แหล่งเรียนรู้โรงงานแบตเตอรี่ทหาร
- 1. การแนะนำ
- 2. ความเป็นมา
- 3. การผลิตแบตเตอรี่: ขั้นตอนที่ 1 การหล่อแผ่นกริดและขั้วแบตเตอรี่
- 4. การผลิตแบตเตอรี่: ขั้นตอนที่ 2 การละเลง
- 5. การผลิตแบตเตอรี่: ขั้นตอนที่ 3 การฟอร์มแผ่นธาตุ
- 6. การผลิตแบตเตอรี่: ขั้นตอนที่ 4 การประกอบชุดแผ่นธาตุ
- 7. การผลิตแบตเตอรี่: ขั้นตอนที่ 5 การประกอบแบตเตอรี่
- 8. การผลิตน้ำกรดผสมสำหรับแบตเตอรี่
- 9. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแบตเตอรี่
- - ทุกหน้า -
โรงงานแบตเตอรี่ทหาร ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 552 ถนนสรรพาวุธ แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ เป็นเนื้อที่ให้เช่าแปลงแรก ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีพื้นที่กว่า 30 ไร่ สามารถเดินทางไปได้ โดยรถไฟฟ้า BTS สถานีอุดมสุข แล้วต่อรถสาธารณะไปตามถนนสุขุมวิท เลี้ยวขวาที่แยกบางนา เข้าสู่ถนนสรรพาวุธ และเลี้ยวขวาที่แยกสรรพาวุธ เข้าสู่ถนนทางรถไฟเก่าเพียง 200 เมตร ก็ถึงทางเข้าโรงงาน
กลับไปที่เนื้อหา
โรงงานแบตเตอรี่ทหาร ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 552 ถนนสรรพาวุธ แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพฯ เป็นเนื้อที่ให้เช่าแปลงแรก ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มีพื้นที่กว่า 30 ไร่ สามารถเดินทางไปได้ โดยรถไฟฟ้า BTS สถานีอุดมสุข แล้วต่อรถสาธารณะไปตามถนนสุขุมวิท เลี้ยวขวาที่แยกบางนา เข้าสู่ถนนสรรพาวุธ และเลี้ยวขวาที่แยกสรรพาวุธ เข้าสู่ถนนทางรถไฟเก่าเพียง 200 เมตร ก็ถึงทางเข้าโรงงาน
รูปที่ 2 รูปปั้น พลเรือจัตวา ประยูร พิณสวัสดิ์ (ซ้าย) และแผ่นประกาศคำยึดมั่นของครอบครัว 552 ซึ่งเป็นบ้านเลขที่ของโรงงาน (ขวา)
โรงงานแบตเตอรี่ทหาร เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่แห่งแรกของประเทศไทย มีรากฐานมาจาก “โรงซ่อมแบตเตอรี่” ที่มี พลเรือจัตวา ประยูร พิณสวัสดิ์ เป็นผู้ริเริ่มขึ้น โดยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าโรงซ่อมแบตเตอรี่ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2485 มีภารกิจซ่อมเปลี่ยนแบตเตอรี่เรือดำน้ำของกองทัพเรือที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็น “โรงงานแบตเตอรี่และสี กรมอู่ทหารเรือ” ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2491 ต่อมาใน พ.ศ.2498 จึงเปลี่ยนเป็น “องค์การแบตเตอรี่” อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงกลาโหม จนกระทั่งใน พ.ศ.2551 ได้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานเป็น “โรงงานแบตเตอรี่ทหาร” มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ และประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ โดยผลิตแบตเตอรี่เพื่อสนับสนุนการทหาร รวมถึงกิจการทางราชการต่างๆ เช่น การรถไฟ เป็นต้น นอกจากนี้ ในอดีต ยังมีการผลิตแบตเตอรี่เพื่อจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไป เพื่อช่วยถ่วงดุลราคาแบตเตอรี่ในท้องตลาดให้มีความเหมาะสม ป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภคได้ แต่ในปัจจุบัน มีผู้ผลิตแบตเตอรี่จำนวนมาก ราคาแบตเตอรี่จึงถูกถ่วงดุลด้วยกลไกการตลาด บทบาทถ่วงดุลราคาของโรงงานแบตเตอรี่ทหารจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป และเพื่อส่งเสริมภาคเอกชนต่างๆ โรงงานแบตเตอรี่ทหารจึงยุติการขายแบตเตอรี่ให้แก่ประชาชนทั่วไป
รูปที่ 3 ผลิตภัณฑ์จากโรงงานแบตเตอรี่ทหาร
โรงงานแบตเตอรี่ทหาร ผลิตแบตเตอรี่ชนิดตะกั่ว-กรด และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับแบตเตอรี่ เช่น น้ำกรดผสมและน้ำกลั่น สำหรับเติมแบตเตอรี่ โดยมีเครื่องหมายการค้า POWER ซึ่งผลิตทั้งแบตเตอรี่รถยนต์ทั่วไปและที่ใช้เฉพาะในราชการทหาร ประเภทรถถัง รถสายพานลำเลียงพล รถบรรทุกต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายเดียวในประเทศ นอกจากนี้ ยังผลิตแบตเตอรี่พิเศษ สำหรับแบตเตอรี่รถไฟ ที่ใช้สตาร์ทเครื่องยนต์หัวจักรรถไฟ ไฟส่องสว่าง และเครื่องปรับอากาศ โดยมีขนาด 6 และ 12 โวลต์ และความจุตั้งแต่ 35 - 200 แอมแปร์-ชั่วโมง หรือ Amp-hour (Ah)
