วนอุทยานถ้ำเพชรถ้ำทอง และหุบป่าตาด
วนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทอง ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าบริเวณเขาชอนเดื่อและเขาขวาง อำเภอตาคลี และอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ มีเนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ เป็นส่วนปลายสุดของเทือกเขาเพชรบูรณ์ฝั่งขวาของแม่น้ำป่าสัก เป็นภูเขาหินปูนขนาดเล็ก โดดเดี่ยว รายล้อมด้วยไร่นาและพื้นที่ทำการเกษตรอื่น ๆ จัดว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ด้วยความสมบูรณ์ของสถานที่รวมถึงระบบนิเวศที่มีความหลากหลาย เราจะได้ความรู้ในหลากหลายด้านไปพร้อมๆ กัน ทั้งภูเขาหินปูน ถ้ำ ฟอสซิล รวมถึงสัตว์ป่าและพันธุ์ไม้หายากอีกด้วย
กลับไปที่เนื้อหา
วีดิทัศน์ เรื่องมารู้จักกับหินปูน
วนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทอง” ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าบริเวณเขาชอนเดื่อและเขาขวาง อำเภอตาคลี และอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ มีเนื้อที่ประมาณ 3,000 ไร่ เป็นส่วนปลายสุดของเทือกเขาเพชรบูรณ์ฝั่งขวาของแม่น้ำป่าสัก เป็นภูเขาหินปูนขนาดเล็ก รายล้อมด้วยไร่นาและพื้นที่ทำการเกษตรอื่น ๆ จัดว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาแห่งหนึ่งของประเทศไทย จะมีแหล่งเรียนรู้ทั้งถ้ำ หินงอกหินย้อยและเสาหิน
ถ้ำจะมี 4 ประเภท แบ่งตามการเกิด ได้
1. ถ้ำหินปูน (Solution cave หรือ (Limestone cave)
2. ถ้ำน้ำแข็ง (Glacier cave)
3. ถ้ำลาวา (Lava cave)
4. ถ้ำตามชายฝั่งทะเล (Sea cave)
ถ้ำส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะเป็นถ้ำหินปูน ถ้ำหินปูนเกิดจากการสะสมของตะกอนแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ซึ่งอยู่ในน้ำทะเล จากนั้นตะกอนของแคลเซียมคาร์บอเนตจะแข็งตัวและกลายเป็นหินปูน ด้วยคุณสมบัติของแคลเซียมคาร์บอเนต เมื่อมีฝนตกลงมา ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในอากาศ จะรวมกับน้ำฝน (H2O) เกิดเป็นกรดคาร์บอนิก (H2CO3) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน [CO2 + H2O -----> H2CO3]
เมื่อไหลซึมลงสู่ใต้ดิน กรดอ่อนนี้จะแทรกซึมไปตามรอยร้าวของพื้นที่ ที่เกิดจากตะกอนแคลเซียมคาร์บอเนตและทำละลายหินปูนได้เป็นอย่างดี จึงเกิดการกัดกร่อนจนเป็นโพรงถ้ำ
หินงอก หินย้อยและเสาหิน
หินงอก หินย้อย เสาหิน เกิดจากน้ำฝนที่มีสภาพเป็นกรดไหลซึมลงสู่พื้นดินและเข้าสู่ถ้ำ สารละลายกรดคาร์บอนิก (H2CO3) จะทำปฏิกิริยากับแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ได้เป็นแคลเซียมไบคาร์บอเนต หรือ แคลเซียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต H2CO3 + CaCO3 -----> Ca(HCO3)2
