แหล่งเรียนรู้สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา
- 1. การแนะนำ
- 2. ตัวชี้วัดและวัตถุประสงค์การเรียนรู้
- 3. ที่ตั้งและการเดินทาง
- 4. ความเป็นมา
- 5. องค์ประกอบของร่างกาย
- 6. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและระบบไหลเวียนโลหิต
- 7. การเสริมสร้างกล้ามเนื้อ
- 8. แอโรบิก ด๊านซ์
- 9. โยคะ [Yoga]
- 10. ซาวน่าและสตรีม
- 11. คลีนิกการกีฬา
- 12. วิทยาศาสตร์การกีฬากับการส่งเสริมกีฬา
- 13. เอกสารอ้างอิง
- - ทุกหน้า -
สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬาเริ่มขึ้นจากการเป็นคลินิกการกีฬา ในปี พ.ศ. 2524 โดย ดร.สำอาง พ่วงบุตร อธิบดีกรมพลศึกษาได้มอบหมายให้ ดร.จรวยพร ธรณินทร์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมพลศึกษาและสุขภาพ กรมพลศึกษา ในขณะนั้น จัดทำโครงการคลินิกการกีฬาขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการตรวจ รักษา และบำบัดนักเรียน นักศึกษา และนักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือแข่งขันกีฬา
กลับไปที่เนื้อหา
สาระ มาตรฐานและตัวชี้วัดชั้นปี ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1 – ม.3) และช่วงชั้นที่ 4 (ม.4 – ม.6)
สาระที่ 1 สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต
มาตรฐาน ว 1.1 เข้าใจหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ของโครงสร้าง และหน้าที่ของระบบต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตที่ทำงานสัมพันธ์กัน มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตของตนเองและดูแลสิ่งมีชีวิต
ตัวชี้วัด ม.2/1 อธิบายโครงสร้างและการทำงานของระบบย่อยอาหาร ระบบหมุนเวียนเลือด ระบบหายใจ ระบบขับถ่าย ระบบสืบพันธุ์ของมนุษย์และสัตว์ รวมทั้งระบบประสาทของมนุษย์
ม.2/2 อธิบายความสัมพันธ์ของระบบต่างๆ ของ มนุษย์และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
สาระที่ 5 พลังงาน
มาตรฐาน ว 5.1 เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานกับการดำรงชีวิต การเปลี่ยนรูปพลังงาน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสารและพลังงาน ผลของการใช้พลังงานต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม มีกระบวน การสืบเสาะหาความรู้ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด ม.4-6/4 อธิบายคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สเปกตรัมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และนำเสนอผลการสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์ และการป้องกันอันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
จุดประสงค์การเรียนรู้
1.เข้าใจความสัมพันธ์และความสำคัญของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
2.อธิบายความสำคัญของการตรวจสอบการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย
3.อธิบายหลักการทำงานของเครื่องมือในการตรวจสอบร่างกายบางชนิดได้
4.บอกความหมายของดัชนีมวลกายและการใช้ดัชนีมวลกายบอกสุขภาพโดยรวมของร่างกายได้
5.อธิบายหลักการทำงานของอุปกรณ์บางชนิดที่ใช้เสริมสร้างกล้ามเนื้อและระบบอื่นๆในร่างกายในห้อง fitness ได้
6.เข้าใจและอธิบายหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการออกกำลังกายแบบแอโรบิกด๊านซ์ การฝึกโยคะและการอบซาวน่าได้
7.อธิบายได้ว่าวิทยาศาสตร์การกีฬาช่วยพัฒนาสุขภาพของร่างกายและช่วยในการฝึกกีฬาได้อย่างไร
