แหล่งเรียนรู้สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
สถานเสาวภาได้ก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2465 มีความเจริญรุ่งเรืองมากในอดีต สถานเสาวภามุ่งมั่นที่จะสนองพระปณิธาน “ เพื่อปิตุภูมิ เพื่อวิทยา เพื่อมนุษย์ชาติ” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวผู้ทรงสถาปนาสถาบันนี้ ด้วยการผลิต การวิจัยและการบริการที่มีคุณภาพ แม้ประวัติของสถานเสาวภาจะเริ่มด้วยโรคพิษสุนัขบ้า แต่ภารกิจของสถาบันครอบคลุมการผลิตเซรุ่มแก้พิษงู เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ อย่างกว้างขวาง มิได้เจาะจงวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแต่อย่างเดียว มีการค้นคว้าในเรื่องสัตว์พิษและพืชพิษร่วมด้วย
กลับไปที่เนื้อหา
ตัวชี้วัด
1. ชนิดและหน้าที่ของวัคซีนและเซรุ่มที่สำคัญสำหรับประชากรในวัยต่าง ๆ
2. การวางแผนเพื่อพัฒนาสุขภาพ การนำความรู้เกี่ยวกับวัคซีนและเซรุ่มไปใช้ในการดูแลรักษาสุขภาพจากโรคร้ายแรง
3. ศึกษาธรรมชาติของสัตว์มีพิษประเภทต่าง ๆ สัณฐานวิทยาและกายวิภาคที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต
จุดประสงค์การเรียนรู้
- อธิบายการตอบสนองของร่างกายในการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อไม่ให้ติดเชื้อโรคร้ายแรง
- ทราบความสำคัญ วิธีการป้องกันและดูแลสุขภาพด้วยการฉีดวัคซีนที่จำเป็นเพื่อการมีสุขภาพที่ดี
- ทราบวิธีการป้องกันต้นเองจากภาวะเสี่ยงจากการติดเชื้อโรคที่สำคัญอย่างโรคพิษสุนัขบ้า
- ทราบเกี่ยวกับธรรมชาติของสัตว์พิษ และป้องกัน หรือหลีกเลี่ยงตนเองจากการได้รับอันตราย
- เข้าใจขั้นตอน การจัดการ การดูแล การให้คำแนะนำ การปฏิบัติตนและปฏิบัติต่อผู้อื่นจากภาวะเสี่ยงในการติดเชื้อโรค รวมถึงพิษจากสัตว์ต่าง ๆ
- ทราบวิธีการค้นคว้าเพื่อหาข้อมูล หรือศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันและดูแลสุขภาพ
กลับไปที่เนื้อหา
ในปี พ.ศ. 2454 เกิดเหตุการณ์น่าสลด เมื่อหม่อมเจ้าหญิงบันลุศิริสาร ดิศกุล พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ถูกสุนัขบ้ากัด และต่อมามีอาการโรคพิษ-สุนัขบ้ากำเริบจนถึงแก่ชีพิตักษัยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งในขณะนั้นการรักษาโรคพิษสุนัขบ้าด้วยวิธีการแพทย์แผนใหม่ยังไม่มีในประเทศ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระบรมราชานุญาต แล้วประกาศบอกบุญเรี่ยไร เงินทุนที่จะจัดตั้ง “สถานปาสเตอร์”ขึ้นในกรุงเทพ มีผู้มีจิตศรัทธาช่วยกันเป็นจำนวนมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ จึงได้จัดตั้งขึ้นที่ตึกของกระทรวงมหาดไทย ถนนบำรุงเมือง ใกล้โรงเลี้ยงเด็ก (บริเวณที่เป็นสถานที่ตรวจโรคปอด กองควบ-คุมวัณโรคในปัจจุบัน ) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปทรงทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2456 ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย ทำการผลิตวัคซีนและให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จนกระทั่งเดือนสิงหาคม พ.ศ.2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้กิจการของสถานปาสเตอร์ มาสังกัดสภากาชาดไทยภายใต้ชื่อกองวิทยาศาสตร์ สภากาชาดไทย แต่ยังคงอาศัยสถานที่เดิม เป็นที่ทำการชั่วคราว
เนื่องในการถวาย พระราชทานเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2463 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนึงถึงพระคุณูปการของสมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงพระราชปรารภใคร่จะสร้างสิ่งซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ให้ยั่งยืนอยู่ในประเทศไทย เพื่อเป็นที่เชิดชูพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชชนนี คู่กันกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อันเป็นสถานที่เฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกาธิราช จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์มอบให้สภากาชาดไทย เพื่ออำนวยการสร้างตึกหลังใหญ่หลังหนึ่งที่มุมถนนสนามม้าติดต่อกับถนนพระราม 4 เพื่อใช้เป็นที่ทำการแห่งใหม่ของกองวิทยา-ศาสตร์ สภากาชาดไทย
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสถานที่แห่งใหม่นี้ว่า "สถานเสาวภา" และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2465
วีดิทัศน์เรื่อง สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
กลับไปที่เนื้อหา
ประเทศไทยเป็นประเทศภูมิอากาศเขตร้อนที่เหมาะสมกับการอาศัยของงูพิษหลายชนิด มีกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งงูพิษที่กัดจะทำให้เกิดพิษต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายตามชนิดของงูพิษ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พบผู้ป่วยจากการถูกงูพิษกัดในอัตราที่สูงถือว่าเป็นปัญหาทางสาธารณะสุขรูปแบบหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เองจึงควรมีการให้ความรู้และเตือนประชาชนรวมถึงการเฝ้าระวังการถูกงูพิษกัดอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้มีการตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำหน้าที่ในการให้บริการในหลายรูปแบบ การศึกษาและรวบรวมความรู้ทางด้านวิชาการเพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงู
สวนงู (Snake farm) ตั้งอยู่ภายในสถานเสาวภา บริเวณสภากาชาดไทย เป็นสถานที่จัดงานบริการสำหรับประชาชน นักท่องเที่ยว หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงสถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นการบริการทางด้านวิชาการเกี่ยวกับงู เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้
ภายในสวนงูมีการจัดแสดงงูหลายชนิด โดยเปิดให้บริการภายในเวลา
จันทร์-ศุกร์ เวลา 9:30 – 15:30 น.
เสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 9:30 – 13:00 น.
