แหล่งเรียนรู้ศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง
- 1. การแนะนำ
- 2. ตัวชี้วัดและจุดประสงค์การเรียนรู้
- 3. ที่ตั้งและการเดินทาง
- 4. ความเป็นมา
- 5. การขยายพันธุ์พืชด้วยการเพาะเมล็ด
- 6. การขยายพันธุ์พืชแบบไม่อาศัยเพศ
- 7. เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
- 8. วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
- 9. อาหารสำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
- 10. ห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อ
- 11. โรงเรือนอนุบาล
- 12. การวัดความสว่าง อุณหภูมิและความชื้น
- - ทุกหน้า -
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นหน่วยงานสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดราชบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านดอนห้วยราบ หมู่ที่ 12 ตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีจำนวน 380 ไร่ จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนางานด้านพันธุ์พืชและฝึกอาชีพการเกษตรทั้งในด้านการ ผลิต โดยใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการ การอนุบาล การขยายเพิ่มปริมาณ การกระจายพันธุ์ การปลูก การส่งเสริม การฝึก-อบรมวิทยาการต่างๆ สนับสนุนแก่เกษตรกรให้สามารถนำไปปฏิบัติจนได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปริมาณเพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศและได้มาตราฐานสำหรับการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ
ภายในศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสุพรรณบุรี ( พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง ) นั้น
ประกอบด้วย อาคารอำนวยการ อาคารฝึกอบรมและพักรับประทานอาหาร อาคารหอพัก อาคารปฎิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โรงเรือนอนุบาลแม่พันธุ์และผลิตพันธุ์พืชเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ทันสมัย ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์เรือนพรรณไม้งาม บรรหาร - แจ่มใส สวนไม้ดอกตรึงตาไม้ประดับตรึงใจ ทุ่งทานตะวันบ้านบรรหาร -แจ่มใสแปลงเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิดสวนเพื่อสุขภาพที่สนับสนุนโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรีภูมิทัศน์ภายในศูนย์ฯ ที่สวยงามรวมถึงอาคารบ้านพักราชการและลูกจ้าง
กลับไปที่เนื้อหา
สาระ มาตรฐานและตัวชี้วัดชั้นปี (ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ชั้น ม.1)
สาระที่ 1 สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต
มาตรฐาน ว 1.1 เข้าใจหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต ความสัมพันธ์ของโครงสร้างและหน้าที่ของระบบต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตที่ทำงานสัมพันธ์กัน มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ในการดำรงชีวิตของตนเอง และดูแลสิ่งมีชีวิต
ตัวชี้วัดชั้นปี
1.อธิบายกระบวนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศของพืชดอกและการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศของพืชโดยใช้ส่วนต่าง ๆ ของพืชเพื่อช่วยในการขยายพันธุ์
2.อธิบายหลักการและผลของการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการขยายพันธุ์ ปรับปรุงพันธุ์ เพิ่มผลผลิตของพืชและนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
จุดประสงค์การเรียนรู้
1.อธิบายความหมายของการขยายพันธุ์พืชแบบอาศัยเพศและแบบไม่อาศัยเพศได้
2.เข้าใจและอธิบายวิธีการขยายพันธุ์พืชด้วยการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การปักชำ การแยกหน่อ และเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสียของการขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีดังกล่าวได้
3.เข้าใจและอธิบายกระบวนการขยายพันธุ์พืชด้วยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้
กลับไปที่เนื้อหา
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสุพรรณบุรี ตั้งอยู่ที่ บริเวณดอนห้วยราบ หมู่ที่ 12 ตำบลพลับพลาชัย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี มีเนื้อที่ 380 ไร่ เป็นพื้นที่น้ำไม่ท่วมและอยู่ติดคลองส่งน้ำมะขามเฒ่า -อู่ทอง ที่มีน้ำตลอดทั้งปี
วิดีทัศน์ เรื่อง ไปเรียนรู้ที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสุพรรณบุรี
เริ่มออกเดินทางจากศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 321 ผ่านวัดป่าเลไลย์ ตรงไปเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 322 อีกประมาณ 6 กิโลเมตร ถึงทางแยกเข้าบ้านท่าเสด็จ เลี้ยวซ้ายไปตามทางหลวงหมายเลข 3460 อีกประมาณ 16 กิโลเมตร ก็จะถึงทางเข้าศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสุพรรณบุรี
กลับไปที่เนื้อหา
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสุพรรณบุรี ( พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง ) เป็นหน่วยงานสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 2 จังหวัดราชบุรี จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนางานด้านพันธุ์พืชและฝึกอาชีพการเกษตรทั้งในด้านการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในห้องปฏิบัติการ การอนุบาล การขยายเพิ่มปริมาณ การกระจายพันธุ์ การปลูก การส่งเสริม การฝึกอบรมวิทยาการต่างๆ สนับสนุนแก่เกษตรกรให้สามารถนำไปปฏิบัติจนได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปริมาณเพียงพอ ต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศและได้มาตราฐานสำหรับการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ
วิดีทัศน์ เรื่อง หน้าที่ของศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดสุพรรณบุรี ( พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง ) เป็นศูนย์ฯที่เกิดขึ้นเนื่องจากกรมส่งเสริมการเกษตรมีโนบายจัดตั้งศูนย์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขึ้นทั่วประเทศ โดยในเขตภาคกลางและภาคตะวันตกกรมส่งเสริมการเกษตรเห็นว่าจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นจุดเหมาะสมที่จะตั้งศูนย์ฯเพราะที่ตั้งจังหวัดเป็นจุดกึ่งกลางของทั้ง 2 ภาค มีระบบคมนาคมและสาธารณูปโภค ต่างๆ ที่ดี จึงดำเนินการจัดตั้งศูนย์นี้ขึ้นและเริ่มเปิดทำการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2545 เป็นต้นมา
กลับไปที่เนื้อหา
การขยายพันธุ์พืช เป็นการเพิ่มจำนวนต้นพืชให้ได้จำนวนมากพอกับปริมาณความต้องการ โดยพืชต้นใหม่ที่ได้ยังคงลักษณะและสมบัติของพันธุ์ที่ดีไว้ หรืออาจได้พันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะผิดไปจากเดิม
การขยายพันธุ์พืชแบ่งได้ 2 แบบคือ การขยายพันธุ์พืชแบบอาศัยเพศ ได้แก่ การขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดและการขยายพันธุ์พืชแบบไม่อาศัยเพศ ได้แก่การขยายพันธุ์โดยใช้ส่วนต่าง ๆ ของต้นพืช เช่น ใช้การปักชำ การตอนกิ่ง การต่อกิ่ง การติดตา การทาบกิ่ง การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เป็นต้น
การขยายพันธุ์พืชแบบอาศัยเพศ เป็นการใช้เมล็ด ซึ่งเกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียของพืชดอก จนเกิดการปฏิสนธิ รังไข่ของดอกจะเจริญเป็นผล ไข่หรือออวุลที่อยู่ในรังไข่จะเจริญเป็นเมล็ด และภายในของเมล็ดก็จะมีต้นอ่อนหรือเอมบริโอ เมื่อนำเมล็ดพืชมาเพาะต้นอ่อนก็จะงอกและเจริญเติบโต ได้พืชต้นใหม่ที่มีลักษณะเหมือนเดิมและมีจำนวนมากขึ้น
คำถาม
- การปฏิสนธิของพืชดอก มีกระบวนการอย่างไร
การเพาะเมล็ด เป็นวิธีที่มักใช้ในงานปลูกพืชที่ต้องการต้นพืชจำนวนไม่มากนัก เช่น ในการเพาะจำหน่ายพันธุ์ไม้ การปลูกผักสวนครัว ไม้ดอกไม้ประดับ เป็นต้น การเพาะเมล็ดทำได้ทั้งในแปลงเพาะและในภาชนะเพาะ สำหรับการเพาะในภาชนะเพาะสามารถป้องกันมิให้ต้นพืชที่เพาะได้รับความเสียหายได้ง่าย วิธีนี้จำเป็นจะต้องจัดเตรียมอุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ดังนี้
1. ภาชนะและวัสดุที่ใช้เพาะ ภาชนะควรมีน้ำหนักเบา ไม่แตกหักหรือผุพังง่าย หาได้ง่ายและมีราคาถูก มีขนาดพอเหมาะที่จะหยิบยกได้สะดวก และมีรูระบายน้ำให้ไหลออกได้ง่าย โดยทั่วไปการเพาะเมล็ดในภาชนะมักจะใช้กระบะไม้หรือกระบะสำหรับเพาะ วัสดุที่ใช้เพาะหรือดินที่ใช้เพาะเมล็ดควรมีลักษณะดังนี้
ก. ดินจะต้องโปร่ง และมีอากาศถ่ายเทดีอุ้มน้ำได้มากพอสมควร และระบายน้ำได้ง่าย
ข. มีธาตุอาหารสำหรับพืชเพียงพอใช้ช่วงอายุของกล้าพืชตามปกติ คือ ประมาณ ๓๐-๔๕ วัน
ค. เบาหรือค่อนข้างเบา สามารถเคลื่อนย้ายและหยิบยกได้สะดวก
ง. ปราศจากโรค แมลง หรือสารอื่นใดที่เป็นพิษ
จ. ไม่เป็นกรดหรือด่างจัด จนทำให้กล้าพืชไม่เจริญเท่าที่ควร
สำหรับวัสดุที่ใช้เพาะเมล็ด โดยทั่วไปมักจะใช้ดินซึ่งอาจนำมาจากหน้าดินในแปลงปลูกพืช ดินขุยไผ่ ดินปุ๋ยหมักหรือใบไม้ผุ หรืออาจนำมาผสมกับวัตถุอื่นให้มีคุณสมบัติในการงอกของเมล็ดและการเจริญของกล้าพืชดียิ่งขึ้น หรืออาจใช้วัสดุสำเร็จรูปเช่น พีตมอส ในการเพาะ
2. เมล็ดที่จะนำมาเพาะ ควรจะเป็นเมล็ดที่ได้จากต้นแม่ที่แข็งแรง เมล็ดสมบูรณ์ดีคือ เมล็ดเต่งและมีน้ำหนักดี เป็นเมล็ดที่ไม่อยู่ในระยะพักตัว งอกได้มาก หรือมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง งอกได้เร็วและสม่ำเสมอ ไม่มีวัตถุอื่นเจือปนมากับเมล็ด เป็นเมล็ดที่ปราศจากเชื้อโรค หรือผ่านการคลุกยาฆ่าเชื้อโรคมาแล้ว
3. วิธีเพาะเมล็ด เริ่มจากการบรรจุดินลงกระบะเพาะควรมีวัตถุช่วยระบายน้ำ เช่น เศษอิฐหัก เศษหิน เศษหญ้าแห้ง เปลือกถั่วลิสง ใยกาบมะพร้าวหรือแกลบดิบ ใส่รองที่ก้นภาชนะเพาะสูง ¼ - ½ นิ้วแล้วบรรจุดินที่ใช้เพาะให้เต็มภาชนะเพาะ ปรับหน้าดินเพาะให้เรียบ โดยให้ระดับหน้าดินเพาะต่ำกว่าขอบภาชนะเล็กน้อยเพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดินเนื่องจากรดน้ำมากเกินไป ความหนาของเนื้อดินที่ใช้เพาะควรหนาอย่างน้อย 3 นิ้ว จากนั้นจึงโรยเมล็ดพืชลงไปเป็นแถวในภาชนะเพาะหรือหลุมสำหรับเพาะเสร็จแล้วจึงกลบด้วยดินที่ใช้เพาะ โดยไม่ควรกลบเมล็ดให้หนาเกิน 2-3 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลางของเมล็ด และหลังจากกลบดินทับเมล็ดแล้วควรจะกดดินให้พอกระชับเมล็ด เพื่อให้เมล็ดได้รับความชื้นและงอกได้สม่ำเสมอ จากนั้นจึงจะรดน้ำให้ชุ่ม