สารละลายแคลเซียมไบคาร์บอเนต สามารถเกิดปฏิกิริยาย้อนกลับได้ เกิดเป็น แคลเซียมคาร์บอเนต น้ำ และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ Ca(HCO3)2 ----> CaCO3 + H2O + CO2
เมื่อสารละลายแคลเซียมไบคาร์บอเนตไหลไปตามหิน เพดานถ้ำ และหยดจากเพดานถ้ำ พร้อมกับการระเหยของน้ำ แคลเซียมคาร์บอเนตจากปฏิกิริยาย้อนกลับจะเกิดการสะสมในลักษณะของแข็งบนเพดานถ้ำ ก่อตัวอย่างช้าๆ เกิดเป็นหินย้อยลักษณะกรวยแหลมพุ่งลงด้านล่าง และในรูปแบบเดียวกัน หากสารละลายแคลเซียมไบคาร์บอเนตไหลผ่านบริเวณพื้นถ้ำออกไป พร้อมกับการระเหยของน้ำ เมื่อสะสมกันจนเป็นหินลักษณะกรวยแหลมพุ่งขึ้นด้านบน เราก็จะเรียกกันว่า หินงอก และหากหินงอกหินย้อยมาบรรจบกันก็จะเกิดเป็นเสาหิน
เกร็ดความรู้ : หินงอกและหินย้อยใช้เวลาในการงอก 1/4 - 1 นิ้ว ในเวลา 1 ศตวรรษ หรือประมาณ 0.007-0.929 มิลลิเมตรต่อปี
กลับไปที่เนื้อหา
วีดิทัศน์ ไขปริศนาซากดึกดำบรรพ์
ซากดึกดำบรรพ์ หรือ เราเรียกง่ายๆ ว่า ฟอสซิล คือ ซากหรือร่องรอยของพืชและสัตว์ที่ตายลงผ่านกระบวนการทางธรรมชาติในการเก็บรักษาให้คงสภาพเดิมไว้ภายในหิน จากการค้นพบซากดึกดำบรรพ์มักเกิดขึ้นจากส่วนที่แข็งของร่างกาย ถ้าเป็นสัตว์ ก็จะเป็นพวกกระดูก หรือถ้าเป็นพืชก็จะเป็นส่วนของไม้ ดังนั้นหากศึกษาฟอสซิลจะได้รู้ถึงประวัติและวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ทั้งการสูญพันธุ์และการเกิดขึ้นใหม่มาทดแทน รวมทั้งช่วยให้ทราบประวัติความเป็นมาของโลกว่า มีเหตุการณ์ใด เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดบ้าง
ขั้นตอนการเกิดซากดึกดำบรรพ์ หรือ ฟอสซิล แล้วมี 4 ลำดับ
- สิ่งมีชีวิตนั้นๆ ตายลง
- ซากของสิ่งมีชีวิตนั้นถูกย่อยสลายไป เป็นโครงกระดูก หรือแกนไม้ที่เป็นของแข็ง และถูกปิดทับด้วยตะกอนอย่างรวดเร็ว เมื่อเวลาผ่านไปชั้นตะกอนค่อยๆ หนาขึ้น น้ำหนักที่กดทับจะเพิ่มมากขึ้นตามชั้นตะกอนที่จับตัวกันแน่น
- กระบวนการแทรกซึมของแร่ธาตุ (Permineralization) เกิดขึ้นเมื่อซากสิ่งมีชีวิตถูกทับถมภายใต้ดินตะกอนเป็นเวลานาน ทำให้แร่ธาตุในตะกอนเหล่านี้ แทรกซึมเข้าไปภายในช่องว่างของร่างกาย ทั้งในเนื้อและกระดูกของสิ่งมีชีวิต
