แหล่งเรียนรู้แห่เทียนพรรษา
- 1. การแนะนำ
- 2. มาตรฐานสาระและจุดประสงค์การเรียนรู้
- 3. ที่ตั้งและภูมิประเทศ
- 4. การเดินทาง
- 5. ความเป็นมา
- 6. ขี้ผึ้ง Beewax
- 7. ขี้ผึ้งพาราฟีน Paraffin wax
- 8. การติดไฟของเทียน
- 9. การหลอมเทียน
- 10. ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์
- 11. ต้นเทียนประเภทมัดรวมติดลาย
- 12. ต้นเทียนประเภทแกะสลัก
- 13. การทำหุ่นประกอบ
- 14. สารที่เกิดจากการจุดเทียน
- 15. กิจกรรม : การหลอมเทียน
- - ทุกหน้า -
ศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่ตั้งอยู่เลขที่ 6 ถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี หน้าวัดศรีประดู่ เป็นบ้านของคุณสมคิด สอนอาจซึ่งเป็นประธานศูนย์และเป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่น 3 ผู้เชี่ยวชาญการทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ศูนย์แห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสภาการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้เป็นแหล่งเรียน รู้การทำเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี
จังหวัดอุบลราชธานีมีชื่อเสียงไปทั่วโลกทั้งในเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยวและงาน ประติมากรรมเทียนพรรษาโดยมีนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศเข้ามาชมประเพณีแห่ เทียนพรรษาซึ่งมีวัดและหมู่บ้านจากอำเภอต่าง ๆจัดทำเทียนพรรษามาประกวดกันก่อนนำไปถวายวัด มีขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่และสวยงามมากกว่า 60 ขบวน ในแต่ละปี
กลับไปที่เนื้อหา
สาระ มาตรฐานและตัวชี้วัดชั้นปี ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ช่วงชั้นที่ 2 (ป.5 – ป.6 ) ช่วงชั้นที่ 3 (ม. 1 – ม.3 )และช่วงชั้นที่ 4 (ม. 4 – ม.6)
สาระที่ 3 สารและสมบัติของสาร
มาตรฐาน ว 3. 1 เข้าใจสมบัติของสาร ความสัมพันธ์ระหว่างสมบัติของสารกับโครงสร้างและแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาค มีกระบวนการสืบเสาะ หาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ นำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด
(ป. 5 ) ทดลองและอธิบายสมบัติของวัสดุชนิด ต่าง ๆ เกี่ยวกับความยืดหยุ่น ความแข็ง ความเหนียวการนำความร้อน การนำไฟฟ้าและความหนาแน่น
( ม.1 ) อธิบายสมบัติและการเปลี่ยนสถานะของสาร โดยใช้แบบจำลองการจัดเรียงอนุภาคของสาร
( ม.4 – ม.6 ) สืบค้นข้อมูลและอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างจุดเดือด จุดหลอมเหลว และสถานะของสารกับแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคของสาร
มาตรฐาน ว 3.2 เข้าใจหลักการและธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงสถานะของสาร การเกิดสารละลาย การเกิดปฏิกิริยา มีกระบวนการสืบเสาะ หาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด
(ป.6 ) ทดลองและอธิบายสมบัติของสาร เมื่อสารเกิดการละลายและเปลี่ยนสถานะ
( ม.1 ) ทดลองและอธิบายการเปลี่ยนแปลงสมบัติ มวลและพลังงานของสาร เมื่อสารเปลี่ยนสถานะและเกิดการละลาย ทดลองและอธิบายปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนสถานะ และการละลายของสาร
สาระที่ 5 พลังงาน
มาตรฐาน ว 5. 1 เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานกับการดำรงชีวิต การเปลี่ยนรูปพลังงาน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสารและพลังงาน ผลของการใช้พลังงานต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม มีกระบวน การสืบเสาะหาความรู้ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด
( ม.1 ) สังเกตและอธิบายการถ่ายโอนความร้อน และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
จุดประสงค์การเรียนรู้
- บอกสมบัติและอธิบายความแตกต่างของขี้ผึ้งธรรมชาติกับพาราฟินได้
- อธิบายการเปลี่ยนแปลงการจัดเรียงโมเลกุลเมื่อมีการเปลี่ยนสถานะของขี้ผึ้งได้
- บอกจุดหลอมเหลวและจุดติดไฟของขี้ผึ้งและพาราฟินได้
- อธิบายการถ่ายโอนความร้อนเมื่อใช้การหลอมขี้ผึ้งด้วยวิธี water bath ได้
- ตระหนักถึงอันตรายจากการที่สารบางชนิดได้รับความร้อน
กลับไปที่เนื้อหา
ศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่ตั้งอยู่เลขที่ 6 ถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี หน้าวัดศรีประดู่ เป็นบ้านของคุณสมคิด สอนอาจซึ่งเป็นประธานศูนย์และเป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่น 3 ผู้เชี่ยวชาญการทำเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ศูนย์แห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสภาการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้เป็นแหล่งเรียนรู้การทำเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี
จังหวัดอุบลราชธานีมีชื่อเสียงไปทั่วโลกทั้งในเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยวและงานประติมากรรมเทียนพรรษาโดยมีนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศเข้ามาชมประเพณีแห่เทียนพรรษาซึ่งมีวัดและหมู่บ้านจากอำเภอต่าง ๆจัดทำเทียนพรรษามาประกวดกันก่อนนำไปถวายวัด มีขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่และสวยงามมากกว่า 60 ขบวน ในแต่ละปี
จังหวัดอุบลราชธานีตั้งอยู่สุดชายแดนทางตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ละติจูดที่ 15 องศา 14 ลิปดาเหนือ และลองจิจูด 104 องศา 47 ลิปดาตะวันออก มีพื้นที่ 16,112.665 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 10 ล้านไร่ จีงหวัดอุบลราชธานีอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า แอ่งโคราช สูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 68 เมตร ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบสูง ลาดเอียงไปทางทิศตะวันออกจนถึงแม่น้ำโขง มีแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลไหลมาบรรจบกันแล้วไหลผ่านกลางตัวจังหวัดไปลงแม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียมทางทิศตะวันออก ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร แต่ก็มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาและงานช่างประติมากรรมสืบเนื่องกันมานานกว่า 200 ปี มีผลให้งานประติมากรรมเทียนพรรษาของอุบลราชธานีมีชื่อเสียงโด่งดังจนมีผู้สนใจมาศึกษาและเยี่ยมชมตลอดปี ทำให้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนเทียนพรรษาขึ้นหลายแห่งรวมทั้งศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่ด้วย
กลับไปที่เนื้อหา
จังหวัดอุบลราชธานีอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครทางรถไฟเป็นระยะทาง 575 กิโลเมตรและถ้าเดินทางโดยรถยนต์จะมีระยะทางประมาณ 630 กิโลเมตร เมื่อถึงตัวจังหวัดอุบลราชธานีแล้วเราเริ่มต้นการเดินทางจากทุ่งศรีเมืองซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ไปตามถนนราชบุตร เลี้ยวซ้ายไปตามถนนนครบาลไปจนถึงสี่แยกที่ตัดกับถนนสรรพสิทธิ์ก็เลี้ยวขวาไปตามถนนสรรพสิทธิ์ตรงไปสุดถนนจะเป็นวัดศรีประดู่ ศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่ตั้งอยู่ซ้ายมือ ใกล้หน้าวัด รวมระยะทางจากทุ่งศรีเมืองประมาณ 7 กิโลเมตร
วิดีทัศน์ เรื่อง ความสำคัญของเทียนพรรษา
