แหล่งเรียนรู้ศิลาแลง
ศิลาแลง หมายถึง “ชั้นดินที่อยู่ใต้ผิวดินผุมากมีสีแดง หรือเป็นวัตถุที่มีออกไซด์ทุติยภูมิของเหล็ก หรืออลูมิเนียม หรือ ออกไซด์ของโลหะทั้งสองชนิดมาก และมักพบเม็ดทราย (ควอรตซ์) และดินเหนียว (แร่เคลย์) ในชั้นดังกล่าว ชั้นดินดังกล่าวนี้พบในบริเวณที่มีอากาศอบอุ่น-ร้อนชื้น และเป็นส่วนที่หลงเหลือจากการกระบวนการผุพัง (การผุพังทางเคมี) ศิลาแลงมีสมบัติที่สามารถแข็งตัว ภายหลังจากผ่านกระบวนการที่ทำให้เปียก และแห้งต่อเนื่องสลับกัน นอกจากนี้ยังสามารถตัด นำมาใช้แทนอิฐ (ดินเหนียวเผา)”
กลับไปที่เนื้อหา
ตัวชี้วัด
แหล่งเรียนรู้ธรณีวิทยา ในบริเวณ อุทยานประวัติศาสตร์ กำแพงเพชร ในเขตอำเภอเมือง และบ่อขุดศิลาแลง บริเวณ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร จัดเตรียมขึ้นโดยอ้างอิงถึงตัวชี้วัดในสาระการเรียนรู้ที่ 6 กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลกดังนี้
ตัวชี้วัดชั้น ม. 2
- สำรวจ ทดลองและอธิบายลักษณะของชั้นหน้าตัดดิน สมบัติของดิน และกระบวนการเกิดดิน
- สำรวจ วิเคราะห์ และอธิบายการใช้ประโยชน์และการปรับปรุงคุณภาพของดิน
- ทดลองเลียนแบบและอธิบายกระบวนการ ผุพัง การกร่อน การพัดพา การทับถม การตกผลึก และผลของกระบวนการดังกล่าว
วัตถุประสงค์
นักเรียนเมื่อศึกษาแหล่งเรียนรู้ “แหล่งศิลาแลง จังหวัดกำแพงเพชร” สามารถที่จะ
1. สามารถจำแนก ศิลาแลง ออกจากธรณีวัตถุอื่นๆ เช่น แร่ ดิน และหินได้
2. เข้าใจ ความหมายของศิลาแลง ทั้งสมบัติทางกายภาพ และสมบัติทางเคมี
3. เข้าใจ และสามารถอธิบายถึงปัจจัยที่ควบคุมการเกิดดิน และรวมถึงชั้นดินที่ศิลาแลงเกิดขึ้น
4. เข้าใจถึงกระบวนการเกิดศิลาแลง และปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดศิลาแลง
5. ทราบถึงประวัติการใช้ประโยชน์จากศิลาแลง ในประเทศไทย
กลับไปที่เนื้อหา
ความหมายของศิลาแลง
ศิลาแลง หรือชื่อภาษาอังกฤษ ว่า laterite ซึ่งมาจากภาษาละติน จากคำว่า “latericius” หมายถึงอิฐ คำจำกัดความ มี 2 แบบ คือ คำจำกัดความเก่า (ก่อน พ.ศ. 2544) และคำจำกัดความใหม่ (หลัง พ.ศ. 2544) และปัจจุบัน ใช้ความหมายนี้
ความหมายเก่า
ศิลาแลง หมายถึง “ชั้นดินที่อยู่ใต้ผิวดินผุมากมีสีแดง หรือเป็นวัตถุที่มีออกไซด์ทุติยภูมิของเหล็ก หรืออลูมิเนียม หรือ ออกไซด์ของโลหะทั้งสองชนิดมาก และมักพบเม็ดทราย (ควอรตซ์) และดินเหนียว (แร่เคลย์) ในชั้นดังกล่าว ชั้นดินดังกล่าวนี้พบในบริเวณที่มีอากาศอบอุ่น-ร้อนชื้น และเป็นส่วนที่หลงเหลือจากการกระบวนการผุพัง (การผุพังทางเคมี) ศิลาแลงมีสมบัติที่สามารถแข็งตัว ภายหลังจากผ่านกระบวนการที่ทำให้เปียก และแห้งต่อเนื่องสลับกัน นอกจากนี้ยังสามารถตัด นำมาใช้แทนอิฐ (ดินเหนียวเผา)”
ความหมายที่ใช้ในปัจจุบัน
ศิลาแลง หมายถึง “ชั้นดินส่วนบน ที่มีออกไซด์ของเหล็กมาก และมีซิลิกาน้อย เกิดจากกระบวนการผุพังทางเคมี และ การชะละลาย อย่างรุนแรง ของดินที่พบในภูมิภาคร้อนชื้น" นิยามเก่า และใหม่แตกต่างกันดังนี้
1.นิยามใหม่ จำกัดให้ศิลาแลงเป็น ดินผุ เท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่เข้าใจว่า ศิลาแลงเป็นหินที่ผุ
2.นิยามใหม่ ไม่ระบุ ว่า ศิลาแลงต้องมีควอรตซ์ (เม็ดทราย) และแร่ดินเหนียว เป็นองค์ประกอบ
3.นิยามใหม่ ให้ศิลาแลง เป็นดินผุที่มีออกไซด์ของเหล็ก หรือมีสนิมเหล็กมาก เท่านั้น
4.นิยามใหม่ กำหนดการพบดินประเภทนี้ ให้จำกัดอยู่ในภูมิภาคร้อนชื้นเท่านั้น
5.นิยามใหม่ ไม่นำกระบวนการเกิดเขามาปน รวมถึงสมบัติของศิลาแลงที่นิ่มสามารถตัดได้ง่าย ซึ่งพบเฉพาะบางบริเวณเท่านั้น
แม่รัง – ลูกรัง – หลานรัง คืออะไร
ในบางครั้ง เราอาจได้ยินคนเรียกศิลาแลงว่า “แม่รัง” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกแทนกันได้ แต่คำที่ใช้กันบ่อยกว่า คือ “ลูกรัง” เช่น ถนนลูกรัง
