แหล่งเรียนรู้ผ้าย้อมคราม
ผ้าย้อมครามเป็นผ้าโบราณของโลก มีอายุมากกว่า 6,000 ปี (Prosea Bogor 1992 : 27) ทำจากเส้นใยฝ้าย ป่าน และลินิน ย้อมสีครามธรรมชาติ ซึ่งสกัดจากพืชหลายวงศ์ที่เจริญเติบโตในเขตร้อน และเขตอบอุ่น แหล่งสีครามที่ใหญ่ที่สุดคือทวีปแอฟริกา รองลงมาคืออินเดีย เมื่ออังกฤษยึดทั้งสองแห่งเป็นอาณานิคม ได้ตั้งโรงงานสกัดและผลิตสีครามจากแอฟริกาและอินเดีย ดังรูปที่ 1 ส่งไปขายในยุโรปจนส่งผลกระทบต่อการค้าสีย้อมทั้งมวลในยุโรป
กลับไปที่เนื้อหา
ผ้าย้อมครามเป็นผ้าโบราณของโลก มีอายุมากกว่า 6,000 ปี (Prosea Bogor 1992 : 27) ทำจากเส้นใยฝ้าย ป่าน และลินิน ย้อมสีครามธรรมชาติ ซึ่งสกัดจากพืชหลายวงศ์ที่เจริญเติบโตในเขตร้อน และเขตอบอุ่น แหล่งสีครามที่ใหญ่ที่สุดคือทวีปแอฟริกา รองลงมาคืออินเดีย เมื่ออังกฤษยึดทั้งสองแห่งเป็นอาณานิคม ได้ตั้งโรงงานสกัดและผลิตสีครามจากแอฟริกาและอินเดีย ดังรูปที่ 1 ส่งไปขายในยุโรปจนส่งผลกระทบต่อการค้าสีย้อมทั้งมวลในยุโรป
รูปที่ 1 การกวนน้ำครามในโรงงานผลิตครามผงของอังกฤษในอินเดีย
ที่มา : Jenny Balfour Paul 1998 : 111
การใช้สีครามธรรมชาติมีจุดสูงสุดในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 พอถึงช่วงปลายศตวรรษ ชาวเยอรมันสังเคราะห์สีม่วงได้ใน ค.ศ. 1856 สังเคราะห์สีแดงใน ค.ศ. 1869 และสังเคราะห์สีครามเป็นการค้าใน ค.ศ. 1890 ซึ่งสีสังเคราะห์มีความบริสุทธิ์สูง จึงให้สีเข้ม และย้อมง่าย ทำให้ความนิยมสีย้อมจากธรรมชาติลดลงอย่างรวดเร็ว ใน ค.ศ. 1914 มีการใช้สีครามธรรมชาติเหลือเพียงร้อยละ 4 ของครามที่เคยใช้ทั่วโลก เมื่อเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 20 สีครามมีความสำคัญในระดับท้องถิ่นเท่านั้น ดังนั้นในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ผ้าย้อมครามที่ได้รับการฟื้นฟูจึงเป็นความโหยหาอดีตร่วมกันของคนค่อนโลก อีกชาติหนึ่งที่ใช้ผ้าย้อมครามมายาวนานคือญี่ปุ่น ทั้งเสื้อผ้าของซามูไรผู้กล้าหาญ และยูกาตะของสตรีที่ขยัน อดทน ล้วนแต่เป็นผ้าย้อมครามที่ถักทออย่างประณีต ดังรูปที่ 2
ผ้าย้อมครามในประเทศไทยมีสภาพไม่แตกต่างจากทั่วโลก ในเขตภูมิศาสตร์ที่สูงเช่นภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันตก ล้วนแต่เคยทำผ้าย้อมครามทุกครัวเรือน เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งเป็นเสื้อกันหนาว เสื้อผ้าสวมใส่ทำงานเกษตรกลางแจ้ง หรือผลิตอย่างประณีตเพื่อสวมใส่ในโอกาสพิเศษ ช่วงศตวรรษที่ 17 – 18อุตสาหกรรมสิ่งทอเฟื่องฟูในยุโรป และขยายเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับทหารต่างชาติในช่วงสงครามโลก การใช้และผลิตผ้าย้อมครามจึงลดลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ช่างทอผ้าหันไปใช้เส้นใยที่ย้อมสีสำเร็จจากโรงงาน ซึ่งมีหลากหลายสีให้เลือก เมื่อล่วงสู่ศตวรรษที่ 20 ผลของการใช้สารสังเคราะห์ ทั้งสีย้อม สารฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง ปุ๋ย และอื่นๆ กระทบต่อสุขภาพของคนและสัตว์ อีกทั้งผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมที่ผลิตซ้ำๆ ทำให้เกิดความต้องการสิ่งแปลก ไม่ซ้ำใคร ความต้องการผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติจึงหวนกลับมา ทำให้ภูมิปัญญาครามถูกฟื้นฟูขึ้นในจังหวัดสกลนคร โดยความร่วมมือกันของนักเคมีที่สงสัย “ ใบไม้เขียวๆ เป็นสีน้ำเงินได้อย่างไร ” และแม่ครูคราม 4-5 คน ที่ยังสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองเงียบๆในชุมชนรูปที่ 2 ผ้าย้อมครามโบราณ ซ้าย : ยูกาตะของสตรีชาวญี่ปุ่น ขวา : กางเกงของบุรุษชาวอินเดียตอนใต้
รูปที่ 3 แม่ครูครามเมื่อครั้งฟื้นฟูผ้าย้อมคราม ถ่ายภาพเมื่อ พ.ศ. 2544
ซ้าย : คุณแม่ฑีตา จันทร์เพ็งเพ็ญ กลาง : คุณยายเบียน ภูมิสุข ขวา : คุณยายคล้าย สิทธิ
วีดิทัศน์ เรื่องผ้าย้อมครามสกล
กลับไปที่เนื้อหา
ดังกล่าวแล้วว่าพืชให้สีครามมีหลายวงศ์ กระจายอยู่แถบเขตศูนย์สูตรและเขตอบอุ่น ดังแผนที่รูปที่ 4
รูปที่ 4 แผนที่แสดงบริเวณที่มีพืชแหล่งของสีครามทั่วโลก
ที่มา : Jenny Balfour Paul 1998 : 90
จากแผนที่จะเห็นว่าพืชที่เป็นแหล่งของสีคราม กระจายอยู่ในแอฟริกาเกือบทั้งทวีป อเมริกาฝั่งตะวันตก ยุโรป และเอเชียเกือบทั้งหมด เช่น Polygonum tinctorium วงศ์ Polygonaceae เป็นแหล่งสีครามของชาวญี่ปุ่น เกาหลี และจีน จึงมีชื่อทั่วไปว่า Chinese indigo หรือ Japanese indigo ส่วน Isatis tinctoria วงศ์ Cruciferae เป็นแหล่งสีครามของชาวยุโรป เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส และกลุ่มสแกนดิเนเวีย มีชื่อทั่วไปว่า woad แถบตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ไทย พม่า ภูฏาน ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ลาว และเวียดนาม สกัดสีครามจาก Strobilanthes flaccidifolius วงศ์ Acanthaceae มีชื่อทั่วไปว่า Assam indigo หรือห้อม นั่นเอง สำหรับต้นครามในประเทศไทยเป็นพืชในสกุล Indigofera วงศ์ Leguminosae พบมากคือชนิด Indigofera tinctoria L. ลักษณะฝักตรง และชนิด Indigofera suffruticosa Mill. ลักษณะฝักโค้งงอ นอกจากนี้ในพื้นที่ป่ารกยังพบ Marsdenia tinctoria R. หรือชาวเชียงใหม่เรียกว่าเปิก ชาวอีสานเรียกเบือก สำหรับชาวปักใต้เรียกว่าย่านคราม ซึ่งมีลักษณะเป็นไม้เถา