โรงงานแบตเตอรี่ทหารก่อตั้งมานานกว่า 60 ปี มีหน้าที่ผลิตแบตเตอรี่และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนงานราชการทหาร สร้างความมั่นคงให้กับกองกำลังของชาติ ทั้งในยามสงบและในภาวะฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังเสริมสร้างความมั่นคงของการคมนาคมทางรถไฟให้มีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อความพัฒนาก้าวหน้าของประเทศไทยอย่างยั่งยืน
วีดิทัศน์เรื่องโรงงานแบบเตอรี่ทหาร
กลับไปที่เนื้อหา
โรงงานแบตเตอรี่ทหารแห่งนี้ ผลิตแบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรด ซึ่งอาศัยปฏิกิริยาระหว่างสารเคมีที่ประกอบด้วยตะกั่ว (Lead: Pb) กับกรดซัลฟิวริกหรือกรดกำมะถัน (Sulfuric acid: H2SO4) ที่เจือจางด้วยน้ำ ภายในแบตเตอรี่แผ่นธาตุบวกและแผ่นธาตุลบ จะถูกแช่อยู่ในน้ำกรดซัลฟิวริกเจือจาง โดยแผ่นธาตุบวกและลบ จะประกอบด้วยผงตะกั่วบดผสมกับสารเคมีต่างๆ ดังนั้น การทำให้ผงธาตุบวกและลบมีลักษณะเป็นแผ่นได้ จำเป็นต้องใช้แผ่นโครงตาข่ายที่เรียกว่า แผ่นกริด (grid) ช่วยยึดธาตุบวกและลบให้เป็นแผ่น นอกจากนี้ แผ่นกริดยังทำหน้าที่นำกระแสไฟฟ้าที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีออกมาอีกด้วย
รูปที่ 1 ภายแบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรด
การหล่อแผ่นกริด เริ่มต้นด้วยการหลอมแท่งตะกั่วผสม (Lead Antimony Alloy) ที่แต่ละแท่งหนักเกือบ 30 กิโลกรัม หลอมด้วยอุณหภูมิกว่า 450 องศาเซลเซียส ก่อนที่จะเทเข้าแบบหล่อ (mold) โดยรักษาอุณหภูมิไว้ประมาณ 200 องศาเซลเซียส เพื่อป้องกันการแข็งตัวของตะกั่ว ซึ่งเป็นสาเหตุให้ลวดลายแผ่นกริดไม่สมบูรณ์ แผ่นกริดที่โรงงานแบตเตอรี่ทหารทำการหล่อ มีทั้งแผ่นกริดบวกและลบ สำหรับรถยนต์และรถไฟ รวมทั้งหมด 4 แบบ แผ่นกริดเหล่านี้ มีความแตกต่างตั้งแต่วัสดุตั้งต้น กล่าวคือ แผ่นกริดแบตเตอรี่รถยนต์ จะหล่อจากตะกั่วผสม 2.75% ในขณะที่แผ่นกริดแบตเตอรี่รถไฟ จะหล่อจากตะกั่วผสม 3.5%
รูปที่ 2 แท่งตะกั่วผสม (Lead Antimony Alloy) และตะกั่วบริสุทธิ์ (Pure Lead)
รูปที่ 3 เครื่องหล่อแผ่นกริด (ซ้าย) และแบบหล่อแผ่นกริด (ขวา)
นอกเหนือจากวัสดุที่แตกต่างกันแล้ว แผ่นกริดยังมีรูปแบบลวดลายและความหนาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดขั้วไฟฟ้าของแผ่นกริดและประเภทของแบตเตอรี่ โดยแผ่นกริดของแบตเตอรี่สำหรับรถไฟจะมีความหนามากกว่าแผ่นกริดของแบตเตอรี่รถยนต์ เนื่องจากแบตเตอรี่รถไฟสามารถจ่ายประจุ หรือค่าแอมแปร์-ชั่วโมง (Amp-hour: Ah) มากกว่าแบตเตอรี่รถยนต์ นอกจากนี้ แผ่นกริดบวกยังมีความหนามากกว่าแผ่นกริดลบ เนื่องจากสารเคมีของแผ่นธาตุบวกหรือที่เรียกว่า เนื้อ paste แผ่นธาตุบวก มีปริมาณมากกว่าแผ่นธาตุลบ ทั้งนี้ ขณะเกิดปฏิกิริยาเคมีในแบตเตอรี่ แผ่นธาตุบวกจะมีการสึกกร่อนมากกว่าแผ่นธาตุลบ ดังนั้น เนื้อ paste แผ่นธาตุบวกจึงมีปริมาณมากกว่าแผ่นธาตุลบ
รูปที่ 4 ลักษณะของแผ่นกริดบวกและลบ ของแบตเตอรี่รถยนต์และรถไฟ
สำหรับรูปแบบหรือลวดลายของแผ่นกริด จะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ 2 ปัจจัย ได้แก่ (1) การส่งผ่านไฟฟ้า และ (2) การขยายตัวเนื่องจากความร้อนที่เกิดขึ้นขณะเกิดปฏิกิริยาเคมี ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. การส่งผ่านไฟฟ้าของแผ่นกริด
ในขั้นตอนการหล่อแผ่นกริดนั้น อาจเกิดความผิดพลาดที่ทำให้แผ่นกริดไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลถึงการนำกระแสไฟฟ้าที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมี การออกแบบแผ่นกริดให้มีลักษณะเป็นตาราง กระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นบริเวณที่ลวดลายขาด ยังคงสามารถเคลื่อนผ่านไปยังโครงตาข่ายด้านข้างได้ แตกต่างจากลวดลายที่มีลักษณะเป็นลูกกรง กระแสไฟฟ้าไม่สามารถผ่านบริเวณที่ลวดลายขาดได้ ทำให้ประสิทธิภาพการส่งผ่านไฟฟ้าของแผ่นกริดแบบลูกกรงน้อยกว่าแผ่นกริดแบบตาราง
รูปที่ 5 กระแสไฟฟ้าเคลื่อนผ่านแผ่นกริดแบบตาราง (ซ้าย) และลูกกรง (ขวา) ที่มีลวดลายไม่สมบูรณ์
2. การขยายตัวของแผ่น
ปฏิกิริยาเคมีภายในแบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรด ทำให้เกิดพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อน ความร้อนที่ขึ้นเกิดนี้ จะส่งผลให้แผ่นกริดเกิดการขยายตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ในการออกแบบแผ่นกริด จึงต้องคำนึงการเปลี่ยนรูปร่างของแผ่นกริดเมื่อได้รับความร้อน หากพิจารณาการเปลี่ยนรูปร่างของแผ่นกริดเมื่อเกิดการขยายตัว จะเห็นได้ว่า แผ่นกริดแบบลูกกรงอาจเกิดการบิดเบี้ยวได้มากกว่าแผ่นกริดแบบตาราง ซึ่งอาจทำให้แผ่นกริดเสียหาย หรือเกิดการลัดวงจรในแบตเตอรี่ได้
นอกจากการหล่อแผ่นกริด เพื่อนำไปทำเป็นแผ่นธาตุแล้ว ในขั้นตอนการหล่อนี้ ยังมีการหล่อขั้วแบตเตอรี่ประเภทต่างๆ ขั้วเชื่อมเซลล์ภายในแบตเตอรี่ และแท่งตะกั่วยาว โดยใช้ตะกั่วผสม 3.5% ทั้งหมดนี้ เป็นชิ้นส่วนที่เตรียมไว้สำหรับขั้นตอนการประกอบแผ่นธาตุเข้าหม้อแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นขั้นตอนเกือบจะท้ายๆ ของการผลิต
รูปที่ 6 ชิ้นส่วนอื่นๆ ที่หล่อเตรียมไว้ประกอบแบตเตอรี่
ในการขั้นตอนการหล่อนี้ เราจะทำการหลอมแท่งตะกั่วผสม เพื่อขึ้นรูปเป็นแผ่นกริดแบบต่างๆ และชิ้นส่วนสำหรับประกอบแบตเตอรี่ ซึ่งหลังจากขั้นตอนนี้ แผ่นกริดจะถูกนำไปทำเป็นแผ่นธาตุ ส่วนชิ้นส่วนอื่นๆ จะถูกเก็บไว้ เพื่อใช้ในขั้นตอนการประกอบแบตเตอรี่ต่อไป
วีดิทัศน์เรื่องขั้นตอนที่ 1 การหล่อแผ่นกริดและขั่วแบตเตอรี่
กลับไปที่เนื้อหา
เมื่อได้แผ่นกริด ที่มีลักษณะเป็นโครงตาราง จากขั้นตอนที่ 1 แผ่นกริดจะถูกนำมาฉาบด้วยสารเคมีที่ประกอบเป็นธาตุบวกและธาตุลบ หรือที่เรียกว่า เนื้อ paste ซึ่งจะทำให้เกิดปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมี โดยแต่ละธาตุจะมีสีของเนื้อสารแตกต่างกัน กล่าวคือ ธาตุบวกจะมีสีน้ำตาลแดง ส่วนธาตุลบจะมีสีเทา แผ่นกริดบวกจะถูกฉาบและอัดด้วยเนื้อสารของธาตุบวก ในทำนองเดียวกัน แผ่นกริดลบจะถูกฉาบและอัดด้วยเนื้อสารของธาตุลบ จากนั้น แผ่นกริดที่ฉาบด้วยเนิ้อสารจะถูกอบด้วยอุณหภูมิ 240 องศาเซลเซียส ประมาณ 1 นาที แผ่นกริดที่ผ่านกระบวนการนี้ จะถูกเรียกว่า แผ่นละเลง
รูปที่ 1 แผ่นกริดฉาบด้วยเนื้อ paste (ซ้าย) และแผ่นละเลงผ่านออกจากเตาอบ (ขวา)
แผ่นละเลงที่ผ่านการอบมาแล้ว จะถูกทำให้เย็นลงอย่างช้าๆ โดยการบ่ม (curing) ด้วยกระสอบชุบน้ำคลุมทิ้งไว้ 2 - 3 วัน เพื่อไม่ให้เนื้อสารแตกตัว จากนั้น ปล่อยให้แห้งประมาณ 3 – 4 วัน รวมเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งหลังจากกระบวนการทั้งหมดนี้ สีของแผ่นละเลงแต่ละธาตุยังคงแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
รูปที่ 2 การบ่ม (ซ้าย) และแผ่นละเลงบวกและลบ (ขวา)
เนื้อสารของธาตุบวกและธาตุลบ มีส่วนประกอบหลักๆ เหมือนกันนั่นคือ น้ำกลั่น ผงตะกั่วออกไซด์ (Lead oxides: PbO) กรดซัลฟิวริกเจือจาง หรือกรดกำมะถันเจือจาง (Sulfuric acid: H4SO4) และสารเคมีสูตรเฉพาะของแต่ละโรงงาน สำหรับเนื้อสารของธาตุลบ จะเติมส่วนผสมเพิ่มเติม ได้แก่ สารเพิ่มประสิทธิภาพ (Expander) และวาสลิน (vaseline หรือ ปิโตรเลียมเจลลี่)
ในขั้นตอนการเตรียมเนื้อสาร ตะกั่วบริสุทธิ์ 99.99% จะถูกนำมาบดเป็นผง เพื่อเตรียมเป็นผงตะกั่วออกไซด์ แล้วนำไปผสมกับส่วนผสมอื่นๆ ขั้นตอนการบด เริ่มต้นด้วยการหลอมตะกั่วบริสุทธิ์ แล้วหล่อใหม่เป็นแท่งขนาดเล็ก เพื่อนำเข้าเครื่องบดที่มีขนาดพอๆ กับบ้านหลังเล็กๆ ผงตะกั่วนี้ จะเป็นวัตถุดิบหลักของเนื้อสารทั้งธาตุบวกและธาตุลบ
รูปที่ 3 ขั้นตอนการบดผงตะกั่ว
ขั้นตอนการละเลง เนื้อสารของธาตุบวกและลบ จะถูกฉาบและอัดลงบนแผ่นกริด เมื่อผ่านกระบวนการนี้แล้ว เราจะเรียกว่า แผ่นละเลง ทั้งนี้ แผ่นละเลงบวกและแผ่นละเลงลบที่ได้จากกระบวนการนี้ ยังไม่สามารถเกิดปฏิกิริยาเคมี เพื่อกำเนิดไฟฟ้าและใช้ทำแบตเตอรี่ได้ จะต้องมีการเปลี่ยนรูปของสารเคมีบนแผ่นละเลงของแต่ละธาตุก่อน ด้วยขั้นตอนฟอร์มแผ่นธาตุ (formation) ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป
วีดิทัศน์เรื่องขั้นตอนที่ 2 การละเลง
กลับไปที่เนื้อหา