ถนนลูกรัง จะสื่อความหมายถึง ถนนที่ไม่ได้ลาดยาง มีสีส้ม หน้าแล้งรถวิ่งจะมีฝุ่นมาก ผิวถนนไม่เรียบเป็นหลุมเป็นบ่อ และหน้าฝนผิวถนนจะเป็นโคลนติดล้อรถ ซึ่งลักษณะของถนนลูกรังดังกล่าว มักสร้างโดยนำดิน หรือหินผุ ที่ใกล้กับบริเวณที่สร้างถนนมาบดอัด อาจจะเป็นเศษดินที่มาจากแม่รัง หรือไม่ได้มาจากแม่รังก็ได้
สำหรับทางการเกษตร ดินลูกรังหมายถึงดินปนกรวด ซึ่งชื่อสื่อถึงดินบริเวณแหล่งศิลาแลง หรือแม่รัง ที่พืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดี
ส่วนคำว่า “หลานรัง” หมายถึงลูกรังขนาดละเอียด มีดินเหนียวปนมาก คำว่า “หลานรัง”ได้จากการบันทึก ในโครงการพระราชดำริสร้างทางสาย อำเภอรามัน (จ. ยะลา) – บ้านดาโต๊ะหะลอ (จ.ปัตตานี) อำเภอรือเสาะ (จ.นราธิวาส) ซึ่งนายเฉลียว วัชรพุกก์ อธิบดีกรมทางหลวง ได้นำมาเผยแพร่ใน หนังสือ "คือเส้นทางสร้างชาติไทย ๘๔ ปี กรมทางหลวง" ว่า
“ในปี พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริแนะนำแนวทางสายหนึ่งที่ควรจะก่อสร้าง และมีบางตอนเป็นที่ลุ่มแต่ถมดินคันทางได้ นั่นคือ ทางสายอำเภอรามัน- บ้านดาโต๊ะหะลอ-อำเภอรือเสาะ และพระองค์ทรงรอบรู้ภูมิประเทศบริเวณนั้นเป็นอย่างดี ซึ่งนายเฉลียวได้กราบบังคมทูลว่า สภาพทางยังเป็นทาง ก่อสร้างอยู่ และได้จัดให้เข้าอยู่ในโครงการเงินกู้ธนาคารโลก ขณะนี้ได้ใส่ลูกรังไว้แล้ว รถยนต์วิ่งผ่านได้ตลอดปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่ง ว่า "เห็นมีแต่หลานรังเท่านั้น" ครั้งนั้นนายเฉลียวกล่าวว่ารู้สึกงงมาก นึกไม่ออกว่าคำว่าหลานรังคืออะไร แต่ต่อมาก็นึกได้ว่า แม่รัง หมายถึงลูกรัง ก้อนใหญ่ และลูกรัง คือ ลูกรังขนาดเล็กขนาดต่าง ๆ คละกัน ดังนั้นคำว่า หลานรัง คงหมายความถึงลูกรังที่มีขนาดละเอียดมากนั่นเอง และทางคงจะ ลื่นมากหรือติดหล่มเวลาฝนตกหนัก ต่อมานายเฉลียวได้กราบบังคมทูลว่า ได้เลือกลูกรังที่ดีไปใส่เพิ่มเติมโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ทางลื่น แต่จะไม่ลงทุน ทำดีมากนัก เพราะมีโครงการจะสร้างเป็นถนนลาดยางอยู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งกับคุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคมสมัยนั้นว่า "อธิบดีเขายิ้มสวยนะ" เป็นพระอารมณ์ขันอย่างหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ เพื่อให้บรรยากาศการเข้าเฝ้าฯ ไม่เคร่งเครียดหรือมีความวิตกกังวลมากนัก”
เนื้อหาคัดลอกจาก “ก่อสร้างทางอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”, http://goo.gl/WAaXn8(เมษายน 2559)
ลักษณะของศิลาแลง
1.ลักษณะทางกายภาพ
ดินแข็งแกร่ง ที่มีสี แดง-ส้ม-น้ำตาล-เหลือง มีรูพรุน ลักษณะทรงยาวรี กระจายตัวทั่วไป อาจพบคราบสีดำเกิดขึ้นทั่วไป สีของศิลาแลงจะเข้ม (เช่น ส้มเข้ม) เมื่อชื้นหรือเปียกน้ำ แต่จะจางลง เมื่อแห้ง (เช่น ส้มจาง) ศิลาแลงโดยทั่วไปจะหนักกว่าดินธรรมดา และค่าความถ่วงจำเพาะจะขึ้นกับแปรเปลี่ยน ในช่วง 2.6 ถึง 3.4 ศิลาแลง เป็นดินที่มีความคงทนต่อการผุพัง และละลายน้ำได้น้อยมาก (ภาพ1-1, 1-2 และ 1.3)
ภาพ 1.1 ชั้นศิลาแลงเปิดใหม่ ภาพ 1.2 ศิลาแลงเก่า ที่โผล่บริเวณผิวดินมานานเชื่อว่าเป็นส่วนของบ่อขุดศิลาแลงในอดีต ภาพ 1.3 ก้อนศิลาแลงสีส้มสด ประดอบด้วยรู เป็นจำนวนมาก
2.ลักษณะทางเคมี
ศิลาแลง เป็นดินที่ไม่มีธาตุอาหารสำหรับพืช เนื่องจากองค์ประกอบหลัก จะประกอบด้วย ออกไซด์ของเหล็ก ซิลิกา และ อะลูมินา (ค่าทั่วไปประมาณ Fe2O3 = 30-40 %, SiO2 = 30 % และ Al2O3 = 25 %) สีของศิลาแลง ที่มีสีสนิมเหล็ก เนื่องจากองค์ประกอบที่เป็ยออกไซด์ของเหล็ก ส่วนสีดำ ในเนื้อศิลาแลง เป็นสีจาก ออกไซด์ของแมงกานีส
บริเวณที่พบศิลาแลง
ทั่วโลกพบศิลาแลง ในพื้นที่ที่อยู่ในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น และมีฤดูฝน และฤดูแล้ง เกิดสลับกัน เขตที่พบศิลาแลง ของโลก คือ เขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ (ภาพ 2)
ภาพ 2: การกระจายตัวของเขตที่พบศิลาแลง (จาก IFG, 2004) International Focus Group on Rural Road Engineering /IFG/, 2004. Design, Construction and Performance. Laterite.