Indigofera พืชสกุลใหญ่เป็นที่ 3 ของวงศ์ Leguminosae เติบโตได้ดีที่ความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,650 เมตร แต่ละประเทศจะเรียกชื่อสีครามตามภาษาของตน เช่น ชาวอังกฤษที่ทำโรงงานครามผงในอินเดียเรียกสีครามว่า Indian indigo ชาวอินโดนีเซียเรียก tom java ชาวมาเลเซียเรียก nila ชาวกัมพูชาเรียก trom สปป.ลาวเรียก khaam ชาวไทยเรียก khraam เวียดนามเรียก cham และในภาษาสันสกฤตเรียก nil เช่นกันกับคนอีสานโบราณเรียกสีครามว่า สีนิล
รูปที่ 5 พืชให้สีคราม ซ้าย : woad กลาง : Japanese indigo ขวา : Assam indigo
ต้นครามเป็นไม้พุ่มตระกูลถั่ว ชอบดินร่วน น้ำไม่ท่วมขัง แดดจัด บริเวณที่เหมาะแก่การปลูกจึงควรเป็นที่ดอน โล่ง และต้องดายหญ้าสม่ำเสมอ ใบครามเป็นใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับ ปลายใบเดี่ยว ใบย่อยรูปรี ดอกช่อออกตามซอกใบ ดอกย่อยรูปดอกถั่ว กลีบดอกสีชมพู ผลเป็นฝัก มีทั้งฝักตรงและฝักโค้ง ภายในฝักมี 7-12 เมล็ด (นันทวัน บุณยะประภัศร และอรนุช โชคชัยเจริญพร 2539 : 635) ระบบรากเป็นระบบรากแก้ว ลำต้นประกอบด้วยข้อและปล้อง มีตาและตาดอกเกิดขึ้นบริเวณข้อ แล้วเกิดเป็นช่อดอกในภายหลัง แต่ละดอกประกอบด้วยกลีบดอก 4 กลีบ เกสรตัวผู้ 10 อัน เกสรตัวเมีย 1 อัน (บุญญา อนุสรณ์รัชดา 2540 : 59)
หลังหว่านเมล็ดครามตอนต้นฤดูฝน ต้นครามจะงอกเป็นต้นอ่อนเล็ก ๆ ค่อนข้างบอบบาง ต้องถอนต้นครามที่ใกล้กันเกินไปและไม่แข็งแรงทิ้ง การดูแลที่สำคัญคือการดายหญ้าตลอด บางพื้นที่ที่มีระบบชลประทานจะยกคูดินปิดทับด้วยพลาสติก แล้วจึงนำต้นกล้าที่เพาะไว้ลงปลูกเป็นหลุมระยะห่างราว 50-60 เซนติเมตร เมื่อต้นครามได้รับแสงแดดและน้ำพอเพียง กิ่งก้านจะกางออก ใบหนา เขียวเข้ม จนเมื่อต้นครามอายุ 3-4 เดือน หรือสังเกตจากการออกฝักเล็ก ๆ หรือสังเกตหยดน้ำสีน้ำเงินใต้ใบในตอนเช้าตรู่ หากเป็นชนิดฝักตรงจะสังเกตเห็นยอดครามแก่หงิกงอ แสดงว่าครามแก่พอให้สีครามได้แล้ว
รูปที่ 6 พืชให้สีคราม ซ้าย : ครามฝักตรง กลาง : ครามฝักงอ ขวา : เปิก หรือ เบือก
วีดิทัศน์เรื่องมาทำความรู้จักกับต้นคราม
กลับไปที่เนื้อหา
เมื่อครามแก่จัด ใบเขียวเข้ม มีหยดน้ำสีครามใต้ใบ หรืออายุประมาณ 3-4 เดือน เป็นช่วงที่ครามให้สีมากที่สุด จึงเก็บเกี่ยวโดยวิธีตัดหรือเกี่ยวกิ่งพร้อมใบครามให้เหลือตอสูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร หากเป็นชนิดฝักโค้งงอ อีกเดือนครึ่ง ตอของครามจะแตกกิ่งและใบให้ผลผลิตใบครามมากกว่าครั้งแรกเกือบสองเท่า จะเก็บกิ่งใบได้อีก 4-5 รุ่นต่อปี ผู้ที่ปลูกครามงอในพื้นที่ไม่มาก ประมาณ 1-2 งาน สามารถเก็บใบครามแก่ตั้งแต่ต้นครามอายุเดือนครึ่ง และเก็บไล่ขึ้นไปเรื่อยๆวันเว้นวัน จนกว่ายอดครามจะแก่จึงตัด รอการงอกกิ่งใหม่ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ได้เนื้อครามคุณภาพดีกว่าตัดทั้งต้น หากเป็นครามฝักตรงเมื่อต้นแก่ ยอดจะหงิกไม่โตต่อไปอีก จึงเก็บโดยการตัดหรือเกี่ยวครั้งแรกแล้วจะมีกิ่งใบอีกครั้งหนึ่ง ต้นครามจะตาย
รูปที่ 7 การเก็บใบครามฝักงอทีละใบ ซ้าย : ต้นครามฤดูฝน ขวา : ต้นครามฤดูแล้ง
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเก็บใบครามคือตอนเช้าตรู่ เพื่อให้ได้ใบครามสดที่สุด จะได้สีครามมากที่สุด เก็บมาแล้วต้องแช่น้ำทันที โดยการม้วนมัดกิ่งครามเป็นฟ่อน เรียงลงภาชนะให้เกือบเต็ม กดใบครามลงเติมน้ำให้ท่วมหลังมือ อาจจะใช้ของหนักทับใบครามให้จม หรือตอนเย็นพลิกใบครามข้างล่างขึ้นทับข้างบน หากไม่มัดเป็นฟ่อน ให้วางกิ่งครามไขว้กันเพื่อให้มีที่ว่างสำหรับน้ำเข้าไปสัมผัสกิ่งและใบคราม หากเก็บครามตอนสายแดดจัดใบครามจะเหี่ยวเร็ว เมื่อนำไปแช่น้ำจะไม่ให้สีครามออกมาในน้ำแช่ สิ่งที่ควรระวังคือ ควรสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิดไปเก็บใบคราม เพราะครามมีขนเล็ก ๆ ทำให้คันทั่วร่างกาย
การแช่ใบครามสดในน้ำ ทำให้เอนไซม์ในใบครามทำงาน ตัดโมเลกุลสารอินดิแคน (Indican) ในใบครามซึ่งเป็นสารต้นตอของสีคราม แตกออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งคือน้ำตาลกลูโคส (Glucose) อีกส่วนหนึ่งชื่ออินดอกซิล (Indoxyl) ซึ่งทั้งสองส่วนเป็นสารไม่มีสี ละลายในน้ำได้ จึงละลายอยู่ในน้ำแช่ แต่อินดอกซิลเมื่อเจอกับอากาศหรือออกซิเจน จะหันหลังชนกันเป็นคู่ๆ กลายเป็นเม็ดสีน้ำเงิน ไม่ละลายน้ำ ชื่ออินดิโกบลู(Indigo blue) หรืออินดิโกติน (Indigotin) ผิวหน้าของน้ำครามจึงเป็นสีน้ำเงิน ส่วนด้านล่างเป็นสีเขียวอ่อนๆของสารอื่นที่ออกมาจากใบคราม สีครามที่คนทั่วไปรู้จักคืออินดิโกบลู หรืออินดิโกตินนี่เอง