วิดีทัศน์ เรื่อง ศูนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่ จ.อุบลราชธานี
คำถาม
- ทำไมจึงต้องมีประเพณีนำเทียนพรรษา ไปถวายตามวัดต่าง ๆ
- การนำเทียนพรรษาไปถวายตามวัด ทำกันในช่วงเวลาใด
กลับไปที่เนื้อหา
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้รวบรวมประวัติความเป็นมาของการทำเทียนพรรษาและประเพณีการแห่เทียนพรรษาของอุบลราชธานีไว้ สรุปได้ว่า ชาวอุบลราชธานี เป็นเมืองพุทธที่เคร่งครัดในศาสนาและมีความเชื่อเรื่องการถวายเทียนพรรษาว่าจะได้บุญมากจึงนิยมทำต้นเทียนไปถวายแก่พระสงฆ์พร้อมข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อพระสงฆ์ โดยเฉพาะเทียนที่ใช้จุดบูชาพระรัตนตรัยในระหว่างเข้าพรรษา ทุกครัวเรือนจะมีการฟั่นเทียนจากขี้ผึ้งเป็นของตนเอง จากนั้นจะนำไปถวายพระสงฆ์ในช่วงวันเข้าพรรษาพร้อมกับเครื่องไทยธรรมอื่น ๆ
การถวายเทียนในระยะแรก เป็นการถวายตามศรัทธาของพุทธศาสนิกชนโดยนำเทียนเล่มเล็ก ๆ มารวมกันถวาย เมื่อเทียนที่นำมาถวายมีขนาดต่างกัน เทียนก็ไม่เป็นระเบียบ จึงได้นำเทียนมารวมกันจัดให้เป็นระเบียบโดยการมัดเทียนเข้ากับแกนไม้ใช้เชือกมัดเป็นเปราะ ๆ ใช้กระดาษสีติดรอบ ตกแต่งด้วยเชือกย้อมสีมัด ปิดทับด้วยกระดาษสีต่าง ๆ เจาะลาย จากการมัดรวมให้เป็นลำต้นนี้เองจึงเรียกว่า “ต้นเทียน” และเรียกต้นเทียนนี้ว่า “เทียนมัดรวม”
ปี พ.ศ. 2444 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองอุบลในขณะนั้น โปรดฯ ให้มีการแห่เทียนพรรษาเป็นครั้งแรกและจัดให้มีการประกวดขบวนแห่เทียนพรรษาเป็นครั้งแรก และในพ.ศ. 2480 มีการริเริ่มทำลวดลายลงบนเทียนพรรษาเป็นครั้งแรก พ.ศ. 2512 เทศบาลเมืองอุบลราชธานี (ปัจจุบันเป็นเทศบาลเมืองนครอุบลราชธานี) ได้จัดให้มีการประกวดเทียนพรรษาขึ้น โดยมีการประกวดต้นเทียน 2 ประเภท คือ ประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลักและมีการส่งเทียนพรรษาเข้าประกวดเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จนต้องย้ายสถานที่จัดงานเป็นบริเวณทุ่งศรีเมืองตราบจนปัจจุบัน
วิดีทัศน์ เรื่อง เทียนพรรษามีกี่ประเภท
กลับไปที่เนื้อหา
วัสดุสำคัญที่ใช้ในการทำเทียนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คือ ขี้ผึ้ง ซึ่งมาจากรังผึ้งนั่นเอง โดยมากจะเก็บมาจากรังผึ้งร้าง ผึ้งงานจะสร้างขี้ผึ้งด้วยต่อมที่อยู่บริเวณท้องน้อยของผึ้ง ขี้ผึ้งที่สร้างขึ้นมีลักษณะเป็นเกล็ดบาง ๆ ผึ้งงานจะนำขี้ผึ้งไปใช้ในการสร้างรังผึ้ง สีของขี้ผึ้งมีตั้งแต่สีเหลืองอ่อนไล่ไปจนถึงสีเหลืองแกมน้ำตาล ขึ้นอยู่กับความบริสุทธิ์ของขี้ผึ้ง สูตรทางเคมีของขี้ผึ้งโดยทั่วไป จะเป็น C15H31COOC30H61 ประกอบด้วยสารไฮโดรคาร์บอนหลายชนิด กรดอิสระตลอดจนแอลกอฮอล์ ขี้ผึ้งมีจุดหลอมเหลวที่อุณหภูมิ 62 – 64 องศาเซลเซียส และจะถึงจุดติดไฟเมื่ออุณหภูมิขึ้นไปถึง 204.4 องศาเซลเซียส ความหนาแน่นของขี้ผึ้งอยู่ระหว่าง 958 – 970 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตรที่ 15 องศาเซลเซียส
ขี้ผึ้งเป็นสารที่มีความเหนียวและอ่อนตัวได้ง่ายเมื่อได้รับความร้อนไม่มากนัก จึงนำมาเปลี่ยนรูปร่างได้โดยใช้การออกแรงเช่น ใช้ในการฟั่นเทียน ซึ่งเป็นการคลึงก้อนขี้ผึ้งรอบไส้ที่ทำด้วยด้วยด้ายดิบหรือฝ้าย เมื่อนำไปจุดจะมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ จากขี้ผึ้งด้วย
คำถาม
- ถ้าใส่ขี้ผึ้งลงในน้ำ ผลจะเป็นอย่างไร เพราะเหตุใด
กลับไปที่เนื้อหา
