แหล่งเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์
- 1. การแนะนำ
- 2. ตัวชี้วัดและจุดประสงค์การเรียนรู้
- 3. ความเป็นมา
- 4. รู้จักร่างกายของเรา
- 5. ระบบย่อยอาหารแหล่งสร้างพลังงานของร่างกาย
- 6. ทั้งหัวใจให้เธอ
- 7. เลือดหล่อเลี้ยง
- 8. ปอด ปอด
- 9. ไต เครื่องกรองของเสียของร่างกาย
- 10. สมอง กองบัญชาการสูงสุดของร่างกาย
- 11. โครงกระดูก = โครงร่างของร่างกาย
- 12. สร้างกล้ามเนื้อกันเถอะ
- 13. หญิง-ชาย
- 14. พัฒนาการทารกในครรภ์
- - ทุกหน้า -
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็น 1 ใน 11 พิพิธภัณฑ์ของโลกและเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดแสดงร่างกายมนุษย์ด้วยเทคนิค plastinated human bodies ซึ่งเป็นเทคนิคใหม่ในการรักษาสภาพร่างกายหรือชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ที่เสียชีวิต ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงร่างกายและชิ้นส่วนของมนุษย์เป็นหมวดหมู่ ประกอบด้วย ร่างกายมนุษย์แบบเต็มร่าง จำนวน 13 ชุด ชิ้นส่วนอวัยวะภายใน จำนวน 50 ชิ้น ชิ้นส่วนอวัยวะ จำนวน 27 ชิ้น ชิ้นส่วนกล้ามเนื้อ จำนวน 23 ชิ้น ร่างกายมนุษย์ตัดแบ่งย่อย จำนวน 6 ชุด ชิ้นหล่อแสดงระบบหลอดเลือด จำนวน 5 ชิ้น และร่างกายทารกในครรภ์ จำนวน 7 ชุด รวมทั้งสิ้น 131 ชิ้น มีการรักษาสภาพด้วยเทคนิค Plastination ซึ่งเป็นการแทนที่น้ำและไขมันในเนื้อเยื่อด้วยสารพลาสติกเหลว ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นของน้ำยา ไม่มีการเน่าสลาย และสามารถคงสภาพอยู่ได้นาน
กลับไปที่เนื้อหา
ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ช่วงชั้นที่ 3 (ม.1 – ม.3 ) และช่วงชั้นที่ 4 (ม. 4 – ม.6)
สาระที่ 1 สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต
มาตรฐาน ว 1.1 เข้าใจหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ของโครงสร้าง และหน้าที่ของระบบต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตที่ทำงานสัมพันธ์กัน มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตของตนเองและดูแลสิ่งมีชีวิต
ตัวชี้วัด (ม.2)
1. อธิบายโครงสร้างและการทำงานของระบบย่อยอาหาร ระบบหมุนเวียนเลือด ระบบหายใจ ระบบขับถ่าย ระบบสืบพันธุ์ ของมนุษย์และสัตว์ รวมทั้งระบบประสาทของมนุษย์
2. อธิบายความสัมพันธ์ของระบบต่างๆ ของมนุษย์ และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
จุดประสงค์การเรียนรู้
1. อธิบายโครงสร้างและหน้าที่ของอวัยวะต่างๆที่สำคัญของร่างกายได้
2. อธิบายและสรุปความสำคัญของระบบการทำงานต่างๆของร่างกายได้
3. บอกความแตกต่างระหว่างเพศชายและหญิงได้
4. อธิบายพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้
กลับไปที่เนื้อหา
พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ เปิดดำเนินการเมื่อวันอังคารที่ 14 สิงหาคม 2555 โดยศาสตรจารย์นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นประธานในพิธีเปิด พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ ณ ห้อง 909-910 ชั้น 9 อาคารทันตแพทยศาสตร์ เฉลิมนวมราช 80 คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงกายวิภาคศาสตร์ของร่างกายมนุษย์แห่งแรกในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หุ่นร่างกายมนุษย์ที่นำมาจัดแสดงนั้น ได้รับบริจาคจากบริษัท เมดิคัลดอกเตอร์ซอฟท์เฮ้าส์ จำกัด ผ่านมาทาง ศาสตราจารย์คัชสุฮิโร เอะโตะ อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์และทันตแพทย์แห่งโตเกียว (Tokyo Medical and Dental University) โดยมีการเซ็นสัญญาบริจาคระหว่าง คุณคัทสุมิ คิตามูระ ประธานบริษัทเมดิคัลดอกเตอร์ซอฟท์เฮ้าส์ จำกัด กับ ศาสตราจารย์นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2554 โดยหุ่นชุดนี้ ทางบริษัทเมดิคัลดอกเตอร์ซอฟท์เฮ้าส์ จำกัด ได้ใช้เพื่อจัดนิทรรศการทั่วประเทศญี่ปุ่นมาเป็นระยะเวลา 8 ปีแล้ว และมีความประสงค์จะบริจาคโดยไม่คิดมูลค่าแก่สถาบันทางการศึกษา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป แต่ผู้รับบริจาคจะต้องดำเนินการเสียค่าขนส่ง ค่าติดตั้ง และดำเนินการทางศุลกากรเอง
เนื่องจากคณะแพทยศาสตร์ขาดแคลนสถานที่และงบประมาณ ดังนั้น หุ่นชุดนี้จึงถูกนำมาจัดแสดงที่คณะทันตแพทยศาสตร์ ที่ชั้น 9 อาคารทันตแพทยศาสตร์เฉลิมนวมราช 80 โดยใช้พื้นที่จัดแสดง รวม 308 ตารางเมตร และใช้งบประมาณปรับปรุงและขนส่งเป็นเงิน 1,239,176 บาท โดยการจัดเตรียมสถานที่สำหรับแสดงหุ่นร่างกายมนุษย์นั้น จัดในลักษณะที่เน้นความสว่างเพื่อให้เห็นส่วนประกอบต่างๆ ชัดเจน โดยไม่เน้นการจัดแสงและเงาเหมือนในการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์อื่นๆ จัดแสดงเป็นหมวดหมู่ คือ มนุษย์แบบเต็มร่าง 13 ชุด ชิ้นส่วนอวัยวะภายใน 50 ชิ้น ชิ้นส่วนอวัยวะอื่นๆ 27 ชิ้น ชิ้นส่วนกล้ามเนื้อ 23 ชิ้น ร่างกายมนุษย์ตัดแบ่งย่อย 6 ชุด ชิ้นหล่อแสดงระบบหลอดเลือด 5 ชิ้น ร่างกายทารกในครรภ์ 7 ชุด รวม 131 ชิ้น โดยพิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ เปิดให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าชมฟรี ทุกวันพุธ เวลา 12.30-15.30 น
