ในเทือกเขาเดียวกัน ใช้เวลาเดินขึ้นไปไม่ถึงชั่วโมง ก็จะได้พับกับความมหัศจรรย์ของหินงอกหินย้อย และเสาหินรูปทรงคล้ายเจดีย์ตั้งอยู่ด้านใน เป็นถ้ำที่มีความบริสุทธิ์สวยงามไม่แพ้ถ้ำพญานาคราชเลย ก่อนถึงลานจอดรถทางด้านซ้ายมือ ยังมีถ้ำลายแทง ซึ่งบนผนังหน้าปากถ้ำมีภาพเขียนสีของมนุษย์ยุคโบราณให้ชมด้วย
พืชพรรณและสัตว์ป่า
พืชพรรณประกอบด้วย ชนิดพันธุ์พืชพรรณตามประเภทของ ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และสวนป่า มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ประดู่ แดง ตะแบก มะค่าโมง เต็ง รัง เหียง พลวง ยาง สัก ไผ่ชนิดต่าง ๆ และพรรณไม้พื้นล่างที่สำคัญได้แก่ ต้นลาน หวาย พืชสมุนไพร และกล้วยไม้ต่างๆ ส่วนสัตว์ป่าที่พบได้แก่ เลียงผา เก้ง หมูป่า ลิง กระต่ายป่า นิ่ม ตะกวด และอื่นๆ ประมาณ 60 ชนิด นกชนิดต่าง ๆประมาณ 50 ชนิด แมลงและผีเสื้อชนิดต่างๆ กว่า 200 ชนิด
วีดิทัศน์เรื่องอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน
กลับไปที่เนื้อหา
การเดินทางศึกษาธรรมชาติ
ในการเดินป่าเพื่อศึกษาธรรมชาตินอกจากเราจะได้ดื่มด่ำกับธรรมชาติอันสวยงามแล้ว เรายังได้รับความรู้จากแหล่งเรียนรู้นั้นๆ ด้วย แต่ก่อนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติในป่านั้น ต้องมีการเตรียมตัวให้พร้อม ดังนี้
1. สถานที่ ต้องหาข้อมูลของสถานที่นั้นให้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อจะได้จัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม เพราะแต่ละ สถานที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่แตกต่างกัน
2. การแต่งกาย การแต่งกายควรเป็นชุดที่ใส่สบาย คล่องตัว และใช้โทนสีที่กลมกลืนกับธรรมชาติ เช่น สีเขียว หรือ น้ำตาล หมวก นับว่ามีประโยชน์มากในการเดินป่า หมวกที่เลือกใช้จะเป็นหมวกปีกหรือหมวกแก็บก็ได้ เสื้อและกางเกง ควรใส่เสื้อแขนยาว เพื่อป้องกันแมลง หนามและแสงแดด เนื้อผ้าควรเป็นชนิดที่ซับน้ำ ได้ดี เพื่อจะได้ดูดซับเหงื่อช่วยระบายความร้อน กางเกงควรเป็นกางเกงที่สวมสบาย รองเท้า เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ควรเป็นรองเท้าเดินป่าหุ้มส้นที่แข็งแรงและสวมใส่พอดี
3. อุปกรณ์เดินป่า เป้หลัง ควรเลือกชนิดที่เบา มีขนาดกะทัดรัดคล่องตัว และควรมีขวดน้ำเพื่อดื่มระหว่างการเดินป่าศึกษาธรรมชาติ
4. การเดินป่า ก่อนออกเดินป่าควรสำรวจความเรียบร้อยของเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อม ดื่มน้ำให้อิ่ม และเติมกระติกน้ำให้เต็ม ศึกษาจุดเริ่มต้นและจุดหมายปลายทางให้เข้าใจ
เส้นทางศึกษาธรรมชาติอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน จ.ขอนแก่น
จุดแรกของเส้นทางศึกษาธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติภูผ่ม่าน คือ ป่าไผ่ ในอุทยานแห่งชาติภูผาม่านมีไผ่ประมาณ 10 ชนิด กระจายตามพื้นที่ต่างๆ ของเขตอุทยาน แต่เส้นทางที่เราศึกษาธรรมชาติอยู่นี้จะมีไผ่อยู่ 4-5 ชนิด ได้แก่ ไผ่รวก ไผ่ไร่ ไผ่ซาง ไผ่ทะมะ ไผ่ป่า ไผ่หนาม
ความสำคัญของป่าไผ่ต่อระบบนิเวศ
ไผ่ คือผู้ผลิตสำคัญในระบบนิเวศ คือสามารถสังเคราะห์ด้วยแสง และสร้างอาหารได้ ซึ่งไผ่จะเป็นอาหารจะสัตว์ต่างๆ ที่เป็นผู้บริโภครวมทั้งมนุษย์ด้วย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของไผ่
