แหล่งเรียนรู้ศูนย์วิจัยทรัพยากรแร่และหิน
ศูนย์วิจัยทรัพยากรแร่และหิน จังหวัดระยอง ภายใต้การดูแลของ สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 3 เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านธรณีวิทยา ทรัพยากรแร่ ธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม พิบัติภัย ซากดึกดำบรรพ์ และธรรมชาติวิทยา ที่จัดแสดงเรื่องราวภายในอาคารนิทรรศการและสวนหินกลางแจ้ง สำหรับ นักเรียน นักศึกษา รวมถึงประชาชนผู้สนใจ อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงความรู้ให้กับผู้สนใจทั่วไป
กลับไปที่เนื้อหา
ศูนย์วิจัยทรัพยากรแร่และหิน จังหวัดระยอง ภายใต้การดูแลของ สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 3 เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านธรณีวิทยา ทรัพยากรแร่ ธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม พิบัติภัย ซากดึกดำบรรพ์ และธรรมชาติวิทยา ที่จัดแสดงเรื่องราวภายในอาคารนิทรรศการและสวนหินกลางแจ้ง สำหรับ นักเรียน นักศึกษา รวมถึงประชาชนผู้สนใจ อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงความรู้ให้กับผู้สนใจทั่วไป
แร่ในชีวิตประจำวัน
ในการดำรงชีวิตของคนเราจะมีความเกี่ยวข้องกับแร่มาโดยตลอด เราพบเห็น สัมผัสและใช้ประโยชน์จากแร่ในทุกๆวัน ตั้งแต่สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในบ้าน ตลอดไปจนถึง สิ่งต่างๆ ที่เป็นสิ่งแวดล้อม ในเมืองที่เราอาศัยอยู่ เราสามารถจำแนกการใช้แร่เป็นกลุ่มตามลักษณะการใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ แร่โลหะ แร่โลหะหายาก แร่โลหะมีค่า แร่กัมมันตรังสี แร่อโลหะหรือแร่อุตสาหกรรม แร่รัตนชาติ และแร่เชื้อเพลิง
วิดีทัศน์ศูนย์วิจัยแร่และหิน
กลับไปที่เนื้อหา
ความหมายของแร่ แร่คืออะไร คือธาตุหรือสารประกอบอนินทรีย์ที่มีเนื้อเดียวกัน มีโครงสร้างเดียวกัน องค์ประกอบทางเคมี และคุณสมบัติทางกายภาพเฉพาะตัว แร่บางชนิดเกิดขึ้นเมื่อหินหนืดเย็นตัวลง ซึ่งทำให้สารประกอบบางตัวในหินหนืดตกผลึกกลายเป็นแร่ ในขณะที่แร่บางชนิดเกิดจากการที่แร่เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม
การจำแนกแร่
ในโลกเราพบแร่มากมายหลายชนิด ที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไป ถ้าเราจะต้องการทราบว่า แร่ที่พบเห็นนั้น คือแร่อะไร จำเป็นจะต้องมีวิธีการจำแนก ซึ่งเราสามารถจำแนกแร่ได้ โดยใช้คุณสมบัติทางฟิสิกส์ (ทางกายภาพ) ทางเคมี ทางแสง วิธีที่ง่ายที่สุดในการจำแนกแร่ คือ การจำแนกแร่ทางกายภาพ เพราะสามารถมองเห็นได้จากลักษณะภายนอก
การจำแนกแร่ทางกายภาพ