การสลายโมเลกุลอินดิแคนเป็นปฏิกิริยาที่ใช้น้ำเกี่ยวข้อง เกิดภายในเซลล์ของใบคราม อุณหภูมิมีผลต่ออัตราการเกิดปฏิกิริยา โดยพบว่าเมื่อใช้เวลาแช่เท่ากัน อุณหภูมิของน้ำแช่ที่สูงกว่า จะให้ปริมาณอินดอกซิลมากกว่า ส่งผลต่อปริมาณของอินดิโกบลูด้วย แต่ถ้าแช่ในน้ำต้มเดือดจะไม่ได้อินดอกซิล ถ้าใช้น้ำแช่อุณหภูมิ คงที่ 29 องศาเซลเซียส พบอินดอกซิลมากที่สุดที่เวลา 18 ชั่วโมง เมื่อเวลามากขึ้น ปริมาณของอินดอกซิลจะลดลง (อนุรัตน์ สายทอง 2545) การแช่ใบครามในน้ำในแต่ละพื้นที่ให้ได้สีครามมากที่สุด จึงใช้เวลาแตกต่างกัน เช่น แช่ใบครามที่เมืองเดียนเบียนและไลโจว ทางตอนเหนือของเวียดนาม ใช้เวลา 2 วัน แต่แช่ใบครามที่สกลนครและสะหวันนะเขตของสปป.ลาว จะใช้เวลาเพียงวันเดียว (อนุรัตน์ สายทอง และ ภูวดล ศรีธเรศ 2556)
การเก็บเมล็ดพันธุ์
ฝักครามอ่อนมีสีเขียว เมื่อเริ่มแก่จะเป็นสีเหลือง น้ำตาล และดำ ตามลำดับ ควรเก็บฝักครามในช่วงที่เป็นสีน้ำตาล หากทิ้งไว้นานจนดำคาต้น อัตราการงอกของเมล็ดจะลดลง เมื่อเก็บฝักครามแล้ว นำมาผึ่งแดดให้แห้งและเก็บในที่ร่มอากาศถ่ายเทได้ดี หรือบุบให้ฝักแตกเก็บเมล็ดใช้ในปีถัดไป การเก็บเมล็ดครามในตู้เย็นจะยืดอายุของเมล็ดได้นานกว่า 1 ปี ครามพันธุ์ฝักงอ 1 ฝัก มี 4-5 เมล็ด สีเหลืองดำ รูปลูกเต๋า น้ำหนัก 100 กรัม มีประมาณ 15,900 เมล็ด ส่วนครามฝักตรง 1 ฝักมี 9-10 เมล็ด ลักษณะสีเหลืองน้ำตาล ค่อนข้างกลม น้ำหนัก 100 กรัมมีประมาณ 16,800 เมล็ด (อนุรัตน์ สายทอง 2551 : 12-13)
รูปที่ 8 ฝักและเมล็ดคราม ซ้าย : ชนิดฝักงอ ขวา : ชนิดฝักตรง
วีดิทัศน์เรื่องวีธีเก็บคราม
กลับไปที่เนื้อหา
จากตอนที่แล้ว ใบครามแก่และสดถูกแช่ในน้ำ จะได้น้ำครามสีน้ำเงินปนเขียวของสารอินดิโกบลูกับอินดอกซิล หากพักไว้นานๆน้ำครามจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากอินดอกซิลทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ เกิดเป็นอินดิโกบลูมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าทำการกวนน้ำคราม ปฏิกิริยาของอินดอกซิลกับอากาศเกิดได้มาก น้ำครามจะเป็นสีน้ำเงินเข้มของอินดิโกบลูมากขึ้นด้วย น้ำครามสีน้ำเงินนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น นำไปเตรียมน้ำย้อม นำไปทำหมึกพิมพ์ นำไปผสมสารซักล้าง นำไปผสมน้ำสบู่ หรือเหวี่ยง แยกอินดิโกบลู แล้วเป่าให้แห้งเป็นผง โดยพัฒนาสภาพให้เหมาะสมกับการใช้งาน
ในความต้องการนำไปทำสีย้อม ต้องแยกเม็ดสีครามออกจากน้ำโดยการผสมปูนกินหมาก หรือสารแคลเซียมออกไซด์ ซึ่งเป็นสารที่ละลายน้ำได้บางส่วนกลายเป็นแคลเซียมไฮดรอกไซด์ บางส่วนที่ไม่ละลายน้ำจะเป็นแกนให้เม็ดสีครามที่มีขนาดเล็กมาก รุมเกาะจนเป็นกลุ่มใหญ่ หนักและจมลง จึงกรองแยกเอาเม็ดสีที่เกาะอยู่กับปูน เรียกส่วนนี้ของครามว่า เนื้อคราม ด้วยวิธีการดังนี้
หลังจากแยกกากใบครามออกจากน้ำแช่ ช้อนเศษใบเศษฝักออกให้หมด กรองน้ำปูนเอาเศษหินออกและเติมลงในน้ำครามกวนเบาๆเพื่อสังเกตสี เติมน้ำปูนเรื่อยๆจนน้ำครามที่เคยเป็นสีเขียวปนฟ้ากลายเป็นสีเหลือง ฟองที่เคยเป็นสีขาวกลายเป็นสีน้ำเงิน แสดงถึงจุดยุติ จึงทำการกวนน้ำครามหนักๆ เพื่อให้ออกซิเจนในอากาศเข้าไปทำปฏิกิริยากับอินดอกซิลในน้ำคราม สังเกตฟองครามจะโตขึ้น ผิวบาง แตกง่าย ตักดูน้ำครามจะใส ไม่มีสีน้ำเงิน จึงหยุดกวนและพักถังน้ำครามไว้ข้ามคืน รุ่งเช้าจึงแยกน้ำใสด้านบนทิ้ง นำตะกอนข้นสีน้ำเงินไปกรองด้วยผ้าจนน้ำหยดออกหมดจึงเก็บเนื้อครามไว้ในภาชนะปิด หรือสามารถตัดขั้นตอนกรองเนื้อครามได้ ด้วยการเก็บเนื้อครามข้นไว้ในภาชนะปิด ตะกอนจะแยกจมดีขึ้นเรื่อย 2-3 วันให้ตักน้ำใสชั้นบนทิ้ง ทำต่อเนื่องจนเหลือแต่เนื้อคราม
การเติมปูนในน้ำคราม ไม่สามารถระบุสัดส่วนที่แน่นอนได้เนื่องจากใบครามที่เก็บมาแช่แต่ละครั้งให้ปริมาณสีครามไม่เท่ากัน เนื่องจากความแตกต่างของ พันธุ์คราม อายุคราม สัดส่วนใบแก่ใบอ่อน ฤดูเก็บเกี่ยว ลักษณะการเก็บเกี่ยว พื้นที่ปลูก ดิน น้ำและแสงแดด ฯลฯ ต้องสังเกตจุดยุติเท่านั้น และสังเกตน้ำที่แยกทิ้ง หากได้เนื้อครามสีน้ำเงิน น้ำแยกทิ้งยังมีสีฟ้าเขียว แสดงว่าเติมปูนน้อย หากได้เนื้อครามสีน้ำเงิน น้ำแยกทิ้งสีชา แสดงว่าเติมปูนได้พอดี แต่หากเนื้อครามเป็นสีเทา น้ำแยกทิ้งเป็นสีชา แสดงว่าเติมปูนมากเกินไป ไม่ควรนำเนื้อครามนั้นไปใช้ทำน้ำย้อม การสังเกตเช่นนี้ทำให้เกิดการวางแผนแก้ไข ปรับเปลี่ยนการปฏิบัติ จนเกิดความชำนาญ ได้แนวปฏิบัติเป็นของตัวเอง หรือมีทักษะสูงนั่นเอง