เมื่อเมล็ดงอกเป็นต้นกล้าแล้วต้องเลี้ยงดูกล้าพืชให้แข็งแรงพ้นจากการทำลายของโรคโคนเน่าคอดิน การดูแลรักษากล้าพืชในระยะแรกก็คือ เปิดให้ต้นกล้าได้รับแสงหลังจากงอกโผล่พ้นผิวดิน นอกจากแสงแล้วอุณหภูมิก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเจริญของกล้าพืชอีกด้วย โดยปกติอุณหภูมิขนาดปานกลางถึงค่อนข้างต่ำจะช่วยให้กล้าพืชเจริญได้แข็งแรง รักษาระดับความชื้นให้พอเหมาะไม่มากเกินไปจนทำให้อากาศถ่ายเทในดินไม่สะดวก ซึ่งจะทำให้เกิดโรคโคนเน่าคอดินระบาดได้รวดเร็ว โดยทั่วไปขณะที่กล้าพืชยังเล็กอยู่ รากยังมีน้อย ควรจะรดน้ำทุกวัน เพื่อช่วยให้รากเจริญได้เร็วขึ้นแต่เมื่อกล้าเจริญได้ดีพอแล้ว อาจจะงดการให้น้ำได้บ้าง แต่ก็ควรให้แปลงเพาะชื้นอยู่เสมอ เมื่อกล้าพืชเจริญเติบโตพอสมควรจึงย้ายลงปลูกในกระถางก่อนหรือนำลงปลูกในแปลงปลูกต่อไป
วิดีทัศน์ เรื่อง การขยายพันธุ์พืชด้วยการเพาะเมล็ด
คำถาม
- การขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด มีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไร
กลับไปที่เนื้อหา
การขยายพันธุ์พืชแบบไม่อาศัยเพศ เป็นวิธีการนำเอาส่วนต่างๆ ของพืชเช่น ลำต้น ใบมาใช้ในการขยายพันธุ์ด้วยการตอน การปักชำ การติดตา การต่อกิ่ง การทาบกิ่ง วิธีการดังกล่าวช่วยให้ดำรงลักษณะที่ดีของพืชนั้นไว้
- การตอน เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชโดยใช้กิ่ง ซึ่งเป็นส่วนของลำต้นของพืช ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
1. เลือกกิ่งที่สมบูรณ์ไม่อ่อนแอและไม่แก่เกินไป ใบงาม ไม่มีโรคหรือแมลงทำลาย ได้รับ แสงแดดสม่ำเสมอ
2. ควั่นกิ่งระหว่างข้อให้ห่างกันประมาณเส้นรอบวงของกิ่ง ลอกเปลือกและขูดเยื่อเจริญออกเพื่อตัดท่ออาหารและเนื้อเยื่อเจริญของกิ่งนั้นให้ขาดจากกัน แต่ท่อน้ำยังคงอยู่เหมือนเดิม ทำให้พืชส่งน้ำจากรากไปยอดได้ตามปกติ กิ่งและใบยอดจะยังคงสดอยู่เสมอเพราะมีอาหารเลี้ยงเฉพาะกิ่งที่ตอน และเกิดรากบริเวณรอยควั่น
3. ทาฮอร์โมนเร่งรากบริเวณรอยควั่นแล้วหุ้มด้วยวัสดุที่เก็บควรชุ่มชื้นได้ดี เช่น ขุยมะพร้าวที่ชื้นๆบรรจุในถุงพลาสติกมัดปากแน่น ใช้วิธีผ่าด้านข้างถุงแล้วหุ้มให้กระเปาะวัสดุที่หุ้มอยู่ตรงบริเวณที่จะออกราก แล้วมัดด้วยเชือกให้แน่น
4. รักษาความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ถ้าเป็นฤดูแล้งและวัสดุที่หุ้มแห้งอาจใช้การฉีดน้ำเข้าไปในกระเปาะที่หุ้ม 2 – 3 วันต่อ 1 ครั้ง
5. ผ่านไปประมาณ 1-2 เดือนจะสังเกตเห็นรากสีขาวในถุง เมื่อเกิดรากปริมาณมากพอ จึงตัดกิ่งตอนนำลงปลูกในกระถาง เลี้ยงไว้จนกระทั่งเห็นว่ากิ่งตอนแข็งแรงจึงนำไปปลูกในบริเวณที่กำหนด
ข้อดีของการตอน คือทำได้ง่าย ได้ต้นกล้าขนาดใหญ่ ทำให้ได้ผลผลิตเร็ว ไม่กลายพันธุ์ ทรงต้นไม่สูงนัก แต่ก็มีข้อจำกัด คือ กิ่งตอนไม่มีรากแก้ว ทำให้ไม่สามารถทนต่อลมแรง ๆ โค่นล้มได้ง่าย
วีดิทัศน์ เรื่อง การตอนกิ่ง
คำถาม
- การขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง ใช้ได้กับพืชชนิดใดได้บ้าง
- ลักษณะของกิ่งและใบที่เรียกว่าเพสลาด มีลักษณะอย่างไร
