แหล่งเรียนรู้อุตสาหกรรมเครื่องแก้วไทย
บริษัท อุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด(มหาชน) ดำเนินธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์แก้วในไทยมากว่า 60 ปี และได้เข้าร่วมทุนกับบริษัทออสเตรเลียน คอนโซลิเดดเต็ด อินดัสตรี จำกัด ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งต่อมาคือบริษัทโอเว่น อิลลินอยด์ และก่อตั้ง บริษัท ไทยกล๊าส แมนูแฟคเจอเรอร์ จำกัด โดยได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีที่ทันสมัย บริษัท ไทยกล๊าสฯ นับเป็นโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วที่ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติรายแรกในไทยและในเอเชีย ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตมากกว่า 2,400 ตันต่อวัน
กลับไปที่เนื้อหา
บริษัท อุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด(มหาชน) เป็นแหล่งเรียนรู้โรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทแก้ว ก่อตั้งโรงงานครั้งแรกในเขตราษฎร์บูรณะ ซึ่งเป็นการร่วมทุนกันระหว่างคนไทยกับบริษัทโอเว่น อิลลินอยด์ และก่อตั้งเป็นบริษัท ไทยกล๊าส แมนูแฟคเจอเรอร์ จำกัดหรือบริษัท อุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด(มหาชน) ในปัจจุบัน โดยได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีในการผลิต เช่น เครื่องจักรอัตโนมัติที่ทันสมัยรายแรกในประเทศไทย เมื่อความต้องการผลิตภัณฑ์แก้วมากขึ้นจึงทำให้บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงได้ขยายโรงงานมาตั้ง ณ ที่อยู่ปัจจุบัน
บรรจุภัณฑ์ของบริษัท ได้แก่ บรรจุภัณฑ์เพื่อส่งให้อุตสาหกรรมอื่นๆ ตามวัตถุประสงค์ทางการตลาดหรือตามประเภทผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งแบ่งประเภทบรรจุภัณฑ์ออกเป็นกลุ่มเช่น เครื่องดื่ม น้ำดื่มและโซดา อาหาร เวชภัณฑ์และยา
วีดิทัศน์เรื่องอุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย
กลับไปที่เนื้อหา
ประเภทของแก้ว
แก้วสามารถแบ่งประเภทตามส่วนผสมของวัตถุดิบและตามวัตถุประสงค์การใช้งานได้ 4 ประเภท คือ แก้วบอโรซิลิเกตหรือแก้วแข็ง (แก้วบอโรซิลิเกตหรือแก้วแข็ง ประกอบด้วยบอรอนออกไซด์ เป็นส่วนผสมหลัก มีค่า pH สูงกว่า 7 มีความทนทานต่อแรงกระแทก ความร้อนและความเครียด และมีความทนทานต่อการกัดกร่อนของสารเคมีได้ดีโดยเฉพาะทนทานต่อสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) แต่จะหลอมละลายได้ในสารละลายที่มีความเป็นกรดและเบสบางชนิด แก้วประเภทนี้เหมาะกับการนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ต้องทนต่อความร้อนสูง เช่น ประตูเตาอบ อุปกรณ์ที่ใช้ในห้องปฎิบัติการวิทยาศาสตร์ กระจกครอบหลอดไฟที่ใช้ภายในและภายนอกอาคารตลอดจนไฟหน้าของรถ) แก้วโซดาไลม์ที่ผ่านกรรมวิธีกำจัดความเป็นเบสที่ผิวแก้วด้านใน (แก้วโซดาไลม์ ประกอบด้วย หินปูน โซดาแอช และทรายแก้วเป็นส่วนผสมหลัก มีค่า pH 7 สามารถนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์ที่สามารถคงสภาวะค่า pH ได้ต่ำกว่า 7 ตลอดช่วงระยะเวลาการวางจำหน่ายสินค้า จึงสามารถนำไปใช้อย่างกว้างขวางทั้งในธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค และเวชภัณฑ์ เช่น เครื่องดื่ม อาหาร และยารักษาโรค รวมถึงกระจกหน้าต่างของอาคารบ้านเรือน) แก้วโซดาไลม์ที่ไม่ผ่านกรรมวิธีกำจัดความเป็นเบสที่ผิวแก้วด้านใน (แก้วโซดาไลม์ที่ไม่ผ่านกรรมวิธีกำจัดความเป็นเบสที่ผิวแก้วด้านใน สามารถนำไปใช้บรรจุเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม อาหาร เวชภัณฑ์และยา รวมไปถึงบรรจุผลิตภัณฑ์ที่เป็นผงแห้งแต่ต้องนำไปทำให้เจือจางเพื่อทำเป็นบัฟเฟอร์หรือสารละลายที่สามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลงค่า pH ของสารละลายได้) และแก้ว NP (แก้ว NP ผลิตมาจากแก้วโซดาไลม์ จัดเป็นแก้วอเนกประสงค์ที่นิยมใช้มากในการบรรจุยาใช้ภายนอกเฉพาะที่ หรือยาที่ใช้รับประทานที่ไม่ต้องคำนึงถึงสภาพความคงทนทางเคมีของยาหรือปฏิกิริยาจากความร้อน)
กระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว
กระบวนการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ คือ
กระบวนการส่วนร้อน ประกอบด้วย
1. การเตรียมวัตถุดิบโดยตรวจสอบคุณสมบัติทางเคมีและทางกายภาพ
2. การชั่งน้ำหนักและผสมวัตถุดิบ
3. การหลอมวัตถุดิบ
4. การขึ้นรูป
5. การอบ
กระบวนการส่วนเย็น ประกอบด้วย
6. การตรวจสอบและควบคุมคุณภาพ
7. การพิมพ์สี (ถ้ามีความต้องการของลูกค้า)
8. การบรรจุหีบห่อและการจัดเก็บ
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ วัตถุดิบหลัก และวัตถุดิบเสริม
วัตถุดิบหลัก
1. ทรายแก้วหรือทรายซิลิกา เป็นทรายที่มีซิลิคอนออกไซด์ (SiO2) มากกว่าร้อยละ 99.5 ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลิตแก้ว
2. โซเดียมคาร์บอเนต หรือ โซดาแอช (Na2CO3) ใช้ลดจุดหลอมเหลวของซิลิกาจาก 1,700 oC ให้เหลือ 1,200 oC เพื่อการประหยัดพลังงาน
3. หินปูนหรือแคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) เรียกอีกอย่างว่า แร่ลามสโตน (Limestone) ใช้เพื่อเพิ่มความแข็งแรงทนทานของเนื้อแก้วและความทนทานต่อสารเคมี เนื่องจากมีส่วนประกอบของแคลเซียม อาจใช้แร่โดโลไมท์ทดแทนได้
4. หินฟันม้า เรียกอีกอย่างว่า แร่เฟลด์สปา (Feldspar) ใช้เพิ่มความคงทนและความแวววาวของเนื้อแก้ว เนื่องจากมีส่วนประกอบของอลูมินาหรืออลูมิเนียมออกไซด์ (Al2O3)
5. เศษแก้ว เป็นการนำแก้วที่ใช้แล้วมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพื่อช่วยประหยัดพลังงานในการหลอมวัตถุดิบได้ร้อยละ 10-15
วัตถุดิบเสริม
1. โซเดียมซัลเฟต (Na2SO4) เป็นเกลือโซเดียมของกรดกำมะถัน เป็นผลึกสีขาว ละลายน้ำได้ ใช้เพื่อกำจัดฟองอากาศที่อยู่ในแก้วหลอม