กลับไปที่เนื้อหา
ร่างกายของเรามีอวัยวะและระบบการทำงานต่างๆมากมาย เราสามารถรู้จักร่างกายของเราได้มากขึ้น จาก"พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์" ตั้งอยู่ที่ ห้อง 909-910 ชั้น 9 อาคารทันตแพทยศาสตร์เฉลิมนวมราช 80 คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากการสนับสนุนของ คุณคัทสุมิ คาตามูระประธานบริษัทเมดิคัลด็อกเตอร์ซอฟท์เฮาส์ จำกัด ภายใต้การแนะนำของศาสตราจารย์ คัชสุฮิโร เอะโตะอดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทย์และทันตแพทย์แห่งโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้บริจาคร่างกายและชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ให้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 131 ชิ้น มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท มายังคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์ จัดแสดงร่างกายมนุษย์ด้วยเทคนิค Plastinated Human Bodies ซึ่งค้นพบโดย กุนเธอร์ ฟอน ฮาเกนส์ ชาวเยอรมัน ในปี 1977 เป็นเทคนิคใหม่ในการรักษาสภาพร่างกายหรือชิ้นส่วนอวัยวะของมนุษย์ที่เสียชีวิตโดยเป็นการแทนที่น้ำและไขมันในเนื้อเยื่อด้วยสารพลาสติกเหลว ทำให้ไม่มีกลิ่นเหม็นของน้ำยา ไม่มีการเน่าสลาย และสามารถคงสภาพอยู่ได้นานพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการจำแนกชิ้นส่วนอวัยวะและกล้ามเนื้อต่างๆออกมาอย่างเห็นได้ชัด ในลักษณะ 3 มิติ ซึ่งจะทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจระบบการทำงานต่างๆของร่างกาย ทำให้เรารู้จักร่างกายมากขึ้นและสามารถดูแลรักษาร่างกายของเราได้
วีดิทัศน์เรื่อง พิพิธภัณฑ์ร่างกายมนุษย์
กลับไปที่เนื้อหา
ระบบย่อยอาหาร หรือระบบทางเดินอาหาร มีหน้าที่ลำเลียงอาหารเข้าสู่ร่างกาย และต้องย่อยอาหารที่เราทานเข้าไปให้มีขนาดเล็กจนส่งผ่านเซลล์เข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายของเราได้เราควรรู้จักว่าระบบย่อยอาหารของเรามีอวัยวะใดบ้าง และทำงานกันอย่างไรซึ่งแต่ละอวัยวะก็มีหน้าที่ดังนี้
1) ปากคือด่านแรกของระบบย่อยอาหาร เพราะเมื่อเราหยิบอาหารเข้าปาก อวัยวะภายในช่องปากก็จะเริ่มช่วยกันย่อยอาหารทันที คือ
- ฟันจะทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารให้เล็กลง
- น้ำลายในช่องปากนั้นมีต่อมน้ำลายขนาดใหญ่ 3 คู่ คือใต้กกหู ใต้คาง และใต้ลิ้น ในน้ำลายนั้นจะมีเอนไซม์ "อะไมเลส" หรือ ไทยาลีน" ที่ช่วยย่อยแป้งให้เป็น คาร์โบไฮเดรต
- ลิ้นทำหน้าที่รับรสชาติของอาหาร และคลุกเคล้าอาหารให้เป็นก้อน เพื่อสะดวกในการ กลืนอาหาร
2) คอหอย เป็นท่ออยู่หลังหลอดลมและปาก ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของอาหารจากปากไปยังหลอดอาหาร ตรงส่วนนี้ไม่มีการย่อยใดๆ เกิดขึ้น
3) หลอดอาหาร เป็นกล้ามเนื้อเรียบอยู่ต่อจากคอหอย ทำหน้าที่คอยรับอาหารจากคอหอยส่งต่อไปยังกระเพาะอาหาร ในลักษณะการบีบรัดกล้ามเนื้อเป็นลูกคลื่น เรียกว่า "เพอริสตัสซิส (Peristalsis)"
4) กระเพาะอาหาร มีลักษณะเป็นถุงใหญ่ เป็นที่รับอาหาร และหลั่งน้ำย่อยอาหาร กระเพาะอาหารที่ว่างจะบรรจุได้ประมาณ 45-75 มิลลิลิตร แต่เมื่อมีอาหารเข้าไปสามารถขยายได้ถึง 2-3 ลิตร เยื่อเมือกของกระเพาะอาหารมีต่อมสร้างกรดเกลืออ่อนๆ และน้ำย่อยอาหารประเภทโปรตีน แต่ยังไม่สามารถดูดซึมได้ เมื่อย่อยอาหารเสร็จสิ้น ก็จะส่งอาหารต่อไปยังลำไส้เล็ก
5) ลำไส้เล็ก มีความยาวประมาณ 5-7 เมตร เป็นอวัยวะสำคัญของระบบย่อยอาหาร เพราะอาหารส่วนใหญ่จะถูกย่อยและดูดซึมในลำไส้เล็ก ลำไส้เล็กสามารถย่อยได้ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน โดยอาศัยน้ำย่อยที่ผลิตจากลำไส้เล็กเองและจากตับอ่อน เมื่อกระบวนการย่อยอาหารในลำไส้เล็กเสร็จสิ้นแล้ว อาหารที่ถูกย่อยจนเป็นโมเลกุลเล็กที่สุดจะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็กประมาณ 95% ผ่าน "วิลลัส" หรือ "ปุ่มซึม"ซึ่งการดูดซึมอาหารในลำไส้เล็กผ่านปุ่มซึมจะมี 2 ทาง คือ ระบบเส้นเลือด และระบบน้ำเหลือง
6) ลำไส้ใหญ่ เป็นหนึ่งในอวัยวะของระบบย่อยอาหาร แต่ไม่ได้มีหน้าที่ย่อยอาหาร เพราะลำไส้ใหญ่จะทำหน้าที่เก็บกากอาหาร ดูดซึมน้ำให้ออกจากกากอาหาร เหลือของเหลวไว้ประมาณ 150 มิลลิลิตรส่วนที่เหลือจะถ่ายออกไปเป็นอุจจาระ โดยกากอาหารจะอยู่ในลำไส้ใหญ่นาน 12-24 ชั่วโมงนอกจากนี้ ลำไส้ใหญ่ยังมีหน้าที่ดูดน้ำตาลกลูโคสที่ยังเหลืออยู่ในกากอาหารให้ดูดซึมกลับเข้าสู่กระแสเลือด