คุณสมบัติทางกายภาพของแร่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการจำแนกแร่ออกเป็นชนิดต่างๆ วิธีการที่ทำให้รู้ว่า แร่แต่ละก้อน คือแร่ชนิดใด คือ การทดสอบหาคุณลักษณะเฉพาะของแร่ เนื่องจากแร่แต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติต่างกันไป สิ่งแรกที่สามารถตรวจสอบได้คือ สี ความวาว รูปผลึก และรูปลักษณ์ของแร่ จากนั้น คือทดสอบความแข็ง ความถ่วงจำเพาะ และสีผงละเอียด แต่ถ้ายังไม่รู้ว่าแร่อะไร ก็อาจจะต้องทุบแร่ก้อนนั้น เพื่อดูรอยแตกเรียบ หรือรอยแตกที่เกิดขึ้น การจำแนกแร่ทางกายภาพ ที่สำคัญ ได้แก่ สี หมายถึง สีของแร่ที่มองเห็นในแสงธรรมชาติ แร่บางชนิดมีสีเดียวเฉพาะตัว แร่บางชนิดมีสีหลากหลายขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของมลทิน ที่ทำให้เกิดสี
- สีผงละเอียด แร่ชนิดเดียวกันอาจมีสีแตกต่างกันได้หลายสี แต่มักมีสีผงละเอียดเหมือนกันเสมอ โดยสีผงละเอียดของแร่ มักจะต่างจากสีของตัวแร่เอง ทดสอบได้ด้วยการนำแร่ไปขูดบนกระเบื้องไม่เคลือบ
- ความถ่วงจำเพาะ คือ อัตราส่วนระหว่างน้ำหนักของแร่กับน้ำหนักของน้ำ ที่มีปริมาณเท่ากัน โยแสดงเป็นตัวเลข เช่น แร่ที่มี ถ.พ.2.5 แสดงว่ามีน้ำหนัก 2.5 ของน้ำ แร่แต่ละชนิดจะมีความถ่วงจำเพาะที่แน่นอน แร่ที่มีความถ่วงจำเพาะสูง จะมีน้ำหนักมากกว่าแร่ที่มีความถ่วงจำเพาะต่ำ
- ความวาว หรือ ประกาย คือ ลักษณะการสะท้อนแสงของแร่ เกิดจากความสามารถของแร่ในการ สะท้อนแสงซึ่งแต่ละแร่ก็จะมีสมบัติแตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับโครงสร้างผิวและความโปร่งใส
- ความแข็ง คือ ความทนทานของแร่ต่อการขูดขีด ซึ่งมีการจัดลำดับเปรียบเทียบกับแร่มาตรฐาน 10 ชนิด เริ่มจากแข็งน้อยที่สุด(1)กับแข็งมากที่สุด(10) เรียกว่า ระดับความแข็งของโมหส์ โดยแร่ที่แข็งมากจะสามารถขีดแร่ที่แข็งน้อยกว่าให้เป็นรอยได้
- รอยแตก หมาย ถึงรอยแตกของแร่ ที่ไม่มีทิศทางแน่นอนอย่างแนวแตกเรียบ พื้นผิวรอยแตก จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป
- รอยแตกเรียบ แนวแตกเรียบ (Clevage) หมายถึง รอยที่แตกเป็นระนาบเรียบตามโครงสร้างอะตอมในผลึกแร่ โดยทั่วไปรอยแตกนี้จะขนานไปกับหน้าผลึกแร่ แนวแตกนี้อาจเป็นระนาบเดียวหรือหลายระนาบก็ได้
- รูปลักษณ์ของแร่ หมายถึงรูปร่างลักษณะเฉพาะของผลึกแร่ที่เกิดขึ้นดองตามธรรมชาติในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน โดยแร่บางชนิดมักเกิดเป็นผลึกเดี่ยว บางชนิดเกิดเป็นกลุ่มผลึกรูปทรงต่างๆ และบางชนิดเกิดเป็นก้อนแร่ที่มีเนื้อสมานแน่น ไม่แสดงรูปผลึก เป็นต้น
วิดีทัศน์การจำแนกแร่
กลับไปที่เนื้อหา