ไผ่เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว ลำต้นแตกเป็นกอ กอหนึ่งมีประมาณ 20-50 ต้น ลำต้นมีความสูงประมาณ 5 - 15 เมตร ลักษณะลำต้นเป็นข้อปล้อง ผิวเกลี้ยงแข็งมีสีเขียวหรือเหลืองแถบเขียว ลักษณะของข้อปล้องขนาดและสีขึ้นกับชนิดพันธุ์ ใบเป็นใบเดี่ยวยาวแคบลักษณะคล้ายรูปหอก ขอบใบเรียบผิวใบสีเขียวมีขนอ่อนๆ คลุมบนผิวใบขนาดใบกว้างประมาณ 1 - 2 นิ้ว ยาวประมาณ 5-12นิ้ว หรือขึ้นกับชนิดพันธุ์ ออกดอกเป็นช่อตามปลายยอดบริเวณข้อปล้อง เมื่อดอกแห้งก็จะตายไป ผลหรือลูกคล้ายเมล็ดข้าวสาร
ประโยชน์ของไผ่
ไม้ไผ่ เป็นไม้ที่ขึ้นง่ายและเติบโตเร็ว ขึ้นได้ดีในทุกสภาวะอากาศดำรงอยู่ได้ในพื้นดินทุกชนิด ที่สำคัญคือ ไผ่เป็นพันธุ์ไม้ที่อำนวยประโยชน์หลายประการ ทั้งประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม
1. ใช้เป็นที่อยู่อาศัย
ไม้ไผ่ที่นำมาทำเป็นที่อยู่อาศัย คุณสมบัติพิเศษของไม้ไผ่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องแปรรูปและแปรรูป และเป็นไม้ที่มีความคงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศได้ดี จึงมีการนำไม้ไผ่มาสร้างเป็นบ้านเรือนที่พักอาศัยกันทั่วไป ตั้งแต่ใช้เป็นโครงสร้างและส่วนประกอบของบ้านเรือน ได้แก่ ใช้ลำไม้ไผ่เป็นเสา โครงหลังคา และใช้ไม้ไผ่แปรรูปด้วยการผ่าเป็นซีกๆ เป็นพื้นและสานเป็นแผงใช้เป็นฝาเรือน เป็นต้น
2. เครื่องมือเครื่องใช้
งานไม้ไผ่ที่ใช้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในครัวเรือนและชีวิตประจำวัน งานไม้ไผ่ประเภทนี้มีความเกี่ยวเนื่องกับชีวิตมนุษย์มาช้านานและอาจจะเป็น เครื่องใช้ในครัวเรือนที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่ง เฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันออกนั้น มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทำด้วยไม้ไผ่มาแต่โบราณ เช่น ตะเกียบไม้ไผ่ของจีน เป็นเครื่องมือการกินอาหารที่ทำอย่างง่ายๆ แต่ใช้ประโยชน์ได้อย่างดี ก่องข้าวและกระติบสำหรับใส่ข้าวเหนียวของชาวอีสานและชาวเหนือ เป็นตัวอย่างที่ดีซึ่งแสดงให้เห็นความชาญฉลาดในการนำไม้ไผ่มาแปรรูปเป็น ภาชนะสำหรับใส่ข้าวเหนียวนึ่งได้ดีเท่าก่องข้าวและกระติบที่สานด้วยตอก
นอกจากนี้ยังใช้ทำเครื่องใช้สอยในครัวเรือน เช่นตะกร้า กระจาด กระชอน ตะเกียบ ชะลอม ที่เสียบมีด ทำฟืน ด้ามเครื่องมืออื่นๆ เครื่องจักสาน บุ้งกี๋ ทำโต๊ะ เก้าอี้ และเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายในบ้านได้ด้วย
3. เครื่องมือประกอบอาชีพและเครื่องเรือน
งานไม้ไผ่ที่ใช้ในการประกอบอาชีพ งานไม้ไผ่ประเภทนี้มีใช้กันอย่างกว้างขวาง ในสังคมเกษตรกรรม เพราะไม้ไผ่เป็นวัสดุที่หาได้ไม่ยากและชาวบ้านสามารถทำใช้สอยได้เอง เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ดังนั้นเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนาทำไร่จำนวนมากจึงทำมาจากไม้ไผ่ เช่น คราด คานหลาว คานกระบุง เป็นต้น
4. ใช้เป็นอาหาร
หน่อไม้ คือต้นอ่อนของไผ่ โดยหน่อไม้ถือเป็นอาหารที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะประชาชนในแถบภาคอีสาน เพราะสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายรูปแบบ ได้แก่ แกงหน่อไม้ ซุบหน่อไม้ หมกหน่อไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ ในบริเวณที่มีหน่อไม้มาก ประชาชนในแถบนั้นยังสามารถนำไปจำหน่ายได้ด้วย
ข้อควรระวังในการเดินป่าฝนบริเวณป่าไผ่ คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผิวลำต้น หรือกาบของต้นไผ่ เพราะจะมีขนที่เกิดการระคาบเคืองได้
วีดิทัศน์เรื่องเส้นทางศึกษาธรรมชาติ : ป่าไผ่
กลับไปที่เนื้อหา
อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ถือเป็นเขตพื้นที่ที่มีป่าลานใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย โดยต้นลานเจริญเติบโตกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติ
ข้อมูลต้นลานทางพฤกษศาสตร์ของต้นลาน
ต้นลานมีชื่อวิทยาศาสตร์ Corypha Umbraculifera L. เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ปาล์ม ลักษณะเด่นคือ ใบใหญ่เป็นรูปพัดคล้ายใบตาล บางทีเรียกปาล์มพัด ใบยาว 3-4 เมตร กว้าง 4.5-6 เมตร ถือเป็นพันธุ์ไม้ที่มีใบใหญ่และมีช่อดอกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ออกดอกเป็นช่อใหญ่คล้ายรูปปิรามิด ตรงส่วนยอดของลำต้น ช่อดอกหนึ่งจะมีดอกเป็นจำนวนล้านๆ ดอก สีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอม ผลมีลักษณะกลมรี สีเขียว ผลหนึ่งมีเมล็ดเดียว เมล็ดกลมสีดำ เนื้อในคล้ายลูกชิด หรือลูกจาก สามารถนำมารับประทานได้ เนื้อกรุบกว่าลูกตาลมีรสหวานปนฝาด
วงจรชีวิตของลาน มีอายุตั้งแต่ 20-80 ปี หมายถึงตั้งแต่เมล็ดงอกจนกระทั่งออกดอกและติดผล หลังติดผล นั่นหมายถึงชีวิตช่วงสุดท้ายของต้นลานกำลังจะสิ้นสุดลง ต้นลานก็จะตาย ด้วยเหตุนี้จึงเรียกต้นลานว่า “ต้นลูกฆ่าแม่” ซึ่งเป็นธรรมชาติของลาน เมื่อผลแก่ร่วงสู่พื้นดินก็จะงอกเป็นต้นลานเล็ก ๆ มากมาย โบราณจะห้ามปลูกไว้ในบ้าน ถือว่าไม่เป็นมงคล เนื่องจากฉายายาของต้นลานคือ ต้นลูกฆ่าแม่นั่นเอง
ประโยชน์ของลาน
ลานเป็นพืชที่ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน โดยแต่ละส่วนมีประโยชน์ดังนี้
1. ยอดอ่อนของใบลาน สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำไม้ตอกในการมัดผลผลิตทางการเกษตร ชนิดต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง ข้าว เป็นต้น นอกจากนี้ ใบลานอ่อนยังไช้เป็นที่จารึก หนังสือพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา โดยการใช้เหล็กแหลมจารบนใบลานแล้วใช้ยางรักทา เอาทรายลบ ยางรักจะแทรกในตัวหนังสือที่จารเป็นเส้นดำ หรือจะใช้เขม่าไฟแทนก็ได้ เรียกหนังสือใบลานเหล่านี้ว่า "คัมภีร์ใบลาน"
2. ใบลานที่โตเต็มที่ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาน เช่น ใช้ทำเครื่องจักสาน ใช้ในการมุงหลังคา เป็นต้น
3. ก้านที่โตเต็มที่ เนื่องจากก้านของลานมีความเหนียวและแข็งแรงมาก จึงนิยมนำมาใช้ทำเป็นคานในการสร้างที่อยู่อาศัย เช่น กระท่อม ซุ้มใบลาน เป็นต้น
4. ลำต้นใต้ดิน เนื่องจากลำต้นใต้ดินมีลักษณะคล้ายส่วนยอดอ่อนของต้นมะพร้าว ซึ่งสามารถนำมาประกอบอาหารรับประทานได้ ชาวบ้านในภาคอีสานจึงนิยมนำมาประกอบอาหารชนิดต่างๆ เช่น แกงอ่อม ผัด ต้ม เป็นต้น
5. ลำต้นที่โตเต็มที่ เนื่องจากลำต้นของลานที่โตเต็มที่จะมีขนาดใหญ่ แข็งแรง และทนทาน จึงนิยมนำมาทำเป็นครก
6. ผล ผลของลานจะเกิดเมื่อต้นลานโตเต็มที่ โดยใน 1 ต้น จะมีผลจำนวนมาก สามารถนำมาใช้ทำของหวานสำหรับรับประทานได้
7. สรรพคุณทางยา ลานมีสรรพคุณทางยามากมาย โดยเปลือกลานใช้เป็นยาระบาย รากใช้ฝนแก้ร้อน ขับเหงื่อ และใบลานเผาไฟเป็นยาดับพิษอักเสบฟกช้ำบวมได้เป็นอย่างดี ซึ่งเรียกทั่วไปว่า "ยามหานิล"
วีดิทัศน์เรื่องเส้นทางศึกษาธรรมชาติ : ป่าลาน
กลับไปที่เนื้อหา
นักบุญแห่งป่า นักฆ่าแห่งพงไพร
ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน มีพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือ “ต้นไทร” ซึ่งต้นไทรได้รับสมญานามว่า “นักบุญแห่งป่า นักฆ่าแห่งพงศ์ไพร”
ทำไมต้องเรียกว่า นักบุญแห่งป่า นักฆ่าแห่งพงไพร