จากขั้นตอนการละเลงก่อนหน้านี้ สารเคมีที่อยู่ในแผ่นละเลงบวกและลบ จะอยู่ในรูปของตะกั่วออกไซด์ (lead oxide: PbO) และตะกั่วซัลเฟต (lead sulfate: PbSO4) เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่สามารถเกิดปฏิกิริยาเคมีเพื่อกำเนิดพลังงานไฟฟ้า จึงต้องเปลี่ยนรูปสารเคมีบนแผ่นละเลงทั้ง 2 ชนิด ด้วยกระบวนการฟอร์มแผ่นธาตุ โดยเริ่มจากแช่แผ่นละเลงทั้ง 2 ชนิด ลงในกรดซัลฟิวริกเจือจาง หรือกรดกำมะถันเจือจาง (sulfuric acid:PbSO4) ในขั้นตอนนี้ จะทำให้ PbO กลายเป็น PbSO4 ตามสมการ
*ใช้ H2SO4 ที่มีความถ่วงจำเพาะ(1) (specific gravity: SG) ในช่วง 1.040 ถึง 1.060
ขั้นตอนต่อไป ต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าเพื่อทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมี โดยจ่ายไฟฟ้ากระแสตรง 230 แอมแปร์ ใช้เวลาประมาณ 20 ชั่วโมง การเรียงแผ่นธาตุจะถูกใส่ในลงถังน้ำกรดซัลฟิวริกเจือจาง และจัดเรียงแบบเดียวกับแผ่นธาตุในแบตเตอรี่ คือ ให้แผ่นธาตุลบเป็นแผ่นแรกและแผ่นสุดท้าย แต่ละถังจะถูกเชื่อมต่อแบบอนุกรมด้วยสะพานเชื่อมไฟที่ทำมาจากตะกั่วบริสุทธิ์ สะพานเชื่อมไฟนี้ จะผุกร่อนไปเรื่อยๆ และต้องเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 1 ปี ขั้นตอนนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบนแผ่นละเลงบวกและลบ ดังนี้
- แผ่นละเลงบวก อิเล็กตรอนจะถูกดึงออกมา ทำให้ PbSO4 กลายเป็นตะกั่วไดออกไซด์ (lead dioxide: PbO2) ดังสมการ
( คือ e- อิเล็กตรอน และ H+ คือ ไฮโดรเจน ซึ่งมี 1 โปรตอน)
- แผ่นละเลงลบ อิเล็กตรอนจะเติมเข้าไป ทำให้ PbSO4 กลายเป็นตะกั่ว (Pb) ที่มีลักษณะพื้นผิวเป็นรูพรุน จึงเรียกว่า ตะกั่วพรุน (sponge lead) ซึ่งไปตามสมการ
รูปที่ 1 การจัดเรียงแผ่นละเลงในขั้นตอนการฟอร์มแผ่นธาตุ (ซ้าย) และแผ่นธาตุบวกและลบ ที่ได้จากการฟอร์มแผ่นธาตุ (ขวา)
แผ่นละเลงที่ผ่านขั้นตอนนี้แล้ว จะเรียกว่า แผ่นธาตุ การเปลี่ยนแปลงหลังจากขั้นตอนการฟอร์มแผ่นธาตุ สามารถสังเกตได้จากสีของแผ่นธาตุ โดยแผ่นธาตุบวกที่เปลี่ยนจากสีน้ำตาลแดงกลายเป็นสีดำหรือมีสีน้ำตาลแดงเข้มคล้ายสนิมเหล็ก ซึ่งสอดคล้องกับสีน้ำตาลของตะกั่วออกไซด์และสีน้ำตาลแดงเข้มของตะกั่วไดออกไซด์ ส่วนแผ่นธาตุลบ ยังคงมีสีเทาที่เป็นสีของตะกั่วทั่วไป
รูปที่ 2 ลักษณะของตะกั่วออกไซด์ (ซ้าย) และตะกั่วไดออกไซด์ (ขวา) [ที่มา: https://en.wikipedia.org]
ขั้นตอนหลังจากนี้ แผ่นธาตุจะถูกนำไปล้าง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญ โดยเฉพาะแผ่นธาตุลบ ที่ต้องแช่น้ำสะอาดทันที ให้สัมผัสอากาศน้อยที่สุด เพื่อป้องกันการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ แผ่นธาตุลบจะถูกล้างด้วยน้ำสะอาดจนกระทั่งมีค่า pH (ค่าแสดงความเป็นกรด-เบส) ประมาณ 5.0 ในทางตรงข้าม แผ่นธาตุบวกสามารถสัมผัสอากาศได้ และจะถูกแช่ลงในบ่อน้ำที่มีการอัดอากาศประมาณ 2 ชั่วโมง เพื่อล้างกรดออก และเพิ่มปริมาณตะกั่วไดออกไซด์บนผิวของแผ่นธาตุบวก
รูปที่ 3 การล้างแผ่นธาตุบวก (ซ้าย) และแผ่นธาตุลบ (ขวา)
ขั้นตอนสุดท้าย แผ่นธาตุที่ผ่านการล้างแล้วจะถูกนำมาอบ โดยแผ่นธาตุบวกที่มีความหนามากกว่า จะถูกอบด้วยอุณหภูมิ 110 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง 30 นาที สำหรับแผ่นธาตุลบจะใช้อุณหภูมิในการอบ 100 องศาเซลเซียส และใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง 30 นาที
รูปที่ 4 เครื่องอบแผ่นธาตุ
หลังจากขั้นตอนการฟอร์มแผ่นธาตุทั้ง 2 ชนิด ที่พร้อมนำไปประกอบเป็นแบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรด ที่อาศัยการเปลี่ยนรูปกลับไปกลับมาของตะกั่วไดออกไซด์และตะกั่วพรุน โดยมีกรดซัลฟิวริกเจือจางเป็นอิเล็กโทรไลต์ (electrolyte) ซึ่งมีความสัมพันธ์ตามสมการ ดังนี้
- อิเล็กโทรไลต์
- แผ่นธาตุบวก
- แผ่นธาตุลบ
สรุปรวมปฏิกิริยาเคมีที่เกิดในแบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรด
*ใช้ H2SO4 ที่มีความถ่วงจำเพาะ(1) (specific gravity: SG) ในช่วง 1.250
ขณะเกิดปฏิกิริยาเคมีนี้ จะได้ทั้งพลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน และแก๊สไฮโดรเจน ด้วยเหตุนี้ ฝาปิดช่องเติมน้ำกลั่นและน้ำกรดของแบตเตอรี่ จะต้องออกแบบให้สามารถระบายแก๊ส พร้อมกับป้องกันการระเหยของน้ำได้อีกด้วย
วีดิทัศน์เรื่องขั้นตอนที่ 3 การฟอร์มแผ่นธาตุ
เอกสารอ้างอิง
Kiessling, Reiner. "Lead Acid Battery Formation Techniques." Digatron Firing Circuits, Digatron (1992): 2.