- กระบวนการกลายเป็นหิน (Petrification) เกิดขึ้นจากการที่สารอินทรีย์ภายในซากของสิ่งมีชีวิตถูกแทนที่ด้วยสารละลายซิลิกา (Silica) หรือสารละลายแคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) ซึ่งยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ชะลอการย่อยสลายทางธรรมชาติ ทำให้สามารถคงสภาพของโครงร่างสิ่งมีชีวิตไว้ได้ โดยไม่เกิดการสูญสลาย เมื่อมีการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกและการผุพังของหินอีกหลายสิบล้านปี ทำให้ซากดึกดำบรรพ์โผล่ออกมาจากชั้นหินสู่ผืนดิน
ซากดึกดำบรรพ์ หรือ ฟอสซิล หลักๆ แบ่งออกเป็น 3 แบบ คือ
- ซากดึกดำบรรพ์สัตว์
- ซากดึกดำบรรพ์พืช
- ซากดึกดำบรรพ์ร่องรอย
วนอุทยานถ้ำเพชรถ้ำทอง จะสามารถพบฟอสซิลได้ทั้ง 3 แบบ บางชนิดพบได้ระหว่างการเดินไปถ้ำ หรือเดินศึกษาธรรมชาติ และยังมีบางส่วนที่ทางวนอุทยานนำมาเก็บรักษาไว้ โดยจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ฟอสซิลขนาดย่อมสำหรับให้ศึกษา
กลับไปที่เนื้อหา
วีดิทัศน์ เรื่องพิพิธภัณฑ์ฟอสซิล
หอยแกสโตรพอด หรือรู้จักในชื่อหอยกาบเดียว หรือหอยฝาเดียว เป็นหอยที่มีลักษณะของฝาขดเป็นเกลียว หอยแกสโตรพอดมีการปรับตัวได้ดีมากแพร่ขยายพันธุ์ไปทั่วโลก สามารถอาศัยอยู่ได้แทบทุกสภาพแวดล้อม มีช่วงอายุระหว่างยุคแคมเบรียนจนถึงปัจจุบัน
หอยแบรคคีโอพอด หรือหอยตะเกียง เป็นหอย 2 ฝา ที่มีขนาดไม่เท่ากัน และภายในมีกล้ามเนื้อเท้าขนาดใหญ่ยื่นออกมาเพื่อยึดติดกับพื้นทะเล ใช้สำหรับขุดและเคลื่อนไหวในเขตน้ำตื้น ซึ่งลักษณะเฉพาะของฝาหอยแบรคคีโอพอด คือแต่ละฝามีสมมาตรสองข้าง เปลือกหอยมีขนาดและรูปร่างต่างกัน อาจเป็นวงกลม วงรี เป็นมุม ผิวนอกของฝาอาจเรียบ มีเส้นแสดงการเจริญเติบโต มีหนาม สัน หรือรอยหยัก
หอยแอมโมไนต์ เปลือกแบ่งเป็นห้องๆ คล้ายกับหอยนอติลุสในปัจจุบัน แต่หอยแอมโมไนต์จะมีผนังกั้นห้อง ซึ่งมักมีท่ออากาศอยู่ตรงกลางเปลือก โดยเปลือกมีหลายรูปแบบ เช่น ขดม้วนเป็นวงกลม ยืดออกไปตรงๆ หรือบิดไปบิดมาโค้งจนถึงหยักมาก ท่ออากาศช่วยในการลอยตัว การดำรงชีวิตของแอมโมไนต์จะเคลื่อนที่แบบเดียวกับหมึก
ฟอสซิลอีกชนิดที่พบกันได้บ่อยๆ ก็คือ ฟิวซูลินิด เป็นสัตว์ทะเลเซลล์เดียว สามารถสร้างเปลือกแข็งที่เป็นสารแคลเซียมคาร์บอเนตห่อหุ้มตัว เจริญเติบโตโดยการขดรอบแกนสมมติแกนหนึ่ง มีลักษณะยาว หัวท้ายแหลม รูปร่างและขนาดคล้ายกระสวย หรือเมล็ดข้าวสาร จนทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า เมล็ดข้าวสารกลายเป็นหิน เลยมีชื่อเรียกทั่วไปว่า "คตข้าวสาร หรือข้าวสารหิน"
กลับไปที่เนื้อหา
วีดิทัศน์ เรื่องสัตว์และพันธุ์ไม้หายาก