จากแผนที่ในภาพ 2 พบว่าพื้นที่บริเวณตอนใต้ของทวีปออสเตรเลีย อยู่นอกเขตภูมิอากาศร้อนชื้น แต่สามารถเกิดศิลาแลงได้ เนื่องจากในอดีตมีการเปลี่ยนแปลงของเขตภูมิอากาศ
ในประเทศไทยบริเวณที่พบศิลาแลง ทุกภาคของภูมิประเทศ ส่วนมากเป็นบริเวณที่เป็นที่ราบลาดชันเล็กน้อย อาจพบ บริเวณพื้นที่ที่ติดเขา หรือเป็นที่ดอน ที่ดินที่มีศิลาแลง ต้นไม้ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติมักจะแคระแกรน และขึ้นไม่หนาแน่น และที่สำคัญอาจจะพบก้อนศิลาแลงกระจายอยู่ตามพื้น จังหวัดที่พบศิลาแลงมาก คือ จ. กำแพงเพชร ปราจีนบุรี และลำพูน
วีดิทัศน์เรื่องไปบุกกำแพงเพชรกันเถอะ
วีดิทัศน์เรื่องศิลาแลงคืออะไร
กลับไปที่เนื้อหา
ทำไมต้องเข้าใจดินด้วย ก่อนเรียนรู้ศิลาแลง
เหตุที่ต้องรู้จักดิน และปัจจัยในการเกิดดิน เนื่องจาก ศิลาแลง เป็นดินประเภทหนึ่ง ถ้ารู้จักดิน และปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดดิน จะทำให้สามารถเข้าใจศิลาแลง และเป็นการสร้างพื้นฐานความเข้าใจ การเกิดศิลาแลง
สำหรับตอนนี้จะกล่าวถึง ภาพรวมของดินทั่วไป (ดินในที่นี้เป็นดินที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร หรือ ดินที่ “รากพืชหยั่งถึง”) องค์ประกอบของดิน และ ห้าปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องกับการเกิดดิน
ดิน คืออะไร
ดินเป็นวัตถุที่เกิดตามธรรมชาติ เป็นผลจากกระบวนการผุพังของหิน ตะกอน และซากพืช ดินจะเกิดปกคลุมผิวโลกในส่วนที่อยู่บนบก ร่วมกับอากาศ น้ำ (ความชื้น) ที่สำคัญดินเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เนื่องจากเป็นผู้ให้ที่อยู่ ให้อาหาร และสนับสนุนการดำรงชีวิต
องค์ประกอบดิน
ดินมีองค์ประกอบหลัก แบ่งได้เป็น 4 ส่วน คือ (1) แร่และหิน (2) สารอินทรีย์ (3) น้ำ และ (4) อากาศ ดินบางชนิด อาจมีองค์ประกอบไม่ครบ ตัวอย่างง่ายๆ ศิลาแลง และดินทรายบริเวณชายหาด เป็นดินที่ไม่มีสารอินทรีย์ หรือมีสารอินทรีย์น้อย ซึ่งตรงข้ามกับดินที่เกิดบริเวณป่าพรุ จะมีสารอินทรีย์คือซากพืช เป็นจำนวนมาก
องค์ประกอบดิน ที่อยู่ในบทเรียนต่างๆ คือ มีแร่-หิน 45% สารอินทรีย์ 5% น้ำ 25% และอากาศ 25% (ภาพ 3) คือ องค์ประกอบของดินที่ดีเหมาะสมต่อการปลูกพืช(โดยทั่วไป) และตัวเลขดังกล่าวเป็นร้อยละโดยปริมาตร นอกจากนี้ น้ำ และอากาศ คือช่องว่างในดิน ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตามฤดูกาล(ขอย้ำ) ตัวเลขสัดส่วนดังกล่าว คือองค์ประกอบของดินที่ดีเหมาะแก่การปลูกพืช ไม่ใช่องค์ประกอบของดินเฉยๆ
ภาพ 3: องค์ประกอบของดินที่เหมาะสมต่อการปลูกพืช แสดงในสัดส่วนร้อยละโดยปริมาตร
กระบวนการเกิดดิน เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน เพื่อจะเข้าใจกระบวนการเกิดดินในส่วนต่อไป ขอกล่าวถึงปัจจัยการเกิดดิน ที่มี 5 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย (1)วัตถุต้นกำเนิดดิน (2)เวลาที่ใช้ในการเกิดดิน (3)ภูมิอากาศ (4)สิ่งมีชีวิต และ (5)ความลาดชันของพื้นที่
(1)วัตถุต้นกำเนิดดิน
วัตถุต้นกำเนิด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ หิน แตะตะกอน
- หิน เป็นของแข็งที่ประกอบด้วยแร่อย่างน้อย 1 ชนิด และ/หรือ แก้วภูเขาไฟ วัตถุต้นกำเนิดดินประเภทนี้มักพบตามภูเขา (ตามข้างทางถนนที่ตัดภูเขา มักพบดินที่เกิดจากวัตถุต้นกำเนิดดิน ที่เป็นหิน) (ภาพที่ 4)
- ตะกอน เป็นเศษแร่ และเศษหิน ขนาดต่างๆ ที่ผุพัง แตกหัก จากธรณีวัตถุ และถูกพัดพาด้วยตัวกลาง (น้ำ ลม ธารน้ำแข็ง) ภายใต้แรงโน้มถ่วงของโลก สะสมตัวยังบริเวณที่แหล่งสะสมตัว วัตถุต้นกำเนิดดินประเภทนี้ มักพบตามพื้นราบ และบริเวณที่เป็นแอ่ง เช่น ตามที่ราบ ที่เป็นนา หรือสวน (ภาพที่ 5)
ภาพ 4: ดินที่เกิดจากวัตถุที่เป็นหิน ชั้นดินบาง ภาพ 5: ดินที่เกิดจากวัตถุที่เป็นตะกอน ชั้นดินหนา
(2)เวลา
โดยทั่วไปดินที่เกิดนานกว่า (ผ่านการผุพังนานกว่า) จะมีความหนามากว่าดินที่เกิดในช่วงเวลาสั้นๆ (ภาพที่ 6) มีการใช้ระยะเวลา ในการแบ่งดินตามอายุ ดังนี้
- ดินอายุน้อย คือ ดินที่เกิด ในช่วงเวลา 50 – 1,000 ปี
- ดินอายุปานกลาง คือ ดินที่เกิด ในช่วงเวลา มากกว่า 1,000 – 50,000 ปี
- ดินอายุมาก คือ ดินที่เกิดในช่วงเวลา มากกว่า 50,000 – 1 ล้านปี
- ดินอายุน้อย เราสามารถจำแนกวัตถุต้นกำเนิดได้ง่าย ในขณะที่ดินอายุมาก เราอาจไม่สามารถจำแนกวัตถุต้นกำเนิดได้
ภาพที่ 6: เวลา คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ในการเกิดดิน ดินที่มีอายุมากจะมีความหนา และจำนวนชั้นดินที่มากกว่าดินอายุน้อย
(3) ภูมิอากาศ
ภูมิอากาศ ส่งผลอย่างมากในกระบวนการเกิดดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดศิลาแลง ปริมาณน้ำฝนที่มาก ทำให้อัตราการเกิดดินได้เร็วขึ้น ซึ่งทำให้ได้ชั้นดินที่หนาขึ้น