มนุษย์เรามีการนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์อย่างยาวนาน เราสามารถจำแนกทรัพยากรแร่ลักษณะการใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ แร่โลหะ แร่โลหะหายาก แร่โลหะมีค่า แร่กัมมันตรังสี แร่อโลหะหรือแร่อุตสาหกรรม แร่รัตนชาติ และแร่เชื้อเพลิง
กลุ่มที่มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางและใช้ปริมาณมาก คือ กลุ่มแร่อโลหะ เช่น กลุ่มแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น
- แร่ฟอสเฟต คือ แร่ที่มีธาตุฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบ สามารถนำมาผลิตเป็นปุ๋ยได้ ซึ่งได้จากแร่ อะพาไทต์
- แร่โพแทซ คือแร่ในกลุ่มหินเกลือระเหยที่มีโพแทชเซียมเป็นองค์ประกอบ แร่ที่สำคัญ ได้แก่ ซิลไวต์และ คาร์นัลไลต์
- แร่ทัลก์ ใช้ทำสี เครื่องปั้นดินเผา วัสดุมุงหลังคา วัสดุทนไฟ ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เช่นใช้ทำแป้งฝุ่นทาหน้า ฝุ่นโรยตัว นำไปใช้เป็นสารเคลือบผิวเม็ดปุ๋ยเพื่อป้องกันความชื้น ช่วยให้เม็ดปุ๋ยไม่จับตัวกันเป็นก้อนแข็ง
- หินปูน คือ หินตะกอนที่มีแร่แคลไซต์เป็นองค์ประกอบหลัก เป็นแหล่งที่มาของธาตุแคลเซียม ซึ่งพืชสามารถดูดซึมไปใช้เพื่อช่วยในการสร้างผนังเซลล์ให้แข็งแรง เสริมการเติบโตของรากและการแตกใบ และยังสามารถนำหินปูนมาบดเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาดินเป็นกรดได้
- โดโลไมต์ เป็นหินตะกอนที่มีแร่โดโลไมต์ เกิดจากหินปูนถูกเปลี่ยนองค์ประกอบทางเคมี ทำให้แร่แคลไซต์กลายเป็น โดโลไมต์ ประโยชน์จึงคล้ายกับหินปูน แต่จะดีกว่า ซึ่งเป็นที่มาของธาตุอาหารรองถึง 2 ชนิด คือ แคลเซียมและแมกนีเซียม ซึ่งธาตุแมกนีเซียมเป็นส่วนหนึ่งของกลไกในกระบวนการของการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืชและยังเป็นตัวช่วยพาธาตุฟอสฟอรัสไปสู่ส่วนต่างๆของพืช
- ยิปซัม เป็นแร่ในกลุ่มหินเกลือระเหยเช่นเดียวกับโพแทซ เป็นแหล่งของธาตุแคลเซียมและกำมะถัน ทำฝ้าเพดาน ส่วนผสมของปูนพลาสเตอร์ หรือแผ่นยิปซัมบอร์ดจากการวิจัยยังพบว่ายิปซัมยังใช้ในการแก้ปัญหาดินเค็มได้ดี และทำให้ดินอุ้มน้ำได้ดี ทำให้ดินมีความชุ่มชื้นได้นาน
- ดินสอพองหรือดินมาร์ล มีส่วนประกอบหลัก คือ แคลไซต์ แร่ดิน ควอต์ และมีอินทรีย์สารปนอยู่ สามารถนำไปใช้ได้เช่นเดียวกันกับหินปูน
- ควอตซ์ หรือที่เรียกกันว่า เขี้ยวหนุมาน มีส่วนประกอบทางเคมีเป็นซิลิกา ส่วนมากจะใส ไม่มีสี ถ้ามีมลทินเจือปนอยู่จะให้สี ต่างๆ เช่น ม่วง ชมพู เหลือง นำไปใช้ทำเลนส์ ปริซึม แว่นตา นาฬิกาควอตร์ อุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ แต่ถ้ามีทลทินมากจะนำไปทำผงขัดกระดาษทราย นอกจากนี้ยังนำไปใช้เป็นรัตนชาติและหินประดับ