2. ผงถ่านหรือคาร์บอน (C) ใช้เพื่อเร่งปฏิกิริยาในการหลอมเหลว ควบคู่กับซอลท์เค้ก ทำให้แก้วมีความบริสุทธิ์
3. ซีลีเนียม (Se) ใช้กำจัดสีส่วนเกินที่ไม่ต้องการในแก้วใส
4. ไอรอนออกไซด์ (Fe2O3) ใช้เพื่อการทำให้แก้วเป็นสีอำพัน (สีชา)
5. แร่โครไมต์ (FeCr2O4) ใช้เพื่อการทำให้แก้วเป็นสีเขียว
วีดิทัศน์เรื่องแก้วผลิตจากอะไรนะ
กลับไปที่เนื้อหา
หลักการคิดค้นสูตรเคมีของการหลอมบรรจุภัณฑ์แก้ว มีขั้นตอนดังนี้
1. กำหนดค่าออกไซด์ของบรรจุภัณฑ์แก้วที่จะผลิตขึ้น
2. นำวัตถุดิบที่จัดเตรียมไว้มาวิเคราะห์หาคุณสมบัติทางเคมีและทางกายภาพ เพื่อนำวัตถุดิบมาใช้คิดค้นสูตรเคมีโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์คำนวณและวิเคราะห์คุณสมบัติ อุณหภูมิ ณ จุดหลอมเหลวที่เหมาะสม
3. ทดลองหลอมและขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์แก้วตามสูตรเคมี ทดสอบความทนทานต่อแรงกระแทกและความเครียด(ความเครียด เป็นผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของอุณหภูมิที่กระทำต่อวัตถุ ส่งผลให้เกิดรอยร้าวหรือแตก บรรจุภัณฑ์แก้วโดยทั่วไปจะทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่เปลี่ยนในเวลาอันรวดเร็วได้ที่ความแตกต่างประมาณ 42 oC ) และความทนทานต่อการกัดกร่อนของสารเคมี ตรวจสอบการเกิดฟองอากาศและการเกิดฝ้าขาว (การเกิดฝ้าขาวหรือคราบขาวบนบรรจุภัณฑ์แก้วเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ยาก ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า blooming หรือ weathering และเป็นผลมาจากการที่ผิวแก้วทำปฏิกิริยาเคมีกับคาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และความชื้นในอากาศ เป็นผลให้เกิดการก่อตัวของโซเดียมคาร์บอเนตและแคลเซียมคาร์บอเนตขึ้นที่พื้นผิว ซึ่งสามารถใช้น้ำร้องล้างออกได้ แต่หากเกิดเป็นวงกว้าง ควรทำความสะอาดด้วยกรดไฮโดรคลอริก (HCl) เข้มข้นร้อยละ 5 หรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) เข้มข้นร้อยละ 5 ที่อุณหภูมิ 70 ถึง 80oC ) บันทึกข้อมูลต่างๆ
4. วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ และปรับปรุงแก้ไขจนได้สูตรเคมีที่เหมาะสม เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตจริง
การเปลี่ยนสีของบรรจุภัณฑ์แก้ว
บรรจุภัณฑ์แก้ว สามารถผลิตเป็นสีใดๆ นั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้าโดยใช้เทคโนโลยีและสารประกอบทางเคมีการในปรับแต่งสีของแก้ว ซึ่งสีของแก้วที่มีการใช้งานอยู่มีเพียง 3 สี คือ สีแก้ว (ใส) สีอำพัน(สีชา) และสีเขียว
ปกติแก้วที่หลอมและขั้นรูปออกมาจะให้สีใสค่อนข้างเขียว ไม่ใสอย่างแท้จริง เนื่องจากทรายแก้วมีระดับไอรอนออกไซด์สูง ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนสีของแก้วให้ใสโดยการเพิ่มซีลีเนียม เพื่อกำจัดสีส่วนเกินที่ไม่ต้องการทำให้แก้วใสขึ้น เรียกแก้วใสอีกอย่างว่า แก้วฟลินท์