วีดิทัศน์เรื่อง ระบบย่อยอาหารแหล่งสร้างพลังงานของร่างกาย
กลับไปที่เนื้อหา
หัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายซึ่งทำงานหนักต่อเนื่องตลอดเวลา ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดให้ไหลเวียนไปยังอวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย เราจึงควรที่จะเรียนรู้ทำความเข้าใจว่าหน้าที่ของหัวใจมีอะไรบ้าง เพื่อที่จะได้ตระหนักถึงความสำคัญ และหันมาให้ความใส่ใจกับสุขภาพหัวใจกันมากขึ้น
หัวใจเป็นอวัยวะที่อยู่ในช่องอก ระหว่างปอดทั้งสองข้าง ประมาณ 1/3 ของหัวใจจะอยู่เอียงไปทางซ้ายของเส้นแบ่งกลางร่างกาย โดยทั่วไปหัวใจมีน้ำหนักประมาณ 350 กรัม แต่ในคนที่ตัวใหญ่และมีน้ำหนักมาก หัวใจก็จะมีขนาดใหญ่มากขึ้น เนื่องจากร่างกายต้องการเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงมากกว่าปกติหัวใจแบ่งออกเป็น 4 ห้อง ได้แก่ด้านบน 2 ห้อง และด้านล่างอีก 2 ห้อง ซึ่งแต่ละห้องก็จะมีหน้าที่แตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้
1) หัวใจห้องบนขวาทำหน้าที่รับเลือดจากหลอดเลือดดำที่ส่งเลือดมาจากร่างกายช่วงบนและช่วงล่าง
2) หัวใจห้องล่างขวาตำแหน่งของหัวใจห้องนี้จะอยู่ด้านหน้าสุดของหัวใจ ทำหน้าที่รับเลือดต่อจากหัวใจห้องบนขวา และส่งเลือดไปยังปอดผ่านลิ้นหัวใจและหลอดเลือดแดง
3) หัวใจห้องบนซ้ายตำแหน่งของห้องหัวใจบนซ้ายจะอยู่ด้านหลังสุด และเป็นห้องหัวใจที่มีขนาดเล็กที่สุดเมื่อเทียบกับห้องหัวใจอื่นๆ หัวใจห้องบนซ้ายจะคอยรับเลือดที่มีออกซิเจนจากปอด ซึ่งส่งมาทางทางหลอดเลือดแดง
4) หัวใจห้องล่างซ้าย เป็นห้องหัวใจที่มีผนังหนาที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุด ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดที่มีออกซิเจนซึ่งได้รับมาจากหัวใจห้องบนซ้ายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย
ในการสูบฉีดเลือดของหัวใจนั้นจะเกิดการบีบตัวและคลายตัวของหัวใจ ซึ่งก็จะทำให้แรงดันของหลอดเลือดที่ลำเลียงเลือดไปทั่วร่างกายมีระดับสูงต่ำตามไปด้วย ซึ่งหัวใจเริ่มเต้นครั้งแรกตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์อายุ 4 สัปดาห์ จากนั้นก็จะทำงานต่อเนื่องไม่เคยหยุดพักไปตลอดชีวิต โดยปกติถ้าเรามีอายุถึง 80 ปี หัวใจจะเต้นไปแล้วทั้งหมด 3,000 ล้านครั้ง
เราคงจะทราบกันแล้วว่าหน้าที่ของหัวใจหนักหนาสาหัสเพียงใด เป็นอวัยวะที่ทำงานแบบไม่มีวันหยุด ถ้าหยุดเมื่อไรก็หมายถึงการเสียชีวิตของเจ้าของหัวใจ ในเมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราทุกคนจึงควรหันมาดูแลสุขภาพของหัวใจกันให้มาก ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ พักผ่อนและออกกำลังกายอย่างเหมาะสม และตรวจสุขภาพเป็นประจำ
วีดิทัศน์เรื่อง ทั้งหัวใจให้เธอ
กลับไปที่เนื้อหา
หลอดเลือดมีอยู่ทุกส่วนของร่างกาย มีหน้าที่นำสารอาหาร และก๊าซออกซิเจนที่ลำเลียงไปกับเลือด เพื่อไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ
1) หลอดเลือดแดง คือหลอดเลือดที่นำเลือดออกจากหัวใจ ซึ่งจะเป็นเลือดที่มีปริมาณออกซิเจนสูงเป็นเลือดที่มีสีแดงสด ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย เส้นเลือดแดงที่อยู่ไกลหัวใจออกไปจะมีขนาดเล็กลง กล้ามเนื้อน้อยลง และผนังมีความยืดหยุ่นน้อยลง เส้นเลือดแดงจะมีขนาดต่างๆกัน ขนาดใหญ่ที่สุด คือ หลอดเลือดแดงใหญ่ ผนังของหลอดเลือดแดงที่มีขนาดใหญ่ต้องมีความแข็งแรง และสามารถขยายตัวรับแรงดันของเลือดที่เคลื่อนผ่านตามจังหวะการเต้นของหัวใจ และหดตัวให้มีขนาดเท่าเดิมเมื่อแรงดันผ่านไป ดังนั้นเมือหลอดเลือดแดงซึ่งมีขนาดใหญ่ฉีกขาดเลือดจะพุ่งออกมาเป็นจังหวะตามการเต้นของหัวใจ
2) หลอดเลือดดำ คือหลอดเลือดที่นำเลือดที่มีของเสียและคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ร่างกายใช้แล้วจากส่วนต่างๆของร่างกายกลับเข้าสู่หัวใจห้องบนขวา เพื่อนำกลับไปฟอกที่ปอด ภายในหลอดเลือดดำจะมีความดันต่ำ ถ้าหลอดเลือดดำฉีกขาด เลือดที่ไหลออกมาจะไหลรินๆคงที่ และสม่ำเสมอ ห้ามเลือดหยุดได้ง่ายกว่าหลอดเลือดแดงฉีกขาด
3) หลอดเลือดฝอย คือหลอดเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดแดงขนาดเล็ก ไปยังหลอดเลือดดำขนาดเล็ก โดยจะแทรกอยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย หลอดเลือดฝอยเป็นหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กที่สุดในร่างกายมีทั้งเส้นเลือดแดงฝอย และเส้นเลือดดำฝอย มีเนื้อเยื่อบางมาก และมีจำนวนมากเพราะเป็นส่วนที่ต้องแยกไปสู่ส่วนต่างๆของร่างกาย
