แหล่งเรียนรู้แก่งหินงามสามพันโบก
- 1. การแนะนำ
- 2. ตัวชี้วัดและจุดประสงค์การเรียนรู้
- 3. ชนิดหินและตัวกลางที่ทำให้เกิดกุมภลักษณ์ บริเวณสามพันโบก
- 4. ลักษณะของกุมภลักษณ์บริเวณสามพันโบก
- 5. หินที่มีแนวแตก การกร่อน และบริเวณที่เกิดกุมภลักษณ์
- 6. ลักษณะของกุมภลักษณ์บอกอะไรแก่เรา
- 7. สมมุติฐานการเกิดหินสีบริเวณหาดหินสี
- 8. กิจกรรม : ตะกอนในโบก
- 9. กิจกรรม : น้ำที่ไหลผ่านช่องแคบ
- 10. กุมภลักษณ์ คืออะไร
- 11. ทางน้ำและกระบวนการทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้น
- 12. กระบวนการทางธรณีวิทยาหลักที่เกิดโดยทางน้ำ
- 13. ที่ตั้งและภูมิประเทศ
- 14. การเดินทาง
- 15. ความเป็นมา
- 16. การผุพัง และการกร่อน
- 17. กระบวนการผุพัง
- 18. การกร่อน และทางน้ำ
- 19. การเคลื่อนที่ของตะกอนในทางน้ำ
- 20. การเรียกชื่อตะกอน
- - ทุกหน้า -
ช่วงหน้าแล้ง สามพันโบก จะโผล่พ้นน้ำให้เห็นเป็นคล้ายภูเขากลางลำน้ำโขง ความสวยงามวิจิตรของหินที่ถูกน้ำเซาะมองเห็นเป็นภาพศิลปะ บางแห่งใหญ่ขนาดเป็นสระว่ายน้ำ บางแอ่งขนาดเล็ก มีรูปร่างลักษณะที่แตกต่างกันออกไปเช่น รูปดาว วงรี และหินที่ถูกน้ำกัดเซาะจนดูคล้ายรูปหัวสุนัขพุดเดิ้ล มีความสวยงาม
"สามพันโบก" ตั้งอยู่ที่บ้านโป่งเป้า ตำบลเหล่างาม อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแก่งหินขนาดใหญ่ในลำน้ำโขง ซึ่งจะปรากฏให้เห็นเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง (ประมาณเดือนมกราคม – เมษายน) ทั้งนี้ ที่เรียกว่า "สามพันโบก" เพราะบนแก่งหินมีแอ่งน้ำขนาดเล็กใหญ่จำนวนมากกว่า 3,000 แอ่ง (คำว่า "โบก" เป็นภาษาลาว แปลว่า "แอ่ง") จึงเรียกที่นี่ว่า สามพันโบก
อย่างไรก็ตาม การเดินทางท่องเที่ยวทางเรือไปยังแก่งสามพันโบก นิยมนั่งเรือจากหาดสลึง ที่บ้านสองคอน ตำบลสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร ล่องตามลำน้ำโขงระยะทาง 4 กิโลเมตร ระหว่างทางจะผ่าน "ปากบ้อง" จุดแคบที่สุดของแม่น้ำโขง ซึ่งมีความกว้างเพียง 56 เมตร และ "หินหัวพะเนียง" เป็นแก่งหินกลางแม่น้ำที่ทำให้แม่น้ำโขงแยกออกเป็นสองสาย หรือสองคอน ในภาษาท้องถิ่น จึงเป็นที่มาของชื่อ "บ้านสองคอน"
กลับไปที่เนื้อหา
ตัวชี้วัดชั้นปี (ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ชั้น ม. 2) "ทดลองเลียนแบบ และอธิบาย กระบวนการผุพังอยู่กับที่ การกร่อน การพัดพา การทับถม การตกผลึกและผลของกระบวนการดังกล่าว" ทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ “แก่งหินงาม สามพันโบก” ของจังหวัดอุบลราชธานี มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
- เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษาลักษณะของทางน้ำขนาดใหญ่ที่ไหลตัดผ่านชั้นหินที่แข็ง โดยใช้แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านบริเวณสามพัน โบกเป็นตัวอย่าง
- เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษารูปร่าง และลักษณะของกุมภลักษณ์ แบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการกร่อน โดยมีแม่น้ำโขง เป็นตัวกลางทางธรณีวิทยาที่สำคัญ
- เพื่อให้นักเรียนสามารถ เข้าใจถึงกระบวนการเกิดกุมภลักษณ์ และปัจจัยที่ทำให้เกิดลักษณะของกุมภลักษณ์
- เพื่อให้นักเรียนสามารถลำดับเหตุการณ์ในอดีต โดยอาศัยหลักฐานจากรูปร่าง และลักษณะของกุมภลักษณ์และการแปล ความหมายเกี่ยวกับกระบวนการกัดเซาะในแนวดิ่ง
- เพื่อให้นักเรียนเข้าใจ และสามารถเชื่อมโยง กระบวนการกร่อนโดยมีทางน้ำเป็นตัวกลาง ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการ ทางธรณีวิทยา ที่เกิดสัมพันธ์ กับ กระบวนการผุพัง กระบวนการพัดพา และการสะสมตัว ของตะกอน