ชาวบ้านมักจะเรียกว่าขี้ผึ้งน้ำมันหรือขี้ผึ้งถ้วยตามรูปร่างที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ขี้ผึ้งพาราฟีนเป็นสารประกอบประเภทไฮโดรคาร์บอน จัดอยู่ในกลุ่มขี้ผึ้งปิโตรเลียมหรือปิโตรเลียมแว็กซ์ (Petroleum wax) มีสูตรโครงสร้างทางเคมี คือ CnH2n+2 จำนวนคาร์บอนในห่วงโซ่โมเลกุลระหว่าง 19-36 อะตอม (C19-C36) มีลักษณะเป็นของแข็ง มีสีเหลืองอ่อนถึงขาว มีจุดหลอมเหลว อยู่ที่ระหว่าง 48-68 องศาเซลเซียส จุดติดไฟอยู่ระหว่าง 204 – 271 องศาเซลเซียส ค่า pH ระหว่าง 5.8 – 6.3 มีความหนาแน่น 820 – 920 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
เนื่องจากขี้ผึ้งในธรรมชาติมีน้อยลงและหาได้ยากมากขึ้น ทำให้มีราคาสูงมากขึ้น จึงมีการนำขี้ผึ้งพาราฟีนมาหลอมทำเป็นเทียน แต่ขี้ผึ้งพาราฟีนจะแข็งและเปราะกว่าขี้ผึ้งธรรมชาติมาก ไม่สามารถนำมาฟั่นด้วยมือได้ ต้องใช้การหล่อโดยทำให้ขี้ผึ้งพาราฟีนหลอมเหลวแล้วเทลงในแบบเท่านั้น ช่างทำเทียนพยายามแก้ไขปัญหานี้ โดยใช้การหลอมขี้ผึ้งพาราฟีนกับขี้ผึ้งธรรมชาติเข้าด้วยกันในสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความเหนียวให้กับเทียนที่ผลิตขึ้น จนสามารถแกะสลักเป็นลวดลายได้ง่าย
ขี้ผึ้งพาราฟีนไม่มีสี เมื่อเป็นของแข็งจะเห็นเป็นแผ่นหรือก้อนสีขาว มีการใส่สีที่ละลายในพาราฟีนผสมลงไปทำให้มีสีต่าง ๆ ได้ตามต้องการ
วิดีทัศน์ เรื่อง เทียนพรรษาทำมาจากอะไร
เอกสารอ้างอิง
ภาพจาก made-in-china.com
ภาพจาก http://www.alibaba.com/
กลับไปที่เนื้อหา
ขี้ผึ้งมีส่วนผสมของสารต่าง ๆ เช่น สารไฮโดรคาร์บอน สารโมโนเอสเทอร์ (monoesters) สารไดเอสเทอร์ (diesters) และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ส่วนขี้ผึ้งก็มีส่วนผสมของสารประกอบไฮโดรคาร์บอนหลายชนิด ทั้งขี้ผึ้งแท้และขี้ผึ้งพาราฟีนจึงมีไอระเหยที่ติดไฟได้ง่าย ส่วนประกอบสำคัญในการติดไฟของเทียน คือไส้เทียนนั่นเอง ไส้เทียนทำจากเส้นด้ายที่ทำมาจากฝ้ายซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาตินำมาฟั่นเป็นเกลียว ตัวไส้เทียนทำหน้าที่เป็นแหล่งเชื้อเพลิง โดยต้องมีสมบัติของการเป็นตัวดูดซับ (absorbent) ที่ดีด้วย เพราะขณะที่ไส้เทียนติดไฟนั้น ไส้เทียนจะดูดซับขี้ผึ้งเหลวหรือพาราฟินเหลว ให้ขึ้นไปตามตัวไส้เทียน เพื่อให้เกิดการเผาไหม้อย่างต่อเนื่อง การดูดซับน้ำเทียนเหลวนี้เกิดจากแรงดึงผิวตามปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "การซึมตามรูเล็ก (capillary action)" ซึ่งเป็นการเคลื่อนที่ของของเหลวขึ้นไปตามท่อหรือหลอดขนาดเล็ก ๆ
คำถาม
- สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการซึมตามรูเล็ก (capillarity) หรือสภาพคะปิลลารี
เมื่อเราจุดเทียน ไส้เทียนจะลุกไหม้ ความร้อนของเปลวไฟ ทำให้เนื้อเทียนบริเวณโคนไส้เทียนเกิดการหลอมเหลว และถูกดูดซับเข้าไปในตัวไส้เทียนโดยแรงซึมตามรูเล็ก (capillary force) เนื้อเทียนที่ถูกดูดเข้าไปในตัวไส้เทียน บางส่วนจะระเหยกลายเป็นไอด้วยความร้อนจากเปลวไฟ และบางส่วนจะถูกเผาไหม้ไปพร้อมกับไส้เทียน ขณะเทียนติดอยู่จะสังเกตเห็นว่า ไส้เทียนถูกเผาไหม้ช้ากว่าการนำเส้นด้ายแบบเดียวกันมาจุดไฟมาก ตามอุณหภูมิได้ดังรูป
เหตุผลที่ไส้เทียนเผาไหม้ช้านั้น เกิดจากเนื้อเทียนที่กำลังหลอมเหลว ดึงความร้อนออกจากไส้เทียนมาใช้ในการเผาไหม้ตัวเอง และใช้ในการเปลี่ยนสถานะของพาราฟิน หรือขี้ผึ้งจากของเหลวให้กลายเป็นแก๊สระเหยออกไป เปลวเทียนในสภาวะเกิดการเผาไหม้ที่อุณหภูมิห้อง ความดัน 1 บรรยากาศ ภายใต้สนามความโน้มถ่วงปกติจะมีรูปร่างคล้ายหยดน้ำ แบ่งเป็นชั้น ๆ
Zone1 อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส
Zone2 อุณหภูมิ1,000 องศาเซลเซียส เรียกว่า Primary Reaction Zone
Zone3 อุณหภูมิ 1,200 องศาเซลเซียส เรียกว่า Luminous Zone
Zone4 อุณหภูมิ1,400 องศาเซลเซียส เรียกว่า Main Reaction Zone