ต้นไทร เป็นพันธุ์ไม้ที่แพร่กระจายอยู่ทั่วไปในป่าเขตร้อน หลายคนคุ้นเคยกับพันธุ์ไม้ชนิดนี้ดีเพราะมีลักษณะที่จดจำได้ง่ายโดยเฉพาะลำต้นเป็นร่างแหที่เลื้อยพันไม้ชนิดอื่น รวมถึงรากอากาศที่ห้อยระโยงระยางจากต้นสูงใหญ่ ซึ่งไม้ชนิดนี้มีอยู่มากมายหลายลักษณะ ทั้งที่เป็นไม้ยืนต้น ไม้เลื้อย ไม้พุ่ม หรือไม้เกาะพิง เหตุที่ได้ฉายาว่าเป็นนักบุญแห่งผืนป่า คือ เมื่อใดที่ไทรออกผล ณ บริเวณนั้นจะกลายเป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงรวมญาติของเหล่าสัตว์ป่า รวมถึงฝูงนกนานาชนิด ช่วงที่มีลูกไทรสุก ส่วนลูกที่ร่วงหล่นลงพื้นยังทำให้ใต้ต้นไทรเป็นที่ชุมนุมของเก้ง กวาง และหมูป่า สัตว์บางชนิดไม่ได้มากินลูกไทร แต่ก็มาอาศัยโพรงร่องของต้นไทรเป็นที่พักหลับนอนหรือทำรัง เช่น กบ เขียด กิ้งก่า ตุ๊กแกป่า และแมลงต่างๆ ในวันหนึ่งๆอาจพบสัตว์มากกว่า 50 ชนิด สลับกันมาหากินบริเวณต้นไทรต้นเดียว ในขณะเดียวกันไทรก็เป็นนักฆ่าแห่งพงไพร คือเมื่อใดที่ไทรเติบใหญ่ อาหารที่ได้รับจากพื้นที่อันจำกัดบนต้นไม้ที่ตนเองอาศัยอยู่ไม่เพียงพอ รากอันแข็งแกร่งของไทรจะค่อยๆโอบรัดลำต้นเจ้าบ้านจนท่อลำเลียงไม่ทำงานเพื่อดิ่งลงสู่พื้นดินทำหน้าที่นำแร่ธาตุและน้ำกลับขึ้นไปเลี้ยงลำต้นด้านบน ขณะที่เรือนยอดด้านบนของไทรก็แผ่ขยายบดบังแสงแดดจนไม้เดิมไม่สามารถสังเคราะห์อาหารได้ เมื่อขาดทั้งน้ำและอาหารไม้ใหญ่จึงค่อยๆเหี่ยวเฉา และตายลงเหลือปรากฏแต่เพียงต้นไทรสูงตระหง่าน ต้นไม้ในบริเวณใกล้เคียงก็อยู่ไม่ได้เช่นกันเพราะไทรขยายพื้นที่หาอาหารทั้งรากและเรือนยอดเป็นบริเวณกว้าง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของไทร
ราก
รากพืชตระกูลไทรมีระบบรากเป็นรากแก้ว และแตกรากแขนงออก โดยรากแขนงจะแทงออกแพร่ไปรอบๆลำต้นขนานกับพื้นดินได้ไกล นอกจากนั้น ไทรบางชนิดมีรากอากาศห้อยตามกิ่งย้อยลงมาด้านล่าง เช่น ไทรย้อย และบางชนิดมีพูพอนที่โคนต้นเหนือรากสำหรับค้ำพยุงลำต้นที่มีขนาดใหญ่ เช่น มะเดื่ออุทุมพร
ลำต้น
ลำต้นของไม้ตระกูลไทรแบ่งเป็น 6 แบบ คือ
1. ไม้ยืนต้น ตั้งตรง (tree) เป็นลักษณะเป็นของไทรที่เติบโตบนดิน โดยมีลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งสาขาจนถึงปลายยอด กิ่งไม้โน้มลงด้านล่าง เช่น ต้นโพธิ์ และมะเดื่อ บางชนิดโคนลำต้นเป็นพูพอนเพื่อใช้ค้ำยันลำต้น เพราะลำต้นมามีขนาดใหญ่มาก เช่น มะเดื่ออุทุมพร (Ficus racemosa Linn.)
2. ไม้พุ่ม (shrub) เป็นไทรที่มีลำต้นไม่สูง แต่แตกกิ่งมาก และกิ่งยาวยาวมากทำให้กิ่งโน้มลงด้านล่างเป็นทรงพุ่มขนาดใหญ่ เช่น ไทรย้อยใบแหลม และไทรย้อยใบทู่
3. ไม้พุ่มรอเลื้อย (scandent shrub)
4. ไม้เถาเป็นเครือ (scandent)
5. ไม้เถาแบบมีรากไต่เกาะ (root – climbing)
6. ไม้อิงอาศัย หรือ เรียก ไทรพัน (strangler) เป็นไทรชนิดที่เติบโตบนต้นไม้อื่น โดยการแทงรากเข้าเนื้อเยื่อไม้อื่น และแทงรากลงลึกต่อในดิน พร้อมด้วยใช้ราก และลำต้นโอบรัดไม้อื่นจนทำให้ไม่อื่นค่อยๆตายลง ไทรชนิดนี้มักมีแก่นลำต้นกลวงเป็นรู
ลำต้นของไทรเมื่อยังอ่อนจะมีเปลือกสีเทา เมื่อลำต้นใหญ่เปลือกจะมีสีเทาอมน้ำตาล หรือ บางชนิดเป็นสีดำ ส่วนผิวเปลือกมีทั้งแบบเรียบ และแบบขรุขระสากมือ และเมื่อสับที่เปลือกจะมียางสีขาวไหลออกมา และเมื่อปล่อยทิ้งไว้สักพัก น้ำยางจะจับตัวเป็นก้อนแข็ง
สำหรับกิ่งไม้ตระกูลทรงมีลักษณะที่แตกต่างกัน โดยกิ่งของไม้ไทรชนิดเป็นไม้ยืนต้นจะมีกิ่งตั้งตรง และชูชันขึ้น ส่วนกิ่งจากไม้ไทรที่เป็นไม้พุ่มจะมีกิ่งยาวขนานไปกับพื้น ส่วนไม้พุ่มรอเลื้อยจะมีกิ่งยาวโน้มลงดิน และเลื้อยเป็นเถาได้ได้
ใบ