- เพื่อให้นักเรียนได้ทดลอง-สร้างแบบจำลอง เพื่อสรุปหลักของแบร์นูลี และกฎของการตกตะกอนโดยมีน้ำเป็นตัวกลาง
กลับไปที่เนื้อหา
ตัวกลางในการกร่อน : แม่น้ำโขง โดยอาศัย แรงโน้มถ่วง กระแสน้ำ ที่ทำให้เกิดการกัดเซาะ และตะกอนขนาดกรวดและทราย ที่ทำให้เกิดการขัดสี
ชนิดหินและตัวกลางที่ทำให้เกิดกุมภลักษณ์ บริเวณสามพันโบก
กลับไปที่เนื้อหา
กุมภลักษณ์ ที่พบบริเวณสามพันโบก มีหลากหลาย ทั้งขนาด และลักษณะ สามารถจัดกลุ่มใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้
- กุมภลักษณ์เดี่ยว หมายถึงกุมภลักษณ์ที่แสดงลักษณะเป็นหลุมแนวดิ่งทรงกระบอก มีพื้นที่หน้าตัดเป็นวงกลม-รี แสดงความหลากหลายทั้งขนาดและรูปร่างผนังด้านในของกุมลักษณ์ไม่เรียบ เกิดเป็นแนวสันนูนและร่อง สลับกันไป คล้ายเกลียวของนอต บริเวณด้านบนของกุมลักษณ์ มักพบลักณะการกร่อนเป็นวงกว้างออกไปในบางบริเวณพบว่ากุมภลักษณ์เดี่ยวเกิดบริเวณใกล้กัน แต่มีขนาดต่างกันซึ่งอาจแปลความหมายได้ว่า รูปร่างของกระแสน้ำที่ไหลวน เกิดใกล้กันแต่มีขนาดแตกต่างกันกุมภลักษณ์เดี่ยว อาจถูกทำลายโดยกระบวนการกร่อนจากทางน้ำ ทำให้เห็นรูปร่างคล้ายกับทรงกระบอกถูกผ่าครึ่ง
รูปร่างและลักษณะของกุมภลักษณ์เดี่ยว
- กุมภลักษณ์กลุ่ม หมายถึงกุมภลักษณ์ ที่พัฒนาจากกุมภลักษณ์หลายบ่อในช่วงเวลาที่พร้อมกัน และแตกต่างกันกุมภลักษณ์กลุ่มพบได้มากในบริเวณสามพันโบก มีขนาด รูปร่าง และลักษณะแตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้
กุมภลักษณ์เดี่ยวที่พัฒนาเชื่อมรวมกัน
การกร่อนจากแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้นในแต่ละกุมภลักษณ์ ได้พัฒนาทำให้ส่วนล่างของกุมภลักษณ์ทะลุเชื่อมกัน เหลือผนังส่วนบนไว้ เกิดเป็นลักษณะสะพานธรรมชาติ
- กุมภลักษณ์ขนาดเล็กที่เกิดในกุมภลักษณ์ขนาดใหญ่การสังเกตกุมภลักษณ์ที่เกิดเป็นกลุ่ม สามารถลำดับการพัฒนาการของกุมภลักษณ์ และกระบวนการกร่อนรูปแบบอื่นๆ ของทางน้ำได้ลักษณะกุมภลักษณ์ขนาดเล็กที่เกิดในกุมภลักษณ์ขนาดใหญ่ มีหลายลักษณะ และสามารถแปลความหมายลำดับการเกิดแตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
กุมภลักษณ์กลุ่มขนาดเล็กเกิดในกุมภลักษณ์ขนาดใหญ่ แบบต่างๆ
การแปลความหมาย: ลำดับการเกิดกุมภลักษณ์ขนาดเล็กและกุมภลักษณ์ขนาดใหญ่
กุมภลักษณ์ขนาดใหญ่ เกิดก่อนกุมภลักษณ์ขนาดเล็ก
กุมภลักษณ์ขนาดเล็กในกุมภลักษณ์ขนาดใหญ่ที่ซับซ้อนการหาลำดับการเกิดก่อนหลังใช้หลักที่ว่ากุมภลักษณ์ที่เกิดตัดหินในแนวดิ่งมีรูปร่างเป็นบ่อทรงกระบอก รูปร่างหน้าตัดที่เป็นวงกลมที่ไม่สมูรณ์ เป็นผลมาจากการกร่อนที่เกิดภายหลัง
กลับไปที่เนื้อหา
ทางน้ำที่ไหลผ่านหินที่มีแนวแตก ความเร็วของกระแสน้ำจะเพิ่มมากขึ้นมาก และทำให้เกิดการกัดเซาะตามแนวแตก การกัดเซาะที่เกิดขึ้นมี 2 ลักษณะ คือ ทำให้หินกร่อนในแนวดิ่ง และพัฒนาทำให้แนวแตกลึกขึ้น และทำให้หินกร่อนในแนวระดับทำให้รอยแตกกว้างมากขึ้น บริเวณที่ทางน้ำพัฒนาในแนวราบ จะพบกุมภลักษณ์เกิดขึ้น ณ บริเวณดังกล่าว
ทางน้ำที่ไหลผ่านรอยแตกในหินจะกัดเซาะทำให้หินกร่อนในแนวดิ่งและในแนวราบ
การกัดเซาะในแนวดิ่งจะพัฒนาทำให้ร่องน้ำลึกขึ้นและส่วนที่พัฒนาในแนวราบจะทำให้ทางน้ำกว้างขึ้น
กลับไปที่เนื้อหา
การกัดเซาะในแนวดิ่งจะพัฒนาทำให้ร่องน้ำลึกขึ้นและส่วนที่พัฒนาในแนวราบจะทำให้ทางน้ำกว้างขึ้น
บริเวณพื้นที่ที่เป็นภูเขา ยอดเขา หรือพื้นที่ที่ห่างจากทางน้ำ หรือใกล้กับทางน้ำ หลายแห่งในประเทศ พบว่ามีลักษณะกุมภลักษณ์ เกิดขึ้น เราสามารถที่จะแปลความถึงสภาพแวดล้อมในอดีตได้ว่า บริเวณดังกล่าวที่พบกุมภลักษณ์ ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนของหินพื้นท้องน้ำ และทางน้ำที่เคยไหลผ่านมีปริมาณ และความเร็วมาก ในช่วงเวลาหนึ่งในอดีต