วนอุทยานถ้ำเพชร-ถ้ำทอง ภูมิประเทศจะเป็นเขาหินปูน มีระบบนิเวศที่มีความหลากหลาย ทั้งถ้ำ เขาหินและป่า ลักษณะพื้นเป็นหินปูน ตะปุ่มตะป่ำ ร่วมกับป่าเบญจพรรณ เมื่อฝนตกลงมาน้ำจึงไหลไปกักเก็บเป็นน้ำใต้ดินได้ดี ทำให้ป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่รอบๆ มีความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของพืชและสัตว์ที่ต้องปรับตัวสอดคล้องกับระบบนิเวศโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นนกนางแอ่นและค้างคาวที่อาศัยตามปากถ้ำ พืช แมลง และปลาตาบอดที่ต้องปรับตัวให้มีชีวิตได้ในความมืดภายในถ้ำ
ต้นโมกราชินี หรือ โมกสิริกิติ์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Wrightia sirikitiae D.J.Middleton & Santisuk อยู่ในวงศ์ Apocynaceae เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของไทย มีคำระบุชนิด sirikitiae ตั้งขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระพันปีหลวง สำรวจพบครั้งแรก โดย Dr.David Middleton ชาวอเมริกัน ร่วมกับ นายธวัชชัย วงศ์ประเสริฐ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2544 จากบนเขาหินปูนในอำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
โมกราชินี มีลักษณะเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 6 ม. ผลัดใบ ลำต้นแตกกิ่งมาก เปลือกสีขาวปนเทา มีช่องอากาศเป็นปุ่มกลมหรือรีกระจายทั่วลำต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ดอกโมกราชินี ออกเป็นช่อดอกยาว 3-5 ซม. กลีบเลี้ยงและกลีบดอกจำนวนอย่างละ 5 กลีบ ดอกสีขาวนวล โคนกลีบดอกเป็นหลอดยาว 1.4-2 ซม. ฝักออกเป็นคู่ สีน้ำตาลอมเขียว มีช่องอากาศ ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะเมล็ด สีดำรูปรียาว เมื่อฝักแก่และแตก จะเป็นปุยที่ปลายเม็ด และปลิวลอยตามลมไปขยายพันธุ์
บัวสันโดษ หรือ ชื่อเรียกอื่นๆ แผ่นดินเย็น ว่านพระฉิม
ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Nervilia aragoana Gaud. จัดอยู่ในวงศ์ :
ORCHIDACEAE เป็นไม้ล้มลุกลงหัวขนาดเล็ก ลำต้นงอกออกจากหัว ซึ่งเป็นสมุนไพรบำรุงกำลัง แก้โรคหัวใจ แก้จุกเสียดแน่นและแก้พิษไข้ ลักษณะพิเศษคือ จะออกส่วนของดอกก่อน เมื่อดอกโรยจะเป็นใบ ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงจะคุ้นกับบัวสันโดษที่เป็นใบแล้ว นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้และพืชสมุนไพรอีกมากมายหลายอย่าง เช่น กะเบาลิง สมพง ปออีเก้ง มะหาด มะไฟป่า สาบเสือ กระท่อมเขียว จันทน์ผา สลัดใด มะกา ซึ่งล้วนแต่เป็นพืชที่มีคุณสมบัติเป็นยาได้ จึงทำให้ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรอีกด้วย
กลับไปที่เนื้อหา
วีดิทัศน์ เรื่องหลุบยุบ
