แหล่งเรียนรู้นาเกลือ
- 1. การแนะนำ
- 2. ตัวชี้วัดและจุดประสงค์การเรียนรู้
- 3. ที่ตั้งและภูมิประเทศ
- 4. การเดินทาง
- 5. ความเป็นมา
- 6. กังหันลม
- 7. การเตรียมพื้นที่ทำนาเกลือ
- 8. อุปกรณ์วิทยาศาสตร์สำหรับนาเกลือ
- 9. การทำนาเกลือ
- 10. การตวงและวัดปริมาตรของเกลือ
- 11. สิ่งแวดล้อมรอบนาเกลือ
- 12. กิจกรรม : การทำไฮโดรมิเตอร์
- 13. กิจกรรม : การเกิดผลึก
- - ทุกหน้า -
เกลือ เป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง มีชื่อทางเคมีว่า โซเดียมคลอไรด์ (NaCl) มี ลักษณะเป็นผลึกสีขาว รสเค็ม เกลือเป็นอาหารธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อมนุษย์ และสัตว์มาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน มนุษย์ต้องบริโภคเกลือประมาณวันละ 5-10 กรัม เพื่อนำไปช่วยรักษาสมดุลของน้ำในร่างกายให้เซลล์เนื้อเยื่อต่างๆ ทำงานอย่างปกติ นอกจากนี้เกลือยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ ได้มากมายเช่น ปรุงอาหาร ถนอมอาหาร ผสมกับน้ำแข็งเพื่อเพิ่มความเย็น ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตสารเคมีต่างๆ ได้แก่ โซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต (NaHCO3) หรือโซดาทำขนมโซเดียมคาร์บอเนต (NaCO3) หรือโซดาแอส โซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) หรือโซดาไฟ และ ไฮโดรคลอริก(HCl) หรือกรดเกลือ เป็นต้น
กลับไปที่เนื้อหา
สาระ มาตรฐานและตัวชี้วัดชั้นปี ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ชั้น ม.1
สาระที่ 3 สารและสมบัติของสาร
มาตรฐาน ว.3.2 เข้าใจหลักการและธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงสถานะของสาร การเกิดสารละลาย การเกิดปฏิกิริยา มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
ตัวชี้วัดชั้นปี
1.ทดลองและอธิบายวิธีเตรียมสารละลายที่มีความเข้มข้นเป็นร้อยละ และอภิปรายการนำความ
รู้เกี่ยวกับสารละลายไปใช้ประโยชน์
2.ทดลองและอธิบายการเปลี่ยนแปลงสมบัติมวลและพลังงานของสารเมื่อสารเปลี่ยนสถานะและ
เกิดการละลาย
3.ทดลองและอธิบายปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนสถานะและการละลายของสาร
จุดประสงค์การเรียนรู้
1. เข้าใจและอธิบายการนำพลังงานลมจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์
2. เข้าใจและอธิบายการใช้พลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์แยกเกลือซึ่งเป็นตัวละลายออกจาก
ตัวทำละลาย