กลับไปที่เนื้อหา
สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา(Sport Science Bureau) กรมพละศึกษาตั้งอยู่ที่ภายในสนามกีฬาแห่งชาติหรือที่รู้จักกันดีว่าสนามศุภชลาสัย เลขที่ 154 สนามกีฬานิมิบุตร ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 สามารถเดินทางไปได้สะดวกทั้งรถประจำทาง รถยนต์และรถไฟฟ้ามหานคร สายสนามกีฬาศุภชลาศัย – สีลมซึ่งมีสถานีต้นทางอยู่ที่หน้าสนามกีฬาพอดี
กลับไปที่เนื้อหา
สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กรมพลศึกษา เดิมสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เริ่มจากการเป็นคลินิกการกีฬาเมื่อปี พ.ศ. 2524 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการตรวจ รักษา บำบัดนักเรียน นักศึกษาและนักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรือแข่งขันกีฬา ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ได้มีการปรับโครงสร้างกรมพลศึกษาใหม่ คลินิกการกีฬาเดิมได้เปลี่ยนมาเป็นส่วนวิทยาศาสตร์การกีฬา สำนักการกีฬา กรมพลศึกษา จนในปี พ.ศ. 2545 มีการปฏิรูประบบราชการได้มีการจัดตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาขึ้น โดยมีกรมพลศึกษาเป็นส่วนราชการภายใต้สังกัดของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จากนั้นเป็นต้นมาส่วนวิทยาศาสตร์การกีฬา จึงได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นสำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จนถึงปัจจุบัน
สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา แบ่งเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
1.กลุ่มบริหารงานทั่วไป
2.กลุ่มพัฒนาสมรรถภาพทางกาย
3.กลุ่มเวชศาสตร์การกีฬา
4.กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ
5.กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีทางการกีฬา
6.กลุ่มวิจัยและพัฒนา
งานบริการของสำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา มีดังนี้
คลินิกกีฬา กลุ่มเวชศาสตร์การกีฬา
ให้บริการทางการแพทย์ โดยการตรวจ ประเมิน ส่งเสริม แนะนำ ป้องกัน บำบัด รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ แก่ประชาชนผู้มีอาการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเปิดให้บริการ วันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00 - 16.30 น. หยุดวันเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาและการออกกำลังกาย กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ
ให้บริการศูนย์ออกกำลังกาย ด้วยอุปกรณ์ฟิตเนสมาตรฐานระดับสากล ประกอบไปด้วย
- ส่วนอุปกรณ์พัฒนาระบบหายใจและไหลเวียนเลือด (Cardio Exercise Machine)
- ส่วนอุปกรณ์พัฒนาและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ (Weight Training Machine and Free Weight)
- ส่วนห้องแอโรบิกด๊านซ์และโยคะ (Group Exercise Room: Aerobic Dance and Yoga)
- ส่วนห้องอบเซาว์น่าและอบไอน้ำ ตู้เก็บเสื้อผ้าและห้องอาบน้ำ (Sauna and Steam Room) (Locker and Shower Room)
เปิดให้บริการ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 07.00 - 12.00 น. และเวลา 15.00-20.00 น. วันเสาร์ เวลา 08.00 - 20.00 น. หยุดวันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
การทดสอบสมรรถภาพทางกาย กลุ่มพัฒนาสมรรถภาพทางกาย
ให้บริการทดสอบสมรรถภาพทางกายแก่นักเรียน นักศึกษา เยาวชนและประชาชน