- ทรายแก้ว หมายถึงทรายที่สะอาด มีเปอร์เซ็นต์ของซิลิก้ามากกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ และมีเปอร์เซ็นต์เหล็กต่ำ ตลอดจนมีสารมลทินอื่นๆเจือปนอยู่เล็กน้อย มีขนาดเม็ดทรายละเอียด พบมาบริเวณชายหาดทะเล เกิดจากการพัดพาโดยกระลมมาทับถมบริเวณชายหาด แหล่งแร่ทรายแก้วพบตามชายทะเลทั่วไป ทั้งในบริเวณภาคตะวันออก เช่นที่จังหวัดระรอง จันทบุรี ตราด และภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา ภูเก็ต ตรัง ชุมพร ระนอง ทรายแก้วใช้เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในอุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา ใช้ทำเป็นแบบเหล็กหล่อในอุตสาหกรรมเหล็กหล่อ เป็นต้น ทรายแก้วทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของผลิตภัณฑ์เซรามิค ถูกนำมาใช้ในงานเซรามิคอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีปริมาณมาก มีความบริสุทธิ์สูง นอกจากนี้ยังหาง่าย แลมีต้นทุนการผลิตต่ำ
การนำแร่มาใช้ในการอุตสาหกรรม เช่น
- โลหะตะกั่ว เป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ อุตสาหกรรมโลหะบัดกรี ใช้ในการทำกระดาษตะกั่ว ท่อน้ำ แผ่นตะกั่ว สะพานไฟฟ้า
- สังกะสี เป็นแร่ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เคลือบแผ่นเหล็ก สังกะสีมุงหลังคา กระป๋อง บุเปลือกในของถ่านไฟฉาย ใช้หล่อส่วนประกอบต่างๆของอุปกรณ์ประกอบรถยนต์ เช่น คาร์บูเรเตอร์ นอกจากนี้ยังใช้ทำยารักษาโรคและเคมีภัณฑ์ต่างๆ
- ดีบุก ใช้เคลือบโลหะเพื่อทำภาชนะบรรจุอาหาร ใช้ผสมกับตะกั่วทำตะกั่วบัดกรี ใช้ผสมกับทองแดงเป็นทองสัมฤทธิ์ ใช้ทำชิ้นส่วนเครื่องจักรกล ผสมกับสังกะสีและพลวงใช้ชุบสังกะสีมุงหลังคา
วิดีทัศน์แร่กับการใช้ประโยชน์
กลับไปที่เนื้อหา
หินอัคนี เกิดจากการแข็งตัวของหินหนืด ซึ่งหากแข็งตัวอยู่ใต้ผิวโลก จะเรียกว่า หินอัคนีแทรกซอน โดยหินหนืดจะเย็นตัวลงอย่างช้าๆ ทำให้เกิดผลึกแร่ขนาดใหญ่อยู่ในเนื้อหิน เช่น หินแกรนิต หินไดออไรต์ และหินแกบโบร แต่หากหินหนืดปะทุขึ้นมาเป็น ลาวา แล้วแข็งตัวบนผิวโลกจะเรียกว่า หินอุคนีพุ ซึ่งหินหนืดจะเย็นตัวลงอย่างรวดเร็วทำให้เกิดแร่ขนาดเล็ก หรือไม่เกิดผลึกเลย เช่น หินบะซอลต์ หินแอนดีไซต์ หินไรโอไลต์ แร่ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของหินอัคนีมี 8 ชนิด คือ ควอตซ์ ออร์โทเคลส แพลจิโอเคลส มัสโคไวต์ ไบโอไทต์ แอมฟิโบล ไพรอกซีน และ โอลิวีน หินอัคนีที่สำคัญ เช่น หินแกรนิต หินบะซอลต์ หินไรโอไลต์ หินแอนดีไซต์
หินในกลุ่มหินอัคนี นำมาใช้ประโยชน์ เช่น
- หินแกรนิต เป็นหินที่ความทนทานสูง จึงนิยมในการก่อสร้าง เช่น ปูพื้น ทำหลังคา ใช้ในการก่อสร้าง ประดับอาคาร เนื่องจากหินแกรนิตมีเนื้อแข็งจึงนิยมทำครก