สิ่งที่น่าสงสัยคือความดันเลือดในหลอดเลือดต่างๆ เท่ากันหรือไม่เราทราบได้จากการทดลองเรื่อง “ขนาดของหลอดกับการดูด” โดยใช้หลอดดูดที่มีขนาดต่างกันดูดน้ำที่มีปริมาณเท่ากัน ซึ่งจะพบว่าใช้แรงในการดูดหลอดแต่ละขนาดต่างกัน ทำให้ทราบว่าความดันในหลอดเลือดต่างๆมีความแตกต่างกัน โดยความดันเลือดจะสูงมากในหลอดเลือดแดงที่อยู่ใกล้หัวใจ และจะค่อยๆ ลดลงเมื่อห่างจากหัวใจออกไปในหลอดเลือดฝอยและหลอดเลือดดำความดันเลือดจะต่ำลงมาก ความดันเลือดมีความสำคัญมากในการที่จะทำให้เซลล์ของร่างกายได้รับออกซิเจนและสารต่างๆ จากหลอดเลือดโดยปกติผู้ใหญ่จะมีความดันเลือดประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ตัวเลขแรกหมายถึงค่าความดันเลือดสูงสุดขณะที่หัวใจบีบตัวและตัวเลขตัวหลังหมายถึงความดันเลือดขณะที่หัวใจคลายตัว
วีดิทัศน์เรื่อง เลือดหล่อเลี้ยง
กลับไปที่เนื้อหา
ปอดเป็นอวัยวะที่อยู่ในทรวงอกมีสองข้าง คือ ขวาและซ้าย มีลักษณะนิ่มร่างกายจึงมีกระดูกซี่โครงคอยปกป้องปอดไว้อีกชั้น ปอดแต่ละข้างจะมีถุงบางๆ 2 ชั้นหุ้มอยู่ เรียกว่า เยื่อหุ้มปอด ปอดมีหน้าที่หลัก คือ การหายใจ โดยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างถุงลมขนาดเล็กในปอดกับหลอดเลือดฝอยในผนังของถุงลมเพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย และนำคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกายทางลมหายใจออก ซึ่งปอดของคนเราจะมีความจุหรือบรรจุอากาศได้ประมาณ 5-6 ลิตรแต่ร่างกายนำอากาศไปใช้จริงแค่ 10% ของความจุปอด
กระบวนการหายใจของคน มีดังนี้
1) อากาศเข้าสู่จมูก (จมูกจะมีโพรงจมูกภายในโพรงจมูกจะมีขนเล็กๆและน้ำเมือกทำหน้าที่กรองฝุ่นและทำให้ลมหายใจชุ่มชื้น)
2) จากนั้นอากาศผ่านไปตามคอหอย โดยมีช่องลมเป็นช่องที่อยู่บริเวณฐานของคอหอยช่องนี้มีฝาปิดช่องลม คอยปิดเปิดไม่ให้อาหารหลุดเข้าไปในหลอดลม
3) อากาศเข้าสู่หลอดลมคอปลายสุดของหลอดลมคอแยกออกเป็นหลอดลมซ้ายและขวาสู่ปอดทั้งสองข้างหลอดลมจะแตกแขนงเล็กลงทุกทีเรียกว่าหลอดลมฝอยซึ่งมีจำนวนมากผนังหลอดลมจะบางลงตามลำดับปลายสุดของหลอดลมเหล่านี้จะเป็นถุงลม ในที่สุดอากาศก็จะผ่านเข้าสู่ถุงลมได้
4) เมื่ออากาศเข้าสู่ถุงลม แก๊สออกซิเจนจะแพร่ออกจากถุงลม โดยจับกับเม็ดเลือดแดงปนไปกับเลือด เพื่อลำเลียงเข้าสู่เซลล์ทั่วร่างกาย
5) เมื่อแก๊สออกซิเจนแพร่เข้าสู่เซลล์ทั่วร่างกาย จะเผาผลาญสารอาหารในเซลล์ร่างกายเกิด พลังงานน้ำ และ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์
6) แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดในเซลล์ร่างกาย จะแพร่ออกจากเซลล์ปนกับเลือด เพื่อลำเลียงไปยังปอด โดยจะแพร่ผ่านเส้นเลือดฝอยที่ล้อมรอบถุงลม และเข้าสู่ถุงลมเพื่อขับออกนอกร่างกายโดยกระบวนการหายใจออก
เราทราบหรือไม่ว่า ปอดที่มีสีแตกต่างกันสามารถบอกอะไรเราได้ โดยปกติปอดของคนเราจะมีสีขาวๆแดงๆ แต่ถ้ามีสีคล้ำๆ แสดงว่ามีอนุภาคของคาร์บอนตกค้างอยู่บนปอด ซึ่งจะทำให้ปอดถูกทำลายเหลือพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนก๊าซน้อยลง โดยอนุภาคของคาร์บอนจะพบมากในเขม่าควันบุหรี่ และยังพบในอากาศที่มีมลพิษ ดังนั้น เราจึงไม่ควรสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงไม่อยู่ใกล้คนที่สูบบุหรี่และอยู่ในบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ เพื่อดูแลรักษาสุขภาพปอดของเรา และเพื่อให้เข้าใจการขยายตัวของปอดเมื่อหายใจเข้าไปมากขึ้น สามารถดูได้จากการทดลองเรื่อง “การขยายตัวของปอด” ทดลองโดยวัดเส้นรอบวงของปอดหมูก่อนและหลังสูบลมเข้าไป ซึ่งพบว่าหลังสูบลมเส้นรอบวงของปอดจะมากขึ้น
วีดิทัศน์เรื่อง ปอด ปอด
กลับไปที่เนื้อหา
ร่างกายมีกระบวนการขับของเสียออกจากร่างกายหลายวิธี เช่น ขับออกทางอุจจาระ ทางเหงื่อ ทางลมหายใจ และทางปัสสาวะ สำหรับระบบขับถ่ายปัสสาวะ มีไตเป็นอวัยวะสำคัญเพื่อทำหน้าที่ขับถ่ายนํ้า ของเสีย และเกลือแร่ต่างๆ หน้าที่ของระบบขับถ่ายปัสสาวะ แบ่งออกเป็นข้อได้ดังต่อไปนี้
1) ไตทำหน้าที่กรองเอานํ้า และของเสียออกจากโลหิต ขับออกเป็นนํ้าปัสสาวะ
2) หลอดไตทำหน้าที่นำนํ้าปัสสาวะออกจากไต สู่กระเพาะปัสสาวะ
3) กระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่เก็บนํ้าปัสสาวะไว้ชั่วคราวแล้วจึงหดตัวบีบขับนํ้าปัสสาวะไปสู่ท่อปัสสาวะ
4) ท่อปัสสาวะทำหน้าที่เป็นทางผ่านของนํ้าปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะไปสู่ภายนอกร่างกาย