อาคารสี่มะเส็ง เป็นอาคารที่ตั้งอยู่ภายในสวนงู เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการสำหรับงูพิษชนิดสำคัญ ๆ ที่พบได้บ่อยในประเทศไทย และรวมถึงงูไม่มีพิษที่มีประโยชน์และน่าสนใจอีกด้วย โดยการจัดแสดงงูเป็นการเลี้ยงงูที่จำลองแหล่งอาศัยตามสภาพธรรมชาติของงูแต่ละชนิด โดยมีการนำเสนอรายละเอียดทางวิชาการทั้งในด้านถิ่นที่อยู่ อาหาร และอันตรายที่เกิดจากพิษของงู โดยแบ่งเป็นส่วนจัดแสดง ดังนี้
ชั้นที่ 1 ด้านหน้าของส่วนจัดแสดงภายในอาคารจะพบป้ายสัญลักษณ์ง่าย ๆ สั้น ๆ เพื่อแสดงความหมายที่เกี่ยวข้องกับงู ช่วยทำความเข้าใจได้โดยใช้เวลาเพียงไม่นาน ซึ่งจะแบ่งประเภทของงูออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
1. แบ่งตามพิษของงู ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ พิษร้ายแรง พิษอ่อน และไม่มีพิษ
2. แบ่งตามภูมิภาคที่พบตามแผนที่ประเทศไทย
3. แบ่งตามถิ่นที่อยู่อาศัย
4. แบ่งตามช่วงเวลาออกหากิน ได้แก่ กลางวันและกลางคืน
5. แบ่งตามลักษณะการออกลูก ได้แก่ ออกลูกเป็นไข่และออกลูกเป็นตัว
ด้านในเป็นการแสดงงูชนิดต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ เช่น
1. งูทับสมิงคลา เป็นงูที่ถูกนำพิษมาใช้ในการผลิตเซรุ่ม เนื่องจากพิษของงูชนิดนี้ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ดังนั้น ผู้ที่ถูกกัดจึงมักเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว มักถูกกัดเวลากลางคืน มีพิษรุนแรง และมีการออกลูกเป็นไข่
2. งูเห่าไทย พบเจอทั่วทุกภาค พบผู้เสียชีวิตสูงสุดในประเทศไทย มีพิษออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท การปฐมพยาบาล รีบนำส่งสถานพยาบาล
3. งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง ใช้สำหรับผลิตเซรุ่ม
นอกจากนี้ ภายในชั้นที่ 1 ยังมีห้องสาธิตการรีดพิษงูซึ่งสามารถบรรจุผู้ชมได้ประมาณ 100 คน ซึ่งการรีดพิษงู มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. การจับงู ควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี
2. การรีดพิษ ซึ่งน้ำพิษที่รีดออกมาได้ เรียกว่า พิษสด โดยการรีดพิษจะแยกทำเป็นรายชนิดของงู เมื่อได้พิษสดมากพอปริมาณหนึ่งแล้ว จึงนำพิษที่ได้ไปทำให้แห้งเพื่อเก็บในรูปผงสำหรับใช้ในอนาคต
3. การผลิตเซรุ่ม เป็นโปรแกรมการฉีดพิษเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในม้า เพื่อสร้างภูมิต้านทาน จากนั้นจะเก็บเลือดม้าในปริมาณมากเพื่อนำพลาสมาในเลือดไปทำเซรุ่ม
ชั้นที่ 2 เป็นการจัดแสดงนิทรรศการงู โดยให้ความรู้เกี่ยวกับงู แบ่งพื้นที่นิทรรศการออกเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
- ส่วนจัดแสดงสัณฐานวิทยา ได้แก่ โครงกระดูก จึงทำให้เห็นว่างูเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีกระดูกสันหลัง เช่น โครงกระดูกงูเห่าไทย มีความโดนเด่นตรงบริเวณแผงคอที่มีส่วนกระดูกกว้างที่สุด จึงทำให้แผ่แม่เบี้ยได้ เพราะในขณะที่แผ่แม่เบี้ย หนังในบริเวณแผงคอจะตึงและขึงออกไปได้กว้าง นอกจากนี้ จะเห็นว่างูเห่าไทยเป็นงูที่มีเขี้ยวพิษสั้น โดยเขี้ยวมีการจัดเรียงตัว แบบด้านบน 4 แถว และด้านล่าง 2 แถว
- ส่วนจัดแสดงกายวิภาคของงู (Snake anatomy) จึงทำให้ทราบว่า งูเป็นสัตว์ที่ไม่มีใบหู รับเสียงจากแรงสั่นสะเทือนที่พื้นโดยใช้กระดูกในส่วนของหูชั้นใน และตาของงูไม่มีเปลือกตาจึงทำให้เห็นว่างูลืมตาตลอดเวลา
- ส่วนจัดแสดงการลอกคราบของงู เกิดจากการหลุดลอกของผิวหนังชั้นนอกสุดที่เสื่อมสภาพและตายไป จากนั้นผิวหนังชั้นในจะขึ้นมาทดแทน
- ส่วนจัดแสดงระบบสืบพันธุ์ของงู โดยแสดงให้เห็นส่วนอวัยวะที่ใช้สำหรับสืบพันธุ์ของงูเพศผู้ ซึ่งจะแตกต่างกันในงูแต่ละชนิด สามารถใช้ในการจำแนกชนิดของงูได้ โดยอวัยวะเพศผู้จะมี 2 ข้าง เรียกว่า hemipenis เมื่อถึงเวลาสืบพันธุ์ จะใช้อวัยวะข้างใดข้างหนึ่งออกมาและสอดใส่ในอวัยวะของงูเพศเมีย จากนั้น งูเพศเมียจะอุ้มท้องเพื่อให้กำเนิดลูกงูรุ่นใหม่ โดยงูที่ออกลูกเป็นไข่จะใช้เวลาอุ้มท้องประมาณ 2 เดือน ในขณะที่งูที่ออกลูกเป็นตัวจะใช้เวลาอุ้มท้องประมาณ 4-5 เดือน แต่ทั้งนี้ งูที่ออกลูกเป็นไข่ต้องการบริเวณที่เงียบ สงบ ไม่มีเสียงรบกวน และปลอดภัยสำหรับการฟักไข่เพื่อให้กำเนิดลูกงูอีกประมาณ 2 เดือน ซึ่งเมื่อรวมระยะเวลาของการฟักไข่ก็จะใกล้เคียงระยะเวลาให้กำเนิดลูกของงูที่ออกลูกเป็นตัว สำหรับลูกของงูที่ออกลูกเป็นตัวจะมีวิวัฒนาการตั้งแต่อยู่ในท้องของแม่งู และจะให้กำเนิดเมื่อถึงฤดูกาลที่เหมาะสม เช่น ช่วงที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์นั่นเอง
วีดิทัศน์เรื่อง สวนงูและตึกสี่มะเส็ง
กลับไปที่เนื้อหา
สิ่งมีชีวิตโดยทั่วไปมีกระบวนการเจริญเติบโตที่เป็นผลมาจากการทำงานของระบบต่าง ๆ ร่างกายที่เป็นไปตามปกติ กระบวนการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตประกอบไปด้วย 4 กระบวนการ ได้แก่ การเพิ่มจำนวน (multiplication) และการขยายขนาดของเซลล์ (growth) การเปลี่ยนแปลงของรูปร่าง (differentiation) และการเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อไปทำหน้าที่เฉพาะ (morphogenesis) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมแตกต่างกันไป เช่น อุณหภูมิ ความชื้น และปริมาณอาหาร เป็นต้น ในระหว่างการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตจะมีการผลัดเซลล์ผิวหนังชั้นนอกออก อาจมีทั้งประเภทที่สังเกตได้ไม่ชัดเจน เช่น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม และประเภทที่สังเกตได้อย่างชัดเจน เช่น สัตว์เลื้อยคลาน ทั้งนี้การผลัดเซลล์ผิวถือได้ว่าเป็นกระบวนการหนึ่งของการเจริญเติบโต ขึ้นกับชนิดของสิ่งมีชีวิตเนื่องจากภายหลังการผลัดเซลล์ผิวสิ่งมีชีวิตอาจมีรูปร่างและโครงสร้างที่แตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ
การลอกคราบของงู