3. ทดลองและอธิบายการวัดความเข้มข้นของสารละลายเป็นร้อยละโดยมวล
4. อธิบายปัจจัยที่มีผลต่อการละลายของสารได้
5. เปรียบเทียบการใช้หน่วยตวงของไทยกับการหาปริมาตรได้
6. สังเกตและอธิบายสภาพแวดล้อมรอบพื้นที่นาเกลือได้
กลับไปที่เนื้อหา
เกลือ ที่ผลิตได้จากน้ำทะเล เรียกว่า เกลือสมุทร พื้นที่ทำนาเกลือสมุทรในประเทศไทย เป็นบริเวณพื้นที่ราบชายฝั่งทะเล ปัจจุบัน มีพื้นที่ทำนาเกลือทั้งหมดประมาณ 81,485 ไร่ แหล่งผลิตเกลือสมุทรที่สำคัญ ได้แก่ พื้นที่ในจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีพื้นที่ทำนาเกลือมากที่สุด โดยเฉพาะในเขตอำเภอบ้านแหลม รองลงมาคือพื้นที่ในเขตจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี จันทบุรี ปัตตานีและฉะเชิงเทรา ลักษณะ ของพื้นที่ทำนาเกลือที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน นอกจากจะต้องอยู่ติดทะเลเพื่อใช้น้ำทะเลเป็นแหล่งทรัพยากรแล้ว ด้านหนึ่งของพื้นที่ยังต้องอยู่ใกล้ถนนหรือลำคลอง เพื่อความสะดวกในการขนส่งผลผลิตที่ได้ด้วย พื้นที่ นาเกลือที่น่าสนใจในการศึกษา คือพื้นที่ทำนาเกลือในเขตจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และพื้นที่ในตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
กลับไปที่เนื้อหา
ถ้าเริ่มต้นเดินทางจากกรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางโดยรถยนต์ไปตามทางพิเศษเฉลิมมหานคร หรือทางด่วนสายบางโคล่ - พระราม 2 ข้ามสะพานพระราม 9 ที่เรารู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่า สะพานขึง เข้าสู่ถนนพระราม 2 หรือทางหลวงหมายเลข 35 ผ่านทางแยกเข้าจังหวัดสมุทรสาคร ตรงไปทางจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นระยะทางจากกรุงเทพมหานครประมาณ 50 กิโลเมตรก็จะเห็นพื้นที่ทำนาเกลือแห่งแรกอยู่ทางซ้ายมือ บริเวณที่เรียกกันว่า นาโคก ตรงข้ามกับทางเข้าวัดนาโคก จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ทำนาเกลือกว้างใหญ่ มีกังหันลมสำหรับวิดน้ำทะเลเข้านาเกลือตั้งไว้หลายจุด
จาก จุดนี้ ถ้าเดินทางต่อไปอีกตามทางหลวงหมายเลข 35 หรือถนนพระราม2 อีกประมาณ 30 กิโลเมตร ผ่านแยกดอนหอยหลอด ของจังหวัดสมุทรสงครามไปแล้ว ก็จะถึงทางแยกไปคลองโคน ซึ่งเป็นถนนเลียบชายฝั่งทะเลไปจนเข้าเขตจังหวัดเพชรบุรี ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ก็จะเข้าสู่ทางหลวงสาย 4012 เดินทางต่อไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะถึงบ้ายนบางตะบูน อำเภอบ้านแหลมจังหวัดเพชรบุรี มองเห็นนาเกลือกว้างใหญ่ทั้งสองฝั่งถนน เพราะมีการทำนาเกลือสมุทรที่มากที่สุดในประเทศไทย