กลับไปที่เนื้อหา
หาดหินสี หรือทุ่งหินเหลื่อม เรียกตามชื่อที่ตั้งโดยท้องถิ่น ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวบริเวณสามพันโบก ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านคำจ้าว ตำบลเหล่างาม อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี การเดินทางต้องเดินทางโดยอาศัยเรือ ที่มีไว้บริการในบริเวณสามพันโบก และล่องตามกระแสน้ำของแม่น้ำโขง ไปประมาณ 20 นาที
เรือที่ใช้เดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวหาดหินสี
ระหว่างทางไปหาดหินสี หินพื้นท้องน้ำแตกหักและหลุดออกเกิดเป็นตะกอนก้อนหินเหลี่ยม
ลักษณะของหาดหินสีเป็นบริเวณพื้นท้องน้ำ ที่มีตะกอนทราย สีขาว ตะกอนกรวด และตะกอนก้อนหินมนขนาดใหญ่ (หินสี, สีทีพบส่วนมาก เป็นสีส้ม น้ำตาล เหลือง และหินตะกอน) วางตัวอยู่บนหินพื้นท้องน้ำที่เป็นหินทรายปนกรวด และหินทราย
ตะกอนประเภทต่างๆ (ตะกอนทราย กรวด ก้อนหินกลม และก้อนหินเหลี่ยม) ที่พบบริเวณหาดหินสี
ลักษณะของหินสีที่พบ บริเวณหาดหินสี
หินสีที่พบบริเวณหาดหินสี ประกอบด้วยคาลซิโดนี เป็นหลัก เกิดกระจายตัวเป็นก้อนกองใกล้กันเป็นหย่อมๆ ขนาดของหินสีมีขนาดแปรเปลี่ยนตั้งแต่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-5 เซนติเมตร ไปจนถึงขนาดความยาวที่มากกว่า 3 เมตร หินสีแสดงลักษณะเป็นก้อนผิวมันวาวคล้ายไข รูปก้อนมนไม่มากนัก ยังสามมารถเห็นลักษณะรูปร่างที่เป็นเหลี่ยม
ตัวอย่างคาลซิโดนีจากหาดหินสี (สีส้มน้ำตาล และสีเทา) แสดงผิวบางๆที่มันวาว
ข้อมูลเกี่ยวกับคาลซิโดนี ลักษณะและสมบัติที่สำคัญ
การกร่อนเกิดขึ้นกับชั้นหินตะกอนที่โผล่บริเวณผิวโลก
หินตะกอนจะผุพัง และถูกกร่อนออกไป โดยแม่น้ำโขง คงเหลือแต่คาลซิโดนี เนื่องจาก
คาลซิโดนี หลุดเป็นก้อนที่มีขนาดใหญ่ ทางน้ำไม่สามารถพาให้เคลื่อนที่ได้และเกิดการกร่อน
ในแนวดิ่งอย่างต่อเนื่อง คาลซิโดนีเป็นแร่ที่คงทนต่อการผุพังและการกร่อนมาก จะกองอยู่บริเวณ
พื้นท้องน้ำตลอดเวลา จะถูกกร่อนด้วยน้ำและตะกอนทำให้คาลซิโดนีมีขนาดลดลงจากเดิม
มีความมน และมีผิวมัน

กลับไปที่เนื้อหา
อุปกรณ์
1. ขวดพลาสติกขนาด 600 ลูกบาศก์เซนติเมตร 1 ใบ
2. ดิน 2 กรัม
3. ทราย 50 กรัม
4. กรวด 50 กรัม
5. น้ำ 400 ลูกบาศก์เซนติเมตร
วิธีทำกิจกรรม
1. เทดิน ทราย กรวด และน้ำ ลงในขวดพลาสติก ปิดฝาขวด
2. เขย่าขวดเป็นเวลา 30 วินาที สังเกตผลทันที
3. วางขวดทิ้งไว้ 2 นาที สังเกตผล
คำถามท้ายการทดลอง
- เมื่อเขย่าขวดที่บรรจุสิ่งต่าง ๆ ไว้ ผลเป็นอย่างไร
- เมื่อเวลาผ่านไป 2 นาที สิ่งต่าง ๆ ที่บรรจุไว้ในขวด มีการจัดวางตัวอย่างไร
- ในกุมภลักษณ์น่าจะพบสิ่งใดบ้าง สิ่งเหล่านั้นจะมีการจัดวางตัวอย่างไร เพราะเหตุใด
กลับไปที่เนื้อหา
อุปกรณ์
1. สายยางต่อกับก๊อกน้ำ 1 ชุด
2. หลักยึดสายยาง 1 อัน
3. แผ่นพลาสติกบางขนาด 10 cm. x 10 cm. 1 แผ่น
4. ยางรัดของ 1 เส้น
5. ตะปูยาว 5 cm. 1 ตัว
วิธีทำกิจกรรม
1. ต่อสายยางกับก๊อกน้ำ นำปลายสายยางที่เหลือยึดติดกับหลัก โดยจัดให้ปลายสายยางอยู่ในแนวระดับ
2. เปิด ก๊อกน้ำ สังเกตการไหลของน้ำที่ออกจากปลายสายยาง วัดระยะทางในแนวราบบนพื้นจากตำแหน่งที่ตรงกับปลายสายยางถึงจุดที่น้ำกระทบ พื้น บันทึกผล
3. นำแผ่นพลาสติกหุ้มปลายสายยาง รัดด้วยยางรัดของให้แน่น
4. ใช้ ตะปูเจาะกลางแผ่นพลาสติก สังเกตการณ์ไหลของน้ำ และวัดระยะทางในแนวราบบนพื้นจากตำแหน่งที่ตรงกับปลายสายยางถึงจุดที่น้ำ กระทบพื้น บันทึกผล
5. ทำซ้ำข้อ 4 แต่ใช้ตะปูคว้านรูกลางแผ่นพลาสติกให้ใหญ่ขึ้น
คำถามท้ายการทดลอง