เมื่อจุดเทียนบนโลกความร้อนจะทำให้ไขละลายเป็นของเหลว ไขเหลวจะถูกดึงขึ้นไปตลอดความยาวของไส้เทียนด้วยกระบวนการที่เรียกว่า Capillary ไขเหลวนี้จะถูกทำให้ร้อนขึ้นไปอีกจนกลายเป็นไอ เมื่อเข้าไปใกล้ปลายไส้ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวดอุณหภูมิสูง ออกซิเจนในอากาศจะผสมกับไอดังกล่าว ผนวกกับอยู่ในที่ซึ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้นข้างบนตามหลักแรงลอยตัว (bouyancy) อากาศที่เย็นกว่าจะเข้ามาแทนที่ เป็นการเติมออกซิเจนให้กับการเผาไม้อย่างต่อเนื่องก๊าซร้อนที่ลอยสูงขึ้นจะพาความร้อน (convection) และไอเทียนขึ้นไปด้วย การเผาไม้ก็จะลอยสูงขึ้นตามไป ผลที่ปรากฏออกมาทำให้เห็นเปลวเทียนมีรูปคล้ายหยดน้ำ
คำถาม
- ถ้าจุดเทียนในที่ซึ่งอยู่ในสภาพไร้น้ำหนัก นักเรียนคิดว่าเปลวเทียนจะมีรูปร่างอย่างไร เพราะเหตุใด
เอกสารอ้างอิง
ภาพจาก indiatalkies.com
กลับไปที่เนื้อหา
ขี้ผึ้งที่ใช้ในการทำเทียนทั้งขี้ผึ้งแท้และพาราฟินหรือขี้ผึ้งน้ำมัน มีจุดหลอมเหลวไม่สูงนักเมื่อได้รับความร้อนจนมีอุณหภูมิประมาณ 70 องศาเซลเซียสก็เปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวได้ และขี้ผึ้งทั้ง 2 แบบติดไฟได้เมื่อได้รับความร้อนจนถึงประมาณ 204 องศาเซลเซียสซึ่งถือว่าไวไฟพอสมควร ดังนั้น การหลอมขี้ผึ้งโดยนำขึ้นตั้งไฟโดยตรงจึงมีอันตรายจากการติดไฟของขี้ผึ้งได้มาก ผู้หลอมขี้ผึ้งจะต้องคอยระวังควบคุมความร้อนจากเตาไฟตลอดเวลา
วิธีการที่ปลอดภัยในการหลอมเทียนคือใช้การหลอมโดยให้ขี้ผึ้งได้รับความร้อนจากน้ำเดือดซึ่งอุณหภูมิสูงสุดจะไม่เกิน 100 องศาเซลเซียส โดยใช้ภาชนะใส่น้ำวางบนเตาก่อน แล้วนำขี้ผึ้งใส่ในภาชนะอีกใบหนึ่งวางลงในน้ำที่อยู่ในภาชนะใบแรก เมื่อน้ำร้อนขึ้น ขี้ผึ้งก็จะถูกหลอมเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวได้โดยไม่เกิดอันตราย วิธีการนี้เรียกว่า วิธี water bath
- ทำกิจกรรม เรื่อง การหลอมเทียน
กลับไปที่เนื้อหา
การทำต้นเทียนพรรษาในอดีต เป็นการทำเทียนเพื่อใช้จุดในพระอุโบสถเพื่อบูชาพระรัตนตรัยในช่วงเข้าพรรษา จึงใช้ขี้ผึ้งแท้ผสมกับขี้ผึ้งน้ำมันหรือพาราฟินหล่อลำต้นเทียนโดยใช้การเทขี้ผึ้งที่หลอมแล้วลงในแบบ มีไส้เทียนทำด้วยฝ้าย สามารถจุดได้จริง แต่ในปัจจุบันมุ่งเน้นที่การประกวดและวัดต่าง ๆ ใช้ไฟฟ้าให้แสงสว่างแทนแสงจากเทียน จึงมีการประยุกต์ให้มีน้ำหนักเบาและประหยัดขี้ผึ้ง โดยใช้เหล็กกลวงทำเป็นแกน ใช้แผ่นไม้กลม หรือเหลี่ยมสวมบนแกนเหล็กเป็นช่วง ๆ และใช้ไม้ระแนงตีหุ้มโดยรอบ พันด้วยเชือกจนมีขนาดตามต้องการ เชือกที่พันนิยมใช้เชือกมนิลา เพราะทำให้ขี้ผึ้งเกาะได้ดี
เมื่อพันเชือกมนิลาจนมีขนาดตามต้องการก็จะใช้ขี้ผึ้งเหลวราดลงบนเชือกแล้วหุ้มด้วยขี้ผึ้งที่ทำเป็นแผ่นซึ่งเรียกว่าผึ้งแผ่น แต่งให้ติดกับต้นเทียนและเชื่อมแผ่นขี้ผึ้งเข้าด้วยกันด้วยหัวแร้งร้อน ๆ กลึงหรือตกแต่งจนมีรูปร่างตามที่ต้องการ จะได้ต้นเทียนที่พร้อมจะนำไปติดลายดอกผึ้งที่ได้จากการพิมพ์ลายต่อไป
วิดีทัศน์ เรื่อง การทำต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์
ต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ มีสิ่งที่ประดับตกแต่งให้ต้นเทียนและส่วนประกอบอื่น ๆ สวยงามคือ ดอกผึ้งหรือลายเทียน การทำดอกผึ้งหรือลายเทียนนี้เป็นงานที่ละเอียดอ่อน ทำได้ยากกว่างานส่วนอื่น ๆ ต้องอาศัยช่างที่ชำนาญงาน และมีผู้ช่วยมากประมาณ 10-20 คน วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำดอกผึ้งติดพิมพ์ประกอบด้วยแม่พิมพ์ซึ่งทำด้วยหินอ่อน หรือหินชนวนแกะสลักแบบร่องลึกให้เป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายกนกเปลว กนกก้านขด ประจำยาม บัวคว่ำ บัวหงาย เทพนม เป็นต้น ขี้ผึ้งที่ใช้ทำดอกผึ้งหรือลายเทียนต้องเป็นขี้ผึ้งแท้ เพราะมีความเหนี่ยวนุ่ม เมื่อวางขี้ผึ้งลงบนแม่พิมพ์แล้วกลิ้งอัดด้วยขวดกลมก็จะได้ดอกผึ้งที่มีลวดลายตามต้องการ แต่ก่อนการอัดขี้ผึ้งต้องทาแม่พิมพ์ด้วยน้ำสบู่ก่อน เพื่อให้ลอกขี้ผึ้งออกจากแม่พิมพ์ได้ง่าย