ไต เป็นอวัยวะสำคัญที่สุดในระบบขับถ่ายปัสสาวะ ลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วแดง อยู่ที่บริเวณบั้นเอวทั้ง 2 ข้าง ใต้กระดูกซี่โครง และอยู่ 2 ข้างของกระดูกสันหลัง มีสีแดง เหมือนไตหมูสดๆ ไตแต่ละข้างได้รับเลือดผ่านทางหลอดเลือดแดงใหญ่ซึ่งออกจากหัวใจ เมื่อเลือดไหลผ่านไตจะมีการกรองผ่านหน่วยไตเล็กๆ ที่เรียกว่า เนฟรอน (Nephron) ซึ่งมีอยู่ข้างละ 1 ล้านหน่วย หน่วยไตเล็กๆ เหล่านี้ทำหน้าที่กรองของเสียจากเลือดผ่านทางท่อไต และเกิดเป็นน้ำปัสสาวะขับออกจากร่างกายทางท่อปัสสาวะหน้าที่ของไตมีหลายอย่าง ได้แก่ การปรับสมดุลน้ำในร่างกาย การปรับสมดุลของสารเกลือแร่และกรด-ด่างในร่างกาย การกำจัดของเสียออกจากร่างกาย สร้างสารที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความดันโลหิต และการผลิตฮอร์โมนหลายชนิดในร่างกาย การทำงานของไตมีทั้งการดูดซึมกลับและขับสารต่างๆทิ้ง สารที่ถูกดูดซึมกลับ เช่น กลูโคส ฟอสเฟต กรดแลคติก กรดอะมิโนวิตามินซี ซิเตรท มอลเลทโซเดียม น้ำ ไบคาร์บอเนตและคลอไรด์สารที่ขับทิ้ง เช่น กรดยูริค และของเสียจากกระบวนการเผาผลาญของโปรตีนและยาต่างๆ
ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกายเช่นเดียวกับอวัยวะสำคัญอื่น เราควรดูแลรักษาให้ไตสามารถทำงานได้ตามปกติ เช่น
1) ตรวจวัดระดับความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมให้อยู่ในระดับปกติ หรือใกล้เคียงปกติ ความดันโลหิตที่สูงๆ ต่ำๆ ไม่คงที่ ส่งผลต่อการทำงานของไต ทำให้ไตเสื่อมเร็วกว่าปกติ
2) การควบคุมระดับน้ำตาล โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมีผลทำให้ไตเสื่อมได้เร็วกว่าปกติ
3) การควบคุมอาหาร มีความจำเป็นต่อการชะลอความเสื่อมของไตอย่างมาก
- อาหารโปรตีน ควรควบคุมและจำกัดโปรตีนเพื่อไม่ให้ระดับของเสียเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่ความอดอาหารจนเดิดภาวะขาดอาหารซึ่งจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้โดยง่าย
- อาหารเค็ม มีผลต่อภาวะความดันโลหิตสูงควรหลีกเลี่ยง
- น้ำดื่ม สามารถดื่มน้ำได้ตามความต้องการ แต่ไม่มากไม่น้อยโดยดูจากน้ำหนักตัว
- อาหารไขมัน สามารถรับประทานได้พอประมาณ โดยดูจากระดับไขมันในเลือด โดยได้รับคำปรึกษาจากแพทย์โดยใกล้ชิด และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง
4) การสูบบุหรี่ มีผลทำให้ไตเสื่อมเร็ว
วีดิทัศน์เรื่อง ไต เครื่องกรองของเสียของร่างกาย
กลับไปที่เนื้อหา
ระบบประสาท คือ ระบบที่ประกอบด้วยสมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาททั่วร่างกายซึ่งจะทำหน้าที่ร่วมกันในการควบคุมการทำงานและการรับความรู้สึกของอวัยวะทุกส่วนรวมถึงความรู้สึก นึกคิด อารมณ์ และความทรงจำต่างๆ สมองและไขสันหลังจะเป็นศูนย์กลางคอยรับการกระตุ้นจากสิ่งเร้าทั้งภายในและภายนอกร่างกายแล้วส่งกระแสคำสั่งผ่านเส้นประสาทที่กระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายให้ทำงานตามที่ต้องการ ระบบประสาท แบ่งออกเป็น ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบประสาทส่วนปลาย และระบบประสาทอัตโนม้ติ
สมองเป็นอวัยวะของระบบประสาทที่ซับซ้อนที่สุด บรรจุอยู่ในช่องกะโหลกศีรษะโดยทั่วไปสมองมีน้ำหนักประมาณ 2% ของน้ำหนักตัว มีหน้าที่ควบคุมและสั่งการการเคลื่อนไหวพฤติกรรม และรักษาสมดุลภายในร่างกาย เช่น การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิตสมดุลของเหลวในร่างกาย และอุณหภูมิ เป็นต้น หน้าที่ของสมองยังเกี่ยวข้องกับการรับรู้ อารมณ์ ความจำ และความสามารถอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้
โครงสร้างของสมองแบ่งออกเป็น 3 ส่วนที่สำคัญ ดังนี้
1) สมองส่วนหน้าประกอบด้วย
- ซีรีบรัม (Cerebrum) หรือสมองใหญ่ แบ่งออกเป็น 2 ซีก ทำหน้าที่ควบคุมร่างกายในด้านตรงข้าม สมองซีกซ้ายจะทำหน้าที่ควบคุมร่างกายในซีกขวา ส่วนสมองซีกขวาจะทำหน้าที่ควบคุมร่างกายในซีกซ้าย ซีรีบรัมเป็นสมองส่วนที่พัฒนามากที่สุดในคน ทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับความรู้ ความจำ เชาวน์ปัญญา และเป็นศูนย์กลางควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อการรับรู้ความรู้สึกและสัมผัสต่างๆ
- ทาลามัส(Thalamus) เป็นส่วนที่อยู่ด้านหน้าของสมองส่วนกลางหรืออยู่ข้างๆ โพรงสมองทำหน้าที่เป็นสถานีถ่อยทอดกระแสประสาทที่รับความรู้สึกก่อนที่จะส่งไปยังสมองที่เกี่ยวข้องกับกระแสประสาทนั้น
- ไฮโปทาลามัส(Hypothalamus) สมองส่วนนี้อยู่ใต้ส่วนทาลามัสซึ่งอยู่ด้านล่างสุดของสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางควบคุมอุณหภูมิของร่างกายการเต้นของหัวใจ การนอนหลับ ความดันเลือด ความหิว นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ควบคุมอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ เช่น อารมณ์เศร้าโศกเสียใจ เป็นต้น
2) สมองส่วนกลางเป็นช่องทางผ่านการรับรู้จากไขสันหลังไปสู่ซีรีบรัมโดยเฉพาะการควบคุมการมองเห็นและการได้ยิน
3) สมองส่วนท้ายประกอบด้วย
- พอนส์ (Pons) อยู่ด้านหน้าของซีรีเบลลัม ติดกับสมองส่วนกลาง ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานบางอย่างของร่างกาย เช่น การเคี้ยวอาหาร การหลั่งน้ำลาย การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า การหายใจ การฟัง