ภูมิอากาศร้อนชื้น แบบประเทศไทย โดยเฉพาะภาคใต้ของประเทศ จะทำให้เกิดกระบวนการผุพังทางเคมีได้มาก ส่งผลทำให้เกิดชั้นดินที่หนา เมื่อเปรียบเทียบกับสภาพภูมิอากาศแบบหนาวเย็น ซึ่งมักจะเกิดชั้นดินที่บางกว่า และเกิดการผุพังทางกลที่มากกว่า
ฝนที่ตกมาก และไหลซึมผ่านชั้นดิน จะชะล้างธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชออกไป แต่จะเหลือ ออกไซด์ของเหล็ก ที่ละลายน้ำได้น้อยมาก และพืชไม่ต้องการ
(4) สิ่งมีชีวิต
พืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ที่อาศัยในดินตามธรรมชาติ จะช่วยให้ดินร่วนชุย และทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ ซึ่งตรงกันข้ามกับกิจกรรมที่มนุษย์ทำกับดินในปัจจุบัน
ศิลาแลง เป็นชั้นดินที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่น้อยมาก
(5) ความลาดชันของพื้นที่
ความชันของพื้นที่ส่งผลทำให้ลักษณะของดินแตกต่างกัน โดยทั่วไปพื้นที่ที่มีความลาดชันมาก ดินจะเกิดเป็นชั้นบางๆ ตรงกันข้ามกับดินที่เกิดบริเวณที่ราบมักจะได้ชั้นดินที่หนา
ความชันของพื้นที่ยังส่งผลต่อการไหลของน้ำ ในที่นี้จะกล่าวถึงการไหลของน้ำทั้งในแนวราบ และในแนวดิ่ง พื้นทที่ลาดชันน้ำจะไหลบนผิวดินได้เร็ว และน้ำซึมลงใต้ดินได้น้อย ตรงกันข้ามกับบริเวณพื้นที่ราบ น้ำจะไหลช้า และจะซึมลงในแนวดิ่งได้ การไหลซึมของน้ำในแนวดิ่งจะทำให้วัตถุใต้ดินผุพังทางเคมีได้มากขึ้น ผลก็คือเกิดชั้นดินที่หนาขึ้น (ภาพที่ 7 และ 8)
ภาพ 7: บริเวณพื้นที่ลาดชัน โอกาสที่จะเกิดดินมีน้อยมาก น้ำที่ไหลเร็ว จะพัดพา และถล่มเศษหิน ออกจากพื้นที่แทนที่จะเกิดดิน (ในภาพเป็นการลดความชันของพื้นที่ โดยปรับพื้นที่เป็นขั้น และปลูกหญ้าแฝก) ภาพ 8: หน้าตัดดินในพื้นที่ราบลานชันเล็กน้อย ทำให้เกิดชั้นดินที่หนา
วีดิทัศน์เรื่องดิน และปัจจัยการเกิด
กลับไปที่เนื้อหา
ก่อนที่จะกล่าวถึงกระบวนการเกิดศิลาแลง ในตอน “กว่าจะเป็นศิลาแลง” บริเวณบ่อศิลาแลง ของจังหวัดกำแพงเพชร ขอสรุปข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญดังนี้
ข้อมูลพื้นฐาน สำหรับอธิบายการเกิดศิลาแลง
(1) บริเวณ จ. กำแพงเพชร ตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศร้อนชื้น มี 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว จากข้อมูลอุตุนิยมวิทยา จังหวัดกำแพงเพชร ระหว่างปี พ.ศ. 2524 – 2553 (30 ปี) พบว่า จังหวัดกำแพงเพชร มีค่าเฉลี่ย 30 ปี ของปริมาณน้ำฝนทั้งปี ประมาณ 1,300 มม. และมีค่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี อยู่ในช่วง 22.9 – 33.5 องศาเซลเซียส
(2) บริเวณที่เกิดศิลาแลง เกิดในสภาพพื้นที่ราบ (ภาพ 9)
ภาพ 9: ภูมิประเทศที่เป็นที่ราบ บริเวณ อำเภอเมือง และอำเภอพรานกระต่าย จ. กำแพงเพชร
(3) พืชที่โตโดยธรรมชาติบริเวณนี้ ไม่หนาแน่น และแคระแกรน บริเวณชั้นดินที่เป็นศิลาแลง ไม่พบรากพืชชอนไช
(4) อายุของศิลาแลงไม่ทราบแน่ชัด แต่จากหลักฐานการนำไปใช้ประโยชน์ในอดีต เชื่อว่า มีอายุมากกว่า 1 พันปี พื้นที่ในอดีตจะมีระดับสูงกว่าปัจจุบันเล็กน้อย (การศึกษานี้กำหนดให้ระดับความสูงมีค่าเท่ากับปัจจุบัน)
(5) ศิลาแลงบริเวณนี้หนา 2 เมตร เป็นอย่างน้อย และด้านล่างจะเป็นตะกอนทรายละเอียด จึงกำหนดให้วัตถุต้นกำเนิดศิลาแลง เป็นตะกอนทราย ดังแสดงใน ภาพที่ 10
ภาพ 10: ตะกอนทราย เชื่อว่าเป็นวัตถุต้นกำเนิดศิลาแลง
(ุ6) ภาพศิลาแลงปัจจุบันสามารถแสดงได้เป็นภาพเขียนได้ โดยใช้ลักษณะของศิลาแลงที่ปรากฏให้เห็น จากบ่อน้ำโบราณ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร และจากบ่อขุดศิลาแลงในปัจจุบัน ที่บริเวณ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร (ดูภาพที่ 11)
ภาพ 11: หน้าตัดของชั้นศิลาแลง จาก บ่อน้ำโบราณ และบ่อขุดในปัจจุบัน และภาพวาดของชั้นศิลาแลง
กลับไปที่เนื้อหา
ศิลาแลง เป็นผลจากกระบวนการผุพังทางเคมี ซึ่งในวัตถุต้นกำเนิดอาจเป็นหิน หรือเป็นตะกอนก็ได้ ในกรณี แหล่งเรียนรู้ธรณีวิทยา ศิลาแลง จังหวัดกำแพงเพชรนี้ กำหนดให้ ตะกอนทราย เป็นวัตถุต้นกำเนิดหิน ซึ่งมีลำดับกระบวนการเกิดสรุปได้ดังต่อไปนี้
1. ในช่วงฤดูฝน น้ำส่วนมากจะไหลตามพื้นดิน และน้ำบางส่วนจะไหลซึมสู่ด้านล่าง โดยขณะที่น้ำไหลซึมสู่ด้านล่าง น้ำสามารถละลายซิลิกา โพแตสเซียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม ที่เป็นองค์ประกอบของตะกอน ไปกับน้ำ (กระบวนการนี้เป็นกระบวนการผุพังทางเคมี) และจะเหลือออกไซด์ของธาตุที่ไม่สามารถละลายน้ำได้ เช่น อะลูมินา เหล็กที่มีอยู่ในชั้นตะกอน จะตกผลึกเป็นสนิมเหล็กซึ่งไม่ละลายน้ำ