การผลัดเซลล์ผิวพบได้ในสัตว์เลื้อยคลานทุกชนิด โดยเฉพาะสัตว์เลื้อยคลานที่มีกระดูกสันหลัง เช่น งู ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่อาศัยอยู่บนบก มีหนังปกคลุมลำตัวเป็นเกล็ดแข็งและแห้ง หายใจโดยใช้ปอด ส่วนใหญ่ออกลูกเป็นไข่ที่มีเปลือกแข็งหรือเปลือกเหนียวนิ่มหุ้ม งูสามารถผลัดเซลล์ผิวที่เป็นส่วนของหนังออกได้โดยการผลัดเซลล์ผิวชั้นนอก และเรียกลักษณะการผลัดเซลล์ผิวแบบนี้ว่า การลอกคราบ (Shedding) ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งของการเจริญเติบโต ทำให้โครงสร้างและรูปร่างของงูขยายขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากเมื่อมีอายุมากขึ้นร่างกายก็จะเจริญเติบโตและขยายขนาด เนื้อเยื่อภายในก็จะเริ่มสร้างโครงร่างหรือผิวหนังใหม่เติบโตอยู่ภายใต้โครงร่างเดิม การลอกคราบจึงเป็นการผลัดเอาโครงร่างภายนอกที่หมดอายุและมีขนาดเล็กออกไป และยังมีข้อดีทำให้บาดแผลเดิมที่อยู่บนผิวหนังหายได้เร็วขึ้น อีกทั้งคราบสกปรกและปรสิตที่ติดอยู่บริเวณผิวหนังเดิมก็จะถูกกำจัดออกไปด้วย โดยภายหลังการลอกคราบ โครงสร้างใหม่จะยังคงมีลักษณะอ่อนนิ่ม งูจะยังไม่แข็งแรงจึงจำเป็นต้องอยู่นิ่ง ๆ ระยะหนึ่งจนกว่าโครงสร้างใหม่จะเริ่มคงสภาพ งูจึงเคลื่อนไหวไปมาได้สะดวกเหมือนเดิม การลอกคราบของงูอาจแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
1. ระยะเข้าคราบ เป็นระยะที่สีบริเวณผิวหนังของงูเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง อาจมีสีเข้มขึ้นหรือซีดลงแล้วแต่ชนิดของงู นอกจากนี้บริเวณดวงตาจะมีลักษณะเป็นสีขาวขุ่น คล้ายกับมีฝ้ามาปิด
2. ระยะออกคราบ เป็นระยะที่สีบริเวณผิวหนังของงูเริ่มกลับมาเป็นปกติและจะเริ่มมีลักษณะใสขึ้น หลังจากนั้น 2-4 วัน งูจะเริ่มเข้าสู่ระยะลอกคราบต่อไป
3. ระยะลอกคราบ เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการลอกคราบ งูจะใช้หัวถูกับสิ่งที่อยู่โดยรอบ เช่น หินหรือไม้ เพื่อทำให้คราบบริเวณหัวเกิดรอยแตกและปริออก รอยแตกมักเกิดขึ้นบริเวณหัวหรือจมูก จากนั้นงูจะถูตัวไปตลอดจนถึงส่วนหางเพื่อให้คราบหลุดออก โดยคราบที่หลุดออกมาจะมีลักษณะเป็นผิวหนังสีขาวที่กลับด้านในออกข้างนอก
การลอกคราบของงูเกิดขึ้นเป็นประจำเพื่อให้ร่างกายสามารถขยายขนาดขึ้นได้ โดยความถี่ในการลอกคราบขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ชนิดของงู อายุ ความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร และระยะการสืบพันธุ์ เป็นต้น อาจพบได้ตั้งแต่ 2 - 4 ครั้งต่อปี และอาจกล่าวได้ว่า งูอายุน้อยจะลอกคราบบ่อยกว่างูที่อายุมาก โดยงูที่อายุน้อยอาจพบการลอกคราบได้บ่อยทุก ๆ 2 สัปดาห์ ในขณะที่งูที่มีอายุมากอาจลอกคราบน้อยลงเหลือเพียง 2 ครั้งต่อปี ดังนั้นงูที่มีสุขภาพสมบูรณ์จะลอกคราบได้อย่างสม่ำเสมอ
การสืบพันธุ์ของงู
งูเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ กระบวนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของสิ่งมีชีวิตทั่วไปจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่ ต้องอาศัยเซลล์สืบพันธุ์ทั้งเพศผู้และเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย โดยสิ่งมีชีวิตแต่ละเพศจะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ขึ้นมาผสมพันธุ์กัน ในเพศผู้เซลล์สืบพันธุ์สร้างขึ้นในอวัยวะที่เรียกว่าอัณฑะ(testis) เรียกเซลล์สืบพันธุ์ที่ได้ว่า อสุจิ(sperm) ส่วนในเพศเมียจะสร้างเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียที่รังไข่(ovary) เรียกเซลล์สืบพันธุ์ที่ได้ว่า ไข่(egg) เมื่อผสมกันก็จะเกิดการปฏิสนธิ(fertilization) ขึ้น ได้เป็นเซลล์ใหม่เรียกว่า ไซโกต(zygote) ซึ่งจะพัฒนาไปเป็น ตัวอ่อน(embryo) และเจริญเป็นตัวเต็มวัย(adult) ต่อไป
โดยทั่วไป งูส่วนใหญ่อาศัยและออกหากินเพียงลำพัง แต่เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์งูจะเข้ารวมกลุ่มเพื่อเลือกคู่ แต่งูบางชนิดอาจอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นฝูงขนาดใหญ่ ซึ่งจะจับคู่และผสมพันธุ์กันในฝูงนั่นเอง ฤดูผสมพันธุ์ของงูไม่ขึ้นตามฤดูกาลเหมือนสัตว์บางชนิด งูเป็นสัตว์ที่มีการปฏิสนธิภายในร่างกาย เมื่องูพบคู่ที่ต้องการ ตัวผู้จะทำการเกี้ยวพาราสีหรือกอดรัดพันรอบตัวเมีย และใช้อวัยวะเพศข้างใดข้างหนึ่ง(hemipenis) สอดเข้าไปในอวัยวะเพศของตัวเมียเพื่อปล่อยน้ำเชื้อ อสุจิจะเข้าไปผสมกับไข่ภายในร่างกายของงูเพศเมีย โดยอวัยวะเพศของงูจะอยู่บริเวณโคนหางซึ่งซ่อนอยู่ภายใต้เกล็ด ภายหลังจากผสมพันธุ์แล้วงูจะแยกย้ายกันไปตามแหล่งที่อยู่อาศัย เพศเมียจะหาสถานที่เพื่อวางไข่หรือออกลูก ซึ่งมักจะเป็นสถานที่ที่มีความอบอุ่นและปลอดภัย โดยหลังจากวางไข่ประมาณ 3 เดือน ลูกงูก็จะฟักออกมาเป็นตัว
งูตัวเมียสามารถเก็บสเปิร์มของตัวผู้ไว้ในร่างกายได้เป็นเวลานาน เพื่อรอจนกระทั่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของลูกงูจึงจะวางไข่ ซึ่งงูบางชนิดจะออกลูกเป็นตัวได้ ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าลูกงูที่เกิดขึ้นสามารถมีชีวิตต่อไปในสภาพแวดล้อมที่มีความอุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้งูสามารถผสมพันธุ์กับงูเพศตรงข้ามได้ครั้งละหลายตัว ทำให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรมขึ้น ซึ่งลูกงูที่เกิดออกมาจะมีลักษณะไม่เหมือนกัน
วีดิทัศน์เรื่อง การลอกคราบและการสืบพันธุ์ของงู
กลับไปที่เนื้อหา
เป็นโรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัส เรบีส์ (Rabies) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสก่อโรคในสัตว์เลือดอุ่นเลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น คน สุนัข แมว วัว ควาย ลิง ชะนี และ กระรอก เป็นต้น นอกจากนี้ ในต่างประเทศยังมีรายงานว่าค้างคาวสามารถนำโรคพิษสุนัขบ้าได้ ดังนั้นสามารถพบโรคนี้ได้ทั้งในสัตว์เลี้ยงและสัตว์ป่า โรคพิษสุนัขบ้าถือได้ว่าเป็นโรคร้ายแรง ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกเล็งเห็นถึงความสำคัญและได้ประกาศให้มีวันโรคพิษสุนัขบ้าขึ้น ตรงกับวันที่ 28 กันยายนของทุกปี
โรคพิษสุนัขบ้ามีอีกชื่อเรียกกันในประชาชนว่าโรคกลัวน้ำ เนื่องจากทำให้เกิดอาการอักเสบที่บริเวณคอและมีการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน ทำให้กลืนได้ลำบาก อาหารหรือน้ำที่รับประทานก็จะตกเข้าสู่หลอดลมและเกิดอาการสำลักขึ้นได้ ซึ่งเชื้อไวรัสของโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่จะถูกปล่อยออกมากับน้ำลาย จึงสามารถติดต่อสู่คนได้โดยการถูกสัตว์ที่เป็นโรคกัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าสู่เยื่อบุตา ปาก หรือเข้าทางผิวหนังที่มีบาดแผล
อาการของโรค
เมื่อเชื้อไวรัสเรบีส์เข้าสู่ร่างกาย เชื้อไวรัสจะเข้าสู่แขนงประสาท และระบบประสาทส่วนกลาง หากเข้าสู่สมองจะเจริญเติบโตที่สมองและเพิ่มจำนวนขึ้น ภายหลังเชื้อเจริญเติบโตเต็มที่สัตว์ที่ได้รับเชื้อจะแสดงอาการทางประสาทและตายในที่สุด