1. ระยะทางในแนวราบที่น้ำเคลื่อนที่ได้ในแต่ละกรณี แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร
2. เวลาในการเคลื่อนที่ของน้ำจากปลายสายยางถึงพื้น ในการทดลองแต่ละครั้ง แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร
3. ความเร็วของน้ำขณะพุ่งออกจากปลายสายยางในการทดลองแต่ละครั้ง แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร
4.สรุปผลการทดลองได้ว่าอย่างไร
กลับไปที่เนื้อหา
กุมภลักษณ์ โดยทั่วไปหมายถึงหลุมที่เกิดบริเวณพื้นท้องน้ำ บริเวณน้ำตก และบริเวณที่ทางน้ำไหลเชี่ยวรูปร่างของกุมภลักษณ์ มีลักษณะเป็นหลุมทรงกระบอก มีแกนยาวตั้งฉากกับพื้นท้องน้ำ และมีพื้นที่หน้าตัดเป็นวงกลม ความลึก และเส้นผ่านศูนย์กลางของกุมภลักษณ์ อาจมีขนาดที่แปรเปลี่ยน ซึ่งความลึกอาจลึกมากกว่า 1 เมตร และอาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 10 เมตรบริเวณส่วนก้นหลุมของกุมภลักษณ์ จะพบกรวด และทราย ที่ตกตะกอนจากทางน้ำ
กุมภลักษณ์ เป็นภูมิลักษณ์ที่เกิดบนผิวของหินที่เคย หรือเป็นส่วนของหินพื้นท้องน้ำ โผล่ให้เห็นเนื่องมาจากระดับน้ำในทางน้ำลดระดับลง การเกิดกุมภลักษณ์เกิดจากกระแสน้ำที่ไหลแบบการไหลปั่นป่วน หมุนวน พาตะกอนขนาด กรวด และทราย กัดเซาะ และขัดสีหินพื้นท้องน้ำ เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น หินพื้นท้องน้ำจะถูกกร่อนให้เป็นหลุมตั้งฉากกับพื้นผิวโลก จากภาพจำลองการเกิดกุมภลักษณ์ (ก) กระแสน้ำที่ไหลปั่นป่วนหมุนวน พาตะกอนกรวด และทราย ขัดสีหินพื้นท้องน้ำให้เกิดเป็นแอ่งขนาดเล็ก (ข) เมื่อเวลาผ่านไป แอ่งจะถูกกร่อนให้มีขนาด และความลึกเพิ่มมากขึ้น กระแสน้ำที่เคลื่อนที่เข้าไปในกุมภลักษณ์ จะไหลแบบหมุนวนและมีความเร็วเพิ่มขึ้น และ (ค) เมื่อเวลาผ่านไป กุมภลักษณ์ มีขนาด และความลึกเพิ่มมากขึ้น
กุมภลักษณ์ เป็นภูมิลักษณ์ที่เกิดบนผิวของหินที่เคย หรือเป็นส่วนของหินพื้นท้องน้ำ โผล่ให้เห็นเนื่องมาจากระดับน้ำในทางน้ำลดระดับลง การเกิดกุมภลักษณ์เกิดจากกระแสน้ำที่ไหลแบบการไหลปั่นป่วน หมุนวน พาตะกอนขนาด กรวด และทราย กัดเซาะ และขัดสีหินพื้นท้องน้ำ เมื่อเวลาผ่านไปนานขึ้น หินพื้นท้องน้ำจะถูกกร่อนให้เป็นหลุมตั้งฉากกับพื้นผิวโลก จากภาพจำลองการเกิดกุมภลักษณ์ (ก) กระแสน้ำที่ไหลปั่นป่วนหมุนวน พาตะกอนกรวด และทราย ขัดสีหินพื้นท้องน้ำให้เกิดเป็นแอ่งขนาดเล็ก (ข) เมื่อเวลาผ่านไป แอ่งจะถูกกร่อนให้มีขนาด และความลึกเพิ่มมากขึ้น กระแสน้ำที่เคลื่อนที่เข้าไปในกุมภลักษณ์ จะไหลแบบหมุนวนและมีความเร็วเพิ่มขึ้น และ (ค) เมื่อเวลาผ่านไป กุมภลักษณ์ มีขนาด และความลึกเพิ่มมากขึ้น
กลับไปที่เนื้อหา
เมื่อเราสังเกตทางน้ำ หรือแม่น้ำ เราสามารถพบกระบวนการทางธรณีวิทยา 3 กระบวนการเสมอ กระบวนการดังกล่าวคือ
- การกร่อนโดยทางน้ำ เป็นกระบวนการเคลื่อนย้ายวัสดุพื้นท้องน้ำ-ตลิ่ง และทำให้ตะกอนมี ขนาดเล็กลง
- การพา เป็นกระบวนการเคลื่อนย้ายตะกอนที่ได้จากการกร่อน
- การสะสมตัว เป็นกระบวนการที่ตะกอนตกแยกตัวจากน้ำ เนื่องมาจากความเร็วของกระแสน้ำ ลดลง ส่วนการตกตะกอนทางเคมี บางครั้งเกิดขึ้นเนื่องจากกระแสน้ำมีความเร็วสูงขึ้น เช่น การเกิดทูฟา นอกจากนี้ยังมีกระบวนการธรรมชาติอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับทางน้ำเสมอ คือการผุพัง และการเคลื่อนที่ของมวลวัสดุบนผิวโลก (เช่น แผ่นดินถล่ม หินถล่ม)
ตัวอย่างต่อไปนี้ เป็นเพียงบางส่วนของกระบวนการทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นจากการกระทำโดยทางน้ำ
หินพื้นท้องน้ำกร่อน จากแม่น้ำโขงได้พาตะกอนไหลวนชนกับหินท้องน้ำ เกิดเป็นกุมภลักษณ์ และภายในกุมภลักษณ์ พบตะกอนขนาดทราย - กรวด ตกตะกอน