- การปักชำ เป็นการใช้ส่วนหนึ่งส่วนใดของพืช เช่น ลำต้น รากหรือใบ มาปักชำในสภาพที่เหมาะสมต่อการเกิดรากและแตกยอดใหม่ ต้นพืชที่เกิดขึ้นใหม่จะมีลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกประการ จึงควร เลือกต้นแม่ที่เป็นพันธุ์ดีตรงตามความต้องการ การปักชำเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในบรรดาวิธีการขยายพันธุ์แบบไม่ใช้เพศ ซึ่งทำได้หลายวิธี ดังนี้
1. การปักชำกิ่งหรือลำต้น ใช้กิ่งแก่ที่มีสีน้ำตาล เป็นกิ่งสมบูรณ์ มีอาหารสะสมมากเพื่อใช้เป็นอาหารสำหรับการออกรากและการเจริญของตาเป็นกิ่งใหม่ ตัดกิ่งเป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ 6-8 นิ้ว มีตาอย่างน้อย 2-3 ตา ตัดใบออกหมด ด้านบนและล่างตัดเฉียง 45-60 องศา ห่างจากตาสุดท้ายประมาณครึ่งนิ้ว กรีดที่โคนกิ่งยาวประมาณ 1 นิ้ว 2-3 รอย และจุ่มฮอร์โมนเร่งรากแล้วปักชำในทรายผสมขี้เถ้าแกลบ อัตราส่วน 1:1 หรือขี้ เถ้าแกลบอย่างเดียวก็ได้ แล้วตั้งไว้ในที่มีแสงแดดรำไร มีความชื้นสูง
2. การปักชำใบ ใช้กับพืชบางชนิด วิธีปักชำคือตัดแผ่นใบแก่ออกเป็นส่วน ๆ วางแผ่นใบลงบนวัสดุปักชำ กลบด้วยวัสดุปักชำบาง ๆ พอไม่ให้ใบแห้ง พืชบางชนิดใช้วิธีนำแผ่นใบแต่ละส่วนปักชำบนวัสดุปักชำ ต้นและรากใหม่จะเกิดจากแผ่นใบตรงบริเวณเส้นใบที่ถูกตัดขาด
คำถาม
- พืชชนิดใดบ้างที่ขยายพันธุ์ได้ด้วยการปักชำกิ่งหรือลำต้น
- พืชชนิดใดบ้างที่ขยายพันธุ์ได้ด้วยการปักชำใบ
การปักชำราก นิยมทำกับไม้ผล เช่น สาเก มะไฟ ปีป แคแสด โดยตัดรากแก่เป็นท่อน ๆ ยาวประมาณ 2–4 นิ้ว ชำลงในวัสดุปักชำ รดน้ำให้ชุ่ม จะเกิดการแตกรากทางด้านปลายและแตกยอดใหม่ทางด้านโคนของราก เมื่อกิ่งชำเกิดรากและใบแล้วจึงนำไปอนุบาลให้แข็งแรงก่อนนำไปปลูกต่อไป
วีดิทัศน์ เรื่อง การปักชำ
- การแยกหน่อ เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่ใช้กับพืชที่ไม่ค่อยมีเมล็ด กิ่งก้าน ส่วนมากเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เช่น ว่านสี่ทิศ ซ่อนกลิ่น พุทธรักษา สร้อยทอง หน้าวัว เยอร์บีร่า หอม กระเทียม ขิง ข่า ขมิ้น ตะไคร้ กล้วย เป็นต้น พืชที่ขยายพันธุ์หรือปลูกโดยการแยกหัวหรือหน่อ ส่วนมากจะมีลำต้นอยู่ใต้ดิน ส่วนของลำต้นนี้อาจเรียกว่า หัว เหง้า แง่ง สามารถแยกออกไปปลูกได้ การคัดเลือกหัวและหน่อเพื่อใช้เป็นต้นพันธุ์ควรเลือกหัวและหน่อที่สมบูรณ์แข็งแรง ขนาดไม่เล็ก ไม่โตจนเกินไป แตกใบอ่อนประมาณ 2-3 ใบ เลือกหัวและหน่อที่ปราศจากโรคและแมลงรบกวน นำลงปลูกในภาชนะที่ใส่ดินปลูก หรือในแปลงปลูกต่อไป
การขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ จะช่วยให้ได้พืชที่มีลักษณะตรงตามพันธุ์เดิมทุกประการ ทำได้ง่ายและให้ผลเร็วกว่าการขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ด แต่มีข้อเสีย คือขยายพันธุ์ได้ครั้งละน้อย และทำได้ช้ากว่าการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
วีดิทัศน์ เรื่อง การแยกหน่อ
คำถาม
- สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการขยายพันธุ์พืชโดยใช้การติดตา การต่อกิ่ง การทาบกิ่ง
กลับไปที่เนื้อหา
เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เทคโนโลยีทางชีวภาพที่มีการนำมาใช้ในการขยายพันธุ์พืชให้มีปริมาณมากๆ ได้พืชพันธุ์ดีที่ปลอดโรคและให้ผลผลิตสูงก็คือเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชวิธีหนึ่ง ที่ใช้ ชิ้นส่วนของพืช เช่น ลำต้น ตายอด ตาข้าง ก้านช่อดอก ใบ ก้านใบ เป็นต้น มาเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ ภายใต้สภาพที่ควบคุมเรื่อง ความสะอาดแบบปลอดเชื้อ อุณหภูมิ และแสง และชิ้นส่วนนั้นเจริญและพัฒนาเป็นต้นพืชที่สมบูรณ์ มีทั้งส่วนใบ ลำต้นและรากที่สามารถนำไปปลูกในสภาพธรรมชาติได้
กระบวนการสำคัญในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ คือ
1. ทำความสะอาดชิ้นส่วนพืชให้ปลอดเชื้อ
2. นำชิ้นส่วนพืชไปขยายเพิ่มปริมาณ
3. ชักนำให้เกิดรากจนได้ต้นพืชที่สมบูรณ์
พันธุ์พืชที่นำมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่แจกจ่ายให้เกษตรกร เช่น อ้อย เบญจมาศ สตรอเบอรี่ หน่อไม้ฝรั่ง ขิง มันฝรั่ง สับปะรด กล้วยชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
ประโยชน์ของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
1. สามารถผลิตต้นพันธุ์พืชปริมาณมาณมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว
2. ต้นพืชที่ผลิตได้จะปลอดโรค
3. ต้นพืชที่ผลิตได้ จะมีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนต้นแม่ คือ มีลักษณะตรงตามพันธุ์ด้วยการใช้ เทคนิคของการเลี้ยงจากชิ้นตาพืชให้พัฒนาเป็นต้นโดยตรง
4. ต้นพืชที่ผลิตได้จะมีขนาดสม่ำเสมอ จึงให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้คราวละมากๆ พร้อมกัน หรือ ในเวลาเดียวกัน
วีดิทัศน์ เรื่อง เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
กลับไปที่เนื้อหา
วิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยใช้ชิ้นส่วนของพืช เช่น ตายอดหรือตาข้างของพืชจากต้นพืชพันธุ์ดีที่คัดเลือกไว้ มีขั้นตอนในการเพาะเลี้ยงดังนี้
1. นำชิ้นส่วนพืชที่ต้องการมาล้างน้ำให้สะอาด
2. ตกแต่งชิ้นส่วนพืช ตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก
3. นำชิ้นส่วนพืชจุ่มในแอลกอฮอล์ 95 % เพื่อลดแรงตึงผิวบริเวณนอกชิ้นส่วนพืช
4. นำชิ้นส่วนพืชมาเขย่าในสารฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่เตรียมไว้นาน 10 – 15 นาที
5. ใช้ปากคีบคีบชิ้นส่วนพืช ล้างในน้ำกลั่นที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้ว 3 ครั้ง
6. ตัดชิ้นส่วนพืชตามขนาดที่ต้องการแล้ววางบนอาหารสังเคราะห์
หลังจากนั้นจึงเขียนรายละเอียด เช่น ชนิดพืช วันเดือนปี รหัส แล้วนำไปพักในห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อต่อไป
วีดิทัศน์ เรื่อง การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยใช้ตาของพืช
คำถาม
- สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ใช้ส่วนอื่น ๆ ของพืช ว่ามีวิธีการอย่างไร
กลับไปที่เนื้อหา
อาหารสำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สิ่งที่สำคัญมากในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อคืออาหารที่เหมาะสม ซึ่งต้องประกอบด้วยสารอาหารที่พืชสามารถนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อาหารเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้
1. สารอนินทรีย์ ได้แก่ ธาตุอาหารหลักที่พืชจำเป็นต้องใช้ในปริมาณมาก เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปรแตสเซียม กำมะถัน แคลเซียม แมกนีเซียม และธาตุอาหารรอง เช่น แมงกานีส สังกะสี ทองแดง โมลิบดีนัม โบรอน ไอโอดีน โคบอล คลอรีน เป็นต้น