2. ระดับน้ำใต้ดินในอดีตจะมีระดับสูงกว่าปัจจุบัน ทำให้ในฤดูฝน บริเวณดังกล่าวอิ่มตัวไปด้วยน้ำ การเปลี่ยนระดับของน้ำใต้ดิน ทำให้เกิดการละลาย (การผุพังทางเคมี ของชั้นตะกอนมากขึ้น ในขณะเดียวกันทำให้เหลือออกไซด์ของอะลูมินา และการตกผลึกของออกไซด์เหล็ก
3. ในช่วงหน้าแล้ง ระดับน้ำใต้ดินลดต่ำลงกว่าระดับที่เกิดศิลาแลง ดินชั้นดังกล่าวบางส่วนเริ่มแข็งตัวโดยเฉพาะบริเวณที่มีออกไซด์ของเหล็ก และอะลูมินาเกิด และบางส่วนของดินในชั้นนี้หดตัว เกิดเป็นช่องว่าง
4. ในช่วงฤดูฝน มีน้ำซึมผ่านชั้นดินดังกล่าว ระดับน้ำใต้ดินมีระดับสูงขึ้น กระบวนการผุพังทางเคมีจะเกิดซ้ำบริเวณเดิม ซิลิกา โพแตสเซียม โซเดียม แคลเซียม แมกนีเซียม ที่เป็นองค์ประกอบของตะกอน ละลายไปกับน้ำ คงเหลือออกไซด์ของอลูมินา และเกิดออกไซด์ของเหล็ก มากขึ้น
5. ในช่วงฤดู แล้งระดับน้ำใต้ดินในพื้นที่ลดระดับลง ชั้นดินแข็งตัวเป็นบางส่วน และเกิดการหดตัว ทำให้เกิดช่องว่างในชั้นดิน
6. กระบวนการดังกล่าวจะเกิดซ้ำ ระหว่างฤดูฝน กับฤดูแล้ง และท้ายสุดเมื่อระดับน้ำใต้ดินในพื้นที่ลดต่ำลง ทำให้กระบวนการผุพังทางเคมีเกิดได้เฉพาะช่วฤดูฝน ขณะที่มีน้ำฝนไหลซึมผ่านเท่านั้น
7. ปัจจุบัน ชั้นศิลาแลงบริเวณนี้แข็งตัวแล้ว แต่ยังคงเห็นลักษณะของช่องว่าง และการตกผลึกของออกไซด์เหล็ก และแมงกานีส ส่วนออกไซด์ของอะลูมินา ซึ่งมีสีขาวจะไม่เห็น แต่มันเป็นส่วนที่ช่วยให้ศิลาแลงมีความแกร่งมากขึ้น
สรุปกระบวนการเกิดศิลาแลง
กระบวนการเกิดศิลาแลง อาศัยวัตถุต้นกำเนิดดินที่น้ำสามารถไหลซึมผ่านได้ ในกรณีนี้เป็นชั้นตะกอนทราย สภาพภูมิอากาศที่ร้อนชื้น (มีฤดูที่ฝนตกมาก และฝนตกน้อยสลับกัน) ลักษณะภูมิประเทศที่เป็นที่ลาดชันน้อย ช่วยทำให้น้ำไหลซึมสู่ด้านล่าง และเกิดระดับน้ำใต้ดินที่ไม่ลึกมากนัก เวลาในการเกิดที่ยาวนานพอควร ทำให้เกิดการซ้ำของกระบวนการผุพังทางเคมีที่เกิดกับชั้นดิน
ชั้นดินศิลาแลง เป็นดินชั้น บี เมื่อดูจากหน้าตัดดินทั่วไป และตัวอย่างของชั้นศิลาแลง ที่พบเห็นกันบ่อยๆ คือ ชั้นดินแข็งที่ปิดอยู่บนเสาดิน ของแพะเมืองผีและละลุ ซึ่งถ้าชั้นดินด้านบนถูกกร่อนหายไป เสาดินจะกร่อนกลายเป็นกองดินอย่างรวดเร็ว (ภาพ 12 และ 13)
ภาพ 12: เสาดิน แพะเมืองผี จ. แพร่ ศิลาแลงเกิดปิดทับตะกอนชั้นบน
ภาพ 13: เสาดินละลุ จ. สระแก้ว ศิลาแลงเกิดปิดทับตะกอนชั้นบน
วีดิทัศน์เรื่องกว่าจะเป็นศิลาแลง
กลับไปที่เนื้อหา
หัวข้อการผลิตศิลาแลง ในส่วนนี้ ได้ข้อมูลอย่างละเอียด ทุกขั้นตอน จาก คุณรัฐธีร์ ลีสวัสดิ์พร เจ้าของและผู้ผลิต ศิลาแลงโบราณ ของ จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งมีลำดับ ตั้งขั้นตอนก่อนการผลิต กระบวนการผลิต การปรับปรุงคุณภาพสินค้า และรวมถึงการฟื้นฟูพื้นที่บ่อขุดศิลาแลง รายละเอียดในแต่ละขั้นตอนมีดังนี้
ขั้นตอนก่อนการผลิต
การผลิตศิลาแลง ปัจจุบันใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งการปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย โดยเริ่มจากการหาพื้นที่ที่มีศิลาแลงเกิดอยู่ใต้ผิวดิน การปรับพื้นที่ และการจัดเตรียมอุปกรณ์
- พื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะพบศิลาแลง โดยทั่วไปพื้นที่บริเวณ อำเภอเมือง ไปจนถึง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ กล่าวคือพื้นที่เป็นที่ราบ มีการลาดเทเล็กน้อย และมีชั้นตะกอนทราย เกิดด้านล่าง สำหรับเป็นแหล่งศิลาแลง เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พบหลักฐาน บ่อขุดโบราณ ที่มีการนำศิลาแลง มาใช้ประโยชน์ แต่ในรายละเอียดของพื้นที่พบว่า หน้าดินในแต่ละบริเวณไม่เท่ากัน ในการที่จะค้นหาพื้นที่ที่มีชั้นศิลาแลงด้านล่างในระดับตื้น (ทำให้การเปิดหน้าดินน้อย) มีหลักทั่วไปในการเลือกพื้นที่ คือ พื้นที่มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นห่างกัน บางบริเวณที่ต้นไม้จะมีก้อนศิลาแลงอยู่กับรากไม้ และถ้าเป็นพื้นที่ที่มีศิลาแลงโผล่ให้เห็นจะดีมาก (ดูภาพ 14 และ 15 ประกอบ)
ภาพ 14: รากต้นไม้เกิดหุ้มศิลาแลง ภาพ 15: ศิลาแลงที่โผล่ให้เห็นบริเวณพื้น
- ด้วยพื้นที่ที่เลือกว่าจะเปิดขุดศิลาแลง เป็นพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยชั้นดินบางๆ (หนา 20 – 30 เซนติเมตร) ดังนั้นการเปิดหน้าดินคือทำการขุดหน้าดิน ให้ถึงชั้นศิลาแลง และปรับพื้นที่ให้เรียบ (ภาพ 16)
ภาพ 16: พื้นที่ที่ปรับใหม่ ขุดศิลาแลงออกไปเพียง 1 ชั้น (11 เซนติเมตร) จะเห็นว่าระดับของบ่อ กับพื้นที่ข้างเคียงแตกต่างกันน้อยมาก (ดินส่วนบนบางมาก)