กลับไปที่เนื้อหา
แผ่นธาตุบวกและลบที่ได้จากขั้นตอนการฟอร์มแผ่นธาตุ จะมีลักษณะเป็นคู่ ซึ่งไม่เหมาะสมกับการประกอบแบตเตอรี่ แผ่นธาตุจะต้องถูกตัดแบ่งเป็น 2 ส่วน พร้อมกับขัดใบหูแผ่นธาตุ สำหรับขั้นตอนนี้ ทั้งแผ่นธาตุบวกและลบ จะมีกระบวนการเหมือนกัน
รูปที่ 1 เครื่องตัดแผ่นธาตุ ทำหน้าที่ตัดแผ่นธาตุเป็น 2 ส่วน (ซ้าย) และขัดใบหูแผ่นธาตุ (ขวา)
แผ่นธาตุที่ถูกตัดแบ่งแล้ว จะถูกนำมาจัดเรียงประกอบเข้าเป็นเซลล์ไฟฟ้า แต่ละชุดเซลล์ไฟฟ้าจะเริ่มต้นและปิดท้ายด้วยแผ่นธาตุลบเสมอ ดังนั้น จำนวนแผ่นธาตุลบจะมากกว่าแผ่นธาตุบวก 1 แผ่นเสมอ ระหว่างแผ่นธาตุบวกและลบจะถูกขั้นด้วยแผ่นกั้น ซึ่งแผ่นกั้นสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์และรถไฟจะแตกต่างกัน แผ่นกั้นสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ ทำจาก Polyethylene (PE) ประกบกับใยแก้ว (fiberglass) สำหรับแบตเตอรี่รถไฟ ทำจากกระดาษประกบกับใยแก้ว แผ่นกั้นมีหน้าที่ป้องกันการลัดวงจรระหว่างแผ่นธาตุบวกและลบ ดังนั้น แผ่นกั้นจึงเป็นฉนวนไฟฟ้า โดยที่น้ำจะต้องซึมผ่านแผ่นกั้นได้ นอกจากนี้ แผ่นกั้นด้านที่เป็นใยแก้วจะหันเข้าประกบกับแผ่นธาตุบวก เนื่องจากแผ่นธาตุบวกจะมีการสึกกร่อนขณะเกิดปฏิกิริยาเคมี ใยแก้วบนแผ่นกั้นจะช่วยลดการตกตะกอนของเศษที่หลุดออกจากแผ่นธาตุบวก
รูปที่ 2 แผ่นกั้นสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์และรถไฟ
ขั้นตอนต่อไป ชุดแผ่นธาตุจะถูกจัดให้เป็นระเบียบด้วยการจัดบ่าหวีหรือเข้าหวี จากนั้น ใบหูของชุดแผ่นธาตุจะถูกหลอม ติดเข้ากับขั้วเชื่อมเซลล์ภายในแบตเตอรี่ เรียกขั้นตอนนี้ว่า ประสานเซลล์ ซึ่งจะได้เป็น 1 ชุดเซลล์
รูปที่ 3 ขั้นตอนการประกอบชุดเซลล์แบตเตอรี่
ชุดเซลล์แต่ละชุด สำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ จะประกอบด้วยแผ่นธาตุบวก 6 แผ่น และแผ่นธาตุลบ 7 แผ่น จัดเรียงสลับกันทำให้ได้คู่ของแผ่นธาตุบวกกับลบ โดยแต่ละคู่จะทำหน้าที่เสมือนกับแบตเตอรี่ขนาดเล็กที่ให้แรงเคลื่อนไฟฟ้า 2 โวลต์ หรือให้พลังงานไฟฟ้า 2 จูล แก่ประจุทุกๆ 1 คูลอมบ์ เมื่อใบหูแผ่นธาตุถูกเชื่อมติดกันในขั้นตอนประสานเซลล์ จะเสมือนเชื่อมแบตเตอรี่ขนาดเล็กด้วยการต่อแบบขนาน
รูปที่ 4 รูปแบบการเรียงแผ่นธาตุบวกและลบในชุดเซลล์
การจัดเรียงและเชื่อมแผ่นธาตุที่มีลักษณะเหมือนกันต่อแบตเตอรี่ขนาดเล็กขนานกันนี้ ทำให้แรงเคลื่อนไฟฟ้าจาก 1 ชุดเซลล์ มีค่า 2 โวลต์ ซึ่งเท่ากับคู่แผ่นธาตุบวกและลบ 1 คู่ ดังนั้น การเพิ่มจำนวนของคู่แผ่นธาตุในเซลล์ จะไม่ทำให้เกิดแรงเคลื่อนไฟฟ้ามากขึ้น แต่จะทำให้ 1 ชุดเซลล์ สามารถปล่อยประจุในปริมาณที่มากขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ แบตเตอรี่ที่มีค่าแอมแปร์ชั่วโมง (Ah) มาก ชุดเซลล์แต่ละชุดจะต้องมีจำนวนคู่แผ่นธาตุมากขึ้นด้วย
วีดิทัศน์เรื่องขั้นตอนที่ 4 การประกอบชุดแผ่นธาตุ
กลับไปที่เนื้อหา
การประกอบแบตเตอรี่ เป็นขั้นตอนที่ชุดเซลล์จะถูกบรรจุลงในเปลือกหม้อแบตเตอรี่ โดยจำนวนของชุดเซลล์ในแบตเตอรี่จะขึ้นอยู่กับแรงเคลื่อนไฟฟ้าที่ต้องการ โดยแต่ละชุดเซลล์จะให้แรงเคลื่อนไฟฟ้า 2 โวลต์ ดังนั้น แบตเตอรี่ที่มีแรงเคลื่อนไฟฟ้า 12 โวลต์ จะต้องมีชุดเซลล์ทั้งหมด 6 ชุด มาต่ออนุกรมกัน
รูปที่ 1 การจัดเรียกชุดเซลล์ภายในแบตเตอรี่ขนาด 12 โวลต์
ในขณะที่ความสามารถในการจ่ายประจุหรือค่าแอมแปร์ชั่วโมง (Ah) ขึ้นอยู่กับจำนวนแผ่นธาตุของแต่ละชุดเซลล์ กล่าวคือ จำนวนแผ่นธาตุยิ่งมาก ค่าแอมแปร์ชั่วโมงจะมีค่ายิ่งมากขึ้นด้วย โดยค่าแรงเคลื่อนไฟฟ้าแต่ละชุดเซลล์ ยังคงมีค่า 2 โวลต์เท่าเดิม เนื่องจากแผ่นธาตุบวกและลบในชุดเซลล์เชื่อมต่อกันแบบขนานกัน จึงเสมือนกับนำแบตเตอรี่ขนาดเล็กมาต่อขนานกันนั่นเอง