ในระยะ 2 - 3 วันแรก อาจมีไข้ต่ำ ๆ จากนั้นจะมีอาการเจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือปวดแสบปวดร้อนตรงบริเวณแผลที่ถูกกัด แม้ว่าแผลอาจหายเป็นปกติแล้ว จะมีอาการตื่นเต้นง่าย กระสับกระส่าย ไม่ชอบแสงสว่าง ไม่ชอบลม และไม่ชอบเสียงดัง กลืนอาหารและน้ำได้ลำบาก และรู้สึกเจ็บมากเวลากลืน แต่ยังมีสติพูดจารู้เรื่อง จากนั้นจะมีอาการเอะอะมากขึ้น คลุ้มคลั่ง ผู้ป่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้สึกตัว โดยมีอาการสลับกันระหว่างรู้สึกตัวในภาวะปกติกับมีความกระวนกระวาย กระสับกระส่าย หรือไวต่อสิ่งเร้า และสุดท้ายอาจมีอาการชัก เป็นอัมพาต ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแขนขาอ่อนแรง ตามมาด้วยอาการหมดสติและเสียชีวิตในที่สุด เนื่องจากส่วนที่สำคัญของสมองถูกทำลายไป ผู้ป่วยถ้าเป็นแล้วจึงเสียชีวิตทุกราย ในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้
โรคพิษสุนัขบ้าจะมีระยะฟักตัว (incubation period) หลังจากที่เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจนกระทั่งเกิดอาการ โดยจะแตกต่างกันไปตามชนิดของสัตว์ ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 2 - 8 สัปดาห์ หรืออาจสั้นเพียง 5 วัน หรือยาวนานเกินกว่า 1 ปี โดยระยะฟักตัวจะสั้นหรือยาวขึ้นกับปัจจัยบางอย่าง เช่น ความรุนแรงของบาดแผล ปริมาณของปลายประสาทที่ตำแหน่งของบาดแผล ปริมาณของเชื้อที่เข้าสู่ร่างกาย และระยะทางจากบาดแผลไปยังสมอง เช่น ตำแหน่งของแผลที่หน้า ศีรษะ คอ หรือมือ ซึ่งตำแหน่งที่อยู่ใกล้กับสมองหรือไขสันหลังจะมีระยะฟักตัวเร็วกว่าแผลที่อยู่บริเวณแขนหรือขา นอกจากนี้ ยังขึ้นกับลักษณะของเครื่องนุ่งห่ม และการล้างแผลภายหลังถูกกัดจะมีส่วนช่วยลดจำนวนเชื้อลงได้มาก
อาการของสัตว์ที่เป็นโรค
เมื่อเชื้อไวรัสเรบีส์เข้าสู่ร่างกาย เชื้อไวรัสจะเข้าสู่แขนงประสาท และระบบประสาทส่วนกลาง หากเข้าสู่สมองจะเจริญเติบโตที่สมองและเพิ่มจำนวนขึ้น ภายหลังเชื้อเจริญเติบโตเต็มที่สัตว์ที่ได้รับเชื้อจะแสดงอาการทางประสาทและตายในที่สุด อาการป่วยที่สังเกตได้แบ่งออกเป็นระยะต่าง ๆ ดังนี้
1. ระยะอาการนำ (Prodromal phase) เป็นระยะที่สัตว์จะมีพฤติกรรมและนิสัยที่เปลี่ยนแปลงไปโดยอาจมีลักษณะตรงข้ามกับลักษณะปกติที่เป็นอยู่ เช่น สุนัขที่เคยเชื่องจะดุร้าย หรือสุนับที่มักจะหนีกลับเข้าหาคนมากขึ้นหรือแสดงความเป็นมิตร
2. ระยะตื่นเต้น (Excitative phase) เป็นระยะที่แสดงอาการของโรคพิษสุนัขบ้าได้อย่างชัดเจน โดยสัตว์จะแสดงอาการกระวนกระวายและหนีออกจากที่อยู่เดิม นอกจากนี้จะแสดงอาการไล่งับหรือกัดสิ่งของที่อยู่ใกล้เคียง ถ้ากักขังในกรงหรือล่ามไว้จะกัดกรงหรือสิ่งของที่อยู่ใกล้จนฟันหักหรือลิ้นเป็นแผลและมีเลือดออกได้
3. ระยะอัมพาต (Paralytic phase) เป็นระยะสุดท้ายของโรคพิษสุนัขบ้า โดยอาการในระยะนี้จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น ๆ หลังจากแสดงอาการในระยะตื่นเต้นอย่างชัดเจน ร่างกายจะอ่อนเพลียลง ขาหลังไม่มีแรง เดินโซเซ เมื่อล้มแล้ววจะลุกไม่ได้ ซึ่งจะแสดงอาการอัมพาตจากส่วนท้ายของลำตัวไปยังส่วนหัวอย่างรวดเร็ว จากนั้นจะตายลงเนื่องจากการเป็นอัมพาตของระบบหายใจ (Respiratory paralysis)
การป้องกัน
ควรพาสัตว์เลี้ยงที่มีสุขภาพแข็งแรงไปพบสัตว์แพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งควรเริ่มทำวัคซีนให้กับสัตว์เลี้ยงตั้งแต่อายุ 3 เดือน หลังจากนั้นควรทำซ้ำเมื่ออายุครบ 6 เดือน และควรฉีดกระตุ้นเป็นประจำทุกปี โดยวัคซีนที่เลือกใช้ควรมีคุณภาพ ได้รับการเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่หมดอายุ ซึ่งวิธีการฉีดควรทำตามคำแนะนำของผู้ผลิต
ข้อควรปฏิบัติหากถูกสัตว์ที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด
1. ล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาดที่ไหลตลอดเวลา ฟอกด้วยสบู่หลาย ๆ ครั้ง หากแผลลึกควรล้างให้ถึงก้นแผล
2. เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำยาพิวิดิน หรือเบตาดิน หรือแอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ไอโอดีน แล้วรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ยาแก้ปวดและการรักษาตามอาการ รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น
3. ให้สังเกตอาการของสัตว์ที่ทำร้าย หากสัตว์ตายให้นำซากส่งตรวจ แต่หากไม่ตายควรขังเพื่อรอดูอาการเป็นเวลา 10 วัน หากสัตว์เป็นปกติ ผู้ป่วยสามารถหยุดฉีดวัคซีนได้
4. หากไม่สามารถติดตามหรือสังเกตอาการสัตว์ที่ทำร้ายได้ ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนทันที
การส่งตรวจสัตว์ต้องสงสัย
โดยทั่วไป สามารถตรวจได้ทั้งสัตว์ที่ยังมีชีวิตและสัตว์ที่เสียชีวิตแล้ว ถ้าสัตว์ยังมีชีวิตอยู่จะประเมินจากอาการและตรวจน้ำลายในห้องปฏิบัติการ ภายหลังจากไม่พบเชื้อ ก็จะแนะนำการดูแลต่อไป แต่หากสัตว์ที่ส่งตรวจเป็นสัตว์ที่เสียชีวิต จะมีการนำไปผ่าชันสูตรโดยใช้ส่วนสมอง ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่ให้ผลแน่นอนที่สุด โดยการน้ำเนื้อเยื่อสมองย้อมสารและสีชนิดพิเศษบนสไลด์ ซึ่งสารที่ใช้ในการตรวจสอบเป็นสารที่ผลิตจากภูมิต้านทานของพิษสุนัขบ้า กระบวนการตรวจสอบสามารถทราบผลได้ภายใน 2 ชั่วโมง
ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลสามารถส่งตรวจได้ที่ คลินิกชันสูตรและวิจัยโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ซึ่งเป็นคลินิกที่ให้บริการวินิจฉัยและการตรวจโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งในสัตว์ที่มีชีวิตและเสียชีวิตแล้ว และยังมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าอีกด้วย และสามารถตรวจสอบรายชื่อสถานที่สำหรับส่งตรวจโรคพิษสุนัขบ้าทั่วประเทศได้ที่เว็บไซต์ของ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (http://www.thairabies.net/trn/Sending.aspx)
วีดิทัศน์เรื่อง จะรู้ได้อย่างไรว่าสุนัขมีเชื้อพิษสุนัขบ้า
กลับไปที่เนื้อหา
ในอดีต วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าผลิตจากการนำเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) ที่ได้จากสมองสัตว์ที่เป็นโรค แต่ในปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการนำวัคซีนดังกล่าวมาใช้แล้ว ซึ่งวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันเป็นวัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงด้วยวิธีการเฉพาะ มีความปลอดภัยและมีความบริสุทธิ์ มีประสิทธิภาพสูงไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ต่อระบบประสาท ซึ่งเชื้อจะถูกทำให้ตายก่อนที่จะนำมาฉีดเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสชนิดนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสามารถทำได้ 2 แบบ คือ
1. การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ (Intramuscular; IM)
2. การฉีดเข้าในผิวหนัง (Intradermal; ID)
หลักการของวัคซีน
วัคซีนจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งภายหลังการฉีดต้องรอเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ ระดับภูมิคุ้มกันในร่างกายจึงจะเพียงพอต่อการป้องกันโรค ดังนั้น ในกรณีที่ได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้วผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงจึงต้องใช้เซรุ่ม ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่สร้างไว้แล้วจากม้าหรือคนแล้วสกัดมาเป็นภูมิคุ้มกันกับผู้ป่วย
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบป้องกันล่วงหน้า หรือก่อนการสัมผัสสัตว์ (Prophylaxis) เป็นการเตรียมร่างกายให้พร้อมเพื่อต่อต้านโรคพิษสุนัขบ้า เหมาะกับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการสัมผัสและมีโอกาสถูกสัตว์กัด เช่น สัตวแพทย์ ผู้ที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงเด็กที่ไม่สามารถป้องกันตนเองได้เมื่อพบเจอสัตว์ เป็นต้น
2. การฉีดวัคซีนแบบป้องกันล่วงหน้าทำได้โดยการฉีดเพียง 3 เข็ม ภายในระยะเวลา 1 เดือน คือ วันที่ 0, 7 และ 21 หรือ 28 หลังจากนั้น 1 ปี ควรได้รับการฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้ง เพื่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันสูงกว่าระดับที่ป้องกันโรคได้เป็นระยะเวลานาน ซึ่งวัคซีนชนิดนี้สามารถฉีดได้ไม่จำกัดอายุ
การฉีดวัคซีนป้องกันล่วงหน้ามีประโยชน์ ดังนี้
- เมื่อถูกสัตว์กัด การฉีดวัคซีนกระตุ้นเพียง 1 - 2 เข็ม ร่างกายก็จะได้รับภูมิต้านทานที่สูงพอจะป้องกันโรคอย่างได้ผล
- ไม่เสี่ยงต่อการแพ้เซรุ่ม หรือเจ็บปวดจากการฉีดเซรุ่มรอบ ๆ แผล
3. การฉีดวัคซีนหลังจากการสัมผัสสัตว์ กระทำเมื่อเกิดการสัมผัสกับสัตว์แล้วในกรณีใดกรณีหนึ่ง ซึ่งต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยแพทย์จะดำเนินการให้วัคซีนหรือเซรุ่มโดยประเมินจากการสัมผัสกับโรคของผู้ป่วยตามข้อกำหนดโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ดังนี้
- ผู้ป่วยที่สัมผัสกับสัตว์ป่วยทางผิวหนังปกติ ผิวหนังไม่มีแผลหรือรอยถลอก เช่น ให้อาหาร ถูกเลีย สัมผัสน้ำลายหรือเลือด ไม่ถือว่ามีความเสี่ยงจึงไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีน
- ผู้ป่วยที่ถูกกัดเป็นแผล ถูกข่วน หรือมีบาดแผลเป็นรอยถลอก ไม่มีเลือดออก หรือถูกเลียบริเวณแผลที่มีรอยถลอก หรือมีน้ำลายหรือสารคัดหลั่งจากสัตว์ถูกเยื่อบุตา ปาก จมูกหรือตามผิวหนัง ในกรณีนี้จำเป็นต้องให้วัคซีน
- ผู้ป่วยที่ถูกกัดเป็นแผลรุนแรง ทะลุชั้นผิวหนังและมีเลือดออก ต้องได้รับทั้งวัคซีนและเซรุ่ม
เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
เซรุ่มที่ใช้สำหรับป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เป็นเซรุ่มที่ทำจากส่วนของน้ำใสของเลือด ในเซรุ่มจะมีโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเรบีส์ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้าในปริมาณที่มาก ซึ่งโปรตีนดังกล่าวมีชื่อว่า อิมมูโนโกลบุลิน (Immunoglobulin; IG) เซรุ่มจะไปทำลายเชื้อไวรัสในร่างกายของผู้ที่ถูกสุนัขบ้ากัด โดยการฉีดรอบ ๆ แผลก่อนที่จะก่อโรค และก่อนที่ภูมิต้านทานของร่างกายจะสร้างขึ้น ด้วยเหตุนี้การให้เซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าร่วมกับการฉีดวัคซีนเข็มแรก จึงเป็นวิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ได้ผลดีที่สุด
การผลิตเซรุ่มทำได้โดยฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าให้กับคนหรือม้า และฉีดกระตุ้นจนกระทั่งมีแอนติบอดีอยู่ในระดับสูงพอ จึงเจาะเลือดมาแยกซีรั่มผลิตเป็นอิมมูโนโกลบุลินป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งอิมมูโนโกลบุลินที่ได้จากม้า (Equine Rabies Immunoglobulin; ERIG) จะมีโอกาสทำให้เกิดอาการแพ้ได้มากกว่าอิมมูโนโกลบุลินที่ได้จากคน (Human Rabies Immunoglobulin; HRIG) จึงมีราคาสูงกว่า ในประเทศไทย สถานเสาวภาได้ดำเนินการผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากเลือดม้า และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากเลือดคนเพื่อใช้เองภายในประเทศ โดยขอรับบริจาคโลหิตจากคนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครบแล้ว
สำหรับประชาชนทั่วไป สามารถป้องกันตนเองจากการเป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้โดยลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับโรคด้วยการปฏิบัติตนอย่างง่าย คือ
1. หากพบสุนัขไม่ควรแหย่ให้สุนัขโมโห
2. อย่าทำให้สุนัขตกใจ หรือเหยียบอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น หาง ขา หัว หรือตัว เป็นต้น
3. หากพบเห็นสุนัขกัดกัน ไม่ควรแยกด้วยมือเปล่า
4. อย่าจับหรือหยิบอาหารหรือภาชนะใส่อาหารในขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร
5. หลีกเลี่ยงการเข้าใกล้สุนัขที่ไม่รู้จักหรือไม่มีเจ้าของ
วีดิทัศน์เรื่อง ถูกสุนัขบ้ากัดต้องทำอย่างไร
กลับไปที่เนื้อหา
ชนิดของงูพิษ
งูจัดเป็นสัตว์มีพิษที่พบได้บ่อยในธรรมชาติ พิษมีความรุนแรงสูงจึงพบอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของผู้ป่วยสูงด้วย สามารถแบ่งพิษงูออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ตามความสำคัญทางการแพทย์ ได้แก่
1. งูพิษที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา ผู้ป่วยที่ถูกกัดด้วยงูเหล่านี้จะมีอาการเป็นอัมพาต และเสียชีวิตจากการหยุดหายใจ เนื่องจากสารบางอย่างในพิษงูจะเข้าสู่ร่างกายและไปจับกับแผ่นเชื่อประสาทสั่งการและกล้ามเนื้อ ทำให้ระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อเสียไป กล้ามเนื้อจึงอ่อนแรงและไม่ทำงานในที่สุด
2. งูพิษที่ออกฤทธิ์ต่อระบบโลหิต เช่น งูเขียวหางไหม้ งูกะปะ และงูแมวเซา ผู้ป่วยที่ถูกกัดจะมีภาวะเลือดออกผิดปกติ พิษงูจะทำให้เลือดไม่แข็งตัวเนื่องจากออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของปัจจัยการจับเป็นลิ่มเลือด เกิดภาวะเลือดออกง่ายและหยุดได้ยาก ในผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการไตวายและกล้ามเนื้อตายร่วมด้วย