วิดีทัศน์ เรื่อง ไปเรียนรู้ที่ นาเกลือ...กันนะ
คำถาม
- ภูมิประเทศที่ใช้ทำนาเกลือสมุทร เป็นภูมิประเทศอย่างไร
กลับไปที่เนื้อหา
เกลือ เป็นสิ่งที่มนุษย์รู้จักนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งการนำมาเป็นยารักษาโรค ใช้ในการถนอมอาหาร และอื่น ๆ มีหลักฐานว่า การทำนาเกลือมีกันมาแต่โบราณสมัยชาวอินคา หลายพันปีมาแล้วซึ่งยังทำกันอยู่ถึงปัจจุบัน
ในประเทศไทยมีการทำนาเกลือกันมาตั้งแต่อดีตโดยทำกันตลอดแนวที่ราบชายฝั่งทะเล แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าทำกันมานานเท่าไร บนบกก็มีการตักน้ำเกลือจากแหล่งต่าง ๆ ที่มีเกลือสะสมอยู่ใต้ดินขึ้นมาต้มให้น้ำระเหย เหลือผลึกเกลืออยู่ วิธีนี้มีการทำมานานโดยมีหลักฐานว่ามีการเก็บภาษีเกลือในสมัยพระเจ้าติโลก ราช เมืองเชียงใหม่เมื่อประมาณพ.ศ. 1990 มาแล้ว ปัจจุบันก็ยังมีการต้มน้ำเกลือกันอยู่ เช่นที่บ้านบ่อโพธิ์ อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เป็นต้นแต่เกลือเหล่านี้ จะไม่มีส่วนประกอบของไอโอดีนซึ่งต่างจากเกลือสมุทร

กลับไปที่เนื้อหา
กังหันลม ในบริเวณที่ทำนาเกลือ นอกจากจะมองเห้นพื้นที่ทำนาเกลือกว้าง ใหญ่แล้ว จุดเด่นที่เห็นได้ชัดเจนของนาเกลือคือ กังหันลม ที่ชาวนาเกลือใช้ฉุดระหัดวิดน้ำทะเลเข้านาเกลือ พื้นที่ทำนาเกลือเป็นพื้นที่ราบชายฝั่งทะเลก็จริง แต่มีคันนาและมีระดับพื้นที่สูงจนน้ำทะเลท่วมไม่ถึง การนำน้ำทะเลเข้านาเกลือตั้งแต่อดีตจึงใช้ระหัดวิดน้ำ ระหัดประกอบด้วยรางไม้สี่เหลี่ยมยาว มีใบระหัดจำนวนมากทำด้วยแผ่นไม้บาง ๆ ติดเรียงกันเป็นแถว เคลื่อนที่วนเป็นวงอยู่ในรางไม้รอบเพลาที่ติดไว้ทั้งที่หัวและท้ายราง ในการใช้งานจะวางปลายรางข้างหนึ่งจุ่มลงในน้ำนอกคันนา อีกปลายหนึ่งจะอยู่ในพื้นที่นาโดยยกสูงขึ้นให้รางเอียงพอสมควร (ไม่เกิน 30 องศา) ถ้าออกแรงให้ล้อที่ติดกับเพลาตรงหัวระหัดหมุน จะทำให้ใบระหัดเคลื่อนที่วนไปตามราง และดึงน้ำให้ไหลขึ้นมาตามรางไม้ได้