วัสดุเหลือทิ้งจากการทำเนื้อคราม มีสองส่วนคือกากใบและน้ำใสส่วนบนของตะกอน ซึ่งพบว่าไม่มีผลเสียใดต่อสิ่งแวดล้อม กากใบตากฝนสลับแดดจะเป็นที่เกิดของเห็ดที่มีลักษณะคล้ายเห็ดฟางเล็ก ใช้ปรุงอาหารรสชาติเดียวกันกับเห็ดฟาง นำกากไปทิ้งในนา ในสวน เป็นปุ๋ย หรือไล่ปู ไล่แมลงได้ หรือนำไปเผารวมกับพืชอื่นทำขี้เถ้าใช้ก่อหม้อ ส่วนน้ำใสบนตะกอนเททิ้งให้ต้นไม้เติบโต เอาไปรดต้นพริก ต้นมะเขือ ไล่เพลี้ยได้
แช่ใบครามแล้วแยกกาก ได้น้ำคราม
เติมปูนให้พอดี น้ำครามเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ฟองสีน้ำเงิน
กวนน้ำครามและพักไว้ 1 คืน แยกได้เนื้อครามสีน้ำเงิน
รูปที่ 9 ขั้นตอนการสกัดแยกสีครามให้อยู่ในรูปเนื้อคราม
สรุปการทำเนื้อครามสั้นๆคือปลูกครามในดินร่วนซุย น้ำไม่ท่วมขัง ดายหญ้าให้ครามได้ปุ๋ยธรรมชาติและแดดจัด เก็บเฉพาะใบครามแก่และสด แช่น้ำ 18-24 ชั่วโมง แยกกากให้น้ำครามสะอาด เติมปูนพอดีและกวนจนฟองยุบ แยกเอาเนื้อครามเก็บในภาชนะปิด รอการนำไปใช้เตรียมน้ำย้อมครามต่อไป
วีดิทัศน์เรื่องการแช่คราม
กลับไปที่เนื้อหา
การก่อหม้อครามเพื่อเตรียมน้ำย้อมครามนั้นเป็นการทำให้เม็ดสีอินดิโกบลูสีน้ำเงินที่ไม่ละลายน้ำ เปลี่ยนเป็นสารสีครามตัวใหม่ที่ไม่มีสี ละลายน้ำได้ เรียกชื่อว่า อินดิโกไวท์ (Indigo white) การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ ทำได้หลายวิธี โดยใช้สารเคมีเข้ามาช่วยให้อินดิโกบลูเปลี่ยนแปลง เช่นในอุตสาหกรรมการย้อมยีนสมัยเริ่มแรกจะใช้โซดาไฟกับโซเดียมไดไธโอไนต์ (Na2S2O4) แต่เมื่อเวลาผ่านไปเกือบร้อยปี มีงานวิจัยรายงานว่าโซเดียมไดไธโอไนต์ ก่อให้เกิดแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เหตุของฝนกรด ระดับอุตสาหกรรมจึงมีการปรับเปลี่ยนใช้สารเคมีอื่นแทน ภูมิปัญญาท้องถิ่นภูมิภาคต่างๆมีการใช้ยูเรียจากปัสสาวะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
สำหรับภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนที่ราบสูงทั้งในประเทศไทย สาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวลาว และสาธารณะรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ทำผ้าย้อมครามในครัวเรือนสำหรับทำเครื่องนุ่งห่มในชีวิตประจำวันและประกอบพิธีกรรม จึงเลือกวิธีการเตรียมน้ำย้อมที่ปลอดภัยทั้งคนย้อม คนนุ่งห่ม และดิน น้ำ ต้นไม้ สิ่งแวดล้อม กระบวนการทำสอดแทรกอยู่ในวิถีชีวิต ตั้งแต่ตื่นตอนเช้าจนค่ำมืดและเข้านอน ภูมิปัญญาดังกล่าวใช้วิธีหมักเนื้อครามในน้ำขี้เถ้า ที่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า น้ำดั่ง หลังจากนั้นเฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงของน้ำย้อมจนกว่าสีน้ำเงินจะจางลง เกิดสีเขียว เหลือง ส้ม ตามลำดับ เข้ามาแทนที่ ซึ่งใช้เวลาราว 15 วัน จึงได้น้ำย้อมครามสำหรับย้อมผ้าฝ้ายหรือเส้นใยฝ้ายธรรมชาติ หลังจากย้อมแล้วต้องดูแลรักษาโดยการปรุงแต่งน้ำย้อมให้อยู่ในภาวะสมดุล รักษาชีวิตของจุลินทรีย์ ให้ต่อเนื่อง ใช้ย้อมได้ติดต่อกันนานหลายปี โดยไม่ต้องทิ้งน้ำย้อม การเตรียมน้ำย้อมโดยวิธีนี้จึงเป็นการเริ่มต้นให้ได้น้ำย้อม ย้อม แล้วปรุงแต่งต่อเนื่องได้เรื่อย ภาษาท้องถิ่นจึงเรียกวิธีนี้ว่า ก่อหม้อคราม
การก่อหม้อครามใช้วัตถุดิบสำคัญเพียงเนื้อครามกับน้ำขี้เถ้า หมักด้วยจุลินทรีย์จากธรรมชาติ หลังจากนั้นต้องตักน้ำย้อมยกขึ้นสูงราวครึ่งเมตร แล้วเทกลับลงในหม้อครามเดิม เรียกการทำเช่นนี้ว่า โจกคราม ซึ่งจะทำ 4-5 ครั้งทุกวัน เช้าและเย็น จนกว่าน้ำย้อมจะเป็นสีเหลืองหรือส้ม ช่างย้อมโจกครามเพื่อให้ออกซิเจนแก่จุลินทรีย์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนอินดิโกบลูไปเป็นอินดิโกไวท์ นอกจากนี้เพื่อสะดวกในการสังเกตสีของน้ำย้อม สีของฟอง กลิ่นและความข้นหนืดของน้ำย้อม จากการทดลองและสังเกตพบว่า น้ำย้อมวันแรกเป็นสีน้ำเงิน ฟองน้ำเงิน กลิ่นสีครามผสมกลิ่นปูน เป็นด่างพีเอช 12.5 ผ่านไปประมาณ 5 วัน น้ำย้อมเป็นสีเขียว กลิ่นหอมอ่อนๆ หลังจากนั้นเริ่มมีสีเหลือง เข้มขึ้นเรื่อย ความข้นหนืดมากขึ้น พีเอชลดลงทุกวัน จนวันที่สีเหลืองเข้มที่สุดพบน้ำย้อมมีพีเอช 10.5
ปฏิกิริยาการเปลี่ยนอินดิโกบลูไปเป็นอินดิโกไวท์ ทั้งแบบใช้สารเคมีและแบบหมัก เกิดขึ้นได้ที่พีเอชช่วง 10.5-11.5 ดังนั้นการตกตะกอนครามด้วยปูนจึงส่งผลดีต่อการเตรียมน้ำย้อม แต่ก็ต้องใช้เวลานานราว 15 วัน พีเอชจึงจะลดลงถึงช่วงการเกิดปฏิกิริยา ภายหลังการฟื้นฟูผ้าย้อมคราม ได้มีการพัฒนาการก่อหม้อ ด้วยการเติมน้ำมะขามเปรี้ยว จึงสามารถลดเวลาให้เกิดน้ำย้อมสีเหลืองได้เร็วขึ้นเพียงวันเดียวได้ แต่จะมีปัญหาการดูแลรักษาให้หม้อครามคงทนยากกว่าการให้น้ำย้อมค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ช่างย้อมที่มีประสบการณ์หลายปี จึงเลือกสัดส่วนการเติมมะขามเปรี้ยวให้เกิดสีครามประมาณวันที่สามหลังก่อหม้อ