- เมดัลลา ออบลองกาตา (Medulla oblongata)เป็นสมองส่วนท้ายสุด ต่อกับไขสันหลังเป็นทางผ่านของกระแสประสาทระหว่างสมองกับไขสันหลังเป็นศูนย์กลางการควบคุมการทำงานเหนืออำนาจจิตใจ เช่น ไอจามสะอึกหายใจการเต้นของหัวใจ เป็นต้น
- ซีรีเบลลัม (Cerebellum) อยู่ใต้เซรีบรัม ควบคุมระบบกล้ามเนื้อให้สัมพันธ์กันและควบคุมการทรงตัวของร่างกาย
สมองส่วนกลางพอนส์ และ เมดัลลา ออบลองกาตา สมองทั้ง 3 ส่วนนี้รวมเรียกว่าก้านสมอง (brain stem)
เราทราบหรือไม่ว่า รอยหยักในสมองไม่มีผลต่อความฉลาด ทุกคนมีรูปแบบของรอยหยักในสมองเหมือนกัน แต่ความฉลาดขึ้นอยู่กับการวางรูปแบบของสมอง และการเชื่อมต่อของเซลล์ประสาท เราสามารถเพิ่มความฉลาดให้ตัวเองได้โดยการกินอาหารที่มีประโยชน์ ฝึกการใช้สมองอยู่เสมอ ลดปริมาณแอลกอฮอล์ ทำสมาธิ และหมั่นออกกำลังกาย
วีดิทัศน์เรื่อง "สมอง"กองบัญชาการสูงสุดของร่างกาย
กลับไปที่เนื้อหา
โครงร่างของร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยกระดูกกระดูกอ่อนกระดูกแต่ละชิ้นจะติดต่อซึ่งกันและกันโดยข้อต่อและมีเอ็นยึดทำให้ร่างกายคงรูปอยู่ได้การมีข้อต่อนี้จึงทำให้มีการเคลื่อนไหวโดยมีการช่วยเหลือของกล้ามเนื้อต่างๆช่วยในการเคลื่อนไหวร่างกายด้วยโครงกระดูกมีหน้าที่ที่สำคัญหลายประการได้แก่
- ค้ำจุนโครงสร้างของร่างกาย
- เป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อและเอ็นต่างๆสำหรับการเคลื่อนไหว
- ป้องกันอวัยวะภายในที่สำคัญเช่นกะโหลกศีรษะที่ห่อหุ้มสมองหรือซี่โครงป้องกันปอดและหัวใจจากการกระทบกระเทือน
- เป็นแหล่งผลิตเม็ดเลือดที่ส้าคัญ
- เป็นแหล่งเก็บสะสมแคลเซี่ยมที่สำคัญของร่างกาย
โครงกระดูกในร่างกายมีประมาณ 206 ชิ้น สามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ คือโครงกระดูกแกน (Axial Skeleton) และโครงกระดูกรยางค์ (Appendicular Skeleton) โครงกระดูกแกน ประกอบด้วยกระดูกจำนวน 80 ชิ้น ซึ่งวางตัวในแนวแกนกลางของลำตัว ได้แก่ กะโหลกศีรษะ 22 ชิ้นกระดูกหู 6 ชิ้นกระดูกโคนลิ้น 1 ชิ้นกระดูกสันหลัง จำนวน 26 ชิ้นกระดูกซี่โครง จำนวน 24 ชิ้นและกระดูกอก 1 ชิ้น
โครงกระดูกรยางค์ ประกอบด้วยกระดูกจำนวน 126 ชิ้น ซึ่งจะอยู่ในส่วนแขนและขาของร่างกายเพื่อช่วยในการเคลื่อนไหว ได้แก่ กระดูกส่วนไหล่ 5 ชิ้น กระดูกแขน 6 ชิ้น กระดูกมือ 54 ชิ้น กระดูกเชิงกราน 2 ชิ้น กระดูกขา 8 ชิ้น และกระดูกเท้า 52 ชิ้น
กระดูกบางชิ้นสามารถบอกความแตกต่างของเพศชายและหญิงได้ เช่น กระดูกสะโพกของผู้ชายด้านหน้าจะสอบแคบและตั้งสูงช่องกระดูกเชิงกรานรูปคล้ายกรวยมี pelvic inlet เป็นรูปหัวใจมีระยะห่างระหว่างกระดูกชายโครงกับปีกเชิงกรานน้อยทำให้ผู้ชายมีเอวหนาและใหญ่กว่าเพศหญิง ในขณะที่เชิงกรานของเพศหญิงจะมี pelvic inlet เป็นรูปไข่ช่องเชิงกรานเข้าและออกมีขนาดใหญ่เกือบเท่ากัน มีระยะห่างระหว่างชายโครงกับเชิงกรานมากทำให้มีเอวเล็กลง
ความสูงของคนเรานั้น ส่วนหนึ่งมาจากความยาวของกระดูกสันหลัง ซึ่งทุกส่วนจะมีส่วนที่เป็นกระดูกแข็ง และมีส่วนที่เป็นกระดูกอ่อนอยู่ระหว่างกระดูกแข็ง ซึ่งเราเรียกว่า Disk โดยเป็นส่วนที่ยังสามารถเจริญเติบโตได้ โดยมีความหนา และบางแตกต่างกันไป ซึ่งส่วนนี้เองนี้จะเป็นส่วนที่ยังสามารถเพิ่มให้หนาขึ้นได้ เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารจำพวกโปรตีนมากเพียงพอ ร่างกายจะทำการสังเคราะห์ให้เป็น คอลลาเจน เพื่อใช้ในกระบวนการสร้างความหนาของกระดูกอ่อนให้กับร่างกายต่อไป นอกจากนี้ การออกกำลังกายด้วยการยืดกล้ามเนื้อ เช่น การกระโดดเอื้อมแตะ การว่ายน้ำ และการเล่นโยคะ ก็สามารถช่วยเพิ่มความสูงได้
วีดิทัศน์เรื่อง โครงกระดูก=โครงร่างของร่างกาย
กลับไปที่เนื้อหา
กล้ามเนื้อเป็นระบบที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยจะอาศัยคุณสมบัติการหดตัวของใยกล้ามเนื้อ ทำให้กระดูกและข้อต่อเกิดการเคลื่อนไหว และมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน กล้ามเนื้อมีทั้งหมด 3 ชนิด ดังนี้
1) กล้ามเนื้อลาย (Skeletal Muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานอยู่ภายใต้อำนาจจิตใจ เกาะอยู่กับกระดูก และมีบทบาทสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อแขนและขา
2) กล้ามเนื้อเรียบ (Smooth Muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานนอกอำนาจจิตใจ พบที่อวัยวะภายในของร่างกายเช่น หลอดอาหาร หลอดเลือด เป็นต้น
3) กล้ามเนื้อหัวใจ (Cardiac Muscle) เป็นกล้ามเนื้อที่ทำงานนอกอำนาจจิตใจ พบที่หัวใจเพียงแห่งเดียว
กล้ามเนื้อมีหน้าที่ที่สำคัญหลายประการ ได้แก่
- ทำให้ร่างกายมีการเคลื่อนที่ไปในทิศทางต่าง ๆ ด้วยความเร็วตามสภาพร่างกาย