รูปที่ 2 การเรียงแผ่นธาตุในชุดเซลล์ (ซ้าย) และการเปรียบเทียบค่าแอมแปร์ชั่วโมงกับจำนวนแผ่นธาตุ (ขวา)
เมื่อบรรจุชุดเซลล์ลงในเปลือกหม้อแบตเตอรี่ตามค่าแรงเคลื่อนไฟฟ้าที่ต้องการ ขั้นตอนต่อไป ชุดเซลล์ภายในแบตเตอรี่จะถูกตรวจการลัดวงจร (short circuit) ผ่านจากขั้นตอนนี้ ขั้วของแต่ละชุดเซลล์จะถูกเชื่อมติดกันด้วยความร้อน (hot spot melting) จากนั้น เปลือกหม้อแบตเตอรี่จะถูกปิดผนึก ด้วยเทคนิค heat sealing ซึ่งขอบเปลือกหม้อและขอบฝาเปลือกหม้อถูกหลอมละลาย แล้วถูกกดให้ติดกันอย่างรวดเร็ว ขณะที่ทั้ง 2 ส่วน ยังหลอมเหลวอยู่ ทำให้สามารถปิดฝาเปลือกหม้อได้อย่างสนิท ขั้นตอนต่อไป ขั้วแบตเตอรี่จะถูกหลอมใหม่ให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นเล็กน้อย และขั้นตอนสุดท้าย แบตเตอรี่จะถูกตรวจสอบการรั่ว โดยใช้อากาศอัดเข้าไปในแบตเตอรี่ หากหม้อแบตเตอรี่มีการรั่ว ความดันอากาศที่อัดเข้าไปจะมีค่าลดลง แบตเตอรี่ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบทั้งหมด จะถูกตอกเลขทะเบียน (serial number) เพื่อรอจัดจำหน่ายต่อไป
วีดิทัศน์เรื่องขั้นตอนที่ 5 การประกอบแบตเตอรี่
กลับไปที่เนื้อหา
โดยทั่วไป แบตเตอรี่ที่ผลิตจากโรงงานจะยังไม่เติมน้ำกรดผสมลงไปภายใน จึงยังไม่สามารถให้พลังงานไฟฟ้าได้ ซึ่งปฏิกิริยาเคมีที่เกิดขึ้นในแบตเตอรี่ จะต้องอาศัยกรดซัลฟิวริกเจือจาง (sulfuric acid: ) หรือที่เรียกว่า น้ำกรดผสม เป็นอิเล็กโทรไลต์ (electrolyte) โดยพลังงานไฟฟ้าจะเกิดขึ้น ขณะที่กรดซัลฟิวริก ทำปฏิกิริยาเปลี่ยนตะกั่วบริสุทธิ์ (Pb) และตะกั่วไดออกไซด์ (lead dioxide: PbO2) กลายเป็นตะกั่วซัลเฟต (lead sulfate: PbSO4) ดังสมการ
ดังนั้น ก่อนนำแบตเตอรี่ไปใช้ จะต้องเติมน้ำกรดผสมหรือกรดซัลฟิวริกเจือจาง แล้วอัดประจุหรือชาร์จไฟ (charge) ตามระยะเวลาที่กำหนด
การผลิตน้ำกรดผสม ขั้นตอนแรก กรดซัลฟิวริกเข้มข้นที่มีความถ่วงจำเพาะ(1) (specific gravity: SG) ประมาณ 1.840 จะถูกเติมลงในน้ำกลั่น (distilled water) ด้วยการอัดอากาศลงไปในถังกรดซัลฟิวริกเข้มข้น ดันน้ำกรดให้ไหลไปตามท่อเข้าสู่ถังน้ำบริสุทธิ์ขนาด 1000 ลิตร นอกจากนี้ ยังใช้การอัดอากาศในการผสมกรดกับน้ำกลั่นอีกด้วย กรดจะถูกเติมจนกระทั่งได้น้ำกรดผสมที่มีความถ่วงจำเพาะ 1.250 ที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียส ซึ่งความเข้มข้นของน้ำกรดผสม จะถูกตรวจสอบด้วยอุปกรณ์วัดความถ่วงจำเพาะ (hydrometer) หากความถ่วงจำเพาะของน้ำกรดผสมมีค่าน้อยกว่า 1.250 แสดงว่า น้ำกรดผสมมีความเข้มข้นน้อยไป ในทางตรงข้าม หากความถ่วงจำเพาะของน้ำกรดผสมมีค่ามากกว่า 1.250 แสดงว่า น้ำกรดผสมมีความเข้มข้นมากไป
รูปที่ 1 การผสมน้ำกรดซัลฟิวริกเจือจาง (ซ้าย) และการตรวจความเข้มข้นของน้ำกรดผสม (ขวา)
การผสมน้ำกรดเจือจาง มีข้อควรระวัง คือ ไม่ควรเติมน้ำกลั่นลงในน้ำกรด แต่ควรค่อยๆ เติมกรดลงในน้ำกลั่น เพื่อป้องกันไอกรดเข้มข้นที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากความร้อนที่เกิดขึ้นขณะเกิดปฏิกิริยาเคมีระหว่างน้ำกลั่นกับกรดซัลฟิวริกเข้มข้น อย่างไรก็ตาม ในระหว่างขั้นตอนการผลิต ยังคงมีไอของน้ำกรดผสมเกิดขึ้น ดังนั้น ผู้ปฏิบัติการ จึงต้องสวมชุดป้องกันตลอดขั้นตอนการผลิต น้ำกรดผสมที่ผลิตได้ จะถูกส่งผ่านท่อ uPVC (unplasticized polyvinyl chloride) หรือที่รู้จักกันว่า ไวนิล (vinyl) ซึ่งเป็นวัสดุทนต่อการกัดกร่อนจากสารเคมี นอกจากนี้ ยังต้องมีอ่างสำหรับล้างตาและฝักบัวล้างตัว เตรียมไว้ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ
รูปที่ 2 การแต่งกายขณะทำงาน