หากต้องการทำให้สีแก้วมีสีเขียว สามารถปรับเปลี่ยนสีของแก้วโดยการเพิ่มแร่โครไมต์ และหากต้องการ ทำให้สีแก้วมีสีอำพัน (สีชา) สามารถปรับเปลี่ยนสีของแก้วโดยการเพิ่มไอรอนออกไซด์ โดยใช้คาร์บอนและซอลท์เค้ก (ซอลท์เค้ก (Na2SO4) เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมกรดเกลือที่เกิดจากปฎิกิริยา 2NaCl + H2SO4 -->Na2SO4 + 2HCl ซึ่งมักจะไม่บริสุทธิ์ การใช้ซอลท์เค้กจึงใช้ควบคู่กับผงถ่านหรือคาร์บอน เพื่อรีดิวส์ให้เป็นซัลไฟต์
ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนแปลงภายใต้สภาวะการณ์หลอมแก้วได้ง่ายกว่า) เป็นตัวเร่งปฎิกิริยาเคมี เพื่อช่วยทำปฎิกิริยากับซิลิกาที่ตกค้างที่อุณหภูมิสูงๆ ทำให้ซิลิกาละลายได้หมด ถ้าหากซิลิกาละลายไม่หมดจะเกิดการรวมตัวกันละลายบนผิวหน้าของแก้วเหลวได้
การชั่งวัตถุดิบและการผสมวัตถุดิบ
การชั่งน้ำหนักวัตถุดิบจะต้องมีความแม่นยำ มีสัดส่วนที่ถูกต้องตามสูตรเคมี ของบรรจุภัณฑ์แก้วแต่ประเภท ควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ จากนั้นวัตถุดิบจะถูกส่งไปยังเครื่องผสมเพื่อทำการผสมเข้าด้วยกัน วัตถุดิบที่ผสมกันเรียบร้อยดีแล้วหรือที่เรียกว่าส่วนผสมของวัตถุดิบจะถูกจัดเก็บไว้ในไซโล เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการป้อนเข้าเตาหลอม วัตถุดิบจะถูกลำเลียงเข้าเตาหลอมอย่างต่อเนื่อง
การหลอม
เตาหลอมที่ใช้ในโรงงานแห่งนี้เป็นเตาหลอมลักษณะรังผึ้ง ซึ่งมีการใช้งาน 2 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนของการเก็บสะสมความร้อนของรังผึ้ง และส่วนของการนำความร้อนไปใช้เพื่อทำให้เกิดการเผาไหม้ในเตาหลอม การเผาไหม้ของเตาหลอม มีองค์ประกอบสำคัญคือ
1. เชื้อเพลิง นิยมใช้แก๊สธรรมชาติ เนื่องจากเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงอื่นๆ
2. ความร้อน ได้มาจากส่วนของรังผึ้งของเตาหลอมที่สะสมความร้อนในระหว่างการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง
3. ออกซิเจน ได้มาจากการใช้พัดลมช่วยเป่าอากาศให้ไหลเวียนผ่านรังผึ้งที่ร้อนเพื่อพาความร้อนไปใช้ในการหลอมวัตถุดิบ
การหลอมวัตถุดิบผสมที่อุณหภูมิประมาณ 1,500 oC เพื่อทำให้วัตถุดิหลอมเหลว เมื่อวัตถุดิบหลอมเหลวแล้วจะเรียกว่า น้ำแก้ว ซึ่งมีลักษณะคล้ายลาวา จากนั้นจะมีการปรับแต่งอุณหภูมิน้ำแก้วโดยใช้หัวเผาแก๊สแอลพีจี(ปิโตรเลียมเหลว) หรือแก๊สธรรมชาติ ในเวิร์กกิ้งเอนด์ (working end) แก้วที่หลอมและปรับอุณหภูมิสม่ำเสมอแล้วจะไหลผ่านไปทางฟอร์ฮาร์ท (forehearth) เพื่อนำไปขึ้นรูปต่อไป ซึ่งกระบวนการต่างๆ เหล่านี้จะถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในห้องควบคุมส่วนกลาง
วีดิทัศน์เรื่อง ขวดแก้วกับการวิจัยและพัฒนา
กลับไปที่เนื้อหา
การชั่งวัตถุดิบและการผสมวัตถุดิบ