ในอดีต การทำให้ล้อของระหัดหมุนใช้แรงคน โดยทำคันออกมาใช้มือหมุนหรือใช้เท้าเหยียบ ต่อมามีการคิดนำพลังงานจากลมหมุนระหัดแทนพลังงานจากคน โดยใช้กังหันลมรับพลังงานจากลม เมื่อลมพัดมาปะทะใบกังหันที่ทำด้วยเสื่อลำแพนหรือผ้าพลาสติกจะทำให้กังหันลม หมุนไปพร้อมกับแกน ล้อที่ติดอยู่กับแกนของกังหันลมก็จะหมุนไปด้วย เมื่อใช้โซ่เล็ก ๆ หรือเชือกทำเป็นสายพานคล้องระหว่างล้อของกังหันลมกับล้อของระหัด ก็จะทำให้ล้อของระหัดหมุน ดึงให้ใบระหัดวิดน้ำได้ ปัจจุบัน มีการใช้กังหันลมเพื่อฉุดระหัดวิดน้ำเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ชาวนาเกลือส่วนใหญ่มักจะใช้เครื่องสูบน้ำที่ใช้พลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง ในการสูบน้ำทะเลเข้านาเกลือ
- การใช้กังหันลมฉุดระหัดวิดน้ำเข้านาเกลือ มีการเปลี่ยนแปลงพลังงานอย่างไร
- การใช้เครื่องสูบน้ำที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง กับการใช้กังหันลมฉุดระหัดวิดน้ำเข้านาเกลือ มีข้อดี
กลับไปที่เนื้อหา
การเตรียมพื้นที่ทำนาเกลือ ใน การทำนาเกลือสมุทร สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง คือ พื้นที่การทำนาเกลือ ซึ่งต้องเป็นพื้นที่ราบชายฝั่งทะเล มีขนาดพื้นที่อย่างน้อยที่สุด 30 ไร่ ขึ้นไปจึงจะเพียงพอต่อการใช้พื้นที่รับแสงอาทิตย์ ตากให้น้ำระเหยไปอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาที่ต้องการ พื้นที่ด้านหนึ่งควรติดชายฝั่งทะเลเพื่อความสะดวกในการนำน้ำทะเลเข้านาเกลือ และพื้นที่อีกด้านหนึ่งควรติดถนนหรือลำคลอง เพื่อความสะดวกในการขนส่งผลผลิต
คำถาม
- การทำนาเกลือจะทำได้ตลอดปีหรือไม่ เพราะเหตุใด
วิดีทัศน์ เรื่อง เตรียมทำนาเกลือ
กลับไปที่เนื้อหา
อุปกรณ์วิทยาศาสตร์สำหรับนาเกลือ ขณะทำนาเกลือ นอกจากจะใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการเตรียมดิน การรื้อเกลือ การเก็บเกลือโดยมีชื่อเรียกเครื่องมือต่าง ๆ กันไปตามท้องถิ่นแล้ว การทำนาเกลือทุกแห่งต้องใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งเพื่อคอยตรวจสอบ ความเข้มข้นของเกลือในน้ำทะเลที่ตากไว้ในนาแต่ละขั้น อุปกรณ์นั้นคือ ไฮโดรมิเตอร์
ไฮโดรมิเตอร์ เป็นเครื่องมือวัดความถ่วงจำเพาะ (ถ.พ.) ซึ่งเป็นการวัดความหนาแน่นของของเหลวว่าของเหลวนั้นมีความหนาแน่นเป็นกี่ เท่าของน้ำ (ความหนาแน่นของน้ำ เป็น 1 กรัมค่อลูกบาศก์เซนติเมตร) น้ำทะเลซึ่งมีเกลือละลายอยู่จะมีความหนาแน่นมากกว่าน้ำ ถ้าตากน้ำทะเลไว้น้ำจะระเหยไป เหลือเกลืออยู่ในน้ำทะเลทำให้ความหนาแน่นของน้ำทะเลมากขึ้นอีก
ถ้าเอาไฮโดรมิเตอร์ใส่ลงในน้ำ ไฮโดรมิเตอร์จะจมลงไปถึงขีด 1.00 ซึ่งก็คือความหนาแน่นของน้ำ แต่ถ้าเอาไฮโดรมิเตอร ใส่ในน้ำทะเล ไฮโดรมิเตอร์จะจมได้น้อยลง ตัวเลขที่อ่านได้จากเครื่องมือจะมากขึ้น เช่นอ่านได้ 1.08 แสดงว่า น้ำทะเลมีความหนาแน่นเป็น 1.08 เท่าของน้ำนั่นเอง