นอกจากนี้ช่างย้อมบางกลุ่มจะก่อหม้อด้วยการผสมน้ำต้มเปลือกไม้ ใบไม้ เช่นเปลือกเพกา ใบเหมือดมน ใบเหมือดแอ และใบสมอ ซึ่งเหตุผลก็คือใบสมอ ใบเหมือดแอ รสเปรี้ยวช่วยลดพีเอช ส่วนเปลือกเพกาฝาดและมียางจะช่วยการติดสีดีขึ้น บางกลุ่มใช้น้ำผึ้งผสม ใช้ผลไม้สุกผสม ซึ่งทั้งสองอย่างมีน้ำตาลทรายเป็นอาหารของจุลินทรีย์แล้วยังมีน้ำตาลฟรุกโทส น้ำตาลกลูโคสที่สามารถเปลี่ยนอินดิโกบลูไปเป็นอินดิโกไวท์ได้
อย่างไรก็ตามการผลิตสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อการขาย ต้องคำนึงถึงต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนแรงงาน ต้นทุนเวลา และที่สำคัญ คุณภาพของผลิตภัณฑ์และเรื่องราวที่เป็นเสน่ห์ของผลิตภัณฑ์ ข้อมูลที่รับรู้จึงควรใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ ไม่ใช่เพื่อการลอกเลียนแบบ
น้ำขี้เถ้า เปลือกเพกา ใบเหมือดแอ
ใบเหมือดมน ใบสมอ น้ำต้มใบไม้
ก่อหม้อคราม โจกคราม น้ำย้อมคราม
รูปที่ 10 วัตถุดิบของการก่อหม้อ และสีของน้ำย้อมที่พร้อมย้อมครั้งแรก
วีดิทัศน์เรื่องการก่อหม้อคราม
กลับไปที่เนื้อหา
น้ำขี้เถ้าสำหรับก่อหม้อ มาจากหลายแหล่ง ทั้งขี้เถ้าฟืนจากเตาหุงต้ม ขี้เถ้าจากถ่านไม้ แต่ต้องไม่มีไขมันหรือสารอื่นนอกจากสารที่มาจากเนื้อไม้ แต่ขี้เถ้าที่ส่งผลดีต่อคุณภาพน้ำย้อม ทำให้สัดส่วนวัตถุดิบก่อหม้อคงที่ และทำให้ดูแลรักษาหม้อครามได้ดี ย้อมได้ยาวนาน สีครามสดใส ติดทน ต้องเป็นขี้เถ้าที่เผามาจากพืชเฉพาะชนิด หาได้ในท้องถิ่น พืชหลักที่ต้องมีทุกครั้งที่เผาทำน้ำขี้เถ้าคือเหง้ากล้วยเน่า ต้นกล้วย ใบกล้วย (กล้วยน้ำว้า กล้วยตานี กล้วยตีบ ไม่ใช้กล้วยส้ม) นอกจากนั้นเป็นไม้อื่นที่หาได้ เช่น ต้นมะละกอ ต้นลิ้นไม้(เพกา) กิ่งใบมะขาม กิ่งใบขี้เหล็ก กิ่งใบทองกวาวชนิดเถา กิ่งใบฉำฉา และอื่นๆที่มีในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียงที่ตัดกิ่งไม้เหล่านี้ทิ้ง ซึ่งต้องผึ่งแดดกิ่งใบเหล่านี้ 2-3 วัน ไม่แห้งมาก การเผาจึงต้องมีทางมะพร้าวแห้ง กาบหมากแห้ง ใบตาลแห้ง นำมาเป็นเชื้อเพลิง
งานเผาไม้เอาขี้เถ้าเป็นงานหนัก ต้องใช้เศษไม้จำนวนมากและต้องเผาต่อเนื่อง ส่วนใดเป็นขี้เถ้าแล้วต้องกวาดออกจากกองไฟ แล้วเผาส่วนอื่นต่อไปจนเป็นเถ้าหมด จากนั้นเอาน้ำมาพรมขี้เถ้าร้อนนั้นให้ชื้นและอุ่นพอจับได้ จึงตักบรรจุถุงพลาสติกหรือปี๊บ เก็บไว้ในที่ร่ม แห้ง รอเตรียมน้ำดั่งต่อไป หลังเผาได้ขี้เถ้าแล้วต้องเก็บขี้เถ้าให้แล้วเสร็จ จะไม่ทิ้งขี้เถ้าไว้ค้างคืน เพราะอาจจะมีสัตว์มาขับถ่ายในกองขี้เถ้า หรือถ้าฝนตก เกลือในขี้เถ้าจะถูกชะหรือซึมลงดิน ขี้เถ้าไม่มีความเค็ม จะไม่มีประโยชน์ใดๆกับการเตรียมน้ำย้อม
รูปที่ 11 เศษไม้ที่ใช้เผาทำขี้เถ้า
ซ้าย : ต้นและเหง้ากล้วย กลาง : เกสรตัวผู้ของตาล ขวา : กิ่งและใบมะขาม ต้นเพกา ทางมะพร้าว
เตรียมถังกรองที่เจาะรูก้นถังแล้วรองด้วยผ้า หรือปุยฝ้ายหรือฟองน้ำ จากนั้นบรรจุขี้เถ้าให้เต็มและกดให้แน่น จึงเทน้ำลงไปให้เต็มถังและกรองจนกว่าน้ำจะซึมผ่านลงไปหมด เทน้ำลงไปในถังกรองให้เต็มอีก กรองต่อไปจนน้ำแห้ง น้ำขี้เถ้าที่ได้จากการกรองสองครั้งนี้จะเค็มพอดีสำหรับการก่อหม้อและปรุงแต่งน้ำย้อม เก็บน้ำขี้เถ้าในถังมีฝาปิดมิดชิด ห้ามเก็บในโอ่งดินเพราะน้ำเกลือจะซึมออก อาจเติมน้ำรอบที่ 3 อีก แต่น้ำขี้เถ้าที่ได้มีความเค็มไม่พอ เอาไว้เติมเป็นน้ำแรกในถังต่อไปได้ กากขี้เถ้าจืดแล้ว ทิ้งได้ในดินทั่วไป
รูปที่ 12 ขี้เถ้าและการกรองน้ำขี้เถ้า
ซ้าย : ขี้เถ้าชื้น กลาง : กดอัดขี้เถ้าในถังกรอง ขวา : เทน้ำใส่ถังกรองและกรองน้ำขี้เถ้า
น้ำขี้เถ้าหรือน้ำดั่งเป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะทำให้ได้ผ้าย้อมครามสีเข้ม สดใส และติดทน และเป็นส่วนที่เตรียมยากกว่าเตรียมเนื้อคราม ยากในการเลือกไม้ที่ให้ความเค็มมาก ยากในการขนย้าย ยากในการเผา และยากที่จะให้น้ำขี้เถ้าที่เตรียมแต่ละครั้งเค็มได้ระดับใกล้เคียงกัน เพื่อส่งผลต่อสัดส่วนของวัตถุดิบในการก่อหม้อและการปรุงแต่งน้ำย้อมเพื่อรักษาสมดุลในหม้อคราม ผู้ที่ย้อมครามเป็นอาชีพจึงต้องเผาเศษไม้ครั้งละมากๆในฤดูแล้ง และเก็บสะสมขี้เถ้าให้ได้มากที่สุด เมื่อทำน้ำดั่งแต่ละครั้งจึงจะได้ความเค็มใกล้เคียงกัน
น้ำดั่งหรือน้ำขี้เถ้าเป็นแหล่งของเกลือของโลหะหลายชนิด มีความสำคัญต่อน้ำย้อมมาก ทั้งการดำรงชีพของจุลินทรีย์ในน้ำย้อม และมีผลต่อการติดสีของน้ำย้อม เช่น เคยพบว่าหากน้ำดั่งไม่เค็ม หลังก่อหม้อ น้ำย้อมจะมีกลิ่นเหม็น ไม่เกิดสี ทั้งๆที่โจกครามทุกเช้าเย็น หรือถ้าน้ำดั่งเค็มมาก หลังก่อหม้อจะใช้เวลานานมากจึงจะเกิดสีครามในน้ำย้อม แต่การติดสีและความคงอยู่ของน้ำย้อมจะดีมาก และเคยพบว่าน้ำย้อมดี สีเหลืองเข้ม ย้อมฝ้ายแล้วบิดเจออากาศ พบว่าเปลี่ยนเป็นสีเขียวและน้ำเงินเป็นปกติ แต่เมื่อนำไปล้าง สีน้ำเงินลอกหลุดไป เหตุนี้ก็เนื่องจากน้ำขี้เถ้าไม่เค็ม