- อุปกรณ์ ในการขุด และตัดศิลาแลง เป็นอุปกรณ์ ที่ประยุกต์จากภูปัญญาท้องถิ่น ที่จะตัดศิลาแลงซึ่งเป็นศิลาแลงแข็ง (อายุมาก) ไม่ใช่ศิลาแลงที่ยังนิ่มเหมือนดินเหนียว (อายุน้อย) ที่ประกอบด้วย ชุดตัด และรางสำหรับเลื่อน ชะแลงสำหรับกระทุ้งตัดส่วนล่าง และมีดถาก (สำหรับตบแต่งก้อนศิลาแลง) เนื่องจากศิลาแลง บริเวณ อำเภอพรานกระต่าย เป็นศิลาแลงแข็ง ดังนั้นการขุดตัด จึงต้องใช้อุปกรณ์ที่มีความแข็ง เป็นพิเศษ ซึ่งทำได้โดยการใช้การเชื่อมติด โลหะผสมคาร์ไบต์ (carbide) ซึ่งเป็นชื่อเรียกทั่วไปของ ทังสเตน คาร์ไบต์ ไว้ที่ใบเลื่อย ส่วนชะแลง และมีดถาก ใช้เหล็กแหนบรถ มาเชื่อมต่อ ที่ปลายเพราะต้องการความคมที่คงทน และการยืดหยุ่นของโลหะ สำหรับการหมุนใบเลื่อยใช้ตัวมอเตอร์แบบเติมน้ำมัน (ที่นำไปใช้กับรถไถเดินตาม เครื่องสูบน้ำ หรือ อื่นๆ) ดูภาพ 17
ภาพ 17: อุปกรณ์สำหรับการตัดศิลาแลง ประกอบด้วย เครื่องยนต์หมุนใบตัด ใบตัด รางตัด เหล็กกระทุ้ง และมีดถาก
การผลิตศิลาแลง
ศิลาแลงที่ผลิตจากแหล่งพรานกระต่ายนี้ ผลิตในขนาดมาตรฐาน ที่นิยมใช้ในกประเทศ คือมี ละกษณะเป็นก้อนทรงเหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดกว้าง 20 ซม. ยาว 30 ซม. และหนา 10 ซม. ดังนั้นในขั้นตอนการผลิตศิลาแลง จึงได้มีการออกแบบเพื่อให้ได้สินค้าดังกล่าว ตามที่ผู้ใช้นิยมนำไปใช้ ซึ่งขั้นตอนการผลิตสรุปได้ดังนี้ (ดูภาพ 18 ถึง 21)
(1) เปิดพื้นที่ให้มีขนาดเหมาะสม โดยเปืดให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม
(2) วางรางเลื่อนให้ขนานกับด้านขอบบ่อ โดยก่อนตัดจะพรมน้ำเพื่อเป็นการลดฝุ่น
(3) ตัดศิลาแลง ตามรางเลื่อนที่วางไว้ ขนานกับขอบบ่อ หรือรอยตัดเดิม โดยตัดศิลาแลงให้ลึก 11 ซม. (ความหนามากกว่ามาตรฐาน เพราะเผื่อสำหรับการถากแต่งก้อนศิลาแลง)
(4) เมื่อตัดครบเป็นตารางที่ตัดกัน เป็นตาราง 20 ซม. X 30 ซม. จะใช้ชะแลงกระทุ้ง บริเวณร่องตัดเพื่อให้ก้อนศิลาแลงหลุด และสามารถนำออกจากพื้นได้
(5) นำก้อนศิลาแลงแต่ละก้อน มาแต่งให้เข้ารูป ด้วยมีดถาก
(6) นำมากองเพื่อรอ ลูกค้ามารับศิลาแลง
ภาพ 18: การตัดศิลาแลง ตามรางตัด ที่ขนานกับรอยตัดเดิม ภาพ 19: ก้อนศิลาแลงที่กระทุ้ง และงัดหลุดจากพื้น
ภาพ 20: ศิลาแลงที่ตัดได้ ตั้งไว้เพื่อรอลูกค้ามารับ ภาพ 21: กองศิลาแลง และเนื้อศิลาแลงที่ขุดได้ รอจำหน่าย
การฟื้นฟูสภาพพื้นที่
ภายหลังจากการขุดศิลาแลง จะกลบพื้นที่ที่เป็นบ่อ ด้วยเศษศิลาแลง และนำหน้าดินที่เปิดไว้มากลบปิดทับ เพื่อใช้สำหรับปลูกพืช ตามที่ปลูกกันในท้องถิ่น (ดูภาพ 22 และ 23)
ภาพ 22: กองดินสำหรับการกลบบ่อขุดศิลาแลง ภาพ 23: พื้นที่บ่อขุดศิลาแลงเดิม ภายหลังกลบบ่อ จะทำการฟื้นฟูดิน และปลูกพืชเช่นเดิม
วีดิทัศน์เรื่องมาขุดศิลาแลงกันเถอะ
กลับไปที่เนื้อหา
หลักฐานการใช้ศิลาแลงของประเทศ นอกจากอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร (แหล่งมรดกโลก) แสดงการใช้ประโยชน์จากศิลาแลงที่สมบูรณ์ แห่งหนึ่ง (เป็นส่วนของอณาจักรสุโขทัย (พ.ศ. 1792 – 2126)) ยังมีหลักฐานจากโบราณสถานอื่นๆ ที่แสดงถึงความเจริญในอดีตในช่วงเวลาที่ต่างกัน และได้สืบทอดทั้งศิลปวัฒนธรรมการดำรงชีวิต มาจนถึงปัจจุบัน
ลำดับเกี่ยวกับการใช้ศิลาแลงในอดีต แบ่งเป็น (1) ช่วงเวลาในอดีต ที่อาณาจักรต่างๆ มีอำนาจปกครองประเทศไทย โดยเริ่มจากอณาจักรทวารวดี (2) การเข้าใจถึงองค์ประกอบหลักของสิ่งก่อสร้างที่หลงเหลืออยู่เป็นโบราณสถาน (3) วัตถุดิบที่ใช้ในการก่อสร้างอาคาร-สถานที่ ข้อเด่น-ข้อด้อย ของ อิฐ ศิลาแลง และหินทราย และ (4) ตัวอย่างโบราณสถาน ที่หลงเหลือให้เห็น
ช่วงเวลาในอดีต
จากหลักฐานทางโบราณคดี นักโบราณคดี และนักประวัติศาสตร์ จำแนกช่วงเวลาที่อาณาจักรต่างๆ ที่มีอำนาจการปกครองอยู่ในประเทศไทยในอดีต ตามลำดับดังนี้ คือ
- อาณาจักรทวารวดี ศูนย์กลางไม่ทราบแน่ชัด (ประมาณ พุทธศตวรรษ ที่ 11 – 16) (ภาพ 24)
- อาณาจักรศรีวิชัย ศูนย์กลางไม่ทราบแน่ชัด (ประมาณ พ.ศ. 1202 – 1758) (ภาพ 25)
- อาณาจักรพระนครหลวง ศูนย์กลางอยู่ที่ นครวัด-นครธม (ประมาณ พ.ศ. 1333 – 1974) (ภาพ 26)
- อาณาจักรสุโขทัย ศูนย์กลางอยู่ที่ จังหวัดสุโขทัย (พ.ศ. 1972 – 2126) (ภาพ 27)
- อาณาจักรล้านนา ศูนย์กลางอยู่หลายจังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 1835 – 2318) (ภาพ 27)
- อาณาจักรอยุธยา ศูนย์กลางอยู่ที่ จังหวัดอยุธยา (พ.ศ. 1893 – 2130)
- อาณาจักรธนบุรี ศูนย์กลางอยู่ที่ เขตธนบุรี (พ.ศ. 2310 – 2325)
- อาณาจักรรัตนโกสินทร์ ศูนย์กลางอยู่ที่ กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325 – ปัจจุบัน)
(อายุของอาณาจักรต่างๆ ได้จาก https://goo.gl/mTRrFH; http://goo.gl/gRCnq4; Freeman, M. and Jacques, C., 2007. Ancient Angkor, Amarin Printing and Publishing Plc, 239 p.; https://goo.gl/a4lenC; https://goo.gl/ie56w5; https://goo.gl/SvM9TH; https://goo.gl/nhcGGx)