นอกจาก การผลิตน้ำกรดผสมแล้ว โรงงานแบตเตอรี่ทหารแห่งนี้ ยังผลิตน้ำกลั่นสำหรับเติมแบตเตอรี่อีกด้วย สำหรับขั้นตอนการผลิตน้ำกลั่น จะคล้ายกับเครื่องกรองน้ำที่ใช้ตามบ้านทั่วไป แต่มีขนาดใหญ่กว่า และมีไส้กรองหลากหลายชนิด เช่น ไส้กรองหยาบ (pisin) ไส้กรองเรซิ่น (resin) ไส้กรองคาร์บอน (carbon) และ ไส้กรองแอนทราไซต์ (anthracite) เป็นต้น ความบริสุทธิ์ของน้ำกลั่นบอกได้จากค่าสภาพต้านทานไฟฟ้า(2) (electrical resistivity) โดยค่าสภาพต้านทานไฟฟ้ายิ่งมาก น้ำกลั่นยิ่งบริสุทธิ์มาก สำหรับน้ำกลั่นที่ผลิตจะมีค่าสภาพต้านทานไฟฟ้า 0.2 เมกะโอห์ม·เซนติเมตร หรือ 200 กิโลโอหม์·เซนติเมตร
รูปที่ 3 น้ำกรดผสม (ขวดสีแดง) น้ำกลั่น (ขวดสีน้ำเงิน) และเครื่องกรองน้ำสำหรับผลิตน้ำกลั่น (ขวา)
วีดิทัศน์เรื่องการผลิตน้ำกรดผสมแบตเตอรี่
กลับไปที่เนื้อหา
โรงงานแบตเตอรี่ทหารมีผลิตภัณฑ์หลายประเภท อาทิเช่น แบตเตอรี่สำหรับรถยนตร์ แบตเตอรี่สำหรับรถไฟ น้ำกรดผสม และน้ำกลั่น เป็นต้น แบตเตอรี่ที่ผลิตออกจากโรงงานโดยทั่วไป จะเป็นแบตเตอรี่ที่ยังไม่ได้เติมน้ำกรด ซึ่งทำให้สามารถเก็บรักษาแบตเตอรี่เพื่อรอจำหน่ายได้นาน
รูปที่ 1 ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากโรงงานแบตเตอรี่ทหาร
ในการเริ่มใช้แบตเตอรี่ครั้งแรก จะต้องเติมน้ำกรดผสมลงในแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นการเติมเพียงครั้งเดียวตลอดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ หลังจากนั้น แบตเตอรี่จะถูกอัดประจุไฟฟ้าหรือชาร์จไฟฟ้า โดยควรใช้เวลาชาร์จไฟฟ้าให้นานที่สุด และการใช้กระแสไฟฟ้าให้น้อยที่สุด ซึ่งในการปฏิบัติงานจะใช้กระแสไฟฟ้าในการชาร์จมีค่าประมาณร้อยละ 10 ของค่าแอมแปร์ชั่วโมง (Ah) ของแบตเตอรี่ ยกตัวอย่างเช่น แบตเตอรี่ที่มีค่าแอมแปร์ชั่วโมงเท่ากับ 70 จะถูกชาร์จด้วยกระแสไฟฟ้า 7 แอมแปร์ เป็นเวลา 10 ชั่วโมง เป็นต้น การชาร์จไฟฟ้านี้ เป็นการกระตุ้นปฏิกิริยาเคมีภายในแบตเตอรี่ที่มีน้ำกรดผสม ในขณะที่เกิดปฏิกิริยาเคมี จะเกิดความร้อนขึ้นด้วย อุณหภูมิภายในแบตเตอรี่จึงมีค่าเพิ่มขึ้น และเกิดแก๊สต่างๆ รวมถึงไอระเหยของน้ำกรดผสมภายในแบตเตอรี่ด้วย ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ความดันภายในแบตเตอรี่สูงเกินไป จึงควรเป็นเปิดฝาช่องเติมน้ำกลั่นของแบตเตอรี่ในขณะที่ชาร์จไฟฟ้าด้วย หลังจากการชาร์จไฟฟ้าครั้งแรก แบตเตอรี่จะมีอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยประมาณ 2 ปี หลังจากนั้น แผ่นธาตุภายในแบตเตอรี่จะเริ่มเสื่อมคุณภาพ ทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีลดลง ส่งผลให้ไม่สามารถกักเก็บและปล่อยพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รูปที่ 2 การอัดประจุไฟฟ้าครั้งแรกให้กับแบตเตอรี่
แบตเตอรี่นั้น มีอยู่หลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับค่าแรงเคลื่อนไฟฟ้า และค่าแอมแปร์ชั่วโมง ทั้งนี้ ค่าแรงเคลื่อนไฟฟ้า จะมีค่าขึ้นอยู่กับจำนวนชุดเซลล์ภายในแบตเตอรี่ โดยชุดเซลล์ 1 ชุด จะให้แรงเคลื่อนไฟฟ้า 2 โวลต์ สำหรับค่าแอมแปร์ชั่วโมง จะมีค่าขึ้นอยู่จำนวนแผ่นธาตุในแต่ละชุดเซลล์ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า แบตเตอรี่ที่มีแรงเคลื่อนไฟฟ้าเพียง 2 โวลต์ แต่มีค่าแอมแปร์ชั่วโมงมาก แบตเตอรี่จะมีขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผลจากแผ่นธาตุต่อ 1 ชุดเซลล์ มีจำนวนมากนั่นเอง อันที่จริงแล้ว ค่าแอมแปร์ชั่วโมงนั้น มีค่าเท่ากับค่าของประจุไฟฟ้าหรือคูลอมบ์ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากการเปลี่ยนหน่วย ดังนี้
* เครื่องหมาย [ ] หมายถึง การพิจารณาเฉพาะหน่วยของปริมาณ