วีดิทัศน์เรื่องการทำน้ำขี้เถ้า
กลับไปที่เนื้อหา
หลังก่อหม้อครามแล้ว อาจได้น้ำย้อมภายในวันแรกหรือหลายวัน ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของวัตถุดิบที่ใช้ก่อหม้อ ลักษณะของน้ำย้อมที่ได้ครั้งแรกจะเป็นสีเหลืองปนเขียว ผิวหน้าเป็นสีน้ำเงิน ช่างย้อมจะต้องทำความสะอาดกำจัดไขมันจากผ้าหรือเส้นฝ้ายที่จะใช้ย้อม และใช้ผ้าหรือเส้นฝ้ายจำนวนเล็กน้อยตามสัดส่วนของน้ำย้อม ก่อนย้อมให้ตักน้ำย้อมไว้หนึ่งขัน การย้อมที่ให้คุณภาพดีที่สุด ต้องจุ่มผ้าหรือเส้นฝ้ายประมาณกลางหม้อน้ำย้อม ไม่เอาลงต่ำจนคลุกเศษปูนก้นหม้อ หรือไม่ให้ผ้าหรือเส้นฝ้ายพ้นน้ำย้อม จากนั้นกำผ้าแล้วคลายด้วยน้ำหนักและจังหวะสม่ำเสมอไล่เรียงไปทั่วทั้งผืน ย้อนกลับไปกลับมา พร้อมกับสังเกตสีของน้ำย้อมที่สีเหลืองลดลง สีน้ำเงินเข้มขึ้น ย้อมจนสีเหลืองเหลือน้อย จึงหยุดย้อม ยกผ้าหรือเส้นฝ้ายขึ้นจากน้ำย้อมและบิดให้หมาด กระตุกให้ฝ้ายเรียงเส้นและรับออกซิเจนจากอากาศ ถ้าเป็นผ้าให้คลี่และสะบัดเบาๆ เทน้ำย้อมที่ตักไว้คืนกลับที่หม้อน้ำย้อมเดิม ถ้ามีหม้อน้ำย้อมหลายหม้อ ให้นำฝ้ายที่บิดและกระตุกแล้วย้อมหม้อที่ 2 และ 3 ….. ต่อไป จนฝ้ายเป็นสีน้ำเงินเข้มตามต้องการ จึงพักฝ้ายไว้ในภาชนะปิดราว 10-15 นาที และล้างสีที่เปื้อนออก
การทำความสะอาดเส้นฝ้าย ส่วนใหญ่เป็นการกำจัดไขมันในเส้นฝ้าย ซึ่งมีวิธีการที่ละเอียด ประณีต แตกต่างกันแล้วแต่คุณภาพฝ้าย และความต้องการคุณภาพผ้าระดับใด เช่นการต้มฝ้ายในน้ำด่าง จะกำจัดไขมันได้ดี แต่เพิ่มต้นทุนทั้งเชื้อเพลิง แรงงาน และเวลา ซักเพียงน้ำเปล่าให้ผ้าเปียกสำหรับฝ้ายหรือเสื้อที่ถูกทำสะอาดแล้วจากโรงงาน สำหรับฝ้ายธรรมชาติหรือฝ้ายเข็นมือที่ส่วนใหญ่เส้นฝ้ายจะใหญ่กว่าฝ้ายโรงงาน จึงต้องทุบเส้นฝ้ายให้น้ำเข้าไปในเส้นใยให้มาก และจะทำให้เนื้อผ้านุ่มขึ้น ไม่ควรซักผ้าด้วยผงซักฟอกก่อนนำไปย้อมครามเพราะหากล้างผงซักฟอกไม่สะอาด จะปนเปื้อนทำให้น้ำย้อมเสีย ต้องทิ้งและเริ่มก่อหม้อใหม่
จากขั้นตอนก่อหม้อ เป็นการทำให้อินดิโกบลู สีน้ำเงิน ไม่ละลายน้ำ เปลี่ยนรูปเป็นอินดิโกไวท์ ที่ไม่มีสีแต่ละลายน้ำได้ การเกิดน้ำย้อมที่พร้อมย้อมจึงมีอินดิโกบลูลดลงเรื่อย ขณะที่อินดิโกไวท์เพิ่มขึ้นเรื่อย แต่เนื่องจากน้ำย้อมครามไม่ใช่สารบริสุทิ์ของอินดิโกบลู เมื่อเกิดอินดิโกไวท์ น้ำย้อมจึงเป็นสีเหลืองปนเขียวก่อน และเข้มขึ้นเรื่อย ยิ่งเกิดอินดิโกไวท์มากยิ่งเหลืองจัดจนเป็นสีเหลืองส้ม ซึ่งช่างย้อมจะเรียกว่าสีมะเขือสุก เป็นสีน้ำย้อมที่ดีที่สุด เมื่อนำผ้าหรือเส้นฝ้ายลงไปย้อม อินดิโกไวท์ที่ละลายน้ำได้จะแทรกเข้าไปในโพรงของเส้นฝ้าย บางส่วนเกาะอยู่ที่ผิวเส้นฝ้าย ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวของน้ำย้อมขณะย้อม ทำให้ออกซิเจนเข้าไปทำปฏิกิริยากับอินดิโกไวท์ได้มากขึ้น ทำให้สีของน้ำย้อมเข้มขึ้น จึงต้องหยุดย้อม ไม่ควรย้อมจนสีอินดิโกไวท์หมด เพราะจะส่งผลต่อการดูแลรักษาหม้อคราม ที่จะกล่าวถึงในตอนต่อไป
เมื่อยกเส้นฝ้ายขึ้นเหนือน้ำย้อม บิดและกระตุก อินดิโกไวท์ทั้งในโพรงและที่ผิวเส้นฝ้ายได้รับออกซิเจนในอากาศ จะเปลี่ยนรูปกลับไปเป็นอินดิโกบลู สีน้ำเงิน ที่ไม่ละลายน้ำ เมื่อนำฝ้ายที่ย้อมแล้วไปล้างน้ำ สีน้ำเงินที่เปื้อนผิวเส้นฝ้ายจะหลุดออก แต่จะไม่ไปย้อมผ้าอื่นเพราะสมบัติที่ไม่ละลายน้ำ ส่วนสีน้ำเงินในโพรงเส้นฝ้ายจะถูกขังไว้ หลุดลอกออกมาไม่ได้ ผ้าย้อมครามที่ย้อมด้วยน้ำย้อมสีเหลือง หลังจากถูกอากาศแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน เมื่อล้างสะอาดแล้วจึงไม่ตกสีอีก
รูปที่ 13 น้ำย้อมและฝ้ายย้อมคราม
ซ้าย : น้ำย้อมคราม กลาง : ยกฝ้ายมัดหมี่ขึ้นจากน้ำย้อม ขวา : ฝ้ายมัดหมี่ย้อมคราม
รูปที่ 14 การเปลี่ยนรูปแบบ (form) ของสีครามในกระบวนการสกัดสี เตรียมน้ำย้อม และย้อมคราม
วีดิทัศน์เรื่องการย้อมผ้าคราม
กลับไปที่เนื้อหา
กระบวนการย้อมคราม ตั้งแต่แยกสีครามจากใบไปไว้ในน้ำคราม การกวนและตกตะกอนเนื้อคราม การก่อหม้อเตรียมน้ำย้อม การย้อมครามและปรุงแต่งให้น้ำย้อมคงสภาพสมดุล ย้อมได้ติดต่อกันนานหลายเดือน หลายปี ขั้นตอนที่ยากที่สุด ต้องฝึกฝนสังเกตและแก้ไขนานที่สุดคือการปรุงแต่งและรักษาน้ำย้อม แต่หากช่างย้อมเข้าใจธรรมชาติของสีคราม ที่เปลี่ยนรูปแบบได้ถึง 4 แบบ ในกระบวนการย้อมคราม ดังรูปที่ 14 จะทำให้มีหลักการในการปฏิบัติ เพิ่มความเชื่อมั่นในการทำงาน และมีความสบายใจกับการฉกฉวยและแย่งชิงกับธรรมชาติคือจุลินทรีย์กับออกซิเจน และรูปที่ 14 จะเป็นข้อมูลสำหรับนายช่างทั้งหลายที่จะออกแบบเครื่องมือในการผ่อนแรง ลัดขั้นตอน ลดเวลา ในการย้อมคราม โดยไม่ทำลายวัฒนธรรม และความภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นจนสิ้น ซึ่งเป็นคุณค่าและมูลค่าของผ้าย้อมครามธรรมชาติ