วีดิทัศน์เรื่องสำนักวิทยาศาสตร์การกีฬาคืออะไร
กลับไปที่เนื้อหา
เราจะทราบได้อย่างไรว่าร่างกายของเราแข็งแรง มีสุขภาพดีหรือไม่ เราต้องดูที่องค์ประกอบของร่างกายซึ่งประกอบด้วยระบบการทำงานหลายระบบ เช่น ระบบการหายใจ ระบบการย่อยอาหาร ระบบกล้ามเนื้อ ระบบการไหลเวียนโลหิตเหล่านี้ เป็นต้น ถ้าการทำงานของระบบต่าง ๆ เป็นไปอย่างปกติ แสดงว่าร่างกายของเราแข็งแรง มีสุขภาพดี โรคภัยต่าง ๆ มารบกวนได้ยาก ในการตรวจวัดการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายนี้ ปัจจุบันวิทยาศาสตร์การกีฬามีส่วนอย่างมากที่จะตรวจสอบองค์ประกอบต่าง ๆ ที่จำเป็นของร่างกาย สามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทั้งเครื่องมือและวิธีการช่วยในการตรวจสอบที่ได้ผลเป็นตัวเลขที่เที่ยงตรงและนำไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานที่เชื่อถือได้ เมื่อทราบว่าระบบใดของร่างกายยังบกพร่องก็สามารถสร้างเสริมระบบนั้นให้แข็งแรงต่อไป
ดัชนีมวลกาย (Body mass index : BMI) เป็นตัวเลขที่ได้จากการวัดปริมาณมวลเนื้อเยื่อทั้งกล้ามเนื้อ ไขมันและกระดูกในร่างกายของแต่ละคนแล้วนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อดูว่า คนๆนั้น มีร่างกายอ้วนหรือผอมเกินไป เสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บอะไรได้บ้าง
ดัชนีมวลกาย หาได้จากการชั่งมวลของร่างกายในหน่วยกิโลกรัม และวัดความสูงในหน่วยเมตร แล้วจึงหาค่าดัชนีมวลกายด้วยสมการ
กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้เกณฑ์ในการจำแนกค่าดัชนีมวลกายไว้ดังนี้
วีดิทัศน์เรื่องมาทดสอบสมรรถภาพของร่างกายกันเถอะ
กลับไปที่เนื้อหา
ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อที่เราใช้ในชีวิตประจำวันมีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน เช่น กลุ่มกล้ามเนื้อหน้าอก กล้ามเนื้อไหล่ กล้ามเนื้อหลังส่วนบน กลุ่มกล้ามเนื้อลำตัว กลุ่มกล้ามเนื้อขา สะโพกและหลังส่วนล่าง เป็นต้น กล้ามเนื้อแต่ละส่วนสามารถวัดความแข็งแรงได้ด้วยเครื่องมือและมีเกณฑ์มาตรฐานสำหรับเปรียบเทียบเช่นเดียวกัน กล้ามเนื้อกลุ่มใดที่วัดได้ค่าที่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ก็สามารถใช้วิทยาศาสตร์การกีฬาช่วยเสริมสร้างให้แข็งแรงขึ้นได้
ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบการหายใจ ปอด หัวใจ เหล่านี้มีผลต่อสมรรถนะของร่างกาย เมื่อระบบการหายใจดี สามารถรับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายได้มาก โลหิตจะเป็นตัวนำออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย เมื่อระบบการไหลเวียนโลหิตดี ร่างกายจะแข็งแรงลดอาการความดันโลหิตผิดปกติ หัวใจแข็งแรง การตรวจสอบระบบไหลเวียนโลหิตมีตั้งแต่การวัดความจุของปอด ผู้ที่มีปอดใหญ่จะรับออกซิเจนได้มาก ไม่เหนื่อยง่ายเมื่อมีการออกกำลัง การวัดชีพจรเมื่อมีการออกกำลังจะบ่งบอกถึงความแข็งแรงของหัวใจ การหมุนเวียนโลหิตและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ
การออกกำลังกายจะช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น โดยในการออกกำลังกายแต่ละครั้ง ถ้าจะให้ได้ประโยชน์ต่อหัวใจ ปอดและระบบไหลเวียนโลหิต จะต้องออกกำลังกายให้หัวใจหรือชีพจรเต้นระหว่าง 60-80% ของความสามารถสูงสุดที่หัวใจของคนๆ นั้นจะเต้นได้ อัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดหาได้ดังนี้