จากนั้นนำลายดอกผึ้งที่พิมพ์แล้วไปตัดส่วนเกินหรือส่วนที่ไม่ต้องการออก โดยนำไปวางบนกระจกใส ใช้เข็มตัดลายตัดตามต้องการโดยจุ่มปลายเข็มด้วยน้ำมันพืชเล็กน้อยเพื่อให้ตัดง่ายขึ้น ขี้ผึ้งไม่ติดเข็ม และเข็มที่ตัดต้องคมอยู่เสมอ เศษของขี้ผึ้งจะนำไปหลอมละลายใหม่
ลายดอกผึ้งนี้มีความเหนียวของขี้ผึ้งแท้ สามารถติดลงบนผึ้งแผ่นที่หุ้มเทียน หรือติดบนหุ่นที่ใช้ตกแต่งรถแห่เทียนได้โดยตรง
วิดีทัศน์ เรื่อง การแต่งต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์
กลับไปที่เนื้อหา
เทียนประเภทมัดรวมติดลายหรือเทียนโบราณเป็นเทียนที่มีมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี นับเป็นต้นแบบของเทียนทุกประเภท เทียนมัดรวมติดลายมีลักษณะเหมือนเทียนพุ่ม แต่มีการตกแต่งด้วยสีของแท่งเทียนที่มีสีเหลือง สีขาว ขนาดสั้น ยาว ปานกลาง จากนั้นนำเชือก หรือกระดาษสีต่างๆมาพันหรือตัดให้เป็นลวดลายประดับตกแต่งให้เกิดความสวยงามแปลกตา เทียนมัดรวมติดลายมีขั้นตอนและวิธีการจัดเตรียมไม่ยุ่งยากเหมือนเทียนประเภทอื่นๆ
วิธีการคือ ใช้ลำต้นหมาก ปล้องไม้ไผ่หรือแก่นไม้ ปัจจุบันใช้ท่อ PVC ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร ทำเป็นแกน นำแท่งเทียนมาเรียงรอบแกนและฐาน ใช้เชือกหรือฝ้ายมัดรอบเพื่อยึดแท่งเทียนไว้ด้วยกัน ไม่ให้เทียนที่เรียงไว้นั้นหลุด ช่วงรอยต่อของเทียนใช้กระดาษสีหรือวัสดุตกแต่งอื่นๆเช่นกระดาษสีใบตอง เชือกปอ ดอกผึ้งตกแต่งปิดรอยต่อของแท่งเทียนแต่ละชั้น จากนั้นทำการตกแต่งฐานโดยรอบให้สวยงาม
การทำดอกผึ้งเพื่อตกแต่งเทียนประเภทมัดรวมติดลาย ใช้การสลักผลไม้ เช่น มะละกอ แตงร้านและผลไม้อื่น ๆ นำไปจุ่มในขี้ผึ้งแท้ที่หลอมเหลวแล้วนำไปจุ่มน้ำทันที จะได้ดอกผึ้งที่นำไปประดับต้นเทียนที่มัดรวมไว้
วิดีทัศน์ เรื่อง ต้นเทียนประเภทมัดรวมติดลาย
คำถาม
- การทำดอกผึ้ง แต่ละขั้นตอน มีการเปลี่ยนสถานะของขี้ผึ้งอย่างไรบ้าง
กลับไปที่เนื้อหา
ต้นเทียนประเภทแกะสลัก เป็นต้นเทียนที่ทำเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2502 ต้นเทียนต้นหนึ่งจะใช้ขี้ผึ้งประมาณ 70-100 กิโลกรัม โดยใช้ขี้ผึ้งแท้ผสมกับขี้ผึ้งน้ำมันหรือพาราฟินเพื่อทำให้เหนียว เวลาแกะสลักจะไม่ทำให้ลายแตกหรือหักง่าย และลายมีความคมมากยิ่งขึ้น เทียนที่จะใช้เทต้นเทียน ส่วนใหญ่ จะใช้เทียนที่มีสีเข้ม ซึ่งเมื่อแกะสลักออกมาแล้วจะทำให้เห็นลายสวยงาม ชัดเจน การหล่อต้นเทียนแบบแกะสลักส่วนมากใช้ท่อนเหล็กกลวงทำเป็นแกนโดยยึดไว้กี่งกลางแบบเทเทียน ตัวแบบเทเทียนอาจทำจากสังกะสี หรือแผ่นเหล็กดัดโค้ง เป็นรูปทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขึ้นอยู่กับประเภทของต้นเทียน ว่าเป็นต้นเทียนขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่ ส่วนมากเส้นผ่านศูนย์กลางจะยาวกว่า 30 เซนติเมตร เพื่อให้เวลามองจากระยะไกล จะได้เห็นลายเด่นชัด เมื่อหลอมขี้ผึ้งและเทลงในแบบแล้วจะต้องปล่อยให้ต้นเทียนเย็น จึงแกบแบบออก นำไปขูดหรือกลึงให้มีรูปร่างตามต้องการ หลังจากหล่อและกลึงต้นเทียนแล้ว จะเริ่มแกะสลักต้นเทียน
วิดีทัศน์ เรื่อง ต้นเทียนประเภทแกะสลัก
การแกะสลักลำต้นเทียน เริ่มจากการตกแต่งผิวต้นเทียนให้เรียบ ด้วยการขูดตกแต่ง หรือนำไปกลึงให้กลม แล้วออกแบบลวดลายทำการร่างภาพและลวดลายลงบนลำต้น อาจใช้วิธีร่างลายลงบนกระดาษไข หรือกระดาษแก้วก่อน แล้วจึงลอกลายลงบนต้นเทียน หรือใช้การเขียนลายแบบสดโดยใช้ปากกาเมจิก เหล็กปลายแหลม หรือตะปูร่างภาพ หรือถ้าหากเป็นช่างที่มีความชำนาญจะใช้เกียงแกะสลัก ร่างภาพได้เลย โดยการร่างเบา ๆ ก่อนลงเส้นหนัก แล้วทำการแกะสลัก