ใบของไม้ตระกูลไทรแทงออกเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับข้างกันบนกิ่ง มีลักษณะใบทั้งหนา และบาง แต่เหนียวคล้ายหนัง แผ่นใบเรียบ และเป็นมัน ขอบใบเรียบ หรือ หยักเป็นฟันเลื่อย หรือ เว้าเป็นแฉก บริเวณขอบที่โคนใบมักมีเส้นใบ 3 อัน มาจรดกัน เมื่อเด็ดก้านใบหรือฉีกใบจะมียางสีขาวไหลออกมา
ดอก และผล
ดอกของไม้ตระกูลไทรจะออกเป็นช่อ แต่จะมีเพียงดอกเดียวหรือดอกเป็นคู่ เช่น ดอกของไทรย้อยมักออกเป็นดอกเดียวที่ปลายกิ่ง ส่วนดอกมะเดื่อจะออกเป็นช่อ 1-2 ดอก บริเวณกิ่ง และลำต้น โดยดอกจะมีลักษณะกลมที่เจริญเป็นผลกลมในเวลาต่อมา ส่วนเพศของดอกจะออกแยกเพศกันคนละดอก แต่อยู่ในต้นเดียวกัน โดยมีแมลง และแตนเป็นตัวนำเกสรเข้าผสม
ส่วนผลจะมีขนาดเล็ก มีรูปร่างทรงกลม ขนาดผลประมาณ 1 เซนติเมตร เปลือกผลบาง ส่วนมากเมื่อผลสุกจะมีสีแดง ภายในประกอบด้วยเมล็ดขนาดเล็กจำนวนวนมาก เมล็ดมีรูปไตหรือทรงกลม สีเหลืองอมน้ำตาล ขนาดเมล็ดประมาณ 1 มิลลิเมตร
ภาพแสดง ต้นไทรในพื้นที่ป่าภูผาม่าน
นอกจากนี้ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน ยังมีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพื้นล่างชนิดต่างๆ เช่น เฟิน เอื้องหมายนา หญ้ารีแพร์ หนอนตายหยาก เป็นต้น
วีดิทัศน์เรื่องเส้นทางศึกษาธรรมชาติ : ต้นไทร
กลับไปที่เนื้อหา
ถ้ำภูตาหลอ
กฎระเบียบก่อนเข้าถ้ำ
1. ห้ามขีดเขียนภายในถ้ำ
2. ห้ามนำอาหารเข้าไปรับประทานในถ้ำ
3. ห้ามสูบบุหรี่หรือจุดประกายไฟ นั่นคือห้ามทำความเสียใจให้เกิดกับถ้ำ โดยเด็ดขาด
จุดเด่นของถ้ำภูตาหลอ
โพรงถ้ำที่ประกอบด้วยหินงอกและหินย้อย จำนวน 2 โพรง ซึ่งถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวนิยมเข้ามาชมความงามของหินงอก หินย้อย โดยถ้ำภูตาหลอได้ชื่อว่าเป็นถ้ำที่มีชีวิต กล่าวคือเป็นถ้ำที่ยังมีกระบวนการเกิดหินงอกหินย้อยขึ้นตลอดเวลา
หินย้อย หินงอกในถ้ำภูตาหลอ
หินย้อย คือหินปูนที่ จับตัวกันเป็นแท่งหรือแผ่นย้อยลงมาจากเพดานถ้ำ ซึ่งเมื่อมีน้ำที่มีหินปูนสะสมอยู่หยดลงมาตามรอยแตกหรือรอยแยก จากนั้นเมื่อเกิดการสะสมตัวพอกพูนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เกิดเป็นแท่งหินที่ย้อยลงมาจากเพดานถ้ำ โดยมากมักมีลักษณะกลวง
กระบวนการเกิดหินงอก หินย้อย
เมื่อน้ำฝนที่รวมกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีสภาพเป็นกรดคาร์บอนิกเจือจาง (H2CO3) CO2 (g) + H2O (l) -----> H2CO3 (aq)
จะไหลซึมผ่านรอยแตกของหินปูนเข้าไปในถ้ำ โดยละลายหินปูน (CaCO3) เกิดเป็นสารใหม่คือสารละลายแคลเซียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต Ca(HCO3)2 ดังสมการ CaCO3 (s) + H2CO3 (aq) -----> Ca(HCO3)2 (aq)
สารละลายนี้จะไหลไปตามเพดานถ้ำ แล้วหยดลงบนพื้น เมื่อน้ำระเหยออกไป แคลเซียมไฮโดรเจนคาร์บอเนตก็จะเปลี่ยนกลับเป็นหินปูน (CaCO3) สะสมอยู่บนพื้น เรียกว่า หินงอก ดังสมการ Ca(HCO3)2 -----> H2O (l) + CO2 (g) + CaCO3 (s)
แต่ถ้าสารละลายแคลเซียมไฮโดรเจนคาร์บอเนตที่ไหลมาตามเพดานถ้ำเกิดการระเหยของน้ำจนหมดก่อนหยดสู่พื้น หินปูนที่เกิดขึ้นจะค้างอยู่ที่เพดานถ้ำ สะสมกันจนเกิดเป็น หินย้อย ขึ้น
หินงอก
หินงอก เป็นกระบวนการที่คล้ายกันกับการเกิดหินย้อย ก็คือเกิดจากน้ำที่มีหินปูนสะสมอยู่ที่หยดลงมาจากเพดานถ้ำ สู่ชั้นหินเบื้องล่าง ความที่น้ำนั้นมีตะกอนหินปูนอยู่มาก เมื่อเกิดการสูญเสียคาร์บอนไดออกไซด์ไปจึงทำให้เกิดสะสมเป็นแท่ง ยื่นไปในอากาศสูงจากพื้นถ้ำ ซึ่งกระบวนการเกิดหินงอกหินย้อยนี้มีความสัมพันธ์กัน ดังนั้นเมื่อเกิดหินย้อยแล้วต้องมีหินงอกด้วย (ยกเว้นถ้ำที่ไม่มีพื้น) และเมื่อมีหินงอกต้องมีหินย้อยด้วยเช่นกัน
ซากดึกดำบรรพ์