3. งูพิษทำลายระบบกล้ามเนื้อ ได้แก่ งูทะเล จัดเป็นงูที่มีพิษต่อระบบประสาทเช่นเดียวกับงูเห่า และมีพิษทำลายกล้ามเนื้อด้วย ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลายตัวและภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง ซึ่งผู้ป่วยที่ถูกงูประเภทนี้กัดจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงและปวดกล้ามเนื้อ จากนั้นจะไม่สามารถหายใจได้
ชนิดของพิษงู
พิษของงูผลิตขึ้นที่อวัยวะพิเศษภายในตัวของงู ซึ่งพัฒนามาจากต่อมน้ำลาย พบได้บริเวณปาก และเมื่อเชื่อมต่อกับฟันหน้าคู่หนึ่งที่พัฒนาเป็นเขี้ยวก็จะทำหน้าที่คล้ายกับเข็มฉีดยาได้ โดยทั่วไปความรุนแรงของพิษงูจะพิจารณาได้จากความเข้มข้นของพิษและปริมาณของพิษที่งูปล่อยออกมา ซึ่งพิษของงูประกอบด้วยสารหลายชนิด ทั้งที่เป็น เอนไซม์ vasoactive amines และอื่น ๆ ส่วนใหญ่เป็นสารจำพวกโปรตีนซึ่งถูกทำลายได้ด้วยความร้อน สามารถแบ่งพิษของงูตามการออกฤทธิ์ได้เป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้
1. Local effect อาจเรียกว่า cytotoxin ซึ่งทำให้เกิดอาการบวม ปวด หรือเนื้อเยื่อตาย
2. Systemic effect แบ่งตามฤทธิ์ออกได้เป็นหลายชนิด ที่สำคัญได้แก่
2.1.Hematotxin ทำให้เกิดภาวะเลือดไม่แข็งตัว
2.2.Neurotoxin ส่งผลต่อการส่งสัญญาณประสาท ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง
2.3.Myotoxin ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อสลาย
โดยทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำวิธีการปฏิบัติสำหรับคนไข้ซึ่งถูกงูกัดไว้ดังนี้
1. ตั้งสติ เพราะเมื่อโดนกัด โอกาสที่งูมีพิษจะปล่อยพิษมีเพียงครึ่งหนึ่ง หรือ 50 เปอร์เซ็นต์
2. ในกรณีที่ถูกกัด หากเป็นงูพิษ จะพบรอยเขี้ยวพิษเป็นรูเหมือนถูกเข็มตำ 2 รอย ให้เคลื่อนไหวอวัยวะที่ถูกกัดให้น้อยที่สุด และหาผ้าหรือวัสดุที่คล้ายผ้ามาพันบริเวณที่ถูกกัดโดยพันตั้งแต่ส่วนที่อยู่ใต้บาดแผลจนถึงเหนือบาดแผล (สำหรับการขันชะเนาะ เป็นวิธีการที่ไม่แนะนำ ควรกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากอาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณส่วนปลายเกิดภาวะขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้เกิดอาการเนื้อเยื่อตายในภายหลังได้ รวมถึงการใช้ปากดูดพิษ การใช้บุหรี่จี้ หรือการเอารองเท้าตบ เป็นวิธีปฏิบัติที่ไม่แนะนำ เนื่องจากอาจเกิดการติดเชื้อได้ในภายหลังทั้งผู้ที่ให้การช่วยเหลือและคนไข้) ในกรณีที่คนไข้ได้รับพิษจากการพ่นพิษของงู เช่น งูเห่า และพิษเข้าสู่บริเวณตา ซึ่งอาจทำให้บริเวณกระจกตามีแผลได้ ควรรักษาอาการเบื้องต้นเช่นเดียวกับการโดนสารเคมีเข้าตา โดย การล้างตาด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมาก
3. นำคนไข้ส่งที่สถานพยาบาล ภายหลังจากคนไข้ถึงสถานพยาบาล แพทย์จะมีขั้นตอนในการรักษาต่อไป
ขั้นตอนการรักษาคนไข้ที่ถูกงูกัด
1. แพทย์จะประเมินอาการคนไข้ โดยซักถามอาการ ชนิดของงู และบริเวณบาดแผลที่ถูกกัด เป็นต้น
2. ตรวจติดตามอาการและเฝ้าระวัง เนื่องจากคนไข้ที่ถูกงูมีพิษกัดจะแสดงอาการแตกต่างกันไปตามชนิดของงู ได้แก่
- ถ้าถูกงูมีพิษต่อระบบประสาทกัด จะทำให้บริเวณกล้ามเนื้อมัดเล็กมีอาการอ่อนแรงและเป็นอัมพาต สังเกตได้จากเปลือกตา หนังตาจะตกทำให้ผู้ป่วยลืมตาไม่ขึ้นซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการจะลุกลามไปยังบริเวณอื่น ๆ ต่อไป เช่น กลืนน้ำลายลำบาก พูดอ้อแอ้ และหยุดหายใจในที่สุด
- ถ้าถูกงูมีพิษต่อระบบเลือดกัด จะส่งผลต่อการแข็งตัวของเลือดทำให้เลือดไม่แข็งตัว ทำให้ภาวะเกร็ดเลือดต่ำ และเลือดออกไม่หยุด เลือดออกตามทางเดินอาหาร เลือดออกในสมอง เลือดออกตามไรฟัน ถ่ายเป็นสีดำ ปัสสาวะมีสีเลือด หรืออาเจียนเป็นเลือดได้
- ถูกงูมีพิษต่อระบบกล้ามเนื้อ จะส่งผลต่อการสลายของกล้ามเนื้อ คนไข้จะปวดตามกล้ามเนื้อทั่วทั้งตัวและปัสสาวะเป็นสีเข้มจนถึงดำ (คล้ายกับสีดำของน้ำอัดลม) ปัสสาวะออกน้อยเนื่องจากมีภาวะไตวายเฉียบพลัน ในผู้ป่วยบางรายอาจพบภาวะหัวใจหยุดเต้นเนื่องจากโพแทสเซียมคั่งในเลือดได้
3. การให้เซรุ่ม อาจพบอาการแพ้ได้ในบางครั้ง เนื่องจากเซรุ่มผลิตจากพลาสมาของม้า การให้เซรุ่มจึงให้เฉพาะเวลาที่มีข้อบ่งชี้เท่านั้น ในประเทศไทยมีเซรุ่มแก้พิษงู 2 ประเภทใหญ่
3.1 เซรุ่มที่มีความเฉพาะเจาะจง (Monovalent) เป็นเซรุ่มสำหรับแก้พิษชนิดใดชนิดหนึ่ง เช่น งูเห่า
3.2 เซรุ่มที่ออกฤทธิ์กว้าง (Polyvalent) เป็นเซรุ่มสำหรับแก้พิษงูสำหรับคนไข้ที่ไม่ทราบชนิดงูที่กัด แต่แสดงอาการผิดปกติจึงต้อให้เซรุ่มตามอาการคนไข้ ซึ่งสามารถแก้พิษงูทางด้านระบบประสาทและระบบโลหิต
วีดิทัศน์เรื่อง ทำอย่างไรดีเมื่อถูกงูกัด
กลับไปที่เนื้อหา
สัตว์พิษโดยทั่วไปมักใช้เพื่อป้องกันตันเองหรือหาอาหาร โดยปกติมักไม่ทำอันตรายคนยกเว้นป้องกันตัวจากการถูกทำร้ายหรือรุกราน พิษจากสัตว์มีทั้งชนิดรุนแรงหรือชนิดที่ทำให้อักเสบซึ่งอาการสามารถหายไปได้เอง โดยหากถูกสัตว์พิษทำร้ายมักมีอาการปวด บวม แดง และร้อน อาจพบอาการคัน และมีไข้ต่ำร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นทันที หรือภายในไม่เกิด 2-3 ชั่วโมง และอาการมักจะดีขึ้นหลัง 24 ชั่วโมง แต่บางครั้งอาจนานหลายสัปดาห์ หรืออาจพบแผลเป็นในภายหลัง อันตรายที่เกิดขึ้นจากสัตว์ที่มีพิษจึงเป็นภัยด้านสุขภาพอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและบางครั้งรุนแรงถึงชีวิต
ในประเทศไทย สัตว์พิษที่พบได้บ่อยสามารถจำแนกออกได้เป็นกลุ่ม ดังนี้
1. สัตว์พิษที่ปล่อยพิษจากการกัดหรือต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน มด ตะขาบ และแมงป่อง เป็นต้น
2. สัตว์พิษที่เกิดจากการสัมผัส เช่น บุ้ง แมลงก้นกระดก และแมงกะพรุน เป็นต้น
3. สัตว์พิษที่ได้รับพิษจากการรับประทาน เช่น แมงดาถ้วย ปลาปักเป้า และด้วงน้ำมัน เป็นต้น
อาการเมื่อโดนพิษ
อาการของคนไข้ภายหลังจากโดนพิษจากสัตว์พิษจะขึ้นกับชนิดของสัตว์ที่เป็นสาเหตุ
1. พิษจากการกัดหรือต่อย ทำให้เกิดอาการเฉพาะที่ เช่น ปวดแสบ แดง ร้อน อาการเหล่านี้จะได้รับการรักษาตามอาการ โดยดูจากสัตว์ที่ทำร้าย ถ้าเป็นชนิดที่มีเหล็กใน ให้เอาเหล็กในออก แล้วล้างแผลด้วยน้ำสะอาด จากนั้นจึงฟอกสบู่ และไปพบแพทย์เมื่อมีอาการรุนแรง เช่น เกิดผื่นลมพิษทั่วตัว เกิดอาการบวม บริเวณร่างกาย หน้า ตา หรือมีอาการแน่นหน้าอก และหายใจติดขัด เป็นต้น
2. พิษจากการสัมผัส เช่น แมลงก้นกระดกสามารถปล่อยสารพีเดอริน (Paederin) ออกมา ซึ่งสารชนิดนี้มีทำลายเนื้อเยื่อ ทำให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน คัน หากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ แผลจะมีลักษณะเป็นทางยาว อาจจะพบเป็นตุ่มใส อาการเหล่านี้สามารถหายได้เองภายใน 7-10 วัน แต่อาจเป็นแผลเป็นได้ ดังนั้นหากสัมผัสด้วงชนิดนี้ควรล้างด้วยน้ำสะอาดทันที หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบไปพบแพทย์