การชั่งน้ำหนักวัตถุดิบจะต้องมีความแม่นยำ มีสัดส่วนที่ถูกต้องตามสูตรเคมี ของบรรจุภัณฑ์แก้วแต่ ประเภท ควบคุมโดยระบบคอมพิวเตอร์ จากนั้นวัตถุดิบจะถูกส่งไปยังเครื่องผสมเพื่อทำการผสมเข้าด้วยกัน วัตถุดิบที่ผสมกันเรียบร้อยดีแล้วหรือที่เรียกว่า ส่วนผสมของวัตถุดิบ จะถูกจัดเก็บไว้ในไซโล เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการป้อนเข้าเตาหลอม วัตถุดิบจะถูกลำเลียงเข้าเตาหลอมอย่างต่อเนื่อง
การหลอม
เตาหลอมที่ใช้ในโรงงานแห่งนี้เป็นเตาหลอมลักษณะรังผึ้ง ซึ่งมีการใช้งาน 2 ส่วนสำคัญ คือ ส่วนของการเก็บสะสมความร้อนของรังผึ้ง และส่วนของการนำความร้อนไปใช้เพื่อทำให้เกิดการเผาไหม้ในเตาหลอม การเผาไหม้ของเตาหลอม มีองค์ประกอบสำคัญคือ
1.เชื้อเพลิง นิยมใช้แก๊สธรรมชาติ เนื่องจากเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ
เชื้อเพลิงอื่นๆ
2.ความร้อน ได้มาจากส่วนของรังผึ้งของเตาหลอมที่สะสมความร้อนในระหว่างการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง
3.ออกซิเจน ได้มาจากการใช้พัดลมช่วยเป่าอากาศให้ไหลเวียนผ่านรังผึ้งที่ร้อนเพื่อพาความร้อนไปใช้ในการหลอมวัตถุดิบ การหลอมวัตถุดิบผสมที่อุณหภูมิประมาณ 1,500 องศาเซลเซียส เพื่อทำให้วัตถุดิบหลอมเหลว เมื่อวัตถุดิบหลอมเหลวแล้วจะ เรียกว่า น้ำแก้ว ซึ่งมีลักษณะคล้ายลาวา จากนั้นจะมีการปรับแต่งอุณหภูมิน้ำแก้วโดยใช้หัวเผาแก๊สแอลพีจี (ปิโตรเลียมเหลว) หรือแก๊สธรรมชาติ ในเวิร์กกิ้งเอนด์ (working end) แก้วที่หลอมและปรับอุณหภูมิสม่ำเสมอ แล้วจะไหลผ่านไปทางฟอร์ฮาร์ท (forehearth) เพื่อนำไปขึ้นรูปต่อไป ซึ่งกระบวนการต่างๆ เหล่านี้จะถูกควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในห้องควบคุมส่วนกลาง
วีดิทัศน์เรื่องการหลอมแก้ว
กลับไปที่เนื้อหา
การขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์แก้วเริ่มจากที่ปลายฟอร์ฮาร์ท (forehearth) น้ำแก้วจะถูกตัดเป็นหยดแก้วหรือก้อนแก้ว (Gob) (หยดแก้วหรือก้อนแก้ว 1 ก้อนจะได้บรรจุภัณฑ์ 1 ใบ โดยหยดแก้วที่ตัดลงมาจะมีอุณหภูมิประมาณ 1,175 oC) ด้วยเครื่องป้อนแก้วให้มีขนาด รูปร่าง และอุณหภูมิที่พอเหมาะกับการขึ้นรูปของบรรจุภัณฑ์นั้น ๆ หยดแก้วจะถูกส่งเข้าไปในแม่พิมพ์ด้านแบลงก์ (Blank) เพื่อขึ้นรูปในขั้นต้นที่เรียกว่า พาริสัน (parison) ซึ่งการขึ้นรูปพาริสันจะมีรูปร่างใกล้เคียงกับบรรจุภัณฑ์จริง จากนั้นพาริสันจะถูกเหวี่ยงไปยังด้านโมลด์ (Mould) เพื่อขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สมบูรณ์ โดยกรรมวิธีขึ้นรูปมี 3 วิธีที่นิยมใช้กันคือ
1. วิธีการขึ้นรูปแบบ Blow-and –Blow (BB) ใช้แรงอากาศดันหยดแก้สให้เข้าที่ตามรูปร่างของแม่พิมพ์เพื่อขึ้นรูปหยดแก้วให้เป็นพาริสัน แล้วจะถูกส่งไปยังแม่พิมพ์ด้านโมลด์ และจะถูกเป่าลมอีกครั้งด้วยลมแรงสูงเพื่อขึ้นรูปขั้นตอนสุดท้าย วิธีการนี้สามารถใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วที่มีความหนาของคอขวดแตกต่างกันได้ โดยทั่วไป กระบวนการนี้จะใช้สำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วปากแคบ