ภายในถ้ำภูตาหลอ นอกจากจะมีหินงอกหินย้อยแล้ว ยังพบซากดึกดำบรรพ์ด้วย ได้แก่ เปลือกหอย พลับพลึงทะเล หรือไพรนอยด์ ซึ่งซากดึกดำบรรพ์จะบ่งบอกอายุของหินที่พวกมันฝังตัวอยู่ และยังบ่งบอกได้ว่า หินบริเวณแห่งนี้แต่ก่อนนี้เคยเป็นบริเวณที่เป็นทะเลมาก่อน
นอกจากในนี้ในถ้ำภูตาหลอ ยังพบแร่แพรไซต์ ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่พบในถ้ำภูตาหลอ ซึ่ง แร่แพรไซต์ เกิดจากหินปูนที่ชะล้างตามรอยแตก ซึ่งพบเฉพาะที่ถ้ำภูตาหลอ โดยเมื่อส่องไฟฉายจะเห็นมีลักษณะดังภาพ
วีดิทัศน์เรื่องถ้ำภูตาหลอ
กลับไปที่เนื้อหา
ถ้ำค้างคาวภูผาม่าน
เป็นถ้ำขนาดใหญ่อยู่ภายในอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน (พื้นที่ของอุทยานมีจำนวน 218, 750 ไร่ ครอบคลุมอาณาบริเวณในอำเภอภูผาม่าน และอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น และอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย) ปากถ้ำค้างคาวสูงจากพื้นดินประมาณ 100 เมตร มีเพดานสูง กว้าง 8 เมตร และ ยาว 12 เมตร ความลึกภายในประมาณ 100 เมตร ปากถ้ำสามารถมองเห็นแต่ไกล (ณ ตำแหน่งที่ยืนอยู่นี้ จะได้กลิ่นฉุนของขี้ค้างคาว) ค้างคาวที่ถ้ำภูผาม่าน ส่วนใหญ่จะเป็นค้างคาวพันธุ์ที่มีขนาดลำตัวเล็ก เมื่อบินอยู่บนท้องฟ้ากระทบกับแสงอาทิตย์ที่กำลังจะลับขอบฟ้า จะเห็นลำตัวค้างคาวเป็นสีแดง ชาวบ้านแถวนี้จึงเรียกว่า ค้างคาวแดง หรือ อีเจียแดง
ภายในถ้ำมีค้างคาวภูผาม่านจะมีค้างคาวพันธุ์ปากย่น (Taraqrida plicata) อาศัยอยู่หลายล้านตัว ค้างคาวที่อาศัยอยู่ในถ้ำค้างคาวภูผาม่าน เป็นค้างคาวกินแมลง ที่มีขนาดลำตัวเล็ก ค้างคาวได้รับฉายาว่า“นกมีหูหนูมีปีก” เพราะมีลักษณะคล้ายหนูแต่บินได้เหมือนนก จัดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียงชนิดเดียวที่มีปีกและสามารถบินได้
ทำไมค้างคาวต้องอยู่ในถ้ำ
การที่ค้างคาวออกหากินตอนกลางคืนมีเหตุผลร้อยแปด เช่น ตอนกลางวันท่าทางจะหากินสู้นกอื่นๆไม่ได้ ด้วยความที่กลางวันไม่สงบเงียบเท่ากับกลางคืน ในการอาศัยคลื่นเสียงนำทางและหาอาหาร นอกจากนี้ค้างคาวสายตาไม่ค่อยดีสู้นกอื่นๆไม่ได้ แต่ยืนยันว่าค้างคาวตาไม่บอด ที่สำคัญก็คือ อาหารของค้างคาวจำพวกแมลงนั้นมีมากในเวลากลางคืน ดังนั้นตอนกลางวันค้างคาวจะนอนหลับอยู่ในถ้ำ แล้วกลางคืนค่อยโผล่ออกมา จึงทำให้ค้างคาวดูเป็นสัตว์ลึกลับน่ากลัว แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ส่วนท่าที่ค้างคาวนอนห้อยหัวนั้นเป็นท่าที่เหมาะกับโครงสร้างปีกและลำตัวของมันที่พร้อมจะเหินบินได้ในเวลาอันรวดเร็ว
ทำไมค้างคาวต้องห้อยหัว
ค้างคาวต้องห้อยหัวเวลานอนเพราะขาของค้างคาวนั้น เล็กและบางมากไม่แข็งแรงพอที่จะทรงตัวอยู่ได้เวลานอนจึงต้องห้อยหัวลงเพื่อถ่ายน้ำหนักจากเท้าสู่หัว ค้างคาวอยากจะเคลื่อนที่ไปไหนโดยไม่บิน มันก็ไม่สามารถเดินได้ เพราะกระดูกขาที่เล็กทำให้ต้องใช้ปีกตะกายไปกับพื้นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำหนักกดลงบนขาของมัน ซึ่งบางตัวเมื่อไม่สารมารถบินขึ้นได้ก็อาจทำให้ตายดังที่เห็นเป็นซากอยู่มากมาย
ทำไมจึงมีซากค้างคาวตกที่พื้นบริเวณปากถ้ำ
การที่มีซากค้างคาวตกที่พื้นบริเวณปากถ้ำเกิดจากการบินชนกันเอง เนื่องจากค้างคาวไม่สามารถใช้เสียงสะท้อนได้ นั่นก็คือภายในบริเวณถ้ำที่พักอาศัยของมัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมันเกาะอยู่รวมกันมากๆ เสียงที่ร้องจึงรบกวนกันเอง
ภาพแสดง ก. ลักษณะปากของค้างคาวปากย่น
ข. ลักษณะหางของค้างคาวปากย่น
ค. ลักษณะขาของค้างคาวปากย่น
วีดิทัศน์เรื่องลักษณะของค้างคาว
กลับไปที่เนื้อหา