- หินบะซอลต์ ใช้ทำถนน ก่อสร้าง
- หินไรโอไลต์ ใช้ในงานก่อสร้างทำถนน
วิดีทัศน์หินอัคนี
กลับไปที่เนื้อหา
หินตะกอนหรือหินชั้นเกิดจากการทับถมของตะกอนบนผิวโลก โดยตะกอนต่างๆได้แก่ เศษหิน แร่ กรวด ทราย ดิน ที่สึกกร่อนผุพังหรือถูกชะละลายจากหินเดิมรวมทั้ง ตะกอนซากพืช ซากสัตว์จะถูกพัดพาโดย ลม น้ำ หรือธารน้ำแข็ง ไปสะสมตัวยังที่ต่างๆทั้งบนแผ่นดิน ท้องลำน้ำ และในทะเล ตะกอนเหล่านี้จะเรียงตัวเป็นชั้นๆแล้วแข็งตัวเป็นหินที่มีเนื้อเป็นชั้น หินตะกอนที่เกิดจากการอัดตัวของตะกอนด้วยแรงกดดันของน้ำหนักที่ทับถม หรือประสานเชื่อมตะกอนเข้าด้วยกัน โดยเนื้อเดิมของตะกอน ยังคงสภาพอยู่ให้พิสูจน์ได้ เรียกว่าตะกอนเนื้อประสม เช่น หินทราย หินดินดาน หินกรวดมน ส่วนหินตะกอนที่เกิดจากการตกตะกอนทางเคมี โดยตะกอนถูกพัดพามาในรูปสารละลายแล้วตกผลึกยึดประสานกันแน่น ไม่สามารถพิสูจน์สภาพเดิมได้ เรียกว่าหินตะกอนเนื้อประสาน เช่น หินปูน หินเชิร์ต เกลือหิน หินตะกอนส่วนใหญ่ประกอบขึ้นจากแร่ควอตซ์ แร่แคลไซต์ แร่ดินเหนียว และเศษหิน นอกจากนี้ยังพบซากดึกดำบรรพ์อยู่ในเนื้อหินด้วย
หินในกลุ่มหินตะกอน นำมาใช้ประโยชน์ เช่น
- หินปูน ใช้ในการก่อสร้าง ทำถนนและทำรางรถไฟ และยังใช้เป็นส่วนประกอบหลักในการผลติปูนซีเมนต์
- หินกรวดมน ใช้ทำถนนในบ้าน ใช้ในการก่อสร้าง
- หินทราย ใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างทำถนน สร้างโบราณสถาน แกะสลักรูปปั้น เช่น พระพุทธรูป ใช้ทำหินลับมีด
- หินดินดานใช้ผสมทำปูนซีเมนต์ ปูพื้นทางเดิน
วิดีทัศน์หินตะกอน
กลับไปที่เนื้อหา
หินแปร เกิดจากการที่หินเดิมแปรสภาพไปเพราะได้รับความร้อนและความดันเป็นเวลานานจนทำให้โครงสร้าง ลักษณะเนื้อหรือส่วนประกอบของหินเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและมีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยหินแปรที่เกิดจากการเคลื่อนที่ชนกันของเปลือกโลกซึ่งทำให้หินเดิมถูกบีบอัด จนเกิดการแปรสภาพบริเวณไพศาล ภายใต้ความร้อนและความกดดันสูง จะมีแร่หรือผลึกแร่เกิดขึ้นใหม่ และมีการจัดเรียงตัวของผลึกแร่ใหม่ในแนวขนานกับเนื้อหินที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะเป็นแผ่นขนาน ซึ่งสามารถแตกออกตามแนวนั้นได้ เช่น หินขนวน หินไนส์ หินชีสต์ ส่วนหินแปรที่เกิดจากการที่หินหนืดแทรกดันขึ้นมาแล้วสัมผัสกับหินท้องที่ ทำให้หินท้องที่เดิมเกิดแปรสภาพสัมผัสด้วยความร้อนและสารจากหินหนืด โดยไม่มีอิทธิพลของความดันมากนัก จะไม่มีการจัดเรียงตัวของผลึกแร่ใหม่ เนื้อหินที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะไม่เป็นแผ่นขนาน เช่น หินอ่อน หินควอตไซต์