แม่น้ำแต่ละสายพาตะกอนแขวนลอยปริมาณไม่เท่ากัน บริเวณจุดที่แม่น้ำไหลมาสบกัน จะพบลักษณะที่รู้จักกันทั่วไปว่า แม่น้ำสองสี
ในบางครั้ง น้ำตกอาจจะทำให้เกิดการตกตะกอนทางเคมี ทูฟา เป็นหินที่พบบริเวณน้ำตกที่เกิดในเทือกเขาหินปูน เช่น น้ำตกเอราวัณ น้ำตกไทรโยคน้อย จังหวัดกาญจนบุรี
ก้อนหินเหลี่ยมใหญ่ บริเวณห้วยแม่กลาง เหนือน้ำตกแม่กลาง จังหวัดเชียงใหม่ ก้อนหินดังกล่าวเกิดจากการแตกหักและหลุดมาจากหินในบริเวณที่ทางน้ำไหลผ่าน
ก้อนหินมนใหญ่ บริเวณน้ำแม่แจ่ม การมนของหินเป็นผลจากการขัดสี และการชนของตะกอนขนาดเล็กกว่า และจากกระแสน้ำ ในภาพยังแสดงการสะสมตัวของตะกอนทรายเกิดขึ้นในบริเวณที่กระแสน้ำมีความเร็วลดลง
แม่น้ำโขงไหลมาสบกับแม่น้ำรวก ที่ บ้านสบรวก จังหวัดเชียงราย มีความเร็วลดลง ทำให้ตะกอนขนาดทราย ที่แม่น้ำโขงพามาเกิดการตกตะกอนเป็นสันดอนทราย (เกาะกลางแม่น้ำ)
การตกตะกอน บริเวณพื้นที่ใต้เขื่อนภูมิพล เป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ (การสร้างเขื่อน) ที่ลดปริมาณ และความเร็วของกระแสน้ำที่เคยไหลในทางน้ำ
กลับไปที่เนื้อหา
กระบวนการทางธรณีวิทยาหลักที่เกิดขึ้นจากทางน้ำ แบ่งออกได้เป็น 3 กระบวนการ กล่าวคือ
1) การกร่อนจากทางน้ำ การกร่อนจากทางน้ำ เป็นการกระทำระหว่าง ทางน้ำ-ตะกอน กับวัสดุ (หิน-ดิน) ที่มันไหลผ่าน และระหว่างตะกอนต่างๆที่ทางน้ำพาไป แบ่งออกเป็น การขัดสี (การครูด-ถู-ไถล) การชน การกัดเซาะ และการกัดกร่อน การขัดสีเกิดขึ้นเมื่อทางน้ำพาตะกอนขนาดใหญ่ เคลื่อนที่ไถล กลิ้ง บริเวณพื้นท้องน้ำ และด้านข้างของทางน้ำ การชนเกิดขึ้นกับตะกอนที่มีขนาดเกรวดเล็ก – ขนาดทราย และขนาดทรายแป้ง ตะกอนดังกล่าวจะเคลื่อนที่ไม่ต่อเนื่องในทางน้ำ ตะกอนขนาดดังกล่าวจะเคลื่อนที่ชนกันเอง และอาจชนกับตะกอนขนาดใหญ่ (ก้อนหินเหลี่ยมใหญ่) ทำให้ตะกอนมีความกลมมนมากขึ้น ในกรณีที่กระแสน้ำมีการหมุนวนตะกอนเหล่านี้จะเคลื่อนที่ชนพื้นท้องน้ำ และด้านข้างของทางน้ำ ในรูปแบบของการเคลื่อนที่ของกระแสน้ำ ทำให้ตะกอนมีขนาดเล็กลง และมีความกลมมนมากขึ้น
การกัดเซาะ เป็นแรงจากน้ำที่กระทำต่อวัสดุที่ทางน้ำไหลผ่าน เกิดขึ้นตลอดเวลา และเกิดขึ้นมากเมื่อทางน้ำเคลื่อนที่บริเวณคุ้งน้ำ และเมื่อน้ำไหลเข้าไปในรอยแตกขนาดเล็ก และช่องว่างในหิน การกัดเซาะเป็นกระบวนการหลักทำให้ทางน้ำมีระดับลดต่ำลง เป็นการเปลี่ยนระดับในแนวดิ่ง และทำให้ทางน้ำมีการเคลื่อนที่ในด้านข้า
การกัดกร่อน (การละลาย) เกิดขึ้นเมื่อทางน้ำไหลผ่านหินที่สามารถทำปฎิกิริยา และหินที่ละลายน้ำได้ เช่น หินโดโลไมต์ หินอ่อน หินปูน หินเกลือจืด (ประกอบด้วยแร่ยิปซัม) และหินเกลือ(ประกอบด้วยแร่เฮไลต์) เป็นต้น
2) การพา หรือการเคลื่อนที่ของตะกอนในทางน้ำ ความสามารถของทางน้ำที่จะเคลื่อนย้าย และทำให้เกิดการสะสมตัวของตะกอน ขึ้นกับ ความเร็วของกระแสน้ำ และชนิดของตะกอนที่ทางน้ำพามา ในช่วงฤดูน้ำหลาก หรือช่วงหน้าฝน สำหรับประเทศไทย (แต่สำหรับเขตหนาวช่วงฤดูน้ำหลากคือช่วงฤดูร้อน) ปริมาณน้ำมาก มีความเร็วของกระแสน้ำสูงขึ้น และทำให้ทางน้ำมีความสามารถในการพาตะกอนได้มากขึ้น ตะกอนที่เป็นของแข็ง และประจุต่างๆที่ละลายในน้ำ เรียกรวมว่า วัตถุนำพาของทางน้ำ สามารถเคลื่อนที่ได้ 3 ลักษณะใหญ่ๆ ที่แตกต่างกันดังนี้

กลับไปที่เนื้อหา