เกียงที่ใช้ในการแกะสลักเทียน จะมีหลายรูปแบบ หลายขนาด ทั้งขนาดสั้นและขนาดยาว ส่วนมากช่างจะทำเกียงใช้เอง เพราะสามารถเลือกแบบ รูปทรงและขนาดได้ตามความถนัดและความพอใจ เมื่อร่างภาพเสร็จแล้ว จะเริ่มแกะจากลายที่มีภาพประกอบก่อน เพราะเป็นส่วนที่นูนสูง แล้วจึงไล่ไปตามระดับชั้นของลายหรือช่อลาย แต่ละกลุ่มที่ต้องการความคมชัด โดยเฉพาะกลุ่มลายที่อยู่ด้านข้างของตัวรถต้นเทียนซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจและสื่อความหมายได้ชัดเจนมากที่สุด
อุณหภูมิเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการแกะสลักเทียน การทำงานในช่วงเวลาที่อากาศเย็น หรือช่วงกลางคืน เทียนจะแข็งเปราะ และแตกหักง่าย ต้องอาศัยเครื่องมือช่วยทำให้เทียนอ่อนตัว ง่ายต่อการแกะ เช่น สปอตไลท์ เครื่องเป่าผม หรือเตาถ่าน แต่ถ้าร้อนเกินไปเทียนก็จะละลายหรือบิดตัว ถ้ามีเศษเทียนแตกหักก็สามารถนำมาหลอมใหม่และใช้งานได้
วิดีทัศน์ เรื่อง การแกะสลักเทียนพรรษา
กลับไปที่เนื้อหา
ในการแห่เทียนพรรษาไม่ได้มีแต่ต้นเทียนพรรษาอย่างเดียว แต่ยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ ที่ประกอบกันเป็นเรื่องราว มักทำเป็นหุ่นเทียนรูปต่าง ๆมีทั้งที่ใช้การแกะสลักเทียนและการติดพิมพ์ลงบนตัวหุ่น
การทำหุ่นจะเริ่มจากทำฐานรองหุ่น มีแกนยึดหุ่น โครงยึดนั้นอาจจะเป็นไม้หรือเหล็กก็ได้แต่ต้องแข็งแรง จากนั้นใช้ตาข่ายหรือ ใยมะพร้าวมามัดขึ้นรูปหุ่นให้มีขนาดผอมกว่าของจริง แล้วนำใยมะพร้าวผสมกับปูนพลาสเตอร์มาปั้น แต่งผิวให้เรียบ แล้วติดผึ้งแผ่นโดยใช้วิธีเทเทียนที่ต้มแล้วเทลงในถาดเทียนให้สม่ำเสมอ ปล่อยให้เทียนที่เทแล้วนั้นเย็นตัวลง แกะออกจากถาดเป็นแผ่น นำมาติดเข้ากับหุ่น โดยใช้ความร้อนจากเหล็กหรือหัวแร้งที่เผาไฟ หรือใช้เทียนที่ต้มใส่กาน้ำร้อน เทราดลงบนหุ่น แล้วนำเทียนแผ่นหรือผึ้งแผ่นติดเข้ากับตัวหุ่น ตกแต่งให้เรียบร้อย ทำการแกะสลัก หรือติดพิมพ์ให้สวยงาม
วิดีทัศน์ เรื่อง การตกแต่งรถแห่เทียน
กลับไปที่เนื้อหา
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความรู้เกี่ยวกับสารพิษที่อยู่ในควันเทียนดังต่อไปนี้
การจุดเทียนที่ผลิตจากพาราฟิน(Paraffin wax candle) จะปล่อยควันที่เป็นสารพิษ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดและหอบหืด นักวิจัยได้ทำการเก็บควันที่ถูกปล่อยออกมาจากการเผาไหม้ของเทียนที่ทำจากพาราฟิน พบสารเคมีหลายชนิด เนื่องด้วยการเผาไหม้ของพาราฟินให้อุณหภูมิไม่สูงเพียงพอที่จะเผาผลาญโมเลกุลที่เป็นอันตราย เช่น toluene และ benzene ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง จึงถูกปล่อยออกมา การจุดเทียนในที่อากาศถ่ายเทไม่ดี เช่น ในห้องน้ำ เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายหรือการจุดเทียนเพื่อสร้างบรรยากาศบนโต๊ะอาหาร โดยจุดครั้งละเป็นจำนวนมากและเป็นประจำทุกวันเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ควรจุดเทียนในที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก หรืออาจเปลี่ยนจากการใช้เทียนที่ผลิตจากพาราฟินมาเป็นเทียนที่ผลิตจากขี้ผึ้งหรือถั่วเหลืองจะมีความปลอดภัยมากกว่า
เขม่า (Black soot)เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ (เทียนที่มีการเผาไหม้ที่สมบูรณ์จะมีเปลวไฟเป็นสีฟ้า) เทียนแต่ละชนิดก็จะให้เขม่าที่มีปริมาณแตกต่างกันออกไป เขม่าประกอบไปด้วยสารหลายชนิด แต่สารที่เป็นองค์ประกอบหลัก คือ คาร์บอน และอาจจะประกอบด้วย phthalates และ lead ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ยังพบ volatiles เช่น benzene และ toluene ซึ่ง benzene เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์