ภาพ 24: ตำแหน่งเมืองโบราณ ในสมัยทวารวดี บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลาง และขอบเขตทะเลในสมัยนั้น
ภาพ 25: พื้นที่ที่อยู่ภายใต้อิทธิพล ของอาณาจักรศรีวิชัย (ประมาณปี พ.ศ. 1202 – 1758) อาณาจักรเจนละ เป็นอาณาจักร ที่เกิดในช่วง ประมาณ พ.ศ. 1400 หลังจากอาณาจักรฟูนัน ซึ่งถือว่าเป็นอาณาจักรรากฐานของเขมรโบราณ
ภาพ 26: พื้นที่ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรพระนครหลวง ในช่วงประมาณ พ.ศ. 1750 (พระเจ้าชัยวรมัน ที่ 7)
ภาพ 27: พื้นที่ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของอาณาจักรสุโขทัย และอาณาจักรล้านนา ในช่วงประมาณ พ.ศ. 1830 (พ่อขุนรามคำแหงมหาราช)
ภาพ 28: พื้นที่ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของกรุงศรีอยุธยา ในช่วงประมาณ พ.ศ. 1940 (สมเด็จพระรามราชาธิราช)
องค์ประกอบหลักของสิ่งก่อสร้างที่หลงเหลืออยู่เป็นโบราณสถาน
(1) โครงสร้างที่ทำด้วยไม้
โครงสร้างของสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ทำจากไม้ ของสิ่งปลูกสร้างโบราณสถาน เช่น กำแพง ปราสาท วัด และพระราชวัง จะไม่หลงเหลือให้เห็นในปัจจุบัน และโบราณสถานต่างๆ ที่พบเห็นในปัญจุบัน ต่างผ่านการบูรณะ และซ่อมแซม และสิ่งปลูกสร้างที่เป็นโบราณสถาน เป็นเรื่องเกี่ยวกับสถานที่พระราชพิธี ที่เชื่อมโยงกับศาสนา และความเชื่อ ในช่วงเวลานั้น
(2) วัตถุดิบที่สำคัญ
อิฐ (ดินเผา) ศิลาแลง และหินทราย เป็นวัสดุก่อสร้างที่ได้รับความนิยมเป็นวัสดุก่อสร้างในอดีต ของ อาณาจักรโบราณ และเหลือเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงความรู้ ความสามารถของบรรพบุรุษ ซึ่งยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน
(3) ความรู้ในการก่อสร้าง
ความรู้ในการหา – การผลิตวัตถุดิบ สำหรับงานก่อสร้าง วิธีการก่อสร้าง และวัฒธรรม-วิธีการปกครอง ได้รับการถ่ายทอดจากประเทศอินเดีย เป็นหลัก โดยเข้ามาผ่านการค้าขายทางทะเล ในช่วงเวลาของ อาณาจักรทวารวดี และศรีวิชัย ซึ่งทั้งสองอาณาจักรต่างเป็นพุทธอาณาจักร
วัตถุดิบที่คงเหลือให้เห็นตามโบราณสถาน และข้อเด่น และข้อด้อย ของวัตถุดังกล่าว
(1) อิฐ
มักสร้างเป็นก้อนเหลี่ยม เช่น กว้าง 16 ยาว 32 หนา 8 ซม. การผลิตทำได้โดยการเผา ทำการก่ออิฐแบบมีรอยต่อแคบมาก และอิฐแต่ละก้อนติดกันด้วย หรือสอด้วยดินเหนียวและยางไม้ (ไม่ใช้ปูนขาวเหมือนปัจจุบัน) การตบแต่งนิยมใช้ปูนปั้นเป็นลวดลายแปะทับบนผนังอิฐที่ก่อขึ้น
ข้อเด่น:ดินเหนียวเป็นวัตถุดิบที่หาง่าย ผสมกับแกลบข้าวเหนียว อัดให้เป็นก้อน และทำให้เป็นอิฐโดยการเผา การผลิตทำได้รวดเร็ว ใช้แรงงานน้อย ในการผลิต และสามารถตั้งเตาเผาไว้ใกล้กับสถานที่ก่อสร้าง
ข้อด้อย:ไม่สามารถสร้างเป็นก้อนขนาดใหญ่ได้ มีความคงทนต่อการผุพังทลายได้น้อยสุด เมื่อเปรียบเทียบกับ ศิลาแลง และหินทราย
อิฐ ใช้มากในอาณาจักรทวารวดี อาณาจักรศรีวิชัย อาณาจักรล้านนา และอาณาจักรอยุธยา
(2) ศิลาแลง
ศิลาแลงพบได้ทั่วไปทุกภาคของประเทศ ส่วนใหญ่ตัดเป็นก้อนจากแหล่งศิลาแลง ซึ่งมักเป็นบริเวณพื้นที่ราบใกล้เขา ถ้าขุดจากพื้นดินที่ชื้นจะนิ่ม มีความแข็งน้อย มีรูพรุน และมีสีน้ำตาลแดง แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งจะมีความแข็งมากขึ้น การนำไปใช่ ส่วนมากใช้ในการสร้างฐานราก ถนน โครงสร้างภายในของเจดีย์ กำแพง และสามารถใช้ปูนปั้น ปูนโบกปิดทับผิวที่ขุขระ เป็นรู
ข้อเด่น: มีความคงทน และแข็งแรง ผลิตได้ง่าย และสามารถผลิตได้หลากหลายขนาด อาณาจักรสุโขทัย มีแหล่งศิลาแลงอยู่ใกล้เมือง ทำให้นิยมใช้ศิลาแลง
ข้อด้อย: ไม่สามารถแกะสลักได้ บริเวณ อาณาจักรที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ เช่น อาณาจักรอยุธยา ไม่นิยมใช้ศิลาแลงในการก่อสร้าง เนื่องจากแหล่งศิลาแลง อยู่ห่างไกล
ศิลาแลง ใช้ผสมกับอิฐ ในอาณาจักรทวารวดี และอาณาจักรพระนครหลวง และใช้มากในอณาจักรสุโขทัย
(3) หินทราย
แม้ว่าหินทรายจะพบแทบทุกภาคของประเทศ แต่พบมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงบริเวณภูเขาใกล้กับอาณาจักรพระนครหลวง จึงมีการใช้หินทรายมากในช่วงเวลาของอาณาจักรพระนครหลวง ซึ่งในช่วงแรกใช้ทำเพียงเป็นการตบแต่ง และประดับกรอบประตู และกรอบหน้าต่าง เนื่องจากหินทราย มีความแข็งแรง ทนทาน และสามารถตัด แกะสลัก เป็นรูปแบบต่างๆ ได้ ต่อมาช่างเขมรโบราณ ได้พัฒนา ใช้หินทรายมาสร้างปราสาททั้งหลัง รวมถึงหลังคา ทางเดิน ส่วนตบแต่งภายนอก ที่เป็นหน้าบัน รูปสลัก และภายในห้องโถง แกะสลักด้วยการสลักหินแบบนูนสูง และนูนต่ำ
ข้อเด่น: มีความคงทน และแข็งแรง สามารถสกัดได้เป็นขนาดต่างๆ และสามารถแกะสลักได้