- ทำให้อวัยวะเคลื่อนไหวทำงาน เพื่อให้เกิดพลังงานและการดำรงชีวิต
- สะสมไกลโคเจนเพื่อเป็นแหล่งกำเนิดพลังงาน
- ป้องกันอันตรายให้แก่อวัยวะภายใน
เมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติทางสรีรวิทยาของกล้ามเนื้อระหว่างเพศชายและเพศหญิงจะพบว่ากล้ามเนื้อของเพศชายและเพศหญิงไม่แตกต่างกันแต่ปกติเพศชายจะมีขนาดของกล้ามเนื้อใหญ่กว่า ความแตกต่างนี้จะเป็นผลของความเข้มข้นของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนซึ่งเพศชายจะมีมากกว่าเพศหญิงถึงประมาณ 10 เท่านอกจากนี้เพศหญิงจะมีสัดส่วนของกล้ามเนื้อต่อไขมันน้อยกว่าเพศชาย สรุปคือเพศหญิงมีไขมันมากกว่า ที่เห็นได้ชัดคือกล้ามเนื้อหน้าอกของผู้หญิง ซึ่งส่วนที่นูนออกมาคือไขมัน และมีต่อมน้ำนมอยู่ภายใน สำหรับวิธีการสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยมีทั้งการออกกำลังกายทุกส่วนของร่างกาย เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ และการออกกำลังกายเฉพาะส่วน เช่น การเล่นเวท เป็นต้น
วีดิทัศน์เรื่อง สร้างกล้ามเนื้อกันเถอะ
กลับไปที่เนื้อหา
เพศหญิงและชายมีโครงสร้างหลายๆอย่างของร่างกายที่เหมือนกัน แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือ ระบบสืบพันธุ์ อวัยวะที่สำคัญในระบบสืบพันธุ์เพศชาย ประกอบด้วย
1) อัณฑะ (Testis) เป็นต่อมรูปไข่ มี 2 อัน ทำหน้าที่สร้างตัวอสุจิ (Sperm) ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศชาย และสร้างฮอร์โมนเพศชายเพื่อควบคุมลักษณะต่างๆของเพศชาย เช่น การมีหนวดเครา เสียงห้าว เป็นต้น โดยทั่วไปเพศชายจะเริ่มสร้างตัวอสุจิเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น คือ อายุประมาณ12-13 ปี และจะสร้างไปจนตลอดชีวิต
2) ถุงหุ้มอัณฑะ (Scrotum) ทำหน้าที่ห่อหุ้มลูกอัณฑะ ควบคุมอุณหภูมิให้พอเหมาะในการสร้างตัวอสุจิ ซึ่งตัวอสุจิจะเจริญได้ดีในอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิปกติของร่างกายประมาณ 3-5 องศาเซลเซียส
3) หลอดเก็บตัวอสุจิ (Epididymis) อยู่ด้านบนของอัณฑะ มีลักษณะเป็นท่อเล็กๆ ยาวประมาณ 6 เมตร ขดทบไปมา ทำหน้าที่เก็บตัวอสุจิจนตัวอสุจิเติบโตและแข็งแรงพร้อมที่จะปฏิสนธิ
4) หลอดนำตัวอสุจิ (Vas Deferens) อยู่ต่อจากหลอดเก็บตัวอสุจิ ทำหน้าที่ลำเลียงตัวอสุจิไปเก็บไว้ที่ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ
5) ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ (Seminal Vesicle) ทำหน้าที่สร้างอาหารเพื่อใช้เลี้ยงตัวอสุจิ เช่น น้ำตาลฟรักโทส วิตามินซี
6) ต่อมลูกหมาก (Prostate Gland) อยู่ตอนต้นของท่อปัสสาวะ ทำหน้าที่หลั่งสารที่มีฤทธิ์เป็นเบสอ่อนๆ เข้าไปในท่อปัสสาวะเพื่อทำลายฤทธิ์กรดในท่อปัสสาวะ ทำให้เกิดสภาพที่เหมาะสมกับตัวอสุจิ
7) ต่อมคาวเปอร์ (Cowper Gland) อยู่ใต้ต่อมลูกหมากลงไปเป็นกระเปาะเล็กๆ ทำหน้าที่หลั่งสารไปหล่อลื่นท่อปัสสาวะในขณะที่เกิดการกระตุ้นทางเพศ
อวัยวะที่สำคัญของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ประกอบด้วย
1) รังไข่ (Ovary) มี 2 อันอยู่บริเวณปีกมดลูกแต่ละข้างทำหน้าที่ ดังนี้
- ผลิตไข่ (Ovum) ซึ่งเป็นเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิง โดยปกติไข่จะสุกเดือนละ 1 ใบ จากรังไข่แต่ละข้างสลับกันทุกเดือน และออกจากรังไข่ทุกรอบเดือนเรียกว่า การตกไข่ตลอดช่วงชีวิตของเพศหญิงปกติจะมีการผลิตไข่ประมาณ 400 ใบ คือ เริ่มตั้งแต่อายุ 12 ปี ถึง 50 ปี จึงหยุดผลิต
- สร้างฮอร์โมนเพศหญิงซึ่งมีอยู่หลายชนิด ที่สำคัญ ได้แก่อีสโทรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ควบคุมเกี่ยวกับมดลูก ช่องคลอด ต่อมน้ำนม และควบคุมการเกิดลักษณะต่างๆ ของเพศหญิง เช่น เสียงแหลมเล็ก ตะโพกผาย หน้าอกและอวัยวะเพศขยายใหญ่ขึ้น เป็นต้นและ โพรเจสเทอโรน(Progesterone) เป็นฮอร์โมน ที่ทำงานร่วมกับอีสโทรเจนในการควบคุมเกี่ยวกับเกี่ยวกับการเจิญของมดลูก การเปลี่ยนแปลงเยื่อบุมดลูกเพื่อเตรียมรับไข่ที่ผสมแล้ว
2) ท่อนำไข่ (Oviduct) หรือปีกมดลูก (Fallopian Tube) เป็นทางเชื่อมต่อระหว่างรังไข่ทั้งสองข้างกับมดลูก ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของไข่ที่ออกจากรังไข่เข้าสู่มดลูก และเป็นบริเวณที่อสุจิจะเข้าปฏิสนธิกับไข่
3) มดลูก (Uterus) ทำหน้าที่เป็นที่ฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว และเป็นที่เจริญเติบโตของทารกในครรภ์
4) ช่องคลอด (Vagina) อยู่ต่อจากมดลูกลงมา ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของตัวอสุจิเข้าสู่มดลูก เป็นทางออกของทารกเมื่อครบกำหนดคลอด และยังเป็นช่องให้ประจำเดือนออกมาด้วย