สภาพภูมิประเทศบริเวณแหล่งเรียนรู้สามพันโบก ประกอบด้วยแนวเขาที่มีความลาดชันต่ำ วางตัวในแนวทำมุมกับทิศเหนือ 60 องศาไปทางตะวันออก แนวเขามีช่วงความสูงในช่วง 150 – 200 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ดูภาพประกอบ) แม่น้ำโขงบริเวณนี้ ไหลไปในทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีแนวทิศทางการไหลในทิศทางที่ตั้งฉากกับการวางตัวของแนวเทือกเขา แม่น้ำโขงมีขอบตลิ่ง ในช่วงความสูง 110-120 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ความกว้างของแม่น้ำโขง วัดจากขอบตลิ่ง มีความกว้างมากสุด 1.2 กิโลเมตร แต่ร่องน้ำในช่วงหน้าแล้ง โดยทั่วไปมีความกว้างน้อยกว่า 1,000 เมตร และบริเวณบ้านสองคอนร่องน้ำของแม่น้ำโขง มีความกว้างน้อยกว่า 200 เมตร ลักษณะภูมิประเทศบริเวณแหล่งเรียนรู้สามพันโบก ที่ประกอบด้วยแนวเขาที่มีความชันน้อย และแม่น้ำโขงที่ไหลในทิศทางจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไปในทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งฉากกับแนวเขา
ในช่วงที่แม่น้ำโขงมีน้ำไหลผ่านในปริมาณที่น้อย พื้นท้องน้ำที่ประกอบด้วยหินตะกอน จะโผล่ปรากฎให้เห็น ในบริเวณสามพันโบกส่วนของหินท้องน้ำบริเวณฝั่งประเทศไทยที่โผล่ให้เห็น ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.35 ตารางกิโลเมตร ดูภาพลักษณะแม่น้ำโขงประกอบ
กลับไปที่เนื้อหา
เริ่มต้นจากตัวจังหวัดอุบลราชธานี ออกเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 2050 ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นระยะทางประมาณ 70 กิโลเมตร ผ่านอำเภอตระการพืชผล แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2337 อีกประมาณ 50 กิโลเมตร ผ่านอำเภอโพธิ์ไทร ตรงไปยัง ตำบลเหล่างาม จนถึงริมแม่น้ำโขงซึงเป็นที่ตั้งของสามพันโบก ระยะทางทั้งหมดจากตัวจังหวัดอุบลราชธานีจนถึงสามพันโบก ประมาณ 120 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทาง (โดยรถยนต์) ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที
กลับไปที่เนื้อหา
สามพันโบก จัดว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเกิดใหม่ ที่ชุมชนท้องถิ่น คุณครูเรืองประทิน เขียวสด ครูโรงเรียนบ้านสองคอน นายสมชาติ เบญจถาวรอนันท์ (เว็บมาสเตอร์อุบลดอทคอม) และผู้ใหญ่บ้านชาย บุดดีวัน ผู้ใหญ่บ้านโป่งเป้า และ อบต. เหล่างาม ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี ริเริ่มพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสามพันโบก นี้ขึ้นมา
ต่อมาเมื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้จัดทำและเผยแพร่โฆษณา ชุด เที่ยวไทยครึกครื้นเศรษฐกิจไทยคึกคัก ในปี พ.ศ. 2551 และหลังจากนั้นเป็นต้นมา สามพันโบก จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักของคนไทยทั่วไป
จุดเด่นของแหล่งท่องเที่ยวสามพันโบกคือ จำนวนกุมภลักษณ์ ที่มีรูปร่าง รูปแบบ ขนาดต่างๆ เป็นจำนวนมาก (แก่งสามพันโบก) นอกจากนี้ยังมีการท่องเที่ยวทางน้ำ ที่สามารถศึกษาลักษณะของหินตะกอน ที่มีลักษณะต่างๆ เช่น หินหัวพะเนียง ปากบ้อง หินหัวสุนัข ผาหินศิลาเลข หาดหงส์ หาดหินสี หรือทุ่งหินเหลื่อม พร้อมกับการศึกษาวิถีชิวิตของประชาชนท้องถิ่นอีกด้วย การท่องเที่ยวดังกล่าวต้องศึกษา จากบริเวณชุมชนหาดสลึง และบริเวณสามพันโบก รายละเอียดเกี่ยวกับตำนานเรื่องเล่า ที่ผูกโยงกับแก่งหินงามสามพันโบก
วิดีทัศน์ เรื่อง ลักษณะของโบกแบบต่างๆ
กลับไปที่เนื้อหา
แม้ว่าเนื้อหาหลักที่เกี่ยวข้องกับทัศนศึกษาแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ “แก่งหินงามสามพันโบก” จะเป็นเรื่อง กระบวนการกร่อน แต่ การศึกษาการกร่อน โดยไม่ศึกษาเรื่องการผุพัง จะเป็นการศึกษาโดยไม่ครบเนื้อหา และขาดความต่อเนื่อง
การผุพัง (ขอใช้คำนี้แทนคำจากศัพท์บัญญัติ “การผุพังอยู่กับที่”) เป็นกระบวนการทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นกับ แร่ และหิน บริเวณผิวโลก และใต้ผิวโลกลึกไม่มากนัก กระบวนการผุพัง โดยมากจะเกิดร่วมกับกระบวนการกร่อน ซึ่งเป็นกระบวนการเคลื่อนย้าย เศษแร่ – เศษหิน หรือตะกอน ไปสะสมตัวในบริเวณต่างๆ