3. พิษจากการรับประทาน จะพบอาการชาตามลิ้น รอบปาก และอาการอาจส่งผลต่อทางเดินอาหาร มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือมีอาการชาทั่วทั้งร่างกาย เกิดอาการกล้ามเนื้อเป็นอัมพาต ระบบหายใจล้มเหลว เมื่อเกิดเอาการเบื้องต้นควรรีบหยุดรับประทานและส่งคนไข้ไปสถานพยาบาลโดยเร็ว ตัวอย่างของสัตว์พิษที่ได้จากการรับประทานและพบบ่อย ได้แก่ ปลาปักเป้า ซึ่งปกติแล้วปลาปักเป้าไม่ได้ผลิตพิษขึ้นมาเอาแต่เกิดจากการกินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในน้ำที่เป็นตัวสร้างพิษขึ้น โดยปลาปักเป้าจะกักเก็บพิษไว้ใต้ผิวหนังและในอวัยวะภายใน เช่น รังไข่ โดยไม่เป็นอันตรายต่อตัวเอง พิษของปลาปักเป้าไม่ถูกทำลายด้วยความร้อนดังนั้นแม้จะนำไปประกอบอาหารพิษก็จะยังคงสภาพ
ในกรณีที่คนไข้ไม่ทราบว่าสัตว์ที่พบเป็นสัตว์ชนิดใด มีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้
1. สังเกตบาดแผลและอาการ ถ้าไม่รุนแรงให้รักษาตามอาการหรือปฐมพยาบาลเบื้องต้น เช่น การห้ามเลือด ถ้ามีเหล็กใน ให้ดึงเหล็กในออก หากมีอาการปวด ให้รับประทานยาแก้ปวด ถ้ามีอาการบวมให้ใช้การประคบเย็นตรงบริเวณที่บวม
2. ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น มีประวัติแพ้สัตว์พิษชนิดนั้น ๆ อาการบวมบริเวณใบหน้าและคอ หายใจลำบากหรือติดขัด หมดสติ เลือดออกผิดปกติ อาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์
สำหรับประเทศไทย ทางสถานเสาวภาเล็งเห็นความสำคัญของคนไข้ที่ได้รับพิษ ซึ่งในอดีตการได้รับพิษจากงูโดยไม่ทราบว่าจะรักษาได้อย่างไรเมื่อถูกงูกัด จึงได้มีการก่อตั้ง คลินิกพิษจากสัตว์ (Animal toxin clinic) ขึ้น ซึ่งเป็นคลินิกที่ดำเนินการอยู่ในสถานเสาวภาเพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเปิดให้บริการใน 2 ส่วน ได้แก่
- ตรวจหาเชื้อพิษสุนัขบ้าและป้องกันเชื้อพิษสุนัขบ้า
- ให้บริการในส่วนของคลินิกพิษจากสัตว์
วีดิทัศน์เรื่อง พิษจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ
กลับไปที่เนื้อหา
วัคซีน (Vaccine)
เป็นชีววัตถุที่เตรียมขึ้นจากเชื้อจุลินทรีย์หรือส่วนของเชื้อจุลินทรีย์ ที่มีกลไกชักนำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อจุลินทรีย์ชนิดนั้น ๆ วัคซีนโดยทั่วไปประกอบด้วยส่วนประกอบของจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรค (antigen; แอนติเจน) ซึ่งถูกทำให้อ่อนฤทธิ์ลงหรือตาย หรือการใช้ส่วนที่เป็นพิษที่อ่อนฤทธิ์ลง (toxoid) โดยวัคซีนจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและสามารถจดจำได้ว่าเป็นสารก่อโรค จึงมีกลไกการทำลายต่อไป คุณสมบัติการจดจำแอนติเจนของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้ร่างกายสามารถกำจัดแอนติเจนได้เมื่อได้รับอีกในภายหลัง
กำเนิดของวัคซีน
เอ็ดวาร์ด เจนเนอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ประสบความสำเร็จในการสกัดเชื้อ cowpox เพื่อป้องกันโรคฝีดาษ (small pox) ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1770 โดยวัคซีนที่ผลิตในระยะแรกเป็นการนำเชื้อมาทำให้ตายหรือการใช้เชื้อที่อ่อนฤทธิ์ลง ซึ่งคำว่า "วัคซีน" (vaccine) ได้มาจากเชื้อ cowpox (Variolae vaccinae) โดยคำว่า vaccīn-us หรือ vacca แปลว่า cow หรือวัว
ชนิดของวัคซีน ปัจจุบันแบ่งวัคซีนออกได้เป็น 2 ชนิด คือ
1. วัคซีนชนิดชีววิทยา สามารถเตรียมได้จากหลายแหล่ง ได้แก่
1.1.เชื้อหรือจุลชีพที่ยังมีชีวิตแต่ทำให้หมดคุณสมบัติในการก่อโรค (วัคซีนเชื้อเป็น)
1.2.เชื้อที่ตายแล้ว (วัคซีนเชื้อตาย)
1.3.ทำจาก toxin ของแบคทีเรียที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ (toxoid)
2. วัคซีนชนิดชีวเคมี ผลิตโดยการนำความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ทางชีววิทยาโมเลกุลมาใช้ ได้แก่
2.1.Component vaccines ผลิตจากเชื้อแบคทีเรียที่ประกอบด้วยส่วนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานจุลชีพชนิดนั้น
2.2.Subunit vaccines ผลิตจากเชื้อไวรัสที่เป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดความต้านทาน
2.3.Synthetic vaccines สังเคราะห์จากการเรียงตัวกันของกรดอะมิโนที่สำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อจุลชีพบนสายพอลิเพปไทด์
2.4.Recombinant vaccines ผลิตจากเชื้อไวรัสโดยการตัดเอายีนหรือดีเอ็นเอของจุลชีพที่สร้างแอนติเจนมาต่อเข้าในดีเอ็นเอของเซลล์อื่น ๆ เพื่อสร้างแอนติเจนนั้น แล้วจึงนำมาทำให้บริสุทธิ์ก่อนนำไปทำเป็นวัคซีน
กลไกการทำงานของวัคซีน
เมื่อให้วัคซีนแก่ร่างกายแล้ว แอนติเจนซึ่งอยู่ในวัคซีนจะชักนำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อต่อต้านเชื้อโรค โดยแอนติเจนจะจับกับตัวรับ (receptor) ที่บริเวณเนื้อเยื่อบุผิว (epithelium) จากนั้นร่างกายจะตอบสนองขั้นพื้นฐานด้วยกลไกภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติที่ไม่จำเพาะต่อโรค (natural immunity) โดยการหลั่งอินเตอร์เฟียรอน (interferon) เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดการติดเชื้อไปสู่เซลล์ข้างเคียง และใช้เซลล์เพชฌฆาต ( natural killer cell) ในการกำจัดเชื้อโรค หลังจากนั้นจะเหนี่ยวนำระบบภูมิคุ้มกันโดยสร้างแอนติบอดี และการตอบสนองโดยทีเซลล์ (T cell) ซึ่งการตอบสนองบริเวณทีเซลล์จะเป็นหน่วยบันทึกความจำแอนติเจนโดย Memory T cell ทำให้การกำจัดเชื้อที่มีแอนติเจนดังกล่าวในครั้งต่อไปเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
การฉีดวัคซีน
เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดต่อของโรคติดต่อร้ายแรง ซึ่งวัคซีนผลิตจากเชื้อโรคที่อ่อนตัวแล้ว หรือส่วนประกอบอื่นของเชื้อโรคเหล่านั้น วัคซีนจึงก่อให้เกิดอาการน้อยมากแต่จะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาแทน จึงเป็นการลดความเสี่ยงของผู้ที่อาจป่วยด้วยโรคร้ายแรงได้ การฉีดวัคซีนทำเพื่อป้องกันโรคติดต่อร้ายแรง โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับเด็กซึ่งไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายเองได้ และยังเป็นการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงได้อีกด้วย
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคในเด็ก