ในช่วงเวลาเย็นๆของทุกวัน เวลาประมาณ 5-6 โมงเย็น ค้างคาวปากย่น นับหลายแสนตัว จะทยอยบินออกจากถ้ำไปหากิน ดูเป็นรูปริ้วขบวนต่างๆ พลิ้วไหวไปมา
ค้างคาวจะออกหากินในตอนกลางคืน ซึ่งมีสาเหตุจาก
1. หลีกเลี่ยงการแข่งขันกับสัตว์อื่นที่กิน ผลไม้ น้ำหวานและแมลง เช่น พวกนกนางแอ่น นกเงือก นอกจากนี้ตอนกลางคืนก็มีแมลงที่เป็นอาหารของมันมากกว่าในตอนกลางวันด้วย
2. พืชหลายชนิด เช่นพวกไม้ในสกุลสะตอ เพกา ได้พัฒนาน้ำหวานที่มีรสชาติเข้มข้นที่ค้างคาวชอบเป็นจำนวนมาก ซึ่งน้ำหวานจะถูกขับออกมาเป็นจำนวนมากในเวลากลางคืน หรือแมลงบางชนิดออกหากินตอนเวลากลางคืน
3. เป็นการป้องกันตัวจากผู้ล่าในเวลากลางวัน เช่นพวกเหยี่ยว นกอินทรีที่คอยจับค้างคาวหรือสัตว์เล็กๆกินเป็นอาหาร แม้ว่าในเวลากลางคืนจะมีผู้ล่าด้วยก็ตาม (นกแสก นกฮูก) แต่ก็ยังมีน้อยกว่าในเวลากลางวัน
ซึ่งค้างคาวจะบินไปออกหากินเป็นกลุ่ม เพราะค้างคาวมักอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง เนื่องจากเป็นสัตว์สังคม เหมือน มด ผึ้ง ส่วนมากจะอาศัยอยู่ตามถ้ำเขาหินปูนที่มืดและทึบ
ถึงแม้ว่าค้างคาวจะออกหากินตอนกลางคืน มีเส้นทางการบินที่มืด และอาจมีเส้นทางที่คดเคี้ยว แต่ก็ไม่มีการชนกันเกิดขึ้น เนื่องจาก ค้างคาวจะส่งเสียงที่เรียกว่า “เสียงอุลตร้าโซนิก” (เสียงที่มีความถี่สูงมากจนหูของมนุษย์ไม่สามารถได้ยิน)ออกมา เมื่อคลื่นเสียงอุลตร้าโซนิกนี้ไปกระทบอะไรเข้าก็จะสะท้อนกลับมายังหูของมันที่มีความพิเศษ กล่าวคือ มันสามารถบอกได้ว่าคลื่นเสียงที่มันเปล่งไปกระทบนั้นไปกระทบกับอะไร เหยื่อหรือศัตรู ห่างออกไปแค่ไหน ทิศทางใด เคลื่อนที่ได้รวดเร็วเพียงใด วิธีการส่งและรับเสียงของค้างคาวนี้นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “เอโคโลเคชั่น” (ระบบเสียงสะท้อนที่บอกตำแหน่งของวัตถุที่เสียงนั้นไปกระทบได้อย่างถูกต้อง) ดังนั้นในการบินของค้างคาวจึงไม่ต้องอาศัยนัยน์ตาเลย แต่ก็มีอยู่ที่หนึ่งที่ค้างคาวไม่สามารถใช้เสียงสะท้อนได้ นั่นก็คือภายในบริเวณถ้ำที่พักอาศัยของมัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมันเกาะอยู่รวมกันมากๆ เสียงที่ร้องจึงรบกวนกันเองหมด
โดยแหล่งอาหารของค้างคาวปากย่น คือ สวนผลไม้ ไร่ต่างๆ ที่อยู่ใกล้ๆ บริเวณถ้ำแห่งนี้ หรือไกลออกไปเล็กน้อย ซึ่งมีแมลงอยู่มากมาย หรือตามฤดูกาลที่อาหารลดลงก็สามารถบินไปไกลๆ ได้ ถ้าไกลมากๆ คือ บริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ และเมื่อตอนใกล้รุ่งเช้าค้างคาวจะบินกลับถ้ำ โดยค้างคาวมีโอกาสที่จะหลงทางหรือหลงฝูงได้บางตัว แต่ส่วนมากจะบินกลับเป็นฝูงเหมือนเดิมโดยใช้คลื่นอุลตร้าโซนิก ทำให้รู้ตำแหน่งของเป้าหมายหรือถ้ำที่อาศัยอยู่ที่ห่างออกไป โดยใช้วิธีการส่งและรับเสียงจากคลื่อนคลื่น ของค้างคาวนี้
ประโยชน์และโทษของค้างคาว
คุณประโยชน์ของค้าวคาว
1. ค้างคาวกินแมลงช่วยทำลายแมลงที่เป็นศัตรูต่อพืชผลทางการเกษตร
2. มูลของค้างคาวสามารถใช้ทำปุ๋ยได้
3. ค้างคาวกินน้ำหวานช่วยผสมเกสรดอกไม้ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกพืชเศรษฐกิจ เช่น กล้วย ทุเรียน ฝรั่ง ชมพู่ มะพร้าว เป็นต้น
โทษของค้างคาว
1. ค้างคาวกินผลไม้ทำลายพืชและผลไม้ สร้างความเสียหายแก่ชาวสวน
2. เป็นพาหะนำโรค เช่นโรคคล้ายโรคกลัวน้ำ เชื้อไวรัส และนอกจากนี้ยังมีตัวปรสิตที่ทำให้เกิดโรคเหงาหลับในมนุษย์และสัตว์เลี้ยง
3. ค้างคาวแวมไพร์สร้างความเสียหายแก่ปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง กล่าวคือ สัตว์ที่ถูกกัดจะอ่อนแอ โตช้า และมีโรคแทรก บางครั้งก็ตาย