ตัวอย่างเช่น คนที่มีอายุ 50 ปี มีความสามารถสูงสุดที่หัวใจจะเต้นได้ (MHR) = 220 - 50 = 170 ครั้งต่อนาที นั่นคือ ชีพจรเป้าหมาย = 170 x 60/100 ถึง 170 x 80/100 = 102 ถึง 136 ครั้งต่อนาที
แสดงว่าการออกกำลังกายที่เป็นประโยชน์ต่อหัวใจ ปอดและระบบหมุนเวียนโลหิต ควรออกกำลังเพื่อให้ ชีพจรเต้นเพียงระหว่าง 60-80% ของ 170 ครั้งต่อนาที คือ ระหว่าง 102-136 ครั้งต่อนาที
วีดิทัศน์เรื่องการทดสอบสมรรถภาพของกล้ามเนื้อและการไหลเวียนของโลหิต
คำถาม
- นักเรียนที่มีอายุ 15 ปี ควรออกกำลังจนชีพจรเต้นกี่ครั้งต่อนาที จึงมีประโยชน์ต่อระบบหมุนเวียนโลหิต
กลับไปที่เนื้อหา
จากการตรวจสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแต่ละกลุ่ม ทำให้เราทราบว่ากล้ามเนื้อกลุ่มใดที่ยังไม่แข็งแรง เราสามารถเสริมสร้างกล้ามเนื้อกลุ่มนั้นให้แข็งแรงได้โดยใช้วิทยาศาสตร์การกีฬา เช่นใช้อุปกรณ์ต่าง ๆเข้าช่วย หรือที่ทั่วไปรู้จักในชื่อของ Fitness การใช้อุปกรณ์แต่ละชนิดควรอยู่ในความควบคุมและคำแนะนำของผู้ฝึกสอน เพราะอุปกรณ์เหล่านี้หากใช้ไม่ถูกวิธีอาจทำให้เกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อได้ อุปกรณ์ที่ใช้เสริมสร้างกล้ามเนื้อมีหลายแบบและหลายชนิด เช่น
CHEST PRESS ใช้ในการฝึกและการบริหารกล้ามเนื้อบริเวณหน้าอกเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและขนาดของกล้ามเนื้อหน้าอกให้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น
HAMMER STRENGTH ใช้ในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลำตัว แขน และหัวไหล่
FLY/REAR DELT เสริมสร้างและพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าอก กล้ามเนื้อไหล่ด้านหน้าและด้านหลัง กล้ามเนื้อแขนส่วนหน้าและด้านหลัง กล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง
TOSO ROTATION ใช้ในการบริหารเพื่อสร้างเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลำตัวด้านข้าง ทั้งกล้ามเนื้อ Internal Abdominal Obliqueและกล้ามเนื้อ External Abdominal Oblique ทั้งสองข้าง
ABDOMINAL CRUCH ใช้ในการสร้างเสริมและพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าท้อง
LEG EXTENTION ใช้ในการสร้างเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าและกลุ่มกล้ามเนื้อสามเหลี่ยมบริเวณขา นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ที่ใช้เสริมสร้างอีกมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดใช้เสริมสร้างกล้ามเนื้อแต่ละส่วนที่แตกต่างกัน
วีดิทัศน์เรื่องการเสริมสร้างสมรรถภาพกล้ามเนื้อและการฟื้นฟูระบบไหลเวียนโลหิต
กลับไปที่เนื้อหา
เป็นการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่งของการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่มีการใช้ออกซิเจนในขณะออกกำลังกาย แอโรบิกด๊านซ์เป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมจากคนทุกเพศทุกวัย เพราะเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดความสนุกสนาน ทำได้ทุกสถานที่ ทำคนเดียวหรือทำเป็นกลุ่มก็ได้ และยังเป็นการออกกำลังกายที่ช่วยสร้างคนให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง สร้างความสนุกสนาน สร้างเพื่อน สร้างสังคม สร้างความมั่นใจ สร้างภูมิต้านทานโรคต่าง ๆ ให้แก่ร่างกาย การออกกำลังกายที่เป็นแอโรบิก ต้องมีองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ๆ เช่น แขน ขาในการออกกำลัง การออกกำลังต้องหนักพอ ใช้เวลาในการออกกำลังนานพอ และการออกกำลังต้องทำติดต่ออย่างสม่ำเสมอ