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคสำหรับวัยเด็กเป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากเด็กไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยตนเองในขวบปีแรก จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโรคร้ายแรง จึงมีบริการฉีดวัคซีนตั้งแต่อายุแรกเกิดจนถึง 12 ขวบ ตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของกระทรวงสาธารณะสุข โดยสามารถแบ่งวัคซีนได้เป็น 3 ประเภท
1. วัคซีนหลัก เป็นวัคซีนที่กระทรวงสาธารณะสุขกำหนดให้เด็กทุกคนควรได้รับวัคซีนประเภทนี้ จึงสามารถเข้ารับบริการเพื่อฉีดวัคซีนหลักได้ในโรงพยาบาลของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย วัคซีนหลักประกอบด้วย วัคซีนบีซีจี ป้องกันวัณโรค วัคซีนตับอักเสบปี วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน วัคซีนโปลิโอชนิดกิน วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม และวัคซีนไข้สมองอักเสบเอจี
2. วัคซีนเสริม เป็นวัคซีนที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง ยังไม่ได้รับการบรรจุเข้าเป็นวัคซีนที่สาธารณะสุขกำหนด ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนจึงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายหากเข้ารับบริการ โดยวัคซีนประเภทนี้มีราคาค่อนข้างสูง ได้แก่ วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดไร้เซลล์ วัคซีนฮิบ วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีชนิดเชื้อมีชีวิต วัคซีนอีสุกอีใส วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนไอพีดี วัคซีนโรต้า และวัคซีนเอชพีวี
3. วัคซีนรวมเข็ม เป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน จึงมีความสะดวกโดยที่เด็กไม่จำเป็นต้องฉีดหลายเข็มและเจ็บซ้ำซ้อนหลายครั้ง วัคซีนประเภทนี้ ได้แก่ วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน วัคซีนโปลิโอชนิดฉีด วัคซีนฮิบ และวัคซีนตับอักเสบบี
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคในวัยอื่น ๆ
ในปัจจุบัน การให้วัคซีนป้องกันโรคในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ ได้รับความสนใจและสนับสนุนมากขึ้น แต่อัตราการให้วัคซีนเพื่อป้องกันโรคยังคงต่ำ อาจเนื่องมาจากความเข้าใจผิดของประชาชนที่คิดว่าเคยได้รับวัคซีนมาแล้วในวัยเด็กแต่แท้ที่จริงยังไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน ซึ่งลักษณะของโรคที่เกิดขึ้นระหว่างวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางชนิดแตกต่างกัน ทั้งนี้มีปัจจัยบางประการมาเกี่ยวข้อง เช่น ชีวิตประจำวัน และกิจกรรมที่ปฏิบัติในแต่ละวัน เป็นต้น
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคสำหรับวัยรุ่น ควรฉีดเนื่องจากวัคซีนที่เคยฉีดแล้วในวัยเด็กหลายชนิดจะเสื่อมไปตามระยะเวลา และจะมีวัคซีนที่ควรฉีดเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เช่น วัคซีนป้องกันมะเร็งปาดมดลูก (HPV) เป็นต้น การฉีดวัคซีนในวัยรุ่นสามารถนำสมุดบันทึกสุขภาพซึ่งมีบันทึกการฉีดวัคซีนในวัยเด็กมาได้เลย
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้สูงอายุ มีความสำคัญเนื่องจากผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันต่อโรคลดลง ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสูง ทำให้อัตราความพิการและการเสียชีวิตจากการติดเชื้อสูงกว่าคนอายุน้อย จึงควรแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคเพื่อลดการรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งวัคซีนที่ควรพิจารณาในผู้สูงอายุ ได้แก่ วัคซีนป้อนกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันงูสวัด วัคซีนป้องกันโรคปอดบวมจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส วัคซีนป้องกันบาดทะยักและคอตีบ เป็นต้น
การฉีดวัคซีนสามารถขอเข้ารับบริการได้ในสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน โดยเสียค่าบริการตามที่หน่วยงานกำหนด นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ สำหรับผู้ที่สนใจเข้ารับการป้องกันสุขภาพ รวมถึงให้คำปรึกษาเกี่ยวกับวัคซีนประเภทต่าง ๆ ได้ เช่น คลินิกเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและอายุรศาสตร์การท่องเที่ยว ตั้งอยู่ที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เดิมชื่อ คลินิกฉีดวัคซีนไปต่างประเทศ ก่อตั้งมาประมาณ 40-50 ปี และภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นคลินิกเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและอายุรศาสตร์การท่องเที่ยว เป็นสถานพยาบาลที่ให้คำแนะนำแก่ผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศให้มีความพร้อมในการเดินทาง ซึ่งก่อนที่จะเดินทางควรไปรับคำปรึกษาล่วงหน้า 4-6 อาทิตย์ เพราะวัคซีนบางชนิดต้องใช้ระยะเวลา
สำหรับการฉีดวัคซีน จะได้รับสัมภาษณ์จากเจ้าหน้าที่ เช่น ประเทศที่จะเดินทาง วัตถุประสงค์ในการเดินทาง ความเสี่ยงที่จะได้รับการสัมผัสกับโรค เป็นต้น ภายหลังการฉีดวัคซีนจะได้รับหนังสือรับรองการฉีดวัคซีน (International certificate of vaccination) หรือ Yellow book เพื่อใช้ประกอบในการเดินทางเข้าประเทศนั้น ๆ หากมีข้อสงสัยสามารถเข้าไปสอบถามเพิ่มเติมหรือโทรติดต่อได้ที่ 02-2520161-4 ต่อ 132
วีดิทัศน์เรื่อง การป้องกันโรคและสร้างภูมิคุ้มกัน
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังรูปภาพ
ชื่อ Galleryสถานเสาวภา สภากาชาดไทยGalleryชื่อ Galleryตึกสี่มะเส็งGalleryชื่อ GalleryสวนงูGalleryชื่อ GalleryการรีดพิษงูGalleryชื่อ GalleryคลีนิกชันสูตรGalleryชื่อ Galleryคลีนิกป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าGalleryชื่อ Galleryคลีนิกพิษจากสัตว์Galleryชื่อ Galleryคลีนิกภูมิคุ้มกันและอายุรศาสตร์การท่องเที่ยวGalleryชื่อ GalleryภาพพาโนรามาGallery
-
คลังวิดีทัศน์
สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
สวนงูและตึกสี่มะเส็ง
การลอกคราบและการสืบพันธุ์ของงู
จะรู้ได้อย่างไรว่าสุนัขมีเชื้อพิษสุนัขบ้า
ถูกสุนัขบ้ากัดต้องทำอย่างไร
ทำอย่างไรดีเมื่อถูกงูกัด
พิษจากสัตว์ชนิดอื่นๆ
การป้องกันโรคและสร้างภูมิคุ้มกัน
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนนายไกรสิทธิ์ ตุระวิแสง โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้าผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนสถานเสาวภา สภากาชาดไทยผู้เขียนแผนการสอน
-
คำที่เกี่ยวข้อง