มีการใช้ไฮโดรมิเตอร์ที่มีหน่วยวัดเป็นองศาโบเม่ ในการทำนาเกลือซึ่งบอกค่ามวลของเกลือที่ละลายอยู่ในน้ำทะเล 100 กรัม ทำให้ชาวนาเกลืออ่านค่าได้สะดวกขึ้น เช่น ถ้าเอาไฮโดรมิเตอร์ใส่ในน้ำธรรมดา จะอ่านค่าได้ 0 องศาโบเม่ คือ ในน้ำ 100 กรัม ไม่มีเกลือละลายอยู่เลย แต่ถ้าใส่ไฮโดรมิเตอร์ลงในน้ำทะเลแล้วอ่านค่าได้ 12 องศาโบเม่ แสดงว่าในน้ำทะเล 100 กรัม มีเกลือละลายอยู่ 12 กรัมและเป็นน้ำ 88 กรัม
ชาวนาเกลือใช้ไฮโดรมิเตอร์ชนิดนี้คอยตรวจสอบความเข้มข้นของน้ำทะเลที่ตากไว้ ในนาแต่ละขั้น ว่ามีความเข้มข้นของเกลือเท่าไร น้ำทะเลนั้นใกล้จะเป็นสารละลายอิ่มตัวหรือไม่ เพื่อจะได้ปล่อยน้ำทะเลที่มีความเข้มข้นของเกลือพอเหมาะเข้าในนาขั้นต่อ ๆ ไป
วิดีทัศน์ เรื่อง ไฮโดรมิเตอร์
คำถาม
-ถ้าใช้ไฮโดรมิเตอร์วัดในน้ำทะเลทั่วไปได้ 8 องศาโบเม่ และวัดน้ำทะเลในนาเชื้อได้ 24 องศาโบเม่ น้ำ
ทะเลทั้งสองแหล่งแตกต่างกันอย่างไร
กลับไปที่เนื้อหา
การทำนาเกลือ เริ่ม จากการกักเก็บน้ำทะเลไว้ขณะน้ำขึ้น โดยกักเก็บเอาไว้ในนาขังหรือวังน้ำที่อยู่ใกล้ทะเลมากที่สุด โดยนาขังหรือวังน้ำต้องมีพื้นที่กว้างและลึกพอที่จะกักเก็บน้ำทะเลปริมาณ มาก ๆ ไว้ใช้ได้ตลอดช่วงการทำนาเกลือ การกักน้ำทะเลไว้ในนาขังก่อนปล่อยเข้านาขั้นต่อไป ช่วยให้ตะกอนต่าง ๆ และสิ่งเจือปน ตกตะกอนจนน้ำทะเลใสสะอาด แล้วจึงวิดน้ำทะเลด้วยกังหันลมหรือใช้เครื่องสูบน้ำให้เข้าสู่นาตากหรือนา แผ่ ซึ่งเป็นนาเกลือขั้นต้น
วิดีทัศน์ เรื่อง นาขังหรือวังน้ำ
พื้นของนาตากหนือนาแผ่ไม่มีการบดอัดดิน จะมีแต่เพียงคันนาที่ป้องกันไม่ให้น้ำทะเลที่วิดเข้ามาไหลซึมออกไป น้ำทะเลที่ปล่อยลงในนาตากจะมีระดับลึกประมาณ 5 – 7 เซนติเมตรเท่านั้น แสงแดดจะทำให้น้ำระเหยไปอย่างรวดเร็ว ความเข้มข้นของเกลือที่ละลายอยู่จะมากขึ้นตามลำดับแต่ชาวนาเกลือจะคอยวัด ตรวจสอบด้วยไฮโดรมิเตอร์ ควบคุมไม่ให้น้ำทะเลเข้มข้นจนถึงจุดอิ่มตัว เกลือจะยังไม่ตกผลึกในนาตากหรือนาแผ่ เมื่อความเข้มข้นของเกลือพอเหมาะ ก็จะปล่อยน้ำทะเลจากนาตากเข้าสู่นาเชื้อ
วิดีทัศน์ เรื่อง นาตากหรือนาแผ่
คำถาม
- สืบค้นข้อมูลว่า น้ำทะเลในนาตาก มีความเข้มข้นของเกลือหรือมีความหนาแน่นเท่าไรจึงระบายลง
สู่นาเชื้อ
- คิดว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ปล่อยให้เกลือตกผลึกในนาตาก