โดยที่ แอมแปร์ เป็นหน่วยของกระแสไฟฟ้า ซึ่งคำนวณจากปริมาณประจุไฟฟ้าที่ผ่านเส้นลวดใน 1 วินาที ดังนั้น แอมแปร์ จึงเท่ากับ คูลอมบ์ต่อวินาที และเปลี่ยนหน่วยของเวลาจากชั่วโมงเป็นวินาที จะได้ว่า เมื่อนำแอมแปร์คูณกับชั่วโมง จะมีค่าเท่ากับ คูลอมบ์ นั่นเอง และเมื่อค่าแรงเคลื่อนไฟฟ้าของแบตเตอรี่คูณกับค่าแอมแปร์ชั่วโมง จะได้ค่าพลังงานที่แบตเตอรี่สามารถจ่ายได้ ซึ่งสามารถพิจารณาได้จากการเปลี่ยนหน่วย ดังนี้
ตารางที่ 1 ขนาดแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์และรถไฟ
สำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ ในปัจจุบันนี้ แบตเตอรี่รถยนต์ได้รับการออกแบบให้มีการใช้งานที่สะดวก สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ แบบเติมน้ำ แบบลูกผสม และแบบ MF (Maintenance Free) โดยแบตเตอรี่แต่ละประเภท จะมีหลักการพื้นฐานเหมือนกันทั้งหมด คือ ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากปฏิกิริยาเคมี ตะกั่ว-กรด แต่มีความแตกต่างกัน ในการออกแบบฝาปิดหม้อแบตเตอรี่ ดังนี้
- แบตเตอรี่แบบเติมน้ำ หรือแบบดั้งเดิม (ชื่อในท้องตลาด “แบตฯ น้ำ”) เป็นแบตเตอรี่ที่ต้องดูแลเติมน้ำกลั่น เพื่อรักษาระดับและความเข้มข้นของน้ำกรดให้เหมาะสมอยู่เสมอ ดังนั้น ฝาปิดหม้อแบตเตอรี่จึงออกแบบให้มีช่องเปิดสำหรับเติมน้ำกลั่น
- แบตเตอรี่แบบลูกผสม หรือ แบตเตอรี่แบบ Hybrid ฝาปิดหม้อแบตเตอรี่ได้รับการออกแบบ ให้ลดปริมาณการรั่วไหลของไอน้ำที่เกิดจากปฏิกิริยาเคมีภายในแบตเตอรี่ จึงไม่ต้องดูแลเติมน้ำกลั่น
- แบตเตอรี่แบบ MF อาจเรียกว่า แบบ SMF (Sealed Maintenance Free) หรือ แบบ VRLA (Valve Regulated Lead Acid) ขึ้นอยู่กับความนิยมที่จะเรียกในแต่ละประเทศ แต่ละในประเทศไทย นิยมเรียกแบตเตอรี่แบบนี้ว่า แบตฯ แห้ง ทั้งที่ในความจริงแล้ว แบตเตอรี่ประเภทนี้ ยังคงต้องใช้น้ำกรดผสมในการทำปฏิกิริยาเคมีเหมือนกับแบตเตอรี่แบบตะกั่ว-กรด ทั่วไป สาเหตุที่แบตเตอรี่แบบนี้ถูกเรียกว่า แบตฯ แห้ง นั้น เนื่องจาก ฝาปิดหม้อของแบตเตอรี่แบบนี้ ได้รับการออกแบบให้ไม่มีการรั่วซึมของไอน้ำออกจากแบตเตอรี่ ดังนั้น ระดับและความเข้มข้นของน้ำกรดภายในแบตเตอรี่ จึงมีค่าเหมาะสมอยู่เสมอ ซึ่งตรงกับคำว่า Valve Regulated ในภาษาอังกฤษ สำหรับคำว่า แบตฯ แห้งนั้น มาจากขั้นตอนการดูแลแบตเตอรี่ประเภทนี้ ที่ไม่ต้องเติมน้ำกลั่นเลยตลอดอายุการใช้นั่นเอง
วีดิทัศน์เรื่องความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแบตเตอรี่
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังรูปภาพ
ชื่อ Galleryการหล่อแผ่นกริดGalleryชื่อ Galleryการหล่อขั้วแบตเตอรี่Galleryชื่อ Galleryการละเลงแผ่นธาตุGalleryชื่อ Galleryการฟอร์มแผ่นธาตุGalleryชื่อ Galleryการล้างแผ่นธาตุGalleryชื่อ Galleryการอบแผ่นธาตุGalleryชื่อ Galleryการประกอบแบตเตอรี่Galleryชื่อ Galleryการประจุไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่Galleryชื่อ Galleryการผสมน้ำกรดแบตเตอรี่Galleryชื่อ GalleryภาพพาโนรามาGallery
-
คลังวิดีทัศน์
โรงงานแบตเตอรี่ทหาร
ขั้นตอนที่ 1 การหล่อแผ่นกริดและขั้วแบตเตอรี่
ขั้นตอนที่ 2 การละเลงแผ่นธาตุ
ขั้นตอนที่ 3 การฟอร์มแผ่นธาตุ
ขั้นตอนที่ 4 การประกอบชุดแผ่นธาตุ
ขั้นตอนที่ 5 การประกอบแบตเตอรี่
การผลิตน้ำกรดผสมแบตเตอรี่
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแบตเตอรี่
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนนายประภาส สุขสุทธิ์ผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนนางสาวกาญจนา ขุนนาคผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนนางสาวกิติยา ลาภปฏิมาพรผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนนายอินยัต เตาวะโตผู้เขียนแผนการสอน
-
คำที่เกี่ยวข้อง