เทียนหอม (Scented candles) เป็นเทียนที่ให้เขม่าปริมาณมาก อันเนื่องมาจากการใส่น้ำมันหอม (Fragrance oils) ผสมลงไปในเนื้อเทียน เพื่อให้เวลาจุดเทียนแล้วมีกลิ่นหอมออกมา น้ำมันหอมจะเป็นสารจำพวก unsaturated hydrocarbons ซึ่งเมื่อถูกเผาไหม้แล้วจะทำให้เกิดเขม่าเป็นจำนวนมาก เทียนปกติโดยทั่วไปจะมีเนื้อสัมผัสที่แข็งอันเนื่องมาจากพาราฟินเป็น saturated hydrocarbons จะเป็นของแข็งที่อุณหภูมิห้อง แต่เทียนหอมมักจะมีเนื้อสัมผัสที่อ่อนนุ่มอันเนื่องมาจากน้ำมันหอมซึ่งเป็นสารจำพวก unsaturated hydrocarbons ซึ่งเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง เนื้อเทียนของเทียนหอมจึงอ่อนนุ่มกว่าเนื้อเทียนปกติทั่วไปที่ไม่ได้ใส่น้ำมันหอม ดังนั้น เทียนที่ใส่น้ำมันหอมมากเท่าไรก็จะทำให้เนื้อเทียนมีเนื้อสัมผัสที่อ่อนนุ่มมากขึ้นและให้เขม่ามากขึ้นตามไปด้วย
คำถาม
- สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับขี้ผึ้งถั่วเหลือง (Soy Wax)
กลับไปที่เนื้อหา
วิดีทัศน์ เรื่อง วิธีหลอมเทียน
วัสดุอุปกรณ์
1. บีกเกอร์ ขนาด 250 ml 1 ใบ
2. บีกเกอร์ ขนาด 100 ml 1 ใบ
3. ตะเกียงแอลกอฮอล์ พร้อมที่กั้นลมและตะแกรงลวด
4. พาราฟีน 50 กรัม
5. ไม้หนีบหลอดทดลอง
6. น้ำ
7. ไม้ขีด
8. กระป๋องทราย
9. แท่งแก้วคน
10. มีด
วิธีทำ
1. ใส่น้ำ 150 ml ลงในบีกเกอร์ขนาด 250 ml
2. หั่นพาราฟินเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ในบีกเกอร์ขนาด 100 ml
3. นำบีกเกอร์ขนาด 250 ml ตั้งไฟบนตะเกียงแอลกอฮอล์
4. ใช้ไม้หนีบหลอดทดลองคีบบีกเกอร์ใบเล็กแช่น้ำในบีกเกอร์ใบใหญ่ สังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
คำถาม
1. อุณหภูมิของน้ำในบีกเกอร์ใบใหญ่ (250 ml) เปลี่ยนแปลงอย่างไร
2. อุณหภูมิสูงสุดของน้ำในบีกเกอร์ มีค่าได้เท่าไร
3. พาราฟินในบีกเกอร์ใบเล็ก (100 ml)มีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร
4. พาราฟินในบีกเกอร์ใบเล็ก (100 ml) จะถึงจุดติดไฟหรือไม่ เพราะเหตุใด
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังรูปภาพ
ชื่อ GalleryการทำเทียนมัดรวมติดลายGalleryชื่อ Galleryการทำแผ่นผึ้งGalleryชื่อ Galleryการทำลายติดพิมพ์Galleryชื่อ Galleryการทำหุ่นประกอบรถเทียนGalleryชื่อ Galleryการฟั่นเทียนGalleryชื่อ Galleryการหลอมละลายขี้ผึ้งGalleryชื่อ Galleryทำต้นเทียนติดพิมพ์Galleryชื่อ Galleryเทียนติดพิมพ์Galleryชื่อ Galleryวัดศรีประดู่Galleryชื่อ Galleryการทำดอกผึ้งแบบโบราณGalleryชื่อ GalleryภาพพาโนรามาGallery
-
คลังวิดีทัศน์
ตอน ความสำคัญของเทียนพรรษา
ตอน ศุนย์การเรียนเทียนพรรษาศรีประดู่ จ อุบลราชธานี
ตอน เทียนพรรษามีกี่ประเภท
ตอน เทียนพรรษาทำมาจากอะไร
ตอน การทำต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์
ตอน การแต่งต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์
ตอน ต้นเทียนประเภทมัดรวมติดลาย
ตอน ต้นเทียนประเภทแกะสลัก
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนนางจริยา ศรีประเสริฐ โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรีผู้เขียนแผนการสอนนายชาญวิทย์ พัฒนะราช โรงเรียนเทพศิรินทร์ นนทบุรีผู้เขียนแผนการสอนนายสมศักดิ์ โกการัตน์ โรงเรียนวาปีปทุมผู้เขียนแผนการสอนว่าที่ร้อยเอกศุภกฤต เรืองสมบัติผู้เขียนแผนการสอนนางนงเยาว์ จินาวงค์ โรงเรียนสันติสุขผู้เขียนแผนการสอนนางณัฏฐ์ชิตา แสงประสิทธิ์ โรงเรียนสันติสุข
-
คำที่เกี่ยวข้อง