ข้อด้อย: การผลิตวัตถุดิบหินทราย และการขนส่ง ต้องใช้คน และทรัพยากรจำนวนมาก เช่นเดียวกับการก่อสร้าง และการแกะสลัก
หินทราย ตัดเป็นก้อนเหลี่ยมรูปแบบต่างๆ และมีการแกะสลัก ใช้เป็นวัตถุก่อสร้างหลักในการสร้างปราสาทหิน และเครื่องประดับต่างๆ ที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ปราสาทหินดังกล่าวสร้างในช่วงเวลาของอณาจักรพระนครหลวง
ตัวอย่าง โบราณสถาน ที่ใช้ศิลาแลงเป็นวัตถุในการก่อสร้าง
(1) สมัยทวารวดี เช่น โบราณสถานพงตึก อำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี และเมืองโบราณดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก
(2) สมัยพระนครหลวง เช่น อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา (ใช้ศิลาแลง และหินทราย) อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ ตำบลสิงห์ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี และพระปรางค์สามยอด จังหวัดลพบุรี
(3) สมัยสุโขทัย เช่น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จ. สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จ. กำแพงเพชร (ภาพ 29 และ 30)
ภาพ 29: วัดช้างรอบ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
ภาพ 30: เสาศิลาแลง (ทั้งต้นเป็นศิลาแลงก้อนเดียว) ฉาบปูน พบที่วัดพระนอน ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
วีดิทัศน์เรื่องการใช้ศิลาแลงในอดีต
กลับไปที่เนื้อหา
ศิลาแลง เป็นดินพิเศษ มีจุดเด่น เรื่องความทนทานในการใช้งาน มีความสวยงาม ประกอบกับราคาไม่แพง และสามารถตบแต่งได้ง่ายตามใจผู้ใช้ ในการนำไปใช้งาน แต่ข้อด้อยของศิลาแลงคือ การมีรูพรุน และดูดซึมความชื้น จึงไม่นิยมนำไปใช้เป็นหินประดับภายในอาคาร
การใช้ศิลาแลงในประเทศ นิยม ใช้เป็นวัตถุตบแต่งภายนอกอาคาร ซึ่งเห็นได้ทั่วไป เช่น ปูทางเดิน ก่อเป็นกำแพง ผนังภายนอก ก่อเป็นตามแบบสวน หรือแกะเป็นรูปประดับสวนต่างๆ
ในต่างประเทศ มีการนำสิลาแลงที่เป็นผง ผสมกับทราย 45 % และปูนซีเมนต์ 9 % ผสมน้ำ ไปอัดทำอิฐก้อน ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นอิฐก่อได้ดี มีความสวยงาม และแข็งแรง
วีดิทัศน์เรื่องปัจจุบันเขาใช้ศิลาแลงทำอะไร
กลับไปที่เนื้อหา
1. ศิลาแลง เป็นชั้นดินส่วนบน (ดินชัน B) ที่มีออกไซด์ของเหล็กมาก และมีซิลิกาน้อย เกิดจากกระบวนการผุพังทางเคมี และ การชะละลาย อย่างรุนแรงของดิน
2. ศิลาแลง พบในทุกภูมิภาคของประเทศ บริเวณพื้นที่ลาดชันน้อย มีวัตถุต้นกำเนิดเป็นได้ทั้งตะกอน และหิน โดยใช้เวลาในการเกิด มากกว่า 1,000 ปี
3. ศิลาแลง ที่อยู่ใต้ผิวดิน อาจนิ่มสามารถตัดได้ด้วยเหล็ก (ศิลาแลงอายุน้อย หรือยังอยู่ในเขตที่มีน้ำใต้ดิน) แต่เมื่อทิ้งไว้ให้สัมผัสอากาศจะแข็งตัว หรืออาจเป็นชั้นแข็ง (ศิลาแลงอายุมาก หรือไม่อยู่ในเขตที่มีน้ำใต้ดิน)
4. ลูกรังเป็นศิลาแลง ที่ยังไม่จับตัวกันแน่น และลูกรังที่ดีต้องมีแร่ดินเหนียว (หรือแร่เคลย์) ปนน้อย
5. สีของศิลาแลง ที่มีสีแดง – ส้ม – น้ำตาล เป็นผลเนื่องมาจากองค์ประกอบที่เป็นออกไซด์ของเหล็ก ส่วนสีดำ เกิดจากออกไซด์ของแมงกานีส และรู ที่เป็นผลเนื่องจากการละลายขององค์ประกอบในวัตุต้นกำเนิด ในขณะที่น้ำซึมผ่าน และการหดตัวของดินในขณะที่น้ำใต้ดินลดระดับ
6. จากหลักฐานทางโบราณสถานต่างๆ พบว่าในประเทศไทยมีการนำศิลาแลง มาใช้ประโยชน์ ตั้งแต่สมัยอาณาจักรทวารวดี ซึ่งมีอายุ ประมาณ พุทธศตวรรษ ที่ 11 – 16 และใช้มากเด่นชัดในช่วงปลายของ อาณาจักรพระนครหลวง (พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พ.ศ. 1724 - 1762) และตลอดช่วงเวลาของอาณาจักรสุโขทัย (พ.ศ. 1972 – 2126)
7. ในประเทศจังหวัดที่ มีการผลิตศิลาแลง ในปัจจุบัน คือ จังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดปราจีนบุรี
วีดิทัศน์เรื่องนี่แหละ...ศิลาแลง
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังวิดีทัศน์
ไปบุกกำแพงเพชรกันเถอะ
ศิลาแลงคืออะไร
ดินและปัจจัยการเกิด
กว่าจะเป็นศิลาแลง
มาขุดศิลาแลงกันเถอะ
การใช้ศิลาแลงในอดีต
ปัจจุบันเขาใช้ศิลาแลงทำอะไรนะ
นี่แหละ...ศิลาแลง
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนนางจิราภรณ์ ภาณุพินทุ โรงเรียนไทรโยคมณีกาญจน์วิทยาผู้เขียนแผนการสอนนางสาวกมลชนก มังเขตแขวง โรงเรียนไทรโยคมณีกาญจน์วิทยาผู้เขียนแผนการสอนนางสาวไพรินทร์ ต๋าคา โรงเรียนไทรโยคมณีกาญจน์วิทยาผู้เขียนแผนการสอนนางสาวสิวินีย์ ประจำถิ่น ูโรงเรียนไทรโยคน้อยวิทยาผู้เขียนแผนการสอนคุณครูประวัติชัย อินทวิชัย โรงเรียนท่ามะกาวิทยาคมผู้เขียนแผนการสอนคุณครูรติ จิรนิรัติศัย โรงเรียนท่ามะกาวิทยาคม
-
คำที่เกี่ยวข้อง