หลังการก่อหม้อจนได้น้ำย้อมสีเหลือง ช่างย้อมจะตักน้ำย้อมแยกไว้ 1 ขัน ใช้ฝ้ายชิ้นเล็กย้อม และเหลือสีเหลืองในน้ำย้อมค่อนข้างมาก เทน้ำย้อมที่ตักแยกไว้คืนหม้อครามเดิม เพื่อเหลือเชื้อไว้ จากนั้นปรุงแต่งน้ำย้อมด้วยการเติมเนื้อครามและน้ำขี้เถ้า ทดแทนส่วนที่ถูกฝ้ายดูดซับไป ช่างย้อมต้องสังเกตสีของน้ำย้อมจึงจะรู้ปริมาณที่ควรเติม ซึ่งไม่สามารถบอกเป็นตัวเลขได้ ต้องใช้การสังเกตในแต่ละหม้อ และเนื่องจากปฏิกิริยาการเปลี่ยนอินดิโกบลูไปเป็นอินดิโกไวท์นั้นเกิดขึ้นในช่วงพีเอช 10.5-11.5 การเติมเนื้อครามที่มีพีเอชมากกว่า 12.5 ในปริมาณมากเกินไปจะส่งผลให้พีเอชของน้ำย้อมสูงเกิน 11.5 ทำให้ไม่เกิดอินดิโกไวท์ในน้ำย้อม ต้องรออีกหลายวันให้กรดที่เกิดจากการดำรงชีพของจุลินทรีย์ ช่วยให้พีเอชลดลง ถ้าช่างย้อมชำนาญในการสังเกตน้ำย้อมคราม จะเติมเนื้อครามได้พอดี หรือใช้น้ำมะขามเปรี้ยวและเติมน้ำตาลทรายแดง ประมาณสัปดาห์ละครั้ง หรือใส่กล้วยน้ำว้าสุก ปอกเปลือก ลงในหม้อน้ำย้อม รอ 2-3 วัน ผลกล้วยจะแข็ง เนื่องจากดูดซับน้ำปูนใสไว้ ให้แยกเอากล้วยออกจากหม้อน้ำย้อม มะขามเปรี้ยวทำหน้าที่ปรับลดพีเอช กล้วยสุกจับน้ำปูนใส และน้ำตาลทรายแดงเป็นอาหารเลี้ยงจุลินทรีย์ ทั้งสามชนิดปรับน้ำย้อมให้คงสภาพใกล้เคียงกับน้ำย้อมเริ่มแรกหลังก่อหม้อ อีกทั้งน้ำขี้เถ้าที่เค็มพอดี ไม่รบกวนการดำรงชีพของจุลินทรีย์ และให้เกลือที่เพียงพอสำหรับทำหน้าที่สารช่วยติด หลังการปรุงแต่งแต่ละครั้งต้องรอ อย่างน้อย 8 ชั่วโมง จึงจะเกิดสีเหลืองและต้องทำการย้อม หากไม่ย้อม เมื่อความเป็นกรดในหม้อครามเพิ่มขึ้น สีเหลืองจะย้อนกลับไปเป็นสีน้ำเงิน ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า หม้อนิลหนี ช่างย้อมที่มีความชำนาญ จะดูแลรักษาหม้อคราม จนย้อมฝ้ายได้ 3 ครั้งต่อหม้อต่อวัน แต่โดยทั่วไปจะย้อม 2 ครั้งต่อหม้อต่อวัน หากทำหม้อครามจำนวนมากจะย้อมเพียงวันละครั้ง การย้อมน้อยครั้งต่อวันจะรักษาน้ำย้อมได้ดีกว่าการย้อมหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงแนวปฏิบัติ การตัดสินใจว่าจะย้อมหรือไม่ ย้อมกี่ครั้ง อยู่ที่สีเหลืองเข้มของน้ำย้อม
การปรุงแต่งเหล่านี้เพื่อเติมเนื้อครามกับน้ำขี้เถ้า ปรับพีเอชให้อยู่ในช่วง 10.5 – 11.5 และเพิ่มจำนวนจุลินทรีย์ ซึ่งถือเป็นตัวแปรหลายตัวที่จะต้องสังเกตและทำให้คงสภาพสมดุลในหม้อคราม ช่างย้อมจึงเรียกการดูแลรักษาน้ำย้อมครามว่าการเลี้ยงคราม ซึ่งต้องเอาใจใส่ค่อนข้างละเอียดใกล้เคียงกับการเลี้ยงเด็กอ่อน แต่เมื่อทำซ้ำๆจนอายุของหม้อน้ำย้อมมากขึ้น น้ำย้อมจะมีความคงทน จะดูแลง่ายขึ้น ขณะเดียวกันช่างย้อมก็มีความชำนาญมากขึ้น จะสามารถเลี้ยงครามไว้ได้ติดต่อกันนานหลายปี
ช่างย้อมสามารถใช้วัสดุอื่นทดแทนมะขามและน้ำตาลทรายแดงได้ เช่นมะเฟือง มะกรูด น้ำต้มใบเหมือดแอ ขณะที่ใช้น้ำอ้อย น้ำตาลปึกแทนน้ำตาลทรายแดง เพียงแต่เป็นวัสดุจากธรรมชาติตามลักษณะเฉพาะของผ้าย้อมครามธรรมชาติ การดูแลรักษาน้ำย้อมให้ย้อมได้ทุกวันเป็นความชำนาญที่ต้องฝึกฝนเป็นปี แต่เมื่อเชี่ยวชาญแล้วจะสามารถใช้วัตถุดิบปริมาณน้อยที่สุด ไม่มีของเสียทิ้ง ได้ผลผลิตคุณภาพดี สีเข้ม ติดทน ไม่ลอกหลุด สามารถกำหนดเวลาและปริมาณผลผลิตได้ แต่อย่างไรก็ไม่สามารถเร่งรัดได้ตามใจต้องการ
หม้อครามจะเป็นโอ่งดิน โอ่งมังกรหรือถังพลาสติกก็ได้ มีฝาปิดมิดชิดป้องกันแมลงหรือหนู หรือสัตว์อื่นตกลงไป ควรตั้งไว้ในโรงเรือนที่มีพื้นอาคารสะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก เก็บน้ำล้างน้ำแรกและน้ำสองไว้ และล้างซ้ำในถังเดิมทุกครั้ง จนน้ำล้างเข้มขุ่นข้น นำไปแยกตะกอนเนื้อครามหรือเกิดเป็นหม้อน้ำย้อมหม้อใหม่ได้ ส่วนน้ำล้างครั้งหลังๆ เททิ้งลงดินรดต้นไม้ได้ หรือทำหลุมจำกัดบริเวณของน้ำทิ้งไว้ ให้ดูสะอาด งามตา
วีดิทัศน์เรื่องการดูแลน้ำย้อมผ้าครม
กลับไปที่เนื้อหา
การสกัดสีครามบริสุทธิ์จากต้นคราม ทำได้ยากกว่าการตกตะกอนด้วยปูนกินหมาก และได้สีปริมาณน้อยมากเพียงร้อยละ 0.2-1.0 ของใบครามสด การใช้ประโยชน์จากสีครามจึงใช้เพื่อการเป็นสีย้อมมากกว่าด้านอื่นๆ นอกจากนี้การสกัดแยกสีและการเตรียมน้ำย้อมเป็นปฏิกิริยาทางชีวเคมี จึงต้องการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งอุณหภูมิ พีเอช และจังหวะเวลา การใช้ออกซิเจนในอากาศ จนได้น้ำย้อมครามที่มีอินดิโกไวท์ละลายอยู่ หลังการย้อมจะได้ผ้าย้อมครามที่มีอินดิโกบลูติดเสื้อผ้า ดังกล่าวมาแล้ว