น้ำทะเลที่มีความเข้มข้นของเกลือมากพอสมควรที่ระบายลงสู่นาเชื้อก็จะมีระดับลึก 5 – 7 เซนติเมตรเช่นเดียวกับนาตาก และนาเชื้อก็ไม่มีการบดอัดดินที่พื้นนาเช่นเดียวกัน แสงแดดจะทำให้น้ำระเหยไปมากขึ้นจนน้ำทะเลในนาเชื้อมีความเข้มข้นของเกลือ สูงถึง 24 องศาโบเม่ หรือความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.20 เรียกว่าน้ำแก่ ซึ่งเป็นน้ำทะเลที่ใกล้จะเป็นสารละลายอิ่มตัว เกลือจะยังไม่ตกผลึก แต่สารอื่น ๆ ที่มีเจือปนอยู่บางอย่างจะตกผลึกออกมาก่อน เช่นเกลือจืดหรือยิปซัมจะถูกแยกให้ตกผลึกในนาเชื้อนี้ เมื่อความเข้มข้นของเกลือสูงตามกำหนดก็จะระบายเข้าสู่นาสุดท้ายคือ นาปลงหรือนาวาง ในระหว่างที่ปล่อยน้ำทะเลเข้าสู่นาเชื้อและรอให้น้ำทะเลมีความเข้มข้นของ เกลือสูงพอนี้ จะมีการเตรียมพื้นที่นาปลงหรือนาวางโดยบดอัดดินพื้นนาให้แน่นไว้ล่วงหน้า
วิดีทัศน์ เรื่อง นารองเชื้อหรือนาเชื้อ
น้ำทะเลที่ความเข้มข้นของเกลือสูงพอจะถูกระบายเข้านาปลงหรือนาวางที่มีการบดอัด ดินพื้นนาจนเรียบแน่น ประมาณ 3 - 5 วัน (ขึ้นกับความเข้มของแสงแดด) น้ำทะเลก็จะเป็นสารสารละลายอิ่มตัว เกลือจะตกผลึกเกาะกันบนพื้นนา อีก 4 – 5 วัน ผลึกเกลือก็จะเกาะหนาขึ้นจนหนาประมาณ 3 เซนติเมตรก็จะรื้อเกลือหรือเก็บเกลือได้
วิดีทัศน์ เรื่อง นาปลงหรือนาวาง
การรื้อเกลือ จะมีการแซะให้เกลือแตกออกจากกัน แล้วชักลากให้มารวมกันเป็นแถว จากนั้นจึงโกยให้รวมกันเป็นกอง ๆ เหมือนเจดีย์ทรายเพื่อให้เกลือแห้งน้ำจากนั้นจึงหาบขึ้นเก็บในยุ้งฉาง หรือนำมากองรวมรอจำหน่ายต่อไป
คำถาม
- นักเรียนคิดว่าเหตุใดจึงต้องบดอัดดินพื้นนาปลงหรือนาวางให้เรียบและแน่น ในขณะที่นาตากและนาเชื้อไม่มีการบดอัดดินพื้นนา
กลับไปที่เนื้อหา
การตวงและการวัดปริมาตรเกลือ การ จำหน่ายเกลือที่ผลิตได้จากนาเกลือ ไม่ใช้การชั่งด้วยเครื่องชั่ง แต่ใช้การตวงด้วยมาตราตวงของไทย โดยใช้หน่วยตวงเป็นถังและเกวียน ซึ่งมาตราตวงของไทยเป็นดังนี้
20 ทะนาน (ลูกบาศก์เดซิเมตร) | = 1 ถัง |
100 ถัง | = 1 เกวียน |
การทำนาเกลือที่ตำบลบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ใช้การตวงในหน่วยเกวียน แต่เนื่องจากปัจจุบันนี้ ถังตวงมาตรฐาน หาได้ยาก จึงใช้เข่งขนาดใหญ่ตวงเกลือแทนถังมาตรฐาน (โดยมีการตวงเปรียบเทียบกันมาก่อน และเข่งที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้พบว่า 34 เข่ง เท่ากับ 100 ถังมาตรฐานหรือ 1 เกวียน) ส่วนการทำนาเกลือที่อำเภอแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงครามและที่นาโคกจังหวัดสมุทรสาคร เกลือที่ผลิตได้ ใช้การนำมากองเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม โดยกำหนดว่า กองเกลือที่กว้าง 1 วา ยาว 1 วา สูง 1 ศอก เท่ากับเกลือปริมาตร 1 เกวียน