หุบป่าตาด ตั้งอยู่ใน ตำบลทุ่งนางาม อำเภอลานสัก จังหวัดอุทัยธานี อยู่ในความดูแลของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำประทุน ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ ประกาศให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ เนื่องจากมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่แปลก ด้วยพันธุ์ไม้ หายากหลายชนิด เช่น เต่าร้าง เปล้า คัดเค้าเล็ก ขนุนดิน โดยหุบป่าตาดมีลักษณะเป็นโถงถ้ำขนาดใหญ่ที่ภายในเต็มไปด้วยต้นตาดและพืชพันธุ์โบราณแปลกตา ถ้ำหุบป่าตาดถูกค้นพบโดยพระครูสันติธรรมโกศล (หลวงพ่อทองหยด) เจ้าอาวาสวัดถ้ำทอง เมื่อปี พ.ศ. 2522 ครั้งนั้นพระครูได้ปีนลงไปในหุบเขานี้แล้วพบว่ามีต้นตาดขึ้นเต็มไปหมด ซึ่งต้นตาดนั้นจัดเป็นไม้ดึกดำบรรพ์ตระกูลเดียวกับปาล์ม ท่านจึงได้เจาะถ้ำเพื่อเป็นทางเข้าไปสู่หุบป่าตาดนั้นในปี พ.ศ. 2527
พื้นที่ด้านในหุบป่าทั้งหมดประมาณ 7 ไร่ 2 งาน ในการเข้าไปจะมีบันไดและทางเดินปูน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึง ระยะทางเดินประมาณ 350 เมตร ไปกลับประมาณ 700 เมตร จุดเด่นและความพิเศษของที่นี่คือ เป็นพื้นที่ปิด ทำให้พันธุ์ไม้และสัตว์ต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบนิเวศแบบปิดเช่นนี้
หุบป่าตาด เป็นภูเขาหินปูนที่อยู่ในยุคเพอร์เมียน มีอายุมากกว่า 285 ล้านปี ซึ่งเป็นเทือกเขาชุดเดียวกับเทือกเขาจังหวัดราชบุรี ในภูเขาหินปูนจะมีลักษณภูมิประเทศแบบคาสต์ พื้นหินปูนถูกน้ำฝนชะละลายแร่ธาตุออกไปมากจนทำให้มีลักษณะตะปุ่มตะป่ำ และมีทางน้ำใต้ดินที่ละลายหินปูนแทรกซึมลงไป ในหินจะมีแร่ธาตุ 3 ชนิด ประกอบกัน คือ
- โดโลไมท์ (Dolomite) เป็นหินปูนชนิดหนึ่งที่มีส่วนประกอบของธาตุแคลเซียม (Ca) และแมกนีเซียม (Mg) โดโลไมท์มีลักษณะทางเคมีเป็น เบส
- ยิปซัม (Gypsum) หรือแร่เกลือจืด มีส่วนประกอบของ ซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ (SO3) แคลเซียมออกไซด์ (CaO) และน้ำ (H2O)
- หินเกลือ หรือ เกลือหิน (Rock Salt) เป็นแร่ตามธรรมชาติ ที่เกิดจากการตกตะกอนของน้ำทะเล
ภูเขาหินปูน ที่ถูกกัดเซาะจากน้ำฝนที่ทำปฏิกิริยาทางธรรมชาติจนกลายเป็นกรดคาร์บอนิกจนเกิดถ้ำ หินงอกหินย้อย และเกิดเป็นโพรง เมื่อสะสมเป็นเวลานานก็กลายเป็นโถงขนาดใหญ่ และเมื่อการกัดเซาะดำเนินต่อไป หลังคาถ้ำที่ต้องรับน้ำหนัก บวกกับผนังถ้ำที่บางลง ทำให้เพดานถ้ำ หรือหลังคาถ้ำพังถล่มลงมา เกิดเป็นหลุมยุบ หุบ ปล่อง หรือบ่อขนาดใหญ่ในภูเขา ซึ่งมีความสูงของขอบบ่อประมาณ 150-200 เมตร คนโบราณเรียกลักษณะแบบนี้ว่า หุบ อยู่ตามภูเขา แต่กระบวนการนี้ในทางธรณีวิทยาจะเรียกว่า หลุมยุบ หรือ Sink Hole