2. วิธีขึ้นรูปแบบ Press-and-Blow (PB) เมื่อขึ้นรูปพาริสันแล้วจะถูกส่งไปยังแม่พิมพ์ด้านโมลด์ ซึ่งจะมีลมแรงดันสูงเป่าขึ้นรูปให้เป็นรูปร่างตามที่ต้องการ วิธีนี้เหมาะสำหรับการผลิตขวดปากกว้าง
3. วิธีขึ้นรูปแบบ Narrow Neck Press-and-Blow (NNPB) เมื่อขึ้นรูปพาริสันแล้วจะถูกเป่าให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีการกระจายของเนื้อแก้วที่สม่ำเสมอกว่าวิธีการผลิตแบบ Blow and Blow วิธีขึ้นรูปแบบ NNPB ใช้สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วปากแคบชนิดใช้ครั้งเดียวที่มีน้ำหนักเบา
ขวดแก้วร้อนที่ออกจากเครื่องขึ้นรูปจะถูกส่งผ่านสายพานลำเลียงไปยังรางอบ การอบคือ กระบวนการให้ความร้อนกับบรรจุภัณฑ์แก้วจนกระทั่งถึงจุดที่ลดความเครียด ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่แก้วมีความแข็งเกินกว่าจะเปลี่ยนรูปร่างได้ แต่มีความอ่อนตัวพอที่จะลดความเครียดภายในได้ จากนั้นบรรจุภัณฑ์จะถูกปล่อยให้อบความร้อนซ้ำจนกระทั่งอุณหภูมิร้อนสม่ำเสมอทั่วกันแล้วปล่อยให้เย็นตัวลงอย่างช้าๆ จนกระทั่งอุณหภูมิลดต่ำกว่าจุดวิกฤติที่ไม่มีความเครียดเกิดขึ้นภายในอีก และปล่อยให้บรรจุภัณฑ์มีอุณหภูมิเท่ากับห้อง ซึ่งจะทำให้บรรจุภัณฑ์มีอายุการใช้งานยาวนาน
วีดิทัศน์เรื่องการขึ้นรูปแก้ว
กลับไปที่เนื้อหา
การตรวจสอบและควบคุมคุณภาพมีความสำคัญมากเพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพของบรรจุภัณฑ์ โดยทำการตรวจสอบดังนี้
- การตรวจสอบทางกายภาพ โดยตรวจหาตำหนิในเนื้อแก้วและลักษณะภายนอก ตำหนิโดยทั่วไป เช่น รอยร้าวในเนื้อแก้ว และหินซึ่งเป็นส่วนของอิฐจากเตาหลอมที่อาจหลุดออกและละลายปนมาในน้ำแก้ว บรรจุภัณฑ์ที่มีตำหนิจะถูกคัดออก สำหรับใช้เป็ยวัตถุดิบในการผลิตต่อไป
- การตรวจสอบน้ำหนักและปริมาตรความจุ ขนาดของปากบรรจุภัณฑ์ ความหนาของก้นบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะมีผลต่อแรงดันที่บรรจุภัณฑ์จะรับได้ การเสียรูปทรงของบรรจุภัณฑ์ และความบางของไหล่บรรจุภัณฑ์ซึ่งมีผลต่อการขนส่งสินค้าเนื่องจากบรรจุภัณฑ์จะมีการกระแทกซึ่งกันและกัน หากไม่ได้มาตรฐานจะทำให้บรรจุภัณฑ์แตกเสียหายในระหว่างการขนส่งได้ ซึ่งตรวจสอบนี้จะใช้คนร่วมกับเครื่องตรวจอัตโนมัติและเครื่องกล ซึ่งกำหนดค่าต่างๆ ในโปรแกรม โดยเครื่องจะมีเซ็นเซอร์แสงวัดค่าตามกำหนดของบรรจุภัณฑ์ที่ไหลผ่านมาตามราง
การควบคุมคุณภาพในห้องปฎิบัติการ
บรรจุภัณฑ์แก้วที่ผ่านเครื่องตรวจอัตโนมัติและเครื่องกลแล้วจะถูกสุ่มตรวจโดยเครื่องมือตรวจสอบทางกายภาพและนำไปทดสอบคุณลักษณะอื่นๆ เช่น การทนต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโดยเฉียบพลันหรือความเครียด ความทนทานต่อแรงอัด และความทนทานต่อแรงกระแทก บรรจุภัณฑ์แก้วที่ไม่ผ่านการตรวจสอบจะถูกคัดแยก เพื่อทำการตรวจสอบซ้ำหรือทำลายทิ้ง เป็นวัตถุดิบในการผลิตต่อไป