วิดีทัศน์ เรื่อง กองเกลือ
คำถาม
- ตามมาตราตวงของไทยนั้น เกลือ 1 เกวียน มีปริมาตรกี่ลูกบาศก์เมตร
- กองเกลือที่กว้าง 1 วา (2เมตร) ยาว 1 วา (2 เมตร) สูง 1 ศอก (50 เซนติเมตร) มีปริมาตรกี่ลูกบาศก์เมตร
- ปริมาณเกลือที่ตวงได้ของชาวนาเกลือทั้งสองแห่ง แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร
กลับไปที่เนื้อหา
สิ่งแวดล้อมรอบนาเกลือ เนื่องจาก นาเกลืออยู่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเล ตามลำคลองส่งน้ำทะเลนอกพื้นที่นาจึงมีสัตว์ต่าง ๆ ที่เป็นสัตว์น้ำเค็มซึ่งปกติอาศัยอยู่ตามป่าชายเลน อาศัยอยู่ได้ เช่น ปู ปลาตีน เป็นต้น พืชพรรณธรรมชาติก็จะเป็นพืชชอบเค็ม เช่น ชะคราม ขลู่ ผักเบี้ยทะเล เป็นต้น ส่วนในพื้นที่นาเกลือ ซึ่งมีความเข้มข้นของเกลือที่ละลายอยู่สูงมาก จึงไม่มีทั้งพืชและสัตว์ดำรงชีวิตอยู่ได้
วิดีทัศน์ เรื่อง สิ่งแวดล้อมรอบนาเกลือ
กลับไปที่เนื้อหา
วิดีทัศน์ เรื่อง การทำไฮโดรมิเตอร์
วัสดุอุปกรณ์
1.พลาสติกก้านลูกโป่งหรือหลอดดูดชนิดยาว
2.กระบอกตวง ขนาด 200 ml
3.บีกเกอร์ขนาด 500 ml
4.ตาชั่ง
5.เกลือ
6.ดินน้ำมัน
7.ปากกาเคมีกันน้ำ
8.แท่งแก้วคน
9.น้ำ
วิธีทำ
1.ตัดพลาสติกก้านลูกโป่งให้ยาว 25 เซนติเมตร ใช้ดินน้ำมัน 2-3 กรัม หุ้มปลายหลอดพลาสติกปลายหนึ่ง
2.เทน้ำใส่กระบอกตวง ใส่หลอดพลาสคิกลงในน้ำ ปรับดินน้ำมันไม่ให้น้ำรั่วและให้หลอดพลาสติก วางตัวในแนวดิ่งโดยปลายด้านบนสูงกว่าระดับน้ำ 5-7 เซนติเมตร ใช้ปากกาขีดตรงระดับน้ำเป็นค่า 0 องศาโบเม่
3.ชั่งมวลบีกเกอร์ บันทึกผล
4.ชั่งเกลือ 45 กรัมใส่ลงในบีกเกอร์ นำบีกเกอร์วางบนตาชั่ง เติมน้ำลงไปจนอ่านค่าเฉพาะมวลของเกลือและน้ำรวมกันได้ 300 กรัม
5.คนให้เกลือละลายจนหมด รินน้ำเกลือใส่กระบอกตวง ใช้ไฮโดรมิเตอร์อ่านค่าความเข้มข้นของเกลือในหน่วยองศาโบเม่ บันทึกผล
6.ใส่หลอดพลาสติกที่ทำไว้ลงในน้ำเกลือ ใช้ปากกาขีดบนหลอดตรงระดับน้ำเกลือ ใส่เป็นค่าเดียวกับ ที่อ่านได้จากไฮโดรมิเตอร์ในข้อ 5
7.ขีดแบ่งเสกลบนหลอดพลาสติกระหว่างขีดบนสุดและขีดต่ำสุดที่ทดลองได้ให้เป็นช่องเท่า ๆ กัน และแบ่งให้เลยต่ำกว่าขีดที่ทดลองได้ลงไปอีก จะได้ไฮโดรมิเตอร์วัดความเข้มข้นของเกลือที่ทำขึ้น
คำถาม
- เมื่อเทน้ำลงไปผสมกับเกลือ 45 กรัม จนชั่งได้รวม 300 กรัมแล้วคนให้ละลาย น้ำเกลือ100 กรัมควรมีความเข้มข้นของเกลือที่ละลายอยู่เท่าไร