หินย้อยตามแสง จะต่างจากหินย้อยทั่วไปตรงที่ ปกติหินย้อยจะเป็นปรากฏการณ์น้ำฝนที่ซึมละลายหินปูนไหลย้อยลงมาเป็นแท่งตรงในแนวดิ่งตามการไหลของหยดน้ำ แต่หินย้อยตามแสงจะเอนเอียงแหงนขึ้นไปหาแสงแดด ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณปากถ้ำ เดิมก็เป็นหินย้อยปกติทั่ว ๆ ไป แต่พอหยดน้ำหินย้อยจากหินปูนเริ่มก่อตัว ก็จะเกิดพวกตะไคร่น้ำ หรือพืชชั้นต่ำมาเกาะตรงส่วนปลาย ซึ่งพืชพวกนี้ยังหาแสงเพื่อดำรงชีวิตอยู่ มันเลยค่อย ๆ ดึงน้ำหยดของหินย้อยปกติให้เอนเอียงขึ้นไปรับแสงเกิดเป็น “หินย้อยตามแสง”
หินงอกเอน แต่เดิมก็จะเหมือนหินงอกทั่วไป ที่เกิดจากหยดน้ำผ่านหินปูนจากหินย้อยค่อย ๆ หยดลงมาก่อตัวเป็นหินงอก ซึ่งตามปกติจะงอกตั้งตรงขึ้นตามการหยดของน้ำผ่านหินปูน แต่รอยแตกบนเพดานถ้ำที่น้ำหินปูนหยดลงมาเกิดการอุดตัน แต่ก็ยังมีรอยแตกที่อยู่ในแนวต่อเนื่องกันซึ่งยังมีน้ำหินปูนหยดลงมา นั่นจึงทำให้หยดน้ำหินงอกค่อย ๆ ไหลเอนเลื่อนไปตามลักษณะของหยดน้ำของน้ำหินย้อยที่เปลี่ยนแนวหยดไปเรื่อย ๆ เกิดเป็นเสา “หินงอกเอน”
กลับไปที่เนื้อหา
วีดิทัศน์ เรื่องพืชและสัตว์ในหุบป่าตาดตอน 1
ต้นตาด (Areaga penata) หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ต้นตาว” หรือ “ต้นต๋าว” เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลปาล์ม ลำต้นสูงตรง แต่ไม่สูงเท่าปาล์ม หรือหมาก ไม่แตกหน่อ ไม่มีกิ่งก้านสาขา มีปล้อง มีหนาม ชอบอากาศเย็น อากาศชื้นและแสงรำไร ชอบชั้นดินลึก มักขึ้นในภูเขาหินปูน จึงทำให้ต้นตาดเติบโตได้ดีภายในหุบเขานี้ และเมื่อแพร่พันธุ์ออกไป ร่มใบของตาดที่แผ่ออกไปก็จะยิ่งปกคลุมปิดบังแสงแดดที่ส่องมาน้อยอยู่แล้ว น้อยลงไปอีก ทำให้พืชชนิดอื่นๆ ไม่สามารถเติบโตได้ ตาดเลยครองพื้นที่เกือบทั้งหมดของหุบเขา แต่ขณะเดียวกัน ด้วยความที่ตาดชอบลักษณะเฉพาะแบบนี้ จึงทำให้เติบโตที่อื่นได้ลำบาก ถือเป็นพืชเฉพาะถิ่นที่หาได้ยาก และควรต้องอนุรักษ์ไว้ นอกจากตาดแล้วจะยังมีพืชอื่นๆ ที่ชื่นชอบเขาหินและอากาศแบบนี้ แต่มีเพียงไม่กี่ชนิด เช่น ต้นเต่าร้าง เปล้า ค้างค้าวเล็ก กะพง ยมหินและไทร ที่จะเห็นขึ้นแทรกบ้างประปราย และจะมีไม้ชั้นบน หรือไม้สูงโปร่งที่พบมากก็คือ ต้นกะพง หรือ ต้นสมพง เป็นไม้โตเร็ว ผิวบาง มีรากพูพอนที่ใหญ่สามารถยึดกับดินได้ดี และต้นกะเชา ผิวหนา เรียกว่าเป็นต้นเบิกนำ มีลักษณะสูง จะมีไม้ที่เกาะอิงอาศัย จะเป็นพวกตระกูล ตะเข็บ ตะขาบ ท้ายเฟิร์น