2. สารประกอบอินทรีย์ เช่น น้ำตาล วิตามิน อมิโนแอซิค ออกซิน ไซโตไคนิน จิบเบอเรลลินแอสคอบิคแอซิด เป็นต้น
3. สารที่ได้จากธรรมชาติ เช่น กล้วยบด น้ำมะพร้าว น้ำส้มคั้น น้ำมะเขือเทศ
4. สารไม่ออกฤทธิ์ เช่น วุ้น ช่วยให้พืชตั้งอยู่ได้ ผงถ่านช่วยดูดซับสารพิษที่พืชสร้างออกมา เป็นต้น
วิธีการเตรียมอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช จะนำสารละลายเข้มข้นชนิดต่าง ๆ มาผสมกันตามสัดส่วนที่ต้องการ กวนให้เข้ากันจนหมดครบทุกชนิด เติมน้ำตาลแล้วเติมน้ำกลั่นให้ได้ปริมาตรที่ต้องการ ปรับ pH 5.6 – 5.7 จากนั้นนำวุ้นผสมกับอาหารที่เตรียมไว้ หลอมวุ้นให้ละลายแล้วบรรจุในภาชนะเช่นขวดหรือถุงพลาสติกแล้วปิดให้สนิท นำไปนึ่งฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งความดันไอน้ำที่อุณหภูมิ 120 องศาเซลเซียส ความดัน 15 ปอนด์ / ตารางนิ้ว เป็นเวลา 15 – 20 นาที จึงนำไปใช้ได้
วีดิทัศน์ เรื่อง อาหารสำหรับการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
คำถาม
- อาหารสำหรับใช้ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากชิ้นส่วนที่แตกต่างกันของพืชจะเป็นอาหารสูตร เดียวกันหรือไม่ เพราะเหตุใด
กลับไปที่เนื้อหา
ห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อ เมื่อวางชิ้นส่วนพืชลงบนอาหารในห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหรือห้องถ่ายเนื้อเยื่อแล้ว ก็จะนำเนื้อเยื่อนั้นไปไว้ในห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชซึ่งควบคุมทั้งแสง อุณหภูมิและความสะอาด สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการเลี้ยงเนื้อเยื่อจะแตกต่างกันสำหรับพืชแต่ละชนิด โดยทั่วไปมักจะปรับสภาพแวดล้อมภายในห้องให้มีอุณหภูมิประมาณ 25 องศาเซลเซียส ระยะเวลาที่ให้แสงประมาณ 12 – 16 ชั่วโมง / วัน ความเข้มของแสง 1,000 – 3,000 ลักซ์ การดูแลห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชจะต้องสะอาดอยู่เสมอ หมั่นตรวจดูขวดหรือภาชนะที่เลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ถ้าพบว่ามีจุลินทรีย์ขึ้นปะปน จะต้องรีบนำออกไปต้มฆ่าเชื้อและล้างทันที ไม่ให้เป็นที่สะสมเชื้อจุลินทรีย์ซึ่งอาจแพร่กระจายภายในห้องได้ เมื่อเวลาผ่านประมาณไป 1 – 2 เดือนเนื้อเยื่อจะเจริญจนมีรากและใบอ่อนมากพอ จึงจะนำไปถ่ายออกจากภาชนะ นำลงปลูกในวัสดุปลูกและดูแลในโรงเรือนอนุบาลต่อไป
วีดิทัศน์ เรื่อง ห้องพักต้นอ่อน
กลับไปที่เนื้อหา
โรงเรือนอนุบาล เนื้อเยื่อของพืชที่เจริญเติบโตจนเกิดรากและใบมากพอจากห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อ จะถูกนำไปถ่ายลงปลูกในวัสดุปลูกที่โรงเรือนอนุบาล เนื้อเยื่อที่เป็นต้นอ่อนจะถูกนำออกจากภาชนะนำไปล้างอาหารออก ทำความสะอาดต้นอ่อนด้วยการล้างในน้ำสะอาด 3 ครั้ง ก่อนนำลงแช่ในน้ำยาป้องกันเชื้อราและแบคทีเรีย หลังจากนั้นจึงนำไปปลูกในภาชนะที่ใส่วัสดุปลูกซึ่งเป็นดินปลูก ขี้เถ้าแกลบหรือมอส แล้วรดน้ำที่ผสมน้ำยาฆ่าเชื้อรา เสร็จแล้วจึงวางไว้ในโรงเรือนอนุบาลเพื่อดูแล รดน้ำ ใส่ปุ๋ยตามกำหนดจนต้นอ่อนเจริญเติบโตและแข็งแรงเพียงพอที่จะแจกจ่ายให้เกษตรกร เพื่อนำไปปลูกในพื้นที่ธรรมชาติต่อไป
วีดิทัศน์ เรื่อง โรงเรือนอนุบาล
กลับไปที่เนื้อหา