- ไฮโดรมิเตอร์ควรอ่านค่าความถ่วงจำเพาะของน้ำเกลือในหน่วยองศาโบเม่ได้เท่าไร
- ค่าที่ไฮโดรมิเตอน์อ่านได้ มีความหมายว่าอย่างไร
กลับไปที่เนื้อหา
วิดีทัศน์ เรื่อง การเกิดผลึกเกลือ
วัสดุอุปกรณ์
1.บีกเกอร์ขนาด 300 ลูกบาศก์เซนติเมตร 2 ใบ
2.แท่งแก้วคน
3.ตะเกียงแอลกอฮอล์
4.ที่กั้นลมและที่วางตะแกรงลวดพร้อมตะแกรง
5.เกลือ
6.น้ำ 200 ลูกบาศก์เซนติเมตร
วิธีทำ
1.เทน้ำใส่ในบีกเกอร์ และเทเกลือลงในน้ำ
2.นำบีกเกอร์ขึ้นตั้งไฟ คนจนเกลือละลายหมด เติมเกลือและคนจนเกลือไม่ละลายต่อไปอีก
3.นำบีกเกอร์ที่ใส่น้ำเกลือตั้งไว้ให้เย็นลง รินเฉพาะน้ำเกลือลงในบีกเกอร์อีกใบหนึ่ง
4.นำบีกเกอร์นี้ไปตั้งในที่ร่มและไม่ถูกกระทบกระเทือน สังเกตและบันทึกผลทุกวัน
คำถาม
- น้ำเกลือที่ถูกตั้งทิ้งไว้นั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ อย่างไร 2.ผลึกเกลือมีลักษณะอย่างไร
กลับไปที่เนื้อหา
-
คลังรูปภาพ
ชื่อ Galleryกองเกลือพร้อมขนGalleryชื่อ GalleryกังหันลมนาเกลือGalleryชื่อ GalleryการจัดกองเกลือGalleryชื่อ Galleryการใช้ระหัดในการลำเลียงน้ำโดยพลังงานลมGalleryชื่อ GalleryการแซะเกลือGalleryชื่อ GalleryการตัดกองGalleryชื่อ GalleryการตีตัวและการสาวเกลือGalleryชื่อ GalleryการหาบเกลือGalleryชื่อ Galleryเกลือเม็ดGalleryชื่อ Galleryโกดังเกลือและอุปกรณ์Galleryชื่อ Galleryขลู่Galleryชื่อ GalleryชะครามGalleryชื่อ Galleryนาเกลือกับบ่อลำเลียงน้ำGalleryชื่อ GalleryนาขังหรือนาปลงGalleryชื่อ Galleryนาเชื้อGalleryชื่อ Galleryนาแผ่Galleryชื่อ Galleryบรรยากาศทั่วไปGalleryชื่อ Galleryปราชญ์ชาวบ้านGalleryชื่อ Galleryลูกกลิ้งอัดเกลือGalleryชื่อ GalleryสะแหมขาวGalleryชื่อ Galleryหญ้าทะเลGalleryชื่อ GalleryหนามพุงดอGalleryชื่อ Galleryไฮโดรมิดเตอร์Galleryชื่อ GalleryภาพพาโนรามาGallery
-
คลังวิดีทัศน์
ตอน ไปเรียนรู้ที่นาเกลือ...กันนะ
ตอน กังหันลม
ตอน เตรียมทำนาเกลือ
ตอน นาขังหรือวังน้ำ
ตอน นาตากหรือนาแผ่
ตอน นารองเชื้อหรือนาเชื้อ
ตอน นาปลงหรือนาวาง
ตอน กองเกลือ
-
แผนการจัดการเรียนรู้
ผู้เขียนแผนการสอนนางสาวปานทิพย์ แก้วพวง โรงเรียนหล่มเก่าพิทยาคมผู้เขียนแผนการสอนผู้เขียนแผนการสอนนายชูชาติ ปัญจเวทีกุล โรงเรียนระยองวิทยาคมผู้เขียนแผนการสอนนางสาวพรทิพย์ สุวรรณโมก โรงเรียนระยองวิทยาคมผู้เขียนแผนการสอนนายวรัญญู รีบเร่ง โรงเรียนเวียงแหงวิทยาคมผู้เขียนแผนการสอนนางสาวศิริกาญจน์ งาช้าง โรงเรียนเวียงแหงวิทยาคม
-
คำที่เกี่ยวข้อง