แอโรบิกด๊านซ์ เป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่แตกต่างไปจากการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาประเภทอื่น เพราะมีการนำเอาท่าบริหารกายแบบต่าง ๆ ท่าการเคลื่อนไหวพื้นฐาน เช่น การเดิน การวิ่ง การกระโดด การก้าวเท้า และท่าในการเต้นรำต่าง ๆ มาผสมผสานกันอย่างกลมกลืนให้เข้ากับจังหวะเพลงหรือเสียงดนตรี สามารถปรับความหนักเบาของการออกกำลังได้ตามสภาวะที่เหมาะสมของแต่ละคน แอโรบิกด๊านซ์ ช่วยส่งเสริมการทำงานของหัวใจให้ดีขึ้น ช่วยสร้าง
ความอดทนและความแข็งแรงของหัวใจ ปอด ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบหายใจ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจับออกซิเจนของกล้ามเนื้อ ช่วยเผาผลาญพลังงานส่วนเกินของร่างกาย ทำให้มีรูปร่างและสัดส่วนที่สวยงาม และยังก่อให้เกิดความสนุกสนาน คลายเครียดอีกด้วย
กลับไปที่เนื้อหา
เป็นวิธีการยืดเหยียดกล้ามเนื้อผสมผสานกับระบบการหายใจ ใช้หลักการรวมกายและจิตให้เป็นหนึ่ง ดดยควบคุมจิตให้มีสมาธิ มีจิตที่ดีงามทำให้เกิดผลคือผู้ฝึกมีสุขภาวะที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ การฝึกโยคะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ประการ คือ การฝึกท่าโยคะหรือออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นอวัยวะและต่อมต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้น การฝึกจิตให้จดจ่ออยู่กับการควบคุมการหายใจเข้า-ออก ทำให้มีสุขภาพจิตดีขึ้น นำไปสู่ส่วนสุดท้ายคือ การมีสมาธิที่ดีขึ้น การฝึกโยคะในขั้นต้น ควรปฏิบัติตามที่ผู้ฝึกสอนแนะนำ
วีดิทัศน์เรื่องแอโรบิคกับโยคะ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ยังไง
กลับไปที่เนื้อหา
หลังจากการออกกำลังกาย เราสามารถคลายอาการปวดเมื่อยของกล้ามเนื้อได้ด้วย การอบซาวน่า (Sauna) การอบซาวน่าเป็นการกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทให้ทำงานได้อย่างมีสมดุลทั้งในขณะพักและในขณะออกกำลังกาย ทั้งยังทำให้อวัยวะต่างๆ ที่ควบคุมด้วยระบบประสาททำงานได้ดีขึ้น เช่น ระบบการไหลเวียนเลือด การหลั่งเหงื่อ การย่อยอาหารและการขับถ่าย การอบซาวน่าแบ่งได้ 2 ชนิด คือ ซาวน่าแบบแห้ง (Dry Sauna) และซาวน่าแบบไอน้ำ (Stream Sauna)
การอบซาวน่าแบบแห้ง (Dry Sauna) ใช้การเผาหินที่เรียกว่าหินซาวน่า ในห้องอบซาวน่าให้ร้อนจนเป็นสีแดง ใช้กระบวยตักน้ำราดไปบนหินเพื่อเพิ่มความชื้นของห้อง และมีอุณหภูมิประมาณ 60-70 องศา ซึ่งเหมาะต่อการอบ การราดน้ำจะราดครั้งละ 1-2 กระบวย แล้วเว้นระยะ 15 นาที ต่อการราดน้ำอีกครั้ง เพื่อให้น้ำระเหยกลายเป็นไอได้ความชื้นและอุณหภูมิที่พอเหมาะ หลังออกจากห้องอบซาวน่า ควรนั่งพักให้ร่างกายมีอุณหภูมิลดลงในระดับปกติ จึงค่อยอาบน้ำให้ร่างกายสะอาด การอบซาวน่าแบบไอน้ำ (Stream Sauna)หรือแบบเปียก ใช้ความร้อนจากใอน้ำที่มีอุณหภูมิประมาณ 40-55 องศาเซลเซียส ในการอบร่างกาย ต้องถอดเครื่องประดับให้หมด อาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาดและเปียกชุ่มแล้วเข้าอบตัวทันที โดยนั่งบนม้านั่งที่จัดไว้ ความร้อนของไอน้ำจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ทำให้ร่างกายมีการขับเหงื่อและสิ่งสกปรกออกมา
วีดิทัศน์เรื่องซาวน่า กับ การสตรีมคืออะไร
กลับไปที่เนื้อหา