การตั้งครรภ์จะเริ่มต้นเมื่อตัวอสุจิเข้าผสมกับไข่ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะเคลื่อนตัวเข้าสู่มดลูก เพื่อฝังตัวที่ผนังมดลูกและเจริญเติบโตต่อไปแต่ถ้าไม่มีตัวอสุจิเข้ามาผสมกับไข่ ไข่จะสลายตัวก่อนที่จะผ่านมาถึงมดลูก จากนั้นผนังด้านในของมดลูกและเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยงเป็นจำนวนมากก็จะสลายตัว แล้วไหลออกสู่ภายนอกร่างกายทางช่องคลอด เรียกว่า ประจำเดือน โดยปกติผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนเมื่ออายุประมาณ 12 ปี ขึ้นไป รอบของการมีประจำเดือนแต่ละเดือนจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยทั่วไปประมาณ 28 วัน และจะมีทุกเดือนไปจนกระทั่งอายุประมาณ 50 - 55 ปี จึงจะหยุดการมีประจำเดือน
วีดิทัศน์เรื่อง ชาย-หญิง
กลับไปที่เนื้อหา
พัฒนาการทารกในครรภ์ เริ่มนับตั้งแต่วันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย การตั้งครรภ์โดยปกตินั้นมีระยะเวลาเฉลี่ยคือ 40 สัปดาห์ หรือ 10 เดือนหลังมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย ซึ่งมีพัฒนาการ ดังนี้
1) เดือนที่ 1 อยู่ในช่วงเริ่มพัฒนาอวัยวะสำคัญทั้งหมดและหัวใจเริ่มเต้นแล้ว
2) เดือนที่ 2 ศีรษะจะโตขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันกับพัฒนาการของสมองลำคอเหยียดออกอวัยวะสำคัญต่างๆเริ่มปรากฏทั้งหมดหัวใจมีโครงสร้างสมบูรณ์เริ่มตอบสนองต่อการสัมผัสต่างๆระบบประสาทพัฒนาและเริ่มทำงาน
3) เดือนที่ 3 อวัยวะสำคัญทั้งหมดสร้างเรียบร้อยหมดแล้วซี่โครงและกระดูกเริ่มมีแคลเซียมมาสะสมอย่างรวดเร็วอวัยวะเพศเริ่มแสดงให้เห็นเริ่มตอบสนองกับสิ่งเร้าภายนอกเริ่มมีการขยับตัวหนีได้ดิ้นไปมาตลอดเวลาแต่แม่ยังไม่รู้สึก
4) เดือนที่ 4 ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอความยาวจากหัวถึงก้นประมาณ 12 เซนติเมตรเริ่มได้ยินเสียงอวัยวะเพศภายนอกชัดเจนขึ้นแยกหญิงชายได้เริ่มรับรู้ถึงแสงสว่างภายนอกครรภ์ของแม่ในเดือนนี้จำนวนของเซลล์ประสาทจะพัฒนามีการเชื่อมต่อระหว่างประสาทและกล้ามเนื้อทำให้แขนขาเคลื่อนไปตามจังหวะข้อพับได้กำมือได้
5) เดือนที่ 5 ทารกในครรภ์จะมีการเจริญเติบโตช้าลงแต่น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆระบบประสาทเริ่มสมบูรณ์จนสามารถควบคุมการทางานของกล้ามเนื้อได้เริ่มมีฟันน้ำนมเกิดขึ้นภายในเหงือกในเดือนนี้หญิงตั้งครรภ์จะเริ่มรู้สึกว่าทารกในครรภ์ดิ้นแล้ว
6) เดือนที่ 6 ทารกในครรภ์จะแข็งแรงมากขึ้นตัวยาวขึ้นน้ำหนักเพิ่มขึ้น
7) เดือนที่ 7 เดือนนี้ระบบประสาทจะพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเซลล์สมองและวงจรของระบบประสาทจะประสานกันอย่างสมบูรณ์และตื่นตัวเต็มที่เริ่มลืมตาได้
8) เดือนที่ 8 ร่างกายสัดส่วนเท่ากับทารกที่คลอดครบกำหนดแล้วแต่น้ำหนักยังน้อยเกินไปต้องรอให้โตเต็มที่และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกอวัยวะต่างๆสมบูรณ์เกือบหมดยกเว้นปอดซึ่งพัฒนาไม่เต็มที่ถ้าคลอดมักหายใจได้ไม่ดีแต่ก็จะมีชีวิตรอด
9) เดือนที่ 9 น้ำหนักทารกในครรภ์เพิ่มขึ้นเริ่มกลับเอาหัวลงสู่ทางช่องคลอดถ้าเป็นครรภ์แรกหัวของทารกจะเคลื่อนเข้าไปอยู่ในอุ้งเชิงกราน ทารกจะนอนคุดคู้งอแขนขาผิวหนังเต่งตึงเนื่องจากไขมันสะสมใต้ผิวหนังมากปอดเกือบสมบูรณ์เต็มที่ดังนั้นแม่อาจคลอดตอนไหนก็ได้ในช่วงนี้
ลูกและแม่จะสื่อสารติดต่อกันผ่านทางรก โดยรกคืออวัยวะพิเศษที่สร้างขึ้นมาในช่วงตั้งครรภ์ ทำหน้าที่ส่งอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงทารกและกำจัดของเสีย ด้านหนึ่งของรกต่อกับเส้นเลือดที่สายสะดือของทารก อีกด้านของรกจะเกาะกับผนังมดลูกของแม่ซึ่งเลือดของลูกกับแม่จะไม่ผสมกัน แต่มีการแลกเปลี่ยนสารต่างๆ ระหว่างกัน
วีดิทัศน์เรื่อง พัฒนาการทารกในครรภ์
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังวิดีทัศน์
ตอน รู้จักร่างกายของเรา
ตอน ระบบย่อยอาหารแหล่งสร้างพลังงานของร่างกาย
ตอน ทั้งหัวใจให้เธอ
ตอน เลือดหล่อเลี้ยง
ตอน ปอด ปอด
ตอน ไต เครื่องกรองของเสียของร่างกาย
ตอน "สมอง"กองบัญชาการสูงสุดของร่างกาย
ตอน โครงกระดูก=โครงร่างของร่างกาย
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนนางสาวพวงเพ็ญ สิงห์โตทอง โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม จ.กรุงเทพผู้เขียนแผนการสอนนางแกมแพร มณเฑียรรัตน์ โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒาราม จ.กรุงเทพผู้เขียนแผนการสอนนางสาวแพรทอง พิลาสา โรงเรียนสายปัญญารังสิต จ.ปทุมธานีผู้เขียนแผนการสอนนางสาวทิพวรรณ์ ถาหล้า โรงเรียนสายปัญญารังสิต จ.ปทุมธานีผู้เขียนแผนการสอนนางสาวคณิตา จันทวงษ์ โรงเรียนสิงหพาหุ “ประสานมิตรอุปถัมภ์”จ.สิงห์บุรีผู้เขียนแผนการสอนนางสาวละเอียด อมตเวทิน โรงเรียนสิงหพาหุ “ประสานมิตรอุปถัมภ์”จ.สิงห์บุรี
-
คำที่เกี่ยวข้อง