ความรู้ในเรื่องการผุพัง และการกร่อน นอกจากเป็นความรู้พื้นฐานที่สามารถนำไปต่อยอดในการศึกษาลักษณะธรณีสัณฐานของพื้นโลกและกระบวนการเกิดหินตะกอนแล้ว ยังเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับการเรียนรู้เรื่อง ดิน ธรณีภิบัติภัย เกี่ยวกับเรื่องแผ่นดินถล่มอีกด้วย
กลับไปที่เนื้อหา
การผุพังสามารถแบ่งได้ เป็นการผุพังทางกายภาพ การผุพังทางเคมี และการผุพังทางชีวะ หรืออาจแบ่งได้เป็นการผุพังทางกล และการผุพังทางเคมี ที่ทำให้วัสดุต้นกำเนิด เปลี่ยนลักษณะหรือเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบทางเคมี
การผุพัง อาจเกิดอยู่กับที่ คือบริเวณเดียวกับวัตถุต้นกำเนิด หรือมีการเคลื่อนย้าย แบบการแตก หลุดขยับตัว ออกจากวัตถุต้นกำเนิด ซึ่งแตกต่างจากการกร่อน ที่การกร่อน เป็นกระบวนการเคลื่อนย้ายเศษวัสดุต้นกำเนิดออกจากแหล่ง
โดยทั่วไปกระบวนการผุพังจะเกิดร่วมกันกับกระบวนการกร่อน ประเภทของการผุพัง กระบวนการผุพัง สามารถแบ่งออกได้เป็น
1) กระบวนการผุพังทางกายภาพ เป็นกระบวนการที่ทำให้แร่และหินแตกตัวมีขนาดเล็กลง เช่น
การผุพังเนื่องมาจากการหายไปของความดันที่เคยกดทับ ทำให้หินแตกเป็นกาบมน (พบมากกับหินแกรนิต) - การผุพังเนื่องจากน้ำมีการแข็งตัว เกิดในสภาพภูมิอากาศหนาว น้ำเมื่อเปลี่ยนสถานะเป็นของแข็ง ปริมาตรจะขยายตัว 9%
2) กระบวนการผุพังทางเคมี เป็นกระบวนการผุพังที่ทำให้แร่และหิน เปลี่ยนแปลงสมบัติทางเคมี และ/หรือละลายจากวัสดุต้นกำเนิด บริเวณสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นกระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ดี ผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดังกล่าว จะได้ตะกอน (แร่ใหม่) และสารละลาย
ปฎิกิริยาที่เกิดจากกระบวนการผุพังทางเคมี ที่พบโดยทั่วไป คือ
- ปฎิกิริยาการละลาย และปฎิกิริยาจากน้ำฝนที่เป็นกรดอ่อน เป็นปฎิกิริยาระหว่าง แร่ประกอบ หิน เป็นแร่ที่สามารถละลายน้ำได้ (แร่เฮไลต์ ในหินเกลือ หรือแร่ยิปซัม ในหินยิปซั่ม) หรือแร่แคลไซต์ ในหินปูน เช่น เกลือสินเธาว์ และแร่ยิปซั่ม ที่ละลายโดยน้ำใต้ดิน หินปูน ที่ละลาย จากน้ำฝน และน้ำใต้ดิน
- ปฎิกิริยาไฮโดรไลซิส เป็นปฎิกิริยาระหว่างแร่ประกอบหิน กับน้ำฝน หรือน้ำใต้ดิน ทำให้เกิดแร่ใหม่ที่มีความแข็งแรงน้อยลง เช่น การเปลี่ยนของแร่โพแทสเซียมเฟลด์สปาร์ เปลี่ยนไป เป็นแร่เคลย์
- ปฎิกิริยาออกซิเดชัน เป็นปฎิกิริยาที่ธาตุโลหะที่เป็นส่วนประกอบของแร่ ทำปฎิกิริยากับ ออกซิเจน เกิดเป็นแร่ใหม่ เช่น การเปลี่ยนของแร่แมกนีไทต์ ไปเป็นแร่ฮีมาไทต์ และการเปลี่ยนแปลงของแร่ไพไรต์ ไปเป็น ไลมอไนต์ (ข้าวตอกพระร่วง) เป็นต้น
3)กระบวนการผุพังทางชีวะ กระบวนการผุพังทางชีวะ เป็นกระบวนการผุพังที่เป็นผลมาจากกิจกรรมของสิ่งมีชีวิต ที่เคลื่อนย้ายวัตถุต้นกำเนิด ออกจากบริเวณเดิม และ/หรือ การย่อยสลายวัถุต้นกำเนิด กระบวนการผุพังทางชีวะสามารถจำแนก เป็น 2 กลุ่มตามขนาดของสิ่งมีชีวิต
- กระบวนการผุพังทางชีวะจากสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดใหญ่สามารถมองเห็นด้วยตา เช่น พืชที่โตใน รอยแตกของหิน

กลับไปที่เนื้อหา
การกร่อน เป็นกระบวนการหลักที่ทำให้เกิดลักษณะภูมิประเทศรูปแบบต่างๆ ถ้าหากเปลือกโลกไม่มีการเปลี่ยนแปลงโดยการยกตัว ลักษณะผิวโลกจะราบเรียบเป็นระดับเดียวกับระดับน้ำทะเล
ความเร็วของทางน้ำในกรณีที่ทางน้ำมีรูปร่างตรง ความเร็วจะมากบริเวณส่วนกลางของลำน้ำ เนื่องจากผลจากแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นระหว่างน้ำ กับร่องน้ำบริเวณดังกล่าวมีค่าน้อย