วีดิทัศน์เรื่องการตรวจสอบทงกายภาพ
กลับไปที่เนื้อหา
การตรวจสอบคุณภาพด้วยแสงที่โรงงานใช้ มี 2 หลักการสำคัญคือ
1. การใช้แสงสะท้อนตรวจวัดรอยร้าวต่างๆ ของบรรจุภัณฑ์ โดยการยิงแสงไปยังจุดที่ต้องการตรวจสอบ หากแสงสะท้อนมายังตัวรับแสง พบว่าจุดดังกล่าวของบรรจุภัณฑ์เกิดรอยร้าวหรือมีปัญหา ระบบจะคัดแยกบรรจุภัณฑ์นั้นออกโดยอัตโนมัติ และการใช้เลเซอร์ตรวจจับการเสียรูปทรงของบรรจุภัณฑ์ เช่น การบิด เบี้ยว หรือการเอียงของคอขวด
2. การถ่ายภาพตรวจสอบสิ่งผิดปกติแล้วประมวลผล (Image processing) ระบบจะทำการถ่ายภาพบรรจุภัณฑ์ที่เคลื่อนที่ผ่านเพื่อหาวัตถุทึบแสงที่อยู่ภายในเนื้อแก้วและประมวลผลว่าสิ่งผิดปกติเกิดจากสาเหตุใด เช่น โลหะ หิน หากตรวจสอบพบระบบจะคัดแยกบรรจุภัณฑ์นั้นออกโดยอัตโนมัติ
การตรวจสอบแรงดันในบรรจุภัณฑ์แก้ว
การตรวจสอบแรงดันในบรรจุภัณฑ์แก้ว โดยจะใช้การสุ่มบรรจุภัณฑ์ทุกเบ้าหลอม ในทุก 1 ชั่วโมง จำนวน รอบละ 4 ใบ นำมาทดสอบตามระดับค่าแรงดันที่ต้องการ ตัวอย่างเช่น แรงดัน 15 kg/cm2 ถ้าบรรจุภัณฑ์รับแรงดันได้ต่ำกว่าค่าที่ต้องการ ระบบจะคัดแยกบรรจุภัณฑ์นั้นออกโดยอัตโนมัติ เพื่อทำลายทิ้งเป็นวัตถุดิบในการผลิตต่อไป
วีดิทัศน์เรื่องการตรวจสอบคุณภาพด้วยแสง
กลับไปที่เนื้อหา
การจัดเรียงบรรจุภัณฑ์แก้ว
การจัดเรียงบรรจุภัณฑ์แก้วจะเรียงตามแพ็กกิ้งชาร์ต (Packing chart) ที่กำหนดไว้ตามการขนส่งซึ่งจะจัดเป็นพาเลท กำหนดให้ 1 พาเลท ประกอบด้วยบรรจุภัณฑ์แก้วที่เรียงไว้ จำนวน 6 ชั้น โดย 1 ชั้นจะบรรจุสินค้าไว้ จำนวน 16 ใบ และ 15 ใบ สลับกัน เพื่อให้บรรจุภัณฑ์แก้วพิงกัน ทำให้เกิดความสมดุลภายในพาเลท
ขั้นตอนการบรรจุสินค้า
1. ใช้ Stacker นับจำนวนแถวของบรรจุภัณฑ์แก้ว แล้วลำเลียงไปรวมที่เทเบิล
2. ใช้ Head liter ให้ลมดันบรรจุภัณฑ์แก้วขึ้น เป็นการคีบบรรจุภัณฑ์แก้วนำไปเรียงบรรจุลงในกระบะเป็นชั้นๆ จนครบทั้ง 6 ชั้น (1 พาเลท)
3. ปิดด้วยกระดาษ 2 ชั้น เป็น Top frame เพื่อรองรับแรงจากการรัดของเชือกที่มัดรั้งไม่ให้บรรจุภัณฑ์แก้วเอียงล้มขณะขนส่ง
4. พันด้วยฟิล์มขึ้นและลง จำนวน 1 รอบ เพื่อป้องกันน้ำค้าง ฝน สัตว์รบกวนขณะขนส่งและระหว่างการพักสินค้าเพื่อรอส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า
5. ติดป้ายบอกรายละเอียดการผลิต เพื่อให้ลูกค้าตรวจสอบรายละเอียดของบรรจุภัณฑ์แก้วและการติดต่อบริษัทเมื่อบรรจุภัณฑ์แก้วนั้นๆ เกิดปัญหาขึ้น
วีดิทัศน์เรื่องการบรรจุและการขนส่ง
เอกสารอ้างอิง
กรมทรัพยากรธรณี. 2559. โครไมต์. (Online) http://www.dmr.go.th/main.php?filename=chromite,13 ตุลาคม 2559.
บริษัท อุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย จำกัด (มหาชน). 2554. หกทศวรรษทีจีไอ: ศาสตร์และศิลป์แห่งการรังสรรค์งานแก้ว. บริษัท อุตสาหกรรมทำเรื่องแก้วไทย จำกัด (มหาชน). สมุทรปราการ.
สถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ. 2559. อลูมินา วัสดุสารพัดประโยชน์. (Online) http://www.material.chula.ac.th/RADIO44/FEBRUARY/RADIO2-5.HTM), 13 ตุลาคม 2559
กลับไปที่เนื้อหา
มาตรฐานการเรียนรู้/ตัวชี้วัด
มาตรฐาน ว 3.1 เข้าใจสมบัติของสาร ความสัมพันธ์ระหว่างสมบัติของสารกับโครงสร้างและแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาค มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด
ม.4-6/5 สืบค้นข้อมูลและอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างจุดเดือด จุดหลอมเหลว และสถานะของสารกับแรงยึดเหนี่ยว
มาตรฐาน ว 3.2 เข้าใจหลักการและธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงสถานะของสาร การเกิดสารละลาย การเกิดปฏิกิริยา มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัด
ม.4-6/1 ทดลอง อธิบาย และเขียนสมการของปฏิกิริยาเคมีทั่วไปที่พบในชีวิตประจำวัน รวมทั้งอธิบายผลของสารเคมีที่มีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม
ม.4-6/2 ทดลองและอธิบายอัตราการเกิดปฏิกิริยาเคมี ปัจจัยที่มีผลต่อปฏิกิริยาเคมี และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
มาตรฐาน ว 4.1 เข้าใจธรรมชาติของแรงแม่เหล็กไฟฟ้า แรงโน้มถ่วง และแรงนิวเคลียร์ มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์อย่างถูกต้องและมีคุณธรรม
ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง สาระเพิ่มเติมฟิสิกส์ เล่ม 2
ม. 4-6 (15) อธิบายสภาพยืดหยุ่นของของแข็งและมอดุลัสของยัง
มาตรฐาน ง 2.1 เข้าใจเทคโนโลยีและกระบวนการเทคโนโลยี ออกแบบและสร้างสิ่งของเครื่องใช้หรือวิธีการตามกระบวนการเทคโนโลยีอย่างมีความคิดสร้างสรรค์ เลือกใช้เทคโนโลยีในทางสร้างสรรค์ต่อชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในการจัดการเทคโนโลยี
ตัวชี้วัด
ม.4-6/1 อธิบายและเชื่อมโยงความสัมพันธืระหว่างเทคโนโลยีกับศาสตร์อื่นๆ
ม.4-6/2 วิเคราะห์ระบบเทคโนโลยี
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังรูปภาพ
ชื่อ GalleryเตาหลอมGalleryชื่อ Galleryโกดังเตรียมขนส่งผลิตภัณฑ์Galleryชื่อ Galleryโกดังบรรจุและเก็บผลิตภัณฑ์Galleryชื่อ Galleryโรงขึ้นรูปแก้วGalleryชื่อ GalleryไซโลผสมวัตถุดิบGalleryชื่อ Galleryจุดการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์Galleryชื่อ Galleryลานเก็บวัตถุดิบGalleryชื่อ Galleryสารต่างๆ ในห้องแล็บGalleryชื่อ Galleryห้องพิพิธภัณฑ์Galleryชื่อ GalleryภาพพาโนรามาGallery
-
คลังวิดีทัศน์
อุตสาหกรรมทำเครื่องแก้วไทย
แก้วผลิตจากอะไรนะ
ขวดแก้วกับการวิจัยและพัฒนา
การหลอมแก้ว
การขึ้นรูปแก้ว
การตรวจสอบทางกายภาพ
การตรวจสอบคุณภาพด้วยแสง
การบรรจุ และ การขนส่ง
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนนางสาวภัทรนันท์ รัตนพันธ์ โรงเรียนศรีพฤฒาผู้เขียนแผนการสอนนางสาวธันยพร เหมือนรอดดี โรงเรียนศรีพฤฒาผู้เขียนแผนการสอนนางสาวออนจิลา บัวประเสริฐ โรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัยผู้เขียนแผนการสอนนางสาวประไพ บูรณประพฤกษ์ โรงเรียนสิรินธรราชวิทยาลัยผู้เขียนแผนการสอนนายวิเชียร ภูครองทอง โรงเรียนศรีสวัสดิ์พิทยาคมผู้เขียนแผนการสอนนายปิยณัฐ จันทร์ผอง โรงเรียนเกษมพิทยา
-
คำที่เกี่ยวข้อง