วีดิทัศน์เรื่องการออกหากินของค้างคาว
กลับไปที่เนื้อหา
หากสังเกตบริเวณพื้นถ้ำค้างคาวจะพบซากค้างคาวที่พื้นจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการที่มีการบินชนกัน ค้างคาวบางตัวที่ตายเกิดจาก การบินชนกันเอง เนื่องจากค้างคาวไม่สามารถใช้เสียงสะท้อนได้ นั่นก็คือภายในบริเวณถ้ำที่พักอาศัยของมัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะมันเกาะอยู่รวมกันมากๆ เสียงที่ร้องจึงรบกวนกันเอง หรือเกิดจากบางตัวมีอายุมากแต่โดยปกติแล้ว อายุเฉลี่ยของค้างคาวประมาณ 3-4 ปี แต่ก็ขึ้นกับสายพันธุ์ของค้างคาว เช่น พบว่าค้างคาวหูหนู (mouse-eared bat) นั้นมีอายุยืนยาวประมาณ 37 ปี
บริเวณถ้ำยังมีกลิ่นแสบฉุนจมูก ซึ่งคือกลิ่นของขี้ค้างคาว และซากค้างคาว โดยการหมักหมมของสิ่งปฏิกูลที่ค้างคาวถ่ายออกมา ทั้งอุจจาระและปัสสาวะนั้น จะส่งผลต่อสภาวะอากาศภายในถ้ำ โดยเฉพาะถ้ำที่มีทางเข้าออกทางเดียว ที่ไม่มีการหมุนเวียนของอากาศ จะทำให้เกิดก๊าซแอมโมเนียที่สูงมาก
กลิ่นแรงขนาดนี้ เป็นอันตรายต่อมนุษย์หรือไม่
เนื่องจากขี้ข้างคาวเกิดจากการหมักหมมของสิ่งปฏิกูลที่ค้างคาวถ่ายออกมา ทั้งอุจจาระและปัสสาวะจะทำให้เกิดก๊าซแอมโมเนียที่สูงมาก เมื่อมนุษย์สูดดมก๊าซนี้มากๆ จะทำให้เกิดอันตรายกับมนุษย์ได้ ถ้าได้สัมผัสโดยตรงก็จะไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อร่างกาย เช่น ระคายเคืองจมูก ตา และลำคอ เล็กน้อย เนื่องจากถ้ามนุษย์ไม่อยู่ใกล้หรือสัมผัสกับขี้ค้างคาวโดยตรงอยู่แล้ว
แต่ทั้งนี้ขี้ค้างคาวยังมีประโยชน์มากมาย ได้แก่
1. ขี้ค้างคาว จะ มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ (เชื้อรา แบคทีเรีย และ แอคติโนมายซีส) ในการช่วยย่อยสลายเศษวัสดุในดินให้กลายเป็นปุ๋ย และละลายธาตุอาหารที่ตกค้างในดินให้กลายเป็นปุ๋ย
2. มูลค้างคาวนั้นประกอบไปด้วย ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปรแตสเซียม ในปริมาณที่สูงกว่ามูลของสัตว์ชนิดอื่น จึงเป็นที่นิยมนำมาเป็นส่วนผสมในดิน ที่ใช้ในการปลูกพืชเกษตร
เมื่อซากค้างคาว และซากค้างคาวที่ตายทับถมกัน ตลอดจน มูลค้างคาวที่พื้นถ้ำ เมื่อทับถมกัน จะมีจุลินทรีย์ช่วยในการย่อยสลาย ในขณะที่ขบวนการย่อยสลายที่เกิดขึ้นกับมูลค้างคาว และซากศพของค้างคาวนั้น มีผลต่อหินก้นถ้ำซึ่งจะถูกย่อยสลายไปด้วย บางถ้ำมีระยะเวลา 100-1000 ปี จนทำให้หินในถ้ำกลายเป็นแร่ธาตุอาหารที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช ป้องกันกำจัดโรคพืช และการปรับปรุงบำรุงดินต่อการปลูกพืช จึงเรียกว่า กัวโนค้างคาว หรือบางทีเราเรียกว่า อินทรีย์ฟอสเฟต (คือหินฟอสเฟตที่ถูกย่อยสลายกลายเป็นอินทรีย์วัตถุ) อยู่ลึกประมาณ 5-20 เมตร
วีดิทัศน์เรื่องประโยชน์ของค้างคาว
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังวิดีทัศน์
อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ : ป่าไผ่
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ : ป่าลาน
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ : ต้นไทร
ถ้ำภูตาหลอ
ลักษณะของค้างคาว
การออกหากินของค้างคาว
ประโยชน์ของค้างคาว
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนแหล่งเรียนรู้ภูผาม่านผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนนางสาวอุษา บุญศิริผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนนางสาววรัญญา ธัญญาผลผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนนางสาววรัญญา ธัญญาผลผู้เขียนแผนการสอน
-
คำที่เกี่ยวข้อง