หินในกลุ่มหินแปร นำมาใช้ประโยชน์ เช่น
- หินชนวน ใช้ในการก่อสร้าง เช่น ทำพื้น ทำหลังคา ในสมัยโบราณใช้ทำกระดานชนวน
- หินอ่อน ใช้ปูพื้น ตกแต่งตัวอาคาร ทำของใช้ ต่างๆ โต๊ะหินอ่อน หินประดับ เป็นต้น
- หินไนส์ ใช้ทำครก ทำโม่หิน
วิดีทัศน์หินแปร
กลับไปที่เนื้อหา
ซากดึกดำบรรพ์ เป็นซากหรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิตที่ถูกรักษาไว้โดยธรรมชาติ เมื่อสิ่งมีชีวิตนั้นตายลง ส่วนที่เป็นเนื้อจะย่อยสลายไป ส่วนที่เป็นโครงสร้างแข็งจะถูกทับถมโดยตะกอน และมีน้ำแร่จากตะกอนไหลซึมเข้าไปในโครงสร้างที่ยังหลงเหลืออยู่ จนแข็งและกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์ในที่สุด ซากดึกดำบรรพ์ ที่พบส่วนใหญ่จะเป็นส่วนโครงสร้างแข็ง เช่น เปลือก กระดูก ฟัน ใบไม้ เนื่องจากเป็นส่วนที่ย่อยสลายช้า แต่ถ้าซากถูกฝังกลบอย่างรวดเร็ว เนื้อเยื่ออ่อนเช่น ผิวหนัง เส้นเลือด ขน หรืออวัยวะ ก็จะกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์ นอกจากนี้ ร่องรอย เช่นรอยตีน รอยพิมพ์หนัง และเปลือกไข่ ก้สามารถกลายเป็นซากดึกดำบรรพ์ได้
ฟิวซูลินิด คืออะไร
ข้าวสารหิน หรือคตข้าวสาร เป็นซากดึกดำบรรพ์ ประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ที่มักพบในหินปูน มีลักษณะคล้ายเม็ดข้าวสารในยุคปัจจุบัน
สโตรมาโตไลด์ คืออะไร
หินสาหร่าย (Stormatolite) เป็นหินปูนลักษณะเป็นชั้นบางเรียงสลับซ้อนกัน ระหว่างหินปูนสีแดงชั้นบางกับหินโคลนสีน้ำตาลเข้มชั้นบางมาก ลักษณะเป็นชั้นพอกเป็นชั้น เป็นลักษณะของสโตรมาโตไลด์ที่เกิดใต้ทะเล โดยการพอกและเชื่อมตัวกับเม็ดตะกอนโดยชั้นของจุลินทรีย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไซยาโนแบคทีเรีย (สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน) หินปูนนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของหมวดหินป่าแก่ ซึ่งเป็นหมวดหินที่อยู่ด้านบนสุดของกลุ่มหินทุ่งสง มีการพบซากดึกดำบรรพ์ไทรโลไบต์และนอติลอยด์ คาดว่ามีอายุอยู่ในช่วงยุคออร์โดวิเชียนตอนปลาย
วิดีทัศน์ซากดึกดําบรรพ์บอกอะไรเราได้บ้าง
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังวิดีทัศน์
ศูนย์วิจัยแร่และหิน
การจำแนกแร่
ประโยชน์ของแร่
หินอัคนี
หินตะกอน
หินแปร
ซากดึกดําบรรพ์บอกอะไรเราได้บ้าง
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนนางสาวเกษร มีเหมือนผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนนางวิเรืองรัตน์ แก้วกองผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนนายพงศธร สุขศรีผู้เขียนแผนการสอน
-
คำที่เกี่ยวข้อง