โครงสร้างทางเคมีของอินดิโกไวท์และอินดิโกบลู มีตำแหน่งที่เหมาะสมกับการเกาะเกี่ยวกับเซลลูโลสซึ่งเป็นโครงสร้างทางเคมีของใยพืช ดังนั้นสีครามจึงย้อมติดฝ้ายได้ดี ทั้งฝ้ายธรรมชาติที่ภาษาท้องถิ่นเรียกว่าฝ้ายเข็นมือ และฝ้ายแปรรูปหรือเรยอน ขณะเดียวกัน ใยฝ้ายทนด่าง ทนความร้อน มีโพรงในเส้นใย ระบายอากาศได้ดี ซับน้ำได้ดี ยิ่งใช้นานยิ่งนุ่ม ผ้าฝ้ายย้อมครามจึงรวมเอาสมบัติที่ดีของฝ้าย และสมบัติที่ดีของครามที่ปกป้องแสงอัลตราไวโอเลต ยับยั้งแบคที่เรียบนผิวหนัง ทำให้ผ้าฝ้ายย้อมครามมีสมบัติที่ดีสำหรับทำเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ปกป้องแสงยูวี เช่น ร่ม และหมวก และของใช้ ของตกแต่งอื่นๆที่เข้าเซ็ตกัน อีกทั้งสีน้ำเงินเป็นโทนสีเย็น ใช้ได้หลายโอกาส ใช้ได้กับทุกเพศ ทุกวัย และที่สำคัญกว่าคือเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ย้อมเย็น ไม่ใช้เชื้อเพลิง จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสร้างสรรค์โดยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาเป็นพันปี
ผ้าฝ้ายเข็นมือย้อมครามทั้งเส้นพุ่งและเส้นยืน และย้อมจากการหมักครามกับน้ำขี้เถ้า เป็นผลิตภัณฑ์ครามที่ดีที่สุด ด้วยการติดสีครามทน สีสดใส เนื้อผ้ามีความทน การตัดเย็บที่ไม่ต้องอัดผ้ากาวหรือรองด้วยผ้าชนิดอื่น ไม่ต้องมีวัสดุใดมาปิดกั้นคุณสมบัติที่ดีของฝ้ายและคราม เมื่อสวมใส่จะสบายตัว แม้อยู่กลางแดดจะไม่แสบผิว เนื้อผ้าเริ่มต้นอาจดูกระด้าง แต่ยิ่งใช้นานจะยิ่งนุ่ม ถ้าเป็นเส้นใยเรยอนที่ติดสีครามได้ดีใกล้เคียงกัน ย้อมง่ายกว่าเส้นฝ้ายเข็นมือ ผลิตภัณฑ์เริ่มต้นสวยงามด้วยเนื้อผ้านุ่ม มีความวาว ลวดลายหมี่เล็กละเอียด แต่ความทนน้อยกว่าฝ้ายเข็นมือมาก จึงเหมาะสำหรับทำผลิตภัณฑ์เบ็ดเตล็ด เช่น ผ้าพันคอ ผ้าสไบ ผ้าคลุมไหล่ ฯลฯ หากจะใช้สำหรับนุ่งห่มต้องเพิ่มความทนด้วยการทอหลายตะกอและอัดผ้ากาวก่อนการตัดเย็บ แต่ก็ยังไม่สามารถทนต่อการขัดถูได้ และจะสูญเสียสมบัติที่ดีของฝ้ายและครามไป แต่ได้ความสวยและเนื้อผ้าทนมากขึ้นทดแทน ดังนั้นการเลือกใช้ผ้าย้อมครามควรเลือกชิ้นที่เหมาะสมกับการใช้งาน สำหรับใยไหมที่มีโครงสร้างทางเคมีเป็นพวกโปรตีน มีตำแหน่งเกาะเกี่ยวกับสีครามน้อยกว่าฝ้าย อีกทั้งเส้นไหมไม่ทนด่าง แต่การเตรียมน้ำย้อมครามทำได้ในภาวะด่าง ทำให้การทำไหมย้อมครามยากกว่าทำฝ้ายย้อมคราม อีกทั้งวัตถุดิบต้นทุนสูงกว่า ทำให้ต้องขายราคาแพง ส่งผลให้ตลาดแคบกว่ามาก
การฟื้นฟูและพัฒนาผ้าย้อมครามทำต่อเนื่องนานกว่า 20 ปี ทำให้ผู้บริโภคผ้าย้อมคราม ขยายวงกว้างไปทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ แต่การผลิตผ้าย้อมครามที่ให้คุณสมบัติที่ดีนั้น ต้องใช้เวลามาก ได้ผลผลิตน้อย ไม่พอกับความต้องการ ทำให้มีการส่งเสริมให้ผู้ผลิตบางกลุ่ม ปรับตัวโดยลดเกรดของผ้าลง ใช้ต้นทุนต่ำ ได้ผลิตภัณฑ์มากขึ้น เริ่มจากใช้เส้นด้ายย้อมสีเคมีเป็นเส้นยืน พุ่งด้วยฝ้ายหรือเรยอนย้อมคราม จะคงความสวยของลวดลายไว้ได้ แต่สมบัติของฝ้ายและครามหายไปร้อยละ 50 และมีอีกมากมายหลายวิธี เช่นการใช้สีครามสังเคราะห์ซึ่งความเข้มข้นสูง เติมในหม้อน้ำย้อมธรรมชาติ ทำให้ย้อมผ้าได้เข้มมากและเร็ว แต่ผ้าพวกนี้จะซีดจางเร็วกว่าผ้าเกรดหนึ่งและสองที่กล่าวมา หรือใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์รุนแรงในการเตรียมน้ำย้อม ทำให้ย้อมได้ทันที แต่โอกาสเกิดอันตรายกับช่างย้อมและสมาชิกในครอบครัว ที่ทำงานทุกวันด้วยสองมือ มีการปนเปื้อนในดินจากเศษเหลือทิ้งของน้ำย้อม จนกระทั่งมาถึงจุดที่ทำผ้าสีน้ำเงินลวดลายและรูปแบบคล้ายผ้าย้อมคราม แต่ขาดหัวใจของผ้าย้อมคราม คือความเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาการย้อมครามที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
วีดิทัศน์เรื่องผลิตภัณฑ์จากคราม
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังรูปภาพ
ชื่อ Galleryแปลงปลูกต้นครามGalleryชื่อ Galleryการกรองเนื้อครามGalleryชื่อ Galleryการแช่ครามGalleryชื่อ Galleryการแยกเนื้อครามGalleryชื่อ Galleryการกรองเนื้อครามGalleryชื่อ Galleryการทำน้ำขี้เถ้าGalleryชื่อ Galleryวัตถุดิบที่ใช้ก่อหม้อครามGalleryชื่อ Galleryการก่อหม้อครามGalleryชื่อ Galleryการย้อมผ้าครามGalleryชื่อ Galleryการดูแลน้ำย้อมผ้าครามGalleryชื่อ GalleryภาพพาโนรามาGallery
-
คลังวิดีทัศน์
ผ้าย้อมครามสกลนคร
ทำความรู้จักกับต้นคราม
การเก็บคราม
การแช่คราม
การแช่คราม
การก่อหม้อคราม
การทำน้ำขี้เถ้า
การย้อมผ้าคราม
การดูแลน้ำย้อมผ้าคราม
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนแหล่งเรียนรู้ผ้าย้อมครามผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนนางสาวณพานันท์ ยมจินดาผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนนางสาวรัตติกาล อินพูลวงษ์ผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนนางสาวชุติมา อันชนะผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนนางสาวสุภัชญา สุขศิริผู้เขียนแผนการสอน
-
คำที่เกี่ยวข้อง