ในโรงเรือนอนุบาล จะต้องมีการควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด โดยต้องควบคุมทั้งอุณหภูมิ ความชื้นและแสงสว่างให้เหมาะสม
อุณหภูมิ วัดได้ด้วยเทอร์มอมิเตอร์ การควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนอาจใช้การระบายอากาศร้อนด้วยพัดลมระบายอากาศ ปกติจะควบคุมให้อยู่ที่อุณหภูมิอากาศทั่วไปคือประมาณ 30 – 35 องศาเซลเซียส แสงสว่างในโรงเรือนจะต้องเพียงพอต่อความต้องการของพืชเพื่อใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสง ซึ่งความสว่างจะวัดได้ด้วยเครื่องมือวัดความสว่างที่เรียกว่า ลักซ์มิเตอร์ วัดได้ในหน่วย ลักซ์ ความสว่างในโรงเรือนอนุบาลจะมีค่าอยู่ระหว่าง 3,000 – 5,000 ลักซ์ และใช้การควบคุมโดยใช้ม่านป้องกันแสงบริเวณหลังคาซึ่งปิดเปิดได้ตามต้องการ
ความชื้นของอากาศในโรงเรือนอนุบาลจะวัดได้ด้วยไฮกรอมิเตอร์ ซึ่งเป็นเทอร์มอมิเตอร์กระเปาะเปียกและกระเปาะแห้ง ในการวัดต้องทำดังนี้
1. อ่านอุณหภูมิของอากาศจากเทอร์มอมิตอร์กระเปาะแห้ง
2. อ่านอุณหภูมิจากเทอร์มอมิตอร์กระเปาะเปียกบันทึกค่าผลต่างของอุณหภูมิระหว่าง เทอร์มอมิเตอร์ทั้งสองอัน
3. นำค่าอุณหภูมิของอากาศและผลต่างของอุณหภูมิไปหาค่าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศขณะนั้นจากตาราง เช่น อุณหภูมิอากาศขณะนั้น อ่านได้ 34 องศาเซลเซียส เทอร์มอมิเตอร์กระเปาะเปียกอ่านค่าได้ 30 องศาเซลเซียส ผลต่างของอุณหภูมิจึงเป็น 4 องศาเซลเซียส จากตารางจะอ่านค่าความชื้นสัมพัทธ์ได้ 80 % หมายความว่า อากาศขณะนั้นถ้ารับไอน้ำได้เต็มที่ 100 ส่วน จะมีไอน้ำอยู่แล้ว 80 ส่วน ถ้าความชื้นสัมพัทธ์น้อยเกินไปแสดงว่ามีไอน้ำในอากาศน้อย โรงเรือนอนุบาลจะใช้การควบคุมความชื้นด้วยการพ่นละอองน้ำเพิ่มเติม
วีดิทัศร์ เรื่อง การวัดความสว่าง อุณหภูมิ และตวามชื้น
คำถาม
- ถ้าวัดค่าความชื้นสัมพัทธ์ได้ 75 % หมายความว่าอย่างไร
- ความชื้นสัมพัทธ์ 100 % หมายความว่าอย่างไร
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังรูปภาพ
ชื่อ Galleryทั่วไปของศูนย์ส่งเสริมGalleryชื่อ GalleryอาคารปฎิบัติการGalleryชื่อ GalleryโรงอนุบาลGalleryชื่อ Galleryเรือนพรรณไม้งามGalleryชื่อ Galleryห้องเตรียมอาหารGalleryชื่อ Galleryห้องเลี้ยงเนื้อเยื่อGalleryชื่อ GalleryภาพพาโนรามาGallery
-
คลังวิดีทัศน์
ตอน ไปเรียนรู้...ที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จ.สุพรรณบุรี
ตอน หน้าที่ของศูนย์พันธุ์พืชเพาะเลี้ยง
ตอน การขยายพันธุ์พืชด้วยการเพาะเมล็ด
ตอน การตอนกิ่ง
ตอน การปักชำ
ตอน การแยกหน่อ
ตอน เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ตอน การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อโดยใช้ตาของพืช
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนนางสาวศิริวรรณ ตรีเพ็ชร์ โรงเรียนกุยบุรีวิทยาผู้เขียนแผนการสอนนางสาววาสนา ภู่พวง โรงเรียนกุยบุรีวิทยาผู้เขียนแผนการสอนนายปิติภูมิ บัวตูม โรงเรียนปราจีนกัลยาณีผู้เขียนแผนการสอนนายกิจจารักษ์ ขยันงาน โรงเรียนปราจีนกัลยาณีผู้เขียนแผนการสอนนางกรุณา แก้วประทีป โรงเรียนวังหลังวิทยาคมผู้เขียนแผนการสอนนางสาวน้อมจิตร แก้วประทีป โรงเรียนวังหลังวิทยาคมผู้เขียนแผนการสอนนางพูนสุข สกุลงาม โรงเรียนหนองเสือวิทยาคมผู้เขียนแผนการสอนนางสาวประทีป สุขโชค โรงเรียนหนองเสือวิทยาคม
-
คำที่เกี่ยวข้อง