ในหุบป่าตาด ต้นไม้ทั้งหมดจะขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่อาจจะมีบางส่วนที่ทำเพิ่มเติม เช่น ทำโป่งเทียม เพื่อเพิ่มแร่ธาตุอาหารให้สัตว์ป่า ดินโป่ง หรือ พื้นที่แอ่งน้ำแก่สัตว์ป่าบางจุด ภายในหุบป่าตาด ยังมีพันธุ์ไม้และสมุนไพรที่น่าสนใจ อีกหลายชนิด ที่มีสรรพคุณใช้ในเป็นยา เช่น อี่หยุ่ม หรือ หญ้ารีแพร์ มีสรรพคุณใช้ในการรักษา ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ใบสาบเสือ มีสรรพคุณช่วยห้ามเลือด สมานแผล ม้ากระทืบโรง เป็นไม้เถาเลื้อย มีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต แก้อาการปวดเมื่อย
เกร็ดความรู้ : พูพอนคือรากค้ำยันของต้นไม้ ไม้พวกนี้อาจจะหยั่งรากลงไปไม่ได้ เพราะไปชนก้อนหิน จึงจำเป็นต้องสร้างฐานในการค้ำยัน เพื่อไม่ให้โค่นหรือล้ม เวลาที่เกิดหรือพายุพัดแรงๆ
วีดิทัศน์ เรื่องพืชและสัตว์ในหุบป่าตาดตอน 2
กิ้งกือมังกรสีชมพู หรือ Desmoxytes purpurosea ซึ่งเป็นสัตว์สายพันธุ์ใหม่ที่พบที่แรกในประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2550 และมีเพียงที่เดียวในโลก ซึ่งจะพบได้แค่ที่ หุบป่าตาด เท่านั้น
กิ้งกือมังกรสีชมพู ถูกค้นพบโดยสมาชิกในชมรมคนรักกิ้งกือ และศาสตราจารย์ดร.สมศักดิ์ ปัญหา นำมาศึกษาภายใต้โครงการวิจัยกิ้งกือและไส้เดือนดิน ร่วมกับ ศ.เฮนริค อิงฮอฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านกิ้งกือชนิดใหม่ของโลก และให้ชื่อวิทยาศาสตร์พร้อมได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ ซูแทกซา (Zootaxa) ตั้งแต่ปี 2550
กิ้งกือมังกรสีชมพู จัดอยู่ในวงศ์ กิ้งกือมังกร มีสีชมพูสดใสแบบช็อกกิงพิงก์ (shocking pink) มีลักษณะโดดเด่นด้วยลวดลายและปุ่มหนามคล้ายมังกร พบได้ในป่าที่มีความชุ่มชื้นสูงและอุดมสมบูรณ์ เมื่อโตเต็มวัยจะมีลำตัวยาวประมาณ 7 ซม. มีจำนวนปล้องราว 20-40 ปล้อง โดยในแต่ละปล้องจะมี 4 ขา ข้างลำตัวจะมีต่อมสำหรับขับสารพิษประเภทไซยาไนด์ออกมาเพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรูธรรมชาติ จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก เช่น หนู
ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ระหว่างทางเดิน ด้านข้าง ตามพื้น หรือใต้ต้นไม้ จะมองเห็นกิ้งกือสีชมพูตัวเล็กๆ หรือตามแอ่งน้ำข้างทางเดิน อาจจะเห็นก้อนสีชมพูเล็กๆ ลอยตัวอยู่บนผิวน้ำ นั่นก็คือตัวอ่อนของกิ้งกือมังกรสีชมพูนั่นเอง
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังวิดีทัศน์
มารู้จักกับหินปูน
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนนางอมรรัตน์ ช่างสลักผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนนางอมรรัตน์ ช่างสลักผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนนางอมรรัตน์ ช่างสลักผู้เขียนแผนการสอน
-
คำที่เกี่ยวข้อง