ในกรณีที่นักกีฬาและประชาชนทั่วไป เกิดการบาดเจ็บเนื่องจากการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการบาดเจ็บในระบบโครงสร้างกระดูก ระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนโลหิต ตลอดจนระบบหายใจ สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬาก็มีคลีนิกการกีฬาที่ช่วยวินิจฉัย ประเมินการบาดเจ็บ บำบัดรักษาและฟื้นฟูเช่นดียวกับสถานพยาบาลทั่วไป และยังนำเอาวิธีการและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพมารักษาให้นักกีฬาและประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บกลับคืนสู่สภาพปกติให้มากที่สุด และรวดเร็วที่สุด
วีดิทัศน์เรื่องมารู้จักคลีนิกการกีฬากัน
กลับไปที่เนื้อหา
ปัจจุบันมีผู้สนใจกีฬามากขึ้นในทุกประเภทกีฬา และที่ได้ยินกันจนคุ้นหูคือคำว่า วิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งเป็นการนำเอาหลักทางวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์การกีฬาและวิทยาศาสตร์การแพทย์มาใช้ในการออกกำลังกายให้ได้ประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีความปลอดภัยมากที่สุด ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถูกนำมาใช้พัฒนา เสริมสร้างร่างกาย ตลอดจนเพิ่มพูนทักษะของนักกีฬาแต่ละประเภทที่ต้องการพัฒนาแตกต่างกันอย่างได้ผล ทำให้มีการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆทางการกีฬามากขึ้น ทั้งวิธีการและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการตรวจวัดได้อย่างเที่ยงตรงได้มาตรฐาน ตลอดจนเครื่องมือที่ใช้ในการฝึกทักษะทางกีฬาของนักกีฬาแต่ละประเภท ช่วยให้นักกีฬามีฝีมือและความชำนาญดียิ่งขึ้นตามลำดับจนสามารถก้าวขึ้นสู่ระดับโลกได้
กลับไปที่เนื้อหา
คณาฉันท์ อินอ่อน วนิดา พันธ์สอาด และนฤมล นันทพล การสร้างเสริมสุขภาพด้วยการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์การกีฬา สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด พ.ศ. 2552 , 172 หน้า.
ฉัตรทิราภรณ์ โลหพันธุ์วงศ์ และคณะ คู่มือการฝึกโยคะ สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทยจำกัด พ.ศ. 2550 , 80 หน้า.
วนิดา พันธ์สอาด และคณะ แอโรบิกด๊านซ์ สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาโรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด พ.ศ. 2555 , 140 หน้า.
http://sportscience.dpe.go.th/public/ebook.do
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังวิดีทัศน์
สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬาคืออะไร
มาทดสอบสมรรถภาพของร่างกายกันเถอะ
การทดสอบสมรรถภาพของกล้ามเนื้อและการไหลเวียนของโลหิต
การเสริมสร้างสมรรถภาพกล้ามเนื้อและการฟื้นฟูระบบไหลเวียนโลหิต
มารู้จักคลินิกการกีฬากัน
แอโรบิคกับโยคะ เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ยังไง
ซาวน่า กับ การสตรีมคืออะไร
นวัตกรรมเพื่อพัฒนาทักษะด้านกีฬา
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนนายอำพล หลักบุญ โรงเรียนดรุณาราชบุรีวิเทศศึกษาผู้เขียนแผนการสอนนางสาวสิรินทร์ ปัญญาคม โรงเรียนดรุณาราชบุรีวิเทศศึกษาผู้เขียนแผนการสอนนางพรจิตติ์ ทองคู้ โรงเรียนโสภณศิริราษฎร์ผู้เขียนแผนการสอนนางสาววิราวรรณ จงเจริญ โรงเรียนโสภณศิริราษฎร์ผู้เขียนแผนการสอนนางมัทนี เสียงเสนาะ โรงเรียนวัดห้วยจรเข้วิทยาคมผู้เขียนแผนการสอนนางอารียา แสงคำ โรงเรียน ภ.ป.ร.ราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์
-
คำที่เกี่ยวข้อง