กรณีที่ทางน้ำไม่เป็นเส้นตรง
เมื่อน้ำไหลผ่านในบริเวณทางน้ำที่โค้ง ความเร็วของกระแสน้ำจะเพิ่มขึ้นบริเวณส่วนโค้งด้านนอกของทางน้ำ (คุ้งน้ำ) ส่วนบริเวณโค้งด้านในของทางน้ำ กระแสน้ำจะมีความเร็วลดลง
ลักษณะอื่นๆ ของทางน้ำที่ส่งผลต่อความเร็วและรูปแบบการไหลของน้ำ

กลับไปที่เนื้อหา
ความสามารถของทางน้ำที่จะเคลื่อนย้าย และทำให้เกิดการสะสมตัวของตะกอน ขึ้นกับ ความเร็วของกระแสน้ำ และชนิดของตะกอนที่ทางน้ำพามา
ในช่วงฤดูน้ำหลาก หรือช่วงหน้าฝน สำหรับประเทศไทย (แต่สำหรับเขตหนาวช่วงฤดูน้ำหลากคือช่วงฤดูร้อน) ปริมาณน้ำมาก มีความเร็วของกระแสน้ำสูงขึ้น และทำให้ทางน้ำมีความสามารถในการพาตะกอนได้มากขึ้น ตะกอนที่เป็นของแข็ง และประจุต่างๆที่ละลายในน้ำ เรียกรวมว่า วัตถุนำพาของทางน้ำ สามารถเคลื่อนที่ได้ 3 ลักษณะใหญ่ๆ ที่แตกต่างกันดังนี้
1) การแขวนลอยและเป็นอนุภาคที่ละลายน้ำ วัสดุแขวนลอยส่วนมากเป็นตะกอนขนาดเคลย์ อาจมีตะกอนขนาดตะกอนทรายแป้งบ้าง วัสดุแขวนลอยเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำในทางน้ำขุ่น ส่วนอนุภาคที่ละลายน้ำ ประกอบด้วย Ca2+, K+, Cl-, SO42- และ CO32- วัสดุแขวนลอยจะ
เคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่ากับความเร็วของกระแสน้ำ
2) การเคลื่อนที่เป็นช่วง ส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนที่ของตะกอนขนาดทราย การเคลื่อนที่คล้ายกับ ตะกอนทรายกระโดดไปตามพื้นท้องน้ำ

กลับไปที่เนื้อหา
ตะกอนหมายถึงเศษแร่ และหินที่แตก-หลุด และมีการเคลื่อนย้ายออกจากต้นกำเนิด โดยกระบวนการผุพัง และการกร่อน การเรียกชื่อตะกอนในขั้นต้น สามารถใช้ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง และรูปร่างของตะกอนดังนี้
ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง | ชื่อ | ภาพ | ที่มาของภาพ |
มากกว่า 2 มิลลิเมตร | กรวดมน | ![]() |
ตะกอนกรวดเหลี่ยมจาก http://www.sciencebuddies.org/science-fair-projects/project_ideas/EnvEng_p024.shtml, ตะกอนทราย |
กรวดเหลี่ยม | ![]() |
||
ระหว่าง 0.0625 – 2 มิลลิเมตร | กรวดเหลี่ยม | ![]() |
|
ระหว่าง 0.004 – 0.0625 มิลลิเมตร | ทรายแป้ง | ![]() |
|
เล็กกว่า 0.004 มิลลิเมตร | เคลย์ หรือตะกอนดินเหนียว | ![]() |
ตะกอนขนาดโคลน หมายถึงตะกอนที่มีขนาดเล็กกว่าตะกอนทราย (ระหว่างทรายแป้ง – ตะกอนขนาดเคลย์) |
ที่มาของภาพ
ตะกอนกรวดเหลี่ยมจาก http://www.sciencebuddies.org/science-fair-projects/project_ideas/EnvEng_p024.shtml,
ตะกอนทราย จาก http://scienceblogs.com/chaoticutopia/2006/07/friday_fractal_x.php,
และตะกอนทรายแป้งจาก http://www.erosioncontrol.com/september-october-2010/silt-sediment-control.aspx
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังวิดีทัศน์
ตอน เส้นทางสู่...สามพันโบก
ตอน ลักษณะของสามพันโบก
ตอน กุมภลักษณ์
ตอน การกร่อนคืออะไร
ตอน ลักษณะของโบกแบบต่างๆ
ตอน การเกิดกุมภลักษณ์เกิดขึ้นที่ใดได้บ้าง
ตอน การกัดเซาะเกิดขึ้นเมื่อไหร่
ตอน โบกและสิ่งมีชีวิต
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนนายประดิษฐ์ ทองคําวัน โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยผู้เขียนแผนการสอนนายณัฐพล ตฤณเกศโกศล โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยผู้เขียนแผนการสอนนางสาวอรวรีย์ สินยอด โรงเรียนวิทยานุกูลนารีผู้เขียนแผนการสอนว่าที่ ร.อ.โชติ อํานาจบุดดี โรงเรียนวิทยานุกูลนารีผู้เขียนแผนการสอนนางสาวเพ็ญพร ขจรกลิ่น โรงเรียนสิริธรวิทยานุสรณ์ผู้เขียนแผนการสอนนางสาวสุวาลี เที่ยงธรรม โรงเรียนสิริธรวิทยานุสรณ์
-
คำที่เกี่ยวข้อง